Damnatio Memoriae ภาพยนตร์สารคดีอัน “ไม่พึงปรารถนา” ในประเทศไทย ที่ไปฉายในมหกรรมศิลปะ Venice Biennale 2024 ของ ธัญสก พันสิทธิวรกุล | IAMEVERYTHING.CO

LOOKING ON EVERYTHING ?

EXPLORE ON EVERYTHING

Damnatio Memoriae ภาพยนตร์สารคดีอัน “ไม่พึงปรารถนา” ในประเทศไทย ที่ไปฉายในมหกรรมศิลปะ Venice Biennale 2024 ของ ธัญสก พันสิทธิวรกุล

  ในมหกรรมศิลปะนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 60 (Venice Biennale 2024) ที่เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี คราวนี้ นอกจากจะมีศิลปินไทยร่วมแสดงผลงานในนิทรรศการ The Spirits of Maritime Crossing : วิญญาณข้ามมหาสมุทร ที่เรากล่าวถึงไปในตอนที่ผ่านมาแล้ว ในขณะที่เราตระเวนชมงานตามพาวิลเลียนต่างๆ ในเวนิส เบียนนาเล่ เรายังพบว่ามีผลงานของศิลปินไทยอีกคนได้ร่วมแสดงงานในมหกรรมศิลปะ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งนี้อีกด้วย

  ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า ธัญสก พันสิทธิวรกุล (Thunska Pansittivorakul) ศิลปินไทยที่ทำงานในสื่อภาพยนตร์ ผลงานของเขาส่วนใหญ่เป็นภาพยนตร์แนวทดลอง ภาพยนตร์สั้น และสารคดีขนาดยาว ที่ได้รับการเชิญไปฉายตามเทศกาลต่างๆ มาแล้วกว่า 100 เทศกาลทั่วโลก ทั้งเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน, เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติร็อตเตอร์ดัม, เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติฮ่องกง, เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ Toronto Reel Asian ฯลฯ ผลงานเรื่อง Happy Berry สวรรค์สุดเอื้อม (2004) ของเขาคว้ารางวัลสูงสุดจากเทศกาล Taiwan International Documentary Film Festival ที่ประเทศไต้หวัน ในปี 2004 และผลงาน Santikhiri Sonata (2019) ของเขา ก็คว้ารางวัลภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมในเทศกาล Doclisboa International Film Festival, ที่ลิสบอน โปรตุเกส ในปี 2019, และในปี 2007 เขายังได้รับรางวัลศิลปาธร สาขาภาพยนตร์ จากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยอีกด้วย

ธัญสก พันสิทธิวรกุล (Thunska Pansittivorakul)

  ผลงานของธัญสก ไม่ได้มีจุดเด่นในการเล่าเรื่องตามขนบหนังแบบปกติ แต่มีความโดดเด่นในการถ่ายทอดสภาวะทางอารมณ์ และความรู้สึกอันสามัญอย่าง ความสุข ความเศร้า ความรัก หรือแม้กระทั่งการอกหัก และเรื่องราวที่เป็นที่ยอมรับได้ยากในสังคมอันดีงาม อย่างเรื่องราวของเซ็กส์และกิจกรรมทางเพศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องเซ็กส์ของเกย์และรักร่วมเพศ ผลงานหลายชิ้นของธัญสก มักจะเต็มไปด้วยภาพเปลือยและกิจกรรมทางเพศที่ชัดเจนจะแจ้งจนดูเหมือนเจตนา

ด้วยการถ่ายทอดเรื่องราวของอารมณ์ความรู้สึกส่วนตัวเป็นหลัก จนดูคล้ายกับจะเป็นการหมกมุ่น บวกกับประเด็นอันล่อแหลมทางเพศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รักร่วมเพศ ที่ทำให้นักดูหนังหลายๆ คน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักดูหนังตามขนบส่วนใหญ่ เบื่อหน่าย ไม่เข้าใจ รับไม่ได้ จนถึงขั้นกระอักกระอ่วนและตั้งแง่รังเกียจหนังของเขาเลยด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงถ้าเราพินิจพิจารณาให้ดีๆ เราก็จะพบว่าจริงๆ แล้วฉากเหล่านี้ไม่ได้มีเป้าหมายที่จะมุ่งเน้นในการกระตุ้นเร้าอารมณ์ทางเพศของผู้ชมสักเท่าไหร่นัก หากแต่เป็นการแสดงออกถึงความเป็นมนุษย์ของตัวละครในหนัง ไปจนถึงเปรียบเปรยไปถึงประเด็นทางการเมือง ประเด็นทางศาสนา และปัญหาทางสังคมมานำเสนอควบคู่ไปกับฉากเซ็กส์รักร่วมเพศ หรือการหยิบเอาสถานการณ์ทางการเมืองมานำเสนอคู่ขนานไปกับเรื่องราวส่วนตัวและความสัมพันธ์ในครอบครัว

  ในมหกรรมศิลปะนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ 2024 ครั้งนี้ ธัญสกร่วมแสดงผลงานในนิทรรศการที่มีชื่อว่า Disobedience Archive (The Zoetrope) ที่จัดแสดงผลงานภาพยนตร์ของคนทำหนังผู้ขัดขืนดื้อแพ่งต่ออำนาจรัฐ ด้วยการรวบรวมผลงานภาพเคลื่อนไหว ภาพยนตร์ และวิดีโอที่มุ่งเน้นไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างกระบวนการทำงานศิลปะและความเคลื่อนไหวทางการเมือง คัดสรรโดยภัณฑารักษ์ชาวอิตาเลียน มาร์โก สโกตินี (Marco Scotini) โดยรวบรวมผลงานของศิลปินในสื่อภาพยนตร์และภาพเคลื่อนไหวสายสังคมการเมืองตัวกลั่นในโลกศิลปะและภาพยนตร์อย่าง บาร์บารา แฮมเมอร์ (Barbara Hammer), คาเลด จาร์ราร์ (Khaled Jarrar), ซารา จอร์เดโน (Sara Jordenö), บานี โคชนูดี (Bani Khoshnoudi), เหงียน ตรินห์ ตี (Nguyễn Trinh Thi), ฮิโต สไตเยิร์ล (Hito Steyerl) ฯลฯ และแน่นอนรวมถึงธัญสกของพวกเราด้วย

  นิทรรศการจัดแสดงผลงานบนพื้นที่แสดงงานที่ถูกจัดวางเลียนแบบ Zoetrope (อุปกรณ์ที่ใช้แสดงภาพลวงตาให้มีลักษณะเป็นภาพเคลื่อนไหว โดยอาศัยหลักการภาพติดตา ของศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นต้นธารของการสร้างภาพยนตร์แอนิเมชันในปัจจุบัน) โดยติดตั้งจอฉายผลงานภาพยนตร์แต่ละเรื่องลงไปบนผนังทรงโค้งวางเรียงรายเป็นคลื่นทรงกลมคล้ายแผ่นฟิล์มที่กระจัดกระจายไปทั่วห้องโถงแสดงงานของพื้นที่แสดงงาน Arsenale di Venezia ในเวนิส เบียนนาเล่

  ผลงานของธัญสกที่จัดแสดงในนิทรรศการนี้มีชื่อว่า “Damnatio Memoriae : ไม่พึงปรารถนา” ภาพยนตร์สารคดีขนาดยาว ที่ผสมผสานฟุตเตจจากเหตุการณ์ทางการเมืองทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศอย่าง เหตุการณ์ 6 ตุลา, สงครามเวียดนาม, เหตุวินาศกรรม 9/11, การแข่งขันทางอวกาศระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตในช่วงสงครามเย็น, การทิ้งระเบิดปรมาณูที่ญี่ปุ่นและผลลัพธ์ของมัน, กีฬาโอลิมปิกที่กรุงโซล เกาหลีใต้ในปี 1988, เหตุการณ์สังหารหมู่ควังจูในปี 1980, คอนเสิร์ตศิลปิน K-Pop สัญชาติฮ่องกง (ที่ออกโรงสนับสนุนจีนแผ่นดินใหญ่), เหตุการณ์การประท้วงที่ฮ่องกงในปี 2019 - 2020, เหตุการณ์การประท้วงในประเทศพม่าในปี 2021 - 2022, ภาพการ์ตูนย้อนยุค, ภาพโปรโมทกิจกรรมของนิกายศาสนาและโฆษณาชวนเชื่อของภาครัฐ, ฟุตเตจบทเพลงและเรื่องราวของอดีตราชินีเพลงแห่งเอเชียชาวไต้หวัน เติ้งลี่จวิน ซึ่งชื่อเสียงของเธอถูกใช้ในการโฆษณาชวนเชื่อของเผด็จการทหารในไต้หวัน, ตัดสลับกันการสังหารหมู่ในไต้หวัน ปี 1947 - 1987, และฟุตเตจของภาพยนตร์ คู่กรรม ที่โรแมนติไซส์ลัทธิจักรวรรดินิยมของญี่ปุ่น ตัดสลับกับเหตุการณ์สังหารหมู่ที่นานกิงในปี 1937, แทรกด้วยภาพการถ่ายทำหนังที่เปิดเผยร่างเปลือยและกิจกรรมทางเพศอันจะแจ้งของชายหนุ่มมากหน้าหลายตา ฟุตเตจเหล่านี้ถูกปะติดปะต่อร้อยเรียงเข้าด้วยกันอย่างไม่เรียงลำดับเวลา และดูเหมือนเป็นการสุ่มอย่างสะเปะสะปะ หากแต่เมื่อพินิจพิจารณาอย่างละเอียดแล้วการร้อยเรียงฟุตเตจเหล่านี้เต็มไปด้วยนัยยะเชิงเสียดสีและตลกร้ายอย่างแสบสัน ดูๆ ไปก็ทำให้เราอดนึกไปถึง มีม(Meme) เชิงการเมืองแสบๆ คันๆ ไม่ได้

  ที่แซบก็คือ ท่ามกลางผลงานจำนวน 48 เรื่อง มีเพียงผลงานไม่กี่ชิ้นที่มีป้ายกำกับว่า “Sensitive content” (มีเนื้อหาล่อแหลม) หนึ่งในจำนวนนั้นคือผลงาน Damnatio Memoriae ของธัญสกนั่นเอง นับเป็นการการันตีถึงความเฮี้ยนของสารคดีเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี

ธัญสกเล่าถึงเบื้องหลังการทำภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ให้เราฟังว่า

  “สารคดี Damnatio Memoriae เกิดขึ้นในช่วงเวลาหลังจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ทุกอย่างเจอผลกระทบหมด โดยปกติเราจะได้ทุนจากโปรดิวเซอร์ชาวเยอรมัน แต่ทางเยอรมันเองก็เจอผลกระทบหนักเหมือนกัน เราเองก็ไม่มีทุน ก็เลยอยากทำหนังสักเรื่องที่ไม่ต้องลงทุนเยอะ หนังเรื่องนี้จึงเป็นหนังเรื่องแรกของเราที่ใช้ทุนน้อยมาก เพราะเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นฟุตเตจที่มีอยู่แล้ว”

  “ตัวเนื้อเรื่องของหนังเริ่มมาจากในช่วงปี 2017 เราไปถ่ายหนังที่ดอยแม่สลอง แล้วได้ยินคนเปิดเพลงของ เติ้ง ลี่จวิน ซึ่งบ้านเราเป็นคนจีน เราคุ้นกับเพลงของ เติ้ง ลี่จวิน อยู่แล้ว แล้วเขาก็เปิดวนไปวนมาทั้งวัน เราก็รู้สึกว่า เพลงเพราะดี และเคยฟังมานานแล้ว แต่ในขณะเดียวกัน เราก็รู้สึกว่าเราสนใจเบื้องหลังบางอย่างของเพลงนี้ หลังจากนั้นก็เลยไปค้นคว้าข้อมูลหลายอย่างเกี่ยวกับเพลงนี้ พอเริ่มค้นคว้าจากประเด็นเกี่ยวกับเพลงของ เติ้ง ลี่จวิน ก็เริ่มลามไปสู่ประเด็นอื่นๆ แม้แต่ประเด็นทางการเมือง ซึ่งทำให้เรารู้สึกว่า การเมืองในโลกก็ไม่แตกต่างจากการเมืองในประเทศไทย และการเมืองไทยก็ไม่แตกต่างจากการเมืองประเทศอื่นมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องที่เราสนใจ อย่างเรื่องเผด็จการ ที่ความเคลื่อนไหวของเผด็จการในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มีความเชื่อมโยงกับประเทศอื่น เช่นเดียวกับการเชื่อมโยงของเอเชียกับอเมริกา และเราเองก็ไม่ได้สนใจแค่เรื่องของเผด็จการ แต่เราสนใจเรื่องเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองที่ส่งผลให้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก”

   “อย่างเรื่องของ เติ้ง ลี่จวิน ก็จะเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ White Terror (การกวาดล้างทางการเมืองของพรรคก๊กมินตั๋ง ในปี 1947 - 1987) คือเวลาเราเรียนวิชาประวัติศาสตร์ในโรงเรียน สิ่งที่เรามักจะรับรู้ก็คือ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำในประเทศไหนก็ตาม ก็มักจะได้รับการชื่นชมว่าเป็นผู้นำที่ดีต่างๆ นาๆ แต่เราไม่เคยรับรู้ในแบบเรียนเลยว่า มีอีกด้านหนึ่งที่ผู้นำเหล่านั้นสร้างความหายนะอะไรขึ้นบ้าง นั่นเป็นเพราะว่าประวัติศาสตร์ในแบบเรียนเหล่านั้นเขียนโดยผู้ชนะอยู่เสมอ ในช่วงปีหลังๆ เราเลยรู้สึกว่างานของเราจะยืนอยู่บนเส้นทางนี้ คือการเล่าประวัติศาสตร์ที่เขียนโดยผู้แพ้ เรื่องราวที่ไม่เคยถูกเล่า เราก็เอาเรื่องราวเหล่านี้มาทำเป็นหนัง เรารู้สึกว่าเราอยากทำหนังที่บันทึกเรื่องราวเหล่านี้รวมกันเอาไว้”
  “ในขณะเดียวกัน งานชิ้นหลังๆ ของเราค่อนข้างจะผูกพันกับเรื่องของความตาย เพราะพอเราอายุมากขึ้น ป่วยบ่อย ในขณะเดียวกันนอกจากอาการป่วยของเรา รอบๆ ตัวในประเทศเรา มีคนตายมหาศาล ทั้งคนไทยด้วยกันเอง คนพม่า ปาเลสไตน์ เราไม่ได้คิดว่าจะทำอะไรยิ่งใหญ่ แต่เราแค่มองว่าตอนนี้เราอายุ 50 ใกล้ 51 แล้ว ถ้าเกิดเราอยู่ได้ถึง 60 เราก็จะเหลือเวลาอยู่ 9 ปี เพราะพอหลังจาก 60 ถ้าเราไม่ตาย เราก็คงจะทำอะไรไม่ได้แล้ว ตาอาจจะมองไม่ค่อยเห็น ขาก็คงจะเดินไม่ค่อยไหวแล้ว เพราะฉะนั้นเราคิดว่า ถ้าเราเหลือเวลาเท่านี้ เราก็คิดว่าอยากจะทำอะไรที่จะเรียกว่าพอเป็นประโยชน์หรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่เราคิดว่าเราอยากทำงานในชุดที่เป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ (ที่ไม่เคยถูกพูดถึง) ในแต่ละช่วงเวลาที่มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้น อย่างหนังเรื่องก่อนหน้านี้เราก็พูดถึงเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงของนักศึกษา เหตุการณ์เสื้อแดง และสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศพม่า ที่มีประชาชนถูกเผด็จการทหารฆ่าตายเป็นจำนวนมาก”

  “ด้วยความที่งานของเรามีการซ้อนทับกันระหว่างฟุตเตจทางการเมือง กับเรื่องราวในเชิงเสียดสี ความรักน้ำเน่า เรื่องตลก หรือเรื่องผู้ชายแก้ผ้า มีเซ็กส์ ชักว่าวกัน เพราะเราต้องการเปรียบเทียบว่าระหว่างการที่คนโดนฆ่าตายอย่างทารุณ กับการแก้ผ้า ชักว่าว อะไรรุนแรงกว่ากัน เรารู้สึกว่า การเปลือย การมีเซ็กส์มันน่ารังเกียจนักหรือ? ถ้าเทียบกับการที่รัฐฆาตกรรมประชาชน อะไรน่ารังเกียจและรุนแรงกว่ากัน? บางครั้งตอนเราอยู่ในโรงหนัง พอถึงฉากพวกนี้ เราเห็นคนดูถอนหายใจ บางคนก็ลุกเดินออกไปจากโรงหนัง แปลว่าเรายอมรับการที่รัฐฆ่าคนกลางเมืองได้ แต่เรายอมรับไม่ได้กับการที่คนชักว่าวในหนัง เราว่าสิ่งนี้ประหลาดมาก ประหลาดที่สุด”

  เหตุผลสำคัญที่ผลงาน “Damnatio Memoriae : ไม่พึงปรารถนา” เรื่องนี้ของเขาได้เข้าไปร่วมแสดงในนิทรรศการ Disobedience Archive ในมหกรรมศิลปะ เวนิส เบียนนาเล่ นั้นเกิดจากการที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เข้าฉายในสายประกวดหลักของเทศกาลภาพยนตร์สารคดี International Documentary Film Festival Amsterdam หรือ IDFA เทศกาลภาพยนตร์สารคดีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่จัดขึ้นในกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องเดียวในเทศกาลที่ถูกคัดเลือกให้เข้าฉายในสายประกวดในปีนี้ จากจำนวนผู้สมัครทั้งโลก 3,787 เรื่อง จากทั้งหมด 137 ประเทศ

  ในช่วงเวลาก่อนหน้า Damnatio Memoriae ยังได้รางวัล Special Prize จากเทศกาล Taiwan International Documentary Film Festival, หนังยังถูกคัดลือกให้เข้าฉายโปรแกรม This Is not the Future I Ordered ของพิพิธภัณฑ์ Eye Filmmuseum ในเนเธอร์แลนด์, โดย ฟาราห์ ฮาซานเบโกวิช (Farah Hasanbegović) โปรแกรมเมอร์ของงานกล่าวถึงผลงานเรื่องนี้ของธัญสกว่า

  “สิ่งแรกที่ฉันคิดหลังจากดูภาพยนตร์เรื่องนี้คือมีคนสามารถถ่ายทำเกลียววงจรของวิกิพีเดียได้ ซึ่งเป็นวิธีที่เลียนแบบไม่ได้และเป็นส่วนตัวที่สุดในการเชื่อมโยงความรู้ต่างๆ ที่เรามีเกี่ยวกับโลกนี้ ในโลกที่ผู้คนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ตระหนักถึงเศษซากของอำนาจของจักรวรรดิ ผลงานของธัญสกแสดงให้เห็นว่า เรามาไกลแค่ไหนแล้ว และเรายังต้องไปไกลอีกมากเพียงใด Damnatio Memoriae ใช้ภาษา (ภาพ) ใหม่ที่สร้างขึ้นโดยเฉพาะสำหรับโลกที่ความรุนแรงยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

  ถึงแม้ผลงานภาพยนตร์ของธัญสกจะถูกฉายมากกว่า 100 เทศกาลทั่วโลก และจัดฉายในโปรแกรมต่างๆ ในพิพิธภัณฑ์และหอภาพยนตร์หลายแห่งในโลก รวมถึงในมหกรรมศิลปะระดับโลกอย่าง เวนิส เบียนนาเล่ แต่ผลงานของเขากลับถูกเซ็นเซอร์และห้ามฉายในประเทศไทยหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นผลงาน This Area is Under Quarantine บริเวณนี้อยู่ภายใต้การกักกัน (2009) ที่ถูกห้ามฉายในเทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพฯ (World Film Festival of Bangkok) ในปี 2009 จนกลายเป็นข่าวครึกโครมในวงการภาพยนตร์บ้านเราเมื่อหลายปีก่อน ด้วยเนื้อหาที่ถูกพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวิดีทัศน์ ว่าเนื้อหาของหนังขัดต่อศีลธรรมอันดีงาม และเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ เช่นเดียวกับหนังอีกหลายเรื่องของเขา ทำให้ชื่อของธัญสกเป็นเช่นเดียวกับชื่อหนังเรื่องล่าสุดเขา คือเป็นบุคคล “ไม่พึงปรารถนา” ในวงการภาพยนตร์ไทย ด้วยเหตุนี้นี่เอง ที่ทำให้ธัญสกตัดสินใจไม่ฉายภาพยนตร์ของเขาในประเทศไทย(อย่างเป็นทางการ)โดยสิ้นเชิง

  “หลังจากเกิดเหตุการณ์ห้ามฉายในครั้งนั้น เราก็เลยตั้งใจว่า ช่างมัน ดีแล้วที่หนังของเราไม่สามารถฉายในประเทศนี้ได้ หลังจากนั้นเราก็มีปณิธานว่า เราทำหนังแล้วไม่ฉายในประเทศนี้ก็ได้ แล้วก็ไม่ต้องแคร์ด้วยว่า หนังของเราจะโดนเซ็นเซอร์หรือเปล่า แล้วเราก็ทำทุกอย่างที่ไม่ต้องแคร์เซ็นเซอร์อีกต่อไป, มีคนถามคำถามเราเสมอๆ ว่า คนไทยจะดูหนังคุณได้อย่างไร? คุณทำหนังให้คนไทยหรือให้ฝรั่งดู?, ความตั้งใจแรก เราต้องการจะให้คนไทยดูหนังของเราอยู่แล้ว เพราะคนไทยจะเข้าใจประเด็นในหนังของเราได้ดีที่สุด แต่ในเมื่อไม่มีพื้นที่ให้เราฉาย จะให้เราทำอย่างไร ในขณะเดียวกัน เราก็คิดแบบโง่ๆ ว่า เดี๋ยวนี้เรายังได้ดูหนังเมื่อร้อยปีที่แล้วเลย สักวันหนึ่ง ถ้าประเทศไทยมีเสรีภาพและประชาธิปไตยจริงๆ อีกร้อยปีข้างหน้าคนก็คงได้ดูเอง ก็รอไปร้อยปีละกัน เราคิดว่าอีกร้อยปีก็คงจะมีแล้วนะ หรืออาจจะยังไม่มีก็ได้ ไม่รู้เหมือนกัน”.

Damnatio Memoriae : ไม่พึงปรารถนา
จัดฉายในนิทรรศการ Disobedience Archive (The Zoetrope)
ในพื้นที่แสดงงาน Arsenale di Venezia
ในมหกรรมศิลปะนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ 2024 เมืองเวนิส อิตาลี
ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน - 30 กันยายน 2024
เวลา 11:00 - 19:00 น. (วันศุกร์ - เสาร์ เวลา 11:00 - 20:00 น.)
และวันที่ 1 ตุลาคม - 24 พฤศจิกายน 2024 เวลา 10:00 - 18:00 น.
จองตั๋วเข้างานได้ที่นี่ https://www.labiennale.org/en/art/2024/information
    TAG
  • art
  • exhibition
  • Venice Biennale 2024
  • The Spirits of Maritime Crossing
  • Biennale 2024
  • Damnatio Memoriae

Damnatio Memoriae ภาพยนตร์สารคดีอัน “ไม่พึงปรารถนา” ในประเทศไทย ที่ไปฉายในมหกรรมศิลปะ Venice Biennale 2024 ของ ธัญสก พันสิทธิวรกุล

ART AND EXHIBITION/EXHIBITION
10 months ago
CONTRIBUTORS
Panu Boonpipattanapong
RECOMMEND
  • DESIGN/EXHIBITION

    Re/Place การปิดทับอดีตเพื่อเปิดเผยความจริงทางการเมือง ของ วิทวัส ทองเขียว

    ในอดีตที่ผ่านมา ในแวดวงศิลปะ(กระแสหลัก)ในบ้านเรา มักมีคํากล่าวว่า ศิลปะไม่ควรข้องแวะกับ การเมือง หากแต่ควรเป็นเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึก ความงาม สุนทรียะ และจิตวิญญาณภายในอัน ลึกซึ้งมากกว่า แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าจะในยุคสมัยไหน ศิลปะไม่เคยแยกขาดออกจาก การเมืองได้เลย ไม่ว่าจะในยุคโบราณ ที่ศิลปะถูกใช้เป็นเครื่องมือรับใช้ชนชั้นสูงและผู้มีอํานาจ หรือใน ยุคสมัยใหม่ที่ศิลปะถูกใช้เป็นเครื่องมือแสดงออกถึงอุดมการณ์ทางสังคมการเมือง หันมามองในบ้าน เราเอง ก็มีศิลปินไทยหลายคนก็ทํางานศิลปะทางการเมืองอย่างต่อเนื่องยาวนาน ในการสะท้อนและ บันทึกประวัติศาสตร์การเมืองไทยได้อย่างเข้มข้น จริงจัง

    Panu BoonpipattanapongFebruary 2025
  • DESIGN/EXHIBITION

    The Grandmaster : After Tang Chang บทสนทนากับ จ่าง แซ่ตั้ง ศิลปินระดับปรมาจารย์แห่งศิลปะสมัยใหม่ไทย โดย วิชิต นงนวล

    เหตุการณ์นี้เป็นอุทาหรณ์ให้เรารู้ว่า การก๊อปปี้ก็ไม่ได้เลวร้ายเสมอไป เพราะอย่างน้อยที่สุด ก็ทําให้ เราได้รู้ว่าผลงานต้นฉบับของจริงในช่วงเวลาที่เสร็จสมบูรณ์นั้นมีความดีงามขนาดไหน ไม่ต่างอะไรกับศิลปินร่วมสมัยสัญชาติไทยอย่าง วิชิต นงนวล ที่หลงใหลศรัทธาในผลงานของศิลปิน ระดับปรมาจารย์ในยุคสมัยใหม่ของไทยอย่าง จ่าง แซ่ตั้ง ตั้งแต่ครั้งยังเยาว์ ในวัยของนักเรียน นักศึกษา เรื่อยมาจนเติบโตเป็นศิลปินอาชีพ ความหลงใหลศรัทธาที่ว่าก็ยังไม่จางหาย หากแต่เพิ่มพูน ขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดก็สุกงอมออกดอกผลเป็นผลงานศิลปะในนิทรรศการ The Grandmaster : After Tang Chang ที่เป็นเสมือนหนึ่งการสร้างบทสนทนากับศิลปินระดับปรมาจารย์ผู้นี้

    Panu BoonpipattanapongJanuary 2025
  • DESIGN/EXHIBITION

    Monte Cy-Press ศิลปะจากกองดินที่สะท้อนน้ําหนักของภัยพิบัติ โดย อุบัติสัตย์

    “ยูบาซาโตะ เดินผ่านตามแนวต้นสนขึ้นไปบนภูเขาศักดิ์สิทธิ์ เพื่อไปก่อสร้างสถูปดิน และมักจะโดน ทีมงานช่างบ่นทุกวันเกี่ยวกับการก่อสร้าง ที่มีเวลาอยู่อย่างจํากัด เขาเพียงได้แต่ตอบไปว่า .. บุญกุศล นําพาและเวลามีเท่านี้ ขอให้ทําสิ่งดีๆ ให้เต็มที่ ต่อสถานที่บนภูเขานี้เถอะ อย่าบ่นไปเลย เราอาจจะ พบกันแค่ประเดี๋ยวเดียว แต่สิ่งเหล่านี้จะอยู่ต่อไปอีกหลายร้อยปี ... ทีมงานทุกคนเพียงส่งรอยยิ้มที่ เหนื่อยล้ากลับมา ก็เพราะต้องทนร้อนทนแดด และเปียกฝนสลับกันไป จากสภาวะโลกเดือด ที่ทุกคน ต่างพูดถึง แต่ก็จะมาจากใคร ก็จากเราเองกันทั้งนั้น ... แม้จะมาทํางานบนภูเขาก็จริง แต่เขาก็ยังคง คิดถึงเหตุการณ์ภัยน้ําท่วมดินโคลนถล่มที่ผ่านมา อีกทั้งความเสียหายต่อข้าวของที่ต้องย้ายออกจาก บ้านเช่าและค่าใช้จ่ายหลังน้ําท่วมที่ค่อนข้างเยอะพอควร และยิ่งในสภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจแบบนี้...

    Panu Boonpipattanapong5 months ago
  • DESIGN/EXHIBITION

    Kader Attia กับศิลปะแห่งการเยียวยาซ่อมแซมที่ทิ้งร่องรอยบาดแผลแห่งการมีชีวิต ในนิทรรศการ Urgency of Existence

    หากเราเปรียบสงคราม และอาชญากรรมที่กระทำต่อมนุษย์ อย่างการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การสังหารหมู่ และการล่าอาณานิคม เป็นเหมือนการสร้างบาดแผลและความแตกร้าวต่อมวลมนุษยชาติ ศิลปะก็เป็นหนทางหนึ่งในการเยียวยาซ่อมแซมบาดแผลและความแตกร้าวเหล่านั้น แต่การเยียวยาซ่อมแซมก็ไม่จำเป็นต้องลบเลือนบาดแผลและความแตกร้าวให้สูญหายไปเหมือนไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น หากแต่การเหลือร่องรอยแผลเป็นและรอยแตกร้าวที่ถูกประสาน ก็เป็นเสมือนเครื่องรำลึกย้ำเตือนว่า สิ่งเหล่านี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว และไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้นอีกซ้ำเป็นครั้งที่สอง เช่นเดียวกับสิ่งที่ปรากฏในนิทรรศการ “Urgency of Existence” นิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งแรกในเอเชียของ คาแดร์ อัทเทีย (Kader Attia) ศิลปินชาวฝรั่งเศส - แอลจีเรีย ผู้มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ เขาเป็นหัวหอกในการทำงานศิลปะผ่านสื่ออันแตกต่างหลากหลาย ที่นำเสนอแนวคิดหลังอาณานิคม และการปลดแอกอาณานิคม จากมุมมองของตัวเขาเอง ที่มีประสบการณ์ทางตรงและทางอ้อมของผู้ที่เคยถูกกดขี่และถูกกระทำจากลัทธิล่าอาณานิคมในศตวรรษที่ผ่านมา

    Panu Boonpipattanapong5 months ago
  • DESIGN/EXHIBITION

    Roma Talismano ชำแหละมายาคติแห่งชาติมหาอำนาจด้วยผลงานศิลปะสุดแซบตลาดแตก ของ Guerreiro do Divino Amor

    ในช่วงปลายปี 2024 นี้ มีข่าวดีสำหรับแฟนๆ ศิลปะชาวไทย ที่จะได้มีโอกาสชมผลงานศิลปะร่วมสมัยของเหล่าบรรดาศิลปินทั้งในประเทศและระดับสากล ยกขบวนมาจัดแสดงผลงานกันในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 แล้ว โดยในเทศกาลศิลปะครั้งนี้นำเสนอผลงานศิลปะจาก 76 ศิลปิน 39 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ภายใต้ธีมหลัก “รักษา กายา (Nurture Gaia)” ที่ได้แรงบันดาลใจจากเทพี ไกอา (Gaia) ในตำนานเทพปรณัมกรีก หรือพระแม่ธรณีผู้ให้กำเนิดและหล่อเลี้ยงสรรพชีวิต เพื่อแสดงถึงความสัมพันธ์อันสอดประสานกลมกลืนกันระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ

    EVERYTHING TEAM6 months ago
  • DESIGN/EXHIBITION

    Apichatpong Weerasethakul : Lights and Shadows นิทรรศการครั้งยิ่งใหญ่ใน Centre Pompidou ของศิลปินผู้สร้างแสงสว่างในความมืด อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

    เมื่อพูดถึงชื่อ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล หรือ เจ้ย มิตรรักแฟนหนังหลายคนน่าจะรู้จักเขาในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยผู้เปี่ยมไปด้วยความเป็นศิลปะที่สุด ไม่เพียงแค่ในประเทศไทย แต่หมายรวมถึงในสากลโลก ยืนยันด้วยรางวัลสำคัญจากเทศกาลภาพยนตร์ระดับโลกหลายต่อหลายรางวัล ไม่ว่าจะเป็นรางวัลยอดเยี่ยมในการฉายสายรอง (Un Certain Regard) จากภาพยนตร์เรื่อง สุดเสน่หา (Blissfully Yours) (2002) และรางวัลขวัญใจคณะกรรมการ (Jury Prize) จากภาพยนตร์เรื่อง สัตว์ประหลาด! (Tropical Malady) (2004) จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ในปี 2002 และ 2004, หรือภาพยนตร์เรื่อง แสงศตวรรษ (Syndromes and a Century) (2006) ของเขาก็ได้รับเลือกให้เข้าชิงรางวัลสิงโตทองคำในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิส ในปี 2006 และคว้ารางวัลกรังปรีซ์จากเทศกาลภาพยนตร์ Deauville Asian Film Festival ในปี 2007, และภาพยนตร์เรื่อง รักที่ขอนแก่น (Cemetery of Splendor) (2015) ของเขาก็คว้ารางวัลยอดเยี่ยมจากเวที Asia Pacific Screen Awards ในปี 2015, ที่สำคัญที่สุด อภิชาติพงศ์ยังเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้รับรางวัล ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมปาล์มทองคำ (Palm d’or) จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ครั้งที่ 63 ในปี 2010 จากภาพยนตร์เรื่อง ลุงบุญมีระลึกชาติ (Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives) (2010), และล่าสุด ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องล่าสุดของเขาอย่าง Memoria (2021) ยังคว้ารางวัล Jury Prize ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ครั้งที่ 74 ในปี 2021 มาครองได้อีกครั้ง อีกทั้งยังได้รับเสียงวิจารณ์เชิงบวกอย่างท่วมท้นจากสื่อมวลชนนานาชาติ

    Panu Boonpipattanapong7 months ago
SIGN UP TO OUR NEWSLETTER
A Monthly update of the new issue from us
THANK YOU FOR YOUR SUBSCRIPTION

We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )