LOOKING ON EVERYTHING ?
EXPLORE ON EVERYTHING

ศูนย์การเรียนรู้สร้างสรรค์สำหรับเด็ก หรือ KIDative กำเนิดขึ้นโดยสองผู้ก่อตั้ง คือ ตอง-นพปฏล เทือกสุบรรณ ที่มีอาชีพเป็นสถาปนิก มัณฑนากร อาจารย์พิเศษคณะศิลปกรรมศาสตร์ และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านการกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และค้นหาตัวตน และ กอล์ฟ-วรุตม์ เหลืองวัฒนากิจ ผู้ทำงานวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาด และที่ปรึกษาการตลาดดิจิตัลในแวดวงโฆษณา โดยริเริ่มโครงการเล็กๆ นี้ในงานสถาปนิกหรือ ASA เมื่อปี 2558 เพื่อพัฒนาระบบการศึกษาผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย และมุ่งมั่นดึงศักยภาพของเด็กแต่ละคนผ่านทักษะ และแนวคิดจากประสบการณ์จริงมาตลอดระยะเวลา 5 ปี อีกทั้งยังมีหลายโปรเจกท์สร้างสรรค์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

Photographer:
Suppha-riksh Phattrasitthichoke
Writer:
Nattanart Suprapatanant
Facebook:
kidative
Instagram:
kidative.designlab

DESIGN LAB FOR KIDS
KIDative พื้นที่ให้คิดส์ ได้คิด
อย่างสร้างสรรค์
“วันนี้โรงเรียนปิดครับ ปกติวันธรรมดาเราจะใช้สตูดิโอนี้เป็นพื้นที่ในการเตรียมตัวสอนของพวกผม และทีมงานในช่วงสุดสัปดาห์” คุณกอล์ฟ-วรุตม์ เหลืองวัฒนากิจ และ คุณตอง-นพปฎล เทือกสุบรรณ ออกมาต้อนรับและทักทายพวกเราอย่างตื่นเต้น ทั้งคู่คือ Partnership ทางอุดมการณ์ และธุรกิจ พื้นฐานของความสงสัย และต้องการพัฒนากระบวนการบางอย่างในระบบการศึกษาในประเทศไทย ประสบการณ์ในสายงานครีเอทีฟ และการเป็นสถาปนิก ทำให้ทั้งคู่เข้าใจในวิวัฒนาการรวมไปถึงแนวโน้มของธุรกิจนี้

ชั้น 3 ของโครงการ The Jas วังหิน ด้านหน้าของ KIDative ไม่สามารถบ่งบอกเราได้ว่าที่นี่คือที่ไหน โรงเรียนสอนศิลปะ หรือที่กวดวิชาออกแบบโครงสร้างกันแน่
เข้าสู่ปีที่ 5 แล้ว สำหรับแหล่งเรียนรู้แห่งนี้ เริ่มต้นจากการจัดกิจกรรมให้สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่งาน ASA เป็นปีแรกที่สมาคมอยากสื่อสารกับเยาวชน และ KIDative ได้มีโอกาสเข้าไปจัด Workshop 5 วัน การทดลองถ่ายทอดกระบวนการคิดอีกรูปแบบหนึ่ง ที่พวกเขาว่ามันน่าจะเป็นอะไรแปลกใหม่ กลุ่มเด็กๆ ที่เข้าร่วมในตอนนั้นอายุประมาณ 3-4 ขวบ เลยเป็นครั้งแรกที่ KIDative กับกลุ่มที่เป็นครอบครัว ทำผลงานผ่านกระบวนการคิดในเชิงออกแบบเป็นครั้งแรก
“จบปีแรกเราได้รับความเมตตาอย่างสูงจาก ผศ. รชต ชมพูนิช ไปจัดเวิร์กช็อปต่อที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่ท่านไม่อยากให้มันจบอยู่แค่ในงาน ก็ไปจัดเป็นลักษณะ Event Base ต่อเนื่องหลังจากนั้น” คุณตองกล่าว
“เราก็เริ่มเห็นโครงสร้างที่ค่อนข้างชัดเจน จากเดิมที่เป็นกลุ่มเล็กๆ ก็จะมีกลุ่มที่แยกออกมา คือมีเด็กเล็กที่อยากสนุกกับพ่อแม่ กับเด็กโตที่เริ่มไม่อยากอยู่กับพ่อแม่แล้ว ก็เริ่มแยกเป็นสองกลุ่มที่ชัดเจน หรือพ่อแม่ที่อยากฝากลูกไว้ก็มี (หัวเราะ)”
ทั้งคู่เริ่มเล่าถึงการวิธีที่พวกเขานำมาประยุกต์ให้เข้ากับคาแรคเตอร์ของเด็กแต่ละคน รวมทั้งพื้นฐานที่แตกต่าง ทำให้เกิดความหลากหลายในการถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจสู่เด็กๆ
“ตอนนั้นเราก็ใช้วิธีการเยอะในการออกแบบกระบวน การเล่นให้กับเด็กสองกลุ่ม แล้วพอผลลัพธ์มันออกมา Output ค่อนข้างดี นั่นก็เป็นเหตุผลให้เรามานั่งคุยกันจนสุดท้ายตกตะกอนว่า เราต้องทำสตูดิโอของตัวเอง”


ข่าววาฬเกยตื้นที่ชายฝั่งฟิลิปปินส์ สู่การเปลี่ยน Mindset ของการแก้ปัญหาที่มีความอิสระในแบบของเด็ก
“คือบางทีเวลาเราทำงานกับเด็กเนี่ย คนมักจะคิดว่าเด็กฟุ้งเต็มไปหมด จินตนาการเยอะ แต่จริงๆ พอเราเริ่มเชื่อมโยงได้สิ่งที่เราเห็นคือ Solution เพราะฉะนั้นเราเลยค่อยๆ ปรับวิธีในการคุยกับเด็ก เดิมทีเราคุยกันเรื่องว่าชอบอะไร ทีนี้เราก็ขยับมาเป็นการคุยด้วยหัวข้อนั้นๆ เช่นสัปดาห์ที่แล้วมีข่าวปลาวาฬเกยตื้นที่ชายฝั่งฟิลิปปินส์ พอผ่าท้องออกมาดูก็พบว่ามีเศษพลาสติกเต็มไปหมด ถ้าเราจะช่วยเรื่องพลาสติกในทะเลเราจะช่วยได้ยังไง ซึ่งถ้าเป็นการพูดคุยปกติ เด็กๆ ก็จะบอกว่า งั้นเราก็ช่วยกันเก็บขยะสิ คนละชิ้นสองชิ้น แต่เมื่อเราฉายภาพใหญ่ให้เขาเห็นว่าขยะในทะเลมันมีเป็นแสนตัน เก็บคนละชิ้นเมื่อไหร่จะหมด เราคิดว่าเด็ก KIDative สามารถคิดได้ไกลกว่านั้น สิ่งหนึ่งที่ผมพยายามพูดกับเด็กๆ เสมอคือเราทำได้ ถ้าเราเชื่อว่ามันทำได้ เดี๋ยววันนึงเทคโนโลยีจะช่วยให้มันทำได้เอง”
คุณกอล์ฟอธิบายให้เราเข้าใจว่า การเริ่มต้นความคิดช่วยกันเก็บขยะเป็น Mindset ที่ดี แต่อะไรที่พวกเขาสามารถทำได้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนกว่า เพราะพวกเขาเชื่อว่ากระบวนการทางความคิดเป็นก้าวแรกที่สำคัญมาก หากเขาสนใจมันจริงๆ บนโลกนี้มันมีเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งที่เด็กๆ สนใจแบบไหนบ้าง
หากวัฒนธรรมทางความคิดคือจุดเริ่มต้นของเทคโนโลยี ดังนั้นไม่จำเป็นเลยในการเปลี่ยนกระบวนการหาทางออก
“ผลงานที่เล่าเรื่องระบบความคิดของเด็กที่ถูกถ่ายทอดหลังจากที่พวกเขาได้รับ ‘การเทรน’ มาอย่างดี ด้วยการรู้จักการแก้ไขปัญหา และเข้าใจเมื่อต้องพบกับสิ่งที่ไม่ได้ดั่งใจ เด็กๆ จะเข้าใจว่าด้วยเหตุใด เพราะอะไร และทำไม”
“การคุยถึงประเทศหรือปัญหาสิ่งแวดล้อม ทำให้เราพิสูจน์ได้ว่าสิ่งที่เราคิดมันมาถูกทางระดับหนึ่ง และอีกก้าวสำคัญของโปรเจกท์คือการทำให้เขาได้ทำงานกับคนอื่นที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เขาสนใจแบบร่วมกัน ถ้าเขาทำได้เราเชื่อว่าโตขึ้นเขาจะพร้อมทำงานจริงได้”
เราจะเห็นผลงานที่ไร้การจำกัดความ และไอเดียอันเจิดจรัสของเด็กๆ ว่านี่คือตึก บ้าน หรือสถานที่อะไรกันแน่ รายละเอียดที่มีแปะไว้บนผลงาน บางชิ้นทำให้เราต้องทึ่งเมื่อรู้ว่าอายุของเจ้าของผลงานนั้นบางคนอายุแค่ 6 ขวบเท่านั้น คุณตองยังชี้ให้เราดูโมเดลที่เป็นตึกสูงหน้าตาประหลาด ที่วางเรียงกันอยู่บนโต๊ะ ดูเหมือนนี่จะเป็นคอมมูนิตี้มอลล์เล็กๆ ในโลกแห่งอนาคต แต่ที่ทำให้เรารู้สึกทึ่งกับผลงานทุกๆ ชิ้นตรงหน้าเรานี้ก็คือ เราสามารถเห็นจินตนาการของเด็กๆ ที่เริ่มต้นจากการกำหนดโจทย์จากทาง Kidative ที่ทำให้เราต้องคิดย้อนกลับไปว่าตอนที่เราอายุเท่าพวกเขา เราทำอะไรอยู่?
ในแง่ของความสำเร็จ ถือว่า KIDative เป็นแหล่งความรู้แนวใหม่ของประเทศไทย รวมทั้งระบบการศึกษา เมื่อเวลาผ่านไปจนถึงจุดที่พวกเขาเริ่มพอใจกับมันแล้ว เราก็ไม่ลืมที่จะถามคำถามที่ว่า แล้วอะไรคือ What’s Next ของพวกเขา
“เราพยายามผลักดันเด็กๆ ให้ไปได้ไกลมากที่สุดเท่าที่จะทำได้”
คุณตองตอบเราอย่างว่องไวเหมือนนี่คือสิ่งที่อยู่ในหัวสมองของเขาตลอดเวลาอยู่แล้ว แววตามุ่งมั่นของเขากำลังบอกว่า สิ่งต่อไปที่เขากำลังจะอธิบายเพิ่มเติมมันจะเป็นจริงในเร็ววันนี้



“What’s Next” ของผมอันแรกที่ตั้งใจไว้ภายใน 10 ปีนี้ คือการทำ Professional Practice คือเราเชื่อว่าเด็กอาจจะมีศักยภาพเกินกว่าสตูดิโอไปแล้ว เราพยายามหาวิธีเชื่อมเด็กๆ และผู้รู้ตัวจริงในด้านต่างๆ ผมเคยไปคุยกับโรงพยาบาลเด็ก อันนี้เป็นโปรเจกท์ที่น่าจะเกิดขึ้นภายในระยะเวลาประมาณ 2-3 เดือนนี้ ซึ่งเด็กๆ ที่เข้าไปก็จะได้ใช้ แนวคิดเชิงการออกแบบในแบบที่เขาคิดว่าสามารถนำมาแก้ปัญหาให้โรงพยาบาลแห่งนั้นได้ ซึ่งอาจจะเป็นแค่แผนกเล็กๆ แต่ผลงานของพวกเขามันได้เกิดขึ้นแล้วอยู่ตรงนั้นจริงๆ และสเต็ปต่อไปเราก็จะให้มืออาชีพเข้ามาเพื่อทำให้เกิดการทำงานร่วมกัน ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นประโยชน์กับทั้งเด็กและโรงพยาบาล”
ในมุมมองของ KIDative สิ่งสำคัญสำหรับเด็กไม่ใช่เรื่องไกลอื่น แต่คือแรงสนับสนุนจากผู้ปกครอง ส่วนแรงผลักดันที่ทาง KIDative สามารถเติมเต็มให้ได้ พวกเขาหวังว่าระบบหรือกระบวนการคิดทั้งหมดทั้งปวงนี้ จะเพิ่มต้นทุนบางอย่างที่สุดท้ายจะกลายเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่ติดตัวเด็กๆ ไปตลอดชีวิต

อนาคตระบบการศึกษาด้านครีเอทีฟจะถูกบูรณาการให้เข้ากับยุคสมัย
“สิ่งที่ต้องเติมก็คือองค์ความรู้ใหม่ ประสบการณ์เรามีอยู่แล้ว แต่ในฐานะนักทำงานด้านวิชาชีพ การอ่าน การฟังพ็อดคาสท์ ก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องทำอยู่ เราเชื่อว่าองค์ความรู้ที่เรามีมันอาจจะล้าสมัย เราเลยต้องหาข้อมูลใหม่ๆตลอดเวลา”
สำหรับคุณกอล์ฟ - เขาเริ่มต้นทำงานในการเป็นนักสื่อสารและคนวางกลยุทธ์ทางการตลาด เขาบอกว่าสิ่งที่เขาสนใจมีมากกว่า 1-2 อย่าง ดังนั้นมันจึงกลายเป็นข้อดีของการที่เขายังอยากรู้อะไรใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา และวิธีการถ่ายทอดให้ผู้คนเข้าใจในสิ่งที่เขากำลังจะทำ คือความท้าทาย
“สำหรับผมอันนี้มันเป็นปมด้อยมาตั้งแต่เด็ก คือชอบทุกอย่างแต่ไม่ได้รู้ลึกในทุกๆ อย่าง ดังนั้นผมคิดว่าการทำการบ้านให้ตัวเองก่อนที่จะไปคุยกับเด็กๆ ก็เป็นเรื่องสำคัญนะ เหมือนพอเราจูนกันติด เราเข้าใจในความสนใจของเขา มันง่ายที่จะต่อยอดว่าเราจะคุยอะไรกันต่อ”
ในมุมหนึ่งของคุณกอล์ฟ จะใช้เวลาว่างที่เขาบอกว่า “ถ้ามี” ออกไปเดินทางด้วยมอเตอร์ไซค์คู่ใจของเขาเพื่อออกไปหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ
“ปกติผมจะใช้เวลาประมาณ 10-15 วัน ผมรู้สึกว่าการออกทริป มันทำให้เรารู้สึกว่าจริงๆแล้ว เราพร้อมที่จะเจออะไรที่เราไม่คาดฝัน ผมไม่ค่อยสนใจเรื่องจุดหมายปลายทาง แต่ความสนุกมันเกิดขึ้นจากสิ่งที่ได้เห็นและเกิดขึ้นระหว่างทางมากกว่า ”
ในขณะที่คุณตองบอกกับเราว่า ชีวิตของเขาขับเคลื่อนด้วยสองอย่าง หนึ่งคือการเป็นสถาปนิก และมุมสนุกเล็กๆ ของเขาคือการสนใจของเล่น หุ่นยนต์ต่างๆ
“สำหรับงานสถาปนิก ผมบอกตัวเองว่าผมวางมือแล้วที่จะเอาสิ่งนี้มาเป็นอาชีพ ตอนนี้ผมสนใจเรื่องการออกแบบและสร้างตัวละคร เรื่องของเล่นแล้วก็พวกการ์ตูน แต่ผมก็ไม่สามารถทำมันออกมาเป็น Product ของตัวเองได้ ดังนั้นทั้งสองส่วนเป็นสองสิ่งที่ผมนำมันมาขับเคลื่อน KIDative ให้เด็กๆ สร้างผลงานออกมาโดยไม่ยึดติดกับข้อจำกัดหรือสนใจความเป็นไปได้ทางการก่อสร้างมากเท่าวิสัยทัศน์ที่เขาสะท้อนออกมา”
Kidative ไม่ใช่โรงเรียนศิลปะเหมือนที่หลายคนอาจ มองว่ามันเป็น แม้แต่คอร์สเรียนวิชาครีเอทีฟสำหรับเด็กก็ยังไม่ใช่ แต่ KIDative คือสนามเด็กเล่นในฝันของเด็กๆ ทุกคน รวมทั้งเป็นที่ที่ผู้ใหญ่อย่างเราสามารถเติมเต็มความเป็นเด็กในตัวเรา และยังเป็นโปรเจกท์ที่สามารถมองเห็นอนาคตที่น่าจะเป็นกับลูกหลานของพวกเราได้ หากลองปล่อยให้พวกเขาได้เล่น ให้จินตนาการนำพวกเขาไปสู่ความสนใจที่แท้จริง โดยมีผู้ใหญ่ที่เข้าใจคอยดูแล และให้คำปรึกษาอยู่ห่างๆ เราเชื่อว่าคำตอบของ What’s Next ที่ KIDative อยากให้เป็น อยู่ในคำตอบนี้แล้ว
TAG
KIDative พื้นที่ให้คิดส์ ได้คิด อย่างสร้างสรรค์
/
CONTRIBUTORS
RECOMMEND
/
การแก้สมการเพื่อชุมชนผ่านสถาปัตยกรรมร่วมสมัย
/
กลุ่ม MELAYU LIVING ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2558 โดยเริ่มจากการรวมกลุ่มสถาปนิกในพื้นที่เพื่อจะขยายการทำงานในภูมิภาคมากขึ้น ก่อนจะเริ่มมีคนจากหลากหลายอาชีพเข้ามาทำงานอาสา สมาชิกส่วนใหญ่ประกอบด้วยสถาปนิกจากปัตตานี ยะลา นราธิวาส ช่างภาพ กราฟิกดีไซเนอร์ คอลัมนิสต์ ซึ่งเป็นคนที่เติบโตมาในพื้นที่ หรือเรียนจบจากกรุงเทพฯ และต่างประเทศ โดยปัจจุบัน ราชิต ระเด่นอะหมัด ดำรงตำแหน่งประธานกลุ่ม และมีสมาชิกจำนวน 18 คน จัดกิจกรรมเพื่อสร้างสรรค์ความเข้าใจเรื่องงานออกแบบที่เป็นพื้นฐานในชีวิตปัจจุบันของทุกคน จนสามารถนำไปต่อยอดให้เกิดการพัฒนาตามความถนัดของแต่ละคนได้ นอกจากนี้พวกเขายังให้ความสำคัญทั้งความคิดสร้างสรรค์ และเรื่องของสันติภาพการอยู่ร่วมกันซึ่งเป็นตัวเชื่อมโยงทั้งคนจีน คนไทย คนมุสลิมโดยไม่แบ่งแยกเเละทำให้เกิดบรรยากาศที่ดีในพื้นที่ชายเเดนใต้
/
สำหรับคนรักมอเตอร์ไซค์คงได้ยินชื่อของ 8080 Cafe กันอยู่บ้างแล้ว ซึ่งนับเป็นอีก Community ที่รวมเอาคนที่มี Passion คล้ายๆ กันมาอยู่รวมกัน และเมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา ทางร้านได้จัดงาน 8080 ANALOG DAY โดยคุณเจี๊ยบ ชัยวัฒน์ สิงหะและคุณหนาน ชเนศร์ ธนพัชรศิริ ผู้ร่วมก่อตั้งเล่าว่า
/
อีกครั้งกับการที่เหล่าไบเกอร์ร่วมใส่สูท ผูกไทด์ ขี่มอเตอร์ไซค์รอบเมือง เพื่อระดุมทุนช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมาก ในงาน The Distinguished Gentleman's Ride 2018
/
"Moto Guzzi Night Clan : Ride in the City" งานที่รวมแฟมิลี่และคนรัก Moto Guzzi มาทำกิจกรรมร่วมกัน
/
ถ้าเอ่ยชื่อของ เปโดร อัลโมโดวาร์ (Pedro Almodóvar) หลายคนอาจรู้จักเขาในฐานะผู้กํากับเจ้าของ ฉายา “เจ้าป้าแห่งวงการหนังสเปน” ที่นอกจากหนังของเขาจะเต็มไปด้วยลีลาอันจัดจ้าน เปี่ยมสีสัน เต็มไปด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวอันแปลกประหลาดพิลึกพิลั่นพิสดารเหนือความคาดหมาย และถึง พร้อมไปด้วยศิลปะภาพยนตร์อย่างเต็มเปี่ยมแล้ว ด้วยความที่อัลโมโดวาร์หลงใหลในศิลปะอย่างลึก ซึ้ง ทําให้มักจะมีงานศิลปะปรากฏให้เห็นในหนังของเขาอยู่บ่อยครั้ง และนอกจากเขาจะหยิบงาน ศิลปะเหล่านั้นมาใช้ในหนังเพราะความหลงใหลและรสนิยมส่วนตัวอันวิไลของตัวเองแล้ว ในหลายๆ ครั้ง ผลงานศิลปะเหล่านั้นยังทําหน้าที่ในการช่วยขับเคลื่อนเรื่องราว ขับเน้นบุคลิกภาพของตัวละคร และเป็นสัญลักษณ์ที่สัมพันธ์กับเนื้อหาในหนังอย่างแนบเนียน
SIGN UP TO OUR NEWSLETTER
A Monthly update of the new issue from us
THANK YOU FOR YOUR SUBSCRIPTION
We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )