LOOKING ON EVERYTHING ?
EXPLORE ON EVERYTHING

พื้นที่แสดงคอลเลคชันศิลปะร่วมสมัยระดับแนวหน้าของโลก
Photographer: Panu Boonpipattanapong, Wittawat Tongkeaw
หลังจากได้ไปชมนิทรรศการ Liminal ของ ปิแยร์ ฮวีก ที่ Punta della Dogana อดีตอาคารศุลกากรเก่าแก่เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคอลเลคชันงานศิลปะในการสะสมของ Pinault Collection ของนักสะสมชาวฝรั่งเศส ฟรองซัว ปิโนลต์ (François Pinaul) มหาเศรษฐีนักธุรกิจชาวฝรั่งเศส ผู้ก่อตั้ง Kering บริษัทจัดจําหน่ายสินค้าแฟชั่นและสินค้าแบรนด์ชั้นนำ อย่าง Gucci, Yves Saint Laurent, Balenciaga และ Alexander McQueen ฯลฯ ไปในคราวที่แล้ว

ล่าสุด ในคราวนี้ เราเพิ่งรู้ว่าพื้นที่แสดงงานศิลปะของ Pinault Collection นั้นไม่ได้มีแค่ในเวนิส หากแต่มีอยู่ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสด้วย คอลเลคชันที่ว่านี้ตั้งอยู่ในอาคาร Bourse de commerce หรืออดีตอาคารตลาดหลักทรัพย์ปารีส ซึ่งในช่วงกลางปีนี้มีการนำผลงานอันโดดเด่นจาก Pinault Collection มาจัดแสดงให้เห็นเพื่อเป็นหลักฐานแห่งความหลงใหลและความมุ่งมั่นจริงจังของ ฟรองซัว ปิโนลต์ ที่มีต่องานศิลปะร่วมสมัย ในนิทรรศการ Le monde comme il va หรือ The World As It Goes ที่รวบรวมผลงานศิลปะที่เขาเริ่มสะสมนับตั้งแต่ช่วงปี 1980 จวบจนถึงปัจจุบัน
ชื่อของนิทรรศการได้แรงบันดาลใจมาจากนิทานเชิงปรัชญาของวอลแตร์ ที่เล่าเรื่องราวของทูตสวรรค์ที่ถูกส่งตัวไปเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของมนุษย์บนโลก ด้วยความที่พระผู้เป็นเจ้าต้องการตัดสินว่ามนุษย์เหล่านี้สมควรที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป หรือควรถูกทำลายลงให้สิ้นซาก เพื่อสร้างอารยธรรมใหม่ที่ดีกว่าเดิม แต่เมื่อทูตสวรรค์เผชิญหน้ากับความขัดแย้ง เอาแน่เอานอนไม่ได้ของมนุษยชาติ และความลังเลใจของตนเอง เขาจึงตัดสินใจปล่อยให้โลกเป็นไปอย่างที่มันเป็น เพราะเชื่อมั่นว่ามนุษย์จะกำหนดโชคชะตาด้วยมือของพวกเขาเอง ผลงานของ Pinault Collection ที่ถูกเลือกมาจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ต่างเป็นพยานถึงช่วงเวลาอันขัดแย้งและไม่แน่นอนในโลกยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

ไม่ว่าจะเป็นผลงาน Suddenly this Overview ของสองศิลปินชาวสวิส ปีเตอร์ ฟิสลี (Peter Fischli) และ เดวิด ไวส์ (David Weiss) ที่ท้าทายความเคร่งขรึมของโลกศิลปะ ด้วยผลงานประติมากรรมดินเหนียวที่ดูคล้ายกับตัวการ์ตูนเด็กปั้นเล่น ที่เล่าเรื่องราวของประวัติศาสตร์อันกระจัดกระจาย ไม่เป็นชิ้นเป็นอันของมนุษยชาติผ่านความทรงจำส่วนตัวของพวกเขา ที่น่าทึ่งก็คือ ถึงแม้จะเป็นงานปั้นดินเหนียวดิบที่ไม่ได้เผาเคลือบ แต่ฐานวางผลงานกลับขาวสะอาดปราศจากคราบดินแม้แต่เพียงจุดเดียว
หรือผลงานของ เมาริซิโอ คัตเตลาน (Maurizio Cattelan) ศิลปินชาวอิตาเลียนผู้เป็นที่รู้จักในฐานะนักเสียดสีกระตุ้นเร้าผู้ชมและท้าทายสังคมจนอื้อฉาว อย่าง Him (2001) ประติมากรรมหุ่นขี้ผึ้งเหมือนจริงรูป อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำเผด็จการนาซีที่ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวกว่าล้านชีวิต ที่กำลังคุกเข่า สองมือประสานกันนิ่งงัน สายตาทอดมองไปยังเบื้องสูง ราวกับกำลังสวดภาวนาอ้อนวอนขอไถ่บาปต่อพระผู้เป็นเจ้าก็ไม่ปาน

คัตเตลานตั้งคำถามกับผู้ชมผ่านผลงานอันสุดท้าทายชิ้นนี้ว่า “ท้ายที่สุดแล้วเราจะสามารถให้อภัยสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของความชั่วร้ายอย่างถึงขีดสุดเช่นฮิตเลอร์ได้หรือไม่?” ผลงานชิ้นนี้เป็นหนึ่งในงานศิลปะที่ชวนช็อกและสั่นสะเทือนจิตใจผู้ชมที่สุดในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองเลยก็ว่าได้
หรือผลงานของ เดเมียน เฮิรสต์ (Damien Hirst) ศิลปินร่วมสมัยชาวอังกฤษผู้มีความโดดเด่นที่สุดคนหนึ่งอย่าง The Fragile Truth (1997-1998) ศิลปะจัดวางในรูปของตู้ยาขนาดยักษ์ที่จัดแสดงยาบนชั้นวางหลายแถวบนหิ้งวางหลายชั้น ยาเหล่านี้เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของการต่อสู้กับความตายของมนุษย์ ซึ่งจะว่าไปก็เป็นการต่อสู้อันสูญเปล่า “เพราะถึงแม้คุณจะสามารถรักษาชีวิตคนเอาไว้ได้นานแค่ไหนก็ตาม แต่ท้ายที่สุดพวกเขาก็ต้องตายอยู่ดี” “ความตาย” อันหลีกเลี่ยงไม่ได้นี่เอง ที่เป็นสิ่งที่เฮิรสต์สำรวจในอาชีพการทำงานของเขาตลอดมา

ในช่วงปี 1980 เฮิรสต์เริ่มต้นสร้างผลงานตู้ยาชุดนี้ขึ้นให้ดูคล้ายกับตู้พิศวง (Cabinet of Curiosities) เพื่อขับเน้นพลังอำนาจของอุตสาหกรรมยา ที่ตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่า วิทยาศาสตร์เป็นเสมือน “ศาสนาใหม่” ที่สามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ทั้งหมด แต่ความเป็นจริงจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ ก็ไม่มีใครสามารถหยั่งรู้ได้

หรือผลงาน Balloon Dog (Magenta) (1994-2000) ประติมากรรมลูกโป่งสุนัข หนึ่งในผลงานในซีรีส์ Celebration ของ เจฟฟ์ คูนส์ (Jeff Koons) ศิลปินชาวอเมริกันผู้มีฉายาว่าเป็นเจ้าพ่อป๊อปอาร์ตแห่งยุคร่วมสมัย ผู้เป็นที่รู้จักจากผลงานศิลปะที่นำเอาวัตถุและข้าวของที่พบเห็นเกลื่อนกลาดดาษดื่นในวัฒนธรรมป๊อปปูลาร์มาแปรเปลี่ยนเป็นงานศิลปะ
Celebration เป็นซีรีย์ผลงานที่ประกอบด้วยประติมากรรมขนาดน้อยใหญ่ที่เป็นตัวแทนของวัตถุแห่งการเฉลิมฉลอง ด้วยความที่เขาสนใจในประเด็นเกี่ยวกับการโหยหาอดีต คูนส์เลือกใช้ลูกโป่งเป่าลมบิดเป็นรูปสัตว์ที่เรามักเห็นตัวตลกทำแจกเด็กๆ ตามงานปาร์ตี้ นำมาแปรสภาพให้กลายเป็นประติมากรรมขนาดใหญ่มหึมา เลียนแบบลูกโป่งและตุ๊กตาเป่าลม สร้างอย่างประณีตพิถีพิถันด้วยวัสดุใหม่อย่างสแตนเลสขัดเงาผิวมันเงาวาววับ เคลือบสีสันสดใสฉูดฉาด ไม่ว่าจะเป็น แดง น้ำเงิน เหลือง ส้ม และสีม่วงแดง (Magenta) ผลงานประติมากรรมของเขาหยิบฉวยเอาวันเวลาอันเรียบง่ายแห่งวัยเยาว์ และเฉลิมฉลองความสุขสันต์หรรษาผ่านผลงานศิลปะขนาดมหึมาเหล่านี้
การสร้างผลงานศิลปะผิวมันเงาแวววาวราวกับกระจกเงา ด้วยเทคนิคอันประณีตเชี่ยวชาญ (tour-de-force) เป็นแก่นความคิดและแรงบันดาลใจในการทำงานของเจฟฟ์ คูนส์ ตลอดมา เขากล่าวว่าเขามักจะหลงใหลในแสงที่สะท้อนบนพื้นผิวต่างๆ และเขาเองก็มักจะทำงานกับวัตถุที่มีพื้นผิวพองลมและแวววาวสะท้อนแสงราวกับกระจกเงา

เจฟฟ์ คูนส์ยังได้แรงบันดาลใจจากศิลปินชื่อดังอย่าง ซัลบาดอร์ ดาลี และ แอนดี้ วอร์ฮอล ผลงานของเขามีความใกล้เคียงกับป๊อปอาร์ต ของ วอร์ฮอล กระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะที่หยิบฉวยเอาข้าวของรอบตัวทั่วไปในชีวิตประจำวันมาทำให้เป็นงานศิลปะอันน่าตื่นตาตื่นใจ รวมถึงมีส่วนผสมของความแปลกตาน่าพิศวงจากงานศิลปะของดาลี

ถึงแม้เจฟฟ์ คูนส์มักจะยืนยันบ่อยครั้งว่าผลงานของเขาไม่ได้ซ่อนความหมายอะไรเบื้องหลัง แต่นักวิจารณ์หลายคนก็พยายามจะตีความว่าผลงานประติมากรรมลูกโป่งสุนัขของเขามีความหมายอันลึกซึ้งกว่าที่เห็น ด้วยความที่มันมีน้ำหนักถึงพันกิโลกรัม เจฟฟ์ คูนส์เล่นกับแนวคิดของสิ่งที่มีน้ำหนักมหาศาลแต่มีรูปลักษณ์ที่เบาหวิวเช่นลูกโป่ง เขาทำให้วัตถุที่เปราะบางไม่คงทน กลายเป็นสิ่งที่คงทนถาวร และทำให้ของเล่นใช้แล้วทิ้งกลายเป็นผลงานศิลปะอันอลังการตระการตา
เจฟฟ์ คูนส์ ยังอธิบายว่าผลงานประติมากรรมลูกโป่งของเขาเป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมป๊อป วัตถุเหล่านี้ดูคุ้นตา แต่ก็ดูใหญ่โตแปลกตาเมื่อถูกนำไปวางเอาไว้ในหอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์ คูนส์ยังกล่าวว่าประติมากรรมลูกโป่งสุนัขนั้นเป็นสัญลักษณ์ของประสบการณ์มนุษย์ เราต่างก็สูดอากาศเข้าไป เช่นเดียวกับลูกโป่งดังนั้น อากาศจึงเป็นสิ่งสำคัญกับเราเหมือนๆ กัน ผลงานของเขายังเต็มไปด้วยจิตวิญญาณแห่งความเป็นเด็กอยู่เสมอ แต่ในขณะเดียวกัน พื้นผิวอันมันปลาบส่องประกายแวววาวของผลงานชิ้นนี้ก็มีความหมายแฝงเกี่ยวกับเรื่องเซ็กส์และความรู้สึกทางเพศ เช่นเดียวกับเซ็กส์ทอย ไม่ต่างอะไรกับ ม้าไม้เมืองทรอย หรือ ม้าโทรจัน (Trojan Horse) ที่แอบแฝงความเย้ายวนล่อแหลมเอาไว้ภายใต้สีสันสดใสราวลูกกวาดนั่นเอง
ผลงานอีกชุดที่เราชอบมากๆ คือผลงานที่ตอนแรกเรานึกว่าเป็นของ มาร์เซล ดูชองป์ (Marcel Duchamp) ศิลปินหัวก้าวหน้าตัวพ่อชาวฝรั่งเศส ทั้งผลงานในชุด readymade อย่าง โถฉี่อันลือลั่น (Fountain), ล้อจักรยาน (Bicycle Wheel), ชั้นวางขวด (Bottle Rack), พลั่วตักหิมะ (In Advance of the Broken Arm) หรือแม้แต่โปสการ์ดภาพโมนาลิซ่าที่ถูกเติมหนวดเคราแหลมเฟี้ยว (L.H.O.O.Q.) แต่ดูไปดูมา พอตาสังเกตเห็นป้ายชื่องาน กลับกลายเป็นว่าผลงานทั้งหมดไม่ใช่ผลงานของดูชองป์เลยแม้แต่ชิ้นเดียว! หากแต่เป็นของศิลปินอีกคนหนึ่งที่ก็อปปี้ผลงานของดูชองป์มาแบบเป๊ะๆ ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า เอเลน สตัวร์เดอวันด์ (Elaine Sturtevant) หรือที่รู้จักกันในชื่อสั้นๆ ว่า สตัวร์เดอวันด์ (Sturtevant) ศิลปินหญิงชาวอเมริกันผู้เป็นที่รู้จักจากการลอกเลียน ทำซ้ำ และสร้างผลงานของศิลปินคนอื่นขึ้นมาใหม่ จนเธอได้รับฉายาว่า Queen of Copycats (ราชินีแห่งการลอกเลียนแบบ) นั่นเอง
ผลงานของสตัวร์เดอวันด์ ทำให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับความแท้เทียมในงานศิลปะ รวมถึงความเป็นลิขสิทธิ์ ความเป็นต้นแบบ และการเป็นผู้สร้างสรรค์ที่มีสิทธิ์ขาดในศิลปะของตนแต่เพียงผู้เดียวของศิลปิน การเลียนแบบทางศิลปะของเธอก่อให้เกิดการถกเถียงในวงการศิลปะช่วงปลายยุค 1960 และ 1970 อย่างกว้างขวาง เพราะการทำซ้ำทางศิลปะของสตัวร์เดอวันด์ นั้นไม่ใช่สักแต่ลอกเลียนแบบแต่เพียงเท่านั้น เพราะเป้าหมายของเธอไม่ใช่การสร้างของเลียนแบบที่เหมือนเป๊ะ แต่เธอสร้างงานศิลปะเหล่านั้นขึ้นมาใหม่จากความทรงจำของเธอ และศึกษาเทคนิคการสร้างงานของศิลปินที่เธอกำลังเลียนแบบอย่างลึกซึ้ง วิธีคิดที่เป็นกุญแจสำคัญในการทำงานของสตัวร์เดอวันด์ก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างการทำซ้ำ และความแตกต่างจากผลงานศิลปะต้นฉบับ ที่กระตุ้นให้ผู้ชมมองข้ามผิวหน้าที่ทำเลียนแบบไปสู่ความคิดของเธอ ซึ่งเธอได้สร้างความแตกต่างอันสำคัญนี้ด้วยสมองและสองมือของเธอเอง โดยไม่อาศัยเครื่องจักรกลใดๆ ในการช่วยบันทึก คัดลอก หรือทำสำเนาแต่อย่างใด ดังคำกล่าวของเธอที่ว่า “ผลงานทั้งหมดทำขึ้นมาจากความทรงจำของฉัน และใช้เทคนิค รวมถึงข้อบกพร่องผิดพลาดแบบเดียวกันกับที่ศิลปินเหล่านั้นสร้างสรรค์ผลงานของพวกเขาออกมา”

สตัวร์เดอวันด์ใช้การเลียนแบบและทำซ้ำ สำรวจสิ่งที่เธอเรียกว่า ‘พลังอำนาจอันเงียบงันของศิลปะ’ ด้วยการขุดลึกไปใต้พื้นผิวของรูปลักษณ์ และแสดงให้เห็นถึงโครงสร้างของกรอบความคิด เพื่อกระตุ้นให้เกิดความคิดใหม่ๆ ขึ้นมา เธอได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในศิลปินคนสำคัญที่สุดแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งความนิยมเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าความคิดสร้างสรรค์ในการหยิบยืม ทำซ้ำ และลอกเลียนแบบภาพลักษณ์อันหลากหลายในวัฒนธรรมทางสายตาของเธอนั้นกลับมาได้รับการยอมรับและเป็นอะไรที่ ‘ปัง’ เอามากๆ ในยุคอินเทอร์เน็ตเช่นนี้





ในนิทรรศการยังมีผลงานของศิลปินร่วมสมัยชั้นนำของโลกจากคลังสะสมของ Pinault Collection อย่าง ซินดี้ เชอร์แมน (Cindy Sherman), ลุค ทัยมันส์ (Luc Tuymans), วูล์ฟแกง ทิลมันส์ (Wolfgang Tillmans), โรซามารี ทรอคเคิล (Rosemarie Trockel), คริสโตเฟอร์ วูล (Christopher Wool), แบร์กตง ลาเวียร์ (Bertrand Lavier), ปีเตอร์ โดอิค (Peter Doig), มาร์ลีน ดูมาร์ (Marlene Dumas), มาร์ติน คิปเพนแบร์เกอร์ (Martin Kippenberger) และ ฟรันซ์ เวสต์ (Franz West) ฯลฯ
อีกไฮไลท์ของนิทรรศการนี้ก็คือผลงานของศิลปินคอนเซ็ปชวลอาร์ตชาวเกาหลีใต้ คิมซูจา (Kimsooja) อย่าง To Breathe - Constellation (2024) ผลงานศิลปะจัดวางที่ติดตั้งภายในพื้นที่ของหอทรงกลมใต้โดมของอาคาร Bourse de Commerce ที่ออกแบบตกแต่งใหม่โดย ทาดาโอะ อันโด (Tadao Ando) ด้วยการติดตั้งแผ่นกระจกเงาทั่วพื้นหอคอย ที่ส่องเงาสะท้อน ขับเน้นความอลังการของโดมกระจกใสใจกลางอาคารที่เปิดให้เห็นท้องฟ้าเบื้องบน, ภาพวาดประดับเพดาน หรือแม้แต่เหล่าบรรดาผู้ชมที่เดินเข้ามาภายในห้องแสดงงาน ราวกับเป็นภาพลวงตาของโลกที่พลิกกลับหัวกลับหาง ท้องฟ้ากลายเป็นเหมือนหุบเหวหรือห้วงทะเลลึก ภาพสะท้อนบนพื้นกระจกเปิดพื้นที่ของอาคารให้ว่างเปล่า หากร่างกายของผู้ชมที่อยู่ในห้องทำหน้าที่เชื่อมโยงท้องฟ้ากับพื้นโลกเข้าไว้ด้วยกัน

“ฉันต้องการสร้างผลงานที่เป็นเหมือนกับน้ำและอากาศ ที่เราไม่สามารถครอบครอง แต่สามารถแบ่งปันให้ทุกคนได้”
นอกจากนี้ คิมซูจายังมีผลงานที่จัดแสดงในตู้กระจกบนทางเดินรอบหอคอยทรงกลม และผลงานวิดีโอจัดวางที่สำรวจแนวคิดเกี่ยวกับตัวตน พรมแดน ความทรงจำ ความเลื่อนไหล การลี้ภัย และการถักทอทางวัฒนธรรมอีกด้วย

ท้ายสุด กับนิทรรศการ IN-SITU WORKS ที่สร้างบทสนทนาระหว่างผลงานศิลปะกับสถาปัตยกรรม ของตัวอาคาร Bourse de Commerce ไม่ว่าจะเป็นผลงาน Others (2011) ของ เมาริซิโอ คัตเตลาน ในรูปของประติมากรรมจัดวางจากนกพิราบสตัฟฟ์ที่เกาะอยู่บนระเบียงทรงกลมของอาคาร
หรือผลงานชวนเหวอของสองศิลปินจีน ซานหยวน และ ฝางหยู (Sun Yuan & Peng Yu) อย่าง Old People’s Home (2008) ศิลปะจัดวางประติมากรรมเหมือนจริง (โคตร) รูปผู้นำโลกในวัยชรานั่งบนรถเข็นไฟฟ้าที่เคลื่อนไหวไปมาอย่างอัตโนมัติ ที่ดูตอนแรกเรานึกว่าเป็นคนจริงๆ เสียอีก!


ที่น่ารักน่าชังที่สุดเห็นจะเป็นผลงาน Ever After: A Trilogy (I... I... I...) (2019) ของ ไรอัน แกนเดอร์ (Ryan Gander) ศิลปินร่วมสมัยชาวอังกฤษ ในรูปของหุ่นยนต์หนูที่มีกลไกเคลื่อนไหวอัตโนมัติ โผล่หน้าออกมาจากรูบนผนัง ส่งเสียงพูดอ้ำๆ อึ้งๆ ขัดๆ เขินๆ ออกมาอย่างน่าขัน เรียกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะจากผู้ชมที่เดินผ่านไปผ่านมาได้ชะงัดนัก.
ที่สำคัญที่สุด ชั้นใต้ดินของพิพิธภัณฑ์ยังมีปลั๊กให้ชาร์จโทรศัพท์ฟรี พร้อมเก้าอี้ให้นั่งรออีกด้วยนะเออ!
โดยภัณฑารักษ์ ฌอง-มารี กัลเล (Jean-Marie Gallais)
จัดแสดงที่ Bourse de Commerce - Pinault Collection ปารีส ฝรั่งเศส
ตั้งแต่วันนี้ - วันที่ 2 กันยายน 2024 เปิดทำการวันจันทร์ - อาทิตย์ 11:00 - 19:00 น. ปิดทำการวันอังคาร
ค่าเข้าชม 14 ยูโร เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี นักเรียนนักศึกษา (ที่มีบัตรประจำตัว) เข้าชมฟรี.
Bourse de Commerce - Pinault Collection พื้นที่แสดงคอลเลคชันศิลปะร่วมสมัยระดับแนวหน้าของโลก
/
ในอดีตที่ผ่านมา ในแวดวงศิลปะ(กระแสหลัก)ในบ้านเรา มักมีคํากล่าวว่า ศิลปะไม่ควรข้องแวะกับ การเมือง หากแต่ควรเป็นเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึก ความงาม สุนทรียะ และจิตวิญญาณภายในอัน ลึกซึ้งมากกว่า แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าจะในยุคสมัยไหน ศิลปะไม่เคยแยกขาดออกจาก การเมืองได้เลย ไม่ว่าจะในยุคโบราณ ที่ศิลปะถูกใช้เป็นเครื่องมือรับใช้ชนชั้นสูงและผู้มีอํานาจ หรือใน ยุคสมัยใหม่ที่ศิลปะถูกใช้เป็นเครื่องมือแสดงออกถึงอุดมการณ์ทางสังคมการเมือง หันมามองในบ้าน เราเอง ก็มีศิลปินไทยหลายคนก็ทํางานศิลปะทางการเมืองอย่างต่อเนื่องยาวนาน ในการสะท้อนและ บันทึกประวัติศาสตร์การเมืองไทยได้อย่างเข้มข้น จริงจัง
/
เหตุการณ์นี้เป็นอุทาหรณ์ให้เรารู้ว่า การก๊อปปี้ก็ไม่ได้เลวร้ายเสมอไป เพราะอย่างน้อยที่สุด ก็ทําให้ เราได้รู้ว่าผลงานต้นฉบับของจริงในช่วงเวลาที่เสร็จสมบูรณ์นั้นมีความดีงามขนาดไหน ไม่ต่างอะไรกับศิลปินร่วมสมัยสัญชาติไทยอย่าง วิชิต นงนวล ที่หลงใหลศรัทธาในผลงานของศิลปิน ระดับปรมาจารย์ในยุคสมัยใหม่ของไทยอย่าง จ่าง แซ่ตั้ง ตั้งแต่ครั้งยังเยาว์ ในวัยของนักเรียน นักศึกษา เรื่อยมาจนเติบโตเป็นศิลปินอาชีพ ความหลงใหลศรัทธาที่ว่าก็ยังไม่จางหาย หากแต่เพิ่มพูน ขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดก็สุกงอมออกดอกผลเป็นผลงานศิลปะในนิทรรศการ The Grandmaster : After Tang Chang ที่เป็นเสมือนหนึ่งการสร้างบทสนทนากับศิลปินระดับปรมาจารย์ผู้นี้
/
“ยูบาซาโตะ เดินผ่านตามแนวต้นสนขึ้นไปบนภูเขาศักดิ์สิทธิ์ เพื่อไปก่อสร้างสถูปดิน และมักจะโดน ทีมงานช่างบ่นทุกวันเกี่ยวกับการก่อสร้าง ที่มีเวลาอยู่อย่างจํากัด เขาเพียงได้แต่ตอบไปว่า .. บุญกุศล นําพาและเวลามีเท่านี้ ขอให้ทําสิ่งดีๆ ให้เต็มที่ ต่อสถานที่บนภูเขานี้เถอะ อย่าบ่นไปเลย เราอาจจะ พบกันแค่ประเดี๋ยวเดียว แต่สิ่งเหล่านี้จะอยู่ต่อไปอีกหลายร้อยปี ... ทีมงานทุกคนเพียงส่งรอยยิ้มที่ เหนื่อยล้ากลับมา ก็เพราะต้องทนร้อนทนแดด และเปียกฝนสลับกันไป จากสภาวะโลกเดือด ที่ทุกคน ต่างพูดถึง แต่ก็จะมาจากใคร ก็จากเราเองกันทั้งนั้น ... แม้จะมาทํางานบนภูเขาก็จริง แต่เขาก็ยังคง คิดถึงเหตุการณ์ภัยน้ําท่วมดินโคลนถล่มที่ผ่านมา อีกทั้งความเสียหายต่อข้าวของที่ต้องย้ายออกจาก บ้านเช่าและค่าใช้จ่ายหลังน้ําท่วมที่ค่อนข้างเยอะพอควร และยิ่งในสภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจแบบนี้...
/
หากเราเปรียบสงคราม และอาชญากรรมที่กระทำต่อมนุษย์ อย่างการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การสังหารหมู่ และการล่าอาณานิคม เป็นเหมือนการสร้างบาดแผลและความแตกร้าวต่อมวลมนุษยชาติ ศิลปะก็เป็นหนทางหนึ่งในการเยียวยาซ่อมแซมบาดแผลและความแตกร้าวเหล่านั้น แต่การเยียวยาซ่อมแซมก็ไม่จำเป็นต้องลบเลือนบาดแผลและความแตกร้าวให้สูญหายไปเหมือนไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น หากแต่การเหลือร่องรอยแผลเป็นและรอยแตกร้าวที่ถูกประสาน ก็เป็นเสมือนเครื่องรำลึกย้ำเตือนว่า สิ่งเหล่านี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว และไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้นอีกซ้ำเป็นครั้งที่สอง เช่นเดียวกับสิ่งที่ปรากฏในนิทรรศการ “Urgency of Existence” นิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งแรกในเอเชียของ คาแดร์ อัทเทีย (Kader Attia) ศิลปินชาวฝรั่งเศส - แอลจีเรีย ผู้มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ เขาเป็นหัวหอกในการทำงานศิลปะผ่านสื่ออันแตกต่างหลากหลาย ที่นำเสนอแนวคิดหลังอาณานิคม และการปลดแอกอาณานิคม จากมุมมองของตัวเขาเอง ที่มีประสบการณ์ทางตรงและทางอ้อมของผู้ที่เคยถูกกดขี่และถูกกระทำจากลัทธิล่าอาณานิคมในศตวรรษที่ผ่านมา
/
ในช่วงปลายปี 2024 นี้ มีข่าวดีสำหรับแฟนๆ ศิลปะชาวไทย ที่จะได้มีโอกาสชมผลงานศิลปะร่วมสมัยของเหล่าบรรดาศิลปินทั้งในประเทศและระดับสากล ยกขบวนมาจัดแสดงผลงานกันในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 แล้ว โดยในเทศกาลศิลปะครั้งนี้นำเสนอผลงานศิลปะจาก 76 ศิลปิน 39 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ภายใต้ธีมหลัก “รักษา กายา (Nurture Gaia)” ที่ได้แรงบันดาลใจจากเทพี ไกอา (Gaia) ในตำนานเทพปรณัมกรีก หรือพระแม่ธรณีผู้ให้กำเนิดและหล่อเลี้ยงสรรพชีวิต เพื่อแสดงถึงความสัมพันธ์อันสอดประสานกลมกลืนกันระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ
/
เมื่อพูดถึงชื่อ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล หรือ เจ้ย มิตรรักแฟนหนังหลายคนน่าจะรู้จักเขาในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยผู้เปี่ยมไปด้วยความเป็นศิลปะที่สุด ไม่เพียงแค่ในประเทศไทย แต่หมายรวมถึงในสากลโลก ยืนยันด้วยรางวัลสำคัญจากเทศกาลภาพยนตร์ระดับโลกหลายต่อหลายรางวัล ไม่ว่าจะเป็นรางวัลยอดเยี่ยมในการฉายสายรอง (Un Certain Regard) จากภาพยนตร์เรื่อง สุดเสน่หา (Blissfully Yours) (2002) และรางวัลขวัญใจคณะกรรมการ (Jury Prize) จากภาพยนตร์เรื่อง สัตว์ประหลาด! (Tropical Malady) (2004) จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ในปี 2002 และ 2004, หรือภาพยนตร์เรื่อง แสงศตวรรษ (Syndromes and a Century) (2006) ของเขาก็ได้รับเลือกให้เข้าชิงรางวัลสิงโตทองคำในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิส ในปี 2006 และคว้ารางวัลกรังปรีซ์จากเทศกาลภาพยนตร์ Deauville Asian Film Festival ในปี 2007, และภาพยนตร์เรื่อง รักที่ขอนแก่น (Cemetery of Splendor) (2015) ของเขาก็คว้ารางวัลยอดเยี่ยมจากเวที Asia Pacific Screen Awards ในปี 2015, ที่สำคัญที่สุด อภิชาติพงศ์ยังเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้รับรางวัล ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมปาล์มทองคำ (Palm d’or) จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ครั้งที่ 63 ในปี 2010 จากภาพยนตร์เรื่อง ลุงบุญมีระลึกชาติ (Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives) (2010), และล่าสุด ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องล่าสุดของเขาอย่าง Memoria (2021) ยังคว้ารางวัล Jury Prize ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ครั้งที่ 74 ในปี 2021 มาครองได้อีกครั้ง อีกทั้งยังได้รับเสียงวิจารณ์เชิงบวกอย่างท่วมท้นจากสื่อมวลชนนานาชาติ
We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )