LOOKING ON EVERYTHING ?
EXPLORE ON EVERYTHING

ในวันที่คนไม่สามารถเดินเข้าหาศิลปะได้ในเวลานี้ ศิลปินควรทำอย่างไร?
หากเป็นช่วงเวลาปกติ ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อาจารย์ สมบูรณ์ หอมเทียนทอง จะจัดแสดงนิทรรศการชุด “Die Schöne Heimat” (ดี-เชินเน-ไฮมัท) ซึ่งเปิดให้ชมทาง JWD Art Space (ซอยจุฬาลงกรณ์ 16) ไปจนถึงราวกลางเดือนมิถุนายน

สำหรับตัวนิทรรศการนี้ถือเป็นนิทรรศการใหญ่ที่อาจารย์ สมบูรณ์ หอมเทียนทอง ใช้เวลาเตรียมตัวนานกว่าแปดเดือน และเป็นการรวมผลงานศิลปะของศิลปินไทยที่ทำงานในวงการศิลปะในเยอรมันและหลายประเทศยุโรปมากว่าสามทศวรรษ และยังเคยเป็นหนึ่งในศิลปินไทยที่ได้รับเลือกให้ไปแสดงผลงานในงานแสดงผลงานศิลปะระดับโลกอย่าง เวนิส เบียนนาเล่ ในปี 2017 มาแล้ว การเปลี่ยนแปลงกระทันหันอันเนื่องมาจากวิกฤตการณ์ไวรัส “โควิด 19” นี้ไม่เพียงแต่เปลี่ยนวิถีชีวิตผู้คนในระดับที่กระทบกระเทือนความเป็นอยู่พื้นฐานเท่านั้น แต่ส่งผลกระทบถึงแวดวงศิลปะ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวนิทรรศการ “Die Schöne Heimat” ที่การแสดงผลงานจำเป็นต้องจัดแสดงแบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ https://www.jwd-artspace.com/exhibitions/die-schone-heimat/ (หรือการเข้าชมผลงานจริงจำเป็นต้องติดต่อกับแกลเลอรีโดยตรง เพื่อทำการนัดหมายรายกลุ่ม) จนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่ความปกติอีกครั้ง
แต่กล่าวสำหรับตัวศิลปิน อย่างอาจารย์สมบูรณ์ หอมเทียนทอง เองกลับมองเรื่องนี้ด้วยความเข้าอกเข้าใจในสถานการณ์และพยายามเรียนรู้สิ่งต่างๆ จากวิกฤต อาจารย์ย้ำกับ EVERYTHING ผ่านการสัมภาษณ์ทางไกลกรุงเทพฯ – เชียงคาน จังหวัดเลย ว่าเมื่อศิลปะไม่สามารถเข้าหาผู้คนได้ ศิลปินเองต้องทำงานให้หนักมากขึ้น และเมื่อผู้คนอยู่ในภาวะยากลำบาก ศิลปะควรมีหน้าที่บทบาทอย่างไร
อ่านทั้งหมดได้ใน INTERVIEW ชิ้นนี้

ช่วยเล่าถึงการเตรียมตัวของนิทรรศการ Die Schöne Heimat’ ให้ฟังสักเล็กน้อย
เราพูดคุยกันตั้งแต่แปดเดือนที่แล้วครับ ที่ได้มีการพูดคุย วางแผนกันนาน เพราะว่าแกลเลอรีนี้เป็นแกลเลอรีที่เพิ่งจะเปิดไม่นานครับ แล้วเขาก็เชิญเราไป เราไปดูสเปคห้องแล้วเราชอบมาก คือชอบความใหญ่ ด้วยพื้นที่ประมาณห้าร้อยตารางเมตรเนี่ย ความใหญ่ของแกลเลอรีแบบนี้ในกรุงเทพฯ แทบจะไม่มีเลย แต่ต้องบอกก่อนว่าการที่จะทำงานร่วมกับใคร มันไม่ใช่แค่เรื่องสถานที่อย่างเดียว เราเลือกคนทำงานที่มีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าแกลเลอรีเขาจะออกมาในลักษณะแนวใด ลักษณะแบบใด ด้วย โดยส่วนตัวผมจะเข้มงวดกับการที่จะแสดงงานกับที่ไหนสักแห่ง ไม่ใช่ที่ไหนก็ได้ ผมก็คุยกับผู้อำนวยการฝ่ายนิทรรศการของที่นี่ แล้วก็เห็นตรงกัน เลยจัดเป็นนิทรรศการนี้ขึ้นมา


คอนเซ็ปต์ของนิทรรศการครั้งนี้คืออะไร “Die Schöne Heimat’ เป็นภาษาเยอรมันที่แปลว่าบ้านที่งดงาม นั้นใช่ความหมายที่ถูกต้องหรือเปล่า
“Die Schöne Heimat’ (ดีเชินเน ไฮมัท) ไม่ได้แปลง่ายๆ ว่า “The Beautiful Home” อย่างในภาษาอังกฤษหรอกนะครับ “Heimat’ ของภาษาเยอรมันเนี่ย มันแปลว่าบ้านเกิด ดังนั้น “Die Schöne Heimat’ จึงแปลว่า “บ้านเกิดที่งดงาม” ซึ่งน่าจะเป็นการแปลที่ลงตัวมากกว่า ส่วนคอนเซ็ปต์ของผมมันน่าจะหมายถึงช่วงเวลาของการสร้างงานของผมนะครับ เพราะว่าตัวผมเกิดที่นี่จนอายุ 24 ก็เดินทางไปเยอรมัน แล้วก็อยู่ที่นั่นอีก 24 ปี กว่าที่ผมจะตัดสินใจกลับมาอยู่ที่ประเทศไทยอีกครั้งหนึ่งเมื่ออายุประมาณ 48 ปี ผมคิดว่าระยะเวลา 24 ปีเป็นช่วงที่นานพอที่เราจะเติบโต มันน่าจะพอแล้ว “Die Schöne Heimat’ มันไม่จำเป็นต้องหมายถึงสถานที่ไหนสักแห่งหนึ่งก็ได้นะ แต่มันเป็นเรื่องราว ความทรงจำของมนุษย์คนหนึ่ง กับเวลาทั้งหมดที่เขาทุ่มเทไปให้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แล้วสิ่งนั้นน่ะสำหรับตัวเขาเองมันอาจจะเป็นความทรงจำที่งดงาม หรือเป็นความทรงจำที่เจ็บปวด หรือด้านใดด้านหนึ่งก็ได้ หรืออาจจะมีความหมายอะไรกับเขาก็ได้ นิทรรศการนี้มันมีความหมายสำหรับผมอย่างนี้ แต่สำหรับคนอื่นที่มาดูเขาจำเป็นต้องหาความหมายกับผลงานด้วยตัวเอง
นิทรรศการครั้งนี้มีงานที่ทำในเยอรมันอย่างเดียวหรือในไทยด้วย
มีทั้งงานเก่าและงานใหม่ มีทั้งที่ทำไว้ตั้งแต่ที่นั่นและตอนที่ผมกลับอยู่ที่เชียงคาน

เวลาคุณไปนั่งกินก๋วยเตี๋ยวอยู่ริมทาง โต๊ะก๋วยเตี๋ยว เก้าอี้ ที่คุณนั่งกินก๋วยเตี๋ยว หรือองค์ประกอบที่รวมกันเป็นร้านก๋วยเตี๋ยวเนี่ย บริบทเหล่านี้เป็น Installation อยู่แล้ว คุณลองเดินเข้าไปในตลาดสดสิ พวกนี้เป็น Installation ที่มันเป็นโดยธรรมชาติของมันอยู่แล้ว

สภาพแวดล้อมในการสร้างงานมันย่อมแตกต่างกันอยู่แล้ว แต่สำหรับอาจารย์มันมีความหมายอะไรเพิ่มเติมอีกไหม
คำถามนี้น่าสนใจนะ แต่ผมคิดว่าสถานที่ไม่ค่อยมีผลกับตัวผมในฐานะคนคิดงานเท่าไหร่ สถานที่เป็นแค่การเปลี่ยนที่อยู่อาศัย แต่กระบวนการความคิดเนี่ยแหละที่เปลี่ยน เหมือนกับว่าตอนที่คุณเขียนคำว่าเบอร์หนึ่ง มันก็จะมีหมายเลขสอง หมายเลขสามต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งอันนี้มันเป็นโจทย์ที่มันต่อเนื่องจากตอนที่เราอยู่ต่างประเทศ เพียงแต่ว่ามันอาจจะมีความแตกต่างอยู่อันหนึ่งก็คือวิธีการหรือว่าการใช้ชีวิต การอำนวยความสะดวก บางสิ่งบางอย่าง มันไม่เหมือนกัน มันเอื้อให้มีความเป็นไปได้ในการทำงานแบบต่างๆ ที่ต่างกันนิดหน่อย อันนี้อาจเป็นเงื่อนไขด้านสถานที่ก็ได้


แสดงว่าอาจจะมีผลในแง่กายภาพเฉยๆ แต่ข้างในตัวเรา ตัวตนการทำงานของเราก็ยังเป็นเหมือนเดิมอยู่ อย่างนั้นหรือเปล่า
แสดงว่าอาจจะมีผลในแง่กายภาพเฉยๆ แต่ข้างในตัวเรา ตัวตนการทำงานของเราก็ยังเป็นเหมือนเดิมอยู่ อย่างนั้นหรือเปล่า ตัวตนการทำงานเป็นเหมือนเดิมเพราะว่ามันเป็นคอนเซ็ปต์ที่เริ่มมาแต่แรกอยู่แล้ว ไม่มีการเปลี่ยนหรอก จะอยู่ต่างแดนหรือที่ไหน รูปแบบความคิดเรา มันก็ถูกออกแบบมาแบบนี้ มันจะเดินไปตามเส้นทางของมัน

เห็นว่านิทรรศการนี้นำเสนอศิลปะด้วยวัสดุและวิธีการที่หลากหลายพอสมควร มีทั้ง installation มีทั้งภาพพิมพ์ ภาพวาด อาจารย์กำหนดแนวทางของแต่ละแพลตฟอร์มหรือแต่ละมีเดียไว้อย่างไรบ้าง
อ้อ จริงๆ ตอนที่ผมอยู่ประเทศเยอรมันเนี่ย ผมไปเรียนในมหาวิทยาลัย ผมเรียนแผนกปั้น จริงๆ แล้วเป็นประติมากร แต่ก่อนหน้านั้นเราก็มีความสามารถในการวาดเส้นอยู่แล้วนะ แล้วสำหรับงานจิตรกรรมหรืออย่างอื่นก็ได้เพิ่มพูนขึ้นมาภายหลัง ผมเรียนจบประติมากรรมมันใช้เวลาหกปี แล้วงานที่ทำก็มีไม่กี่ชิ้นหรอก แต่ส่วนใหญ่เป็นงานที่ชิ้นขนาดใหญ่ทั้งนั้นเลย บางทีมันยาวยี่สิบเมตรก็มี ยาวหกถึงเจ็ดเมตรก็มี พอเราออกมาจากมหาวิทยาลัยศิลปะปุ๊บ เราไม่มีสถานที่ทำงาน ไม่มีสถานที่ทำงานแต่ยังดันทุรังทำประติมากรรมต่อไป มันก็จะทำไม่ได้สิ ทำออกมาแล้วมันจะขนยังไง มันก็ต้องมีการออกแบบวางแผนว่าเมื่ออีกมีเดียหนึ่งยังไม่สะดวกก็ใช้มีเดียอื่นมาทำดีกว่า เช่น งานวาดเส้น เพื่อไปต่อยอดกระบวนการความคิดไม่ให้มันหยุด แล้วจริงๆ แล้วมันก็ได้ผล ส่วนที่บอกว่าเป็นงาน Installation หรือศิลปะจัดวางเนี่ย ผมว่ามันเป็นคำที่ใหญ่โตเกินไป
ใหญ่โตยังไง อาจารย์ช่วยอธิบายเพิ่มเติมหน่อย
คุณเข้าใจไหมคำว่า Installation เนี่ย จริงๆ คำนี้มันเป็นคำที่คนไทยคิดว่าเป็นคำที่มีความสำคัญมากมาย จริงๆ แล้วมันสุดจะธรรมดาเลย เพราะอะไรๆ มันก็ถูกจัดวางของมันเองอยู่แล้ว เวลาคุณไปนั่งกินก๋วยเตี๋ยวอยู่ริมทาง โต๊ะก๋วยเตี๋ยว เก้าอี้ ที่คุณนั่งกินก๋วยเตี๋ยว หรือองค์ประกอบที่รวมกันเป็นร้านก๋วยเตี๋ยวเนี่ย บริบทเหล่านี้เป็น Installation อยู่แล้ว คุณลองเดินเข้าไปในตลาดสดสิ พวกนี้เป็น Installation ที่มันเป็นโดยธรรมชาติของมันอยู่แล้ว มันเป็นคำที่ไม่ได้มีอะไรพิสดารเลย มันเป็นการจัดการสิ่งที่เราจะทำ ให้เรื่องราวที่จะทำมันออกมาชัดเจนแค่นั้น


แล้วงาน Installation ในแง่ศิลปะมันจำเป็นต้องมีอะไรเพิ่มนอกจากการที่มันไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการจัดวางอยู่แล้วอีกบ้างไหม
ที่มันต้องมีคือมันควรมีบทสนทนาหรือ “Conversation” อะไรสักอย่างกับผู้ชม เวลาเขาเข้ามาในห้องนิทรรศการดูงานเราแล้วเขาต้องเกิดอะไรสักอย่างในหัว อะไรก็ได้ และสิ่งที่เราจะเพิ่มเติมให้เขาได้คือความคิดใหม่ๆ ที่เขาอาจจะไม่เคยมองมันมาก่อน อันนี้ผมคิดว่าเป็นหน้าที่ของผมที่จะมอบให้คนทุกคนที่เข้ามาดูนิทรรศการของเรา แต่ถ้าคนเข้ามาดูแล้วไม่รู้เรื่องเนี่ย ผมต้องยอมรับอีกอย่างหนึ่งว่าผมช่วยอะไรพวกเขาไม่ได้เลย ถ้าให้บอกชัดๆ อยากจะพูดว่างานของผมมันออกมาทางแนว “Metaphysics” หรืออภิปรัชญา มันเป็นปรัชญาบทหนึ่งของทางยุโรปนะ หมายความว่าทุกสรรพสิ่งมีตัวตน เพียงแต่ว่าเราจะเห็นเขาไหม
แม้กระทั่งสิ่งที่ไม่มีรูปแบบ
ใช่ แม้แต่สิ่งที่ไม่มีรูปแบบก็มีตัวตน ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะมองเห็นไหม
แล้ววิธีการในทางศิลปะที่ใช้ในการสัมผัสสิ่งที่ไม่มีรูปแบบเหล่านี้คือกระบวนการอะไร
กระบวนการด้านนามธรรม เพราะการไม่มีตัวตน ถ้าคุณเข้าใจและจับต้องมันได้ มันก็คือความมีตัวตนในอีกทางหนึ่ง ถ้าคุณสามารถมองเห็นสิ่งเหล่านั้นได้ เขาก็จะปรากฏให้เราเห็น แต่ถ้าสิ่งนี้ไม่ได้ถูกสร้างขึ้น หรือกระบวนการในใจคุณมันทำงานไม่ตรงกัน คุณก็อาจจะไม่เห็น

ยกตัวอย่างสักงานหนึ่ง เช่นงาน Installation ของอาจารย์ที่เอาเก้าอี้ทานก๋วยเตี๋ยวมาตั้งในตู้โชว์ แล้วกระบวนการที่งานนั้นสร้างบทสนทนากับผู้ชมควรเป็นอย่างไร
อันนี้แค่เป็นตัวอย่างนะครับ คุณสังเกตดูนะ และไม่ต้องคิดอะไรมากเลย สังเกตง่ายๆ หนึ่งคือที่นี้มันไม่ใช่ที่ที่ตั้งเก้าอี้อยู่แล้วล่ะ ในตู้นั้นน่ะ แต่ทำไมมันไปตั้งอยู่ในนั้น มันต้องมีเหตุผล ประการที่สอง คุณเห็นสีมันไหม สีเก้าอี้กับสีตู้เห็นความเป็นหนึ่งเดียวกันไหม แสดงว่าคนทำงานศิลปะเขาคิดเรื่องสีด้วย อธิบายเพิ่มอีกนิดหนึ่ง คุณเห็นรูปทรงมันไหม ระหว่างตัวตู้ เส้นสายองค์ประกอบของตู้กับตัวเก้าอี้ที่มันตั้ง มันไม่ได้เป็นแนวเรียบร้อย คุณเห็นขาเก้าอี้ เห็นการที่มันเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเป็นรูปทรงไหม ถ้าตั้งใจมองมันน่าจะดูสวยใช่ไหม แล้วมันก็ดูมีความสงบนิ่งอยู่ในที่ของมันด้วยใช่ไหม แต่ถ้าคุณดูมากยิ่งกว่านั้น แล้วคุณเข้าใจมัน คุณจะเห็นว่าตู้ใบนี้มีสมาธิมาก เห็นไหม นี่คือสิ่งที่ผมพยายามอธิบายว่าบทสนทนามันจะเป็นอะไรประมาณนี้ เป็นแค่ตัวอย่างเท่านั้น

ขออนุญาตถามถึงสถานการณ์ปัจจุบัน สำหรับนิทรรศการนี้ต้องปรับเปลี่ยนอย่างไรบ้างครับเมื่อเกิดสถานการณ์ไวรัสโควิด 19 แบบนี้
ผมคิดว่ามันเป็นปรากฏการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิตของมนุษย์ในยุคนี้ ผมยังหวังว่ามันอาจจะไม่ได้เลวร้ายลงไปกว่านี้ ความห่วงใย ความกังวลผมว่ามันไปไกลกว่านั้นมากเลย ผมคิดว่ามันจะปรับเปลี่ยนทุกสิ่งทุกอย่างที่เราเคยมี เคยเป็นมา แบบไม่เหลือเค้าเดิม คุณต้องพยายามตั้งสติเพื่อที่จะปรับตัวตามสถานการณ์ให้มันเดินหน้าต่อไปได้ การที่เราจะเจอปัญหาต่างๆ แต่คุณต้องหาทางจะทำยังไงที่จะไม่เปลี่ยนอุดมการณ์ เปลี่ยนจินตนาการ เปลี่ยนความเชื่อ เขากลายเป็นคนที่หวาดกลัวทุกอย่างในที่สุด คุณต้องหาวิธีต่อสู้จนกว่าวันหนึ่งทุกอย่างจะกลับมาเหมือนเดิม ผมว่านี่มันเป็นบทพิสูจน์ของมนุษย์ ผมเชื่อว่ามนุษย์เมื่ออยู่ในยามคับขันหรือยามยากลำบาก มนุษย์จะใช้สติปัญญาทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองดำรงอยู่


ในสถานการณ์แบบนี้ แน่นอนว่ามันกระทบกับวิถีชีวิตคนในระดับรุนแรง และเมื่อเราต้องเรียงลำดับความสำคัญของสิ่งต่าง ในชีวิต พูดตรงๆ ว่าศิลปะยังไม่ใช่สิ่งแรกที่คนนึกถึง
ใช่ๆ ไม่ใช่สิ่งแรกอยู่แล้ว ศิลปะเนี่ยเป็นส่วนที่นอกเหนือความจำเป็น เพราะฉะนั้นคนทำงานศิลปะเป็นคนกลุ่มแรกที่เจอผลกระทบเต็มๆ เลยเพราะว่าคนไม่ได้เสพมันทุกวันเหมือนกินอาหาร

แล้วศิลปะหรือศิลปินควรจะมีบทบาทหรือควรจะมีหน้าที่อย่างไรให้กับผู้คนได้บ้าง
คุณเดินเข้าไปในห้องนิทรรศการของผมแล้วใช่ไหม เห็นไหม ในสถานการณ์แย่ๆ ความรู้สึก อารมณ์ที่มันแย่ๆ เนี่ย เวลาคุณเดินเข้าไปในห้องที่แสดงสิ่งดีๆ คุณจะรู้สึกว่าจิตใจมันสบายขึ้น นี่คือหน้าที่ของศิลปะ มันจะช่วยผ่อนปรนความตึงเครียดของมนุษย์ได้ ผมว่าศิลปะในยามนี้ยิ่งมีความสำคัญมากเลย เพราะมันเป็นการที่สร้างกำลังใจให้คน ไม่ต้องพูดถึงงานศิลปะสมัยใหม่หรอก งานศิลปะแบบไหนก็ได้ หรือเวลาไปวัดแค่เข้าไปในโบสถ์ วิหารที่มีพระพุทธรูป มีประติมากรรมที่งดงาม เพียงแค่ได้นั่งสงบอยู่สักพักหนึ่ง ความงดงามของตัวพระพุทธรูปหรือสภาพแวดล้อมก็จะเสริมกำลังใจให้กับเราไม่ใช่น้อยแล้ว


ในยามวิกฤตแบบนี้ ตัวศิลปะเองก็มีคำตอบให้ผู้คน มีหน้าที่สำคัญกับผู้คนอยู่ใช่ไหม
มีแน่นอนครับ ศิลปะจะสร้างกำลังใจ ช่วยปลอบประโลม อย่างน้อยเราก็ลำบากเหมือนกัน (หัวเราะ) ศิลปินเองก็ไม่ได้แตกต่างเลย คุณคิดดูสิ ผมเนี่ยวางแผนมาตั้งแปดเดือน แล้วมาอีกสองวันก่อนเปิดงาน ก็ประกาศภาวะฉุกเฉิน (หัวเราะ) รู้ไหมว่างานเราทุ่มเทไปตั้งเท่าไหร่ แล้วผู้ร่วมงานแต่ละคนเขาก็ทุ่มเทกันไม่รู้ตั้งเท่าไหร่ แต่มันเป็นเหตุสุดวิสัยที่ทุกคนเข้าใจดี

มันก็คือบทเรียนบทใหม่สำหรับทุกคนใช่ไหม
ใช่ เราควรใช้เวลานี้กลับมาตรวจสอบตัวเราเองเพื่อให้เราคิดบวก เมื่อเหตุการณ์นี้ผ่านไปแล้ว เราจะรู้ว่าฉันได้ทำตัวดีแล้วที่ฉันคิดแบบนี้ ผมนี่เป็นกำลังใจให้กับทุกคนเลย
สำหรับผู้ที่อยากจะเข้าชมงานนิทรรศการครั้งนี้ของอาจารย์ แต่ออกไปข้างนอกไม่ได้ หรือควรออกให้น้อยที่สุดอย่างตอนนี้ หากเข้าไปชมในเว็บไซต์ก็ดี ตัวเฟซบุกเพจต่างๆ ก็ดี อาจารย์คิดว่าข้อความที่จะสื่อหรือการเข้าถึงตัวงาน มันเหมือนหรือแตกต่างมากน้อยแค่ไหนกับการที่ได้มาชมเอง
มันมีความแตกต่างอยู่แล้วเพราะว่าอยู่ในสถานที่จริงๆ กับอยู่ในสถานที่จำลองมันไม่เหมือนกันอยู่แล้วล่ะ อันนี้มันน่าจะหาอะไรทดแทนไม่ค่อยได้หรอก มันก็มีวิธีสำหรับคนอยากจะดู ตั้งใจจริงๆ เนี่ย สถานที่แสดงงานของผม ถ้าเผื่อมีการนัดหมายกับเขา เขาก็จะจำกัดคนเข้าดูให้ ส่วนทางออนไลน์ก็ทำเท่าที่ทำได้ จริงๆ แล้วทางฝ่ายออนไลน์เขาก็ทำได้ดีนะ เขาก็ยังคงความหมายของนิทรรศการอยู่อย่างที่ศิลปินต้องการ เขายังดำรงตามกระบวนการตามความคิดนี้อยู่ เพื่อให้ใกล้เคียงกับที่ศิลปินต้องการแสดงออก ผมว่าเขาก็ทำได้ดีเลยนะ เพียงแต่ว่าทางออนไลน์มันไม่สามารถเข้าไปสัมผัสกับของจริงได้ แต่อย่างนั้นมันก็ได้ประมาณหนึ่ง แต่ผมก็มีความสนใจมากเลย ตั้งใจที่จะไปงานนี้ด้วย ทีนี้พอเจอแบบนี้ก็เลย...เหมือนกับทุกคนยังรอคอยอยู่เนอะ รอคอยว่าสถานการณ์จะดีขึ้นเมื่อไหร่ เราจะได้ไปดูกันได้เนอะ คุณอย่าเพิ่งหมดหวังก็แล้วกัน (หัวเราะ)
Die Schöne Heimat นิทรรศการผลงานศิลปะของ อ.สมบูรณ์ หอมเทียนทอง ในวันที่คนไม่สามารถเดินเข้าหาศิลปะได้ในเวลานี้ ศิลปินควรทำอย่างไร?
/
เป็นอีกปีที่เราได้ไปเยือนจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย นอกจากจะได้เที่ยวชม Art scene สัมผัสวัฒนธรรมของเมืองแล้ว ที่นี่ยังเป็นสถานที่จัดแสดง Art Jakarta 2024 เทศกาลศิลปะร่วมสมัยที่มีบทบาทช่วยขับเคลื่อนวงการศิลปะร่วมสมัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้มีสีสันและเป็นที่จับตาของคนรักศิลปะทั่วโลกมาตั้งแต่ปี 2009 เทศกาลนี้มีอะไรน่าสนใจ แล้วทำไมถึงควรค่ากับการกลับไปซ้ำอีกในปีหน้า
/
ท่ามกลางไฟสงครามจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล - ปาเลสไตน์ ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตนับหมื่นคน รวมถึงผู้บาดเจ็บหลายหมื่นคน และผู้พลัดฐิ่นฐานบ้านเกิดนับแสนคน และสงครามยังคงมีทีท่าว่าจะไม่ยุติลงง่ายๆ ซึ่งความขัดแย้งที่ว่านี้ไม่เพียงเกิดจากสาเหตุทางเชื้อชาติและความแตกต่างทางศาสนาเท่านั้น หากแต่ยังเกิดจากการแทรกแซงของชาติมหาอำนาจจากโลกตะวันตกอีกด้วย
/
หลังจากคลายล็อคดาวน์ให้ผู้คนสามารถออกไปใช้ชีวิตได้มากขึ้นนิดหน่อย เราสามารถออกไปทานข้าว นั่งคาเฟ่ เดินห้างสรรพสินค้า หรือกระทั่งออกไปชื่นชมงานศิลปะ สิ่งเหล่านี้ที่เราต่างเคยทำมันในชีวิตประจำวันจนเป็นเรื่องปกติ กระทั่งเราได้รับรู้ว่าการขาดสิ่งเหล่านี้ไปเป็นระยะเวลานานในช่วงเวลาเช่นนี้ คงยิ่งทำให้ใครหลายๆ คนรู้สึกหดหู่หัวใจไม่มากก็น้อย เพราะการใช้ชีวิตทุกวันอยู่ให้ห้องสี่เหลี่ยม ขาดความหลากหลาย ขาดสีสัน ไร้ซึ่งการพบปะผู้คนมันช่างหมองหมน จึงขอพาทุกคนออกมาจากห้องสี่เหลี่ยมของตนไปรับชมศิลปะพร้อมกับเปิดรับความรู้สึกใหม่ภายในตัวเรากับการแสดงนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของ ก้าม ธรรมธัช สายทอง ที่มีชื่อว่า ROOM063
/
ในช่วงเดือนมกราคม และกุมภาพันธ์ ที่จะถึงนี้ นอกจากจะเป็นช่วงเวลาแห่งการเริ่มต้นใหม่ของปีที่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ รอบตัวเราอย่างมากมายแล้ว ผู้สนใจติดตามความเคลื่อนไหวของวงการศิลปะในเมืองไทย จะยังมีได้โอกาสชมผลงาน ของอาจารย์ อนันต์ ปาณินท์ ในนิทรรศการที่ชื่อว่า Rhythm of Heartbeat ซึ่งจะจัดที่ MOCA Bangkok ในระหว่างวันที่ 16 มกราคม ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2564
/
นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่ อ้าย เวยเวย (ai weiwei) ศิลปินชาวจีนและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองวัย 63 ผู้มีผลงานด้านศิลปะหลากหลายรูปแบบ และได้รับการยอมรับจากทั่วโลกในฐานะผู้วิพากษ์วิจารณ์สังคมและวัฒนธรรมจีน ได้เปิดนิทรรศการผลงานศิลปะของตัวเองที่ชื่อ "Year of the Rat" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในงาน Bangkok Art Biennale 2020 โดยนิทรรศการได้เปิดให้ชมแล้วที่ Tang Contemporary Art ชั้น 2 ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก ถนนสี่พระยา
/
“ในช่วงสถานการณ์แบบนี้ เราจะทำอะไรเพื่อช่วยส่วนรวมได้บ้าง” โบ - ณัฐชลัยย์ สุขะมงคล Copy Writer สาวที่ชอบวาดรูปเล่นเป็นงานอดิเรก นึกคิดขึ้นมาได้ในเย็นวันศุกร์วันหนึ่ง ระหว่างที่เธออยู่ในช่วงกักตัวอยู่บ้าน และออฟฟิศมีนโยบายให้พนักงาน Work from home
We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )