Body, Community, and Society: She is House กระบวนการสำรวจความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมของร่างกายเพศหญิงในเชิงกายภาพและสถาปัตยกรรม | IAMEVERYTHING.CO

LOOKING ON EVERYTHING ?

EXPLORE ON EVERYTHING

  ในยุคสมัยหนึ่ง วัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีส่วนใหญ่ในโลก ถูกกำหนด ควบคุม และครอบครองโดยเพศชาย ในขณะที่บทบาทของเพศหญิงมีเพียงเป็นผู้ถูกกำหนด ควบคุม ครอบครอง และสนับสนุนอยู่เบื้องหลังแต่เพียงเท่านั้น ไม่เว้นแม้แต่โลกศิลปะ ที่ในยุคสมัยก่อนหน้านี้แทบไม่มีที่ทางให้ศิลปินหญิงอยู่เลย ต่างกับในยุคสมัยปัจจุบัน ที่กระแสเคลื่อนไหวทางสังคมอย่าง ความเสมอภาคระหว่างเพศ ได้รับการยอมรับในวงกว้าง ทำให้เพศหญิงมีอำนาจ บทบาท และปากเสียงในการกำหนดทิศทางของสังคมและวัฒนธรรมด้วยตัวเอง หรือแม้แต่มีที่ทางในโลกศิลปะเทียบเคียงเพศชายได้ ไม่มากก็น้อย
  เช่นเดียวกับประเด็นที่ปรากฏในนิทรรศการ “Body, Community, and Society: She is House” ที่มุ่งเน้นในการนำเสนอเรื่องราวของร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ร่างกายของเพศหญิง ด้วยการสำรวจแง่มุมต่าง ๆ ทั้งในเชิงกายภาพ เชิงสถาปัตยกรรมในความหมายของรูปทรง และความเป็นที่พักอาศัย หรือการเป็นพื้นที่ให้กำเนิดชีวิต เพื่อถ่ายทอดความสัมพันธ์ระหว่างร่างกายเพศหญิงและวัฒนธรรม ตลอดจนขนบธรรมเนียมต่าง ๆ ของท้องถิ่น
  ด้วยการนำเสนอผลงานของสี่ศิลปินหญิงจากอินโดนีเซียอย่าง ซิตรา ซาสมิตา (Citra Sasmita), มหาราณี มานคานาการา (Maharani Mancanagara), เมลลา จารส์มา (Mella Jaarsma) และ นาตาชา ทอนเทย์ (Natasha Tontey) ในรูปแบบของภาพวาด, งานศิลปะสื่อผสม, วิดีโอจัดวางเฉพาะพื้นที่ และศิลปะแสดงสด เพื่อค้นหาคำตอบของความสัมพันธ์ระหว่างร่างกาย, เพศ และความลึกซึ้งของวัฒนธรรมต่าง ๆ ในประเทศอินโดนีเซีย และเพื่อสังเกตว่า วัฒนธรรมดั้งเดิมที่ได้รับการอนุรักษ์นั้นถูกท้าทายและแปรเปลี่ยนจากกระแสเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างความเสมอภาคระหว่างเพศได้อย่างไร นิทรรศการนี้นำเสนอความเชื่อมโยงกันระหว่างบ้านเกิด และวัฒนธรรมท้องถิ่นของสี่ศิลปินชาวอินโดนีเซีย ทั้งจากเกาะชวา, เกาะสุลาเวสี, เกาะบาหลี และเกาะสุมาตรา เกาะแต่ละแห่งนี้ล้วนมีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์, วัฒนธรรมท้องถิ่น, ความเชื่ออันหลากหลาย ตลอดจนการประกอบพิธีกรรมทางจิตวิญญาณ ไปจนถึงเรื่องราวการสืบทอดเชื้อสายทางมารดา อันดำเนินคู่ขนานไปกับคตินิยมเพศชายเป็นใหญ่

ซิตรา ซาสมิตา (Citra Sasmita), มหาราณี มานคานาการา (Maharani Mancanagara), เมลลา จารส์มา (Mella Jaarsma) และ นาตาชา ทอนเทย์ (Natasha Tontey)

  ภายใต้การคัดสรรของภัณฑารักษ์ ลอรีดาน่า พาซซินี่-พาราคเซียนี่ (Loredana Pazzini-Paracciani) ที่เล่าให้เราฟังถึงที่มาที่ไปของนิทรรศการครั้งนี้ว่า
  “โครงการนี้เริ่มต้นเมื่อปีที่แล้ว โดยฉันเริ่มคิดถึงร่างกายในฐานะสิ่งที่กระทำ และสิ่งที่ถูกกระทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ร่างกายของผู้หญิง ที่มักจะถูกมองในฐานะวัตถุสิ่งของตลอดมา ถึงแม้ทุกวันนี้สถานการณ์จะดีขึ้นบ้างก็ตามที ฉันคิดว่านี่เป็นสิ่งที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากประสบการณ์ของฉัน ในฐานะภัณฑารักษ์ ที่ทำการค้นคว้าหาข้อมูลเรื่อยมา ฉันพบว่าสิ่งเหล่านี้ยังคงมีให้เห็นอยู่ แม้ในยุคร่วมสมัยก็ตามที”
  “ฉันคิดว่า เมื่อเราคิดถึงร่างกายของมนุษย์ในฐานะสิ่งก่อสร้าง บางทีเราอาจจะพูดถึงสิ่งก่อสร้างในฐานะของภูมิทัศน์เมือง หรือในฐานะสิ่งก่อสร้างทางเพศ และถ้าสิ่งก่อสร้างนั้นเป็นสิ่งก่อสร้างเพศหญิง เรื่องเล่าแบบไหนที่จะใช้เล่าเกี่ยวกับสิ่งก่อสร้างทางสถาปัตยกรรมแบบนี้ที่เชื่อมโยงกับสถาปัตยกรรมอื่น ๆ นี่เป็นจุดตั้งต้นของฉัน”

ลอรีดาน่า พาซซินี่-พาราคเซียนี่ (Loredana Pazzini-Paracciani)

  “ตอนแรกฉันไม่ได้คิดว่าจะร่วมงานกับศิลปินอินโดนีเซีย แต่หลังจากพัฒนาแนวคิดเกี่ยวกับร่างกายของเพศหญิงในฐานะงานสถาปัตยกรรม ฉันก็เริ่มคิดถึงศิลปินเหล่านี้ เพราะฉันคิดว่างานของพวกเธอพูดอะไรบางอย่างเกี่ยวกับร่างกายเพศหญิง และสถาปัตยกรรม ดังนั้น ฉันจึงเชิญสี่ศิลปินหญิงจากอินโดนีเซีย ซิตรา ซาสมิตา, มหาราณี มานคานาการา, เมลลา จารส์มา และ นาตาชา ทอนเทย์ มาร่วมงานด้วยกัน”
  “ก่อนหน้านี้ฉันเคยชมผลงานของเมลลามาแล้วหลายครั้ง ผลงานของเธอมักเกี่ยวกับเครื่องแต่งกายในหลายรูปแบบ แต่เครื่องแต่งกายเหล่านี้ก็มีความเป็นสถาปัตยกรรมมาก ๆ ฉันเลยคิดว่าเมลลาน่าจะเหมาะกับบริบทของนิทรรศการนี้อย่างสมบูรณ์แบบ เพราะเธอใช้ร่างกายในฐานะสถาปัตยกรรม และผลักให้เราคิดถึงร่างกายผู้หญิงและโครงสร้างสถาปัตยกรรม”
  “ฉันเลยเริ่มติดต่อศิลปินหญิงเหล่านี้ อธิบายให้พวกเธอฟังถึงแนวคิดของฉันเกี่ยวกับร่างกายผู้หญิงในฐานะโครงสร้างสถาปัตยกรรม ว่าพวกเธอสนใจในแนวคิดนี้ไหม คิดว่าจะพัฒนาแนวคิดนี้ต่อได้อย่างไร ในบริบทของแนวทางและกระบวนการทำงานของเธอ และพวกเธอสนใจมาก และพวกเธอทุกคนก็มีแนวทางการทำงานที่แตกต่างกัน ซึ่งทำให้ฉันตระหนักว่าน่าสนใจมากที่จะได้ศิลปินเหล่านี้มาทำงานในนิทรรศการครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงแค่แนวทางการทำงานของพวกเธอ แต่เพราะพวกเธอเฝ้ามองและศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับพื้นที่แต่ละแห่งในประเทศอินโดนีเซีย เพราะอินโดนีเซียไม่ใช่แค่ประเทศที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หากแต่เป็นประเทศที่มีหมู่เกาะมากที่สุดในโลก ประมาณ 17,508 เกาะ และแต่ละเกาะก็มีความแตกต่างกันอย่างมาก โดยมากคนส่วนใหญ่จะรู้จักเกาะชวา และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกาะบาหลี เพราะเป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยว แต่เราไม่ค่อยรู้เกี่ยวกับเกาะสุลาเวสี และเกาะสุมาตรา ผลลัพธ์ก็คือ ศิลปินแต่ละคนก็มาจากแต่ละเกาะของอินโดนีเซีย และทำการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับสี่เกาะที่แตกต่างกัน ดังนั้นในพื้นที่แสดงงานแห่งนี้จึงมีงานศิลปะ และมุมมองที่แตกต่างกันสี่แบบ จากสี่บริบททางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน”

  ลอรีดาน่า ภัณฑารักษ์ของนิทรรศการ ยังเผยถึงความหมายของชื่อนิทรรศการครั้งนี้ว่า
  “ชื่อเต็มของนิทรรศการครั้งนี้คือ Body, Community, and Society: She is House แน่นอนว่าเบื้องต้นเราพูดถึงร่างกายของเพศหญิง แต่เราก็พูดถึงร่างกายของเพศอื่น ๆ และร่างกายอื่น ๆ และอาจจะรวมถึงประวัติศาสตร์ของคนชายขอบในสังคมด้วย เช่น งานของนาตาชาที่พูดถึงร่างกายของคนรักเพศเดียวกัน (Queer body)”
  “ประเด็นแรกที่ฉันสนใจคือร่างกายที่เมื่ออยู่รวมกันจะสร้างชุมชนและสังคมขึ้นมา เพราะร่างกายคือหน่วยเล็ก ๆ หน่วยหนึ่ง และเมื่อมันรวมตัวกับหน่วยอื่น ๆ ก็จะกลายเป็นสังคมและภูมิทัศน์เมืองขึ้นมา แต่แน่นอนว่าในบริบทนี้ฉันต้องการสำรวจแนวคิดของร่างกายในเชิงกายภาพและในเชิงสถาปัตยกรรมที่เชื่อมโยงกับขนบธรรมเนียมประเพณีในอินโดนีเซีย ซึ่งฉันคิดว่าเป็นอะไรที่ค่อนข้างท้าทาย เพราะโดยปกติ ผู้หญิงมีบทบาทในฐานะแม่บ้านผู้ดูแลบ้าน แต่ในนิทรรศการครั้งนี้เป็นการกลับค่าทางประวัติศาสตร์ เพราะผู้หญิงไม่ใช่แค่ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลบ้าน ด้วยการทำให้สิ่งก่อสร้างหรืออาคารเป็นผู้หญิง โดยไม่ใช่แค่การอยู่อาศัย หากแต่ผู้หญิงกลายเป็นตัวบ้านไปเองเลย นี่คือสิ่งที่ศิลปินเหล่านี้ทำในงานของพวกเธอ”

  ดูๆ ไปลักษณะการทำงานเช่นนี้มีความคล้ายคลึงกับศาสตร์การทำงานของนักชาติพันธุ์วิทยาและนักมานุษยวิทยาในสาขาที่เรียกว่า ชาติพันธุ์วรรณนา (Ethnography) ที่ศึกษาและอธิบายวิถีชีวิต วัฒนธรรม และพฤติกรรมแบบต่าง ๆ ของกลุ่มคนในแต่ละชาติพันธุ์อยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว ซึ่ง ลอรีดาน่าก็เห็นด้วยกับเราเช่นกัน
  “ในนิทรรศการของฉันหลายครั้ง ฉันสนใจในการใช้การศึกษาค้นคว้าในแนวทางชาติพันธุ์วรรณนากับงานศิลปะ เพราะฉันคิดว่าชาติพันธุ์วรรณนากับศิลปะร่วมสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศิลปะร่วมสมัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มักเชื่อมโยงกัน เพราะในแต่ละสังคมเรามีประเด็นบางอย่างที่จะถกเถียงกัน ดังนั้นศิลปินแต่ละคนจึงใช้กระบวนการทางชาติพันธุ์วรรณนาในการทำงาน ผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น และทักษะทางศิลปะของท้องถิ่น”
  “อย่างเช่นงานของ ซิตรา ซาสมิตา นั้นชัดเจนว่าเธอใช้สื่อวัสดุทางศิลปะของท้องถิ่นอย่าง ผ้าใบกามาสัน (Kamasan) ที่ทำจากผงเปลือกหอย ซึ่งในอดีตเป็นผ้าใบวาดภาพเทวตำนานสำหรับพระราชวัง ซึ่งส่วนใหญ่ผลิตและใช้วาดภาพโดยผู้ชาย แต่ซิตราย้อนกลับประเพณีด้วยการให้ผู้หญิง ซึ่งก็คือเธอ วาดภาพลงบนผ้าชนิดนี้ ก่อนหน้านี้การทำเช่นนี้เคยเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับผู้หญิง เพราะโดยปกติ ผ้าใบกามาสันมักถูกศิลปินชายวาดภาพเรื่องราวตำนานเกี่ยวกับวีรบุรุษเพศชาย และมักแทบไม่ค่อยมีตัวละครเพศหญิงปรากฏอยู่ในนั้นนอกจากเป็นตัวประกอบที่ไม่มีบทบาทสำคัญ เช่นเป็นเจ้าหญิงที่รอเจ้าชายขี่ม้าขาวมาช่วยเหลือเท่านั้น”

  “ด้วยการใช้วัสดุท้องถิ่นและทักษะที่ถูกมองว่าเป็นศิลปะชั้นรอง ซิตราแสดงออกถึงมุมมองอันแข็งแกร่งของผู้หญิง และให้ผู้หญิงเป็นตัวเอกในเรื่องราวของเธอ ผลงานชิ้นนี้จึงมีชื่อว่า “The Oracle from The Land and Sea” เมื่อคุณดูงานของเธอ คุณจะเห็นว่าเป็นตัวละครวีรสตรีที่เป็นเพศหญิงทั้งหมด เพราะทุกชีวิตนั้นมีต้นกำเนิดจากเพศหญิง จะเห็นว่าตัวละครผู้หญิงในหลายภาพของเธอมีเปลวไฟลุกไหม้จากหน้าท้อง เพราะถึงแม้การให้กำเนิดจะเป็นความเจ็บปวดอย่างแสนสาหัส แต่ก็เป็นกระบวนการอันสำคัญที่จะทำให้ชีวิตดำเนินต่อไปได้ หรือภาพของผู้หญิงที่เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และภาพของผู้หญิงถือดาบ ซึ่งเธอกล่าวว่าเธอไม่ต้องการให้ผู้หญิงเป็นตัวแทนของความรุนแรง แต่เป็นสัญลักษณ์ของพลังความเข้มแข็งมากกว่า ผ้าใบเหล่านี้ถูกแขวนเลียนแบบโครงสร้างของบ้านแบบบาหลี ซึ่งบาหลีเป็นเกาะในอินโดนีเซียที่ไม่ใช่มุสลิม หากแต่เป็นการผสมผสานระหว่างพุทธและฮินดู ซึ่งเป็นส่วนผสมของภูมิปัญญาและขนบธรรมเนียมประเพณีอันหลากหลาย สำหรับเธอ ผลงานชิ้นนี้มีรูปแบบเช่นเดียวกับร่างกาย และบ้านก็สะท้อนตำแหน่งของร่างกาย และส่วนสำคัญที่สุดของร่างกายผู้หญิงก็คือมดลูก ที่สร้างสรรค์ชีวิต ผลงานชิ้นนี้เป็นผืนผ้าใบที่วางคู่ขนานกัน โดยให้ผู้ชมเดินเข้าไประหว่างกลางผืนผ้าทั้งสอง เช่นเดียวกับการเดินเข้าไปในมดลูก โครงสร้างผ้าที่สานเป็นตารางของผลงานชิ้นนี้ ยังสะท้อนถึงบทบาทของแรงงานเพศหญิง ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในสังคมและในบ้านอีกด้วย”


  “หรือผลงานของ เมลลา จารส์มา เธอเป็นที่รู้จักอย่างมากจากการสร้างผลงานศิลปะในรูปของเครื่องแต่งกาย เธอมักจะทำงานเป็นเครื่องแต่งกายในรูปแบบของสถาปัตยกรรมด้วยวัตถุดิบออร์แกนิค และชุดเหล่านั้นก็สวมใส่ได้ เพราะเรามีนางแบบสวมชุดนี้จริง ๆ ในวันเปิดงานด้วย เพราะเมลลาต้องการให้ศิลปะเครื่องแต่งกายของเธอถูกกระตุ้นด้วยร่างกายคนจริง ๆ เธอยังพูดถึงชุมชนที่อยู่รอบตัวของเธอด้วย โดยในนิทรรศการนี้ งานของเธอพูดถึง บ้านลิมาซาน (LimASan House) บ้านในท้องถิ่นของชวา ที่ตั้งอยู่บนเสาหกต้น เอกลักษณ์ของบ้านหลังนี้คือ การถูกออกแบบให้สามารถขยายพื้นที่บ้านได้ ตามความต้องการของคนในครอบครัว เช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิตที่สามารถเติบโตได้ หลังคาของบ้านยังทำจากเส้นใยป่าน และนี่เป็นครั้งแรกที่เครื่องแต่งกายของเธอมีหลังคา (ป่าน) ที่ดูคล้ายกับเส้นผมและศีรษะ เพราะเธอต้องการสร้างแนวคิดเกี่ยวกับการที่ร่างกายกลายเป็นบ้านหรือสถาปัตยกรรมขึ้นมา เสื้อผ้าของเธอแสดงออกถึงภาพลักษณ์ของผู้หญิงแห่งอนาคต ที่ไม่จำกัดอยู่ที่เพศสภาพใดเพศสภาพหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง เธอยังใช้รูปทรงของบันไดทำกระเป๋าถือ ที่วางในตำแหน่งของเท้า บันไดที่ว่านี้มีสามขั้น ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของวัฏจักรชีวิต คือ การเกิด การใช้ชีวิต และการตาย”

  “และผลงานของ มหาราณี มานคานาการา ที่อาศัยอยู่ในเมืองบันดุง เกาะชวา ผลงานของเธอเป็นเรื่องเกี่ยวกับการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ของยุคอาณานิคมและยุคหลังอาณานิคมในอินโดนีเซีย ในนิทรรศการนี้ เธอทำงานชุดใหม่ที่ทำการค้นคว้าเกี่ยวกับเกาะสุมาตรา ในชุมชนที่มีชื่อว่า มินังกาเบา (Minangkabau) ซึ่งเป็นชุมชนวัฒนธรรมหญิงเป็นใหญ่ (Matrilineal society) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งหมายถึงชุมชนที่สืบเชื้อสายทางฝ่ายหญิงหรือมารดา ไม่ใช่ฝ่ายชายหรือบิดา ชุมชนนี้เป็นชุมชนที่ผู้ชายและผู้หญิงเท่าเทียมกัน สิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของชุมชนมินังกาเบาคือบ้านที่มีหน้าจั่วแหลม ที่เรียกว่่่า รูมะฮ์กาดัง (Rumah Gadang) ซึ่งแปลว่า “บ้านใหญ่” เพราะผู้หญิงทุกคนในตระกูลจะอยู่ที่บ้านหลังนี้ บ้านนี้จึงเป็นบ้านสำหรับผู้หญิง แต่เมื่อผู้หญิงแต่งงาน ผู้ชายหรือสามีของเธอจะต้องย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านหลังนี้ นี่เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมสังคมทางปัญญาที่สุดของอินโดนีเซีย ผลงานภาพวาดชุดนี้ของเธอเป็นตัวแทนของเสาหลักแห่งความรู้สามประการของสังคมมินังกาเบา คือ ศาสนา, ขนบธรรมเนียมประเพณี และภูมิปัญญา”

  “หรือผลงานอีกชิ้นที่เธอทำเกี่ยวกับประเพณีมุขปาฐะ (Oral Tradition: ขนบธรรมเนียมประเพณีที่สืบทอดโดยการเล่าด้วยปากเปล่า) ที่ชื่อ Petatah Petitih ซึ่งหมายถึงสุภาษิตท้องถิ่นในวัฒนธรรมชุมชนมินังกาเบา ที่แม่มักจะบอกเล่าให้ลูกหลานฟังเวลามีปัญหาในชีวิต โดยมหาราณีสร้างผลงานแต่ละชิ้นจำนวน 14 ชิ้น แทนสุภาษิต 14 บทที่เธอเลือกมา โดยมีโน้ตบอกสุภาษิตแต่ละบทติดอยู่ข้าง ๆ ผลงาน”

  “และผลงานศิลปะจัดวางอีกชุดที่จำลองพิธีกรรมการลงเสาเอกเวลาสร้างบ้านของชุมชนมินังกาเบา ที่ผู้ประกอบพิธีกรรมจะทำโดยผู้หญิงในครอบครัวเท่านั้น”

  “และท้ายสุด ผลงานวิดีโอจัดวางของ นาตาชา ทอนเทย์ ด้วยความที่เธออยู่อาศัยในชวา แต่พ่อแม่ของเธอมาจากเกาะสุลาเวสี ในชุมชนที่มีชื่อว่า มินาฮาซาน (Minahasan) แต่คนในชุมชนหลายคนรวมถึงพ่อแม่ของเธอต่างออกจากบ้านเกิดด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ ทำให้เธอรู้สึกสูญเสียการเชื่อมต่อกับมรดกทางวัฒนธรรมของตนเอง แต่เธอสนใจในการรื้อฟื้นมรดกทางวัฒนธรรมที่ว่านี้อย่างมาก เธอจึงเริ่มต้นในการเข้าไปสำรวจพิธีกรรมในชุมชนนี้ เพื่อทำความเข้าใจกับวัฒนธรรมที่ว่านี้ โดยเธอเดินทางไปยังเกาะสุลาเวสี และประกอบพิธีกรรมหนึ่งที่เรียกว่า คาไร (Karai) ซึ่งปกติเป็นพิธีกรรมของผู้ชายสำหรับเด็กชายที่ก้าวเข้าสู่ความเป็นผู้ชายเต็มตัว แต่เธอต้องการทำพิธีกรรมคาไร ในฐานะผู้หญิง ซึ่งแน่นอนว่าคนในชุมชนไม่ยอมรับ และไม่ต้องการให้เธอทำ แต่ในที่สุดเธอก็หาคนที่อนุญาตให้เธอทำพิธีกรรมนี้ได้ หลังจากได้รับประสบการณ์จากพิธีกรรมนี้ เธอก็เขียนบท และสร้างผลงานวิดีโอชิ้นนี้ขึ้นมา เมื่อคุณชมวิดีโอนี้ จะพบว่าตัวละครเอกเป็นเด็กผู้หญิงที่แต่งตัวเป็นนักรบที่ทำพิธีกรรมคาไร เดินทางข้ามเวลา และเดินทางผจญภัยร่วมกับชุมชนเด็กผู้หญิงด้วยกัน ซึ่งนำไปสู่ประเด็นเกี่ยวกับตัวตนของคนรักเพศเดียวกันในผลงานชิ้นนี้ด้วย เด็กผู้หญิงเหล่านี้ต้องการทวงอำนาจและต้องการทวงสิทธิในการควบคุมคืนสู่มือของพวกเธอด้วย การค้นหาตัวตนของเพศหญิงเหล่านี้ถูกแสดงออกผ่านสัญลักษณ์อย่างการโกนคิ้ว หรือการจับหน้าท้อง ที่เป็นอวัยวะสำคัญที่สุดของผู้หญิง สิ่งที่น่าสนใจอีกประการคือ นอกจากตัวละครเหล่านี้จะประกอบพิธีกรรมอันเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นแล้ว ก็ยังคงมีกิจกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมตะวันตกด้วย ซึ่งเป็นมรดกของการตกอยู่ภายใต้อาณานิคมตะวันตก นาตาชาผสมผสานองค์ประกอบเหล่านี้เข้าไว้ด้วยกันอย่างน่าสนใจ”

  “ผลงานของศิลปินทั้งสี่ในนิทรรศการครั้งนี้ มีความเชื่อมโยงและคล้ายคลึงกันทั้งในประเด็นเกี่ยวกับการส่งเสริมตัวตนและมอบพลังอำนาจให้เพศหญิง ถึงแม้ในอินโดนีเซียจะมีศิลปินชั้นเยี่ยมมากมาย แต่ฉันคิดว่าพวกเธอเป็นหนึ่งในกลุ่มศิลปินที่น่าสนใจที่สุด” 
  “เมื่อเริ่มต้นทำนิทรรศการครั้งนี้ ฉันรู้สึกว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือการเชื้อเชิญศิลปินผู้หญิงมาแสดงงาน เพราะฉันต้องการให้งานในนิทรรศการนี้ส่งสารจากผู้หญิงว่า พวกเธอสามารถเป็นที่เข้าใจและแสดงออกถึงสิ่งที่เธอต้องการในโลกศิลปะแห่งนี้ได้ และผลลัพธ์ที่ได้มานั้นช่างทรงพลัง หากแต่ก็งดงามมาก ๆ เช่นเดียวกัน”

  นิทรรศการ Body, Community, and Society: She is House โดยศิลปิน ซิตรา ซาสมิตา, มหาราณี มานคานาการา , เมลลา จารส์มา และ นาตาชา ทอนเทย์ ภัณฑารักษ์โดย ลอรีดาน่า พาซซินี่-พาราคเซียนี่ จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายน – 2 กรกฎาคม 2566 ที่ 333Gallery, Warehouse 30 (ซอยเจริญกรุง 30) วันอังคาร - วันอาทิตย์ เวลา 11.00 น. – 18.00 น. (เข้าชมฟรี) สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Instagram: 333gallerygroup Facebook: 333Gallery

    TAG
  • design
  • art
  • exhibition
  • architecture
  • Mella Jaarsma

Body, Community, and Society: She is House กระบวนการสำรวจความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมของร่างกายเพศหญิงในเชิงกายภาพและสถาปัตยกรรม

ART AND EXHIBITION/EXHIBITION
2 years ago
CONTRIBUTORS
Panu Boonpipattanapong
RECOMMEND
  • DESIGN/EXHIBITION

    Re/Place การปิดทับอดีตเพื่อเปิดเผยความจริงทางการเมือง ของ วิทวัส ทองเขียว

    ในอดีตที่ผ่านมา ในแวดวงศิลปะ(กระแสหลัก)ในบ้านเรา มักมีคํากล่าวว่า ศิลปะไม่ควรข้องแวะกับ การเมือง หากแต่ควรเป็นเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึก ความงาม สุนทรียะ และจิตวิญญาณภายในอัน ลึกซึ้งมากกว่า แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าจะในยุคสมัยไหน ศิลปะไม่เคยแยกขาดออกจาก การเมืองได้เลย ไม่ว่าจะในยุคโบราณ ที่ศิลปะถูกใช้เป็นเครื่องมือรับใช้ชนชั้นสูงและผู้มีอํานาจ หรือใน ยุคสมัยใหม่ที่ศิลปะถูกใช้เป็นเครื่องมือแสดงออกถึงอุดมการณ์ทางสังคมการเมือง หันมามองในบ้าน เราเอง ก็มีศิลปินไทยหลายคนก็ทํางานศิลปะทางการเมืองอย่างต่อเนื่องยาวนาน ในการสะท้อนและ บันทึกประวัติศาสตร์การเมืองไทยได้อย่างเข้มข้น จริงจัง

    Panu BoonpipattanapongFebruary 2025
  • DESIGN/EXHIBITION

    The Grandmaster : After Tang Chang บทสนทนากับ จ่าง แซ่ตั้ง ศิลปินระดับปรมาจารย์แห่งศิลปะสมัยใหม่ไทย โดย วิชิต นงนวล

    เหตุการณ์นี้เป็นอุทาหรณ์ให้เรารู้ว่า การก๊อปปี้ก็ไม่ได้เลวร้ายเสมอไป เพราะอย่างน้อยที่สุด ก็ทําให้ เราได้รู้ว่าผลงานต้นฉบับของจริงในช่วงเวลาที่เสร็จสมบูรณ์นั้นมีความดีงามขนาดไหน ไม่ต่างอะไรกับศิลปินร่วมสมัยสัญชาติไทยอย่าง วิชิต นงนวล ที่หลงใหลศรัทธาในผลงานของศิลปิน ระดับปรมาจารย์ในยุคสมัยใหม่ของไทยอย่าง จ่าง แซ่ตั้ง ตั้งแต่ครั้งยังเยาว์ ในวัยของนักเรียน นักศึกษา เรื่อยมาจนเติบโตเป็นศิลปินอาชีพ ความหลงใหลศรัทธาที่ว่าก็ยังไม่จางหาย หากแต่เพิ่มพูน ขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดก็สุกงอมออกดอกผลเป็นผลงานศิลปะในนิทรรศการ The Grandmaster : After Tang Chang ที่เป็นเสมือนหนึ่งการสร้างบทสนทนากับศิลปินระดับปรมาจารย์ผู้นี้

    Panu BoonpipattanapongJanuary 2025
  • DESIGN/EXHIBITION

    Monte Cy-Press ศิลปะจากกองดินที่สะท้อนน้ําหนักของภัยพิบัติ โดย อุบัติสัตย์

    “ยูบาซาโตะ เดินผ่านตามแนวต้นสนขึ้นไปบนภูเขาศักดิ์สิทธิ์ เพื่อไปก่อสร้างสถูปดิน และมักจะโดน ทีมงานช่างบ่นทุกวันเกี่ยวกับการก่อสร้าง ที่มีเวลาอยู่อย่างจํากัด เขาเพียงได้แต่ตอบไปว่า .. บุญกุศล นําพาและเวลามีเท่านี้ ขอให้ทําสิ่งดีๆ ให้เต็มที่ ต่อสถานที่บนภูเขานี้เถอะ อย่าบ่นไปเลย เราอาจจะ พบกันแค่ประเดี๋ยวเดียว แต่สิ่งเหล่านี้จะอยู่ต่อไปอีกหลายร้อยปี ... ทีมงานทุกคนเพียงส่งรอยยิ้มที่ เหนื่อยล้ากลับมา ก็เพราะต้องทนร้อนทนแดด และเปียกฝนสลับกันไป จากสภาวะโลกเดือด ที่ทุกคน ต่างพูดถึง แต่ก็จะมาจากใคร ก็จากเราเองกันทั้งนั้น ... แม้จะมาทํางานบนภูเขาก็จริง แต่เขาก็ยังคง คิดถึงเหตุการณ์ภัยน้ําท่วมดินโคลนถล่มที่ผ่านมา อีกทั้งความเสียหายต่อข้าวของที่ต้องย้ายออกจาก บ้านเช่าและค่าใช้จ่ายหลังน้ําท่วมที่ค่อนข้างเยอะพอควร และยิ่งในสภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจแบบนี้...

    Panu Boonpipattanapong5 months ago
  • DESIGN/EXHIBITION

    Kader Attia กับศิลปะแห่งการเยียวยาซ่อมแซมที่ทิ้งร่องรอยบาดแผลแห่งการมีชีวิต ในนิทรรศการ Urgency of Existence

    หากเราเปรียบสงคราม และอาชญากรรมที่กระทำต่อมนุษย์ อย่างการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การสังหารหมู่ และการล่าอาณานิคม เป็นเหมือนการสร้างบาดแผลและความแตกร้าวต่อมวลมนุษยชาติ ศิลปะก็เป็นหนทางหนึ่งในการเยียวยาซ่อมแซมบาดแผลและความแตกร้าวเหล่านั้น แต่การเยียวยาซ่อมแซมก็ไม่จำเป็นต้องลบเลือนบาดแผลและความแตกร้าวให้สูญหายไปเหมือนไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น หากแต่การเหลือร่องรอยแผลเป็นและรอยแตกร้าวที่ถูกประสาน ก็เป็นเสมือนเครื่องรำลึกย้ำเตือนว่า สิ่งเหล่านี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว และไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้นอีกซ้ำเป็นครั้งที่สอง เช่นเดียวกับสิ่งที่ปรากฏในนิทรรศการ “Urgency of Existence” นิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งแรกในเอเชียของ คาแดร์ อัทเทีย (Kader Attia) ศิลปินชาวฝรั่งเศส - แอลจีเรีย ผู้มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ เขาเป็นหัวหอกในการทำงานศิลปะผ่านสื่ออันแตกต่างหลากหลาย ที่นำเสนอแนวคิดหลังอาณานิคม และการปลดแอกอาณานิคม จากมุมมองของตัวเขาเอง ที่มีประสบการณ์ทางตรงและทางอ้อมของผู้ที่เคยถูกกดขี่และถูกกระทำจากลัทธิล่าอาณานิคมในศตวรรษที่ผ่านมา

    Panu Boonpipattanapong5 months ago
  • DESIGN/EXHIBITION

    Roma Talismano ชำแหละมายาคติแห่งชาติมหาอำนาจด้วยผลงานศิลปะสุดแซบตลาดแตก ของ Guerreiro do Divino Amor

    ในช่วงปลายปี 2024 นี้ มีข่าวดีสำหรับแฟนๆ ศิลปะชาวไทย ที่จะได้มีโอกาสชมผลงานศิลปะร่วมสมัยของเหล่าบรรดาศิลปินทั้งในประเทศและระดับสากล ยกขบวนมาจัดแสดงผลงานกันในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 แล้ว โดยในเทศกาลศิลปะครั้งนี้นำเสนอผลงานศิลปะจาก 76 ศิลปิน 39 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ภายใต้ธีมหลัก “รักษา กายา (Nurture Gaia)” ที่ได้แรงบันดาลใจจากเทพี ไกอา (Gaia) ในตำนานเทพปรณัมกรีก หรือพระแม่ธรณีผู้ให้กำเนิดและหล่อเลี้ยงสรรพชีวิต เพื่อแสดงถึงความสัมพันธ์อันสอดประสานกลมกลืนกันระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ

    EVERYTHING TEAM6 months ago
  • DESIGN/EXHIBITION

    Apichatpong Weerasethakul : Lights and Shadows นิทรรศการครั้งยิ่งใหญ่ใน Centre Pompidou ของศิลปินผู้สร้างแสงสว่างในความมืด อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

    เมื่อพูดถึงชื่อ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล หรือ เจ้ย มิตรรักแฟนหนังหลายคนน่าจะรู้จักเขาในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยผู้เปี่ยมไปด้วยความเป็นศิลปะที่สุด ไม่เพียงแค่ในประเทศไทย แต่หมายรวมถึงในสากลโลก ยืนยันด้วยรางวัลสำคัญจากเทศกาลภาพยนตร์ระดับโลกหลายต่อหลายรางวัล ไม่ว่าจะเป็นรางวัลยอดเยี่ยมในการฉายสายรอง (Un Certain Regard) จากภาพยนตร์เรื่อง สุดเสน่หา (Blissfully Yours) (2002) และรางวัลขวัญใจคณะกรรมการ (Jury Prize) จากภาพยนตร์เรื่อง สัตว์ประหลาด! (Tropical Malady) (2004) จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ในปี 2002 และ 2004, หรือภาพยนตร์เรื่อง แสงศตวรรษ (Syndromes and a Century) (2006) ของเขาก็ได้รับเลือกให้เข้าชิงรางวัลสิงโตทองคำในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิส ในปี 2006 และคว้ารางวัลกรังปรีซ์จากเทศกาลภาพยนตร์ Deauville Asian Film Festival ในปี 2007, และภาพยนตร์เรื่อง รักที่ขอนแก่น (Cemetery of Splendor) (2015) ของเขาก็คว้ารางวัลยอดเยี่ยมจากเวที Asia Pacific Screen Awards ในปี 2015, ที่สำคัญที่สุด อภิชาติพงศ์ยังเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้รับรางวัล ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมปาล์มทองคำ (Palm d’or) จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ครั้งที่ 63 ในปี 2010 จากภาพยนตร์เรื่อง ลุงบุญมีระลึกชาติ (Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives) (2010), และล่าสุด ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องล่าสุดของเขาอย่าง Memoria (2021) ยังคว้ารางวัล Jury Prize ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ครั้งที่ 74 ในปี 2021 มาครองได้อีกครั้ง อีกทั้งยังได้รับเสียงวิจารณ์เชิงบวกอย่างท่วมท้นจากสื่อมวลชนนานาชาติ

    Panu Boonpipattanapong7 months ago
SIGN UP TO OUR NEWSLETTER
A Monthly update of the new issue from us
THANK YOU FOR YOUR SUBSCRIPTION

We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )