SAVING THAI MODERN ARCHITECTURE | IAMEVERYTHING.CO

LOOKING ON EVERYTHING ?

EXPLORE ON EVERYTHING

SAVING THAI
MODERN ARCHITECTURE
ในวันที่สถาปัตยกรรมทรงคุณค่าถูกความก้าวหน้ากลืนหายไป เหลือไว้เพียงแค่ความทรงจำ!

ด้วยความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมืองทำให้บริบทต่างๆ ถูกเปลี่ยนแปลงพัฒนาให้ก้าวทันไปตามยุคสมัย ส่งผลมายังตัวแทนแห่งอดีตที่ถูกรื้อถอนทำลายไปอย่างน่าเสียดาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแล้วกับสิ่งที่บ่งบอกถึงวิวัฒนาการความเป็นไปในแต่ละยุคแต่ละสมัย อย่างสถาปัตยกรรมที่สถาปนิกดาวรุ่งแต่ละคนได้ฝากฝังผลงานของพวกเขาเอาไว้ ในขณะที่อาคารทรงคุณค่าค่อยๆ หายไป ก็ยังมีคนที่ผูกพัน หลงใหล และไม่อยากให้สถาปัตยกรรมเหล่านี้ต้องหายไปจนคนรุ่นใหม่ไม่มีโอกาสได้ทำความรู้จัก
ถึงแม้ว่าความสวยงาม มีดีเทลต่างๆ ของตึกฟักทองที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ ซึ่งสร้างมาตั้งแต่ต้นปี 2510 จะเป็นจุดเริ่มต้นแรกที่ทำให้คุณเบียร์ วีระพล สิงห์น้อย หรือ Beersingnoi ช่างภาพผู้เข้าใจในศาสตร์ของงานสถาปัตยกรรม และถ่ายทอดปรัชญาการออกแบบของสถาปนิกแต่ละคนออกมาด้วยมุมมองอันแตกต่างไม่เหมือนใคร หันมาสนใจหลงใหลในงานสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์นอย่างจริงจัง จนนำไปสู่การออกไปตามบันทึกภาพเก็บไว้ เพื่อนำมาแชร์เป็นความรู้ เป็นการระลึกถึงในวันที่ตึกอาคารเหล่านี้ถูกความก้าวหน้ากลืนหายไปในเพจ Foto_momo

Foto_momo เพจที่รวบรวมภาพถ่ายสถาปัตยกรรมในประเทศไทย
เป็นอาคารสมัยใหม่ในประเทศไทยที่อยู่ในยุคประมาณ 1930 -1980 มีความสำคัญในแง่ที่ว่าเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่เห็นพัฒนาการต่อเนื่องของรูปแบบสถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เป็นหน้าหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสังคมยุคนั้น หลังจากเกิดสงครามโลกแล้ว เศรษฐกิจซบเซาต้องรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ การเมืองการปกครองเริ่มเปลี่ยนระบอบใหม่ทำให้บ้านเมืองเปลี่ยนไป แต่ ณ ปัจจุบันที่น่าตกใจคือมันกำลังถูกทำลายลงไปเรื่อยๆ ตัวอย่างที่เห็นชัดๆ คือ สถานทูตออสเตรเลีย ตึกโชคชัยตรงสุขุมวิท 26 หรืออาคารกรุงศรีตรงหัวมุมเพลินจิต มันน่าใจหายตรงที่เราหลงลืมอาคารยุคนี้ไป ก็เลยรวบรวมเป็นเพจขึ้นมา พยายามเก็บเป็น Photo Documentary

นอกเหนือจากภาพถ่ายแล้ว ยังให้ข้อมูลความรู้ทางสถาปัตยกรรมด้วย
ด้วยความที่ผมมีแบ็คกราวน์เคยเรียนสถาปัตย์มา เราเลยใส่ข้อมูลของแต่ละอาคารเป็นเหมือนช็อตโน้ตของตัวเองด้วย พอถึงวันนึงผมแบ่ง Category ได้ง่ายว่าสถาปนิกคนนี้ออกแบบกลุ่มอาคารประเภทนี้ เขามีซิกเนเจอร์มีลายเซ็นในการออกแบบยังไง หรือถ้าจะเอาอาคารเหล่านี้มาเรียงเป็นไทม์ไลน์ พ.ศ. ต่างๆ ที่เกิดขึ้น มันจะเห็นอะไรต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป
พอพัฒนามาเป็นโปรเจคท์ที่จริงจัง ทำให้ต้องรีเสิร์ชมากขึ้น
ตอนแรกๆ มันจะเป็นเชิงงานอดิเรกซะมากกว่า ตอนหลังเริ่มพัฒนาเป็นโปรเจคท์จริงจัง พอมีข้อมูลหรือรูปเยอะมากขึ้น ผมเลยต้องจัดข้อมูลใหม่ อยากรู้มากขึ้นว่าตึกนี้ใครเป็นคนออกแบบ ก็เลยไปค้นข้อมูล เกิดเป็นขั้นตอนของการรีเสิร์ชขึ้นมา ถ้าจะแบ่งจริงๆ ตอนนี้จะเป็นสามขั้นตอนหลักๆ คือ รีเสิร์ชก่อน สองออกไปถ่าย สามเอารูปกลับมาตกแต่งใหม่ ซึ่งขั้นตอนที่ยาวนานก็คือการรีเสิร์ชครับ จริงๆ มีทำฐานข้อมูลเอาไว้ประมาณ 200-300 กว่าอาคาร แต่บางส่วนถูกทำลายไปบ้าง ถ่ายไม่ทัน หรือถูกเปลี่ยนแปลงไปจนไม่เห็นความงามเดิมแล้วก็มี พยายามเก็บให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ครับ

อยากเก็บความคงเดิมของตึกเอาไว้ให้มากที่สุด
เรายังคงชอบความออริจินัลในยุคนั้น เข้าใจว่าปัจจุบันมันต้องเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ แต่บางส่วนถูกดัดแปลงแล้วมันน่าเสียดาย ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ธนาคารบางธนาคารที่มีองค์ประกอบด้านหน้าสวยๆ บางทีเขาเอาป้ายโฆษณาไปปิดหมดเลย ของสวยๆ เหล่านั้นกลับถูกซ่อนอยู่ภายใต้แผ่นไวนิล ก็แอบเสียดายนิดนึง บางอาคารย้อนไปดูรูปถ่ายเดิมสเปซดีมาก แต่ปัจจุบันมีตึกใหม่ขนาดใหญ่โตสร้างใกล้ๆ พอเทียบกับอาคารเดิมแล้วคนละสเกลกัน มันทำให้ความสวยงามลดน้อยลงไป
ธนาคารกรุงไทย สาขาสวนมะลิ (ธ.ไทยพัฒนา)
ตึกสตางค์
จาก Brutalism ขยายไปสู่ Modern Architecture
ผมเริ่มสนใจอาคาร Brutalism อยู่ในยุคโมเดิร์นปลายๆ ความโดดเด่นของมันคือรูปทรงคอนกรีตที่หนักแน่น แต่ Brutalism ในเมืองไทยมีน้อย เลยขยายขอบเขตของงานไปที่อาคารยุค Modern แม้อาคาร Modern ยุคแรกๆ รูปทรงไม่ได้น่าตื่นตาตื่นใจมากเท่า Brutalism แต่แนวคิดและอิทธิพลของอาคาร Modern นั้น ส่งผลต่อเนื่องมาถึงการออกแบบในยุคปัจจุบัน
อาคารเอ็ม.ดี. 5 คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เสน่ห์ของ Modern Architecture
หนึ่งในคอนเซ็ปต์สำคัญของ Modern คือเรื่องสัจจะวัสดุตั้งใจเปลือยผิวคอนกรีตโชว์ความแข็งแรง ที่ขั้นตอนการเทคอนกรีตก็ตั้งใจทิ้งร่องรอยไม้เอาไว้ เพื่อให้เกิดพื้นผิวหยาบกร้านมันเป็นแฟชั่นของยุคสมัยนั้น สมัยนี้คงไม่นิยมแล้ว ผมคิดว่าความย้อนแย้งอีกอย่างคือคอนกรีตเป็นวัสดุที่หนักมากๆ แต่สถาปนิกยุคนั้นต้องการออกแบบให้ดูเบาไร้น้ำหนัก สามารถยื่นโครงสร้างออกไปได้กว่าที่เราคาดหมาย บางแห่งทำแผ่นหลังคาให้บางราวกับกระดาษ มันฉีกกฏของวัสดุต่างๆ ทำให้สถาปนิกต้องหาอะไรที่แหวกแนวออกไป มีความท้าทายกว่าเดิม
คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ตึกภาควิชาชีวะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
สถาปัตยกรรมประเทศเพื่อนบ้านกับบริบทที่ใหญ่ขึ้น
นอกจากในประเทศไทยยังมีประเทศเพื่อนบ้านที่ผมสนใจ เช่น อินเดีย กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น พอเรามองภาพที่กว้างขึ้น หรือบริบทที่ใหญ่ขึ้นเราจะได้เห็นอะไรบางอย่างที่สัมพันธ์กัน เห็นว่าสถาปนิกแต่ละประเทศในยุคนั้น เขาไปร่ำเรียนจบมาจากประเทศไหนแล้วเขากลับมาพัฒนาประเทศตัวเองอย่างไร เขาได้รับอิทธิพจากชาติอะไรมา

งานที่ชอบที่สุดทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ชอบที่สุดคือตึกฟักทองที่หาดใหญ่ เพราะประทับใจคนออกแบบคือ คุณอมร ศรีวงศ์ เป็นคนออกแบบที่มีหัวก้าวหน้ามาก แม้จะไม่ได้เรียนจบสถาปัตย์มาโดยตรง แต่อาศัยประสบการณ์ในแวดวงการก่อสร้างสามารถสร้างงานล้ำสมัยได้ขนาดนี้ ถ้าประเทศใกล้เคียง ชอบที่กัมพูชาครับ สถาปนิกชื่อ Vann Molyvann คนนี้ก็ดังระดับโลกเหมือนกัน ถ้าในวงการ Modern Architecture ต้องยกย่องให้เขาเป็นเบอร์ต้นๆ ในภูมิภาคนี้เลย เขาเป็นสถาปนิกกัมพูชาที่ไปเรียนที่ฝรั่งเศส และกลับมาพัฒนาประเทศในยุคที่กำลังสร้างชาติ งานเขาหลายๆ ชิ้นยังอยู่ในเขมร ถูกทุบไปบ้างก็มี สถานการณ์พอๆ กับบ้านเราเลย ผมว่าสถาปนิกทั้งในไทย เขมร หรือในละแวกนี้ พอเรียนจากต่างประเทศ เขาได้รับทั้งความรู้และอิทธิพลแต่ไม่ได้เอามาใช้ตรงๆ มีการดัดแปลงเพื่อให้เหมาะกับภูมิประเทศหรือภูมิอากาศ โดยเฉพาะเรื่องแดดและฝนเป็นสิ่งสำคัญ มันเลยสร้างเป็นเอกลักษณ์ที่เรียกว่า Tropical Modernism ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น อาคารศรีเฟื่องฟุ้งตรงสวนลุมฯ มีการออกแบบแผงกันแดดที่เหมาะกับการใช้งานในยุคนั้น สามารถบังแดดได้ดี ขณะเดียวกันก็เป็นช่องระบายลมให้ลมพัดถ่ายเทได้
อาคารศรีเฟื่องฟุ้ง
ตึกฟิสิกส์ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็เป็นอีกหนึ่งอาคารที่ชอบ
ความโดดเด่นของที่นี่น่าจะเป็นเรื่องของห้องบรรยายที่อยู่ด้านหน้า สถาปนิกคุณองอาจ สาตรพันธุ์ ออกแบบให้ห้องบรรยายมีเก้าอี้เป็นขั้นบันไดหลดหลั่นลงมา แล้วปล่อยให้พื้นห้องด้านนอกอาคารไม่มีเสามารับน้ำหนัก เสมือนเป็นคอนกรีตที่ลอยได้

ผลตอบรับที่ดีเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนผลงาน
เคยแอบถามคนอื่นที่อยู่นอกวงการสถาปัตย์เหมือนกันว่าเขามองตึกพวกนี้ยังไง บางคนก็บอกว่าเป็นตึกเก่าๆ ไม่ได้มีอะไรน่าสนใจ เห็นผ่านๆ ตา ไม่ได้รู้สึกประทับใจ แต่พอมาเห็นรูปถ่ายของเรา ทำให้เขากลับไปมองตึกนั้นใหม่อีกที พอตั้งใจดูก็เห็นความงามของยุคสมัย ผมก็ดีใจที่ได้ใช้ความสามารถในการถ่ายรูป ทำให้บางคนตระหนักถึงคุณค่าของอาคารเหล่านี้

โปรเจกท์ที่อยากผลักดันต่อไป
โปรเจกท์ที่อยากให้เกิดขึ้นคือ นิทรรศการเกี่ยวกับอาคารยุคโมเดิร์นในประเทศไทย แล้วในปลายปีนี้โครงการ mASEANa Project เครือข่ายด้านการอนุรักษ์อาคารยุคโมเดิร์นในภูมิภาคอาเซียนนี้ กำลังจะจัดประชุมวิชาการที่เมืองไทยพอดี ก็อยากให้คนทั่วไปรับรู้ถึงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของอาคารยุคนี้
    TAG
  • architecture
  • design
  • photography

SAVING THAI MODERN ARCHITECTURE

ARCHITECTURE/PIN UP
6 years ago
CONTRIBUTORS
EVERYTHING TEAM
RECOMMEND
  • CULTURE&LIFESTYLE/PIN UP

    Pompano Roasted คาเฟ่ที่ทั้งเก๋ทั้งเท่ อย่างสุดขั้ว

    พื้นที่ที่เอาความหลงใหลในเรื่องของกาแฟกับเฟอร์นิเจอร์วินเทจมารวมอยู่ด้วยกัน

    EVERYTHING TEAM6 years ago
  • DESIGN/PIN UP

    REBIRTH ME A TRASH

    สิ่งที่ทำให้วัสดุมีคุณค่าอาจอยู่ที่เรื่องราวการกำเนิดของวัสดุนั้นๆ แต่การกำเนิดในครั้งนี้กลับเป็นวิธีย้อนกระบวนการความคิด

    EVERYTHING TEAM6 years ago
  • PHOTO ESSAY/PIN UP

    THE FAITH

    ความแตกต่างทั้งความสว่างและความมืดในภาพเดียวกัน

    EVERYTHING TEAM6 years ago
  • DESIGN/GARAGE

    “PG” by AAd - Ayutt and Associates design Project Garage อาคารการาจและแกลเลอรี่ ที่เหมือนประติมากรรมชิ้นเอกท่ามกลางขุนเขา

    ในหมู่บ้านจัดสรรแห่งหนึ่งในจังหวัดนครราชสีมา ติดกับพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีสถาปัตยกรรมหลังหนึ่งที่ดูคล้ายงานประติมากรรมตั้งเคียงข้างขุนเขา นี่คือ PG หรือย่อมาจาก Project Garage ออกแบบโดย AAd - Ayutt and Associates design นี่ไม่ใช่บ้านพักอาศัย แต่คืออาคารที่ฟอร์มขึ้นจากแพสชั่นของเจ้าของบ้านผู้เป็นนักสะสมทั้งรถยนต์และงานศิลปะ

    EVERYTHING TEAMFebruary 2024
  • DESIGN/RESORT

    “Riva Vista Riverfront Resort” By IDIN Architects รีสอร์ทริมน้ำกก ที่กกกอดธรรมชาติและความเป็นพื้นถิ่น ภายใต้สถาปัตยกรรมร่วมสมัยมุมมองใหม่

    ให้ลองนึกถึงอาหารหนึ่งจานที่มีหลากวัตถุดิบพื้นถิ่นที่เรารู้จักดี แต่เมื่อผ่านการปรุงด้วยเทคนิคที่แตกต่าง ก็เกิดการรังสรรค์อาหารจานใหม่ให้เราพอได้สัมผัสถึงกลิ่นอายบางอย่างที่คุ้นเคย แต่ในขณะเดียวกันก็เผยรูปลักณ์ใหม่ที่ไม่เคยผ่านประสบการณ์รับรู้มาก่อน นี่คือคำเปรียบเผยสำหรับการอธิบายผลงานออกแบบโปรเจกท์ใหม่นี้ของ IDIN Architects ที่เกิดจากแนวคิด Deconstruct ในการนำความร่วมสมัยให้มาอยู่ร่วมกับเอกลักษณ์พื้นถิ่นภาคเหนือของไทย เกิดเป็นงานสถาปัตยกรรมที่สร้างความน่าสนใจใหม่

    EVERYTHING TEAM5 months ago
  • DESIGN/EXHIBITION

    Infinity Ground Thailand and Taiwan Contemporary Architecture Exhibition

    ใครที่กำลังมองหาไอเดียใหม่ ๆ ในการออกแบบสถาปัตยกรรม หรือกำลังมองหานิทรรศการที่จะไปเดินชมในช่วงวันหยุด เราก็ขอแนะนำนิทรรศการสถาปัตยกรรม “Infinity Ground – Thailand and Taiwan Contemporary Architecture Exhibition” ที่จัดโดยสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย ผ่านการสนับสนุนของกระทรวงวัฒนธรรม สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ร่วมกับ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่เปิดให้เข้าชมแล้วที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)

    EVERYTHING TEAM9 months ago
SIGN UP TO OUR NEWSLETTER
A Monthly update of the new issue from us
THANK YOU FOR YOUR SUBSCRIPTION

We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )