LOOKING ON EVERYTHING ?
EXPLORE ON EVERYTHING

สํารวจมุมมองทางวัฒนธรรมและความสัมพันระหว่างธรรมชาติ
และจิตวิญญาณจากโลกสองฟากฝั่ง

“ศิลปะ” นอกจากจะเป็นเครื่องมือสื่อสารถึงความรู้สึกนึกคิดภายในของผู้สร้าง ส่งผ่านให้ผู้คนได้รับรู้แล้ว ในอีกแง่หนึ่ง ศิลปะยังสามารถเป็นเครื่องมือในการสํารวจตรวจสอบ ศึกษาค้นคว้าตนเอง และผู้คนในสังคมรอบข้าง หรือแม้แต่สํารวจโลกที่เราอาศัยอยู่ได้เช่นเดียวกัน
ดังเช่นผลงานในนิทรรศการ How Many Worlds Are We? ที่สํารวจตรวจค้น และนําพาตัวเองออก จากแนวคิดดั้งเดิมของการแบ่งโลกออกเป็นสองฝั่ง ระหว่างฟากฝั่งตะวันออกและตะวันตก ในอดีต ปัจจัยทางด้านภูมิศาสตร์ทําให้ภูมิภาคทั้งสองฟากฝั่งโลกถูกมองว่าอยู่ห่างไกลกัน แต่การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ของแรงขับเคลื่อนทางวัฒนธรรมและความสัมพันธ์ระหว่างภูมิภาคที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน กลายเป็นปัจจัยสําคัญที่ช่วยทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างสังคมของโลกที่เราอาศัยอยู่ทุกวันนี้
นิทรรศการนี้เกิดขึ้นจากการศึกษาค้นคว้าและการตกผลึกทางความคิดของ อเล็กซานเดร เมโล (Alexandre Melo) ภัณฑารักษ์และนักวิจารณ์ศิลปะชาวโปรตุเกส เกี่ยวกับมุมมองทั้งจากฝั่งโลกตะวันตก อย่างทวีปละตินอเมริกา และยุโรป และในฝั่งโลกตะวันออก อย่างภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีเป้าหมายเพื่อรวบรวมศิลปินร่วมสมัยจากทั้งสองซีกโลกให้มาจัดแสดงผลงานร่วมกัน นอกจากจะเพื่อท้าทายค่านิยมทางภูมิศาสตร์วัฒนธรรม ที่มองโลกตะวันตกเป็นศูนย์กลาง (Eurocentrism) และให้คุณค่ากับวัฒนธรรมอันแตกต่างหลากหลายแล้ว ยังพยายามแสวงหาความเป็นไปได้ในการทําความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติ, จิตวิญญาณ หรือ ความเป็นมนุษย์ ผ่านผลงานประติมากรรม, ศิลปะจัดวาง, ภาพถ่าย, และภาพเคลื่อนไหว โดยศิลปินหลากสัญชาติ อย่าง ไอร์สัน เอราคลิโต (Ayrson Heráclito), โจนาธาส เด อันดราเด (Jonathas de Andrade) จากบราซิล, วุธ ลีโน (Vuth Lyno) จากกัมพูชา, โซ ยู นเว (Soe Yu Nwe) จากเมียนมา, ปรัชญา พิณทอง, ธวัชชัย พันธุ์สวัสดิ์, ต่อลาภ ลาภเจริญสุข, วันทนีย์ ศิริพัฒนานันทกูร จากประเทศไทย, โยนามีน (Yonamine) จากแองโกลา และ วาสโก อาเรา โฮ (Vasco Araújo) จากโปรตุเกส

โดย อเล็กซานเดร เมโล ภัณฑารักษ์ผู้คัดสรรผลงาน กล่าวถึงแนวคิดเบื้องหลังนิทรรศการครั้งนี้ว่า “ถึงแม้ผมจะเกิดในยุโรป ที่ประเทศโปรตุเกส แต่ผมคิดว่าเราไม่สามารถเข้าใจโลกที่เราอาศัยอยู่ในทุกวันนี้ได้ ถ้าเรายึดติดกับมุมมองของตัวเองแค่เพียงอย่างเดียว ดังนั้น เมื่อหลายปีที่แล้ว ผมเริ่มต้นเดินทางและทํางานในประเทศบราซิล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทางตอนเหนือที่ได้รับอิทธิพลแอฟริกันอย่างมาก จากเหล่าบรรดาทาสที่ชาวโปรตุเกสนําตัวจากแอฟริกามายังบราซิล ทําให้ผมตระหนักถึงมุมมอง และวิธีการอื่นๆ ในการมองโลกใบนี้ เช่นเดียวกันกับเมื่อ 7 - 8 ปีที่แล้ว ที่ผมมาประเทศไทยครั้งแรก ผมเองก็ตระหนักได้ว่า มุมมองต่อโลกที่ผมเห็นจากเมืองไทย ช่างแตกต่างเหลือเกินกับมุมมองของโลกที่มองจากยุโรป หรือมุมมองจากอเมริกาใต้ ในบราซิล ดังนั้น ถ้าผมต้องการเป็นภัณฑารักษ์ และต้องการทํางานกับศิลปะร่วมสมัย ผมต้องทําการ “สลายการรวมศูนย์” (Decentralized) มุมมองของผม เพื่อที่จะสามารถหาวิธีมองโลกอันแตกต่างหลากหลาย และนําพาประสบการณ์แห่งการพยายามทําความเข้าใจศิลปินจากหลากหลายสถานที่, ธรรมชาติ, วัฒนธรรม, ประวัติศาสตร์ และพยายามมองโลกในมุมมองใหม่ ว่าอะไรคือตะวันออก อะไรคือ ตะวันตก อะไรคือศูนย์กลางในมุมมองของคุณ เพราะตอนนี้ยุโรปไม่ใช่ศูนย์กลางอีกต่อไป ทุกวันนี้ โลกมีศูนย์กลางมากมาย มีมุมมองอันแตกต่างหลากหลาย”

“ดังนั้น แนวคิดแรกของผมคือ ถ้าผมต้องการพยายามทําความเข้าใจและทํางานกับศิลปะร่วมสมัย ในโลกปัจจุบัน ผมต้องโอบรับมุมมองอันแตกต่างหลากหลาย เมื่อนั้น ผมจึงตระหนักว่า จาก ประสบการณ์ของผมในบราซิล ในประเทศไทย รวมถึงเวียดนาม, กัมพูชา, ลาว นั้น ถึงแม้จะมีความแตกต่างกัน แต่ก็มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันอยู่ นั่นคือความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ป่าไม้, ฝน, แม่น้ํา และความสัมพันธ์กับจิตวิญญาณ อย่างเช่นในบราซิลตอนเหนือ ที่นั่นมีศาสนาผสมผสานกันหลากหลาย ทั้งศาสนาที่ถูกนําพามาโดยลัทธิอาณานิคมของยุโรป ศาสนาจากแอฟริกา ตํานานพื้นบ้านของผู้คนท้องถิ่นของแอฟริกาใต้ ที่ผสมปนเปกัน หรือในประเทศไทย ที่มีศาสนาที่มาจากต้นกําเนิดแตกต่างกัน ทั้งอินเดีย จีน หรือศาสนาท้องถิ่น ที่ถูกนับถือและปฏิบัติกัน สิ่งที่ผมค้นพบก็คือ ความสัมพันธ์กับธรรมชาติ และความสัมพันธ์กับจิตวิญญาณ ถ้าเราพิจารณาในแง่มุมที่เปิดกว้างและแตกต่างหลากหลาย ก็จะช่วยให้เราเข้าใจแนวคิดของความเป็นมนุษย์ในทุกวันนี้ร่วมกันได้ เพราะความสัมพันธ์กับธรรมชาติและจิตวิญญาณนั้นเป็นสิ่งสําคัญสําหรับมนุษย์ ไม่มีมนุษย์คนไหนสามารถมีชีวิตโดยปราศจากธรรมชาติและความเชื่อทางจิตวิญญาณบางอย่างได้ นั่นเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนมีร่วมกัน เมื่อเรานําสิ่งเหล่านี้มารวมเข้าด้วยกันกับศิลปะ เพื่อเป็นการต่อรองกับแนวคิดจากสุดขอบตะวันออก และสุดขอบตะวันตก คุณจะพบความคล้ายคลึงกัน และสร้างบทสนทนาซึ่งกันและกันได้ นิทรรศการนี้จึงเป็น เหมือนบทสนทนาของศิลปินร่วมสมัย ในแง่ที่พวกเขาเชื่อมโยงกับธรรมชาติ เช่นเดียวกับที่พวกเขา เชื่อมโยงกับแก่นแท้ทางจิตวิญญาณ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นความเข้าใจพื้นฐานของมนุษยชาติและกระบวนการทํางานศิลปะร่วมสมัย”


“ก่อนหน้านี้ชาวยุโรปมักจะต้องการรวมศูนย์อํานาจการปกครองและวัฒนธรรม ด้วยการแผยแพร่ ลัทธิอาณานิคม หรือแม้แต่ศาสนาของตนไปทั่วโลก แต่ในปัจจุบันกลับเป็นไปในทางกลับกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในโลกศิลปะที่พยายามทําความเข้าใจและสร้างบทสนทนากับชนชาติและผู้คนในวัฒนธรรมอื่นๆ และค่อยๆ สลายความเป็นยุโรปเป็นศูนย์กลางลง
ผมเคยเป็นศาสตราจารย์สอนที่มหาวิทยาลัย ดังนั้น ผมจึงศึกษาเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์, สังคมวิทยา, ประวัติศาสตร์ศิลปะจากมุมมองของชาวยุโรป สิ่งที่ผมเรียนรู้คือ ทั้งหมดเป็นมุมมองแบบยุโรปเป็นศูนย์กลาง ตั้งแต่ยุคกรีกโบราณถึงยุคสมัยใหม่ในนิวยอร์ก แต่หลังจากยุคหลังศตวรรษที่ 20 จนถึงศตวรรษที่ 21 เราตระหนักว่า สิ่งที่เราเรียนรู้มานั้นไม่เพียงพอที่จะทําความเข้าใจโลกนี้ เราจะเข้าใจโลกทั้งหมดได้อย่างไร ถ้าเราไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เอเชีย, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้, อินเดีย, จีน, ไทย หรือความเชื่อและศาสนาดั้งเดิมของชาวแอฟริกัน และชนพื้นเมืองท้องถิ่นของอเมริกา คุณจะไม่มีทางเรียนรู้โลกได้เลย ถ้าคุณยืดติดอยู่กับการมองจากมุมมองของวัฒนธรรมของยุโรปมาตลอด 500 ปีที่ผ่านมา”
“ดังนั้น ในฐานะคนทํางานกับศิลปะ ผมต้องทําในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับที่ชาวตะวันตกและชาวยุโรป เคยทํามา ผมจึงมาที่นี่เพื่อสังเกต รับฟัง และเรียนรู้ สิ่งเหล่านี้เกิดจากการพูดคุยกับศิลปิน พูดคุยกับผู้คน เดินทางไปตามที่ต่างๆ เพราะความรู้เกิดจากความเคารพในความเชื่อและพฤติกรรมของผู้คนอื่นๆ และการสร้างบทสนทนากับพวกเขา ดังนั้น สิ่งที่ผมทําในนิทรรศการครั้งนี้ ทั้งที่นี่ และบราซิล คือการเปิดใจเพื่อ ฟัง, ดู, เรียนรู้ และสร้างบทสนทนากับศิลปิน นี่เป็นเพียงหนทางเดียวในการทําความเข้าใจโลกที่เราอาศัยอยู่แห่งนี้ พอเมื่อ 6 - 7 ปีที่แล้ว ผมเสนอแนวคิดนี้ กับ ดร. กฤติยา กาวีวงศ์ ผู้อํานวยการ Jim Thompson Art Center เธอก็สนใจมาก แล้วเราก็ทํางานร่วมกันจนเกิดนิทรรศการครั้งนี้ขึ้นมาอย่างสมบูรณ์แบบ”
ภัณฑารักษ์ของนิทรรศการยังกล่าวถึงแรงบันดาลใจในการคัดเลือกศิลปินในนิทรรศการครั้งนี้ว่า
“ผมเคยทํางานในบราซิล ร่วมกับศิลปินบราซิลร่วมสมัยมา 20 ปีแล้ว ผมรู้สึกว่าศิลปินอย่าง ไอร์สัน เอราคลิโต และ โจนาธาส เด อันดราเด เป็นศิลปินที่สําคัญมากสําหรับนิทรรศการครั้งนี้

อย่างเช่น ไอร์สัน เป็นศิลปินชาวบราซิลเชื้อสายแอฟริกัน ผู้ทํางานเกี่ยวกับศาสนาแอฟริกัน ที่มีความเชื่อมโยงอย่างทรงพลังกับธรรมชาติ และเป็นตัวแทนของธรรมชาติ ผ่านการเต้นและดนตรี หรือแก่นแท้ทางจิตวิญญาณที่ปรากฏในผลงานของเขาผ่านภาพของ โลกุนเนเด (Logunedé) นักบวชท้องถิ่นของศาสนาและวัฒนธรรมเก่าแก่นับศตวรรษของแอฟริกัน ที่ยังคงมีชีวิตในบราซิล มาจนถึงทุกวันนี้ นี่เป็นตัวอย่างของวัฒนธรรมที่ไม่ใช่ตะวันตกและยุโรปที่อยู่รอดมาได้นับร้อยปี ที่ เหลือรอดจากการค้าทาสและการทําลายล้างของคนยุโรป ซึ่งยังคงมีชีวิตอย่างทรงพลัง และมอบ มิติทางจิตวิญญาณอันลึกซึ้งให้เราได้สัมผัส”
“เช่นเดียวกับผลงานของ โจนาธาส ศิลปินผู้มาจากทางตะวันออกเฉียงเหนือของบราซิล เขาทํางาน วิดีโอจัดวางเกี่ยวกับชาวประมงในพื้นที่ โดยถ่ายทอดชีวิตประจําวันของชาวประมงเหล่านั้น ทั้งการจับปลา การล่องเรือ แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของชีวิตและความตาย เพราะสัตว์ไม่สามารถมีชีวิตได้โดยไม่ฆ่าสัตว์อื่นๆ ในขณะเดียวกัน ท่วงท่าของความรุนแรงและความตาย ก็สามารถแสดงถึงท่วงท่าแห่งความรัก และความเคารพได้เช่นกัน ด้วยการแสดงออกผ่านการโอบอุ้มปลาเหล่านั้น ที่ปรากฏในวิดีโอจัดวางของเขา นั่นแสดงให้เห็นว่า ถึงแม้ชาวประมงเหล่านั้นจะฆ่าปลา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะรักและเคารพพวกมันไม่ได้ สิ่งนี้แสดงถึงความสัมพันธ์กับธรรมชาติ, จิตวิญญาณ และอารมณ์ความรู้สึก”

“ส่วนศิลปินจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผมเคยมาที่ประเทศไทย 7 - 8 ที่แล้ว ครั้งแรกที่ผมมาที่นี่ ก็เพื่อเชื้อเชิญ อภิชาติพงศ์ (วีระเศรษฐกุล) ให้ไปร่วมแสดงในนิทรรศการที่กรุงลิสบอน โปรตุเกส ผมได้ไปชมนิทรรศการของเขาในพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม ที่เชียงใหม่ ผมยังเขียนเกี่ยวกับนิทรรศการนี้ลงนิตยสาร Art Forum ด้วย ในนิทรรศการนี้เองที่อภิชาติพงศ์ แนะนําผมให้รู้จักกับ อีริค บูทซ์ (กรรมการมูลนิธิ เจมส์ เอช ดับเบิลยู ทอมป์สัน และผู้ร่วมก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ใหม่เอี่ยม) กับ กฤติยา และศิลปินอีกหลายคนอย่าง วันทนีย์ ศิริพัฒนานันทกูร, ปรัชญา พิณทอง ในการมาเยือนเมืองไทยครั้งที่สอง ผมก็ไปเยี่ยมสตูดิโอของศิลปินที่เชียงใหม่อย่าง ธวัชชัย พันธุ์สวัสดิ์, ต่อลาภ ลาภเจริญสุข พอผมเริ่มทํานิทรรศการครั้งนี้ขึ้น ผมก็เลือกศิลปินเหล่านี้โดยเฉพาะเจาะจง เพราะผมมองเห็นความสัมพันธ์ที่เขามีต่อธรรมชาติและจิตวิญญาณ”
“อย่างเช่น ธวัชชัย ผลงานของเขานั้นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างร่างกายของเขากับจักรวาล และเต็มไปด้วยประเด็นทางจิตวิญญาณอย่างแท้จริง”
“ส่วนต่อลาภ ผลงานของเขาเกิดจากจินตนาการความคิดฝันอันน่าเหลือเชื่อ ด้วยการสร้างประติมากรรมจากข้าวของเก่าเก็บในอดีตให้กลายเป็นยานอวกาศที่บินไปสู่อนาคต วัตถุข้าวของในชีวิตประจําวันเหล่านี้ ถึงแม้จะดูเรียบง่าย แต่ต่อลาภก็เปลี่ยนให้พวกมันกลายเป็นความเป็นจริงอันคาดไม่ถึงได้”
“หรือ ปรัชญา ศิลปินผู้มักจะทํางานด้วยการเดินทางข้ามทวีปอันแตกต่างหลากหลาย และแบ่งปัน ประสบการณ์ และทํางานร่วมกับวัตถุและผู้คนที่เขาพานพบระหว่างทาง งานในนิทรรศการครั้งนี้ เขาเดินทางเข้าไปในประเทศลาว และหยิบเอาเศษชิ้นส่วนโลหะที่เหลือจากวัตถุระเบิดที่ตกค้าง จากสงครามในลาว และหินออบซีเดียน ที่ชาวแอซเท็กใช้ในการประกอบพิธีกรรม (บางคนเชื่อว่า หินชนิดนี้ใช้เป็นกระจกเงาอันแรกๆ อีกด้วย) ปรัชญาสร้างกระจกสองด้าน โดยด้านหนึ่งทําจากหินธรรมชาติชนิดนี้ และอีกด้านก็ทําจากเศษชิ้นส่วนรีไซเคิลจากวัตถุระเบิด”
“ส่วน วันทนีย์ เธอมีผลงานที่โดดเด่นที่ทําร่วมกับ บอยส์ คู่หู(นกแก้ว)ของเธอ ผมติดตามผลงานของเธอมาหลายปีแล้ว เธอเป็นหนึ่งในศิลปินคนแรกๆ ที่ทํางานในเชิงลึกเกี่ยวกับมุมมองระหว่างมนุษย์และสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ และแสดงความเคารพต่อมุมมองและวัฒนธรรมอื่นๆ ที่มีต่อสัตว์ อย่าง ช้างและนกแก้ว ผลงานของเธอเป็นการทําความเข้าใจและแสดงการเคารพสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับธรรมชาติ และมีความเชื่อมโยงกับมนุษย์เรา ทั้งในแง่ของอารมณ์ความรู้สึกอันละเอียดอ่อน และความรักความผูกพัน”
“หรือผลงานของ วุธ ลีโน ที่ผมเลือกจากการพูดคุยกับ กฤติยา เพราะเธอรู้แนวคิดในผลงานของเขาเป็นอย่างดี และเมื่อผมได้เห็นผลงานของเขาที่เป็นกระเบื้องโมเสคจากกระดาษที่นําเสนอภาพของผืนป่าที่พลิ้วไหวตามลมที่พัดผ่าน เผยให้เห็นภาพวาดลายเส้นที่อยู่เบื้องหลัง ผมคิดว่างานของเขาสมบูรณ์แบบที่จะติดตั้งตรงทางเข้าของนิทรรศการนี้อย่างมาก ผลงานของเขายังเป็นเหมือนอุโมงค์ทางเข้านิทรรศการครั้งนี้อีกด้วย”
“เช่นเดียวกับผลงานของ โซ ยู นเว กับผลงานประติมากรรมเซรามิกอันน่าทึ่ง ที่อ้างอิงถึง “พญานาค” งูใหญ่ซึ่งเป็นสัตว์ในตํานาน ที่สามารถแปลงร่างเป็นมนุษย์ การเปลี่ยนรูปแปลงร่างที่ว่านี้เองก็เป็นสัญลักษณ์แห่งภาวะพึ่งพิงซึ่งกันและกันของจิตวิญญาณ, ธรรมชาติ และมนุษยชาติ เช่นเดียวกับแนวคิดเบื้องต้นของนิทรรศการนี้ ที่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติและจิตวิญญาณที่สามารถเป็นความเข้าใจร่วมกันสําหรับมนุษย์ ไม่เพียงแค่การเมือง, ศาสนา, อุดมคติ แต่เป็นการให้ความใส่ใจ และความเคารพต่อความสัมพันธ์ของมนุษย์ในพื้นที่ที่แตกต่างหลากหลายทั่วโลก”
“หรือผลงานอันเฉพาะเจาะจงของศิลปินโปรตุเกสอย่าง วาสโก อาราวโฮ ต้นปาล์ม ที่ส่งเสียงว่า Oh so exotic! (โอ แปลกใหม่จริงๆ) ที่เป็นเหมือนการเปรียบเปรยถึงแนวคิดอันย้อนแย้งของความแปลกใหม่ ถ้าผมเป็นคนยุโรปคนเดียวในเอเชีย ผมก็แปลกใหม่ ในทางกลับกัน ถ้าคุณไปแอฟริกา คุณก็เป็นคนแปลกใหม่เช่นกัน เพราะเราทุกคนต่างก็มีความแปลกใหม่ ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน ทุกอย่างแปลกใหม่ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่มีอะไรแปลกใหม่ เพราะความเป็นมนุษย์คือความหลากหลาย ความเข้าใจร่วมอย่างความสัมพันธ์กับธรรมชาติ, จิตวิญญาณ ความสัมพันธ์ระหว่างกันและกันต่างหากที่ทําให้เราไม่แตกต่างกัน”
“และท้ายสุด โยนามิน ศิลปินผู้เกิดในแอฟริกา ผลงานวาดเส้นด้วยเทคนิคพิมพ์ดิจิทัลและเย็บผ้าที่ได้แรงบันดาลใจจากนิทานพื้นบ้านของแอฟริกัน เกี่ยวกับนกกาเหว่า, ผึ้ง และหมอผี ที่เป็นเรื่องราวคติสอนใจจากเรื่องเล่าในประวัติศาสตร์โบราณเกี่ยวกับความเชื่อของแอฟริกัน ที่แสดงถึงการพึ่งพาซึ่งกันและกันระหว่างสัตว์, มนุษย์ และความเชื่อท้องถิ่น”
เมื่อมองจากบริบทในความพยายามสลายความเป็นศูนย์กลางของยุโรปในนิทรรศการครั้งนี้ ผลงานของศิลปินบางคน โดยเฉพาะอย่างย่ิง ศิลปินแอฟริกันอย่างโยนามีน ก็ทําให้เราอดนึกถึงศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ชาวสเปนอย่างปิกัสโซ ผู้หยิบฉวยรูปแบบทางศิลปะของแอฟริกันมาสร้างงานของตัวเองขึ้นมาไม่ได้ ซึ่งอเล็กซานเดร เมโล เองก็กล่าวถึงข้อสังเกตนี้ว่า
“ผมคิดว่าปิกัสโซ และศิลปินโมเดิร์น เป็นส่วนหนึ่งของโมเดิร์นนิสต์ หรือยุคสมัยใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งประดิษฐ์ของชาวยุโรปตะวันตก เป็นคตินิยมที่กลายเป็นกระบวนการทํางานศิลปะหลากหลาย เป็นแนวคิดของความก้าวหน้า ความล้ําสมัย ความเป็นสมัยใหม่อยู่เสมอ นี่เป็นเรื่องเล่าแบบยุโรปตะวันตก ประวัติศาสตร์เดินเป็นเส้นตรง ต้องก้าวหน้าและขบถขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีวันหยุด”
“ปิกัสโซเองก็เป็นศิลปินที่เฉลียวฉลาดและเปิดกว้างมาก เขาเข้าใจความงามของรูปทรงในศิลป วัฒนธรรมแอฟริกันและโอเชียเนีย (หมู่เกาะทางแปซิฟิก) แต่เขาให้ความสําคัญกับรูปทรงเท่านั้น เขาไม่ได้สนใจเกี่ยวกับความเชื่อ, วัฒนธรรม หรือความรู้สึกของชาวแอฟริกัน หรือโอเชียเนีย หรือ เอเชียเลยแม้แต่น้อย เขาแค่คิดว่า โอ! นี่คือวิธีที่น่าสนใจในการแสดงภาพใบหน้า, ร่างกาย หรือดวงตา ฉันจะเอาไปใช้ในการทํางานศิลปะของฉันดีกว่า ซึ่งเป็นอะไรที่ดีนะ เพราะนั่นแสดงให้เห็นว่าเขาสนใจในวัฒนธรรมอื่นๆ แต่เขาก็สนใจแค่เพียงเท่านี้ไง”
“แต่ในโลกปัจจุบันเราไม่ได้สนใจแค่รูปทรง หากแต่เป็นระบบทางวัฒนธรรม, ความเชื่อ, อารมณ์ ความรู้สึก นั่นเป็นสิ่งที่ถูกนํามาพิจารณาด้วย มันเลยไม่ใช่แค่การที่ศิลปินอย่างวันทนีย์วาดภาพนกแก้วหรือช้างในรูปแบบใหม่ แต่เธอสร้างความสัมพันธ์ทางอารมณ์อันเฉพาะเจาะจงกับสัตว์เหล่านั้นอย่างที่เราไม่สามารถหาได้จากศิลปินคนอื่นๆ มันเกี่ยวกับคุณสมบัติทางอารมณ์ความรู้สึก, ความเคารพ, ความรัก, ความผูกพันกับธรรมชาติและแก่นแท้ทางจิตวิญญาณ”


“ผมรู้สึกประทับใจเมื่อผมได้พูดคุยกับศิลปินเหล่านี้ ได้สัมผัสกับแก่นแท้ทางจิตวิญญาณ รวมถึง ส่วนหนึ่งในชีวิตประจําวันของพวกเขา ท้ังวิธีคิด, อารมณ์ความรู้สึก, การกระทําบางอย่างของพวกเขา ทําให้ผมเข้าใจว่า สิ่งเหล่านี้มีความสําคัญ และเชื่อมโยงสัมพันธ์ ไม่แพ้ผลงานของศิลปินระดับปรมาจารย์อย่างปิกัสโซ ผมคิดว่าความสัมพันธ์กับวัฒนธรรมอื่นๆ นั้นแสดงให้เห็นว่าเราอยู่ในโลก ใหม่ที่แตกต่างจากยุคสมัยก่อนหน้านี้”
สิ่งที่น่าสังเกตอีกประการในนิทรรศการครั้งนี้ก็คือ ความเชื่อมโยงระหว่างประเทศในแถบเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้, แอฟริกา, อเมริกาใต้เหล่านี้ มีความคล้ายคลึงกันตรงการสร้างสรรค์ด้วยสองมือคน อย่างงานหัตถกรรม, งานเย็บปักถักทอ, งานหล่อโลหะ, งานไม้ และเซรามิก โดยไม่ค่อยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอันล้ําสมัยเท่าไรนัก เราสังเกตเห็นว่าผลงานในนิทรรศการนี้เองใช้กระบวนการและเทคนิคอันเรียบง่ายในการสร้างสรรค์ผลงานเช่นเดียวกัน ซึ่งภัณฑารักษ์เสริมว่า
“นี่เป็นประเด็นที่สําคัญมากๆ ไม่ใช่แค่ในนิทรรศการนี้เท่านั้น แต่รวมถึงสถานการณ์ในปัจจุบันด้วย ถ้าเรามองในหลายศตวรรษที่ผ่านมา ประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกไม่ให้ความสําคัญกับรูปแบบทางศิลปะอื่นๆ นอกจากงานจิตรกรรมและประติมากรรม ถ้าคุณหยิบหนังสือศิลปะยุโรปหรืออเมริกัน คุณก็จะพบศิลปะสองประเภทนี้เท่านั้น ส่วนงานฝีมืออย่าง สิ่งทอ, งานเย็บปักถักร้อย, งานวาดเส้น, เซรามิก ต่างถูกมองว่าไม่เป็นศิลปะ หรือเป็นศิลปะนาอีฟ (Naive Art) เป็นงานที่ผู้หญิงทํา หรือเป็นงานบ้านที่ไม่มีความสลักสําคัญ แต่ทุกวันนี้ ความคิดเช่นนี้ได้เปลี่ยนไป เพราะกระบวนการทํางานแบบนี้ ประเพณี และงานฝีมือเหล่านี้ เป็นหนี่งในมรดกอันรุ่มรวยที่สุดของมนุษยชาติ เป็นทักษะและวิธีการที่ปรากฏมานับพันนับหมื่นปีแล้ว คุณไม่สามารถเพิกเฉยต่อสิ่งเหล่านี้ได้อีกต่อไป สิ่งเหล่านี้เป็นการแสดงออกอย่างจริงใจและเป็นธรรมชาติที่สุดของมนุษย์ นี่คือแง่มุมอันสําคัญที่สุดของศิลปะร่วมสมัยที่แตกต่างจากแนวคิดของศิลปะสมัยใหม่”

“ไม่ว่าจะเป็นงานเซรามิกของโซ ยู นเว หรือผลงานประติมากรรมไม้ของธวัชชัย ที่ทําทุกสิ่งทุกอย่าง ด้วยตัวเอง หรือผลงานของต่อลาภ ที่ถึงแม้จะเป็นการหยิบจับวัสดุสําเร็จรูปมาผสมผเสกัน แต่เขาก็ทําทุกอย่างด้วยสองมือและจินตนาการของเขา เช่นเดียวกับผลงานของไอร์สัน ที่หยิบเอาการเต้นและดนตรีที่ทาสชาวแอฟริกันนําพาเข้ามาในบราซิลเมื่อสี่ห้าร้อยปีที่แล้ว ซึ่งยังคงมีชีวิตอยู่จนถึงทุกวันนี้อย่างทรงพลัง แก่นแท้ทางจิตวิญญาณเหล่านี้เป็นอะไรที่น่าทึ่งมาก เพราะความร่วมสมัยไม่ใช่ความสมัยใหม่ แต่คือสิ่งที่อยู่ตรงนั้น ณ เวลานั้น เป็นความหลากหลายที่อยู่ในชีวิตประจําวันของมนุษย์เราเสมอมา สิ่งที่ทําให้งานเหล่านี้มีคุณค่า ไม่ใช่เทคโนโลยีอันล้ําสมัย แต่คือสิ่งที่เทคโนโลยีเหล่านี้พัฒนาอารมณ์, ความรู้สึก, จินตนาการ, ความคิดฝันของเราได้อย่างไรต่างหาก”
สิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งอีกประการในนิทรรศการครั้งนี้ คือการใช้เทคโนโลยีบ้านๆ อย่างพัดลมธร รมด๊าธรรมดาเป่าลมให้โมเสคกระดาษภาพผืนป่าของวุธ ลีโน พลิ้วไหวไปมา หรือการใช้คลิปหนีบ กระดาษบ้านๆ หนีบผลงานของโยนามิน ให้ห้อยแขวนแสดงอยู่บนผนังนั่นเอง
ท้ายสุด ภัณฑารักษ์ผู้นี้ยังกล่าวทิ้งท้ายฝากถึงนิทรรศการครั้งนี้ของเขาว่า
“สิ่งที่ผมอยากให้ผู้คนที่มาชมนิทรรศการครั้งนี้รู้สึก คือสิ่งที่ผมรู้สึกเช่นกัน นั่นคือการเข้าถึงและ เข้าใจศิลปินแต่ละคนจากหลากหลายสถานที่ทั่วทุกมุมโลก ได้ครุ่นคิด, จินตนาการ และผสมผสาน สิ่งต่างๆ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเรากับธรรมชาติ, ความหวัง ด้วยการยอมรับความหลากหลายของความสัมพันธ์เหล่านี้จะทําให้มนุษย์เราให้คุณค่ากับตัวเองและยอมรับซึ่งกันและกันได้มากขึ้น คงจะดีไม่น้อย ถ้าเราจะมีโอกาสได้มีความสุขกับทุกคนในนิทรรศการครั้งนี้ร่วมกัน”
นิทรรศการกลุ่ม How Many Worlds Are We? โดยภัณฑารักษ์ อเล็กซานเดร เมโล จัดแสดงตั้งแต่ วันที่ 20 กรกฎาคม – 29 ตุลาคม 2566 ณ หอศิลป์บ้านจิมทอมป์สัน, แกลเลอรี่ 1-2 ชั้น 3, เปิดทําการทุกวัน เวลา 10:00 - 18:00 น. ค่าเข้าชม: 50 บาท, สมาชิกและเด็กที่มีอายุต่ํากว่า 10 ปี เข้าชมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย, สถาบันการศึกษาสามารถขอเข้าชมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย (ติดต่อล่วงหน้า)
How Many Worlds Are We? สํารวจมุมมองทางวัฒนธรรมและความสัมพันระหว่างธรรมชาติและจิตวิญญาณจากโลกสองฟากฝั่ง
/
ในอดีตที่ผ่านมา ในแวดวงศิลปะ(กระแสหลัก)ในบ้านเรา มักมีคํากล่าวว่า ศิลปะไม่ควรข้องแวะกับ การเมือง หากแต่ควรเป็นเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึก ความงาม สุนทรียะ และจิตวิญญาณภายในอัน ลึกซึ้งมากกว่า แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าจะในยุคสมัยไหน ศิลปะไม่เคยแยกขาดออกจาก การเมืองได้เลย ไม่ว่าจะในยุคโบราณ ที่ศิลปะถูกใช้เป็นเครื่องมือรับใช้ชนชั้นสูงและผู้มีอํานาจ หรือใน ยุคสมัยใหม่ที่ศิลปะถูกใช้เป็นเครื่องมือแสดงออกถึงอุดมการณ์ทางสังคมการเมือง หันมามองในบ้าน เราเอง ก็มีศิลปินไทยหลายคนก็ทํางานศิลปะทางการเมืองอย่างต่อเนื่องยาวนาน ในการสะท้อนและ บันทึกประวัติศาสตร์การเมืองไทยได้อย่างเข้มข้น จริงจัง
/
เหตุการณ์นี้เป็นอุทาหรณ์ให้เรารู้ว่า การก๊อปปี้ก็ไม่ได้เลวร้ายเสมอไป เพราะอย่างน้อยที่สุด ก็ทําให้ เราได้รู้ว่าผลงานต้นฉบับของจริงในช่วงเวลาที่เสร็จสมบูรณ์นั้นมีความดีงามขนาดไหน ไม่ต่างอะไรกับศิลปินร่วมสมัยสัญชาติไทยอย่าง วิชิต นงนวล ที่หลงใหลศรัทธาในผลงานของศิลปิน ระดับปรมาจารย์ในยุคสมัยใหม่ของไทยอย่าง จ่าง แซ่ตั้ง ตั้งแต่ครั้งยังเยาว์ ในวัยของนักเรียน นักศึกษา เรื่อยมาจนเติบโตเป็นศิลปินอาชีพ ความหลงใหลศรัทธาที่ว่าก็ยังไม่จางหาย หากแต่เพิ่มพูน ขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดก็สุกงอมออกดอกผลเป็นผลงานศิลปะในนิทรรศการ The Grandmaster : After Tang Chang ที่เป็นเสมือนหนึ่งการสร้างบทสนทนากับศิลปินระดับปรมาจารย์ผู้นี้
/
“ยูบาซาโตะ เดินผ่านตามแนวต้นสนขึ้นไปบนภูเขาศักดิ์สิทธิ์ เพื่อไปก่อสร้างสถูปดิน และมักจะโดน ทีมงานช่างบ่นทุกวันเกี่ยวกับการก่อสร้าง ที่มีเวลาอยู่อย่างจํากัด เขาเพียงได้แต่ตอบไปว่า .. บุญกุศล นําพาและเวลามีเท่านี้ ขอให้ทําสิ่งดีๆ ให้เต็มที่ ต่อสถานที่บนภูเขานี้เถอะ อย่าบ่นไปเลย เราอาจจะ พบกันแค่ประเดี๋ยวเดียว แต่สิ่งเหล่านี้จะอยู่ต่อไปอีกหลายร้อยปี ... ทีมงานทุกคนเพียงส่งรอยยิ้มที่ เหนื่อยล้ากลับมา ก็เพราะต้องทนร้อนทนแดด และเปียกฝนสลับกันไป จากสภาวะโลกเดือด ที่ทุกคน ต่างพูดถึง แต่ก็จะมาจากใคร ก็จากเราเองกันทั้งนั้น ... แม้จะมาทํางานบนภูเขาก็จริง แต่เขาก็ยังคง คิดถึงเหตุการณ์ภัยน้ําท่วมดินโคลนถล่มที่ผ่านมา อีกทั้งความเสียหายต่อข้าวของที่ต้องย้ายออกจาก บ้านเช่าและค่าใช้จ่ายหลังน้ําท่วมที่ค่อนข้างเยอะพอควร และยิ่งในสภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจแบบนี้...
/
หากเราเปรียบสงคราม และอาชญากรรมที่กระทำต่อมนุษย์ อย่างการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การสังหารหมู่ และการล่าอาณานิคม เป็นเหมือนการสร้างบาดแผลและความแตกร้าวต่อมวลมนุษยชาติ ศิลปะก็เป็นหนทางหนึ่งในการเยียวยาซ่อมแซมบาดแผลและความแตกร้าวเหล่านั้น แต่การเยียวยาซ่อมแซมก็ไม่จำเป็นต้องลบเลือนบาดแผลและความแตกร้าวให้สูญหายไปเหมือนไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น หากแต่การเหลือร่องรอยแผลเป็นและรอยแตกร้าวที่ถูกประสาน ก็เป็นเสมือนเครื่องรำลึกย้ำเตือนว่า สิ่งเหล่านี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว และไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้นอีกซ้ำเป็นครั้งที่สอง เช่นเดียวกับสิ่งที่ปรากฏในนิทรรศการ “Urgency of Existence” นิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งแรกในเอเชียของ คาแดร์ อัทเทีย (Kader Attia) ศิลปินชาวฝรั่งเศส - แอลจีเรีย ผู้มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ เขาเป็นหัวหอกในการทำงานศิลปะผ่านสื่ออันแตกต่างหลากหลาย ที่นำเสนอแนวคิดหลังอาณานิคม และการปลดแอกอาณานิคม จากมุมมองของตัวเขาเอง ที่มีประสบการณ์ทางตรงและทางอ้อมของผู้ที่เคยถูกกดขี่และถูกกระทำจากลัทธิล่าอาณานิคมในศตวรรษที่ผ่านมา
/
ในช่วงปลายปี 2024 นี้ มีข่าวดีสำหรับแฟนๆ ศิลปะชาวไทย ที่จะได้มีโอกาสชมผลงานศิลปะร่วมสมัยของเหล่าบรรดาศิลปินทั้งในประเทศและระดับสากล ยกขบวนมาจัดแสดงผลงานกันในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 แล้ว โดยในเทศกาลศิลปะครั้งนี้นำเสนอผลงานศิลปะจาก 76 ศิลปิน 39 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ภายใต้ธีมหลัก “รักษา กายา (Nurture Gaia)” ที่ได้แรงบันดาลใจจากเทพี ไกอา (Gaia) ในตำนานเทพปรณัมกรีก หรือพระแม่ธรณีผู้ให้กำเนิดและหล่อเลี้ยงสรรพชีวิต เพื่อแสดงถึงความสัมพันธ์อันสอดประสานกลมกลืนกันระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ
/
เมื่อพูดถึงชื่อ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล หรือ เจ้ย มิตรรักแฟนหนังหลายคนน่าจะรู้จักเขาในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยผู้เปี่ยมไปด้วยความเป็นศิลปะที่สุด ไม่เพียงแค่ในประเทศไทย แต่หมายรวมถึงในสากลโลก ยืนยันด้วยรางวัลสำคัญจากเทศกาลภาพยนตร์ระดับโลกหลายต่อหลายรางวัล ไม่ว่าจะเป็นรางวัลยอดเยี่ยมในการฉายสายรอง (Un Certain Regard) จากภาพยนตร์เรื่อง สุดเสน่หา (Blissfully Yours) (2002) และรางวัลขวัญใจคณะกรรมการ (Jury Prize) จากภาพยนตร์เรื่อง สัตว์ประหลาด! (Tropical Malady) (2004) จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ในปี 2002 และ 2004, หรือภาพยนตร์เรื่อง แสงศตวรรษ (Syndromes and a Century) (2006) ของเขาก็ได้รับเลือกให้เข้าชิงรางวัลสิงโตทองคำในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิส ในปี 2006 และคว้ารางวัลกรังปรีซ์จากเทศกาลภาพยนตร์ Deauville Asian Film Festival ในปี 2007, และภาพยนตร์เรื่อง รักที่ขอนแก่น (Cemetery of Splendor) (2015) ของเขาก็คว้ารางวัลยอดเยี่ยมจากเวที Asia Pacific Screen Awards ในปี 2015, ที่สำคัญที่สุด อภิชาติพงศ์ยังเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้รับรางวัล ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมปาล์มทองคำ (Palm d’or) จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ครั้งที่ 63 ในปี 2010 จากภาพยนตร์เรื่อง ลุงบุญมีระลึกชาติ (Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives) (2010), และล่าสุด ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องล่าสุดของเขาอย่าง Memoria (2021) ยังคว้ารางวัล Jury Prize ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ครั้งที่ 74 ในปี 2021 มาครองได้อีกครั้ง อีกทั้งยังได้รับเสียงวิจารณ์เชิงบวกอย่างท่วมท้นจากสื่อมวลชนนานาชาติ
We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )