BANGKOK ART BIENNALE 2018 | IAMEVERYTHING.CO

LOOKING ON EVERYTHING ?

EXPLORE ON EVERYTHING

ผ่านไปแล้วครึ่งทางสำหรับ Bangkok Art Biennale (BAB) 2018 เทศกาลงานศิลปะครั้งแรก ที่นำเอาผลงานศิลปะจากหลากหลายศิลปินเกือบทั่วโลกมาจัดแสดงให้เราได้ดูกันในหลายสถานที่ของกรุงเทพฯ ทั้งในแกลเลอรี ห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน พื้นที่สาธารณะต่างๆ และวัด
   นอกจากจะเป็นครั้งแรกของเบียนนาเล่ในกรุงเทพฯ แล้ว BAB ก็น่าจะยังเป็นครั้งแรกที่เราได้เห็นความแปลกใหม่หลายอย่างสำหรับวงการศิลปะ เป็นต้นว่า ได้เห็นดารานายแบบมาเป็นพรีเซ็นเตอร์โปรโมตเทศกาลศิลปะ ได้ฟังเสียงหล่อๆ ของเขาให้ข้อมูลเกี่ยวกับชิ้นงานแต่ละงาน (แบบคร่าวๆ มากๆ) ได้เห็น Artistic Director เดินพา Pharrell Williams ชมงาน รวมทั้งได้เห็นสำนักข่าวออนไลน์หรือเพจเฟซบุ๊กหลายเจ้าพากันจัดอันดับ Biennale Check List ทำนองว่า “10 ชิ้นงานศิลปะที่ต้องไปถ่ายรูปด้วย” หรือไม่ก็ “10 ท่าถ่ายรูปกับงานอาร์ตยังไงให้โลกจำ” (!!!)
   เมื่อมองจากภาพรวม เราคงต้องยอมรับว่า BAB ครั้งแรกนี้ ประสบความสำเร็จอย่างสวยงามในแง่การตอบรับจากสาธารณชน นิทรรศการหลายแห่งมีคนเข้าชมแน่นเกือบทุกวัน โดยเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ ส่วนในโลกโซเชียล มีรูปชิ้นงานใน BAB ที่หลายคนไปโพสต์ท่าถ่ายรูปด้วยเต็มไปหมด (BAB น่าจะเป็นหนึ่งในเทศกาลศิลปะครั้งแรกๆ อีกเหมือนกัน ที่คุณอาจพบว่า ผลงานที่คุณไปปีนป่ายถ่ายรูปด้วย เป็นงานชิ้นเดียวกับที่ลูกๆ ของเพื่อนขึ้นไปวิ่งเล่น) และ Marina Abramovic: Symposium + Book Signing อีเวนต์แรกๆ ของ BAB ที่จัดขึ้นในเดือนตุลา ก็มีคนเข้าไปชมจนเต็มโรงภาพยนตร์สยามภาวลัย
   แต่ที่ว่ามานี้ก็เป็นความสำเร็จในแง่การดึงเอา Public เข้าไปมีส่วนร่วม และดูจะเป็นเรื่องของความบันเทิงเท่านั้น แต่ในเรื่อง Message หรือเนื้อหาที่งานศิลปะแต่ละชิ้นต้องการสื่อสารออกมายังผู้ชม รวมทั้งบทบาทของ Biennale และศิลปะ ที่จะสะท้อนถึงสภาพสังคม และการเมือง อาจยังดูไปได้ไม่ค่อยสวยงามเท่าไร ใน iameverything.co ฉบับนี้ เราเลือกผลงานศิลปะ 15 ชิ้น จาก BAB นำมาเล่าเน้นไปที่เรื่องแนวความคิดของผลงาน โดยงานบางส่วนเป็นงานที่เห็นกันบ่อยแล้วผ่านสื่อโซเชียล แต่แทบไม่เคยมีใครพูดถึงเนื้อหา และงานอีกส่วนเป็นงานที่เนื้อหาน่าสนใจ แต่อาจไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าที่ควร เผื่อว่าแนวคิดเนื้อหาของงาน 15 ชิ้น ที่เราเลือกมานี้ จะทำให้การดูศิลปะของคุณสนุกขึ้นในครั้งหน้า
ในจำนวนสถานที่ที่จัดแสดงงาน BAB ทั้งหมด วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) และวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ดูจะเป็นสถานที่ที่สนุกที่สุดทั้งสำหรับศิลปิน และผู้ชม การไปดูงานศิลปะในพื้นที่ทั้งสามแห่งนี้เหมือนได้ไปเที่ยววัดไปในตัว และด้วยความที่ป้ายสัญลักษณ์บอกทางหรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับ BAB มีค่อนข้างน้อย และหายาก ทำให้คนดูต้องตามล่าหางานศิลปะกัน ซึ่งถ้าบังเอิญว่าผู้ชมคนนั้นเป็นคนคิดบวก มันก็อาจเป็นเรื่องสนุกเข้าไปอีก ส่วนสำหรับศิลปิน การได้ทำงานขึ้นเพื่อให้เข้ากับสถานที่และบริบทรอบด้าน (Site Specific) โดยเฉพาะในบริบทของวัดใหญ่ในสังคมไทยที่มีหลากหลายประเด็นเกี่ยวข้อง ก็น่าจะเป็นเรื่องท้าทายมากกว่าการทำงานเพื่อติดตั้งในหอศิลป์กรุงเทพฯ

 ‘Across the Universe and Beyond’ เป็นหนึ่งในผลงานที่จัดแสดงอยู่ที่วัดอรุณฯ สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์ ภูมิสถาปนิก/ศิลปิน เจ้าของผลงาน นำเอาแผ่นอะคริลิกสีแดงใสมากั้นอาณาเขตล้อมรอบส่วนหนึ่งของบริเวณเขามอในวัด และเชื้อเชิญให้ผู้ชมเข้าไปเดินข้างใน โดยภายในพื้นที่นั้นมีประติมากรรม อย่างเช่น ประติมากรรมรูปพระปรางค์ทำจากกระจก วางไว้ในบางจุดด้วย
  ก่อนหน้านี้ สนิทัศน์สร้างชื่อมาจาก ‘Mythical Escapism’ (2013) หรือ ‘เขามอ’ ผลงานประติมากรรมที่นำเอากล่องกระจกมาเรียงต่อกันขึ้นไปคล้ายภูเขา ดังนั้น ‘Across the Universe and Beyond’ จึงเหมือนการทำงานศิลปะที่ต่อเนื่องของเธอ ทั้งจากการเลือกทำงานในบริเวณเขามอของวัดอรุณฯ และวัสดุกระจกเงาที่ยังคงปรากฏอยู่ในรายละเอียดบางส่วนของงาน แต่ในครั้งนี้ การกั้นพื้นที่เพื่อแบ่งพื้นที่ของเขามอเป็น “ข้างใน” และ “ข้างนอก” เหมือนการนำเอาผู้ชมเดินทางข้ามจากพื้นที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง (ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว เขามอก็ตั้งอยู่ในบริเวณเอาท์ดอร์ของวัดร่วมกับพื้นที่อื่นๆ) ซึ่งเมื่อบวกกับสีแดงของอะคริลิก หรือสีแดงที่ได้จากชาด ที่ในจิตรกรรมไทยประเพณีมีความหมายถึงทั้งสวรรค์ ความสูงส่ง และในความหมายที่สนิทัศน์กล่าวไว้คือ ความว่างเปล่า ก็อาจตีความไปได้ว่า การกั้นพื้นที่เป็นข้างใน และข้างนอกนั้น จริงๆ แล้ว ไม่มีอยู่จริงเหมือนที่ตาเห็น หรือไม่ก็อาจหมายถึงการนำผู้ชมถอยห่างออกจากความวุ่นวายภายในวัด (ที่เป็นสถานท่องเที่ยวที่พลุกพล่าน) เข้าไปยังความเงียบสงบหรือความว่างเปล่าภายใน
  แต่ประเด็นที่น่าสนใจที่สุดของงานชิ้นนี้น่าจะอยู่ตรงที่ว่า หลายคนที่เข้าไปอยู่ในพื้นที่ของ ‘Across the Universe and Beyond’ จริงๆ แล้ว มักจะถูกสีแดงของอะคริลิกที่กั้นเป็นผนังใส หลอกล่อให้มองทะลุมันออกไปข้างนอก (เพราะอะคริลิกเป็นเหมือนเลนส์สีแดงที่ทำให้ทุกอย่างด้านนอกที่เรามองออกไปกลายเป็นสีแดงที่น่าตื่นตาไปหมด) จนแทบจะไม่ได้สนใจสิ่งที่อยู่ภายในพื้นที่นั้นเลย ดังนั้นหาก ‘Across the Universe and Beyond’ ต้องการจะพาผู้ชมข้ามผ่านพื้นที่จากภายนอกเข้าสู่ภายในที่เงียบสงบ ปฏิกิริยาตอบรับของผู้ชมจากการมีปฏิสัมพันธ์กับผลงานครั้งนี้ ก็เหมือนกับจะบอกว่าการที่มนุษย์ทั่วไปจะละทิ้งตัวตนหรือเข้าใจได้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นภาพลวงตาที่ไม่มีอยู่จริง ยังคงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากอยู่ดี
Numen For Use Design Collective เป็นการรวมตัวกันของนักออกแบบสาขาอุตสาหกรรม Sven Jonke, Christoph Katzler และ Nikola Radeljkovic พวกเขาสร้างชื่อจากงานออกแบบฉากและเวทีสำหรับการแสดง และตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา ก็เริ่มทำโปรเจกท์ศิลปะแนวทดลอง เช่น Tape และ Net ที่พวกเขาจะนำเอาเทปกาว (สำหรับ Tape) และเชือก (สำหรับ Net) มาสร้างเป็นประติมากรรมขนาดใหญ่ที่มีรูปทรงคล้ายรังไหม หรือมีลักษณะคล้ายถ้ำ นำไปติดตั้งตามพื้นที่สาธารณะต่างๆ เพื่อให้ผู้คนเข้าไปปีนป่ายหรือเดินอยู่ข้างใน
   ความน่าสนใจของ Tape และ Net อยู่ที่ความก้ำกึ่งระหว่างความเป็นประติมากรรมและสถาปัตยกรรม ที่อย่างหลังจะเกิดขึ้นเมื่อผู้ชมสามารถเข้าไปเดิน นั่ง นอน อยู่ภายใน ที่สำคัญ ในการก้าวข้ามผ่านจากประติมากรรมเป็นสถาปัตยกรรมนั้น ยังเกิดขึ้นจากชิ้นงานที่ทำจากวัสดุที่เป็น Non-Architectural อย่าง เทปกาว และเชือก สำหรับในส่วนของผู้ชม การติดตั้ง Tape และ Net ในพื้นที่สาธารณะ ก็เป็นความตั้งใจของทีมศิลปินที่ต้องการให้ผู้ชมของเขารับประสบการณ์จากพื้นที่นั้นๆ ที่จะเปลี่ยนไปจากเดิม หลังจากเข้าไปมุด เดิน นั่ง นอน อยู่ในผลงานของพวกเขา รวมทั้งอาจยังเปลี่ยนประสบการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ชมแต่ละคนอีกด้วย
   Tape Bangkok ที่ Numen จัดแสดงขึ้นใน BAB ครั้งนี้ อาจพูดได้ว่าประสบความสำเร็จพอควร วัดจากที่เห็นลูกเล็กเด็กแดงต่อคิวขึ้นไปปีนป่ายเล่นกันบนนั้นกันยาวเหยียด (และน่าจะเข้าไปเล่นกันหนักอยู่เพราะได้ข่าวว่ามีช่วงปิดซ่อมแซมหลังเปิดมาได้ไม่ถึงเดือน) แต่นั่นก็เป็นแค่ในมุมของการดึงเอาคนเข้ามามีส่วนร่วมกับชิ้นงานเท่านั้น ส่วนในเรื่องประสบการณ์ที่มีต่อพื้นที่อาจยังไม่เกิดให้เห็นเท่าไร เพราะ Tape Bangkok ติดตั้งอยู่บนพื้นที่ไม่กี่ตารางเมตร ภายในห้องแกลเลอรีของ BACC ที่รายล้อมไปด้วยงานศิลปะชิ้นอื่น ไม่เหมือนกับ Tape โปรเจกท์ก่อนหน้าอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีบริบทหรือเรื่องราวที่มีมิติมากกว่า เช่น Tape Florence ที่ไปใช้พื้นที่ในบริเวณลานด้านในพระราชวัง Palazzo Strozzi ใน Florence หรือ Tape Melbourne ก็แผ่ขยายอยู่เหนือโรงละครกลางแจ้งของเมืองถึง 6 เมตร
  ใน BAB ครั้งนี้ นอกจาก ‘Tape Bangkok’ แล้ว ‘Diluvium’ ยังเป็นผลงานอีกชิ้น ที่ทำจากเทปและเชื้อเชิญให้ผู้ชมเข้าไปเดินสำรวจภายในพื้นที่ของตัวงาน คำว่า Diluvium หมายถึง ตะกอนธารน้ำแข็ง (Glacier Drift) ที่เกิดจากการสะสมตัวของธารน้ำแข็ง ใน ‘Diluvium’ ของ Lee Bul ศิลปินวัย 54 ปี จากเกาหลีใต้
เธอนำเอาโครงเหล็กมาสร้างพื้นทางเดินและผนังขึ้นในพื้นที่ภายในส่วนหนึ่งของอาคาร The East Asiatic โดยกำหนดให้พื้นภายในห้องนั้นมีระดับสูงๆ ต่ำๆ ต่างกัน และห่อหุ้มพื้นและผนังทั้งหมดไว้ด้วยเทปสีเงิน เหมือนกับภูมิประเทศของพื้นที่ที่ปกคลุมด้วยธารน้ำแข็ง ที่ทุกอย่างอยู่ในโทนสีเดียวกัน
  สีเงินวาวที่ปรากฏอยู่ในอินสตอลเลชัน ‘Diluvium’ ให้ความรู้สึกถึงความเป็นอนาคต อันเป็นหนึ่งลักษณะสำคัญที่ปรากฏอยู่ในผลงานของ Lee และก็เช่นเดียวกัน ชิ้นงานที่ให้ความรู้สึก Futuristic ของ Lee นั้น ไม่ว่าจะ ‘Diluvium’ หรือ ‘Cyborg Series’ (1997-2011) ก็เป็นอนาคตที่ดูเย็นชา อันตราย ไม่น่าไว้วางใจ ซึ่งความรู้สึกเดียวกันนี้ ผู้ชมของ ‘Diluvium’ อาจรับรู้ได้เมื่อเข้าไปเดินอยู่บนพื้นสีเงิน สูงๆ ต่ำๆ ที่ดูไม่มั่นคงเหล่านั้น รวมทั้งยังอาจเป็นความตั้งใจของศิลปินที่จะตั้งคำถามเกี่ยวกับโลกในอุดมคติที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีที่มากเกินไป
ชิ้นงานใน BAB ที่ถูกถ่ายภาพโพสต์ลงโซเชียลมีเดียมากที่สุด น่าจะมี Happy Happy Project: Basket (2018) ของศิลปินชาวเกาหลีคนนี้รวมอยู่ด้วย ด้วยสีสันสดใส ขนาดมหึมา แถมยังติดตั้งอยู่ตรงคอร์ทกลางหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ (BACC) ที่ทำให้เห็นตัวงานไล่ขึ้นมาจากชั้น 1-4 จึงไม่แปลกที่ใครเดินทางไป BACC ก็จะเจอเข้ากับงานชิ้นนี้ก่อนใคร
  Choi Jeong Hwa มักสร้างสรรค์อินสตอลเลชันขนาดมหึมาที่ทำจาก Found Object โดยเฉพาะพลาสติกที่เขาเอามาทำให้ผู้ชมสามารถมองเห็นความงามที่มีอยู่ในตัวของวัสดุราคาถูกพวกนี้ เมื่อสิบปีก่อน เขาใช้แพ็กเกจจิ้งที่ทำจากพลาสติกหลากหลายประเภท เช่น ขวดน้ำ กล่องนม และลังขนาดใหญ่ มาสร้างเป็นอินสตอลเลชันที่ห้อยลงมารอบๆ Seoul Olympic Stadium สำหรับงาน Seoul Design Olympiad 2008 ศิลปะที่ทำจากพลาสติกของ Choi Jeong Hwa สามารถตีความออกมาได้ถึงวิถีชีวิตของสังคมเมืองในทุกวันนี้ที่รวดเร็ว สะดวกสบาย แต่ในขณะเดียวกันก็มักง่าย ฉาบฉวย และไม่คงทน เหมือนกับพลาสติกที่จัดเป็นวัสดุที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ย่อยสลายตามธรรมชาติไม่ได้ ราคาถูก และเป็นผลผลิตจากอุตสาหกรรมที่ถูกผลิตขึ้นมาทีละเป็นจำนวนมาก
  ใน Basket Tower เขานำเอาข้าวของที่ทำจากพลาสติกหลากสีจากเยาวราช (สถานที่ในกรุงเทพฯ ที่เขาชอบไป) มาทำเป็นอินสตอลเลชัน ขนาดใหญ่ ส่วนในผลงานชิ้นอื่นๆ ที่นำมาแสดงใน BAB ครั้งนี้ ยังมีอีก 5 ชิ้น ใน 5 โลเคชัน คือประติมากรรมเป่าลมรูปหมูสีชมพู ต้นไม้หลากสี ดอกบัว คน และมงกุฎ
  ประติมากรรมเป่าลม (Inflatable Sculpture) ที่ว่านี้ เป็นผลงานสร้างชื่อของ Choi Jeong Hwa ที่พูดถึงความสุขฉาบฉวยเพียงชั่วคราว เหมือนกับเวลาที่ผู้ชมเห็นผลงานประติมากรรมเป่าลมของเขา ยิ้ม หัวเราะ ถ่ายรูป แต่แล้วเมื่อเดินจากไป ความสุขนั้นก็จบลง และพวกเขาก็ลืม ในทำนองเดียวกัน เมื่อถึงเวลาห้างปิด ผู้คนกลับบ้านไปหมดแล้ว เครื่องปั๊มลมเข้าไปในประติมากรรมเหล่านี้ก็จะหยุดทำงาน ทิ้งให้พวกมันนอนเหี่ยวอยู่ในสภาพเดิมที่ไม่น่าพิสมัยใคร่จะมาถ่ายรูป หรือ Basket Tower สีสดเองก็ตาม ไม่นาน ตะกร้า ข้าวของที่ทำจากพลาสติกพวกนั้นก็จะกรอบ แตกหัก (แต่ย่อยสลายไม่ได้) กลายเป็นขยะที่ไม่มีใครอยากได้
แม้ว่า Theme “สุขสะพรั่งพลังอาร์ต” ของ BAB คราวนี้จะดูจับต้องไม่ค่อยได้ว่าสื่อไปถึงอะไร และผลงานหลายชิ้นที่นำมาจัดแสดง ก็เป็นผลงานเก่าที่แทบไม่มีอะไรเกี่ยวกับบริบทของความเป็นกรุงเทพฯ และสถานที่ที่จัดแสดง เหมือนอย่างที่เรามักเห็นในงาน Biennale ที่อื่น แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีผลงานของศิลปินอีกกลุ่มหนึ่งที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคมในเรื่องของ “มนุษย์” โดยเฉพาะสิทธิขั้นพื้นฐานและสวัสดิการของชนชั้นแรงงานและคนต่างด้าวในกรุงเทพฯ
   ผลงานชิ้นแรกคือ ‘Asian Workers Covered’ ของ ช่างภาพเยอรมันที่ย้ายมาอยู่ในเมืองไทยนานกว่า 12 ปี Ralf Tooten ถึงแม้ภาพ Portrait แรงงานต่างด้าวของ Tooten จะถูกถ่ายขึ้นตั้งแต่ปี 2007 และเขาก็เคยนำผลงานบางส่วนไปจัดแสดงที่ราชบุรีและล่าสุดเมื่อปีที่แล้วคือที่ Cho Why มาแล้ว แต่นี่น่าจะเป็นครั้งแรกที่ภาพ Portrait ขนาดใหญ่ของเขาได้ถูกนำไปติดตั้งบนอาคารสูงกลางเมือง โดยเฉพาะอาคารในย่านห้างสรรพสินค้า สถานที่ที่ช่างก่อสร้างเหล่านั้นเคยใช้แรงงานของพวกเขาสร้างมันขึ้นมา แต่แล้วพออาคารเสร็จสมบูรณ์ มันกลับเป็นสถานที่ที่คนอีกชนชั้นเข้าไปจับจ่ายใช้สอยหาความสุข และแรงงานเหล่านั้นก็ไม่เคยถูกมองเห็นหรือพูดถึง ไม่ว่าจะในประวัติศาสตร์การก่อร่างสร้างเมืองของยุคไหนๆ ไม่ต่างไปจากผ้าคลุมหน้ากันแดดกันฝุ่นที่พวกเขาสวมใส่ ที่ในขณะเดียวกันก็เหมือนเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกถึงการไม่มีตัวตนอยู่ในสังคมนี้
   ‘Alien Capital’ (“ผีเมือง”) ของ ศรชัย พงษ์ษา พูดประเด็นที่ใกล้เคียงกับ ‘Asian Workers Covered’ แต่น่าสนใจกว่าตรงที่ว่า ตัวศิลปินเองที่เป็นชาวไทยเชื้อสายมอญ จากจังหวัดกาญจนบุรี เติบโตมาในสังคมของผู้ใช้แรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ จึงได้เคยเห็นความยากลำบากในชีวิตของพวกเขามาโดยตรง ‘Alien Capital’ เป็นอินสตอลเลชันขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่บนลานด้านหน้าของ BACC ตัวอินสตอลเลชันด้านนอกเป็นงานไม้ไผ่นำมาขัดกัน ผูกด้วยเชือกไนลอนสีแดง ส่วนด้านในเป็นตู้คอนเทนเนอร์สีขาว แขวนเสื้อผ้าของผู้ใช้แรงงาน ข้าวของเครื่องใช้ เอกสารปลอมแปลงการว่าจ้าง และโต๊ะหมู่บูชาสีทองที่ตกแต่งด้วยด้ายสีแดง เมื่อปีที่แล้ว ศรชัยเป็นหนึ่งในศิลปินของโครงการ Early Years Project (โครงการสนับสนุนศิลปินรุ่นใหม่ของ BACC) โดยผลงานที่เขาทำขึ้นในนิทรรศการครั้งนั้นคือ ‘Mon’s Spirits Totem’ (2017) หรือ “ผีมอญ” ที่พูดถึงอัตลักษณ์ วัฒนธรรมประเพณีของตัวเขา และกลุ่มชาติพันธุ์ มาในผลงานล่าสุดนี้ ด้ายสีแดงที่ศรชัยเคยใช้ใน “ผีมอญ” ยังคงอยู่ แต่นอกจากจะปรากฏอยู่บนหิ้งบูชาในตู้คอนเทนเนอร์แล้ว มันยังกลายร่างเป็นเชือกไนลอนสีแดงที่มัดไม้ไผ่ขัดด้านนอกเข้าไว้ด้วยกัน คงเหมือนกับที่ “ผีมอญ”​ ของเขา พัฒนากลายเป็น “ผีเมือง” เมื่อเริ่มหันมาพูดเรื่องประเด็นทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์มากขึ้น
   แม้ว่าเนื้อหาจะไม่เกี่ยวกับเรื่องแรงงานต่างด้าวในกรุงเทพฯ เหมือนสองงานแรก แต่ ‘Forest Floor’ ของ Fional Hall ก็แสดงถึงความเชื่อมโยงถึงผลงานก่อนหน้าของเธอที่หยิบยกเอาเรื่องการล่าอาณานิคมที่เป็นผลร้ายต่อชนพื้นเมืองมาพูด ซึ่งเมื่อพิจารณาจากหน้าตาของ ‘Forest Floor’ ที่เธอวาดลวดลายของกระดูกลงบนขวดแก้ว และนำขวดเหล่านั้นมาจัดวางบนพื้น ผู้ชมก็อาจตีความไปถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การสังหารหมู่ ที่ถูกซุกซ่อนอยู่ในประวัติศาสตร์ของหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย
   ปฏิเสธไม่ได้ว่า เซรามิกรูปหัวกะโหลกสีขาวจำนวนกว่า 125,000 ชิ้น ที่ นีโน่ สาระบุตร นำมาโปรยบนทางเดินรอบเจดีย์พระประธานสีขาวของวัดประยูรฯ ทำให้ตัวงานและสถานที่ที่อยู่ในโทนสีขาวโพลนทั้งหมดออกมาสวยงามและถ่ายรูปขึ้นมาก แต่การนำเอาเซรามิกรูป กระดูกหัวกะโหลกที่เป็นสัญลักษณ์ถึงความตาย มาติดตั้งในวัด โดยเฉพาะตรงบริเวณทางเดินรอบเจดีย์ที่เป็นที่เก็บอัฐิของคนตาย พร้อมกับตั้งชื่องานว่า ‘What Will You Leave Behind’ ก็อาจทำให้ผลลัพธ์ที่ออกมาสามารถเป็นได้ทั้ง หนึ่ง-เข้ากันได้ดีกับสถานที่ และ สอง-ตรงไปตรงมาเกินไปจนอาจไม่เหลือพื้นที่ให้คิดสักเท่าไร
   นีโน่จบการศึกษาด้านเซรามิกจากมหาวิทยาลัยศิลปากร และทำงานอยู่ในแวดวงโฆษณาเกือบ 20 ปี ก่อนจะเริ่มทำงานศิลปะของตัวเองเมื่อปี 2549 เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกที่หลายคนอาจเพิ่งเคยได้ยินชื่อเธอจาก BAB ครั้งนี้ ใน ‘What Will You Leave Behind’ ทั้งตอนที่จัดแสดงที่สิงคโปร์เมื่อปี 2556 และในครั้งนี้ เธอเชิญชวนให้ผู้ชมถอดรองเท้า ถุงเท้า แล้วมาเดินย่ำไปบนเซรามิกหัวกะโหลกที่ปูอยู่เต็มพื้นทางเดิน ส่วนความรู้สึกนึกคิดของผู้ชมที่ได้ลงไปเดินย่ำบนเซรามิกหัวกะโหลกของเธอจะเป็นอย่างไรบ้างนั้น ก็คงเป็นเรื่องอัตวิสัยที่แตกต่างกันไปของแต่ละคน
   เป็นที่น่าสังเกตว่า ศิลปินไทยในระดับแนวหน้าที่เคยเข้าร่วมแสดงงานใน Thai Pavilion ของ Venice Biennale และ Documenta สองเทศกาลงานศิลปะที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ แทบไม่ปรากฏอยู่ในลิสต์รายชื่อศิลปินของ BAB ครั้งนี้ (ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม - เราไม่อาจทราบได้) ยกเว้นศิลปินอยู่สองท่านคือ สาครินทร์ เครืออ่อน ที่นำเอาภาพยนตร์เงียบ ‘The Guardian Giants vs. The Super Magnificent Man’ (2018) มาจัดฉายที่วัดอรุณฯ (ในบางคืน) และมณเฑียร บุญมา (2496-2543) ศิลปินไทยระดับตำนานที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ ที่มี ‘Zodiac House’ (1998) ผลงานสะสมของเพชร โอสถานุเคราะห์ มาจัดแสดงอยู่ในศาลาการเปรียญ วัดประยูรฯ
   ‘Zodiac House’ เป็นผลงานที่มณเฑียรทำขึ้นระหว่างที่เป็นศิลปินในพำนักอยู่ในเมืองสตุทการ์ต เยอรมนี ตัวงานประกอบไปด้วยประติมากรรม 6 ชิ้น ส่วนยอดได้มาจากยอดสถาปัตยกรรมโบสถ์คาทอลิก ส่วนด้านล่างเป็นขาสี่ขา ทรงประติมากรรมเป็นเหมือนหมวกครอบ และยกขาสูงเหมือนใน ‘Sala of Mind’ (1995) ทำให้ผู้ชมสามารถมุดเข้าไปอยู่ข้างในที่ทาด้วยสีแดงจากชาด และเจาะเป็นรูเล็กๆ ให้แสงส่องเข้าไป เห็นเป็นเหมือนจุดของกลุ่มดาวบนท้องฟ้า โดยตำแหน่งของจุดกลุ่มดาวที่ผู้ชมจะมองเห็นนั้น มณเฑียรนำมาจากตำแหน่งที่ตั้งของโบสถ์ต่างๆ บนแผนที่เมืองสตุทการ์ต
   ‘Zodiac House’ เกิดขึ้นในช่วงเวลาแห่งการทำงานศิลปะที่สำคัญอีกช่วงหนึ่งของมณเฑียร นั่นคือ ช่วงที่เขาสนใจเรื่องการฝึกจิต ทำสมาธิ และ การบำบัดรักษากาย-ใจ หลังการเสียชีวิตของภรรยาเมื่อปี 2537 โดยจากรูปทรงสถาปัตยกรรมโบสถ์คาทอลิกที่มณเฑียรนำมาใช้ นับเป็นการบ่งบอกว่าการฝึกจิต ทำสมาธิ และการบำบัดของเขา ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในศาสนาพุทธ แต่เป็นเรื่องจิตวิญญาณอันเป็นสากล
   การนำเอาผลงานของมณเฑียรมาจัดแสดงอยู่ใน BAB นับเป็นโอกาสดีที่จะได้แนะนำให้ผู้ชมศิลปะรุ่นใหม่ได้รู้จักกับผลงานศิลปะคุณภาพของเขา น่าเสียดายที่ชิ้นงานนี้ถูกนำไปติดตั้งในศาลาการเปรียญที่สร้างขึ้นแบบสมัยใหม่ ติดแอร์ แถมยังมีโคมระย้าห้อยลงมาเต็มเพดาน เพราะดูแล้วเป็นพื้นที่ที่ไม่เข้ากับศิลปะของเขาเลย
   *ข้อมูลบางส่วนอ้างอิงจาก “ตายก่อนดับ: การกลับมาของ มณเฑียร บุญมา” จัดพิมพ์โดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม
วัดโพธิ์เป็นอีกสถานที่จัดงาน BAB ที่มีผลงานหลายชิ้นที่น่าสนใจ นอกจาก ‘Zou You He Che’ (2005) ของ Huang Yong Ping แล้ว เราขอเลือกผลงานสามชิ้นจากสามศิลปินไทยมาแนะนำกัน
   ชิ้นแรกคือ ‘Knowledge in Your Hands, Eyes and Minds’ (2018) จิตรกรรมของ ภาพตะวัน สุวรรณกูฏ ศิลปินไทยที่ทำงานจิตรกรรมแบบไทยประเพณีมาโดยตลอด เมื่อมาจัดแสดงผลงานที่วัดโพธิ์ วัดที่ได้รับขนานนามว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย โดยเฉพาะวิชาการนวดไทยอันเป็นที่เลื่องลือ ภาพตะวันจึงเลือกทำจิตรกรรมที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับภูมิปัญญาองค์ความรู้ของไทยในด้านต่างๆ เช่น การนวดไทย การแพทย์ วรรณกรรม และ โหราศาสตร์ โดยภูมิปัญญาไทยเหล่านี้ได้เดินทางออกไปไกลถึงออสเตรเลีย ประเทศที่เธอใช้ชีวิตอยู่ในปัจจุบัน
   แม้จะต่างรุ่นกัน แต่ ปานพรรณ ยอดมณี ก็เป็นศิลปินอีกคนที่เริ่มต้นการทำงานศิลปะจากศิลปะไทยประเพณี โดยเฉพาะว่าเธอเริ่มต้นเรียนศิลปะจากในวัดที่จังหวัดนครศรีธรรมราช บ้านเกิด จากความทรงจำของภาพเขียนฝาผนังในวัดที่เห็นมาตั้งแต่เด็ก ทำให้เธอเลือกที่จะเขียนภาพลงบนแผ่นปูนแทนผืนผ้าใบ และแม้เทคนิคที่เธอใช้จะเหมือนกับการวาดภาพเขียนฝาผนัง แต่ในเนื้อหานั้นตั้งคำถามถึงสภาพสังคมในปัจจุบัน เช่น ‘Aftermath’ (2016) ผลงานที่ทำให้เธอกลายเป็นศิลปินไทยคนที่สองต่อจาก ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวณิช ที่ได้รับรางวัล Benesse Prize ก็มีเนื้อหาพูดถึงความขัดแย้งในปัจจุบันที่หลายอย่างเกิดจากการที่มนุษย์ใช้ศาสนามาแบ่งแยกกันเอง
  ใน BAB ปานพรรณนำเอา ‘Sediments of Migration’ ประติมากรรมทำจากปูนที่เธอวาดเรื่องราวลวดลายด้วยเทคนิคเดียวกับจิตรกรรมฝาผนัง ไปติดตั้งร่วมกับรูปปั้นฤาษีดัดตน และตุ๊กตาอับเฉาในบริเวณเขามอของวัดโพธิ์ (ซึ่งชิ้นงานนั้นกลมกลืนไปกับพื้นที่ภายในวัดมาก) โดยในขณะที่ลวดลายที่เธอวาดนั้นละเมียดละไมสวยงาม เข้ากันได้อย่างดีกับปูนแตกๆ พังๆ แต่ในเนื้อหาของงานที่เป็นการติดต่อการค้าระหว่างไทยกับจีน ก็ยังคงมีเรื่องความแตกต่างระหว่างศรัทธา และชาติพันธุ์แฝงอยู่
   ผลงานอีกชิ้นที่ดูเผินๆ นึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัดอยู่แล้วคือ ‘A Shadow of Giving’ ของ ธวัชชัย พันธุ์สวัสดิ์ ศิลปินที่เป็นหนึ่งในลูกศิษย์และอดีตผู้ช่วย รวมทั้งได้รับอิทธิพลในเรื่องการทำงานศิลปะบางอย่างมาจาก มณเฑียร บุญมา ประติมากรรมของธวัชชัยนั้นมักอยู่ในรูปทรงเอนเอียง ผิดแผกไปจากรูปทรงเดิมของสิ่งของนั้นๆ ที่เราคุ้นชิน แต่ในความเอนเอียงที่ดูเหมือนหมิ่นเหม่ ไม่น่าจะตั้งอยู่ได้นั้น ก็ได้รับการคำนวนทางคณิตศาสตร์อย่างแม่นยำเพื่อให้สอดรับกับหลักการของแรงโน้มถ่วง ในขณะที่ผลงานของเขาใช้วิธีคิดคำนวน ทางคณิตศาสตร์ ธวัชชัยกลับเลือกสร้างชิ้นงานของเขาที่เป็นทั้งไม้และโลหะด้วยวิธีการทำด้วยมือ
   ศิลปะของธวัชชัยตั้งคำถามเกี่ยวกับความเข้าใจแบบเดิมๆ ของคนเราที่ได้มาจากการรับรู้สิ่งต่างๆ ด้วยตาเห็น ผลงานของเขามักมีลักษณะของ 2 มิติ และ 3 มิติ รวมตัวก้ำกึ่งกันอยู่ในงานชิ้นเดียว ใน ‘Shadow of Giving’ ก็เช่นกัน เขาได้แรงบันดาลใจมาจากภาพเขียนสองมิติในโรงทานของวัดโพธิ์ และสร้างเป็นประติมากรรมที่ดูก้ำกึ่งระหว่าง 2 มิติ และ 3 มิติ ความหมายของโรงทานสำหรับธวัชชัย สื่อถึงการให้ ความไม่เห็นแก่ตัว และความเคารพ
BAB เลือกเอาเพนต์ติ้งขนาดใหญ่ของ นที อุตฤทธิ์ มาจัดแสดงที่ BAB Box ทั้งหมด 3 ชิ้น เพนต์ติ้งทั้งสามนี้เป็นส่วนหนึ่งในนิทรรศการ ‘Optimism is Ridiculous’ ที่จัดแสดงที่ Ayala Museum ในมะนิลาและ National Gallery of Indonesia ในจาการ์ตา เมื่อปี 2017 ก่อนจะมาจัดแสดงที่สิงคโปร์เมื่อต้นปีนี้ แล้วถึงได้คิวมาในไทยก็ใน BAB ครั้งนี้
   เพนต์ติ้งทั้งสามชิ้นจัดเป็นงานประเภท Altarpiece หรือ ภาพวาดที่ใช้เป็นฉากหลังแท่นบูชาในโบสถ์ของศาสนาคริสต์ Altarpiece มักเล่าเรื่องราวในตำนานอันศักดิ์สิทธิ์ของคริสตศาสนา แต่ในเพนต์ติ้งของนที เขากลับเลือกใช้เรื่องราวที่เหมือนเป็นการตั้งคำถามถึงความเชื่อและความศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าว เช่น ‘L’enfer, c’est les autres’ ประโยคที่หยิบยืมมาจากบทละครเรื่อง ‘No Exit’ ของ Jean-Paul Sartre ที่แปลว่า Hell is other people. (นรกคือคนอื่น) หรือการที่เรามักมองว่าความเลวคือสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับเรา เพราะคนเราไร้ซึ่งความสามารถที่จะเข้าใจคนอื่นอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ในเพนต์ติ้งชิ้นนี้ นทีวาดออกมาให้นรก สวรรค์ และโลกตรงกลาง อยู่ร่วมกันหมด ไม่ได้เรียงเหมือนที่เราเข้าใจกันว่านรกอยู่เบื้องล่าง สวรรค์อยู่เบื้องบน และทั้งหมดก็แยกขาดกันอย่างสิ้นเชิง
   อีกภาพที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ และความเชื่อในศาสนาของคนในยุคปัจจุบัน คือ ‘Allegory of the End and Resistance’ ที่เป็นภาพวาดชายและหญิงเปลือย (อดัมและอีฟ) แต่เป็นอดัมและอีฟที่แสดงสีหน้าท่าทางมั่นใจ ท้าทาย และอยู่ในโลกสมัยปัจจุบัน (เพราะถือหนังสือพิมพ์ Financial Time และมีกองสมบัติอยู่ข้างๆ) รวมทั้งใช้ Text ของ Friedrich Nietzsche ที่ว่า “God is dead. God remains dead. And we have killed him.” มาบอกเล่าอย่างตรงไปตรงมา
   จริงๆ แล้ว ในนิทรรศการก่อนหน้า ‘Allegory of the End and Resistance’ น่าจะถูกจัดแสดงควบคู่กับอีกภาพคือ ‘Allegory Of the Beginning and Acceptance’ ที่เป็นภาพอดัมและอีฟในโครงกระดูกที่ยืนโพสต์ด้วยท่าทางเขินอาย และใช้ Text ประกอบว่า “If God did not exist, it would be necessary to invent him” ที่บอกเล่าถึงในสมัยก่อนที่ความเชื่อในเรื่องพระเจ้าของมนุษย์ยังคงแข็งแกร่ง และศักดิ์สิทธิ์ น่าเสียดายที่ BAB ไม่ได้เอางานชิ้นนี้มาจัดแสดงด้วย ทำให้ความคิดที่นทีต้องการนำเสนออาจจะไม่ยังไม่ค่อยสมบูรณ์เท่าไร
   ภาพประติมากรรมไม้ที่ถูกจัดวางให้ยืนต้น เหมือนป่าที่จู่ๆ โผล่พ้นขึ้นกลางอาคารสถาปัตยกรรมแบบโคโรเนียลของ อีสต์ เอเชียติก ที่มีอายุเก่าแก่ราว 115 ปี ในซอยเจริญกรุง บ้างมองว่านี่เป็นศิลปะที่นำธรรมชาติสู่เมือง บ้างมองว่าคือศิลปะจัดวางที่ทำให้เกิด “บทสนทนาระหว่างโลกตะวันออก และตะวันตก” อาจด้วยนัยยะของสถานที่แสดงงาน ประกอบกับเป็นฝีมือสร้างสรรค์โดย Sara Favriau ประติมากรหญิงชาวฝรั่งเศสที่ผลงานหลายชิ้นของเธอก่อนหน้านี้เกิดจากการนำวัสดุเชิงอุตสาหกรรมอย่างไม้ มาแปรสภาพ และสร้างเรื่องราวใหม่ เป็นศิลปะร่วมสมัยที่ใช้เทคนิคดั้งเดิม เหมือนอย่างรูปแบบแนวคิดของ Palimpsest หรือตำราโบราณที่ใช้วิธีการลบตัวหนังสือเก่าแล้วเขียนทับใหม่ ผลงานประติมากรรมครั้งนี้จึงเหมือนเป็นอีกหนึ่งบทกวีของศิลปิน ที่แกะสลักลงบนไม้เนื้อแข็งท้องถิ่นของไทยอย่าง ไม้สัก ไม้เต็ง ไม้กันเกรา เป็นต้น สร้างเลเยอร์ทับซ้อนที่แม้บางส่วนจะถูกตัดแต่งจนดูเปราะปราง แต่ก็ยังยืนยงคุณค่าแห่งความเป็นวัสดุธรรมชาติที่แข็งแรง ใช้งานได้ดี และมีเสน่ห์ในตัว เหมือนอย่างชื่อผลงานที่ว่า “Nothing Is Less Comparable 2018”
ศิลปินที่ถูกไฮไลต์มากที่สุดใน BAB คงจะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก Marina Abramovic ศิลปินชาวยูโกสลาเวียวัย 71 ปี ที่ได้ชื่อว่าเป็น “Grandmother of Performance Art” นอกจาก Abramovic จะมีกิจกรรมการฝึกกายใจที่เปิดให้ผู้ชมได้เข้าร่วม อย่าง ‘The Abramovic Method’ อยู่ที่ BACC และ ‘Standing Structures For Human Use’ (2017) ชิ้นงานที่แสดงให้เห็นความสนใจของเธอในเรื่องผลึกศาสตร์หรือการบำบัดด้วยผลึกคริสตัล ที่จัดแสดงอยู่ที่ BAB Box แล้ว ก็ยังมี Symposium + Book Signing ไปเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม รวมทั้งมีการแสดง Performance (‘A Possible Island?’) จาก Performer ลูกศิษย์ของเธอ 8 คน จาก Marina Abramovic Institute (MAI) มาจัดแสดงในช่วงเดือนแรกของ BAB อีกด้วย
   Abramovic เป็นที่รู้จักในวงการศิลปะตั้งแต่ยุค 1970s จากผลงานที่ใช้ร่างกายของตัวเองเป็นสื่อหลักในศิลปะสื่อการแสดงสด (Performance Art) เพื่อทดลองหาขีดจำกัดของร่างกายและจิตใจที่จะสามารถทนต่อความเจ็บปวดและอันตรายต่างๆ ส่วนในแวดวงสาธารณะที่ไปไกลกว่าวงการศิลปะนั้น ดูเหมือนว่า ‘The Artist is Present’ ศิลปะการแสดงสด เมื่อปี 2010 ที่เธอใช้เวลา 8 ชั่วโมงต่อวัน ตลอดระยะเวลาเกือบ 3 เดือน ไปนั่งนิ่งอยู่บนเก้าอี้ไม้ใน MoMA นิวยอร์ก รอให้ผู้ชมแต่ละคนผลัดกันเข้ามานั่งจ้องตาอยู่บนเก้าอี้ฝั่งตรงข้ามนั้น จะเป็นชิ้นงานที่ทำให้เธอเป็นที่รู้จักได้มากที่สุด โดยเฉพาะในบ้านเรา เมื่อไม่กี่ปีมานี้ มีคลิปอันนึงจาก ‘The Artist is Present’ ที่กลายเป็น Viral คือตอนที่ Ulay ศิลปิน Performance อดีตคู่รักของ Abramovic ที่เคยทำงานร่วมกันมายาวนาน เดินเข้ามานั่งบนเก้าอี้ฝั่งตรงข้าม แล้วเมื่อ Abramovic เงยหน้าขึ้นมาเห็น Ulay เธอก็ยิ้ม ก่อนจะเอื้อมมือไปจับมือ Ulay ไว้ในตอนท้าย (บางคนถึงกับเขียนบรรยายไว้อย่างดราม่าว่า ทั้งคู่เป็นศิลปินอดีตคนรักที่พลัดพรากจากกันมานานหลายปี ก่อนจะมาเจอกันใน Performance ครั้งนี้ ทั้งๆ ที่จริงๆ Abramovic กับ Ulay ก็เพิ่งเจอกันในวันเปิดงานที่ MoMA แล้วราวปี 2015 Ulay ก็ยื่นฟ้องคดี Abramovic โทษฐานที่เธอแบ่งเงินจากผลงานที่ทั้งคู่เคยทำร่วมกันให้น้อยเกินไป)
   เป็นไปได้ว่าชื่อเสียงในวงกว้างของ Abramovic คือสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ BAB เลือกเธอมาเป็นจุดขายของงานครั้งนี้ แต่ถ้าจะบอกว่านั่นเป็นเหตุผลเดียวก็อาจไม่ค่อยแฟร์เท่าไร เพราะถ้าดูในประวัติการทำงานของเธอที่ผ่านมา จะเห็นว่า Abramovic ก็มีความเชื่อมโยงกับประเทศไทยอยู่บ้าง โดยเฉพาะความสนใจของเธอในเรื่องจิตวิญญาณตะวันออก จนในต้นทศวรรษ 1990s เธอก็เคยเดินทางมาประเทศไทยเพื่อศึกษาเรื่องการทำสมาธิ โหราศาสตร์ และการบำบัดด้วยการนวดและขับร้องเพลงสวด นอกจากนั้นสิ่งที่เธอสอนใน MAI นั่นคือ การเคลื่อนไหวด้วยท่วงท่าช้าๆ ไม่ว่าจะเป็น เดิน นั่ง นอน ก็สะท้อนให้เห็นถึงเรื่องการวิปัสสนา ซึ่งผู้ชมที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมนี้ใน ‘The Abramovic Method’ บนชั้น 8 ของ BACC ก็จะได้ทดลองเดินแบบ Slow Motion นั่งนับเมล็ดข้าว ฯลฯ โดยมีที่ครอบหูอย่างดีที่ทำให้ไม่ได้ยินอะไรเลยนอก จากเสียงการเคลื่อนไหวของตัวเอง
   ในภาพรวม การเข้ามามีส่วนร่วมใน BAB ของ Abramovic ครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการนำเอาผลงานใหม่ๆ ของเธอมาให้เราดู แต่หลักๆ แล้ว น่าจะเป็นการแนะนำถึง “ศิลปะการแสดงสด” (Art Performance) ให้ผู้ชมชาวไทยในวงกว้างได้รู้จัก รวมทั้งเป็นการแนะนำถึงการทำงาน และการฝึกสอนของเธอที่ MAI ยิ่งเมื่อเอากิจกรรมและผลงานของเธอทั้งหมดมาบวกกับ Symposium + Book Signing ในวันที่ 23 ตุลา แล้ว บางทีก็อดรู้สึกไม่ได้ว่า เหมือนเธอจะมาโปรโมท MAI และ หนังสืออัตชีวประวัติของเธอมากกว่า อย่างไรก็ดี หลังจากที่ติดตามผลงานของเธอมายาวนาน การได้ฟังเธออ่าน ‘An Artist’s Life Manifesto’ แบบสดๆ ในงาน Symposium + Book Signing รวมทั้งได้เห็นเธอตอบคำถามใน Q&A ได้อย่างสงบนิ่ง และแหลมคม ก็นับว่าคุ้มค่า (หากราคาบัตรเข้าชม 1,500 จะลดลงมาอีกสักครึ่งนึง)
       
Writer:
Tunyaporn Hongtong

Photographers:
Lek Kiatsirikajorn
Tanapol Kaewpring

Special Thanks:
Bangkok Art Biennale 2018,
One Bangkok,
BACC
    TAG
  • art
  • exhibition
  • artisnow

BANGKOK ART BIENNALE 2018

ART AND EXHIBITION/ART
January 2019
CONTRIBUTORS
Tunyaporn Hongtong
RECOMMEND
  • DESIGN/ART

    A HOPE AND PEACE TO END ALL HOPE AND PEACE ศิลปะแห่งการสำรวจรากเหง้าแห่งความขัดแย้งและความรุนแรงในตะวันออกกลาง

    ท่ามกลางไฟสงครามจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล - ปาเลสไตน์ ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตนับหมื่นคน รวมถึงผู้บาดเจ็บหลายหมื่นคน และผู้พลัดฐิ่นฐานบ้านเกิดนับแสนคน และสงครามยังคงมีทีท่าว่าจะไม่ยุติลงง่ายๆ ซึ่งความขัดแย้งที่ว่านี้ไม่เพียงเกิดจากสาเหตุทางเชื้อชาติและความแตกต่างทางศาสนาเท่านั้น หากแต่ยังเกิดจากการแทรกแซงของชาติมหาอำนาจจากโลกตะวันตกอีกด้วย ​

    Panu BoonpipattanapongJanuary 2024
  • DESIGN/ART

    ROOM063 เปิดประตูสู่ห้วงจิตใต้สำนึก แสวงหาตัวตนเพื่อคงอยู่กับ ก้าม ธรรมธัช สายทอง

    หลังจากคลายล็อคดาวน์ให้ผู้คนสามารถออกไปใช้ชีวิตได้มากขึ้นนิดหน่อย เราสามารถออกไปทานข้าว นั่งคาเฟ่ เดินห้างสรรพสินค้า หรือกระทั่งออกไปชื่นชมงานศิลปะ สิ่งเหล่านี้ที่เราต่างเคยทำมันในชีวิตประจำวันจนเป็นเรื่องปกติ กระทั่งเราได้รับรู้ว่าการขาดสิ่งเหล่านี้ไปเป็นระยะเวลานานในช่วงเวลาเช่นนี้ คงยิ่งทำให้ใครหลายๆ คนรู้สึกหดหู่หัวใจไม่มากก็น้อย เพราะการใช้ชีวิตทุกวันอยู่ให้ห้องสี่เหลี่ยม ขาดความหลากหลาย ขาดสีสัน ไร้ซึ่งการพบปะผู้คนมันช่างหมองหมน จึงขอพาทุกคนออกมาจากห้องสี่เหลี่ยมของตนไปรับชมศิลปะพร้อมกับเปิดรับความรู้สึกใหม่ภายในตัวเรากับการแสดงนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของ ก้าม ธรรมธัช สายทอง ที่มีชื่อว่า ROOM063

    EVERYTHING TEAM3 years ago
  • DESIGN/ART

    มองลึกถึงแนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงาน ของอาจารย์อนันต์ ปาณินท์ ในนิทรรศการ Rhythm of Heartbeat

    ในช่วงเดือนมกราคม และกุมภาพันธ์ ที่จะถึงนี้ นอกจากจะเป็นช่วงเวลาแห่งการเริ่มต้นใหม่ของปีที่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ รอบตัวเราอย่างมากมายแล้ว ผู้สนใจติดตามความเคลื่อนไหวของวงการศิลปะในเมืองไทย จะยังมีได้โอกาสชมผลงาน ของอาจารย์ อนันต์ ปาณินท์ ในนิทรรศการที่ชื่อว่า Rhythm of Heartbeat ซึ่งจะจัดที่ MOCA Bangkok ในระหว่างวันที่ 16 มกราคม ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2564

    EVERYTHING TEAMJanuary 2021
  • DESIGN/ART

    Year of the Rat นิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกในไทยของ อ้าย เว่ยเว่ย

    นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่ อ้าย เวยเวย (ai weiwei) ศิลปินชาวจีนและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองวัย 63 ผู้มีผลงานด้านศิลปะหลากหลายรูปแบบ และได้รับการยอมรับจากทั่วโลกในฐานะผู้วิพากษ์วิจารณ์สังคมและวัฒนธรรมจีน ได้เปิดนิทรรศการผลงานศิลปะของตัวเองที่ชื่อ "Year of the Rat" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในงาน Bangkok Art Biennale 2020 โดยนิทรรศการได้เปิดให้ชมแล้วที่ Tang Contemporary Art ชั้น 2 ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก ถนนสี่พระยา

    EVERYTHING TEAM4 years ago
  • DESIGN/ART

    Die Schöne Heimat นิทรรศการผลงานศิลปะของ อ.สมบูรณ์ หอมเทียนทอง ในวันที่คนไม่สามารถเดินเข้าหาศิลปะได้ในเวลานี้ ศิลปินควรทำอย่างไร?

    หากเป็นช่วงเวลาปกติ ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อาจารย์ สมบูรณ์ หอมเทียนทอง จะจัดแสดงนิทรรศการชุด “Die Schöne Heimat” (ดี-เชินเน-ไฮมัท) ซึ่งเปิดให้ชมทาง JWD Art Space (ซอยจุฬาลงกรณ์ 16) ไปจนถึงราวกลางเดือนมิถุนายน

    EVERYTHING TEAMApril 2020
  • DESIGN/ART

    “Pet Portrait Project by Crunchy M.” โครงการภาพวาดประกอบน่ารัก ให้พักเบรกจากสถานการณ์โรค

    “ในช่วงสถานการณ์แบบนี้ เราจะทำอะไรเพื่อช่วยส่วนรวมได้บ้าง” โบ - ณัฐชลัยย์ สุขะมงคล Copy Writer สาวที่ชอบวาดรูปเล่นเป็นงานอดิเรก นึกคิดขึ้นมาได้ในเย็นวันศุกร์วันหนึ่ง ระหว่างที่เธออยู่ในช่วงกักตัวอยู่บ้าน และออฟฟิศมีนโยบายให้พนักงาน Work from home

    EVERYTHING TEAMApril 2020
SIGN UP TO OUR NEWSLETTER
A Monthly update of the new issue from us
THANK YOU FOR YOUR SUBSCRIPTION

We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )