LOOKING ON EVERYTHING ?
EXPLORE ON EVERYTHING

ไอซ์ ศรันรัตน์ พรรจิรเจริญ สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีจากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เคยดำรงตำแหน่ง Senior Designer ให้กับแบรนด์ Disaya ก่อนที่ปัจจุบันจะก้าวมาเป็นฟรีแลนซ์สไตลิสต์ที่มีผลงานในสื่อนิตยสาร และงานโฆษณาในระดับประเทศมากมาย พร้อมทั้งดำรงตำแหน่งเป็นอาจารย์พิเศษวิชา Styling and Design คณะมัณฑนศิลป์ สาขาออกแบบเเฟชั่น มหาวิทยาลัยศิลปากร และครีเอทีฟไดเร็กเตอร์แบรนด์ Everyday Kmkm
Photographer:
Tanapol Kaewpring,
Suppha-riksh Phattrasitthichoke
Writer:
Rujira Jaisak
Facebook:
sarut.wuttipacharaton

STYLE TO DIE FOR
บริบทสังคม สู่มุมมองสไตล์แฟชั่นของ
ไอซ์ ศรันรัตน์ พรรจิรเจริญ
รูปแบบที่มีเอกลักษณ์ หรือนิยามกันว่า “สไตล์” เราอาจค้นพบได้ในหลายสิ่งมากมายบนโลกใบนี้ ไม่ว่าจะในงานศิลปะ ดนตรี ดีไซน์ หรือแฟชั่น โดยมี “สไตลิสต์” เป็นผู้ทำหน้าที่สร้างสไตล์ให้ผู้คน แต่อะไรที่หล่อหลอมให้เกิดสไตล์เหล่านั้นขึ้นมาในแต่ละสิ่ง แต่ละยุค เด็กคนหนึ่งที่เติบโตมาจากครอบครัวชาวสวนในต่างจังหวัดอย่าง “ศรันรัตน์ พรรจิรเจริญ” หรือ “ไอซ์” ในวัยเยาว์เองก็ยังตั้งคำถาม จนเมื่อได้ร่ำเรียนความรู้ด้านศิลปะ จึงค่อยๆ เกิดการหล่อหลอมสู่สไตล์ที่เป็นตัวตนของเขาขึ้น ปัจจุบัน ไอซ์ คือหนึ่งในแฟชั่นสไตลิสต์ฝีมือจัดจ้าน ที่ควบบทบาทอาจารย์พิเศษด้านแฟชั่นสไตลิ่ง และดีไซน์ และครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ของแบรนด์ Everyday KMKM ที่ทำให้แบรนด์เติบโตอย่างมีสไตล์ชัดเจน

การเติบโตที่หล่อหลอม สู่สไตล์ที่อิงกับบริบทสังคม และความเป็นปัจจุบัน
“ตอนเด็กๆ เราเหมือนเป็นคนที่แตกต่าง และถูกมองว่าเป็นคนเพี้ยนๆ หน่อย” ไอซ์เกริ่นย้อนไปถึงสมัยช่วงเติบโตขึ้นในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในครอบครัวชนชั้นกลางที่ส่งเสริมให้เรียนศิลปะตั้งแต่เด็ก “ช่วงเรียนประถม - มัธยม เพื่อนส่วนใหญ่ชอบฟังเพลงอีกแบบหนึ่ง แต่ไอซ์จะเป็นคนกลุ่มเล็กๆ ที่ชอบฟังเพลงของเบเกอรี่มิวสิกหรือโดโจ ซึ่งในช่วง 20 ปีที่แล้วในต่างจังหวัดไม่ใช่ตลาดของเพลงแนวอัลเทอร์ฯ หรืออินดี้เลย เราก็ไม่รู้ว่าสิ่งนี้ทำให้เราแตกต่าง หรือมีสไตล์แปลกใหม่จากคนอื่นรึเปล่า แต่การเป็นเด็กต่างจังหวัดคนหนึ่งที่เลือกอะไรบางอย่างต่างจากคนอื่น และขวนขวายอยากเห็นสิ่งใหม่ๆ มากกว่าในวงกว้าง แล้วลองค้นคว้าทดลอง มันก็ทำให้เกิดการปลูกฝังอะไรบางอย่างที่เป็นสไตล์ของตัวเองขึ้น”
“คือเราก็ไม่ได้เกิดในบ้านที่เป็นหลุยส์ เราอยู่ในครอบครัวธรรมดาชนชั้นกลาง เราก็จะเห็นทุกมิติ” ไอซ์ชี้ให้เห็นว่าสังคม และวัฒนธรรมที่หล่อหลอมผ่านกระบวนการเติบโตของแต่ละคนนั้น ส่งผลต่อสไตล์ที่ลุ่มลึกแตกต่างกัน เหมือนเช่นเขา “ในการทำงานไอซ์จะอิงจากบริบทสังคม ศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี จนถึงสิ่งที่เป็นปัจจุบัน มาทำงานในสไตล์ที่เป็นปัจจุบันเสมอ จะไม่ใช้แรงบันดาลใจจากอะไรที่เพ้อฝัน เป็นอุดมคติ หรือเรื่องที่เป็นมายาคติสวยงาม เป็นนวนิยาย เทพนิยาย หนัง หรือละครมาทำงาน แต่ชอบอะไรที่ทัชกับคน ผ่านการสังเกตว่าเขาเป็นยังไงในช่วงชีวิตนี้ ภายใต้เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม หรือดนตรีแบบนี้ สิ่งเหล่านี้หล่อหลอมมาจากการเติบโตของเรา ด้วยฐานะทางสังคม และกระบวนการเรียนรู้ด้วยตัวเอง”
“บางคนพัฒนางานจากดีไซน์ จากตะเข็บ แต่ไอซ์คิดจากสไตล์ ชอบมองงานจากภาพรวมบรรยากาศ หรือ Mood and Tone ของสไตล์ก่อนทุกครั้ง ไม่ว่าจะออกแบบเสื้อยังไง ก็จะมองเห็นภาพของนางแบบ นายแบบ หรือคนกลุ่มนั้นอยู่ในหัว พูดได้ว่าเวลาจะทำอะไรให้ใคร ก็จะเห็นบรรยากาศของคนกลุ่มนั้นๆ ก่อนที่จะมาเป็นดีไซน์ หรือเสื้อผ้า”


หลังจากจบคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ไอซ์ทำงานเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์ให้กับแบรนด์ไทยชื่อดังอยู่ช่วงหนึ่ง “ช่วงอายุ 27-28 รู้สึกว่าอิ่มตัวกับงานดีไซน์ที่ทำมาตลอด คือวันนึงเราต้องวาดแบบเป็น 100 แบบต่อวัน ทำให้รู้สึกว่าอยากออกจากห้องไปอยู่กับโลกภายนอกแล้ว เพราะรู้สึกทัชกับโลกภายนอกมากกว่า ก็เลยเริ่มต้นเป็น Fashion Stylist เต็มตัวหลังจากนั้น”
“ไอซ์มองว่าสิ่งที่ทำให้ไอซ์แตกต่างจากคนอื่นคือ ไอซ์อาจจะเป็นคนมองงานจากโจทย์ แล้วตีความ ทำความเข้าใจอะไรบางอย่างโดยที่ใส่ความเป็นตัวเอง และใส่ความเป็นบริบทของสิ่งๆ นั้นเข้าไปด้วย เพื่อให้ได้งานที่ดีที่สุด ไม่ใช่แค่เราคนเดียวแต่สำหรับลูกค้า และศิลปินด้วย รวมทั้งใช้ความเป็นปัจจุบันและบริบทสังคมสอดแทรกเข้าไปในงานเสมอ คือทุกอย่างต้องไปด้วยกันครับ”

“ถ้าเราไม่เริ่มที่จะเป็นผู้นำ มันก็จะไม่ได้เป็นคนที่ได้นำ”
“เมื่อก่อนตอนเด็ก เราจะล้นๆ สไตลิ่งก็จะมีความขาดๆ เกินๆ มีความอยากเอาชนะ ชนะความเปรี้ยว หรือทำให้ผู้ใหญ่ยอมรับ ทำให้บุคลากรในวงการยอมรับ แต่เมื่อยิ่งโต ยิ่งเดินทางไปเรียนรู้มากขึ้น และเอามาปรับให้มันพอดีมากขึ้น ทำให้ตอนนี้มีความรู้แล้วว่าแค่ไหนถึงจะพอเหมาะ รู้จักนำความเป็นตัวเรามาใส่ให้ลูกค้าเห็น ว่านี่คือสิ่งที่ลูกค้าจะสามารถใช้ได้ตลอด เป็นสไตล์ที่ดูใหม่อยู่เสมอ ไม่เชยหรือดูเก่าเมื่อเวลาผ่านไป และหลายๆ งานของเราก็มีความใหม่ อาจไม่ใหม่ในตลาดโลก แต่ก็ใหม่ในตลาดเมืองไทย ไอซ์ชอบเดินทางไปเที่ยวเยอะๆ เพื่อดูว่าคนทั่วโลกเขาใช้ชีวิตยังไง แล้วเราก็เอามาใช้ในการออกแบบ”
“ในโลกของแฟชั่น ถ้าเราไม่เริ่มที่จะเป็นผู้นำเนี่ย มันก็จะไม่ได้เป็นคนที่ได้นำ สมมติว่าเรามีเค้ก 1 ก้อน แต่มีอยู่ 10 แบรนด์ที่เราก็ต้องไปแบ่งกับเขา แต่ถ้าเราลองเริ่มไปสร้างสไตล์ให้เกิดก้อนใหม่ แล้วเจอลูกค้าที่ชอบก้อนนี้ กำลังมองหาสิ่งนี้อยู่และกลายมาเป็นแฟนคลับเรา ไอซ์มองว่ามันจะทำให้แบรนด์เป็น Loyalty และมีการเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาว นี่คือสิ่งที่ไอซ์พยายามจะทำในแง่ของการสร้างสไตล์เพื่อทำงานดีไซน์”
“การทำงานที่เราชอบเป็นพิเศษ คือเวลาคิดงานจากดีไซน์ เราก็ชอบสไตล์ไปด้วย เพราะเราก็พยายามสร้างสไตล์ใหม่ๆ ด้วย อย่างการออกแบบให้กับแบรนด์ Everyday KMKM ที่ไอซ์พยายามสร้างสไตล์ใหม่ให้ดูเป็นคน Natural ส่วนงานสไตลิ่งที่ทำให้กับนิตยสารต่างๆ หรืองานโฆษณานั้นก็มีหลายงานที่ชอบ อย่างที่ทำกับ Ductstore the design guru Co., Ltd ก็ชอบเกือบทุกงาน”


Edward Enninful
Fashion Forecast
“ความวุ่นวายรุงรัง มันกำลังจะตายไป ความ Real มันกำลังจะครองโลก ความจริงเท่านั้นที่จะอยู่กับเราตลอดไป เป็นมุมมองที่ไอซ์คาดการณ์ไว้ตลอดสามปี ไม่ว่าจะเป็นในแวดวงนิตยสาร หรือแฟชั่นดีไซน์ อย่าง Vogue อังกฤษ ตอนนี้ก็ยังต้องเปลี่ยนบรรณาธิการ ให้ Edward Enninful มาทำให้ดูเป็นปัจจุบัน และนำสิ่งในปัจจุบันมาทำให้ดูน่าสนใจ นี่คือไอดอลของเรา นิตยสาร i-D หรือหัวอื่นที่ชอบ เริ่มปรับทิศทางมาในแนวนี้หมดเลย ส่วน Vivienne Westwood สำหรับไอซ์นี่คือจีเนียสมากๆ และไม่เคยตาย เพราะเขาเอาความเป็น Now ทำงานเสมอ”



“ถ้าเอางานศิลปะในประวัติศาสตร์มาเล่าใหม่ไปเรื่อยๆ โดยไม่ทวิสต์กับความเป็นปัจจุบันของโลกที่กำลังเปลี่ยนไป ตามเศรษฐกิจหรือผู้คน เราก็จะมีแต่สิ่งที่มีอยู่แล้ว เสพแต่ความหรูหรา ฟุ่มเฟือย ซึ่งคนก็เห็นสิ่งนี้มาหลายสิบปีแล้ว ไอซ์คิดว่าคนต้องการเห็นว่าแฟชั่นจะมาสะท้อนสังคมได้ยังไง นี่คือสิ่งที่ไอซ์รู้สึกว่ามันกำลังเป็น ไม่ว่าจะเป็นดีไซเนอร์หรือแบรนด์รุ่นใหม่ๆ อย่าง Vetements หรือ Off-White คือทุกคนเอาเรื่องนี้มาเล่าหมด เป็นการสังเกตผู้คน สิ่งรอบข้าง แล้วนำมาใช้และบอกเล่า ให้เด็กรุ่นใหม่ที่แม้ไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์แฟชั่นมายังเข้าใจ”
“แม้แต่แบรนด์แฟชั่นชั้นนำรุ่นเก๋าก็ยังดึงนักออกแบบรุ่นใหม่ให้มาร่วมงานเพื่อพลิกแบรนด์สู่สไตล์ใหม่ เพราะถ้าเราจมไปกับอดีต แบรนด์ก็จะตาย และสไตล์มันก็จะหายไปกับอดีต คือสวยนะ แต่ไม่ว้าวแล้ว การไม่ออกจาก Safe Zone วันหนึ่งคนก็เบื่อ เพราะคนเสพแฟชั่นในโลกใบนี้ก็เป็นคนใหม่ๆ ตลอด ไม่ใช่คนเก่าอย่างเดียว แม้แต่คนเก่าก็ต้องการความใหม่ ดีไซน์เนอร์ก็ต้องปรับตัว”



“ในการตาย มันจะมีการเกิดเสมอ”
ท่ามกลางสื่อนิตยสารที่ล้มหายตายจาก แต่เขายังมองเห็นว่ามีสื่อออนไลน์เกิดขึ้นมาใหม่ และทำให้เกิดการบอกเล่าเนื้อหาเกี่ยวกับแฟชั่น และการนำเสนอแฟชั่นรูปแบบใหม่ๆ ออกมาเช่นกัน “คนเรายังต้องเรียนรู้ ต้องเสพ แล้วต้องโตในวงสังคมต่อไป ไม่มีทางตายทั้งหมด แค่ต้องคิดว่าจะทำยังไงให้สิ่งใหม่เกิดขึ้น โชคดีที่แม้อุตสาหกรรมแฟชั่นในบ้านเราจะซบเซา ด้วยเศรษฐกิจ บรรยากาศสังคม และการไม่ได้รับสนับสนุนจากรัฐบาลมากนัก แต่คนประเทศเราไม่ได้นิ่งไปตามบรรยากาศประเทศ”
ในพาร์ทที่ไอซ์เป็นอาจารย์พิเศษด้านแฟชั่น ทำให้เขาเองก็มีส่วนหล่อหลอมดีไซเนอร์รุ่นใหม่ๆ ให้เกิดกระบวนการคิดบูรณาการและเริ่มต้นจากตัวตน สิ่งที่รัก และสิ่งที่เป็น “สิ่งที่อยากให้เด็กแฟชั่นเป็น คือ การคิดงานให้มีความสดใหม่่ พร้อมกับมีวิธีเล่าเรื่องให้คนอื่นเข้าใจได้ เราไม่ได้อยากให้เด็กพัฒนาจาก ‘ดอกไม้ดอกนี้’ คือเราว่ามันหมดยุคแล้ว โลกมันต้องการสิ่งใหม่ เด็กก็ต้องการสิ่งใหม่ ถ้าอาจารย์สอนด้วยทฤษฎีเดิมๆ ไม่มองด้วยมุมโลกปัจจุบัน เราก็จะได้แต่เด็กแบบเดิมๆ ซึ่งออกไปทำงานไม่ค่อยได้”
“ในบริบทสังคมไทยที่คนปรุงแต่งตัวเองให้โดดเด่นมากกว่าคนอื่น คล้ายกับว่าใครโดดเด่นกว่าชนะ ไอซ์มองว่า บางทีการชนะด้วยสไตล์ มันเป็นการชนะจากข้างใน ไม่ใช่ข้างนอกอย่างเดียวนะ คุณเป็นตัวคุณที่คุณอยากเป็น รู้จักเลือกในสิ่งที่ตัวเองฉลาดมาจัดการชีวิต เรารู้สึกว่าแบบนั้นชนะกว่า คุณสวยที่สุดแล้ว”



What’s Next “เราพร้อมตายไปกับมัน”
“What’s Next ของไอซ์คือ ทำงานแบบที่ทำ ด้วยความมุ่งมั่นขยัน และพัฒนางานให้ดีมากขึ้นเรื่อยๆ นี่คือสิ่งที่ต้องทำเพราะโลกแฟชั่นมันขับเคลื่อนเร็วมาก เหมือนที่ Andy Warhol เคยพูดว่า ‘คนใหม่สามารถดังได้ใน 15 นาที’ ไอซ์ก็มองว่ามันเป็นอย่างนั้น ดังนั้นหน้าที่ของเราที่อยู่ในวงการนี้มาสักพักแล้ว ก็ต้องทำในสิ่งที่ชอบไปเรื่อยๆ ทำทุกวินาทีให้ดี และมีค่าที่สุดกับงานที่เราทำ เพราะเราไม่รู้ว่าอะไรคือ Next ขนาดนั้น แต่ถ้าเราหยุด มันก็ไม่มี Next แน่ๆ ครับ”
“เราโชคดีมากที่สุดตรงที่ความฝันของเรา เราได้ทำมันจริงๆ เมื่อโอกาสอยู่กับเราแล้วก็อยากทำมันให้ดีที่สุดครับ”
“นี่คือสิ่งที่เรารักที่สุดแล้ว เราพร้อมตายไปกับมัน ไม่มีทางที่จะทิ้งมันครับ”
STYLE TO DIE FOR บริบทสังคม สู่มุมมองสไตล์แฟชั่นของ ไอซ์ ศรันรัตน์ พรรจิรเจริญ
/
แค่ได้อ่านชื่อ ก็เชื่อว่าคิ้วของทุกคนคงต้องผูกกันเป็นปมด้วยความสงสัยแล้วว่า ‘บะหมี่ถ้วย ใช้ชื่อนี่เป็นชื่อศิลปินจริงดิ’, ‘มาทำเพลงเอาตลกหรือเปล่าเนี่ย’ บอกไว้ก่อนเลยว่า ไม่ ไม่ตลกเลย เพราะชีวิตที่ซุกซ่อนอยู่เบื้องหลังผลงานเพลงของ Cupnoodle หรือ “ซาช่า โจสท์” นั้น เต็มไปด้วยความพยายาม ความตั้งใจ จนบางครั้งก็ต้องยอมเสียสละบางสิ่งบางอย่างเพื่อให้ได้ไขว่คว้าความฝันวัยเด็กในการเป็นศิลปิน ที่ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านนั้น เธอแทบจะผ่านประสบการณ์การลงมือทำมาหมดทุกอย่างแล้วเพื่อเข้าใกล้วงการดนตรีให้ได้มากที่สุด (ซึ่งเยอะจนเราเชื่อว่าคงเขียนเล่าได้ไม่ครบ) แต่แม้จะมุ่งมั่นออกตัววิ่งบนเส้นทางนี้ไปด้วยความรวดเร็วมากเท่าไหร่ ซาช่า ที่ ณ ตอนนั้นใช้ชีวิตอยู่ที่ลอนดอน ก็ยังคงไม่เห็นเส้นชัยของตัวเองสักที
/
ทันทีที่ Key Visual สถาปนิก’ 68 เผยแพร่ออกมา บทสนทนาปลุกสัญชาตญาณนักสืบในตัวทุกคนพร้อมใจกันทำงานแบบ Autopilot และระหว่างที่ตามหาเฉลยกันจริงจัง ทุกคนเริ่มหันมาตั้งคำถามต่อว่า Art Toys เกี่ยวข้องกับธีมงานอย่างไร รู้ตัวอีกทีวงสนทนาก็กระเพื่อมขยายกว้างขึ้น ส่งสัญญาณชัดว่า Key Visual ปีนี้เปิดฉากมาแบบสนุกเอาเรื่อง โดนเส้นกันสุดๆ
/
วัลลภ รุ่งกำจัด หรือ อุ้ม นักแสดงที่เชื่อมโยงความเป็นมนุษย์กับโลกของภาพยนตร์ ผ่านการสร้างชีวิตให้ตัวละครต่าง ๆ ได้ออกมาโลดแล่นแสดงความรู้สึกทางอารมณ์ให้กับผู้ชม แม้เขาจะไม่ได้เป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียงในวงกว้างเทียบเท่ากับนักแสดงกระแสหลัก แต่ในเวทีระดับโลก “อุ้ม” ได้พิสูจน์ตัวเองกับการเป็นนักแสดงที่มีความสามารถที่ยอมทุ่มเทหลาย ๆ สิ่ง ให้กับงานศิลปะด้านการแสดงในภาพยนตร์เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้อย่างสุดตัว
/
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าก่อนหน้านี้เราได้รู้จักกับเธอคนนี้ในชื่อของ พัด หรือที่ชอบเรียกติดปากกันว่า พัด ZWEED N’ ROLL เจ้าของเสียงทุ้มมีเสน่ห์ นักร้องและนักแต่งเพลงที่ฝากผลงานเพลงเศร้าเอาไว้ในวงการมากมาย อาทิ ช่วงเวลา, Diary, อาจเป็นฉัน และอีกมากมาย ไม่มีอะไรแน่นอนแม้กระทั่งตัวเราเอง ช่วงเวลาจึงได้พัดพาให้เรามาทำความรู้จักกับ “MAMIO” ในฐานะศิลปินใหม่จากค่าย Warner Music Thailand ซึ่งเป็นอีกตัวตนหนึ่งของคุณพัดที่ไม่เคยถูกปลดปล่อยออกมาเลยตลอดชีวิตการทำงานในวงการสิบกว่าปีที่ผ่านมา หรือถ้าจะให้ซื่อสัตย์กับตัวเองจริง ๆ ก็อาจจะเป็นทั้งชีวิตที่เกิดมาเลยเสียด้วยซ้ำ
/
Whispers เป็นหนึ่งในวงดนตรีที่สะท้อนการเติบโตของวงการ Hardcore ในประเทศไทยอย่างแท้จริง ตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่เป็นเพียงกลุ่มเพื่อนที่หลงใหลในดนตรี เพราะนอกจากจะเป็นผู้เล่น พวกเขายังเป็นกำลังสำคัญที่คอยผลักดันซีนฮาร์ดคอร์ในบ้านเรามาโดยตลอด ประสบการณ์ที่สั่งสมทำให้เกิดเป็นสไตล์เฉพาะของ Whispers สร้างความแตกต่างและเป็นเอกลักษณ์ จนทำให้พวกเขาก้าวไปสู่เวทีระดับสากล ถึงแม้พวกเขาจะอยู่ใต้ดินของไทย แต่เสียงคำรามของพวกเขาก็ดังไปไกลถึงทวีปยุโรป มาพบกับเส้นทางดนตรีที่เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจและการเปลี่ยนแปลง กับวงฮาร์ดคอร์ระดับบท็อปของ Southeast Asia
/
ด้วยลายเส้นที่เป็นเอกลักษณ์และรูปแบบงานสักของเขา ที่เรารู้สึกแปลกประหลาดกว่างานสักอื่น ๆ (แปลกประหลาดในที่นี้คือความหมายในแง่ดีนะ) ก็เลยตัดสินใจส่งข้อความทักไปหา “พี่นัทครับ ผมขอสัมภาษณ์พี่ได้ไหม” “ได้ครับ” สั้น ๆ แต่จบ เรื่องราวทั้งหมดก็เลยเริ่มต้นขึ้นที่ร้าน CAVETOWN.TATTOO แถว ๆ ปิ่นเกล้า ซึ่งพี่นัทเป็นเจ้าของร้านแห่งนี้ บทสนทนาของเราเริ่มกันในช่วงเวลาบ่าย ๆ ของวันพฤหัส พอไปถึงร้านพี่นัทกำลังติดงานสักให้กับลูกค้าอยู่หนึ่งคน พอได้เห็นลายที่เขาสักต้องบอกว่าเท่มาก ๆ มันมีความเป็น Psychedelic บวกกับ Ornamental ผสมผสานกับเทคนิค Dotwork จนกลายเป็นงานศิลปะบนผิวหนังหลังฝ่ามือ เราถึงกับต้องถามคำถามโง่ ๆ กับลูกค้าที่ถูกสักว่า “เจ็บไหม” แน่นอนคำตอบที่ได้คือ “โคตรเจ็บ” เพราะจุดที่สักคือหลังฝ่ามือ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งจุดที่หลายคนร่ำลือกันว่าโคตรเจ็บ ระหว่างที่รอพี่นัทไปพลาง ๆ น้องแมคช่างภาพที่มีรอยสัก Full Sleeve เต็มแขนขวา ก็เริ่มกดชัตเตอร์กล้องถ่ายรูปเก็บภาพระหว่างที่เขาสักไปด้วย พอสักเสร็จเรียบร้อยก็ปล่อยให้พี่เขาพักผ่อนกินน้ำ ปัสสาวะ (อ่านแยกคำนะอย่าอ่านติดกัน) ก่อนจะพูดคุย แต่เดี๋ยว ! ก่อนจะเริ่มบทสนทนา เราขอเกริ่นให้ฟังซักนิดนึงเกี่ยวกับชายคนนี้ก่อน
We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )