LOOKING ON EVERYTHING ?
EXPLORE ON EVERYTHING
ถ้าอยากจะชมงานศิลปะดี ๆ สักหนึ่งครั้ง ก็ต้องเข้าไปที่แกลเลอรี่หรือพิพิธภัณฑ์เสมอ นั่นจึงทำให้ศิลปะ (ไม่นับรวมงานพุทธศิลป์ที่เราหาชมได้ตามวัด) ดูเป็นสิ่งไกลตัวและหาชมได้ยาก Farmgroup เมื่อสิบปีก่อน จึงอยากล้างภาพจำนี้ออกไป แล้วทำให้ศิลปะเป็นเรื่องง่ายของทุกคน ด้วยการชวนเหล่าอาร์ตเลิฟเวอร์ไปชมงานในสถานที่ที่แตกต่าง เปลี่ยนจากห้องแกลเลอรี่แสนเงียบเหงา มาเป็นการนั่งพูดคุยถึงเรื่องที่เรารักในห้องพักโรงแรมท่ามกลางบรรยากาศแบบเป็นกันเอง
ด้วยการตอบรับจากทั้งคนในประเทศและนอกประเทศ ที่ผิดจากการคาดการณ์ไปมาก ทำให้ Hotel Art Fair ที่เริ่มต้นด้วยแกลเลอรี่แค่ 12 แห่งในปีแรก ได้เติบโตกลายมาเป็น Community ของนักสะสมและผู้ที่สนใจในงานศิลปะ ที่ครอบคลุมกลุ่มคนในหลากหลายวงการ และสำหรับงานในปีที่ 7 Hotel Art Fair ก็กลับมาอีกครั้งกับงานศิลปะจากแกลเลอรี่มากถึง 28 แห่ง พร้อมที่พาทุกคนไปสัมผัสกับมิติที่แตกต่างของคำว่า “NEW” เพื่อโอบรับสิ่งใหม่ของชีวิตในยุคหลังโรคระบาดที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไป แต่ก่อนที่ทุกคนจะรีบไปเช็คอิน เปิดห้องนอนคุยบนเตียง แล้วชมงานศิลป์กันแบบชิล ๆ เราขอแวะพาทุกคนมานั่งคุยกับ ตั๊ก - วรินดา เธียรอัจฉริยะ, ต๊อบ - วรารินทร์ สินไชย และ แต๊บ - วรทิตย์ เครือวาณิชกิจ 3 หัวเรือใหญ่แห่ง Farmgroup ถึงโอกาสในการได้กลับมาจัด HAF อีกครั้ง หลังจากห่างหายไปเกือบสามปีเต็ม
ก่อนเข้าเรื่อง HAF เราขอถามก่อนเลยว่าทั้งสามคนมาตกหลุมรักกับสิ่งที่เรียกว่า “ศิลปะ” ได้อย่างไร?
ตั๊ก: น่าจะเป็น HAF ในปีแรก เพราะตั๊กไม่ได้สนใจหรือสะสมศิลปะมาก่อนเลย เรารู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ไกลตัวมาก ๆ แล้วแกลเลอรี่เป็นสถานที่ที่เราทำตัวไม่ถูก แต่พอได้มาทำ HAF ปีแรก แล้วบรรยากาศงานมันสนุกมาก ๆ ตั๊กเลยรู้ว่างานศิลปะมันก็เป็นเรื่องสนุกได้นะ แล้วมุมมองของเราก็เปลี่ยนไปทำให้ตั๊กเริ่มมองเห็นว่าจริง ๆ แล้วศิลปะอยู่ในทุกช่วงชีวิตของเรา
ต๊อบ: ตกหลุมรักไหม ต๊อบคิดว่าตัวเองเริ่มซึมซับมากกว่า แล้วมันก็ทำให้เรามองโลกในมุมใหม่เหมือนกัน เวลาไปเที่ยวต่างประเทศ เมื่อก่อนก็แค่จะเดินช้อปปิงเท่านั้น เดี๋ยวนี้มีการแวะเข้าพิพิธภัณฑ์หรืออาร์ตแกลเลอรี่บ้างแล้วงานของ Farmgroup เอง ก็เป็นงานเชิงดีไซน์ เราเลยรู้สึกว่าสองสิ่งมันมีความทับซ้อนใกล้เคียงกัน แต่เราก็ยังไม่ถึงขั้นที่ดูศิลปะแล้วแตกฉานเหมือนคนที่เขาเข้าใจจริง ๆ หรอกนะคะ
แต๊บ: สำหรับผม อาจจะเพราะเรียนด้านดีไซน์ ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ศิลปะบ้างเลยอาจจะใกล้ชิดกับศิลปะมากกว่าพี่ทั้งสองคน แต่ดีไซน์กับศิลปะในตอนนั้นก็ยังดูเป็นศาสตร์คนละแขนงกัน พอมาถึงยุคนี้เราเห็นดีไซเนอร์หรือนักวาดภาพประกอบ เริ่มหันมาทำงานศิลปะของตัวเอง มันทำให้เราเห็นความเป็นไปได้ และทำให้ผมคิดว่าศิลปะเองก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของผมมาโดยตลอดเหมือนกัน
ฟังดูแล้ว HAF ครั้งที่ 1 ส่งผลบางอย่างต่อทั้งสามคนมาก ๆ แล้วภาพรวมของงานในปีนั้นหละ ออกมาประสบความสำเร็จหรือได้รับการตอบรับที่ดีไหม?
เกินคาดและมันทำให้พวกเราเริ่มมองเห็นความเป็นไปได้นะ เพราะมีชาวต่างประเทศบินมาดูเยอะมาก เขาดีใจกันมากที่ในที่สุดเมืองไทยก็มีงานแบบนี้ แล้วในช่วงปี 2012 มันยังไม่มีงานในรูปแบบนี้ ยังไม่มีการคอลแลปของแบรนด์และศิลปิน สตรีทอาร์ตยังไม่บูม ในตอนนั้นชาวต่างชาติเลยสนใจเป็นพิเศษมากกว่าคนไทย แต่พอมองย้อนกลับไปปีแรกจนถึงปัจจุบันแล้วเราก็เดินทางมาไกลมาก งานในปัจจุบันก็ประสบความสำเร็จ ได้รับการตอบรับจากคนไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนกันนะ เพราะมุมมองของคนไทยต่อศิลปะมันเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก ๆ
เดินทางมาสู่งานครั้งที่ 7 แล้ว กับธีมที่ว่า “New” ทำไมการกลับมาของ HAF จึงต้องมาพร้อมกับคำ ๆ นี้?
ชีวิตหลังช่วงโควิดสองสามปีที่ผ่านมา ทุกอย่างในชีวิตของพวกเรามันเปลี่ยนไปหมดเลย มันเหมือนเป็นโลกใหม่จริง ๆ มีวิถีชีวิตใหม่ มีการเกิดขึ้นของศิลปินหน้าใหม่ รวมถึงงานศิลปะ NFT ทุกสิ่งมันเกิดอะไรใหม่ ๆ เยอะแยะไปหมด พวกเราเลยรู้สึกว่าคำนี้แหละใช่ มันอาจจะฟัง Cliché แต่ถ้าเราลองคิดดูดี ๆ แล้วความหมายของ New ในชีวิตของแต่ละคนมันไม่ซ้ำกันเลยนะ สำหรับบางคนมันเหมือนหยุดอยู่กับที่ แต่บางคนอาจกำลังกระโดดไปไกล ดังนั้นทุกคนจึงมีไอเดียคำว่า New เป็นของตัวเอง แต่ในความต่างนั้นมันก็มีอะไรบางอย่างที่สามารถ Connect ทุกคนเข้าหากันได้ด้วย ซึ่งมิติของคำว่า New ของศิลปินแต่ละท่านจะเป็นอย่างไรก็ต้องเข้าไปชมด้วยตัวเองนะ
งั้น “New” ของพวกคุณหละ มีความหมายว่าอย่างไรบ้าง?
ตั๊ก: ของตั๊กคือวิถีชีวิตใหม่ เราออกมาเจอโลกใบใหม่ วิธีการมองโลกแบบใหม่ และเราเองก็ Appreciate คุณค่าของเวลาทุกวินาทีมากขึ้น เพราะในช่วงปีที่ผ่านมาเราก็มีญาติและคนรู้จักที่ไม่อยู่แล้วเพราะโรคนี้ ความหมายของเราเลยเป็น New is Now เพราะมันทำให้เราใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบันมากขึ้น
ต๊อบ: อย่างที่พี่ตั๊กบอกเลย ชีวิตเราเปลี่ยนไปมาก แล้วปัจจุบันเราก็แทบวางแผนล่วงหน้าไม่ได้เลย เพราะมันอาจเกิดอะไรขึ้นได้เสมอ เช่น นั่งทำงานแล้วจู่ ๆ โรคมันกลับมาเราก็ต้องรีบขนของกลับบ้าน ทุกวินาทีเราต้องเตรียมตัวพร้อมรับทุกอย่างอยู่เสมอ New ของต๊อบเลยน่าจะเป็น Challenge ค่ะ
แต๊บ: มันเหมือนเป็น Life Event หนึ่งนะ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วที่พาไปเจอทางเลี้ยวของชีวิต มีข้อแม้ใหม่เข้ามาทำให้ผมต้องกลับมาจัดความคิดและลำดับความสำคัญใหม่หมด รวมถึงช่วงที่หมดการแพร่ระบาดก็นับเป็น Life Event เช่นกัน ที่ต้องคิดว่าชีวิตในรูปแบบเดิมของเราจะกลับมาไหม แล้วเราจะใช้ชีวิตกับมันยังไงดี
งานปีนี้มีแกลเลอรี่มากถึง 28 แห่งจากทั้งไทยและต่างประเทศ พวกคุณมองหาและคัดเลือกลิสต์เหล่านี้อย่างไร?
ตั๊ก: ด้วยความที่งานของเราเป็นงานที่สร้างคอลเลคเตอร์หน้าใหม่เยอะมาก และงานในปีที่ผ่าน ๆ มามีการซื้อขายงานได้ปริมาณที่เยอะ นี่น่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ ทันทีที่เราบอกทุกคนว่า HAF กำลังจะกลับมาอีกครั้ง แกลเลอรี่หลายแห่งก็ติดต่อเข้ามาเองเลย บางแห่งเป็นแกลเลอรี่ต่างประเทศด้วย เพราะตลาดศิลปะบ้านเราถือเป็นตลาดที่คนอยากจะเข้ามามาก ๆ พอรวมกับแกลเลอรี่และศิลปินไทยที่เราเลือกกันมาแล้ว ลิสต์ของแกลเลอรี่ที่เข้ามาร่วมงานปีนี้เลยเต็มค่อนข้างเร็วมากค่ะ
ต๊อบ: เราทำงานร่วมกับทีมที่ปรึกษาตลอด เพื่อให้ได้ลิสต์ที่ตรงภาพที่คิดว่าให้ได้มากที่สุดค่ะ เราตั้งใจเลือกให้ผลงานศิลปะในงานมันมีความหลากหลาย ไม่ใช่เป็นแค่งานจิตรกรรมอย่างเดียวเท่านั้น มีการแทรกงานศิลปะในเชิง Furniture หรือ Wearable Art ที่สามารถสวมใส่ได้ เพื่อให้ HAF กลายเป็นงานอาร์ตแฟร์ที่ตอบสนองโจทย์ความสนใจของคนที่จะเข้ามาชมได้หลายรูปแบบ ครอบคลุมทุกกลุ่มคน
แต๊บ: ผมว่าสิ่งที่ยากคือศิลปินหรือแกลเลอรี่ดี ๆ ที่เพิ่งเกิดมาใหม่แล้วเราไม่เคยรู้จักมาก่อน บางทีเราก็ต้องแอบไปเช็คผ่านคนรู้จักก่อนเพื่อแน่ใจว่าคนที่เราอยากจะเลือกเขาตรงกับภาพของ HAF ที่เราวางไว้หรือเปล่า ซึ่งปีนี้ก็มีแกลเลอรี่หน้าใหม่ติดเข้ามาในลิสต์ด้วยเหมือนกัน ต้องรอดูครับ
แอบสปอยให้ฟังหน่อย มีห้องไหนน่าสนใจบ้าง?
ตั๊ก - พูดยากนะ เพราะดีทุกห้องจริง ๆ เราไม่ห่วงเรื่องคุณภาพของงานที่พวกเขาจะเอามาจัดแสดงเลย เรามั่นใจมาก บางคนก็เป็นคนเก่าที่เรารู้จักแต่กลับมาพร้อมแนวการทำงานใหม่ ๆ เช่น โน้ต – กฤษดา ภควัตสุนทร ที่ครั้งนี้ไม่ได้เป็นงานวาดแล้ว แต่เป็นงาน Functional Art ในห้องที่ชื่อว่า Bearwolf ที่โน๊ตทำร่วมกับศิลปินที่สนิทอีกคนหนึ่ง
แต๊บ - ผมอยากจะใช้คำว่ารู้สึกตื้นเต้นมากกว่า ตื่นเต้นว่าแกลเลอรี่จะเอางานแบบไหนมาแสดง อย่าง Bangkok Citycity Gallery เพราะเป็นแกลเลอรี่ที่มีความสนใจใกล้เคียงกัน หรือ VS Gallery เองก็ได้ยินว่ากลับมาพร้อมคอนเซ็ปต์เดิม ที่เอางานศิลปะมาทำเป็นกีต้าร์ คราวนี้ได้ยินมาว่ามีงาน P7 และงานของ ยุรี เกนสาคู
ต๊อบ - VER Gallery เองก็น่าสนใจน่ะ เพราะเขาไม่ได้มาร่วมงานกับเรานานแล้ว มีปีนึงที่เขามาร่วมงานกับเราแล้วเขาโชว์ Performance Art ที่ค่อนข้างเจ๋งมาก ๆ พอได้กลับมาทำงานร่วมกันแล้วเขาคงจะต้องกลับมาพร้อมอะไรใหม่ ๆ แน่นอนค่ะ
เจ้าของ Celebrity Guest Room ปีนี้เองก็น่าสนใจแพ้กัน เราจะได้เห็นแง่มุมทางศิลปะของพวกเขาทั้งสามคนในรูปแบบไหน?
ตั๊ก: อย่างคุณริก้า ดีล่า ตั๊กเห็นบทสัมภาษณ์ใน Hello Magazine ที่เขาพาเดินชมบ้านใหม่ที่ตกแต่งด้วยงานศิลปะที่สะสมตั้งแต่ยังสาว ๆ แล้วสวยมาก พวกเราเลยรีบทาบทามเขาเลยว่าช่วยยกบ้านมาไว้ในงานเราหน่อยได้ไหม ซึ่งวิธีการสะสมงานของคุณริก้าน่าสนใจตรงที่เราจะได้เห็นชีวิต อารมณ์ และมุมมองของเขาตลอดทุกช่วงชีวิต ที่มันสะท้อนผ่านคอลเลคชั่นผลงานศิลปะที่เขาเลือกสะสม
ต๊อบ: ส่วนคุณแนท - วสุ วิรัชศิลป์ และโบว์ - จุฑาธรรม จิราธิวัฒน์ ทั้งสองเป็นสถาปนิกที่มางานของพวกเราอยู่แล้วทุกปี บางส่วนก็จะมีงานหาชมยากที่ซื้อมาจาก HAF บางส่วนก็จะเป็นงานที่สะท้อนตัวตนของพวกเขาด้วย ทั้งเรื่องศิลปะและเรื่องการออกแบบสถาปัตยกรรม ซึ่งมีความน่าสนใจมันอยู่ตรงที่ของสะสมเหล่านั้นมันจะผสมผสานกันแล้วสามารถบ่งบอกตัวตนของเจ้าของออกมาอย่างชัดเจนในรูปแบบไหนบ้าง
แต๊บ: ผมได้ยินว่าคุณแนทจะเอาคอลเลคชั่นแผ่นเสียงที่เขาสะสมไว้มาเปิดในงานด้วยนะครับ ซึ่งบางคนก็ไม่เคยรู้เลยว่าคุณแนทเขาสะสมแผ่นเสียงด้วยเหมือนกัน
แอบได้ยินมาว่าการได้ทำงานร่วมกับ The Standard Bangkok Mahanakhon เป็นเหมือนการจับคู่แต่งงานที่เพอร์เฟ็คสุด ๆ เพราะอะไรที่ทำให้พวกคุณเปรียบเทียบแบบนี้?
การค้นหาโรงแรมที่จะจัดงานมันเป็นเรื่องที่ยากมากเลยนะ เพราะต้องหาโรงแรมที่ตรงกับ Check List ส่วนตัวของพวกเรา และทางเจ้าของเองก็ต้องมีความสนใจเรื่องศิลปะ ไม่ได้คิดถึงแค่เรื่องผลตอบแทนอย่างเดียว พอได้มาจากกับ The Standard Bangkok Mahanakhon ที่พวกเขาให้ความสำคัญและ Appreciate เรื่องศิลปะ ดนตรี และงานดีไซน์มาก ๆ พวกเราก็เลยสนใจเข้าไปคุยด้วย ในตอนนั้นสาขาที่กรุงเทพยังสร้างไม่เสร็จเลยด้วยซ้ำ ไม่รู้ว่าสถานที่จะออกมาในรูปแบบไหน แต่เขาก็ให้ความสนใจ สนับสนุนความคิดของเราอย่างเต็มที่ สุดท้ายก็ตกลงจับมือร่วมงานกันอย่างไม่มีลังเล เหมือนตกลงเรื่องหมั้นแล้วไปแต่งงานกันอย่างรวดเร็ว HAF ปีนี้ก็เลยน่าจะเป็นปีที่ได้โลเคชั่นจัดงานเร็วที่สุดแล้ว
การได้กลับมาจัดอีกครั้งหลังจากห่างหายไปเกือบสามปี แสดงว่า HAF ต้องมีความสำคัญกับพวกคุณมาก ๆ เลยใช่ไหม?
HAF เป็นงานที่ทีม Farmgroup ลงมือลงแรงกันทุกคน พวกเรารอคอยทุกปี แม้ปากจะบ่นเหนื่อย ไม่เอาไม่ไหวแล้ว แต่สุดท้ายพองานจบแล้วเราได้ความสุขมาก ๆ ถ้าเปรียบก็คงเป็นเหมือนพระอาทิตย์ อยู่ไกลไปก็หนาว อยู่ใกล้ไปก็ร้อน พวกเราสนุกที่จะได้จัดมันอีกทุกปี และ HAF เป็นสิ่งที่พวกเราร่วมกันสร้างมันมาตั้งแต่ต้น มันเลยเป็นสิ่งที่พวกเราภาคภูมิใจมาก ๆ โดยเฉพาะกับบริษัทด้านออกแบบหรือดีไซน์โดยเฉพาะอย่าง Farmgroup ที่ไม่ได้มีผลิตภัณฑ์หรือสิ่งที่เป็นตัวแทนของบริษัท HAF มันเลยเป็นเหมือนสิ่ง ๆ นั้นที่อยู่ในรูปแบบของงานอาร์ตแฟร์ ค่อนข้าง Closer to the heart
พอได้มามองเห็นศิลปะในมุมมองของผู้จัดงานตลอดระยะเวลา 10 ปี คิดว่ามันยังขาดอะไรอยู่อีกไหม
ตั๊ก: มันขาดการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากภาครัฐนะคะ เพราะเขาพูดตลอดว่าอยากผลักดัน Soft Power แต่เขาให้ความสนใจอยู่แค่กับศิลปิน แต่ไม่ได้มองเห็นเรื่องของศิลปะเลย เราเชื่อว่าถ้าเราจัดงาน Music Festival ก็คงจะได้รับการสนับสนุนมากกว่า Art Fair แน่นอน แม้ว่าในปีนี้ HAF จะได้รับการสนับสนุนจาก สปปน. และ ททท. แต่ตั๊กคิดว่ามันยังไม่พอ ไม่ใช่แค่งานของ Farmgroup แต่ยังรวมไปถึงงานของกลุ่มอื่น ๆ ด้วยเหมือนกันค่ะ อีกเรื่องคือความเข้าใจที่มีต่องานศิลปะ อย่างในตอนที่พวกเราไปคุยเรื่องภาษี บางประเทศส่งออกและนำเข้างานศิลปะโดยไม่เสียภาษีเลยด้วยซ้ำ รายได้ที่ศิลปินได้รับมันจึงไม่ถูกหัก หรือผู้ซื้อก็ไม่ต้องรับภาระเพิ่ม แต่ในขณะที่บ้านเรายังไม่ค่อยความเข้าใจเรื่องพวกนี้เลย มีครั้งหนึ่งที่พวกเราเคยนำเข้าเครื่องเซรามิก Porcelain เขายังตีภาษีเท่ากับจานชาม ที่ต้องเสียถึง 40% อยู่เลยค่ะ ทั้งที่มันเป็นงานศิลปะ
สุดท้าย สมมติว่าไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องเงื่อนไขหรือข้อจำกัดที่มีผลต่อการจัดงานอะไรทั้งนั้น ทั้งสามคนอยากลองไปจัดงาน Art Fair ที่ไหนดูบ้างไหม?
ต๊อบ: ถ้าไม่ต้องกังวลเรื่องงบประมาณ ต๊อบว่าเราคงอยากลองจัดงานในสเกลที่ใหญ่ขึ้นกว่านี้ดูนะคะ
ตั๊ก: เปลี่ยนเมืองให้เป็น Destination ค่ะ แล้วพา Local Artist ที่เก่ง ๆ ของแต่ละย่านมาโชว์ ให้เขาได้มีโอกาส มีเวทีแสดงฝีมือ แต่ละจังหวัดเขาก็มีศิลปินดี ๆ ของตัวเอง แต่ก็ต้องบินขึ้นมาแสดงงานที่กรุงเทพอย่างเดียว ตั๊กคิดว่าถ้าเรามีโอกาสได้ไปจัดที่จังหวัดอื่นบ้าง การท่องเที่ยวก็จะไหลไปอยู่ที่จังหวัดนั้นมากขึ้น
แต๊บ: ผมอยากลองวางโครงสร้างเลย ไม่อยากจัดงานแค่ช่วงเดียวแล้วครับ อยากสร้างพื้นที่ให้ศิลปินสามารถแวะเวียนกันมาโชว์ได้ตลอดทั้งปี คล้ายกับ Road Show คอนเสิร์ตของนักร้องศิลปิน สร้างความ Sustainable ไม่ใช่ว่าบุกป่าฝ่าดงเข้าไปทำลายป่าสร้างผลงานสวย ๆ ถ่ายรูป จบ แล้วสร้างขยะให้ชุมชน แบบนี้มันไม่ใช่
“อยากชวนให้ทุกคนมาที่งานนะ เพราะพวกเราอยากสนับสนุนให้คนที่เป็นศิลปิน สามารถทำงานอาชีพนี้แล้วสามารถอยู่ได้ เพราะมีหลายคนที่ไม่ได้ทำอาชีพศิลปินเป็นอาชีพหลัก เขาทำอาชีพเดียวแล้วอยู่ไม่ได้ พวกเราอยากทำให้เขาสามารถเขียนบอกในใบประวัติได้อย่างภาคภูมิใจว่าเขาทำงานเป็นศิลปิน”
เข้าไปติดตามข่าวสารของ Hotel Art Fair ได้ทาง https://web.facebook.com/HotelArtFair
รวมถึงสามารถเข้าไปลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมงาน Hotel Art Fair ครั้งที่ 7 รอบ Public Days ในช่วงวันที่ 4 - 6 พฤศจิกายน ได้ผ่านทาง https://bit.ly/3zg9azV
Writer: Sittichai Srimuang
Photographer: Mc Suppha-riksh Phattrasitthichoke
นั่งคุยกับ 3 หัวเรือใหญ่แห่ง Farmgroup ในวันที่ Hotel Art Fair ได้กลับมาเปิดห้องพัก ให้ทุกคนได้ชมงานศิลปะอีกครั้งเป็นปีที่ 7
/
เมื่อพูดถึงชื่อ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล หรือ เจ้ย มิตรรักแฟนหนังหลายคนน่าจะรู้จักเขาในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยผู้เปี่ยมไปด้วยความเป็นศิลปะที่สุด ไม่เพียงแค่ในประเทศไทย แต่หมายรวมถึงในสากลโลก ยืนยันด้วยรางวัลสำคัญจากเทศกาลภาพยนตร์ระดับโลกหลายต่อหลายรางวัล ไม่ว่าจะเป็นรางวัลยอดเยี่ยมในการฉายสายรอง (Un Certain Regard) จากภาพยนตร์เรื่อง สุดเสน่หา (Blissfully Yours) (2002) และรางวัลขวัญใจคณะกรรมการ (Jury Prize) จากภาพยนตร์เรื่อง สัตว์ประหลาด! (Tropical Malady) (2004) จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ในปี 2002 และ 2004, หรือภาพยนตร์เรื่อง แสงศตวรรษ (Syndromes and a Century) (2006) ของเขาก็ได้รับเลือกให้เข้าชิงรางวัลสิงโตทองคำในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิส ในปี 2006 และคว้ารางวัลกรังปรีซ์จากเทศกาลภาพยนตร์ Deauville Asian Film Festival ในปี 2007, และภาพยนตร์เรื่อง รักที่ขอนแก่น (Cemetery of Splendor) (2015) ของเขาก็คว้ารางวัลยอดเยี่ยมจากเวที Asia Pacific Screen Awards ในปี 2015, ที่สำคัญที่สุด อภิชาติพงศ์ยังเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้รับรางวัล ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมปาล์มทองคำ (Palm d’or) จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ครั้งที่ 63 ในปี 2010 จากภาพยนตร์เรื่อง ลุงบุญมีระลึกชาติ (Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives) (2010), และล่าสุด ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องล่าสุดของเขาอย่าง Memoria (2021) ยังคว้ารางวัล Jury Prize ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ครั้งที่ 74 ในปี 2021 มาครองได้อีกครั้ง อีกทั้งยังได้รับเสียงวิจารณ์เชิงบวกอย่างท่วมท้นจากสื่อมวลชนนานาชาติ
/
เมื่อพูดถึงเกาหลีใต้ หลายคนอาจจะนึกถึง เคป็อป หรือซีรีส์เกาหลี แต่ในความเป็นจริง เกาหลีใต้ไม่ได้มีสิ่งที่น่าสนใจเพียงแค่นั้น หากแต่ เคอาร์ต หรือวงการศิลปะเกาหลีก็มีอะไรที่โดดเด่นน่าสนใจเหมือนกัน ดังเช่นที่เรามีโอกาสได้ไปชมนิทรรศการศิลปะที่น่าสนใจของศิลปินเกาหลีใต้ ที่บินข้ามน้ำข้ามทะเลมาจัดแสดงในบ้านเรา
/
ในวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา เรามีโอกาสได้ไปชมศิลปะการแสดงชุดหนึ่งที่น่าสนใจ เลยถือโอกาสเอามาเล่าสู่กันฟัง การแสดงที่ว่านี้มีชื่อว่า The Rite of Spring Concert and Dance ที่กำกับโดย พิเชษฐ กลั่นชื่น ศิลปินศิลปะการแสดงชั้นนำของไทยและเอเชีย โดยเป็นการร่วมงานกับสองนักดนตรีระดับโลกอย่าง ทามาโยะ อิเคดะ (Tamayo Ikeda) นักเปียโนชาวญี่ปุ่น และ เกวนดัล กิเกอร์เลย์ (Gwendal Giguelay) นักเปียโนชาวฝรั่งเศส ร่วมกับเหล่าบรรดานักเต้นมากฝีมือจาก พิเชษฐ กลั่นชื่น แดนซ์คอมพะนี และกลุ่มนักแสดงนาฏศิลป์ไทยประเพณีหลากที่มาจาก ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ วัดราชาธิวาสวิหาร, มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร, มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และคณะนักเชิดหนังใหญ่วัดบ้านดอน จังหวัดระยอง
/
ในมหกรรมศิลปะนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 60 (Venice Biennale 2024) ที่เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี คราวนี้ นอกจากจะมีศิลปินไทยร่วมแสดงผลงานในนิทรรศการ The Spirits of Maritime Crossing : วิญญาณข้ามมหาสมุทร ที่เรากล่าวถึงไปในตอนที่ผ่านมาแล้ว ในขณะที่เราตระเวนชมงานตามพาวิลเลียนต่างๆ ในเวนิส เบียนนาเล่ เรายังพบว่ามีผลงานของศิลปินไทยอีกคนได้ร่วมแสดงงานในมหกรรมศิลปะ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งนี้อีกด้วย
/
หลังจากได้ไปชมนิทรรศการ Liminal ของ ปิแยร์ ฮวีก ที่ Punta della Dogana อดีตอาคารศุลกากรเก่าแก่เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคอลเลคชันงานศิลปะในการสะสมของ Pinault Collection ของนักสะสมชาวฝรั่งเศส ฟรองซัว ปิโนลต์ (François Pinaul) มหาเศรษฐีนักธุรกิจชาวฝรั่งเศส ผู้ก่อตั้ง Kering บริษัทจัดจําหน่ายสินค้าแฟชั่นและสินค้าแบรนด์ชั้นนำ อย่าง Gucci, Yves Saint Laurent, Balenciaga และ Alexander McQueen ฯลฯ ไปในคราวที่แล้ว
/
นับแต่อดีตกาลนานมา “เสื้อผ้า” เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ ที่มนุษย์ต้องการในการดํารงชีวิต เพื่อสวมใส่ ปกป้องร่างกายจากสภาพแวดล้อมและสภาวะอากาศ หรือปกปิดร่างกายเปลือยเปล่าจากสายตาของ คนรอบข้าง แต่เมื่อเกิดพัฒนาการทางอารยธรรม สังคม และค่านิยมของมนุษย์ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายก็เปลี่ยนความหมายจากการเป็นแค่หนึ่งในปัจจัยสี่ กลายเป็นเครื่องบ่งบอกเชื้อชาติ ฐานะ ชนชั้น และสถานภาพ ทางสังคม และเมื่อเสื้อผ้าผนวกรวมเข้ากับกระแสเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรม สุนทรียะ และค่านิยมทางสังคม เมื่อนั้น “แฟชั่น” ก็ถือกําเนิดขึ้นมา
We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )