เยือนแหล่งกำเนิด “King of Watch” ของญี่ปุ่น ก้าวสู่นาฬิกาเรือนหรูระดับโลกในนาม “Grand Seiko” | IAMEVERYTHING.CO

LOOKING ON EVERYTHING ?

EXPLORE ON EVERYTHING

เยือนสองโรงงานแหล่งกำเนิด “King of Watch” ของญี่ปุ่น
ที่ก้าวสู่นาฬิกาเรือนหรูระดับโลกในนาม “Grand Seiko”

ก่อนที่ทุกคนจะได้สัมผัสนาฬิกาชั้นสูงเรือนจริงที่บูทีคของ Grand Seiko แห่งแรกในประเทศไทย ที่เกษรวิลเลจ เราจะพาเจาะลึกไปยังเบื้องหลังแหล่งกำเนิดที่จะตอบคำถามได้ว่าทำไมนาฬิกา Grand Seiko จึงได้รับการยกย่องให้เป็นหัตถศิลป์แห่งเครื่องบอกเวลาระดับโลกที่คู่ควรแก่การสะสมและครอบครอง

   ในที่สุดบูทีคแห่งแรกของ Grand Seiko ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ได้เปิดตัวอย่างเรียบหรูขึ้นที่ห้างเกษรวิลเลจ ให้เหล่านักสะสมหรือคนรักนาฬิกา ได้สัมผัสเรือนจริงของนาฬิกามาสเตอร์พีซที่ “Timeless” และเต็มไปด้วยจิตวิญญาณงานหัตถศิลป์ อันผสานความงามและวัฒธรรมในแบบญี่ปุ่น เข้ากับเทคโนโลยีกลไกชั้นสูง สู่การเป็นเครื่องบอกเวลาดีไซน์เรียบ แต่เป็นที่สุดของความเที่ยงตรงแม่นยำ ก่อนที่ทุกคนจะได้สัมผัสนาฬิกาเรือนจริง เราจะพาเจาะลึกไปยังเบื้องหลังแหล่งกำเนิดที่จะตอบคำถามได้ว่าทำไมนาฬิกา Grand Seiko จึงได้รับการยกย่องให้เป็นนาฬิกาเรือนหรูระดับโลกที่คู่ควรแก่การครอบครองในชีวิตนี้

   ตำนานของ Seiko เริ่มต้นในปี 1881 โดย Kintaro Hattori (คุณปู่ของ Shinji Hattori ซึ่งเป็น CEO คนปัจจุบันของ Seiko) ได้เปิดร้านเล็กๆ สำหรับขายและซ่อมนาฬิกาขึ้นใจกลางเมืองโตเกียวชื่อว่า K. Hattori Co., Ltd. ซึ่งก็คือบริษัท Seiko Holding Corporation ที่ทั่วโลกรู้จักกันในปัจจุบันนั้น แต่ประวัติศาสตร์ของ Grand Seiko กำเนิดขึ้นในปี 1960 โดยที่ในปัจจุบันได้แยกเป็นอิสระจาก Seiko อย่างเป็นทางการแล้ว

   จากสถาปัตยกรรมทรงคลาสสิคพร้อมเอกลักษณ์ยอดหอคอยนาฬิกา ที่ถูกเรียกว่าอาคาร WAKO Department Store หรือแฟลกชิพสโตร์ของ Grand Seiko ที่ตั้งตระหง่านผ่านกาลเวลาอยู่หลายทษวรรษที่หัวมุมสี่แยกกินซ่า ใจกลางเมืองโตเกียวของญี่ปุ่น จากนี้เราจะพาทุกคนออกเดินทางไปต่างจังหวัด สู่ต้นทางแหล่งกำเนิด Grand Seiko นาฬิกาสัญชาติญี่ปุ่นที่ก้าวสู่แถวหน้าในระดับโลก ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงผสานเข้ากับงานหัตถศิลป์อย่างเป็นหนึ่ง ทำให้นาฬิกาบนข้อมือของคุณไม่ได้ทำหน้าที่แค่บอกเวลา แต่คือศิลปะชั้นยอดที่กลไกขับเคลื่อนภายในเคลื่อนไหวราวกับมีชีีวิต และทุกดีเทลเต็มไปด้วยจิตวิญญาณงานหัตถศิลป์ที่ทรงคุณค่าไร้กาลเวลา

แหล่งกำเนิดนาฬิการะบบกลไกระดับโลก ตระกูล Mechanical 9S Series ของ Grand Seiko ที่เทคโนโลยีล้ำสมัย ผสานกับงานหัตถศิลป์เป็นหนึ่งเดียว
จากโตเกียว รถไฟชินกันเซนความเร็วสูงมุ่งสู่เมืองโมริโอกะ จังหวัดอิวาเตะ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่งก็ถึงเมืองเเงียบสงบที่อุดมด้วยธรรมชาติสวยงามทั้งภูเขา ทะเลสาบ น้ำพุร้อนธรรมชาติ และแหล่งสกี ทิวทัศน์ที่เป็นไฮไลท์ของโมริโอกะคือยอดเขาอิวาเตะ ที่สามารถมองเห็นได้จากหน้าต่างห้องทำงานในสตูดิโอสร้างสรรค์ของโรงงานที่เรากำลังไปเยือนด้วย

SBGL001 เครื่อง Caliber 9S67 นาฬิการะบบกลไกเครื่องแรกของ Grand Seiko ที่สำรองพลังงานได้ 3 วัน ได้แรงบันดาลใจจากดีไซน์โค้งเว้าบนหน้าปัดจากภูเขาอิวาเตะ

SBGJ201 เป็นรุ่น Heritage Collection เครื่อง Caliber 9S86 ที่พื้นผิวบนหน้าปัดได้แรงบันดาลใจมาจากเค้าโครงโค้งเว้าของเทือกเขาอิวาเตะ ความแม่นยำ (-5 ถึง +3 วินาทีต่อวัน)

   โมริโอกะกลายเป็นแหล่งกำเนิดกลไกนาฬิการะดับโลก นับตั้งแต่ที่โรงงาน Morioka Seiko Instruments Inc ก่อตั้งในปี 1970 (เดิมชื่อ Daini Seikosha) เพื่อเป็นฐานมั่นในการผลิตชิ้นส่วนกลไกนาฬิกา (Movements) ที่ทางไซโกประดิษฐ์คิดค้นเครื่องจักรบางชิ้นขึ้นใหม่สำหรับผลิตชิ้นส่วนเหล่านั้นโดยเฉพาะด้วย นาฬิการะบบกลไกของ Grand Seiko หรือ Mechanical 9S Series ทั้งหมดจึงถูกประกอบชิ้นส่วนด้วยมือขึ้นที่นี่
   โดยมีส่วนที่เรียกว่า “Shiziku-ishi Watch Studio” ดูแลด้านการออกแบบชิ้นส่วน การประกอบชิ้นส่วน การปรับแต่ง จนถึงการตรวจสอบนาฬิการะบบกลไกแบบเรือนต่อเรือน ที่เราจะได้เห็นช่างฝีมือนั่งจดจ่ออย่างสมาธิอยู่ที่โต๊ะทำงานสไตล์ญี่ปุ่นดั้งเดิมที่เรียกว่า “Iwayadou Tansu”

   ภายในสตูดิโอแห่งนี้เป็นแหล่งรวมช่างฝีมือระดับเกจิที่เรียกกันว่า Meister หรือ Specialist โดยจะแบ่งเป็นระดับ Gold, Bronze และ Silver ตามประสบการณ์วัดระดับฝีมือจากการแข่งขันทั้งภายในองค์กร และระดับประเทศ ทั้งยังให้ความสำคัญกับการถ่ายทอดภูมิปัญญางานช่างฝีมือจากรุ่นสู่รุ่นด้วย เพราะทักษะการประกอบชิ้นส่วนกลไกนาฬิกาขนาดเล็กจิ๋วที่ต้องมองผ่านกล้องไมโครสโคปนั้น ถือเป็นสุดยอดงานละเอียดที่ต้องใช้ทักษะความชำนาญสูง ว่ากันว่าเหล่า Meister ต้องสามารถปรับเปลี่ยนชิ้นส่วนที่มีระยะเพียง 1/100 มิลลิเมตรได้ด้วยมือ ซึ่งเป็นวินาทีการทำงานที่แทบจะต้องกลั้นหายใจกันเลยทีเดียว

   จากต้นทางการผลิตชิ้นส่วน (Part Production) ที่มีมากกว่า 200 - 300 ชิ้น โดยชุดกลไกที่เป็นหัวใจสำคัญในการควบคุมเวลาของนาฬิกา ได้แก่ จักรกลอก (Balance Wheel) ลานสปริง (Mainspring) แพลเล็ทฟอรค (Pallet Fork) และ เอสเคปวีล (Escape Wheel) แต่ละชิ้นส่วนจะถูกนำมาประกอบเป็นกลไกนาฬิกา (Movement Assembly) ตามด้วยขั้นตอนการปรับแต่ง (Adjustment) เพื่อตรวจสอบตำแหน่งและความสมดุลของแต่ละชิ้นส่วน ตัวเครื่อง 9S Mechanical ของ Grand Seiko จะต้องผ่านการทดสอบอีกหลายขั้นตอนเพื่อให้มั่นใจว่าการทำงานของกลไกต่างๆ แม่นยำและเที่ยงตรงที่สุด รวมทั้งขั้นตอน “Grand Seiko Inpection” ซึ่งเป็นมาตรฐานการทดสอบอันเข้มงวดที่เป็นเอกลัษณ์เฉพาะของ Grand Seiko โดยจะต้องใช้เวลา 17 วัน (400 ชั่วโมง) ในการทดสอบตัวเครื่องภายใต้สภาพแวดล้อม อุณหภูมิ และตำแหน่งที่ต่างกัน

   ความน่าสนใจอยู่ตรงนี้ คือ Grand Seiko จะกำหนดมาตรฐานการทดสอบไว้เหนือกว่ามาตรฐาน (สวิส) ทั่วไป ทั้งความแม่นยำสูงกว่า (อยู่ที่ -3 / +5 วินาทีต่อวัน) และการตรวจสอบถึง 6 ตำแหน่งไม่ใช่แค่ 5 ตำแหน่ง เท่านั้นยังไม่พอทาง Grand Seiko ยังกำหนดการปรับตั้งพิเศษของตัวเองที่เรียกว่า “V.F.A.” หรือย่อมาจาก “Very Fine Adjusted” กล่าวคือถ้าปรากฏอักษรย่อนี้บนหน้าปัดนาฬิการุ่นใด ให้มั่นใจได้ว่านาฬิกาเรือนนั้นมีความแม่นยำและเที่ยงตรงสูงสุดๆ ขนาดที่ว่าคลาดเคลื่อนเพียง +/- 1 นาทีต่อเดือนเท่านั้น! ถือเป็นการสร้างมาตรฐานความแม่นยำสูงสุดอีกขั้น ในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับนาฬิกาข้อมือระบบกลไกที่ไหนมาก่อน

Tsutomu Ito ผู้ทำหน้าที่ปรับแต่งความแม่นยำของนาฬิกาให้ได้ตามมาตรฐาน V.F.A ของ Grand Seiko โดยเป็นช่างฝีมือระดับ Gold Meister ที่ได้รางวัล Comtemporary Master Craftsman อันทรงเกียรติจากรัฐบาลญี่ปุ่นมาครองด้วย

Hi-Beat 36000 V.F.A. SBGH265 รุ่นลิมิเต็ดฉลองครบรอบ 20 ปีของ Caliber 9S ที่ Nobuhiro Kosugi ดีไซเนอร์ระดับมาสเตอร์ของ Grand Seiko พัฒนาดีไซน์ขึ้นใหม่โดยอิงคุณลักษณ์ที่เป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิมของ Caliber 9S ปี 1998 พร้อมตัวเครื่อง Caliber 9S85 ที่ความแม่นยำปรับแต่งเป็นพิเศษอยู่ที่ +3 / -1 วินาทีต่อวัน โดยรุ่นนี้สนนราคาอยู่ที่ 2 ล้านกว่าบาท!

   หลังจากปี 1960 ที่ Grand Seiko เปิดตำนานสู่โลกนาฬิกาด้วยการเปิดตัวนาฬิการะบบกลไกไขลานด้วยมือเรือนแรกของญี่ปุ่นขึ้น และในปี 1967 ได้ให้กำเนิดรุ่น “44GS” ที่ให้กำเนิด “Grand Seiko Style” ด้วยโลโก้สิงโตผงาดสะท้อนความมุ่งมั่นในการ “King of Watch” ของ Grand Seiko จวบจนถึงทุกวันนี้ ประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของนาฬิการะบบไกของ Grand Seiko ยังถูกบันทึกอีกครั้งในปี 1998 เมื่อได้กำเนิด Caliber 9S หรือนาฬิกากลไกระบบใหม่ขึ้น เพื่อเพิ่มความเที่ยงตรงให้สูงขึ้น (ตัวเครื่องความถี่ 8 รอบ และสำรองพลังงานได้ 72 ชั่วโมง) จากนั้น Caliber 9S ก็กลายเป็นรากฐานในการสร้าง Caliber ระบบกลไกที่เคลื่อนไหวแบบอัตโนมัติของ Grand Seiko ในรุ่นต่อๆ มา

   วิวัฒนาการของ Caliber 9S พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จนถึงจุดสำคัญ คือการนำเทคโนโลยีทางวิศวกรรมที่เรียกว่า Micro Electro Mechanical Systems (MEMS) มาใช้เพื่อลดน้ำหนักของชิ้นส่วนกลไก และทำให้มันมีประสิทธิภาพและแม่นยำขึ้นมากขึ้น (โดยมีค่าความคลาดเคลื่อนเพียง 1/1,000 มิลลิเมตรเท่านั้น) ร่วมกับการพัฒนา “Spron” ขดสปริงวงกลมทำจากโลหะผสมระหว่างโคบอลต์และนิกเกิล ที่ทำให้ Hairspring และ Main Spring ของนาฬิกามีความยืดหยุ่น แข็งแรงทนต่อการกระแทกมากขึ้น และป้องกันคลื่นแม่เหล็กได้มากกว่า ส่งผลต่อความแม่นยำของนาฬิกามากขึ้น

  ในปี 2009 Grand Seiko ได้เปิดตัว Caliber 9S85 “Hi-Beat 36000” หรือเรียกกันว่า 10-Beat คือตัวเครื่องแบบความถี่ 10 รอบ (ต่อวินาที) ซึ่งความถี่นั้นมีความสำคัญต่อนาฬิกาอย่างไร ให้ลองนึกถึงเวลาที่เราหมุนลูกข่างที่หมุนรอบเร็ว ลูกข่างจะหมุนนิ่ง นาฬิกาก็เหมือนกัน ยิ่งอัตราความถี่สูง ยิ่งทำให้เครื่องเดินเสถียรยิ่งขึ้น ซึ่งคือหัวใจของความเที่ยงตรงของนาฬิกานั่นเอง โดย Grand Seiko เป็นหนึ่งในไม่กี่แบรนด์ในโลกที่สามารถพัฒนาและผลิตเครื่องไฮบีทได้

Hi-Beat Caliber 9S85 “Hi-Beat 36000” (นาฬิกาอัตโนมัติ พร้อมกลไกการขึ้นลานด้วยมือ) เปิดตัวในปี 2009 ใช้เวลากว่า 40 ปีในการพัฒนาหลังจากพัฒนา Hi-Beat ตัวแรก โดยการพัฒนา Spron 610 แบบใหม่ที่ป้องกันแรงกระแทกและคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าได้มากขึ้น พร้อมกลไกที่สำคัญคือ Escape Wheel และ Pallet Fork ที่ใช้เทคโนโลย MEMS ทำให้ชิ้นส่วนมีน้ำหนักเบาขึ้น และพื้นผิวเรียบขึ้น ในขณะที่มีความแข็งแรงขึ้น ทำให้กลไกทำงานลื่นไหลไร้ที่ติ ตัวเครื่องแบบความถี่ 10 รอบ (ต่อวินาที) ที่ทำให้เพิ่มความแม่นยำในการบอกเวลายิ่งขึ้น (โดยเครื่องนี้ความแม่นยำอยู่ที่ +5 / -3 วินาทีต่อวัน) สำรองพลังงานได้ 55 ชั่วโมง

SBGJ235G ตัวเรือนคนเอกลักษณ์รูปทรงต้นแบบของรุ่น 44GS ในตำนาน แต่โดดเด่นด้วยหน้าปัดสีน้ำเงินบนแพทเทิร์นลวดลายภูเขาอิวาเตะ แห่งกำเนิดของนาฬิการะบบกลไกของ Grand Seiko ที่โรงงาน Morioka Seiko Instruments Inc นั่นเอง

คือการพัฒนาวิศวกรรมไมโครเทคโนโลยี สู่ศิลปะแห่งเรือนเวลาที่แม่นยำเหนือชั้นของนาฬิการะบบควอตซ์ และสปริงไดรฟ์ ภายใต้แบรนด์ Grand Seiko

  จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ลงมายังภาคกลางในจังหวัดนากาโน่ ที่เมืองชิโอจิริ แหล่งออนเซนที่มีทิวทัศน์ทะเลสาบซูวา (Suwa) เป็นแลนด์มาร์กสวยงาม และเป็นที่ตั้งของโรงงาน Seiko Epson Corporation (เดิมชื่อ Suwa Seikosha) ที่นอกจากจะผลิตเครื่องพิมพ์และอุปกรณ์สำนักงานของ Epson แล้ว ยังเป็นแหล่งพัฒนาศาสตร์การผลิตกลไกจักรกลชั้นสูงที่ซับซ้อนของนาฬิกา Grand Seiko ได้แก่ เครื่องควอตซ์ (Quartz) และเครื่องสปริงไดรฟ์ (Spring Drive) ที่กล่าวได้ว่าเป็น “นาฬิกาพลังงานปริงเรือนเดียวในโลกที่เข็มนาฬิกาเคลื่อนไหวลื่นไหลและนุ่มนวล” จนนักสะสมนาฬิกาขนามนามให้ว่าเป็น “เข็มสะกดวิญญาณ” ซึ่งไม่มีนาฬิกาแบรนด์ไหนทำได้

  ภายในโรงงานแบ่งออกเป็นหลายส่วน ทั้งแผนกวิจัยและพัฒนา (R&D) แผนก Advance Technology Workshop และแผนกที่รวบรวมช่างหัตถศิลป์ระดับมาสเตอร์ของประเทศไว้อย่าง “Shinshu Watch Studio” ดูแลส่วนผลิตกรอบนาฬิกา (Case) งานตกแต่งจิวเวลรี่ (Jewelry) ผลิตเข็มนาฬิกา (Dial) ผลิต Index งานดีไซน์หน้าปัด จนประกอบเป็นตัวเรือนสมบูรณ์

  ภายใน Shinshu Watch Studio เข้มข้นด้วยเทคนิคงานแฮนด์คราฟ์ขั้นสูง ที่ต้องใช้ทักษะอันชำนาญของเหล่า “Takumi” (ช่างฝีมือ) ไม่ว่าจะเป็น ในกระบวนการการขัดเงาพื้นผิวแบบพิเศษที่เรียกว่า “Zaratsu” ซึ่งช่างต้องขัดพื้นผิวให้เหมือนกระจกที่เงาสะท้อนปราศจากการบิดเบือน การผลิตเข็มนาฬิกาที่จะต้องผ่านกระบวนการให้ความร้อนทีละเข็ม เผื่อให้สีเปลี่ยนเป็นสีฟ้า การแกะรูหนามเตยสำหรับใส่จิวเวลรี่ด้วยมือ และการเจียร/ตัดเหลี่ยมขอบเข็มนาฬิกาด้วยเพชร เพื่อให้ได้หน้าตัดที่เนี้ยบ จนถึงขั้นตอนสุดละเอียดพิถีพิถัน อย่างการประกอบชิ้นส่วนเป็นกลไกเครื่องควอตซ์ และเครื่องสปริงไดรฟ์ ที่เรือนนึงอาจใช้เวลาในการผลิตถึงกว่า 5-7 เดือนเลยทีเดียว

  หัวใจของ Shinshu Watch Studio ยังอยู่ “Micro Artist Studio” สตูดิโอที่รวบรวมเหล่าช่างหัตถศิลป์ฝีมือระดับมาสเตอร์ระดับประเทศมาไว้ที่นี่ (ราว 10 คน) ทำหน้าที่พัฒนากลไกซับซ้อน และดูแลงานดีไซน์ภายนอกของนาฬิกา อย่างงานเพ้นต์หน้าปัดด้วยมือที่ต้องใช้ทักษะฝีมืออันชำนิชาญของช่าง ทำให้ที่นี่เป็น “Pride of Japanese” ที่ทรงคุณค่า และสวมใส่ได้ถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน

  อย่างที่ได้เกริ่นไว้ว่า Seiko Epson Corporation คือโรงงานผลิตเครื่องควอตซ์ หรือตระกูล 9F ของ Grand Seiko แต่การผลิตเครื่องควอตซ์ของที่นี่ไม่เหมือนที่อื่น เพราะคิดค้นวิธีการผลิตควอตซ์ขึ้นเองด้วยการสังเคราะห์แร่คริสตัลแทนควอตซ์ธรรมชาติ ทำให้ผลึกคริสตัลมีความบริสุทธิ์ขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อความเสถียรของนาฬิกา ดังนั้นเครื่องควอตซ์ของ Grand Seiko จึสามารถปรับแต่งความเที่ยงตรงของนาฬิกาได้ (ตรงส่วน Regulation Switch) และถ้าควอตซ์หมดอายุการใช้งาน (ประมาณ 15 - 20 ปี) ก็สามารถเปลี่ยนเฉพาะชิ้นส่วน Quartz ได้โดยไม่ต้องยกเปลี่ยนทั้งเครื่องใหม่

  กลไกเครื่องควอตซ์ตระกูล 9F ยังมีระบบ Twin Puls Control Motor คือการพัฒนามอเตอร์ควบคุมการส่งสัญญาณแบบคู่ ที่ทำให้นาฬิกาเดินเข็มเป็น 2 จังหวะใน 1 วินาที (ด้วยความเร็วเพียง 0.0005 วินาที ซึ่งเร็วขนาดนี้จึงไม่สามารถมองเห็นทันได้ด้วยตาเปล่า) และเป็นมอเตอร์ที่มีพลังสูงจนสามารถขับเคลื่อนเข็มนาฬิกาที่ทั้งหนาและใหญ่ (เพื่อคงดีเอ็นเอดีไซน์ของเข็มนาฬิกาที่มองเห็นได้ง่ายในแบบ “Grand Seiko Style” ไว้) อีกทั้งการแสดงผลวันที่ของเครื่อง 9F ยังเปลี่ยนรวดเร็วฉับไวในเสี้ยววินาที (แตกต่างจากแบรนด์อื่นที่จะค่อยๆ เปลี่ยนการแสดงผล) และยังมีสวิตซ์ให้สามารถปรับตั้งเครื่องได้เหมือนนาฬิการะบบกลไกด้วย เป็นต้น

  สำหรับเครื่อง Spring Drive หรือนาฬิกาตระกูล 9R ของ Grand Seiko ที่ถือเป็นนวัตกรรมหนึ่งเดียวบนโลก เพื่อที่สุดของความเที่ยงตรงแม่นยำแห่งการบอกเวลา ที่ต้องใช้ระยะเวลาในการพัฒนาถึงกว่า 20 ปี จนได้รับกล่าวขานว่าเป็น “เข็มสะกดวิญญาณ” โดนเข็มวินาทีจะเคลื่อนไหวอย่างลื่นไหลจนสะกดสายตาไม่รู้ตัว จุดเด่นของนาฬิกาที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานจาก Main Spring คือมีอัตราความแม่นยำสูงมากจนคลาดเคลื่อนแค่เพียง 1 วินาทีต่อวันเท่านั้น

  หัวใจของกลไกซับซ้อนสำหรับเครื่อง Spring Drive คือ การพัฒนา Tri-synchro หรือกูเรเตอร์ที่ผนวกระหว่างพลังงานกลไกล (จากเมนสปริง) พลังงานแม่เหล็ก (สำหรับเบรกที่ควบคุมการหมุนของโรเตอร์) และสัญญาณไฟฟ้า (สัญญาณ IC) เข้าด้วยกัน เพื่อควบคุมความเร็วในขณะที่ปริงคลายกำลังลงเพื่อให้การเคลื่อนไหวของเข็มวินาทีมีความเที่ยงตรง

  รุ่นไฮไลท์ในกลุ่มเครื่อง Spring Drive ของ Grand Seiko คือ SBGA211 ที่หลายคนเรียกขานกันว่า “Snow Flake” เพราะแรงบันดาลใจในการออกแบบพื้นผิวหน้าปัดมาจากทิวทัศน์ธรรมชาติของหุบเขาชินชูในฤดูหนาว หิมะขาวโพลนที่ปลุกคุลมพื้นที่เมื่อโดนแรงลมพัดจึงเกิดเท็กซ์เจอร์ที่ละเอียดลออสวยงามขึ้น จึงเป็นที่มาของนาฬิกา Snow Flake รุ่นยอดนิยมที่ดีไซน์เรียบหรูสะท้อนความงามในแบบญี่ปุ่นอย่างแท้จริง

SBGA407G คงคุณสมบัติความเป็น “Snow Flake” เครื่องสปริงไดรฟ์ พร้อมเทคนิคการขัดพื้นผิวแบบ ที่ใช้เทคนิคที่เปลี่ยนโฉมหน้าปัดใหม่ให้เป็นสีฟ้าอ่อนแทนรุ่นก่อนๆ ที่มีเฉพาะสีขาวเท่านั้น

   ทั้งสองโรงงานของ Grand Seiko แม้ที่ตั้งจะอยู่ห่างกันถึงกว่า 500 กิโลเมตร แต่ได้ผสานจิตวิญญาณและจุดมุ่งหมายเป็นหนึ่งเดียวกัน ให้เราสัมผัสได้ถึงความมุ่งมั่นและความเอาใจใส่พิถีพิถันในทุกอณูระดับไมโคร เพื่อความเที่ยงตรงแม่นยำสูงสุด ความชัดเจนในการอ่านค่า และความสวยงาม จนเป็นที่มาของการกำเนิดนาฬิกาที่เป็นสุดยอดของงานหัตถศิลป์แห่งเรือนเวลาระดับโลกที่ควรค่าแก่การครอบครองและจดจำ ในชื่อ Grand Seiko

    TAG
  • grand seiko
  • watch
  • design
  • studio

เยือนแหล่งกำเนิด “King of Watch” ของญี่ปุ่น ก้าวสู่นาฬิกาเรือนหรูระดับโลกในนาม “Grand Seiko”

DESIGN/STUDIO VISIT
6 years ago
CONTRIBUTORS
EVERYTHING TEAM
RECOMMEND
  • PEOPLE/STUDIO VISIT

    ‘Snappy Studio’ จากคลับเฮ้าส์ร้างอายุกว่า 30 ปี สู่พื้นที่สร้างสรรค์ของคนมันๆ ใจกลางหมู่บ้าน

    ห้องแล็บลับใต้ดิน ศูนย์บัญชาการอวกาศในหนัง Space Age ลานโรลเลอร์สเก็ตยุค 80s... นี่คือสิ่งที่กำลังตีกันยุ่งเหยิงในหัวเราเมื่อเห็นอาคารหน้าตาแปลกประหลาดลักษณะเป็นโดมกระจกครอบไว้ด้านนอกผุดขึ้นมากลางลานสโมสรของหมู่บ้าน แต่เมื่อเดินลงบันไดที่ซ่อนอยู่ตรงนั้น ทอดยาวไปสู่ชั้นใต้ดินด้านล่าง เรากลับพบความรู้สึกประหลาดยิ่งกว่า! 

    Nat LelaputraJanuary 2024
  • DESIGN/STUDIO VISIT

    เช็คอินสตูดิโอดีไซน์ระดับตำนานสัญชาติดัตช์ droog

    ในครั้งแรกที่เรามีโอกาสได้เดินทางไปยังเมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ นอกจากความตั้งใจในการชมงานศิลปะชั้นเยี่ยมในพิพิธภัณฑ์ชั้นนำของโลกที่นี่แล้ว ความหวังอีกอย่างคือการได้เยี่ยมเยือนสตูดิโอดีไซน์ในดวงใจของเรามาเนิ่นนาน สตูดิโอแห่งนี้มีชื่อว่า droog นั่นเอง

    Panu Boonpipattanapong2 years ago
  • DESIGN/STUDIO VISIT

    ‘DOT.X’ ดีไซน์สตูดิโอที่ออกแบบ ‘บ้าน’ บนความหลากหลาย และเป็นอะไรก็ได้ตามใจผู้อยู่ 

    ‘DOT.X’ ดีไซน์สตูดิโอ การรวมตัวกันของคนเจนฯ ใหม่ที่ทำงานบนความหลากหลาย ลื่นไหล และพร้อมปรับตัวไปกับทุกภารกิจที่ถาโถมเข้ามา เพื่อจัดการความชอบของผู้คนให้เข้าที่เข้าทาง 

    Nat LelaputraFebruary 2023
  • DESIGN/STUDIO VISIT

    ตุ่ย - ขวัญชัย แห่งแผลงฤทธิ์ กับความอยู่รอดของอาชีพสถาปนิกในต่างจังหวัด

    ครั้งแรกในรอบ 8 ปีที่คุณตุ่ย - ขวัญชัย สุธรรมซาว ผู้ก่อตั้งบริษัทสถาปนิกแผลงฤทธิ์ ปรากฏตัวในหน้าสื่ออีกครั้ง หลังจากหมกมุ่นอยู่กับการทดลองเพื่อค้นหามุมมองใหม่ๆ ที่ลงลึกไปมากความงามภายนอกของงานสถาปัตยกรรม เพื่อความยืนหยัดอยู่รอดของอาชีพสถาปนิกในต่างจังหวัด

    EVERYTHING TEAM6 years ago
  • DESIGN/STUDIO VISIT

    STUDIO VISIT JUNSEKINO A+D

    ภายใต้บรรยากาศบ้านๆ สถาปนิกและนักออกแบบสร้างสรรค์ผลงานที่มีมากกว่าบ้าน ภายใต้ชื่อสำนักงานจูน เซคิโน อาร์คิเทคต์ แอนด์ ดีไซน์ บ้านเก่าที่ยังคงเอกลักษณ์ของรูปแบบสถาปัตยกรรม Post Modern ซึ่งมักจะเห็นในบ้านจัดสรรยุค 60-70

    EVERYTHING TEAM6 years ago
  • DESIGN/STUDIO VISIT

    เมื่อออฟฟิศ คาเฟ่ โชว์รูม รวมอยู่ใน Creative Flow Space แห่งใหม่ของ Trimode

    เยือนสตูดิโอใหม่ของ Trimode ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การทำงานของคนรุ่นใหม่ พร้อมแนวคิดการทำงานของพวกเขากับก้าวสู่ปีที่ 13 ในวงการออกแบบ

    EVERYTHING TEAM6 years ago
SIGN UP TO OUR NEWSLETTER
A Monthly update of the new issue from us
THANK YOU FOR YOUR SUBSCRIPTION

We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )