KIKI กับการเดินทางก้าวต่อไปของความคิดสร้างสรรค์บนเส้นทางดนตรี | IAMEVERYTHING.CO

LOOKING ON EVERYTHING ?

EXPLORE ON EVERYTHING

KIKI กับการเดินทางก้าวต่อไป ของความคิดสร้างสรรค์บนเส้นทางดนตรี

  ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ปีวงดนตรีสัญชาติไทยที่ชื่อ KIKI ได้ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในวงที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากทั้งในประเทศไทย ญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ ฮ่องกง ก็เพราะด้วยเสียงเพลงที่มีความเป็นเอกลักษณ์ และการนำเสนอแนวคิดที่ไม่เหมือนใคร รวมถึงความตั้งใจในการสร้างสรรค์ผลงานที่สะท้อนถึงตัวตนของพวกเขาได้อย่างชัดเจน

  ปี 2021 วง KIK “เฮเลน-เอเลน่า อะมาร็องตินิซ์ พันธุ์สุข” (นักร้องนำ) “บอส-ภูริช พันธุ์สุข” (มือกีตาร์/คีย์บอร์ด) และ “นนท์—ธนญ แสงเล็ก” (มือกีตาร์) สมาชิกทั้ง 3 คน ได้สร้างสรรค์เพลงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวจนเกิดเป็น Ep อัลบั้มที่ชื่อว่า “ We’re blamed for who we are, and then we are forgotten” และหลังจากนั้นเพียงปีเดียวอัลบั้มเต็มชุดแรก “Metamorphosis: Final Stage” (2022) ก็ได้ออกเดินทางให้ผู้คนทั้งในประเทศไทยและญี่ปุ่นได้ฟัง โดยการเดินทางในปีนั้นทางวงได้ออกอัลบั้มภายใต้ค่าย Parinam Music (ประเทศไทย) และยังได้จัดจำหน่ายขายอัลบั้มที่ประเทศญี่ปุ่นผ่านค่ายเพลง Big Romantic Records ซึ่งตรงจุดนี้เองที่ทำให้เป็นประตูไปสู่การทัวร์ประเทศญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง จนวง KIKI มีฐานแฟนเพลงชาวญี่ปุ่นมาเป็นอันดับหนึ่งจากยอดการฟังในสตรีมมิ่ง แต่การเดินทางของวงไม่จบเพียงเท่านั้น ปี 2023 พวกเขาก็ปล่อยอัลบั้มเต็มชุดที่สอง “Post-existential Crisis” ตามมาติด ๆ เพื่อตอกย้ำให้เห็นถึงความตั้งใจในเส้นทางนี้ สำหรับการแสดงสดของวง KIK จะมีทีมนักดนตรีสมทบอีก 6 คน รวมเป็น 9 คน ครบในทุกไลน์ดนตรี โดยในแต่ละโชว์จะเต็มไปด้วยพลังงานที่ถูกส่งผ่านออกมาทางเสียงแบบอัดแน่นในทุกรายละเอียด ใส่สุดในทุกเพลง ด้วยความสนุกและฝีมือทางด้านดนตรีที่วง KIKI จัดให้ผู้ชมในทุก ๆ โชว์แบบนี้ จึงทำให้มีโอกาสได้ไปเล่นตามประเทศต่าง ๆ หลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส เกาหลี ฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ และเดือนตุลาก็กำลังจะมีคอนเสิร์ตเดี่ยวที่ อินโดนีเซีย กับ ฟิลิปปินส์

  ในปีนี้ การเดินทางก้าวต่อไปที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ทางเสียงดนตรีจะเป็นอย่างไร อัลบั้มต่อไปจะได้ฟังเมื่อไหร่ และงานคอนเสิร์ต KIKI 5th DIMENSION EXHIBITION CONCERT ที่จะมาถึงมีความพิเศษอย่างไร การทัวร์ต่างประเทศจะสนุกแค่ไหน วันนี้ #IAMEVERYTHING จะพาไปสำรวจเบื้องหลังของวงดนตรีสัญชาติไทยที่ชื่อ KIKI กัน

อัลบั้มชุดใหม่กับการพาทุกคนเดินทางเข้าสู่โลกของเสียง

บอส : เราพยายามตกตะกอนจากทั้งสองอัลบั้มครับ ว่าจริง ๆ แล้วตอนนี้เราชอบอะไร ก็สรุปได้ว่าอัลบั้มนี้เราอยากจะดิสโก้มากขึ้นสนุกมากขึ้นมีจังหวะมากขึ้น ซึ่งจะมากกว่าทั้งสองอัลบั้มครับ ก็จะมีดิสโก้หลายแบบ แล้วก็จะมีพาร์ทที่เป็นซาวด์แบบอิเล็กทรอนิกส์ทดลองมากขึ้นด้วย

เฮเลน : คือตอนนี้ยังอยู่ในกระบวนการทํางานที่จะพัฒนาต่อไปได้เรื่อย ๆ ค่ะ คือด้วยวัยวุฒิเราที่มันเพิ่มขึ้น เราอยากจะเขียนอะไรที่มันซีเรียสมากกว่าที่ผ่านมา เพราะว่าตั้งแต่ Ep แรกกับสองอัลบั้มที่ผ่านมา เรารู้สึกว่าประสบการณ์และก็ชั่วโมงบินยังน้อยมาก ๆ อยู่ ฉะนั้นขอบเขตการเขียนการเรียนรู้เรื่องของโลกมันยังไม่ได้มากขนาดนั้น แต่ในอัลบั้มชุดที่สาม พวกเรารู้สึกว่าอยากจะเขียนอะไรที่จริงใจมากกว่าเดิม ไม่สนใจว่าจะต้องเขียนเรื่องอะไรเพื่อดึงดูดคนแบบไหนเป็นพิเศษ ไม่อยากวางแผนมากเกินไปเพราะมันเป็นการตีกรอบ ก็เลยรู้สึกว่าถ้าเราฟังดนตรีแบบนี้ แล้วเราได้ความรู้สึกแบบไหน ก็จะเขียนออกมาตามความรู้สึก ณ ตอนนั้น แต่ว่าสุดท้ายแล้วถ้าภาพรวมมันอยู่ด้วยกันไม่ได้เราก็เปลี่ยน ต้องบอกว่าอัลบั้มสามน่าจะเป็นอัลบั้มที่โตขึ้นมาอีกระดับนึงจากทุก ๆ ครั้งที่ทํา มันเป็นการหยิบ Element จากทุกอย่างที่เคยทํามาทั้งหมดแล้วเอามารวมกันเป็นหนึ่งเดียว

บอส : คือเรารู้จักตัวเองมากประมาณนึงแล้ว เพราะที่ผ่านมา KIKI เราทําอัลบั้มกันปีต่อปี แต่ครั้งนี้เราอยากให้เวลากับมัน เพราะในตอนแรกเราอยากให้คนรู้จักว่าเป็นใครเราก็รีบออกผลงาน แต่ตอนนี้เรารู้สึกว่าอยากจะช้ากับมันลงนิดนึง หลัก ๆ คืออยากให้ทุกเพลงเมื่อได้ฟังแล้วรู้สึกว่า เอ้ยยโคตรดี

เฮเลน : เรียกว่าเป็นเป้าหมายที่เคยคิดไว้ตั้งแต่แรกดีกว่า คือรู้สึกว่าคนแรกที่ได้ฟังมันคือ “เรา” แล้วถ้าเรายังไม่รู้สึกกับมัน คนอื่นจะไปรู้สึกได้ยังไง คือพอเราโตขึ้นความใจร้อนมันมีน้อยลง มีความใจเย็นมากขึ้นก็เลยอยากจะเอาตรงนั้นมาใช้กับงานที่ทํา ก็เลยให้เวลาตัวเองเพื่อตกตะกอน อย่างพี่นนท์เค้าก็จะฟังแล้วฟังอีก เช็คแล้วเช็คอีกอะไรที่เขารู้สึกว่ามันยังไม่ใช่ เราก็จะบอกว่า “ถ้ายังไม่ใช่ก็ไม่เอา” ไม่เอาในที่นี้คือเริ่มใหม่ดีกว่า เพราะว่าเรามีทรัพยากรที่เป็นทางด้านความรู้และก็ด้านอุปกรณ์ที่เราสามารถเริ่มใหม่ได้ทุกเมื่อ ก็เลยรู้สึกว่าไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องเก็บมันไว้ ถ้าเราทำไปแล้วมันยังไม่ใช่

บอส : เราไปได้อีก

เฮเลน : ใช่ เราไปได้อีกเรื่อย ๆ แล้วมันก็ยังเป็นการฝึกฝนกับค้นพบตัวเองในระหว่างที่ทำไปในตัว

บอส : ซึ่งเรากะเอาไว้คร่าว ๆ ว่าปีหน้าก็จะปล่อยอัลบั้มชุดที่สาม เพราะตอนนี้ก็มีเพลงอยู่แล้วประมาณนึง แต่ว่าเพิ่งลบทิ้งไปประมาณนึงเหมือนกัน ก็เพราะด้วยความคิดที่บอกไป (หัวเราะ) กำลังทำจะเสร็จล่ะ พอได้คุยกันก็คิดกันว่า “มันยังไปได้อีก”

เฮเลน : มันเหมือนพอเราฟัง แล้วเราตะหงิดกับมันนิดหน่อย คือเรื่องความรู้สึกมันเป็นเรื่องปัจเจกอยู่ละ แต่เรารู้สึกว่าเรื่องพวกนี้ไม่ควรติดจากเรามาตั้งแต่แรก

บอส : เพราะตอนที่เริ่มมันมีฐานที่ทําเสร็จเป็นเพลงไปแล้ว ซึ่งก็จะปล่อยเป็น Single เร็วๆนี้ ซึ่งฐานมันดีมาก เราก็เลยคิดว่าทุกเพลงต่อ ๆ ไป มันต้องได้ความรู้สึกที่ใกล้เคียงกับ 3 เพลงนี้ ก็ลองฟังกันเดือนนึงถ้ารู้สึกไม่ได้แก้ไม่ได้ก็ทําใหม่ ตอนนี้ก็เลยเป็นช่วงที่กําลังอยู่ในกระบวนการกันอยู่ครับ

เฮเลน : ไม่อยากเสียดายของ

นับถอยหลังงาน KIKI 5th DIMENSION EXHIBITION CONCERT

เฮเลน : งานคอนเสิร์ตนี้จริง ๆ ตอนแรกก็คิดกับพี่ปูม เพราะว่าปกติแล้วส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบงานคอนเสิร์ตเปิดอัลบั้ม แต่ของเราจะเป็นเหมือนการส่งท้ายอัลบั้มมากกว่า เพราะว่าเราอยากปิดฉากตรงนี้เพื่อก้าวต่อไปกับงานใหม่ ๆ ที่เราทํา แล้วเราก็รู้สึกว่ายังไม่ได้มีโอกาสและพื้นที่ในการขอบคุณคนดู เช่น เล่นเพลงอื่น ๆ ที่เรายังไม่เคยได้เล่นในอัลบั้มนี้ เพราะว่าที่ผ่านมาด้วยเวลาจํากัดในการเล่น เราไม่สามารถนำเพลงพวกนี้เข้าไปเล่นได้ด้วยปัญหาทาง Dynamic ของการวางเซ็ตลิสต์ ก็เลยคิดว่างานนี้อยากจะเรียกว่า “5th DIMENSION” เพราะว่ามันเป็นเพลงแรกของอัลบั้ม Post-existential Crisis ซึ่งตอนแรกบอกพี่ปูมว่า เราจะตั้งชื่องานเป็นชื่ออัลบั้มเราเลยดีไหม เพราะปกติเขาชอบตั้งกัน แต่เรารู้สึกอยากใช้ชื่อนี้มากกว่า เพราะว่า Post-existential Crisis มันเหมือนเป็นสิ่งที่บอกองค์ประกอบโดยรวมว่าเราเจอ Crisis ชีวิตทั้งก่อนและหลังอะไรมาบ้างมันคือการเดินทางของเรา แต่ 5th DIMENSION มันคือเพลงที่เฮเลนแต่งมาให้กับอัลบั้มนี้ เป็นการเชิญชวนให้คนเข้ามาอยู่ในอีกมิตินึง และก็อยากให้โชว์ในงานนี้เป็นมิติแบบนั้นด้วย ซึ่งเรารู้สึกว่าคอนเซ็ปต์นี้มันน่าจะตรงกว่าก็เลยจะอิงจากเพลงที่เราทําเอามาใช้เป็นชื่องาน และก็ใช้สิ่งนี้เป็นตัวแทนในการบ่งบอกเพื่อให้ทุกคนที่มางานได้เดินทางมาถึงมิตินี้กับพวกเรา พูดตามตรงโลกที่เราอยู่ในตอนนี้มันคือมิติที่ 4 ซึ่งเราก็เห็นกันอยู่แค่นี้แหละ แต่มิติที่ 5 มันยังไม่มีใครอยากไปถึงมัน แม้จะมีกระบวนการในทางวิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์ที่สามารถอธิบายมันได้ คือจริง ๆ เฮเลนได้แรงบันดาลใจมาจากหนัง Interstellar ซึ่ง Cliche มาก แต่ว่ามันคือแบบนั้นเลย “ความรักคือสิ่งเดียวที่เดินทางผ่านมิติที่เหนือกาลเวลาได้” เรารู้สึกว่าเพลงเราก็เป็นแบบนั้นเหมือนกัน

บอส : แล้วก็ได้โชว์ 2 ชั่วโมง มันจะได้พาไปดูว่าในมิตินั้นมีอะไรบ้าง มันจะได้เจอเราตั้งแต่เพลงช่วงแรก ๆ ที่รู้จักกันไปจนถึงปัจจุบันและอนาคต

เฮเลน : คือไม่ได้เล่นแต่เพลงอัลบั้มสองอย่างเดียวก็จะมีเพลงอื่นที่ทําให้คนหายคิดถึงด้วย เพราะว่าเราก็ไม่ได้เล่นมันมานาน

บอส : แล้วที่มันมีคําว่า Exhibition Concert ก็อย่างที่เคยบอกไปว่าอัลบั้มนี้เราได้ร่วมงานกับ “A Kid from yesterday” ที่ทําภาพอาร์ตเวิร์คด้วยกันทั้งหมดประมาณ 12 ภาพ ซึ่งภาพเหล่านั้นจะไปเป็น Exhibition ที่หน้างาน ซึ่งเป็นแคนวาสที่เค้าวาดมือหมดเลย

เฮเลน : เราสามารถไปตีความจากภาพที่เขาวาดได้ เพราะว่าตอนที่ทํางานกับเปาโลเราให้เขาเป็นคีย์เวิร์ดว่าสิ่งที่เราเขียนในแต่ละเพลงมันคืออะไร แต่เรื่องการตีความภาพให้เขาไปทําอะไรก็ได้ เพราะรู้สึกว่าตัวเราเองก็ยังไม่อยากให้ใครมาบอกว่าต้องทําอะไร คิดอะไร แบบไหน มีกรอบยังไง ซึ่งหลายครั้งคนทํางานศิลปะก็บอกว่าอยากให้มีกรอบเหมือนกัน เพราะว่าบางทีจินตนาการหรือว่าขอบเขตพอไม่มีมันทํางานยากกว่าเดิม แต่ว่าเราก็ทํางานกันด้วยความเชื่อมั่นในตัวเขาว่าจะทํางานนี้ออกมาได้ดี เราคิดว่าเขาน่าจะมีมุมมองของผู้ฟังและผู้ถ่ายทอดในอีกรูปแบบ มันคืออีกหนึ่ง Media ของเราคือเสียงของเขาคือภาพ ซึ่งถ้าเราตีความต่างกันอันนั้นก็คือความสวยงามของศิลปะอยู่แล้วสําหรับเฮเลน ซึ่งเขาก็ทํามันออกมาได้ดี โดยทั้ง 12 ภาพที่นำมาจัดแสดง ส่วนหนึ่งก็ขายหมดไปแล้ว

บอส : แต่ว่าก็จะมีให้ชมที่งานครับ

เฮเลน : ซึ่งจริง ๆ ตั้งใจจะเอาไปขายที่งานนั่นแหละแต่ว่ามีการจับจองไปแล้ว

บอส : แต่ก็ยังมีเหลืออยู่สองภาพถ้าใครสนใจก็ไปจับจองกันได้ครับ นอกเหนือจาก Exhibition แล้ว เซ็ตลิสต์ในคอนเสิร์ตเราจัดให้สุด ๆ 2 ชั่วโมง

เฮเลน : อาจจะไม่ได้เป็นระยะเวลาที่นานที่จะขิงได้ว่ามันนานแล้ว แต่ว่าที่ผ่านมาเพลงเราก็มีอยู่จํานวนประมาณนี้ ก็รู้สึกว่าระยะเวลาเท่านี้คือสุดทางที่จะทําได้ในขณะนี้ ในอนาคตเราอาจจะเล่น 5 ชั่วโมงก็ได้ (หัวเราะ) แต่ตอนนี้เอาไปก่อนสอง ซึ่งสิ่งพวกนี้ได้ตกตะกอนมาเรียบร้อยแล้วว่าเกินนี้หรือน้อยกว่านี้ “ไม่ดี” ประมาณนี้โอเคสําหรับเรา คือมันเหมือนกับนักกีฬานั่นแหละ มันจะมีความเหนื่อยและความล้า ซึ่งเรารู้สึกว่าการพาตัวเองไปถึงจุดที่เล่นเยอะขนาดนั้นในช่วงเวลาที่ยังไม่ได้พร้อมเราว่ามันยังไม่มีความจําเป็นแบบนั้น แต่สําหรับเรารู้สึกว่าเวลาเท่านี้แหละมันน่าจะอิ่มประมาณนี้ เหมือนกับตอนที่เราซ้อมกันเองแล้วรู้สึกว่ามันอิ่มจริง ๆ บอส : แล้วอีกความพิเศษนึงก็คือ เราจะมีแขกรับเชิญที่เซอร์ไพรส์มาก ๆ แต่ยังไม่บอกว่าเป็นใคร แล้วก็จะมีเพลงใหม่ให้ลองฟังต้องรอดูว่ามีกี่เพลง ซึ่งจะเล่นให้ฟังเป็นครั้งแรกก็อยากให้ลองฟังกัน เพราะเราก็ตั้งใจว่ามันจะเป็นก้าวใหม่ ๆ ของวงเราด้วย

Asian Pop Festival (Korea) ที่ผ่านมา

บอส : มันเป็นงานรวมวงดนตรีที่น่าสนใจทั่วเอเชียทั้งหมดครับ ซึ่งก็จะมีวงจากหลากหลายประเทศ

เฮเลน : หลากหลายมากจริง ๆ เพราะว่าเวทีมันเยอะมากมีประมาณ 4-5 เวที เป็นงานที่สเกลใหญ่มาก คือเราเดินกันจนเหนื่อยมาก

บอส : แต่ว่าเค้าดูแลดีมาก ซึ่งสิ่งที่รู้สึกดีก็คือระบบการจัดการกับการดูแลหลังเวที

เฮเลน : ต้องบอกว่าทุกอย่างได้ตามไรเดอร์ คือหนึ่งในจุดสูงสุดของการเป็นนักดนตรีคือการที่งานมีสิ่งของพวกนี้ให้มันพร้อม เพราะเรารู้สึกว่าการไปเล่นมันก็ต้องเตรียมทั้งใจทั้งกายไป มันไม่ควรต้องมาเหนื่อยกับการจัดการยิบ ๆ ย่อย ๆ อีก ซึ่งทางงานเขามีการจัดการที่ดี อาจจะเป็นเพราะว่าเกาหลีเป็นประเทศที่จัดคอนเสิร์ตบ่อยมาก

บอส : เพราะว่าประเทศเขาถือเป็น Hub ดนตรีต้น ๆ ของโลกแล้วตอนนี้

เฮเลน : ใช่ ๆ ก็เลยรู้สึกว่าประทับใจมาก ประทับใจทุกครั้ง เพราะว่าก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่ไปเล่นที่เกาหลี

บอส : สนุกมากบรรยากาศดี คนดูสนุกมากเขาต้อนรับเขาเปิดรับ

เฮเลน : จริง ทุกครั้งเลย

บอส : เขาพร้อมจะฟังทุกแนว

เฮเลน : ด้วยจํานวนคนที่มาดูเราในช่วงเวลาที่เล่นกับวงที่เราเล่นชนด้วย ก็รู้สึกว่ามีคนค่อนข้างเยอะเหมือนกัน เพราะว่าปกติแล้วถ้าอิงตามสถิติ เกาหลีก็ไม่ได้ทําให้เราคาดหวังว่าจะมีคนมาดูเราเยอะขนาดนั้น ซึ่งเราตีความได้เลยว่าส่วนใหญ่ผ่านมาฟังมากกว่า

บอส : พอเราเล่นแล้วเขาชอบ เขาก็หยุดดู

เฮเลน : เขาสนับสนุนมาก ๆ เหมือนตอนครั้งแรกที่เราไปเล่นที่เกาหลีก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน คือเข้าใจเลยว่าทําไมอุตสาหกรรมดนตรีประเทศเขาถึงมาได้ขนาดนี้ เพราะว่าเขามีแรงของคนที่สนับสนุนแบบนั้น มันไม่ใช่แค่การไปยืนดูแล้วก็เดินไป แต่เขาทั้งอยู่ฟัง ทั้งกรี๊ดชื่อเรา ทั้งเต้นโดยที่เราไม่ต้องบอกให้เขาเต้นเลย ซึ่งไม่ได้หมายความว่าคนดูผิดหรือถูกนะที่บางคนไม่ได้แสดงออก เพราะจริง ๆ แล้ววัฒนธรรมในการรับชมรับฟังมันไม่เหมือนกัน อย่างที่ไทยเราก็มีคนที่ชอบเราประมาณนึง เขาก็จะแสดงออกเวลาดูคอนเสิร์ตอีกรูปแบบนึง ซึ่งไม่ว่าจะรูปแบบไหนมันก็คือการซัพพอร์ตเหมือนกัน เราแค่อยากจะบอกว่าการเล่นที่เกาหลีมันคือความประทับใจอีกแบบที่ได้เห็นคนต่างชาติส่งพลังงานมาให้เราจนล้นเวทีเลย สรุปแล้วการซัพพอร์ตคือสิ่งที่สําคัญที่สุด มันคือฐานที่ทําให้วงดนตรีเติบโตไปข้างหน้าได้ ซึ่งเราก็รู้สึกขอบคุณทุกคนที่ซัพพอร์ตพวกเราจริง ๆ

การได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ Music Exchange ของ CEA ตามนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทย

เฮเลน : โครงการนี้เป็นเหมือนกลไกการทูตอีกอย่างนึง เพราะว่ามันคือการให้ทุนแลกเปลี่ยนทางดนตรีในระดับประเทศมันไม่ใช่แค่ภายในประเทศ เพราะฉะนั้นการที่จะสมัครได้คุณจะต้องมีการยืนยันอย่างหนึ่งว่าคุณจะได้ไปเล่นในงานนั้น ๆ ยกตัวอย่างสมมุติว่าเฮเลนจะได้ไปเล่นที่ญี่ปุ่น ก็ต้องมีใบเชิญรับรองว่าเราชวนคุณมาเล่นนะแล้วก็มีการตกลงกันหรือเซ็นสัญญาอะไรก็ว่าไป คือมันจะต้องมี Proof ด้วยว่าเราจะต้องได้ไปเล่น อันนี้คือคุณสมบัติหลักที่ทุกวงจะต้องมีก่อนยื่นใบสมัคร ส่วนการคัดเลือกก็เป็นไปตามเกณฑ์ของโครงการที่เขาจะพิจารณากันว่าใครจะได้ ซึ่งเราไม่สามารถรู้ได้

บอส : ถ้าจะให้แนะนำคนที่สนใจ ก็คือสมมุติว่าคุณมีเฟสติวัลที่อินโดติดต่อมาว่าอยากให้วงคุณไปเล่นนะ คุณก็สามารถเอาหลักฐานยืนยันการติดต่อให้ไปเล่นส่งให้เขาได้

เฮเลน : คือใครก็ได้ที่มีโอกาสจะไปเล่นเมืองนอก อยากจะไปแต่ว่าทุนไม่มีงบไม่ถึงก็สามารถสมัครได้หมดทุกคน ซึ่งถ้าผ่านการคัดเลือกแล้วทางโครงการเขาก็จะช่วยซัพพอร์ต อย่างของวง KIKI เอง ตอนแรกเราก็ไม่ได้คิดว่าจะได้ขนาดนั้นเพราะว่าเรามีค่าย แต่ถ้าให้พูดในเรื่องของความเป็นจริงเวลาเราไปเล่นต่างประเทศ มันมีหลายครั้งที่ทางงานเขาไม่ซัพพอร์ตค่าตั๋วเครื่องบิน แต่หลัง ๆ ก็มีล่ะแต่ว่ามันก็จะมีแค่บางงาน ซึ่งงานที่ไม่มีซัพพอร์ตพวกนั้นแหละที่เราจะขอยื่นไป เพราะเรารู้สึกว่าสิ่งที่เราไปมันไม่ได้เอาแค่ดนตรีของเราไปนะ แต่เรากําลังเอาวัฒนธรรมไปด้วยคือการแสดงออกถึงความเป็นไทยมันก็มาจากถิ่นกําเนิดของเรานี่แหละ ไม่จําเป็นจะต้องมาจากภาพจําแบบเดิม ๆ อันนั้นมันเป็นสิ่งที่เวลาต่างชาติมาไทยเขาได้รับไปอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการที่เราไปยืนอยู่ตรงนั้น มีพื้นที่ตรงนั้นกับคนดูอีกมากมาย และเขาบอกว่านี่คือวงจากประเทศไทย สำหรับเฮเลนอันนั้นคือเพียงพอแล้วขอให้มันเป็นแค่สัญชาติเพราะว่าเราทําเพลงภาษาอังกฤษเป็นหลักแค่นั้นเอง และถ้าใครถามอะไรเรื่องของประเทศไทยเราก็เชิญชวนเขามาอยู่แล้ว

เฮเลน : ต้องบอกว่าการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมนี้มันเป็นเรื่องหลังบ้านด้วยนะบางที มันเป็นเรื่องที่พูดออกสื่อไม่ได้ เพราะว่ามันเป็นบทสนทนาที่เราแลกเปลี่ยนกันว่าไทยแลนด์ยูมีอะไร โคเรียนยูมีอะไร ซึ่งมันคือเรื่องเหล่านี้ ที่เป็นเหมือนสะพานเล็ก ๆ เอาไว้เชื่อมระหว่างเรากับเขา เพราะว่าจากที่ KIKI เคยทํามาตั้งแต่ต้นจนถึงตอนนี้มันก็มีสะพานแบบนั้นมาตลอด

บอส : ตอนนี้เราก็มีเพื่อน มีคอนเนคชั่น มีคนที่รู้จักที่อยู่ในอุตสาหกรรมดนตรีหลายประเทศ แล้วเราก็แลกเปลี่ยนความรู้กันแชร์เรื่องต่าง ๆ กัน

เฮเลน : แค่พูดคําว่า “Thai band from Thailand” สำหรับเฮเลนมันก็โอเคแล้ว เพราะฉะนั้นการที่เราจะนําเสนอแค่เพียงพูดไทยหรือร้องเพลงไทยอย่างเดียวเฮเลนคิดว่ามันมีอะไรมากมายกว่านั้น ก็อยากให้เขาเปิดใจเปิดรับ ซึ่งรู้สึกว่า CEA (Creative Economy Agency) ก็มาถึงจุดนั้นแล้วเหมือนกัน ที่เขาก็เปิดรับวงที่ทําเพลงทุกภาษาในบ้านเรา ซึ่งก็ต้องพูดว่าการมีอยู่ของโครงการนี้มันเป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ ก็อยากให้มันยืนยาวสานต่อแล้วก็ช่วยผลักดันไปให้คนอื่นได้มากกว่านี้

บอส : ซึ่งโครงการนี้มันจะช่วยผลักดันวงในช่วงแรกก่อนที่เค้าจะเป็นวงใหญ่ ก่อนที่จะได้ค่าตัวเพิ่มมากขึ้นมันต้องใช้งบประมาณก่อน สมมุติว่าวงดนตรีวงนึงได้ค่าตัวไปเล่น 60,000 บาท แต่ถ้าได้ไปเล่นไกล ๆ เช่นฝั่งอเมริกาที่ค่าตั๋วเครื่องบิน 60,000 ก็ไปไม่ไหวแล้ว

เฮเลน : ซึ่งสิ่งนี้ก็จะเป็นสิ่งที่เฮเลนพูดในบทสัมภาษณ์มาตลอดว่าวงการดนตรีไม่ได้สวยงามแบบที่คนอื่นคิดเลย ถ้าคุณจะคิดว่าเรื่องมีคอนเนคชั่นนั้นโน้นนี่คุณมีได้หมดนะ แต่ถ้าคุณไม่มีเงินในการสตาร์ทบางทีมันยาก มันยากมากจริง ๆ นะ เพราะมันจําเป็นต้องใช้ ซึ่งวง KIKI เสียโอกาสเยอะมากเพราะว่ามันต้องใช้ แล้วนี่คือเหตุผลว่าทำไมเราต้องมีค่ายเข้ามาซัพพอร์ตตรงนี้ และตอนนี้ก็ยังมีโครงการของ CEA ขึ้นมาเพื่อซัพพอร์ตตรงนี้มันทําให้เราโฟกัสการทําเพลงได้แบบเต็มตัวจริง ๆ ซึ่งเรารู้สึกว่าประเทศไทยมันมีวงดนตรีที่มีศักยภาพเยอะมาก ๆ แต่ว่ามันก็มีหลายวงหลายคนที่ไม่มีทรัพยากรทางด้านการเงินที่จะช่วยให้เขาไปอยู่ในจุดนั้นได้

ความพร้อม Japan Tour เดือนนี้ (Tokyo, Nagoya, Nagano)

บอส : ทัวร์ครั้งนี้ก็จะมีการขัดเกลามาจากคอนเสิร์ตใหญ่ แล้วก็เป็นโชว์เซ็ตใหม่ เราจะมีเล่นใน Live House สองที่ครับ คือโตเกียวกับนาโกย่า ส่วนนางาโนะจะเป็นเฟสติวัลที่ชื่อว่า Ringo Music Festival ซึ่งเราเคยไปเล่นแล้วเมื่อปีแรกที่ KIKI เพิ่งทําวงตอนอัลบั้มแรก ก็เหมือนว่าเล่นได้ประทับใจผู้จัดก็มีการเรียกไปซ้ำกันอีกรอบนึง

เฮเลน : สิ่งหนึ่งในการเตรียมตัวก็คือต้องซ้อมใหม่ จากที่เคยเล่นตอนปีแรกตอนนี้ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงก็จะได้เล่นเพลงใหม่ด้วย

บอส : ครั้งนี้เราจะไปประมาณ 7 วัน เพราะว่าเราจะไปก่อนหนึ่งวันทุกที่เพื่อได้พักก่อนที่จะเล่น ระหว่างนั้นก็จะมีวันว่างที่ต้องไปโปรโมทแผ่นไวนิลของวงตามร้านต่าง ๆ ที่ขายแผ่น เพราะว่าเราเองมีโปรโมเตอร์ที่ญี่ปุ่นและพวกแผ่นไวนิลของ KIKI ก็ผลิตที่นั้นอยู่แล้ว ๆ ค่อยเอาเข้ามาในไทย และก็อาจมีไปสัมภาษณ์ด้วย ซึ่งเรามีฐานแฟนคลับอยู่ที่โน่น คือที่ญี่ปุ่นอันดับการฟัง Music Streaming ของวงเราจะอยู่ไม่ต่ำกว่าที่สาม บางทีก็ขึ้นไปที่หนึ่งหรือสอง

ฝากถึงคอนเสิร์ต KIKI 5th DIMENSION EXHIBITION ที่จะมาถึงในครั้งนี้

บอส : มันจะเป็นคอนเสิร์ตที่สรุปการเดินทางของเราทั้งอดีตและอนาคตแล้วก็เต็มที่มาก ๆ ทั้งแสงสีเสียงการวางโชว์และดนตรีทุกอย่าง เราคิดว่าทุกคนที่ชอบ KIKI น่าจะมีความสุขมาก ๆ เราอยากเจอทุกคนที่คอยสนับสนุนเรา อยากขอบคุณเขาด้วยโชว์ที่เราตั้งใจมาก ๆ ก็หวังว่าจะมากัน เพราะไม่รู้ว่าคอนเสิร์ตแบบนี้จะมีอีกทีเมื่อไหร่ที่จะจัดเต็มประมาณนี้ เฮเลน : คงอีกนานเพราะว่าหลังจากนี้คืออยากโฟกัสในการทําอัลบั้มแล้วก็การเล่นดนตรี

บอส : ก็คงไม่ได้ทำคอนเสิร์ตแบบนี้มาให้ดูบ่อย ๆ ก็อยากให้มาลองดูเต็ม ๆ สองชั่วโมง

เฮเลน : มันเหมือนการเดินทางที่ทุกคนได้ร่วมเดินมากับเราจนถึงวันนี้ เราอยากจะบอกว่าโชว์นี้ทำมาเพื่อพวกเขา

บอส : นนท์ฝากหน่อยเร็ว

นนท์ : ซื้อบัตรได้ที่ Ticketmelon.com พบกันวันเสาร์ที่ 7 กันยายน 2567 ที่ Lido Connect (โรง2) งานนี้จำกัดบัตรผู้เข้าชมเพียง 600 ใบเท่านั้น (หัวเราะ)

เฮเลน : (หัวเราะ)

บอส : (หัวเราะ)

สามารถติดตามผลงานได้ที่
https://www.facebook.com/yesitskiki
.
Writer : Samattachai B.
Photographer : Tanit Phramthed
    TAG
  • people
  • interview
  • band
  • KIKI
  • Parinam Music
  • album
  • concert
  • indie

KIKI กับการเดินทางก้าวต่อไปของความคิดสร้างสรรค์บนเส้นทางดนตรี

PEOPLE/INTERVIEW
8 months ago
CONTRIBUTORS
EVERYTHING TEAM
RECOMMEND
  • PEOPLE/INTERVIEW

    มองสถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัยในฐานะวัฒนธรรมที่มีชีวิตผ่าน ART TOYS เจาะลึกแนวคิดความสนุกจาก DUCTSTORE the design guru Co.,Ltd.

    ทันทีที่ Key Visual สถาปนิก’ 68 เผยแพร่ออกมา บทสนทนาปลุกสัญชาตญาณนักสืบในตัวทุกคนพร้อมใจกันทำงานแบบ Autopilot และระหว่างที่ตามหาเฉลยกันจริงจัง ทุกคนเริ่มหันมาตั้งคำถามต่อว่า Art Toys เกี่ยวข้องกับธีมงานอย่างไร รู้ตัวอีกทีวงสนทนาก็กระเพื่อมขยายกว้างขึ้น ส่งสัญญาณชัดว่า Key Visual ปีนี้เปิดฉากมาแบบสนุกเอาเรื่อง โดนเส้นกันสุดๆ

    EVERYTHING TEAMJanuary 2025
  • PEOPLE/INTERVIEW

    อุ้ม-วัลลภ รุ่งกำจัด นักแสดงภาพยนตร์อิสระ สู่เส้นทางของ Cannes Film

    วัลลภ รุ่งกำจัด หรือ อุ้ม นักแสดงที่เชื่อมโยงความเป็นมนุษย์กับโลกของภาพยนตร์ ผ่านการสร้างชีวิตให้ตัวละครต่าง ๆ ได้ออกมาโลดแล่นแสดงความรู้สึกทางอารมณ์ให้กับผู้ชม แม้เขาจะไม่ได้เป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียงในวงกว้างเทียบเท่ากับนักแสดงกระแสหลัก แต่ในเวทีระดับโลก “อุ้ม” ได้พิสูจน์ตัวเองกับการเป็นนักแสดงที่มีความสามารถที่ยอมทุ่มเทหลาย ๆ สิ่ง ให้กับงานศิลปะด้านการแสดงในภาพยนตร์เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้อย่างสุดตัว

    EVERYTHING TEAM6 months ago
  • PEOPLE/INTERVIEW

    พูดคุยกับ “MAMIO” บนหน้ากระจกสะท้อนตัวตนที่ถูกซ่อนมาทั้งชีวิต “อาจใช้เวลานานถึง 30 ปี แต่ก็ดีกว่าไม่มีโอกาสได้รู้เลย”

    คงปฏิเสธไม่ได้ว่าก่อนหน้านี้เราได้รู้จักกับเธอคนนี้ในชื่อของ พัด หรือที่ชอบเรียกติดปากกันว่า พัด ZWEED N’ ROLL เจ้าของเสียงทุ้มมีเสน่ห์ นักร้องและนักแต่งเพลงที่ฝากผลงานเพลงเศร้าเอาไว้ในวงการมากมาย อาทิ ช่วงเวลา, Diary, อาจเป็นฉัน และอีกมากมาย ไม่มีอะไรแน่นอนแม้กระทั่งตัวเราเอง ช่วงเวลาจึงได้พัดพาให้เรามาทำความรู้จักกับ “MAMIO” ในฐานะศิลปินใหม่จากค่าย Warner Music Thailand ซึ่งเป็นอีกตัวตนหนึ่งของคุณพัดที่ไม่เคยถูกปลดปล่อยออกมาเลยตลอดชีวิตการทำงานในวงการสิบกว่าปีที่ผ่านมา หรือถ้าจะให้ซื่อสัตย์กับตัวเองจริง ๆ ก็อาจจะเป็นทั้งชีวิตที่เกิดมาเลยเสียด้วยซ้ำ

    EVERYTHING TEAM6 months ago
  • PEOPLE/INTERVIEW

    THE ROARING SOUND OF BANGKOK EVILCORE

    Whispers เป็นหนึ่งในวงดนตรีที่สะท้อนการเติบโตของวงการ Hardcore ในประเทศไทยอย่างแท้จริง ตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่เป็นเพียงกลุ่มเพื่อนที่หลงใหลในดนตรี เพราะนอกจากจะเป็นผู้เล่น พวกเขายังเป็นกำลังสำคัญที่คอยผลักดันซีนฮาร์ดคอร์ในบ้านเรามาโดยตลอด ประสบการณ์ที่สั่งสมทำให้เกิดเป็นสไตล์เฉพาะของ Whispers สร้างความแตกต่างและเป็นเอกลักษณ์ จนทำให้พวกเขาก้าวไปสู่เวทีระดับสากล ถึงแม้พวกเขาจะอยู่ใต้ดินของไทย แต่เสียงคำรามของพวกเขาก็ดังไปไกลถึงทวีปยุโรป มาพบกับเส้นทางดนตรีที่เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจและการเปลี่ยนแปลง กับวงฮาร์ดคอร์ระดับบท็อปของ Southeast Asia

    EVERYTHING TEAM6 months ago
  • PEOPLE/INTERVIEW

    Nat Inksmith (ชณัฏฐ์ หวังบุญเกิด) มากกว่าความสวยงามคือการนำเสนอผลงานที่เป็นตัวตนผ่านศิลปะลายสัก

    ด้วยลายเส้นที่เป็นเอกลักษณ์และรูปแบบงานสักของเขา ที่เรารู้สึกแปลกประหลาดกว่างานสักอื่น ๆ (แปลกประหลาดในที่นี้คือความหมายในแง่ดีนะ) ก็เลยตัดสินใจส่งข้อความทักไปหา “พี่นัทครับ ผมขอสัมภาษณ์พี่ได้ไหม” “ได้ครับ” สั้น ๆ แต่จบ เรื่องราวทั้งหมดก็เลยเริ่มต้นขึ้นที่ร้าน CAVETOWN.TATTOO แถว ๆ ปิ่นเกล้า ซึ่งพี่นัทเป็นเจ้าของร้านแห่งนี้ บทสนทนาของเราเริ่มกันในช่วงเวลาบ่าย ๆ ของวันพฤหัส พอไปถึงร้านพี่นัทกำลังติดงานสักให้กับลูกค้าอยู่หนึ่งคน พอได้เห็นลายที่เขาสักต้องบอกว่าเท่มาก ๆ มันมีความเป็น Psychedelic บวกกับ Ornamental ผสมผสานกับเทคนิค Dotwork จนกลายเป็นงานศิลปะบนผิวหนังหลังฝ่ามือ เราถึงกับต้องถามคำถามโง่ ๆ กับลูกค้าที่ถูกสักว่า “เจ็บไหม” แน่นอนคำตอบที่ได้คือ “โคตรเจ็บ” เพราะจุดที่สักคือหลังฝ่ามือ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งจุดที่หลายคนร่ำลือกันว่าโคตรเจ็บ ระหว่างที่รอพี่นัทไปพลาง ๆ น้องแมคช่างภาพที่มีรอยสัก Full Sleeve เต็มแขนขวา ก็เริ่มกดชัตเตอร์กล้องถ่ายรูปเก็บภาพระหว่างที่เขาสักไปด้วย พอสักเสร็จเรียบร้อยก็ปล่อยให้พี่เขาพักผ่อนกินน้ำ ปัสสาวะ (อ่านแยกคำนะอย่าอ่านติดกัน) ก่อนจะพูดคุย แต่เดี๋ยว ! ก่อนจะเริ่มบทสนทนา เราขอเกริ่นให้ฟังซักนิดนึงเกี่ยวกับชายคนนี้ก่อน

    EVERYTHING TEAM6 months ago
  • PEOPLE/INTERVIEW

    “แมรี่ ปานสง่า” ผู้เปรียบงานภัณฑารักษ์เป็นเสมือนงานศิลปะ ที่นำพาผู้ชมเข้าร่วมตัดสินใจถึงความงามของมัน

    คำตอบที่ถูกต้องแน่แท้ของคำถามที่ว่า “ศิลปะแบบไหนที่เรียกว่าสวย” นั้น คงยากพอ ๆ กับความพยายามในการค้นหาทฤษฎีวิทยาศาสตร์มาอธิบายว่าพระอาทิตย์สามารถขึ้นทางทิศตะวันตกได้ เพราะศิลปะที่เป็นเหมือนโลกอีกใบที่อยู่คู่ขนานไปกับโลกจริง อันประกอบสร้างจากความเชื่อ วัฒนธรรม และภูมิหลังของศิลปิน มักถูกตัดสินจากรสนิยมส่วนตัวของผู้ชมแต่ละคน บางคนสนใจแค่ความเจริญตา แต่กลับบางคนอาจมองลึกลงไปยังเบื้องลึกของมัน แล้วตัดสินจากประสบการณ์และความรู้สึก ซึ่งไม่อาจใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐานตายตัวที่บ่งบอกถึงรสนิยมโดยรวมของสังคมได้ เพราะถึงแม้ว่าจะเป็นผลงานศิลปะชิ้นเดิม แต่คุณค่าและนิยามความสวยงามของมัน ก็อาจสามารถแปรผันไปได้ตามช่วงวัยของเราที่เปลี่ยนแปลงไป

    EVERYTHING TEAM8 months ago
SIGN UP TO OUR NEWSLETTER
A Monthly update of the new issue from us
THANK YOU FOR YOUR SUBSCRIPTION

We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )