คุยกับ “บุญ เลิศวิไล” นักออกแบบไทยเพียงคนเดียวแห่งเอเจนซี่สร้างสรรค์ระดับโลก M/M (Paris) | IAMEVERYTHING.CO

LOOKING ON EVERYTHING ?

EXPLORE ON EVERYTHING

คุยกับ “บุญ เลิศวิไล” นักออกแบบไทยเพียงคนเดียวแห่งเอเจนซี่สร้างสรรค์ระดับโลก M/M (Paris)
8 ปีกว่าแล้วที่บุญเป็นหนึ่งมันสมองสำคัญแห่ง M/M (Paris) สำนักเอเจนซี่ชื่อดังผู้วางทิศทางและกลยุทธ์งานสร้างสรรค์ให้กับแบรนด์ใหญ่มากมาย ไม่ว่าจะเป็น Miu Miu, Loewe, Alexander McQueen และ Louis Vuitton

ปีหนึ่ง มีหนึ่งเดือนที่เขาจะได้หยุดพักสมองจากกองงานตรงหน้า อำลาปารีส และถนน Rue des Recollets ที่ตั้งออฟฟิศของ M/M (Paris) แล้วเดินทางกลับประเทศเกิดเพื่อใช้สิทธิ์เดือนพักผ่อนให้เต็มที่ 8 ปีกว่าแล้วที่ บุญ เลิศวิไล ใช้ชีวิตแบบนี้ในฐานะดีไซเนอร์สัญชาติไทยคนเดียวแห่งสำนักเอเจนซี่ชื่อดังระดับโลก

  ในหนึ่งเดือนที่บุญอยู่ไทย จึงไม่ลืมหนึ่งวันที่ได้นั่งคุยสบายๆ พร้อมแฮงเอ้าท์ไปกับ EVERYTHING แล้วย้อนความทรงจำไปตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็กไทยที่เคาะประตู M/M (Paris) เพื่อขอฝึกงาน จนก้าวขึ้นมาเป็นพนักงานประจำ ได้รับมอบหมายให้ทำโปรเจกท์อัลบั้มใหม่ของ Björk ได้ออกแบบรันเวย์ให้กับไฮแบรนด์แฟชั่นระดับโลกหลากหลายแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็น Loewe, Miu Miu และ Alexander McQueen และยังมีโปรเจกท์งานสร้างสรรค์อีกมากมายที่ทำในนามเอเจนซี่ที่มีขนาดจำนวนพนักงานไม่ถึงสิบคน แต่ทรงอิทธิพลในการกำหนดทิศทาง Art Direction ให้กับแบรนด์ใหญ่ๆ ได้ บุญผู้ไม่ตามติดกระแสแฟชั่น ไม่สนใจโลกข้างนอก แต่ประสบความสำเร็จในการสร้างสรรค์ไอเดียให้กับแบรนด์แฟชั่นระดับโลกได้

วันแรกที่ไปเคาะประตู ​M/M (Paris)
ตอนนั้นไม่ชอบโรงเรียนที่เรียนอยู่ที่ปารีส เลยหาที่ฝึกงาน ซึ่ง M/M (Paris) ก็มีชื่อเสียงอยู่แล้ว เราก็เหมือนเข้าไปเคาะประตูถาม M/M (Paris) เลยว่าจะมาฝึกงานนะ มีอะไรให้ทำมั้ย เขาก็บอกว่าไม่มีอะไรให้ทำ มีแต่หนังสือกองอยู่บนพื้นให้จัด เราก็นั่งจัดหนังสือไปเรื่อยๆ อยู่ประมาณ 3 เดือน จริงๆ ที่ M/M (Paris) มีงานวาดมือเยอะ ดังนั้นช่วงนั้นเราก็ได้เห็นว่าส่ิงที่เขาวาด เป็นงานออริจินอลเลย บางชิ้นเป็นงานสเก็ตซ์บนกระดาษทิชชู่แล้วนำมาสแกนทำเป็นโปสเตอร์ก็มี ได้เห็นแค่นี้ก็คุ้มแล้ว

  จนวันหนึ่งเขามาขอดู Book ของเรา ถึงได้เห็นว่าเราทำ 3D ได้และเข้าใจสเปซ เพราะตอนอยู่ไทยเราเคยทำงานอยู่ที่ be>our>friend มาก่อน หลังจากนั้นเขาถึงให้เราเริ่มฝึกงานจริงๆ ก่อนรับเข้าทำงาน ตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา
คิดว่าอะไรที่ทำให้เอเจนซี่ชื่อดัง ตัดสินใจรับเราเข้าทำงาน
คิดว่าน่าจะเป็นตอนที่ได้รับมอบหมายให้ออกแบบเก้าอี้ และแชนเดอร์เลีย ทำจากทองเหลืองบิดขึ้นรูป และตัวโคมเป่าพิเศษ พอเราออกแบบแล้วถึงขั้นตอนการทำ เขากลับให้เราจัดการผลิตเองเลย เราก็ต้องโทรหาพ่อที่ไทยช่วยจัดการให้ แล้วส่งกลับมาที่ปารีส เขาคงเห็นว่าเราทำได้นี่ เลยรับเข้าทำงาน
“กลับเข้ามาหาตัวเอง ทำแต่สิ่งที่เราอยากทำ ย้ำคิดย้ำทำไปเรื่อยๆ วันหนึ่งมันจะกลายเป็นตัวตนจริงๆ ของเรา”
โปรเจกท์หลักที่รับผิดชอบตอนนี้
ที่ต้องดูแลอยู่ตลอด และวนกลับมาทุกๆ ปีในช่วงนี้ คือ แบรนด์ Loewe ที่เราต้องทำ Presentation คอลเลคชั่นของผู้ชาย และทำแคมเปญให้ นอกจากนี้ก็มีงานออกแบบรันเวย์ให้กับแบรนด์ Miu Miu และ Alexander McQueen ส่วน Louis Vuitton ซึ่งเป็นแบรนด์ที่ทำงานด้วยมาหลายปีนั้น บุญดูแลในส่วนของน้ำหอม
วัฒนธรรมการทำงานของ M/M (Paris) เป็นอย่างไรบ้าง
คนในออฟฟิศมีทั้งหมด 7 คน ซึ่ง 2 คนเป็นเจ้าของบริษัท อีกคนทำหน้าที่รับโทรศัพท์ ดังนั้นก็จะมีดีไซเนอร์อยู่แค่ 4 คน ที่เราจะแบ่งหน้าที่กัน ต่างคนต่างรับผิดชอบงานของตัวเอง บุญก็จะทำงานเฉพาะแบรนด์ที่ต้องดูแลตั้งแต่ต้นจนจบ ส่วนคนอื่นก็มีแบรนด์อื่นให้รับผิดชอบ ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าเขาทำอะไร และเราก็ไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมใน Art Direction ของแบรนด์อื่นเลย ดังนั้นแต่ละคนก็จะเป็น Head ของงานนั้นเลย ส่วน Mathias Augustyniak และ Michael Amzalag จะคอยให้ Direction มากกว่า แนะนำว่าสิ่งที่เราทำมันใช่ ไม่ใช่ เราก็ต้องคิดเองว่าจะทำยังไงต่อไป
การทำงานกับสองบอส Mathias Augustyniak และ Michael Amzalag
ก็ Diva อะ เขาดังจะตาย ทุกๆ วันในชีวิตเรา เราต้องดีลกับดิว่าหลายๆ คน ในสไตล์ต่างๆ กันไป (ยิ้มสวย)
อะไรที่ทำให้อยู่กับ M/M (Paris) ยาวนานหลายปีขนาดนี้
จริงๆ แล้ว M/M (Paris) เป็นบริษัทที่เวลาเสนอไอเดียอะไรไป ในที่สุดแล้วมันค่อนข้างจะออกมาเป็นอย่างนั้นเลยนะ แถมงานมันมีหลายแบบ แบรนด์ก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ความต้องการของแต่ละแบรนด์ก็ต่างกัน ก็สนุกดี
ลูกค้าเชื่อมั่นในเรา และความเป็น M/M (Paris) มากแค่ไหน
เขามาหาเรา เพราะต้องการให้ M/M (Paris) ทำให้ ส่วนใหญ่แบบที่เราเสนอไปตั้งแต่แรก กับสิ่งที่ออกมาในความเป็นจริง มันไม่แตกต่างกันเท่าไหร่หรอก ที่ผ่านมาไม่เคยมีงานไหนที่ต้องทำออพชั่น 1 ออพชั่น 2 ออพชั่น 3 คือ มีอันเดียวเอาไปเลย มันก็จะง่ายกว่าในตอนต้น แต่มันจะยากตรงที่เราจะปกป้องแบบที่เราส่งไปอย่างไรให้ออกมาอย่างนั้นในที่สุด เพราะในระหว่างทางมันก็อาจจะมีเหตุการณ์​ เช่น “ไปคุยกับคุณพ่อมา คุณพ่อไม่ชอบ อยากเปลี่ยนค่ะ คือคุณพ่อออกเงินนะคะ ทำไงดี” ก็เป็นเรื่องปกติแหละ
สิ่งที่เรียกว่าความเหนื่อยของบุญในการทำงาน
คือ การต้องตัดสินใจในทุกๆ เรื่อง และต้องคอยตอบคำถามทุกๆ อย่าง เช่น มีอีเมล์มาถามว่าเสาบนรันเวย์จะเอาสีอะไรดี เราก็ต้องทำให้งานมันเดินต่อไป เพราะโชว์หนึ่งโชว์มันมีแต่ปัญหาที่เราต้องเป็นคนคอยแก้ และต้องตัดสินใจให้ถูกด้วย เพราะทุกอย่างต้องดีที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ นี่แหละที่ทำให้เหนื่อย และปวดกะโหลก
ต้องกำหนดทิศทางให้กับแบรนด์แฟชั่น ส่วนตัวเราต้องอินเรื่องแฟชั่นแค่ไหน
บุญก็ไม่ได้รู้จักแบรนด์ทุกแบรนด์บนโลกใบนี้ เหมือนที่ชาวโซเชียล หรือชาวสไตล์ลิสต์รู้จักกัน แต่บังเอิญเราทำได้ดี การที่รู้ว่า Alexander McQueen หรือ Miu Miu ควรจะเป็นทิศทางแบบไหน ก็ไม่ได้มาจากการดูแฟชั่นโชว์ เพราะสไตล์ของแฟชั่นไม่ได้มาจากที่เราเห็นบนรันเวย์อย่างเดียวนะ มันอยู่ที่ว่าในชีวิตจริง ในสังคม ใครเป็นคนใส่ ซึ่งทีนี้แบรนด์ของแต่ละแบรนด์ก็ต้องไปดึงจากคนพวกนี้แหละ ว่าในชีวิตจริงมันมีองค์ประกอบอะไรที่สามารถเอามาใส่ในแบรนด์ได้ เพื่อให้ตัวแบรนด์พูดกับคนเหล่านั้น
แล้วหาแรงบันดาลใจจากไหน
เราชอบดูคน เราไม่ได้ชอบดูการแต่งตัวของคนนะ แต่เราชอบดูว่าเขาทำอะไร ไปเที่ยวที่ไหน เราชอบดูความชอบของคนว่าคนประเภทนี้ชอบอะไร ชอบทำอะไร คือมันมาจากความเสือกนั่นแหละ แต่มันช่วยในเรื่องงานจริงๆ นะ มันก็ต้องเจอคนเยอะๆ นี่แหละ เราจะได้รู้ว่าประเภทของคนมันเป็นยังไง เราจะได้ดีลถูกด้วย ไปเจอตามร้านเหล้านี่แหละ ที่เป็นแหล่งรวมคนประเภทต่างๆ ถ้าเราพยายามไปในทุกๆ ร้าน เราก็จะมองเห็นและเข้าใจคนหลายประเภท
ไม่ต้องไปเสพงานศิลป์ที่ไหนเลย?
อยู่ที่นี่มาเกือบสิบปี ไปนิทรรศการมา 2 งานได้มั้ง ไม่ใช่แนว เราแนวเน้นเมาอะ เมานี่แหละเดี๋ยวก็รู้เอง (หัวเราะ)
ได้ใส่ตัวตนของเราในงานที่ทำบ้างมั้ย

ส่ิงที่ทุกคนเห็นว่ามันสะเดิด มันเสี่ยว แต่พอไปทำงานแฟชั่นที่นู่นมันเวิร์คนะ อย่างเรื่องสีเป็นอะไรที่ค่อนข้างฝังใจมากเลยนะ เพราะโดนด่ามาตลอดตั้งแต่เด็กว่าเสี่ยว อย่างสีของผ้าสามสีนี่บุญชอบมาก เอาสีสดๆ มาไว้ด้วยกัน อย่างสี Flu (Fluorescent) สีตื้ดๆ แต่ก่อนชอบมาก พอใช้ก็โดนด่าอยู่ตลอดตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัย มาอยู่ที่ be>our>friend ก็ยังโดนด่าอีก (หัวเราะ) จนกระทั่งไปที่นู่น เขากลับดันให้สุดเลย สีนี้แหละดีแล้ว แล้วมันก็ออกมาโอเคจริงๆ นะ ความเป็นไทยนี่แหละช่วยได้มากจริงๆ แต่ก็ไม่สามารถเป็นตัวเราได้ทั้งหมดหรอก เพราะมันเป็น M/M (Paris) ในที่สุดแล้วเขาก็ต้องเกลาอีกทีเพื่อให้เข้ากับบริบทที่นั่น

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากเอเจนซี่ผู้วางกลยุทธ์และกำหนดทิศทางงานสร้างสรรค์ให้กับแบรนด์ระดับโลกมากมาย
เราเข้าใจวิธีการทำงานมากขึ้นในด้านเทคนิค แต่ที่เปลี่ยนจริงๆ เลยคือวิธีการมองคน คือเมื่อก่อนเราอาจจะตัดสินใจคนที่มีวิถีการใช้ชีวิตบางอย่างที่เรามองว่าเสี่ยว ฟังเพลงอะไรของมึง ใส่เสื้ออะไรของมึง ตอนนี้ก็ยังมีอยู่แหละ แต่น้อยลง เพราะเรามองว่าเป็นอีกหนึ่งวิถี เหมือนอีกหนึ่งภาษา ถ้าเราเข้าใจภาษาการใช้ชีวิตของคนอื่นมันก็ช่วยเวลาเราทำงานนะ เพราะมันคือการอ้างอิงจากสิ่งที่มีอยู่ในชีวิตจริง
ฝากถึงคนที่ถ้ามีโอกาสได้ทำงานในบริษัทแถวหน้าของโลก
ก่อนนี้ไม่เคยมีใครบอกบุญว่าพยายามหาตัวเองสิ เพราะตั้งแต่เรียนทุกคนจะบอกว่าถ้าไม่ดูว่าคนอื่นทำอะไรไปถึงไหน ตัวเราจะไม่พัฒนา ซึ่งมันไม่จริงหรอก เพราะบุญเป็นคนไม่ดูอะไรเลย ทำให้สไตล์หรือสิ่งที่อยู่รอบๆ เราก็ไม่ได้มีอิทธิพลต่อความเป็นตัวเรา เพราะฉะนั้นเราจะไปไกลว่าคนที่เขารู้จักหรือดูงานเยอะๆ ถ้ายิ่งดู ก็จะยิ่งตาม มันก็เหมือนกับอินตาแกรมล้านๆ แอคเคาน์ที่สไตล์เดียวกันหมด
การที่เราไม่สนใจอะไร มันทำให้เรากลับเข้ามาหาตัวเอง ทำแต่สิ่งที่เราอยากทำ ย้ำคิดย้ำทำไปเรื่อยๆ วันหนึ่งมันจึงกลายเป็นตัวตนจริงๆ ของเรา
Special Thanks : Ninetails Bar & Booster
    TAG
  • people
  • interview
  • friend
  • vdo

คุยกับ “บุญ เลิศวิไล” นักออกแบบไทยเพียงคนเดียวแห่งเอเจนซี่สร้างสรรค์ระดับโลก M/M (Paris)

FEATURE/FRIEND
7 years ago
CONTRIBUTORS
EVERYTHING TEAM
RECOMMEND
  • PEOPLE/UNDER THE RADAR

    THE MIDDLE BETWEEN ART & FASHION

    ความลงตัวระหว่างศิลปะร่วมสมัยและแฟชั่นที่สร้างความน่าตื่นตาตื่นใจ กับ ADI C

    EVERYTHING TEAM7 years ago
  • PEOPLE/FAMILY

    เยือนบ้าน “ลี” ครอบครัวสุดแนวที่ทุกวันมีแต่ความหรรษา

    เที่ยงวันเสาร์ เรามาเยือนบ้านครอบครัว “ลี” ที่มีสมาชิกเป็นคุณพ่อนักดนตรีสุดเท่แห่งวง Dose อย่าง แทน - อติชาต ลี ตามด้วยคุณแม่กระจิ๊บ - สุธยา ลี สไตลิสต์สุดแซบ และลูกชายผมหยิก ชื่อเฮนดริกซ์ - แธนธาดา ลี อายุ 3 ขวบ

    EVERYTHING TEAM7 years ago
  • DESIGN/AWARD

    DUCTSTORE the design guru และ THE OTHERS คว้า 3 รางวัล Winner จาก German Design Award 2025

    DUCTSTORE the design guru และ THE OTHERS ภายใต้การนำของนนทวัฒน์ เจริญชาศรี Design Director ได้รับรางวัล German Design Award 2025 อีกหนึ่งเวทีระดับโลก ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านการออกแบบ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้รับรางวัลออกแบบระดับนานาชาติมากมายในช่วงที่ผ่านมา เช่น Red Dot Award: Grand Prix / Best Of the Best / Winner สาขา Brands and Communication Design 2024, iF Design Award 2024, DFA Design for Asia Awards 2023,2024 และ Golden Pin Design Award 2023,2024

    EVERYTHING TEAMFebruary 2025
  • DESIGN/EXHIBITION

    Re/Place การปิดทับอดีตเพื่อเปิดเผยความจริงทางการเมือง ของ วิทวัส ทองเขียว

    ในอดีตที่ผ่านมา ในแวดวงศิลปะ(กระแสหลัก)ในบ้านเรา มักมีคํากล่าวว่า ศิลปะไม่ควรข้องแวะกับ การเมือง หากแต่ควรเป็นเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึก ความงาม สุนทรียะ และจิตวิญญาณภายในอัน ลึกซึ้งมากกว่า แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าจะในยุคสมัยไหน ศิลปะไม่เคยแยกขาดออกจาก การเมืองได้เลย ไม่ว่าจะในยุคโบราณ ที่ศิลปะถูกใช้เป็นเครื่องมือรับใช้ชนชั้นสูงและผู้มีอํานาจ หรือใน ยุคสมัยใหม่ที่ศิลปะถูกใช้เป็นเครื่องมือแสดงออกถึงอุดมการณ์ทางสังคมการเมือง หันมามองในบ้าน เราเอง ก็มีศิลปินไทยหลายคนก็ทํางานศิลปะทางการเมืองอย่างต่อเนื่องยาวนาน ในการสะท้อนและ บันทึกประวัติศาสตร์การเมืองไทยได้อย่างเข้มข้น จริงจัง

    Panu BoonpipattanapongFebruary 2025
  • CULTURE&LIFESTYLE/MOVIE

    งานศิลปะที่หลอมรวมอยู่ในเนื้อกายภาพยนตร์ The Room Next Door ของ Pedro Almodóvar

    ถ้าเอ่ยชื่อของ เปโดร อัลโมโดวาร์ (Pedro Almodóvar) หลายคนอาจรู้จักเขาในฐานะผู้กํากับเจ้าของ ฉายา “เจ้าป้าแห่งวงการหนังสเปน” ที่นอกจากหนังของเขาจะเต็มไปด้วยลีลาอันจัดจ้าน เปี่ยมสีสัน เต็มไปด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวอันแปลกประหลาดพิลึกพิลั่นพิสดารเหนือความคาดหมาย และถึง พร้อมไปด้วยศิลปะภาพยนตร์อย่างเต็มเปี่ยมแล้ว ด้วยความที่อัลโมโดวาร์หลงใหลในศิลปะอย่างลึก ซึ้ง ทําให้มักจะมีงานศิลปะปรากฏให้เห็นในหนังของเขาอยู่บ่อยครั้ง และนอกจากเขาจะหยิบงาน ศิลปะเหล่านั้นมาใช้ในหนังเพราะความหลงใหลและรสนิยมส่วนตัวอันวิไลของตัวเองแล้ว ในหลายๆ ครั้ง ผลงานศิลปะเหล่านั้นยังทําหน้าที่ในการช่วยขับเคลื่อนเรื่องราว ขับเน้นบุคลิกภาพของตัวละคร และเป็นสัญลักษณ์ที่สัมพันธ์กับเนื้อหาในหนังอย่างแนบเนียน

    Panu BoonpipattanapongJanuary 2025
  • PEOPLE/INTERVIEW

    มองสถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัยในฐานะวัฒนธรรมที่มีชีวิตผ่าน ART TOYS เจาะลึกแนวคิดความสนุกจาก DUCTSTORE the design guru Co.,Ltd.

    ทันทีที่ Key Visual สถาปนิก’ 68 เผยแพร่ออกมา บทสนทนาปลุกสัญชาตญาณนักสืบในตัวทุกคนพร้อมใจกันทำงานแบบ Autopilot และระหว่างที่ตามหาเฉลยกันจริงจัง ทุกคนเริ่มหันมาตั้งคำถามต่อว่า Art Toys เกี่ยวข้องกับธีมงานอย่างไร รู้ตัวอีกทีวงสนทนาก็กระเพื่อมขยายกว้างขึ้น ส่งสัญญาณชัดว่า Key Visual ปีนี้เปิดฉากมาแบบสนุกเอาเรื่อง โดนเส้นกันสุดๆ

    EVERYTHING TEAMJanuary 2025
SIGN UP TO OUR NEWSLETTER
A Monthly update of the new issue from us
THANK YOU FOR YOUR SUBSCRIPTION

We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )