BLU395 I อาคารที่คืนพื้นที่สีเขียวและเพิ่มพลังงานให้กับย่านสะพานควาย โดยทีมสถาปนิก PHTAA | IAMEVERYTHING.CO

LOOKING ON EVERYTHING ?

EXPLORE ON EVERYTHING

BLU395
PHTAA กับงานออกแบบอาคารซึ่งคืนพื้นที่สีเขียวให้คนเดินถนน
และเพิ่มพลังงานให้กับย่านสะพานควาย

จากย่านการค้าที่เคยคึกคักในอดีต เมื่อเวลาผ่านไป สะพานควายกลายเป็นเพียงทางผ่านซึ่งเป็นที่รู้จักในเรื่องสภาพการจราจรที่หนาแน่น เมื่อได้รับโจทย์ให้ออกแบบอาคารใหม่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนนี้ ทีมสถาปนิก PHTAA Living Design ตั้งใจที่จะใช้งานออกแบบเป็นพลังผลักดันในการเปลี่ยนภาพจำของสะพานควายให้กลับมามีความน่าสนใจอีกครั้ง "สะพานควายกลายเป็นย่านการค้าขนาดรอง จะเห็นว่าที่นี่มีแต่ร้านซ่อมรองเท้า ซ่อมนาฬิกา และร้านขายของเบ็ดเตล็ด เป็นที่ซึ่งคนไม่ได้ตั้งใจมาเหมือนแต่ก่อน เป็นแค่ย่านทางผ่าน" พลวิทย์ รัตนธเนศวิไล สถาปนิกผู้ร่วมก่อตั้ง PHTAA กล่าว "เราเลยอยากทำให้แถวนี้เป็นย่านทางผ่านที่มีประสิทธิภาพ แค่เราสร้างความน่าสนใจให้กับทางผ่านได้มากขึ้น มันก็ถือว่าเปลี่ยนแล้ว"

ความตั้งใจที่จะสร้างความน่าสนใจให้กับชุมชนและเปลี่ยนสะพานควายให้กลายเป็นทางผ่านที่มีประสิทธิภาพ นำไปสู่แนวคิดในการออกแบบBLU395 อาคารที่เปลี่ยนพื้นที่ซึ่งเคยเป็นตึกแถวให้เป็น Service Apartment ที่จะส่งต่อพลังงานไปยังเพื่อนบ้านและชุมชนรอบๆ ตัว “การที่เราสร้างตึกขึ้นมาตรงนี้ เราก็อยากให้ตึกนี้เติม Energy ของถนนให้มันมีมากขึ้น เราต้องทำให้ตัวอาคารมี Energy พอที่จะเผื่อแผ่ให้คนรอบข้างและถนนสายนี้ ทำให้มัน Active มากกว่าเดิม” พลวิทย์อธิบาย “ถ้า Energy ของคนมาที่นี่แล้วมันไปต่อได้ เช่น คนมากินกาแฟใต้ตึกเรา แล้วไปซื้อขนมไทยที่ตึกแถวข้างๆ แล้วไปซ่อมนาฬิกา แล้วจบด้วยการไปซื้อของก่อนกลับบ้าน พอมี Destination ให้คนไปต่อปุ๊บ อาคารเราจะสามารถแผ่พลังงานให้กับตึกข้างๆ ได้ เราคิดว่าถ้าเราทำอะไรสักอย่างเราควรที่จะทำอย่างนั้น”

คลื่นพลังงานระลอกแรกส่งออกมาในรูปแบบความปลอดโปร่งและบรรยากาศโล่งสบายสำหรับคนเดินถนน เมื่อทีมสถาปนิกเลือกที่จะถอยร่นตัวอาคารห่างออกไปจากแนวเดิมของตึกแถวที่ตั้งชิดติดขอบทางเท้า เว้นระยะห่างให้มีที่ว่างสำหรับธรรมชาติริมทางเดิน เกิดเป็นจุดพักหายใจให้คนเดินถนนได้ผ่อนคลายกับสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรและเอื้ออำนวยต่อการเดินทอดน่องช้าๆ มากขึ้น “ความหนาแน่นของตึกแถวมันทำให้ฟุตบาทไม่น่าเดิน อย่างน้อยการ Setback เข้าไป ทำให้เราได้คืนพื้นที่ส่วนหนึ่งให้เมือง” พลวิทย์กล่าว “ตึก Set เข้าไปเพื่อให้ข้างหน้าเป็นพื้นที่การใช้สอยของคนได้มากขึ้น เพื่อที่จะคืนพื้นที่บางส่วน แล้วเอาสีเขียวเข้ามาทำให้คนที่ผ่านไปผ่านมาเขาได้มองเห็นสีเขียวขึ้นมาบ้าง”

ในขณะที่ตัวอาคารถอยห่างออกมาจากถนน พื้นที่สีเขียวบนที่ว่างภายนอกได้รับการออกแบบให้ขยับเข้าไปใกล้ชิดกับตัวอาคารอย่างแนบแน่น ที่ผนังด้านหน้าอาคารมีส่วนเว้ารูปทรงกรวยที่คว้านลึกเข้าไปและเว้นที่ไว้สำหรับการปลูกต้นไม้ ทำให้เกิดความต่อเนื่องของพื้นที่สีเขียวที่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของอาคาร

ผนังส่วนเว้ารูปทรงกรวยถูกขึงด้วยผ้าใบสีขาว ทำให้พื้นที่ภายในอาคารซึ่งเป็นโถงทางเดินได้รับแสงสว่างจากธรรมชาติตลอดทั้งวัน อีกทั้งยังเกิดเป็นช่องลมที่ช่วยระบายความร้อนภายในอาคาร “กรวยตรงนี้ช่วยเรื่อง Ventilation ด้วย เวลาลมพัดมาก็จะผ่านขึ้นข้างบน ทำให้ผ้าใบตรงนั้นไม่ร้อนจนเกินไป” พลวิทย์อธิบาย “เราเลือกใช้ผ้าใบเพราะมันยอมให้แสงผ่านเข้ามาได้แต่ไม่นำพาความร้อน ตอนกลางวันก็ไม่ต้องเปิดไฟให้กับตึก เป็นการ Save Energy ด้วยวิธีง่ายๆ”

ที่ BLU395 รูปทรงภายนอกได้รับการออกแบบให้กลายเป็นองค์ประกอบสำคัญในการตกแต่งพื้นที่ภายใน รูปทรงเว้าที่คว้านเข้าไปในอาคารไม่เพียงให้แสงสว่างกับโถงทางเดินในแต่ละชั้น หากยังทำหน้าที่เป็นโถงบันไดรูปทรงโค้งซึ่งกลายเป็นเสมือนงานประติมากรรมที่สร้างความน่าสนใจให้กับอาคารโดยไม่จำเป็นต้องมีส่วนตกแต่งเพิ่มเติม “เราพยายามจะใช้องค์ประกอบของสถาปัตยกรรมเป็นการ Decoration การทำรูปทรงโค้งเข้าไปทำให้ Space ข้างในน่าสนใจขึ้นโดยไม่ต้องไปแต่ง บันไดโค้งทำให้เกิด Dynamic บางอย่างขึ้นใน Space ทำให้ Space มันน่าสนใจขึ้นโดยปริยาย” พลวิทย์กล่าว “แล้วบันไดวนนี้มันก็ Remind ถึงความเป็น Shophouse ด้วย ตรงนั้นมันก็เป็นตึกแถวมาก่อน เราคิดว่าบันไดเป็นเสน่ห์ของตึกแถว เราเลยเก็บอัตลักษณ์ของตัวตึกแถวไว้แบบนี้ มันคือสิ่งที่พูดถึงตึกแถวในอดีตโดยการถ่ายทอดในรูปแบบที่ใหม่ขึ้น”

อีกหนึ่งคลื่นพลังงานที่ส่งออกมาจากอาคารนี้เกิดจากการออกแบบผนังที่มีลวดลายปรากฏขึ้นตามแต่มุมมองของผู้ที่ผ่านไปมา ด้วยการใช้ตะแกรงเหล็กทาสีในแต่ละช่อง ภาพที่เกิดขึ้นจะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปตามแต่องศาของการมอง จากภาพตึกรามบ้านช่องเมื่อมองจากทิศทางเข้าเมือง ภาพจะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงเป็นภูมิทัศน์บ้านเรือนในชนบทเวลาที่มองจากทิศทางออกนอกเมือง เกิดมิติของอาคารที่สัมพันธ์กับเส้นทางการเคลื่อนที่ของผู้คนอย่างมีนัยยะ "เราพยายามทำ Facade ให้มีมุมมองที่น่าสนใจ เลยสร้างผนังอาคารนี้ขึ้นมาให้คนจดจำย่านนี้ได้มากขึ้น" พลวิทย์เล่า "Angle ของคนที่อยู่บนถนนจะเห็นรูปไม่เหมือนกันในแต่ละฝั่ง แต่ละครั้งที่คนผ่านตึกเรา เขาจะจอดตรง Angle ไหนก็ตาม เขาจะเห็นรูปต่างๆ กัน"

รูปภาพที่เปลี่ยนแปลงไปตามมุมมองของอาคารเกิดจากการนำตะแกรงเหล็กฝาท่อน้ำซึ่งพบในที่ตั้งดั้งเดิมของอาคารมาดัดแปลงผ่านกระบวนการคิดแบบ Re-Appropriate ที่ทีมสถาปนิกจาก PHTAA มักจะใช้ในงานออกแบบของพวกเขา “Re-Appropriate คือการปรับการใช้งานจากเดิม คือการหยิบจับวัสดุเดิมมาใช้ในวิธีการใหม่ สร้าง Iconic ได้ Effect ใหม่ขึ้นมาโดยไม่ต้องเสียพลังงานในการผลิตวัสดุใหม่ขึ้นมา” พลวิทย์อธิบาย “การทำภาพแบบนี้ขึ้นมาเราต้องไปแตกภาพเป็น Pixel และให้ Code การทาในแต่ละช่องขึ้นมา ใหญ่กลางเล็ก ทำแบบมาแล้วแจกจ่ายให้ช่างทาสีที่หน้างาน มันมีความ Handcraft อยู่ในตัว”

ด้วยการเว้นที่ว่างในอาคารเพื่อคืนพื้นที่สีเขียวให้ชุมชน และสร้างจุดสนใจให้งานสถาปัตยกรรมด้วยการดัดแปลงวัสดุตามแนวคิด Re-Appropriate ทีมสถาปนิก PHTAA ได้สร้างสรรค์อาคารซึ่งมีพลังงานมากพอที่จะส่งต่อไปยังบริเวณรอบข้าง เพื่อขับเคลื่อนให้ย่านสะพานควายกลายเป็นทางผ่านที่มีประสิทธิภาพและกลับมาเป็นชุมชนที่น่าสนใจอีกครั้งหนึ่ง

    TAG
  • Blu395
  • PHTAA
  • PHTAA LIVING DESIGN
  • architecture

BLU395 I อาคารที่คืนพื้นที่สีเขียวและเพิ่มพลังงานให้กับย่านสะพานควาย โดยทีมสถาปนิก PHTAA

ARCHITECTURE/HOTEL
5 years ago
CONTRIBUTORS
EVERYTHING TEAM
RECOMMEND
  • DESIGN/HOTEL

    NA TANAO BY POAR ก้อนหมู่เรือนไทยที่ลอยตัวอยู่ระหว่างพื้นที่ไร้ค่าและมูลค่ามหาศาล

    “ณ ตะนาว” ด้วยชื่อแล้ว สามารถบอกถึงตำแหน่งของโครงการซึ่งอยู่ริมถนนตะนาว ซึ่งตั้งทำมุมตรงกับซุ้มประตูแพร่งสรรพศาสตร์พอดิบพอดี ย่านการค้าที่เคยเฟื่องฟูแห่งหนึ่งของรัตนโกสินทร์ชั้นในได้เปลี่ยนไปตามการพัฒนาผังเมือง ทำให้การลงทุนและประกอบธุรกิจบริเวณนี้อาจมีนัยยะที่ลึกซึ้งมากกว่าการสร้างอาคารบนข้อจำกัดเพื่อพิสูจน์ความสำเร็จเชิงรูปธรรมอย่างแน่นอน

    Nada Inthaphunt3 years ago
  • DESIGN/HOTEL

    Uthai Heritage จากโรงเรียนเก่าสู่บูติกโฮเทล แลนด์มาร์กแห่งประวัติศาสตร์ของอุทัยธานี

    Uthai Heritage บูติกโฮเทลที่เกิดขึ้นมาจากการรีโนเวทอาคารเก่าของโรงเรียนอุทัยธานี สู่แลนด์มาร์กใหม่ที่เต็มไปด้วยเรื่องเล่าและประวัติศาสตร์สำคัญของจังหวัดอุทัยธานี

    EVERYTHING TEAM4 years ago
  • DESIGN/HOTEL

    Hotel SALA SAMUI Chaweng Beach Resort ตีโจทย์การท่องเที่ยวยุคโซเชี่ยลครองเมือง ด้วยงานดีไซน์ที่ถ่ายรูปแล้วปัง

    กูรูในวงการท่องเที่ยวเคยคาดการณ์ไว้ว่า สมุยจะเป็นที่สุดท้ายในเมืองไทยที่สามารถฟื้นตัวจากพิษโควิด สาเหตุหลักๆ เพราะสมุยนั้นเปรียบไปก็เหมือนของเล่นของฝรั่ง ค่าครองชีพโดยรวมจัดว่าสูงไม่แพ้ภูเก็ต แถมยังมี supply เหลือเฟือ ห้องเช่าโรงแรมเล็กโรงแรมน้อยไปจนถึงห้าดาวมีให้เห็นกันแทบจะทุกตารางนิ้ว ที่สำคัญ คนไทยไม่เที่ยวหรอกเพราะค่าตั๋วเครื่องบินที่ผูกขาดไว้โดยสายการบินเดียวนั้นแพงระยับ แต่ในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา โลกโซเชี่ยลกลับพบว่าเหล่า instagramer มากมายไปปรากฏกายอยู่ที่สมุย จนเกิดคำพูดที่น่าหมั่นไส้เบาๆ ว่า “ใครๆ ก็อยู่สมุย”

    THT5 years ago
  • DESIGN/HOTEL

    97 Yaowarat โรงแรมคลาสสิกสุดไพรเวทแห่งย่านเมืองเก่าของภูเก็ต

    ซึมซับเสน่ห์เมืองเก่าผ่านสถาปัตยกรรมสไตล์ชิโน-โปรตุกีส ที่กระจายตัวอยู่ในเมืองภูเก็ตโดยรอบ จรดล้มหัวลงนอนบนเตียงในห้องพักดีไซน์คลาสสิกสุดไพรเวทของ 97 Yaowarat โรงแรมแห่งใหม่ ที่ความ “เก่า” กับความ “ใหม่” อยู่ร่วมกันอย่างลงตัว

    EVERYTHING TEAM5 years ago
  • DESIGN/HOTEL

    Varivana Resort I เชื่อมผืนป่า ผิวน้ำ และสายลม ผสมกันเป็นประสบการณ์ใหม่อย่างลงตัวโดย พอ สถาปัตย์

    เสียงยอดมะพร้าวเสียดสีกันตามแรงลมผสมกับเสียงคลื่นดังแว่วมา กลายเป็นท่วงทำนองที่ลงตัวใน "วารีวาน่า รีสอร์ต" (Varivana Resort) โรงแรมที่ซ่อนตัวอยู่บนเนินเขาท่ามกลางสวนมะพร้าวในเกาะพะงัน ที่นี่ อาคารคอนกรีตเปลือยสามชั้นหันหน้าเปิดรับมุมมองเส้นขอบท้องฟ้าอันไกลโพ้น โรงแรมแห่งนี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อเชื่อมต่อธรรมชาติของแมกไม้ในภูเขาเข้ากับผืนน้ำในท้องทะเลกว้างใหญ่ให้เกิดเป็นประสบการณ์แปลกใหม่สำหรับผู้มาเยือนโดยเฉพาะ

    EVERYTHING TEAM5 years ago
  • DESIGN/HOTEL

    Lost in Space ที่ว่างระหว่างทางกับรีสอร์ตริมแม่น้ำ ซึ่งอัดแน่นไปด้วยสุนทรียภาพสำหรับทุกประสาทสัมผัส

    จากปรัชญาเต๋าที่ว่า ‘ภายนอกเราปั้นดินให้เป็นไห...แต่ที่ว่างข้างในต่างหากที่ใช้ใส่ของที่ต้องการ’ (我们将陶土捏成罐子,但是罐子中间的空间,让它成为有用的器皿。) สู่แนวคิดของสถาปนิกชั้นครู Frank Lloyd Wright ที่อธิบายมุมมองของเขาซึ่งมีต่อสถาปัตยกรรมว่า ‘สาระสำคัญของอาคารเกิดจากที่ว่างซึ่งอยู่ภายใน’ (The Space within become the reality of the building.) กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ ‘สถาปนิกไอดิน’ ออกแบบรีสอร์ตแห่งหนึ่งโดยคำนึงถึงการสร้างสรรค์ที่ว่าง/ระหว่างทาง/และสุนทรียภาพที่ผู้มาเยือนจะได้สัมผัส ก่อนที่จะถ่ายทอดสิ่งเหล่านั้นออกมาเป็นรูปทรงของอาคารริมแม่น้ำแคว

    EVERYTHING TEAMMarch 2020
SIGN UP TO OUR NEWSLETTER
A Monthly update of the new issue from us
THANK YOU FOR YOUR SUBSCRIPTION

We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )