Experimental Typography Serial Killer ธีสิสจากการทดลองของเตย - พิมพ์ขวัญ ผลผลา | IAMEVERYTHING.CO

LOOKING ON EVERYTHING ?

EXPLORE ON EVERYTHING

Experimental Typography Serial Killer
ธีสิสจากการทดลองของเตย - พิมพ์ขวัญ ผลผลา

เป็นประจำทุกปีที่เดือนเมษายนไปจนถึงมิถุนายนจะเป็นช่วงเวลาที่เราจะได้เห็นงานธีสิสเจ๋งๆ ผ่านโชว์เคสของนักศึกษาจากหลากหลายสถาบัน ซึ่งหนึ่งในผลงานที่สะดุดตาที่สุดเราก็คือผลงานของ เตย - พิมพ์ขวัญ ผลผลา นักศึกษาสาขาออกแบบนิเทศศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่เธอหยิบยกเอาความสนใจในเรื่องการสืบสวนสอบสวนมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบตัวอักษรเชิงทดลองจนกลายเป็นตัวอักษรสิบรูปแบบที่มีเอกลักษณ์เฉพาะเป็นของตัวเอง ซึ่งกว่าจะมาเป็นผลงานธีสิสในครั้งนี้ได้ มีที่มาอย่างไรบ้าง เราก็ชวนเตยมานั่งพูดคุยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

พิมพ์ขวัญ ผลผลา

จุดเริ่มของงานธีสิสในครั้งนี้
ตอนที่ต้องเลือกหัวข้อทำงานธีสิสเราก็เริ่มต้นจากลองลิสต์ดูว่าตัวเองชอบอะไรบ้าง แล้วมาสังเกตได้อย่างหนึ่งว่าภาพยนตร์หรือซีรีย์ที่เราชอบดูมักจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวนหรือฆาตรกรรม หรือรายการในช่องยูทูปก็จะชอบดูเรื่องคดีและการสืบสวนของช่องหมอตังค์ แล้วก็ฟังพอดแคสต์ Untitled Case เราเลยคิดว่าถ้าได้ทำรีเสิร์ชเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ คงจะทำให้เราอยู่กับงานธีสิสได้นาน ไม่น่าเบื่อ เราเลยหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาทำเป็นหัวข้อที่ว่าออกแบบตัวอักษรจากพฤติกรรมการฆ่าของฆาตรกรต่อเนื่อง แต่พอเสนอไปแล้วกรรมการเขามองว่ามันน่าเบื่อ เพราะงานก็ออกมาเป็นตัวอักษรที่ใช้งานไม่ได้ เป็น Display Font เฉยๆ เราเลยไปปรึกษาอาจารย์เอก เอกลักษณ์ เพียรพนาเวช ซึ่งอาจารย์ก็บอกให้เราเห็นว่ามันยังมีวิธีที่เราจะได้อีกมากมาย ไม่ใช่แค่เรื่องพฤติกรรมการฆ่า เราเลยย้อนกลับมาคิดกับตัวเองว่าเรื่องฆ่าๆ เลือดๆ อะไรทำนองนี้เราก็ไม่ได้ชอบสักเท่าไหร่ แต่ที่สนใจจริงๆ ก็คือเรื่องการคลายปม การสืบสวนคดีต่างๆ เราเลยไปรีเสิร์ชใหม่ทั้งหมดอีกครั้ง แล้วก็ได้มาเป็นหัวข้อธีสิสอันใหม่ที่ออกแบบตัวอักษรเชิงทดลองโดยอ้างอิงทฤษฎีการแบ่งฆาตกรต่อเนื่องของ FBI’s Behavioral Science Unit

อธิบายเรื่องทฤษฎีที่เตยใช้ให้ฟังหน่อย
มันเป็นทฤษฎีที่ชื่อว่า Organized และ Disorganized ซึ่งเกิดมาจากคนในองค์กร FBI เขาพยายามคิดว่ามันมีวิธีไหนบ้างที่จะไม่ต้องรอให้เกิดคดีก่อนแล้วค่อยตามแก้ และเขาก็สงสัยว่าเพราะอะไรจึงทำให้คนเหล่านี้กลายเป็นฆาตกร เขาก็เลยไปสัมภาษณ์ฆาตกรในคุกว่ามีเหตุการณ์หรือเคยเจออะไรมาบ้าง ที่ส่งผลให้เขากลายมาเป็นฆาตกร จนเกิดเป็นทฤษฎีนี้ ซึ่งข้อมูลที่ได้มาจะแบ่งออกเป็นสองตารางด้วยกัน ตารางแรกจะเป็นบุคลิกภาพของฆาตรกร แล้วอีกตารางก็จะเป็นลักษณะพฤติกรรมในที่ก่อเหตุ แล้วในตารางก็จะแบ่งไปอีกเป็นสองฝั่งที่มีลักษณะตรงข้ามกัน เช่น เลือกเหยื่อแบบรู้จักกับไม่รู้จัก

แล้วเตยเอาไปจับกับการออกแบบตัวอักษรอย่างไร
เราหยิบเอาเงื่อนไขต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในตารางทั้ง 50 เงื่อนไขมาตีความเป็นลักษณะของตัวอักษร เช่น เป็นคนที่มีทักษะทางสังคม รู้จักพูดคุย เราตีความออกมาเป็นตัวอักษรที่มีความไฮคอนทราสต์ มีความหนาบางในหนึ่งตัวอักษร ให้ความรู้สึกถึงความมีเล่ห์เหลี่ยมในการพูดคุย หรือการเลือกเหยื่อเป็นคนแปลกหน้า เราก็ตีความให้ตัวอักษรบางตัวมีความผิดแปลกไปด้วยการพลิกตัวอักษร สลับซ้ายขวา และด้วยความที่เป็นคำเฉพาะเจาะจงมากๆ บางเงื่อนไขเลยยากในการตีความให้เป็นรูปธรรม เช่น ล่วงละเมิดก่อนเสียชีวิต กับล่วงละเมิดหลังเสียชีวิต เป็นเรื่องที่ทำให้เราต้องใช้เวลาคิดอยู่เหมือนกันว่าจะอย่างไรกับตัวอักษรได้บ้าง

การทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่า
พอตีความเงื่อนไขต่างๆ ออกมาได้ครบทุกข้อแล้ว เราก็เริ่มทดลองเอาไปใช้กับการออกแบบครั้งแรก ผลที่ออกมามันใช้ไม่ได้เลย เพราะเงื่อนไขมันตีกันไปหมดเลย เช่น ได้ตัวอักษรที่มีลักษณะต้องดูเป็นทางการ แต่มีเส้นเป็นรอยหยักที่ดูไม่รู้เรื่อง ซึ่งมันทำออกมาไม่ได้ กลายเป็นปัญหาเลยต้องรื้อแก้ใหม่ เราแก้ด้วยการจับกลุ่มคำให้มันน้อยกับลดบางข้อลง เช่น พอเป็นคำตรงกันข้าม เราก็เอาฝั่งหนึ่งมีเงื่อนไข ส่วนอีกฝั่งไม่มี เพื่อทำให้มันทำงานได้ง่ายและทำได้จริง สุดท้ายเลยได้ออกมาเป็น 19 เงื่อนไข เราเลยเริ่มทดลองออกแบบอีกครั้งเพื่อที่จะทำให้มันออกมาลงตัวมากที่สุด แล้วเราก็เอาไปใช้กับการออกแบบชื่อของฆาตรกรทั้ง 10 คน โดยเลือกเงื่อนไขให้ตรงกับบุคลิกภาพและลักษณะทางอาชญากรรมของแต่ละคน และนำเสนอออกมาเป็นโปสเตอร์ และโมชั่นกราฟิกที่อธิบายถึงกระบวนการทำงานของมัน เพื่อให้คนเข้าใจวิธีคิดหรือที่มาที่ไปของงานชิ้นนี้

ความยากของการทำธีสิสเรื่องนี้คือ
อย่างแรกคือการทำงานกับข้อมูลที่เป็นภาษาอังกฤษที่เป็นคำเฉพาะเจาะจงมากๆ เราต้องใช้ข้อมูลหลายๆ อย่างในการแปลเพื่อทำความเข้าใจกับทฤษฎีพวกนี้ แล้วเรื่องข้อมูลฆาตกรเองก็ต้องตรวจสอบให้ถูกต้อง เพราะเมื่อเป็นเรื่องในประวัติศาสตร์แล้ว แหล่งที่มาแต่ละแหล่งอาจให้ข้อมูลไม่ตรงกัน เราเลยต้องมาไล่ไทม์ไลน์ของแต่ละคนเลยว่ามีตรงไหนสมเหตุสมผลบ้าง อีกอย่างคงเป็นเรื่องเวลาเพราะเทอมแรกเราใช้เวลาไปกับหัวข้อแรกทั้งเทอมเลย พอต้องเปลี่ยนเวลาสี่เดือนของเทอมหลังก็เลยต้องแบ่งเป็นสองเดือนสำหรับทำรีเสิร์ชและสองเดือนสำหรับออกแบบ ซึ่งสองเดือนสำหรับการทำงานออกแบบเป็นระยะเวลาที่น้อยเกินไป

อยากแก้ไขหรือพัฒนาตรงไหนเพิ่มเติมอีกไหม
ถ้าไม่ได้เห็นกระบวนการเบื้องหลัง งานของเราก็ดูจะไม่มีอะไรให้น่าตื่นเต้น เราเลยอยากกลับไปออกแบบเงื่อนไขแต่ละข้อมันมีดีกว่านี้ เพราะคิดว่างานในตอนนี้ยังดีไซน์ออกมาได้ไม่ดีเท่าไหร่ และเอาจริงๆ ความตั้งใจแรกของเราคือ อยากสร้างเป็นระบบอะไรสักอย่างที่ให้คนสร้างภาพยนตร์หรือคนเขียนนิยายที่เขามีคาแรคเตอร์เป็นฆาตรกร มาลองเลือกเงื่อนไขต่างๆ ตามคาแรคเตอร์ เพื่อจะสร้างเป็นรูปแบบตัวอักษรที่เหมาะกับงานของเขา ดังนั้นถ้าจะต่อยอด เราคงจะเอากระบวนนี้ไปใช้กับการสร้างแบรนด์ โดยกำหนดเงื่อนไขขึ้นมาใหม่จากข้อมูลลักษณะต่างๆ แล้วให้ผู้ใช้ได้เข้ามาเลือกเพื่อที่จะสร้างเป็นรูปแบบตัวอักษรที่เหมาะสำหรับแต่ละแบรนด์

คิดว่างานธีสิสของเตยทำให้เรื่องเกี่ยวกับฆาตรกรรมมันดูสวยงามหรือเปล่า
ในตอนแรกเราก็กลัวเรื่องนี้เหมือนกัน ว่าจะดูเป็นเรื่องการคลั่งไคล้ฆาตรกรหรือทำให้มันดูสวยงามเกินไปหรือเปล่า แต่ว่าสุดท้ายแล้วงานของเรามันมาโฟกัสตรงที่กระบวนการศึกษาถึงเบื้องหลังในจิตใจ สภาพแวดล้อมที่หล่อหลอมให้คนๆ หนึ่งกลายเป็นฆาตรกรขึ้นมากกว่า มันไม่ใช่การเห็นใจต่อฆาตรกร แต่เป็นการศึกษา เพื่อที่จะได้เข้าใจต้นตนของปัญหา ถ้าเรารู้ว่าคนเหล่านี้คิดอะไร ต้องการอะไร หรือทำไมต้องทำแบบนี้ มันก็อาจทำให้คดีฆาตรกรรมลดลง คงจะดีกว่าการจับขังคุกหรือประหารชีวิต ซึ่งเรามองว่ามันเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ถึงตัวงานสุดท้ายเราอาจไม่ได้ช่วยแก้ไปปัญหา แต่อย่างน้อยก็น่าจะทำให้คนสนใจถึงกระบวนการตรงนี้

    TAG
  • thesis
  • พิมพ์ขวัญ ผลผลา
  • portfolio
  • design
  • graphic

Experimental Typography Serial Killer ธีสิสจากการทดลองของเตย - พิมพ์ขวัญ ผลผลา

GRAPHIC/PORTFOLIO
June 2021
CONTRIBUTORS
EVERYTHING TEAM
RECOMMEND
  • DESIGN/PORTFOLIO

    THE BEYOND OF HUMAN SPECIES ตั้งคำถามพร้อมค้นหาคำตอบของระบบการศึกษาไทยที่ไม่สมบูรณ์

    เราต่างอาจจะเคยได้ยินกับคติประจำใจอย่าง “รากฐานของตึกคืออิฐ รากฐานของชีวิตคือการศึกษา” กันมาบ้าง เเต่มันเป็นไปได้ยากกับประเทศที่กำลังมีปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบทางการศึกษาอย่างประเทศไทย ซึ่งปัญหามากมายเหล่านั้นได้ถูกตั้งคำถามเเละหยิบยกนำมาบอกเล่าผ่านผลงานศิลปนิพนธ์ของ กาย ศุภกร ทาหนองค้า นักศึกษาภาควิชานิเทศศิลป์ จากคณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ด้วยหนังสือ THE BEYOND OF HUMAN SPECIES ที่เป็นเสมือนเเบบทดสอบที่จะชวนผู้อ่านมาร่วมถามตอบถึงข้อสงสัยของระบบการศึกษารวมไปถึงชีวิตเด็กนักเรียนไทยในปัจจุบัน

    EVERYTHING TEAM4 years ago
  • DESIGN/PORTFOLIO

    IN THE HOUSE งานแสดงวิทยานิพนธ์สถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นในบ้าน

    THESIS ของเด็กสถาปัตย์ในยุคที่ต้องรีบปรับตัวมาเป็น New Normal ด้วยการนำเสนอ Final แบบออนไลน์

    Nada Inthaphunt5 years ago
  • DESIGN/PORTFOLIO

    THE JOURNEY OF BLUE

    ความรู้สึกที่หาคำจำกัดความได้ยากระหว่างความอึนกับซึมเศร้า วิทยานิพนธ์ Interactive Story นี้พาจะคุณไปพบนิยามของอารมณ์หม่นที่ขณะหนึ่งเพลงอาจเป็นคำตอบของความหมายได้ดีที่สุด

    EVERYTHING TEAM7 years ago
  • DESIGN/PORTFOLIO

    YOUR SPACE

    มาทบทวนและขบคิดไปกับผลงานออกแบบนิทรรศการ “ชินจัง” พื้นที่แห่งความเคยชิน

    EVERYTHING TEAM7 years ago
  • DESIGN/PORTFOLIO

    ศัลยกรรมใบหน้าด้วยจิตใจ

    วิทยานิพนธ์ที่นอกจากออกแบบมาอย่างสะดุดตา ยังทำให้เรามองเห็นมุมมองอีกด้านของค่านิยมทางรูปลักษณ์ ที่แฝงไปกับการออกแบบและใช้งานหลักอีกด้วย

    EVERYTHING TEAM7 years ago
  • DESIGN/PORTFOLIO

    BOOK DESIGN : BASIC VOCABULARY LAYOUT DESIGN AND PRINTING

    หนังสือที่รวบรวมคำศัพท์พื้นฐานเกี่ยวกับการออกแบบและการพิมพ์

    EVERYTHING TEAM7 years ago
SIGN UP TO OUR NEWSLETTER
A Monthly update of the new issue from us
THANK YOU FOR YOUR SUBSCRIPTION

We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )