LOOKING ON EVERYTHING ?
EXPLORE ON EVERYTHING

การสลายมายาคติแห่งความเป็นไทย(ที่แท้)ผ่านภาพถ่ายนู๊ด
“ความเป็นไทยที่แท้คืออะไร?” เป็นคำถามที่เราถามกันมาเนิ่นนานแล้ว แต่ก็ยังหาคำตอบที่ตายตัวไม่ได้ เพราะภายในประเทศหนึ่ง ที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลหลายแสนตารางกิโลเมตร เต็มไปด้วยความหลากหลายทางภูมิศาสตร์ ภูมิอากาศ มีประชากรมากมายหลายสิบล้านคน ผู้มีความเป็นปัจเจกชน มิใช่หุ่นยนต์ที่ถูกผลิตซ้ำจากระบบอุตสาหกรรม ย่อมต้องเต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลายของบุคลิก รสนิยม ความรู้สึกนึกคิด วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ วัฒนธรรม ไปจนถึงเพศสภาพ เพศภาวะ และเพศวิถี เราจะสรุปรวมความเป็นตัวตนของชนชาติหนึ่งด้วยคุณลักษณะไม่กี่ประการได้ด้วยหรือ?


หรือแท้จริงแล้ว ความเป็นไทยที่แท้จริงอาจไม่มีอยู่จริง หากแต่เป็นกรอบความคิด หรืออันที่จริง มายาคติ (Mythology) ที่ภาครัฐประกอบสร้างขึ้นเพื่อสนับสนุนการใช้โครงสร้างการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง (Centralization) เพื่อความสะดวกในการบริหารประเทศ ถึงแม้โครงสร้างการปกครองเช่นนี้จะมีส่วนในการสร้างความเป็นเอกภาพของชาติ แต่ในขณะเดียวกันก็มีส่วนในการลดทอนหรือแม้แต่ทำลายความหลากหลาย ทั้งทางเชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญา ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต หรือแม้แต่ความเชื่อและศาสนา ด้วยการคัดทิ้ง กีดกัน หยามเหยียด แปลกแยกผู้คนที่แตกต่างจากความเป็นศูนย์กลางให้กลายเป็นอื่น ไม่ใช่ความเป็นไทยอันดีงาม หรือ ความเป็นไทยอันเที่ยงแท้แต่โบราณ ตามที่ภาครัฐนิยามไว้ ทั้งที่ในภูมิภาคอื่นๆ หลายภูมิภาคในประเทศเราจะมีประวัติศาสตร์ ความเป็นมา หรือแม้แต่อารยธรรมเก่าแก่กว่าภาคกลางหลายเท่าด้วยซ้ำไป

สิ่งเหล่านี้เป็นจุดตั้งต้นให้ โศภิรัตน์ ม่วงคำ หรือ “ผู้หญิง ถือกล้อง” ช่างภาพนู้ดหญิงผู้สนใจในความเป็นมนุษย์ ตัดสินใจเดินทางไปเยือนหลายภูมิภาคของประเทศไทย เพื่อสำรวจอัตลักษณ์ ตัวตน ความรู้สึกนึกคิด วิถีชีวิต ความเชื่อ และความศรัทธา ของผู้คนในแต่ละภูมิภาค ที่ถูกบดบังอยู่ภายใต้มายาคติที่ว่านี้
ไม่ว่าจะเป็นผู้คนในภาคเหนือที่ถูกเหมารวมว่ามีอุปนิสัยเหนียมอาย ไม่กล้าแสดงออก ไร้ความทะเยอทะยาน หรือภาคอีสานที่ถูกมองอย่างหยามเหยียดว่ายากไร้ ด้อยพัฒนา และภาคใต้ที่ถูกตัดสินว่าเต็มไปด้วยความรุนแรง และท้ายที่สุด ภาคกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ที่ยกตัวเองให้เป็นศูนย์กลางความเจริญของประเทศ
ในการเดินทางไปเยือนภูมิภาคเหล่านี้ นอกจากจะเป็นการเรียนรู้ ทำความเข้าใจข้อเท็จจริงที่ถูกซ้อนเร้นอยู่ภายใต้มายาคติแห่งความเป็นไทยแล้ว โศภิรัตน์ยังใช้การถ่ายภาพนู๊ดที่เคยถูกมองว่าเป็นสิ่งไม่ดีไม่งาม ขัดต่อหลักความเป็นไทยแท้แต่โบราณ ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงชนชาติเราคุ้นเคยกับการเปลือยกายมาก่อนที่จะรับเอาค่านิยมและวัฒนธรรมจากตะวันตกมาด้วยซ้ำ เธอใช้ภาพนู๊ดเหล่านี้เป็นเสมือนหนึ่งเครื่องมือในการลบเลือนอคติ ปลดเปลื้องสัมภาระแห่งมายาคติที่กดทับบ่าของเธอและผู้คน และเปลือยเปล่าพันธนาการทางความคิด เพื่อ “สลายศูนย์” ของการรวมอำนาจ ที่เคยกีดขวางและทำลายความแตกต่างหลากหลาย เพื่อสร้างความเข้าใจแก่กันและกันของผู้คนในสังคมได้ในที่สุด ดังข้อความที่ปรากฏในงานของเธอว่า “when we are naked, we are the same” (เมื่อเราเปล่าเปลือย เรานั้นต่างเป็นเช่นเดียวกัน)
มายาคติอีกประการหนึ่งเมื่อพูดถึงภาพถ่ายนู๊ด ผู้คนก็จะคิดถึงภาพถ่ายอีโรติกวาบหวิวที่ใช้เป็นเครื่องมือกระตุ้นเร้าทางเพศ หรือภาพถ่ายในสื่อลามกอนาจาร มากกว่าจะเป็นงานศิลปะ ต่างกับงานศิลปะนู๊ดในแขนงอื่นอย่างงานจิตรกรรมหรือประติมากรรม แต่ในความเป็นจริง ผลงานเหล่านั้นก็ผ่านการพิสูจน์ตัวเองผ่านกาลเวลามาอย่างยาวนานกว่าที่จะได้รับการยอมรับว่าเป็นงานศิลปะ ดังนั้นในแง่หนึ่ง ผลงานศิลปะภาพนู๊ดก็เป็นเสมือนเครื่องมือในการสลายอคติของผู้คนที่มีต่อร่างกายเปลือยเปล่าของตัวเอง หรือแม้แต่ค่านิยมอันคับแคบล้าหลังของสังคม

ดังเช่นผลงานของจิตรกรชาวฝรั่งเศสแห่งยุคโมเดิร์น เอดูอาร์ มาเนต์ (Édouard Manet) อย่าง Le déjeuner sur l’herbe(1862-1863) หรือ The Luncheon on the Grass (มื้อกลางวันบนสนามหญ้า) ที่ถือได้ว่าเป็นภาพวาดที่อื้อฉาวที่สุดภาพหนึ่งที่วงการศิลปะในยุคนั้นเคยพานพบมา
ภาพวาดที่แสดงการปิกนิกอันแปลกประหลาดที่มีชายชนชั้นกลางแต่งตัวเต็มยศใส่เสื้อนอกผูกไท นั่งเอกขเนกอยู่กับหญิงสาวร่างเปลือยเปล่าบนพื้นหญ้าในสวนสาธารณะ ไกลออกไปเป็นหญิงสาวกำลังซักชุดชั้นในอยู่ในทะเลสาบ เป็นภาพที่สร้างความตื่นตระหนกต่อสาธารณชนในยุคนั้นเป็นอย่างมาก ด้วยการจับผู้หญิงเปลือยเปล่าท่าทีเย้ายวนกามารมณ์ ให้มานั่งอยู่กับชายหนุ่มที่ใส่เสื้อผ้าเต็มยศที่มีท่าทีและอากัปกิริยาปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ซึ่งดูเป็นการเปรียบเทียบความแตกต่างและขัดแย้งอย่างสุดขั้ว พิลึกพิลั่นอย่างที่ไม่เคยมีใครในยุคนั้นกล้าทำมาก่อน สิ่งที่ทำให้ผู้ชมอึดอัดอีกประการก็คือ สายตาของหญิงสาวในภาพที่จับจ้องมายังผู้ชมโดยไม่ยี่หระต่อร่างกายอันเปล่าเปลือยไร้อาภรณ์ของตัวเองแม้แต่น้อย

เมื่อภาพนี้ถูกแสดงในนิทรรศการ สิ่งที่ได้รับคือเสียงหัวเราะเย้ยหยันและการวิพากษ์วิจารณ์อย่างสาดเสียเทเสีย ที่เป็นอย่างนั้นไม่ใช่เพราะมันเป็นภาพเปลือย เพราะก่อนหน้านั้นก็มีการวาดภาพเปลือยมาแล้วมากมาย หากแต่ภาพเปลือยเหล่านั้นก็เป็นภาพของเทพีเทพธิดาในนิยายปรัมปราหรือนางในตำนานเทพปกรณัม แต่ภาพของมาเนต์กลับเป็นภาพเปลือยของคนธรรมดาทั่วไป ซึ่งเป็นสิ่งที่คนในยุคนั้นรับไม่ได้
หนำซ้ำ หญิงสาวในภาพ ก็ไม่ใช่เป็นแค่คนธรรมดาทั่วไปเท่านั้น หากแต่เป็นโสเภณีที่ชาวปารีสต่างก็รู้กันดีว่าทำมาหากินอยู่ในสวนสาธารณะ บัวส์ เดอ บูโลญจ์น (Bois de Boulogne) อันเป็นฉากหลังที่เห็นอยู่ในภาพ ซึ่งถือเป็นการตบหน้าชาวปารีสฉาดใหญ่ เพราะถึงจะเป็นเรื่องที่คนทั่วไปรู้ๆ กัน แต่ก็เป็นเรื่องต้องห้ามที่ไม่มีใครกล้าเอามาพูดในที่สาธารณะแบบนี้มาก่อน ยิ่งเอามาวาดเป็นภาพแสดงในนิทรรศการในหอศิลป์ใจกลางปารีสแบบนี้ยิ่งแล้วใหญ่ ด้วยเหตุนี้มันจึงถูกชาวปารีสรุมโห่ฮาป่าและหัวเราะเย้ยหยันอย่างรุนแรง ทั้งที่ความจริงแล้วคนดูเหล่านั้นกำลังหัวเราะเย้ยหยันตัวเองมากกว่า
ถึงแม้จะไม่เป็นที่ยอมรับเป็นอย่างมากในยุคสมัยนั้น แต่การดึงเอาศิลปะที่เคยเป็นของสูงจนต้องปีนกระไดดูให้ลดตัวลงมาบอกเล่าเรื่องราวธรรมดาสามัญของคนทั่วไป หนำซ้ำยังเป็นภาพเปลือยของ คนชายขอบที่สังคมไม่ยอมรับภาพนี้ มีส่วนช่วยในการทำลายอคติของผู้คน ล้มล้างค่านิยมและความเชื่อเก่าๆ ในสังคมเกี่ยวกับศิลปะ และเป็นต้นธารที่นำไปสู่การถือกำเนิดของศิลปะอิมเพรสชันนิสม์ (Impressionism) และโมเดิร์นอาร์ต หรือศิลปะสมัยใหม่ และกลายเป็นแรงบันดาลใจชั้นดีให้กับเหล่าศิลปินหัวก้าวหน้าในยุคนั้น รวมถึงพลิกค่านิยมทางสังคมและวัฒนธรรมในยุคต่อมา และส่งผลต่อเนื่องมาจวบจนถึงปัจจุบัน


ในพรมแดนของภาพถ่ายศิลปินภาพถ่ายหญิงชาวอเมริกันในยุคทศวรรษที่ 1950 - 60 อย่าง ไดแอน อาร์บัส (Diane Arbus) ผู้หยิบเอาเรื่องราวของกลุ่มคนที่คนส่วนใหญ่เมินหน้าหนี และจงใจหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึง มาถ่ายทอดให้ผู้ชมได้จับจ้องอย่างเข้มข้นผ่านภาพถ่ายของเธอ
หรือศิลปินภาพถ่ายหญิงชาวอเมริกัน แนน โกลดิน (Nan Goldin) ผู้บุกเบิกการถ่ายภาพผู้คนที่ใช้ชีวิตในแบบที่ผู้เปี่ยมศีลธรรมในสังคมมองว่าไม่ถูกต้องเหมาะสมดีงาม และถ่ายทอดภาพกิจกรรมส่วนตัวอันธรรมดาสามัญ (ไม่เว้นแม้แต่กิจกรรมทางเพศ) ของคนเหล่านี้ออกมาอย่างจะแจ้งแนบเนื้อ เพื่อแสดงให้เห็นว่าโดยเนื้อแท้แล้วผู้คนเหล่านี้ก็เป็นมนุษย์เช่นเดียวกันกับเรา

หรือภาพถ่ายชาวอเมริกัน โรเบิร์ต แมพเพิลธอร์ป (Robert Mapplethorpe) ผู้ปฏิวัติขนบของวงการภาพถ่ายนู๊ด ที่มักจะเป็นการนำเสนอความงามเย้ายวนของร่างกายเปล่าเปลือยของสตรี ด้วยการนำเสนอความงามของร่างกายเปล่าเปลือยของบุรุษ โดยมักจะขับเน้นไปที่การนำเสนอภาพอวัยวะซ่อนเร้นของเพศชายอย่าง องคชาต ที่เคยเป็นสิ่งต้องห้าม ออกมาได้อย่างเปิดเผยจะแจ้ง แต่ในขณะเดียวกันก็ดูงดงามราวกับเป็นงานประติมากรรมชิ้นหนึ่ง
คุณสมบัติแห่งการทำลายอคติของผู้คน ล้มล้างค่านิยม แหกขนบความเชื่อเก่าๆ ในสังคมเกี่ยวกับศิลปะภาพถ่าย และตีแผ่เนื้อแท้แห่งความเป็นมนุษย์อย่างจะแจ้ง ตรงไปตรงมาด้วยภาพถ่ายเปลือยของศิลปินภาพถ่ายระดับตำนานเหล่านี้ ปรากฏอย่างเด่นชัดในผลงานภาพถ่ายของ โศภิรัตน์ ม่วงคำ ไม่เพียงเท่านั้น ผลงานในนิทรรศการครั้งนี้ของเธอยังย้อนกลับไปสะท้อนแนวคิดทางสังคมที่ปรากฏในผลงานชิ้นเอกในประวัติศาสตร์ศิลปะในอดีตออกมาได้อย่างแนบเนียน ยกตัวอย่างเช่น ผลงานภาพถ่าย Déjeuner sur l’herbe ของเธอ ที่จำลองตัวละครในภาพวาด Le déjeuner sur l’herbe(1862-1863) หรือ The Luncheon on the Grass ของ เอดูอาร์ มาเนต์ ไม่เพียงแค่ท่วงท่าของนางแบบ แสงเงา หรือบรรยากาศในภาพเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงจิตวิญญาณและความเป็นตัวตนแห่งความเป็นคนชายขอบของตัวละครในภาพวาดด้วย เนื่องเพราะนางแบบในภาพถ่ายนี้เองก็มีอาชีพเป็น Sex worker ที่สังคมกระแสหลักในเมืองกรุงฯ ผู้เปี่ยมศีลธรรมอันดี(แต่ดัดจริตตอแหล) ไม่เคยยอมรับให้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม และมองอย่างหยามเหยียด รังเกียจเดียจฉันท์ เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว การที่ศิลปินอย่างโศภิรัตน์จัดแสดงภาพถ่ายของเธอผู้นี้อย่างโดดเด่นในพื้นที่ของหอศิลป์กระแสหลักใจกลางกรุงเทพฯ ก็ไม่ต่างอะไรกับการกอบกู้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และมอบคืนคุณค่าในตัวตนให้กับเธอนั่นเอง
ไม่เพียงแค่ใช้กระบวนการทำงานภาพถ่ายหลากหลายเทคนิคและรูปแบบเท่านั้น ในนิทรรศการครั้งนี้โศภิรัตน์ยังใช้กลวิธีของงานศิลปะจัดวาง ในการนำเสนอแก่นความคิดของเธอให้คมชัดยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งพื้นที่แสดงงานตามภูมิภาคของไทยด้วยการใช้เส้นสมมติของแผนที่ประเทศไทย หรือการจัดแสดงผลงานภาพถ่ายในวัตถุสำเร็จรูปอย่างกรงนกภาคใต้ เพื่อสื่อถึงการถูกกักขังสิ้นไร้อิสรภาพของบุคคลผู้ถูกรัฐอุ้มซ้อมทรมานในสามจังหวัดชายแดนใต้ หรือการแขวนจัดแสดงผลงานให้ดูราวกับลอยอยู่กลางอากาศก็ไม่ปาน
นอกจากการสื่อสารความคิดผ่านผลงานภาพถ่ายนู๊ดแล้ว ภายในนิทรรศการยังมีพื้นที่ที่สร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมด้วยพื้นที่ที่มีชื่อว่า “Chamber of Secrets” หรือ “ห้องต้องประสงค์” ที่ทำหน้าที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ผู้คนได้เข้าไปผ่อนคลาย พักสมอง สงบอารมณ์ความคิดจากเนื้อหาและภาพลักษณ์ของงานที่ค่อนข้างหนักหน่วง หรือแม้แต่จะเข้าไปพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกัน หรือได้อ่าน(หรือชม)หนังสือรวมภาพถ่ายของศิลปินหรือหนังสือที่เธอสะสมไว้อ่านและค้นคว้าข้อมูลในการทำงาน ยิ่งไปกว่านั้น ห้องนี้ยังเป็นพื้นที่ให้ผู้ชมได้เปิดเผยความเป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริงด้วยการเปลื้องเปลือยเสื้อผ้าถ่ายภาพนู๊ด ไม่ว่าจะถ่ายตัวเอง (บนกระจกเงาที่มีงานที่เป็นเหมือน easter egg ซ่อนอยู่) หรือเชื้อเชิญศิลปินให้มาถ่ายภาพนู๊ดให้เป็นการส่วนตัว โดยสามารถติดต่อทางเจ้าหน้าที่ของแกลเลอรีหรือศิลปินได้โดยตรงอีกด้วย

ดังนั้นในความคิดของเรา ผลงานในนิทรรศการครั้งนี้ของโศภิรัตน์ จึงไม่ได้เป็นแค่นิทรรศการภาพถ่ายนู๊ดแต่เพียงเท่านั้น หากแต่เป็นนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยที่ใช้ภาพถ่ายนู๊ดเป็นสื่อในการแสดงออกทางความคิดและทัศนคติของเธอมากกว่า
โดย โศภิรัตน์ ม่วงคำ และภัณฑารักษ์ ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
จัดแสดงที่ 333Gallery / warehouse30
ตั้งแต่วันที่ 8 - 30 มิถุนายน 2024 เวลา 18.00 - 21.00 วันอังคาร - อาทิตย์ (หยุดทำการวันจันทร์)
เข้าชมฟรี (เฉพาะผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไป หรือมีผู้ปกครองแนะนำ)
ลงทะเบียนเข้าชมงานล่วงหน้าได้ที่ https://forms.gle/erYTU1ERDRF2ZFFd6
Decentralized Thainess (สลายศูนย์) การสลายมายาคติแห่งความเป็นไทย(ที่แท้)ผ่านภาพถ่ายนู๊ด
/
ในอดีตที่ผ่านมา ในแวดวงศิลปะ(กระแสหลัก)ในบ้านเรา มักมีคํากล่าวว่า ศิลปะไม่ควรข้องแวะกับ การเมือง หากแต่ควรเป็นเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึก ความงาม สุนทรียะ และจิตวิญญาณภายในอัน ลึกซึ้งมากกว่า แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าจะในยุคสมัยไหน ศิลปะไม่เคยแยกขาดออกจาก การเมืองได้เลย ไม่ว่าจะในยุคโบราณ ที่ศิลปะถูกใช้เป็นเครื่องมือรับใช้ชนชั้นสูงและผู้มีอํานาจ หรือใน ยุคสมัยใหม่ที่ศิลปะถูกใช้เป็นเครื่องมือแสดงออกถึงอุดมการณ์ทางสังคมการเมือง หันมามองในบ้าน เราเอง ก็มีศิลปินไทยหลายคนก็ทํางานศิลปะทางการเมืองอย่างต่อเนื่องยาวนาน ในการสะท้อนและ บันทึกประวัติศาสตร์การเมืองไทยได้อย่างเข้มข้น จริงจัง
/
เหตุการณ์นี้เป็นอุทาหรณ์ให้เรารู้ว่า การก๊อปปี้ก็ไม่ได้เลวร้ายเสมอไป เพราะอย่างน้อยที่สุด ก็ทําให้ เราได้รู้ว่าผลงานต้นฉบับของจริงในช่วงเวลาที่เสร็จสมบูรณ์นั้นมีความดีงามขนาดไหน ไม่ต่างอะไรกับศิลปินร่วมสมัยสัญชาติไทยอย่าง วิชิต นงนวล ที่หลงใหลศรัทธาในผลงานของศิลปิน ระดับปรมาจารย์ในยุคสมัยใหม่ของไทยอย่าง จ่าง แซ่ตั้ง ตั้งแต่ครั้งยังเยาว์ ในวัยของนักเรียน นักศึกษา เรื่อยมาจนเติบโตเป็นศิลปินอาชีพ ความหลงใหลศรัทธาที่ว่าก็ยังไม่จางหาย หากแต่เพิ่มพูน ขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดก็สุกงอมออกดอกผลเป็นผลงานศิลปะในนิทรรศการ The Grandmaster : After Tang Chang ที่เป็นเสมือนหนึ่งการสร้างบทสนทนากับศิลปินระดับปรมาจารย์ผู้นี้
/
“ยูบาซาโตะ เดินผ่านตามแนวต้นสนขึ้นไปบนภูเขาศักดิ์สิทธิ์ เพื่อไปก่อสร้างสถูปดิน และมักจะโดน ทีมงานช่างบ่นทุกวันเกี่ยวกับการก่อสร้าง ที่มีเวลาอยู่อย่างจํากัด เขาเพียงได้แต่ตอบไปว่า .. บุญกุศล นําพาและเวลามีเท่านี้ ขอให้ทําสิ่งดีๆ ให้เต็มที่ ต่อสถานที่บนภูเขานี้เถอะ อย่าบ่นไปเลย เราอาจจะ พบกันแค่ประเดี๋ยวเดียว แต่สิ่งเหล่านี้จะอยู่ต่อไปอีกหลายร้อยปี ... ทีมงานทุกคนเพียงส่งรอยยิ้มที่ เหนื่อยล้ากลับมา ก็เพราะต้องทนร้อนทนแดด และเปียกฝนสลับกันไป จากสภาวะโลกเดือด ที่ทุกคน ต่างพูดถึง แต่ก็จะมาจากใคร ก็จากเราเองกันทั้งนั้น ... แม้จะมาทํางานบนภูเขาก็จริง แต่เขาก็ยังคง คิดถึงเหตุการณ์ภัยน้ําท่วมดินโคลนถล่มที่ผ่านมา อีกทั้งความเสียหายต่อข้าวของที่ต้องย้ายออกจาก บ้านเช่าและค่าใช้จ่ายหลังน้ําท่วมที่ค่อนข้างเยอะพอควร และยิ่งในสภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจแบบนี้...
/
หากเราเปรียบสงคราม และอาชญากรรมที่กระทำต่อมนุษย์ อย่างการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การสังหารหมู่ และการล่าอาณานิคม เป็นเหมือนการสร้างบาดแผลและความแตกร้าวต่อมวลมนุษยชาติ ศิลปะก็เป็นหนทางหนึ่งในการเยียวยาซ่อมแซมบาดแผลและความแตกร้าวเหล่านั้น แต่การเยียวยาซ่อมแซมก็ไม่จำเป็นต้องลบเลือนบาดแผลและความแตกร้าวให้สูญหายไปเหมือนไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น หากแต่การเหลือร่องรอยแผลเป็นและรอยแตกร้าวที่ถูกประสาน ก็เป็นเสมือนเครื่องรำลึกย้ำเตือนว่า สิ่งเหล่านี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว และไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้นอีกซ้ำเป็นครั้งที่สอง เช่นเดียวกับสิ่งที่ปรากฏในนิทรรศการ “Urgency of Existence” นิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งแรกในเอเชียของ คาแดร์ อัทเทีย (Kader Attia) ศิลปินชาวฝรั่งเศส - แอลจีเรีย ผู้มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ เขาเป็นหัวหอกในการทำงานศิลปะผ่านสื่ออันแตกต่างหลากหลาย ที่นำเสนอแนวคิดหลังอาณานิคม และการปลดแอกอาณานิคม จากมุมมองของตัวเขาเอง ที่มีประสบการณ์ทางตรงและทางอ้อมของผู้ที่เคยถูกกดขี่และถูกกระทำจากลัทธิล่าอาณานิคมในศตวรรษที่ผ่านมา
/
ในช่วงปลายปี 2024 นี้ มีข่าวดีสำหรับแฟนๆ ศิลปะชาวไทย ที่จะได้มีโอกาสชมผลงานศิลปะร่วมสมัยของเหล่าบรรดาศิลปินทั้งในประเทศและระดับสากล ยกขบวนมาจัดแสดงผลงานกันในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 แล้ว โดยในเทศกาลศิลปะครั้งนี้นำเสนอผลงานศิลปะจาก 76 ศิลปิน 39 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ภายใต้ธีมหลัก “รักษา กายา (Nurture Gaia)” ที่ได้แรงบันดาลใจจากเทพี ไกอา (Gaia) ในตำนานเทพปรณัมกรีก หรือพระแม่ธรณีผู้ให้กำเนิดและหล่อเลี้ยงสรรพชีวิต เพื่อแสดงถึงความสัมพันธ์อันสอดประสานกลมกลืนกันระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ
/
เมื่อพูดถึงชื่อ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล หรือ เจ้ย มิตรรักแฟนหนังหลายคนน่าจะรู้จักเขาในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยผู้เปี่ยมไปด้วยความเป็นศิลปะที่สุด ไม่เพียงแค่ในประเทศไทย แต่หมายรวมถึงในสากลโลก ยืนยันด้วยรางวัลสำคัญจากเทศกาลภาพยนตร์ระดับโลกหลายต่อหลายรางวัล ไม่ว่าจะเป็นรางวัลยอดเยี่ยมในการฉายสายรอง (Un Certain Regard) จากภาพยนตร์เรื่อง สุดเสน่หา (Blissfully Yours) (2002) และรางวัลขวัญใจคณะกรรมการ (Jury Prize) จากภาพยนตร์เรื่อง สัตว์ประหลาด! (Tropical Malady) (2004) จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ในปี 2002 และ 2004, หรือภาพยนตร์เรื่อง แสงศตวรรษ (Syndromes and a Century) (2006) ของเขาก็ได้รับเลือกให้เข้าชิงรางวัลสิงโตทองคำในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิส ในปี 2006 และคว้ารางวัลกรังปรีซ์จากเทศกาลภาพยนตร์ Deauville Asian Film Festival ในปี 2007, และภาพยนตร์เรื่อง รักที่ขอนแก่น (Cemetery of Splendor) (2015) ของเขาก็คว้ารางวัลยอดเยี่ยมจากเวที Asia Pacific Screen Awards ในปี 2015, ที่สำคัญที่สุด อภิชาติพงศ์ยังเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้รับรางวัล ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมปาล์มทองคำ (Palm d’or) จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ครั้งที่ 63 ในปี 2010 จากภาพยนตร์เรื่อง ลุงบุญมีระลึกชาติ (Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives) (2010), และล่าสุด ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องล่าสุดของเขาอย่าง Memoria (2021) ยังคว้ารางวัล Jury Prize ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ครั้งที่ 74 ในปี 2021 มาครองได้อีกครั้ง อีกทั้งยังได้รับเสียงวิจารณ์เชิงบวกอย่างท่วมท้นจากสื่อมวลชนนานาชาติ
We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )