Landscape of Emptiness การสํารวจสัจธรรมแห่งความว่างเปล่าผ่าน งานศิลปะร่วมสมัย โดย สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์ | IAMEVERYTHING.CO

LOOKING ON EVERYTHING ?

EXPLORE ON EVERYTHING

Landscape of Emptiness
การสํารวจสัจธรรมแห่งความว่างเปล่าผ่านงานศิลปะร่วมสมัย โดย สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์
เรื่อง: ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

  สรรพสิ่งทั้งหลายทั้งปวงในโลก ล้วนแล้วแต่เป็นไปตามกฎธรรมชาติเป็นธรรมดา ดังเช่นหลักธรรมในศาสนาพุทธอย่าง ไตรลักษณ์ หรือลักษณะ 3 ประการของสรรพสิ่งทั้งปวง อันได้แก่ “อนิจจตา” หรือ ลักษณะอันไม่เที่ยงแท้ มีการเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมดา, “ทุกขตา” หรือลักษณะอันไม่สามารถทนอยู่ในสภาพเดิมได้ตลอดไป มีความเสื่อมสลาย และ “อนัตตา” ลักษณะอันไม่สามารถบังคับให้เป็นไปตามต้องการได้ เช่น ไม่สามารถบังคับให้ชีวิตยืนยาวอยู่ได้ตลอดไป ไม่สามารถบังคับจิตใจหรือตัวตนให้เป็นไปตามความปรารถนา เป็นความไม่ใช่ตัวตน, ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกล้วนแล้วแต่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เป็นความไม่เที่ยงแท้และความว่างเปล่าอันเป็นธรรมดา ธรรมชาติ

  โดยปกติแล้ว การทําความเข้าใจสัจธรรมเช่นนี้ เราต้องศึกษาและปฏิบัติผ่านหลักธรรมทางศาสนา แต่ในบางครั้ง เราก็สามารถทําความเข้าใจกับสัจธรรมเช่นนี้ผ่านงานศิลปะได้ด้วยเช่นกัน ดังเช่นผลงาน ของ สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์ ศิลปินชาวกรุงเทพฯ ผู้มีภูมิหลังทางด้านภูมิสถาปัตยกรรม (Landscape architecture) หากแต่เธอมีความสนใจทางด้านศิลปะร่วมสมัย เธอทํางานอยู่บนพรมแดนระหว่างภูมิสถาปัตยกรรมและศิลปะร่วมสมัย ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากบริบททางสังคม การค้นคว้า ทางวัฒนธรรมอันลึกซึ้ง และการสํารวจจิตใจและตัวตนภายในของมนุษย์ ด้วยการเล่นกับรอยต่ออันไร้ตะเข็บของภูมิสถาปัตยกรรมและงานศิลปะร่วมสมัย ทั้งงานศิลปะจัดวาง ประติมากรรม และงานออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม

  ในนิทรรศการ Landscape of Emptiness ภูมิทัศน์ของความว่างเปล่า สนิทัศน์สํารวจสัจธรรมอันธรรมดาสามัญนี้ ด้วยการสร้างสภาวะของการเข้าสู่ความว่างเปล่า ที่พาผู้ชมเข้าไปสู่เขตแดนของสภาวะแห่งความว่างเปล่า ไร้ตัวตน เพื่อสํารวจสัจธรรมของความไม่เที่ยงแท้ ที่ทุกอย่างล้วนแล้วแต่แตกดับสูญสลายไปจนเหลือแต่ความว่างเปล่า

  “ที่มาของนิทรรศการ Landscape of Emptiness เริ่มจากการที่ อาจารย์เต้ (ปรมพร ศิริกุลชยานนท์) กับคุณวัคซีน (กฤษฎา ดุษฎีวนิช) ชวนเรามาแสดงนิทรรศการที่หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร ตั้งแต่ ประมาณต้นเดือนพฤจิกายน ปี 2023 ด้วยความที่งานของเราพูดถึงรูปทรงของที่ว่าง และพื้นที่ที่ทําให้คนได้มีเวลาอยู่กับตัวเอง ได้หยุด ได้คิด แต่พอได้ใช้เวลาคุยกันเรื่อยๆ ความคิดก็เริ่มตกตะกอนว่าเราไม่อยากทําอะไรที่ซ้ำเดิมกับงานที่เราเคยทํางาน ทั้งงานชุด Garden of Silence ที่เราทําในมหกรรมศิลปะไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย หรืองานในนิทรรศการ Liminal Space ที่เราทําที่ noble PLAY ซึ่งเป็นงานในรูปแบบที่เราอยากทํา และได้ทําอย่างเต็มที่และชัดเจนแล้ว อีกอย่างงานที่ผ่านๆ มา เราทําในรูปแบบที่มีปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่กลางแจ้ง แต่พื้นที่แสดงงานในหอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากรนั้นเป็นพื้นที่ภายในอาคาร เราก็คิดว่าเราจะพูดเรื่องอะไรดี? ประจวบกับการที่เราได้ไปปฏิบัติธรรมช่วงปีใหม่ในป่าลึกที่ไม่มีไฟฟ้า น้ําประปา ทําให้เราได้มีเวลาสะท้อนความคิด ได้เขียนเรื่องงานของเราเกี่ยวกับเรื่องพื้นที่ว่าง พอทุกอย่างรวมกันแล้วเกิดความคิดว่าเราอยากหลุดพ้นจากการเป็นรูปทรง มาเป็นสภาวะของความว่าง หรือความเป็น Non-object คืออยากจะพูดถึงความว่างที่ว่างจริงๆ เพราะก่อนหน้านี้เราทํางานเป็นรูปทรงปริมาตรในพื้นที่ว่าง แต่ตอนนี้เราอยากให้คนได้สัมผัสสภาวะความว่างจริงๆ เราก็ค่อยๆ พัฒนางานชุดนี้ขึ้นมา”

  แนวคิดแห่งความว่างที่ว่านี้ ถูกถ่ายทอดผ่านผลงานศิลปะจัดวางเฉพาะพื้นที่หลากชิ้นหลายวัสดุและเทคนิคที่ติดตั้งในพื้นที่ของหอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร เริ่มต้นด้วยผลงาน Primitive ในพื้นที่ห้อง แสดงงานด้านในสุดภายในชั้นล่างของหอศิลป์ ที่ถมดินจนกองเกือบเต็มพื้นห้อง ราวกับจะแสดงให้เห็นภาพอดีตของพื้นที่แห่งนี้ในยุคบรรพกาล ที่ไม่มีสิ่งก่อสร้างหรือแม้แต่อะไรอยู่เลย นอกจากพื้นดินตะปุ่มตะป่ํา รกร้างว่างเปล่า บนผนังหลังกองดินในห้องแสดงงานยังกรุด้วยกระจกเกรียบ (กระจกเงาที่ใช้กับงานสถาปัตยกรรมไทยประเพณี) ในลักษณะเป็นตารางคล้ายพิกเซล ให้ผู้ชมมองภาพสะท้อนอันแตกพร่าเลือนรางของตัวเองและสภาพแวดล้อมรอบข้าง ราวกับเป็นการจ้องมองภาพอันพร่าเลือนของอดีตในความทรงจําอันรางเลือน และยังเป็นการแสดงถึงความแตกร้าวเสื่อมสลายของตัวตนและสังขารอันไม่เที่ยงแท้ของตัวเอง แต่ในทางกลับกัน ถึงแม้กองดินที่ว่านี้จะเป็นเหมือนซากสังขารของสิ่งมีชีวิตอันเปื่อยย่อยสูญสลาย แต่ภายในก็อาจจะมีสิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆ อาศัยอยู่ หรือมีเมล็ดพันธุ์ที่ซุกซ่อนอยู่ในกองดิน หรือที่ล่องลอย ร่วงหล่น หรือติดสอยห้อยตามสิ่งมีชีวิตที่เข้ามาในห้องแสดงงานทางประตูห้องที่เปิดออกไปสู่พื้นที่กลางแจ้งภายนอก และรอวันงอกงามผลิดอกออกใบขึ้นมาก็เป็นได้

  “พอเราพูดถึง “ความว่าง” ไม่ได้แปลว่าต้องไม่มีอะไรอยู่เลย ความว่างที่ว่านี้มีอะไรอยู่ แต่เราไม่ยึดติดกับมัน ท่าน ว.วชิรเมธี เคยสอนเราไว้ว่า เหมือนเรามีโทรศัพท์ไอโฟนอยู่เครื่องหนึ่ง พอเราแยกชิ้นส่วนมันออกทั้งหมด มันก็ไม่เรียกว่าไอโฟนแล้ว มันคือสิ่งนี้เพราะเราไปยึดติดกับสิ่งนี้ เราไปตั้งชื่อ เราไปสมมติให้มัน ว่านี่คือสิ่งนั้นสิ่งนี้ คือคนนั้นคนนี้ แต่พอตัวเราเสื่อมสลาย ก็ไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย งานชุดนี้คือการพูดถึงการไม่ยึดมั่นถือมั่น ว่าอะไรเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ ตัวงานเลยจะพูดถึงสภาวะ เราก็เลยพยายามจะผสานเรื่องของประสาทสัมผัส กลิ่น เสียง ความรู้สึก ไม่ใช่ความว่างที่ไม่มีอะไรอยู่เลย เราต้องมีกรอบ มีขอบเขตบางอย่างปรากฏเพื่อให้คนได้เห็นถึงความว่าง ความไม่มีตัวตน อย่างงานที่เป็นดินก็พูดถึงการเกิดและการดับ การเสื่อมสลายที่ทําให้ชีวิตเกิดขึ้นมา หรือกระจกเงาที่ติดเป็นตารางก็เป็นการทําให้เงาสะท้อนไม่ชัดเจน เหมือนถูกทําให้แตกเป็นชิ้นส่วนเล็กๆ เป็นการสลายรูปทรง เพื่อเป็นการตั้งคําถามเกี่ยวกับความไม่เที่ยงของคนและสรรพสิ่งต่างๆ”

  ในห้องแสดงงานถัดมา นอกจากจะมีผนังที่กรุด้วยกระจกเกรียบเป็นตารางพิกเซลเช่นเดียวกันแล้ว ยังมีผลงานประติมากรรม A Frog in the Mud ที่ศิลปินนําซากเขียดตะปาดที่เธอบังเอิญพบเจอมาหล่อเป็นทองเหลือง โดยใช้วิธีการหล่อแบบขี้ผึ้งหาย (Lost Wax) หรือการแทนที่ขี้ผึ้ง กระบวนการหล่อโลหะที่มีมาแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ อันเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชนตําบลปะอาว จังหวัดอุบลราชธานี ประติมากรรมเขียดทองเหลืองที่ว่านี้ถูกวางอยู่บนแท่นไม้ทรงสูงยาวที่ถูกเผาจนดํา เกรียม ราวกับเป็นเชิงตะกอนของสิ่งมีชีวิตตัวเล็กจ้อยนี้ก็ไม่ปาน

   เมื่อเดินขึ้นไปยังห้องแสดงงานชั้นบนของหอศิลป์ บนผนังข้างบันไดยังมีผลงานจิตรกรรมสื่อผสม Impermanence ที่วาดขึ้นจากขี้เถ้าจากการหล่อทองเหลือง, เศษทองเหลือง, ถ่านผสมดินกับกาว กระถิน และเถ้าถ่านของไม้พาโลซานโต (Palo santo) ไม้หอมศักดิ์สิทธิ์ที่ชนพื้นเมืองในป่าทางอเมริกาใต้ใช้ในพิธีกรรมเพื่อการชําระล้างพลังงานไม่ดีออกจากร่างกายมาแต่โบราณอีกด้วย

   โถงกลางห้องแสดงงานชั้นบน มีผลงาน Silence ศิลปะจัดวางที่ใช้กระดิ่งทองเหลืองแขวนห้อยจากเพดาน เรียงรายประกอบกันเป็นรูปทรงคล้ายเจดีย์ทรงระฆังลอยอยู่กลางอากาศอย่างโปร่งเบา ให้ความรู้สึกสงบนิ่ง เหนือเจดีย์มีพิดานไม้ทรงกลมเลียนแบบฝ้าเพดานไม้ทั้งสีสันและลวดลายไม้ระแนง ประดับอย่างแนบเนียนราวกับเป็นส่วนหนึ่งของเพดาน

  ผลงานชิ้นนี้ยังทําให้เรานึกถึงผลงานชิ้นโดดเด่นที่ทําให้ชื่อของสนิทัศน์เป็นที่รู้จักในวงกว้างอย่าง เขามอ (Mythical Escapism), 2013 ที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก “เขามอ” ภูเขาจําลอง งานภูมิสถาปัตยกรรมไทยโบราณ ที่ถูกตีความออกมาเป็นงานศิลปะร่วมสมัยอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน

  “ก่อนหน้านี้เวลาพูดถึงสนิทัศน์ทุกคนชอบพูดถึงงาน เขามอ หลังๆ เรานึกในใจว่าเราอยากระเบิด เขามอ อยากระเบิดตัวเองทิ้ง พอเราเข้าไปอยู่ในป่า เหมือนเราได้สรุปแก่นของความประทับใจในการที่เราได้ไปอยู่ในที่ที่เราได้อยู่กับตัวเองจริงๆ ได้อยู่กับธรรมชาติ เราอยากจะสื่อสารสภาวะที่ว่านี้ออกมาให้คนได้นรับรู้ และสร้างพื้นที่ให้คนได้ใช้ประโยชน์ได้จริง”

  ที่น่าสนใจก็คือ ในห้องแสดงงานถัดไปอีกห้อง กลับเป็นห้องอันว่างเปล่า ที่มีแต่แสงสปอตไลต์เพียง หนึ่งดวงสาดส่องออกมา หลายคนอาจคาดไม่ถึงว่าความว่างเปล่าที่ว่านี้นี่แหละ คือผลงานศิลปะจัดวางที่มีชื่อว่า Stardust, or we are... และแสงสปอตไลต์นี่เอง ที่สาดส่องจนทําให้เราเห็นว่าภายในความว่างเปล่าในห้องนี้ หาได้เป็นความว่างเปล่าที่ไม่มีอะไรอยู่เลย หากแต่ประกอบด้วยฝุ่นละออง และอนุภาคจํานวนนับไม่ถ้วนฟุ้งกระจายอยู่ทั่วนั่นเอง นับเป็นการแสดงตัวตนที่ซ่อนอยู่ภายในความว่างเปล่าได้อย่างเหนือชั้นจริงๆ อะไรจริง!

  ในห้องถัดไปประกอบด้วยผลงาน Follow the Sun ที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมสัมผัสกับบรรยากาศยามเช้า ด้วยการเปิดหน้าต่างให้แสงอาทิตย์สาดส่องเข้ามา หากแต่กรองแสงให้ละมุนละไมลงด้วยม่านที่ทําจากกระดาษสา และแต่งเติมประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสด้วยเสียงที่บันทึกจากสภาพแวดล้อมของธรรมชาติในป่า และกลิ่นที่ให้ความรู้สึกถึงยามเช้าที่สนิทัศน์ออกแบบขึ้นเป็นพิเศษด้วยความช่วยเหลือของศิลปินนักสร้างสรรค์กลิ่นชั้นนําชาวไทย อชิตพล พานทอง

  ตามมาด้วยผลงานในห้องถัดมาอย่าง Shadow of Emptiness ที่นําซากใบไม้ย่อยสลาย ขยะ และ วัตถุเก็บตกจํานวนนับไม่ถ้วนมาแปรสภาพเป็นประติมากรรมทองเหลืองหล่อแบบขี้ผึ้งหาย เพื่อสะท้อนร่องรอยและหลักฐานของความเสื่อมสลาย ไม่จีรังยั่งยืนของสรรพสิ่ง โดยจัดวางเป็นรูปทรงกลมล้อมรอบหลอดไฟ คล้ายกับเป็นการจําลองการระเบิดของ ซูเปอร์โนวา หรือ บิ๊กแบง ยังไงยังงั้น

   และผลงาน Follow the Moon ภายในห้องที่มืดมิด มองเห็นเพียงจุดแสงรําไรคล้ายแสงดาวบนพื้นห้อง ราวกับจะให้ผู้ชมได้สัมผัสกับประสบการณ์ในการจ้องมองความเวิ้งว้างว่างเปล่าของจักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาลบนท้องฟ้าเบื้องบนยามราตรี

  ปิดท้ายด้วยผลงาน The Present Moment ในพื้นที่ระเบียงด้านหลังของหอศิลป์ ที่เป็นเหมือนขั้วตรงข้ามกับผลงานชิ้นแรกอย่าง Primitive ที่เป็นกระจกเงาพิกเซลที่สะท้อนภาพอดีตอันพร่าเลือน ผลงาน ชิ้นนี้กลับติดกระจกเงาใสกระจ่างเต็มบานบนบานประตู 8 บาน ราวกับจะเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้ทบทวนตัวตนจากเงาสะท้อนของตัวเองในปัจจุบันขณะ และไตร่ตรองถึงสิ่งที่เคยพานพบประสบเจอมาในชีวิต
  กระจกเงาในผลงานชิ้นนี้ (รวมถึงฝุ่นละอองในผลงาน Stardust, or we are…) ของสนิทัศน์ ยังทำให้เรานึกไปถึงหลักธรรมในสูตรของเว่ยหล่าง คัมภีร์ของศาสนาพุทธนิกายเซน ที่เล่าเรื่องราวของ เว่ยหล่าง พระสังฆปรินายกองค์ที่ 6 ในนิกายเซน ในสมัยที่ยังเป็นศิษย์ในพระสังฆปรินายกองค์เดิม เรื่องของเรื่องก็คือ ในเวลานั้นศิษย์เอกของสังฆปรินายกได้แต่งโศลกที่กล่าวถึงการปฏิบัติเพื่อเข้าถึงหลักธรรมอันเที่ยงแท้และเขียนเอาไว้บนกำแพงทางเดินเอาไว้ว่า

  “กายของเราคือต้นโพธิ์ ใจของเราคือกระจกเงาใส เราต้องหมั่นเพียรเช็ดถูโดยระมัดระวัง เพื่อไม่ให้ฝุ่นละอองจับ”

  ต่อมาเว่ยหล่างได้อ่านโศลกนี้ และค้นพบว่าการเข้าถึงหลักธรรมอันเที่ยงแท้ที่ถูกต้องควรเป็นดังนี้มากกว่า โดยเขียนเป็นโศลกอีกชิ้นว่า

  “ไม่มีทั้งต้นโพธิ์ และกระจกเงาอันใสสะอาด เมื่อทุกสิ่งว่างเปล่าแล้ว ฝุ่นจะลงจับอะไร?”

  โศลกนี้แสดงถึงหลักธรรมอันเที่ยงแท้ได้อย่างลึกซึ้งจนทำให้เว่ยหล่างได้เป็นพระสังฆปรินายกองค์ต่อไปในที่สุด

  เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ทำให้เราอดคิดไม่ได้ว่า แม้แต่ผลงานศิลปะร่วมสมัยอันแปลกใหม่ที่เดินทางข้ามผ่านเวลามาไกลหลายศตวรรษ ก็อาจทำให้ผู้ชมอย่างเราเข้าถึงและเข้าใจสัจธรรมแห่งความว่างเปล่าเช่นเดียวกับสูตรของเว่ยหล่างได้บ้าง ไม่มากก็น้อย

  “งานในนิทรรศการนี้เป็นเหมือนสภาวะปัจจุบันที่เรารู้สึก และอยากทบทวน อยากสื่อสาร ถ้าถามว่าความว่างดีงามอย่างไร เราคิดว่าความว่างทำให้คนได้อยู่กับตัวเอง ได้ทบทวน ได้เรียกสติ ทำให้จิตใจเราเข้มแข็งขึ้น เป็นสภาวะ ณ ปัจจุบันที่เราอยากจะสื่อสารออกมาอย่างจริงใจ”

  ในทางกลับกัน ในฐานะผู้ชมที่ติดตามผลงานของเธอมาพอสมควร เราเองก็ตั้งคำถามว่า ในขณะที่นิทรรศการนี้พูดถึงความว่าง แต่ด้วยวิชาชีพของศิลปินที่เป็นสถาปนิก ซึ่งเป็นผู้ออกแบบและสร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆ บนพื้นที่ว่าง ก็เป็นเหมือนการถมและทำลายความว่างประการหนึ่ง ซึ่งก็ออกจะเป็นอะไรที่ย้อนแย้งเอาการอยู่เหมือนกัน ซึ่งสนิทัศน์เฉลยความสงสัยนี้ให้เราฟังเป็นการทิ้งท้ายว่า
  “อย่างที่บอกว่า ในมุมมองของเรา ความว่าง ไม่ได้แปลว่าไม่มีอะไรเลย การที่เราสร้างบ้านหรือสร้างภูมิทัศน์ขึ้นมา ไม่ได้หมายความว่าเรากำลังถมพื้นที่ว่าง เพราะความว่างที่เราหมายถึงนั้น คือความว่างจากการที่เราไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่ได้ยึดว่านี่ของเรา ไม่ได้ยึดว่าต้องเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้เท่านั้น ไม่ได้ยึดมั่นกับความคิดของเรา การที่เราสร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆ ขึ้นมา เพราะชีวิตต้องดำเนินต่อไป ประชากรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่เราจะสร้างอย่างไรให้คนอยู่กันได้อย่างสมดุล ทั้งผู้อยู่อาศัย เพื่อนบ้าน และสภาพแวดล้อมรอบข้าง เราคิดว่านี่เป็นสิ่งที่จำเป็น เป็นเรื่องของปัจจัย 4 คนต้องการที่อยู่อาศัย ต้องการพื้นที่สวนในการบำบัดจิตใจ เป็นปอดให้เมือง การสัมผัสกับความว่าง ไม่ได้แปลว่าไปเจอความไม่มีอะไรเลย แต่เราสามารถพาคนไปสู่พื้นที่ที่สร้างสภาวะให้เขาได้สัมผัสความว่าง คือการมีเวลาได้หยุดอยู่กับตัวเอง”

นิทรรศการ Landscape of Emptiness ภูมิทัศน์ของความว่างเปล่า
โดย สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์ และ ภัณฑารักษ์ - กฤษฎา ดุษฎีวนิช
จัดแสดง ณ หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร (วังท่าพระ)
ระหว่างวันที่ 22 มีนาคม – 8 มิถุนายน 2567 วันจันทร์ - เสาร์ เวลา 9.00 น. - 18.00 น.
(ยกเว้นวันอาทิตย์และวันหยุดราชการ) ขอบคุณภาพจากศิลปิน และหอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร
    TAG
  • art
  • exhibition
  • artist
  • Landscape of Emptiness
  • สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์

Landscape of Emptiness การสํารวจสัจธรรมแห่งความว่างเปล่าผ่าน งานศิลปะร่วมสมัย โดย สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์

ART AND EXHIBITION/EXHIBITION
April 2024
CONTRIBUTORS
EVERYTHING TEAM
RECOMMEND
  • DESIGN/EXHIBITION

    The Spirits of Maritime Crossing การเดินทางข้ามสมุทรของศิลปินตะวันออกไกล สู่มหกรรมศิลปะในนครแห่งสายน้ำ Venice Biennale 2024

    ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา เรามีโอกาสได้เดินทางไปชมงาน มหกรรมศิลปะนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 60 (Venice Biennale 2024) ที่เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี ที่นานาประเทศต่างส่งผลงานศิลปะเข้ามาร่วมแสดงใน Pavillion (ศาลาแสดงงาน) แห่งชาติของตัวเองกันอย่างคับคั่ง และแข่งขันกันสำแดงพลังแห่งศิลปะร่วมสมัยของศิลปินผู้เป็นตัวแทนของชาติอย่างไม่ยอมน้อยหน้ากัน น่าเสียดายที่เวนิส เบียนนาเล่ในปีนี้ ไม่มี Thai Pavillion และประเทศไทยเราเองก็ไม่มีการส่งศิลปินมาร่วมแสดงงานในมหกรรมศิลปะครั้งนี้ (ซึ่งก็นับเป็นครั้งที่ 2 แล้วที่ไม่ได้ส่งมา) แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีศิลปินไทยเข้าร่วมแสดงผลงานใน เวนิส เบียนนาเล่ แต่อย่างใด เพราะในปีนี้ เหล่าบรรดาศิลปินร่วมสมัยชาวไทยต่างเดินทางไปร่วมแสดงงานในนิทรรศการ The Spirits of Maritime Crossing : วิญญาณข้ามมหาสมุทร ในฐานะกิจกรรม Collateral Events หรือนิทรรศการที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของมหกรรมศิลปะ เวนิส เบียนนาเล่ ในครั้งนี้ แล้วก็ไม่ได้มีเพียงแค่ศิลปินชาวไทยเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงศิลปินในประชาคมอาเซียนและศิลปินระดับโลกที่เข้ามาร่วมแสดงงานในนิทรรศการนี้ด้วย

    Panu Boonpipattanapong7 days ago
  • DESIGN/EXHIBITION

    นิทรรศการศิลปะคู่ขนานระหว่างโลกมายากับโลกแห่งความเป็นจริงในหนัง Solids by the Seashore

    โดยปกติ ตัวละครเอกในหนังหลายเรื่อง นอกจากจะมีหน้าที่ทำให้ผู้ชมบันเทิงใจด้วยการต่อสู้กันในหนังแอ็คชั่น หรือตกหลุมรัก ตามจีบ และพลอดรักกันในหนังโรแมนติก (หรืออีโรติก) หรือทำตลกโปกฮากันในหนังคอเมด้ี หน้าที่ความรับผิดชอบอีกอย่างของตัวละครที่ทำให้หนังมีความหนักแน่น สมจริง และเป็นที่น่าเชื่อถือสำหรับผู้ชมก็คือ อาชีพการงานของเขาและเธอนั่นเอง นอกจากอาชีพทั่วๆ ไป อย่างนักธุรกิจ ตำรวจ ทหาร หรือคนทำอาหารอย่างเชฟแล้ว อาชีพของตัวละครในหนังที่เราสนใจเป็นพิเศษก็คืออาชีพ ศิลปิน นั่นเอง

    Panu BoonpipattanapongApril 2024
  • DESIGN/EXHIBITION

    ศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะเยียวยาจิตวิญญาณ และสร้างความเข้าใจระหว่างมนุษย์ Yujin Lee

    “ศิลปะ” นอกจากจะเป็นเครื่องมือชุบชูและกล่อมเกลาจิตใจผู้คนด้วยสุนทรียะและความงามแล้ว ใน บางครั้ง ศิลปะอาจเป็นเครื่องมือในการบําบัด เยียวยารักษาจิตวิญญาณ หรือแม้แต่เป็นเครื่องมือใน การสร้างความเข้าใจระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ หรือแม้แต่มนุษย์กับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ได้ด้วย ดังเช่นผล งานของศิลปินผู้หนึ่งที่มีชื่อว่า ยูจิน ลี (Yujin Lee)

    Panu BoonpipattanapongApril 2024
  • DESIGN/EXHIBITION

    สนทนากับ อริญชย์ รุ่งแจ้ง ภัณฑารักษ์ผู้ส่องแสงสว่างให้นิทรรศการ Good Old Neon

    นับแต่อดีตกาลนานมา มนุษย์รับเอาพลังจากดวงอาทิตย์ ที่สาดส่องแสงสว่างให้มองเห็นสรรพสิ่งในโลก ขับไล่ภัยอันตรายที่ซุกซ่อนอยู่ในความมืด ทั้งพลังงานความร้อนที่ให้ความอบอุ่น หรือพลังงานแสงที่หล่อเลี้ยงพืชพันธุ์ธัญญาหารให้เติบโตงอกงาม อีกทั้งยังส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์อีกด้วย เนิ่นนานให้หลัง เมื่อมนุษย์มีวิวัฒนาการจนสร้างสิ่งต่างๆ จากสติปัญญาและสองมือ แสงสว่างจากหลอดไฟ ก็เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมา นอกจากมนุษย์จะใช้แสงประดิษฐ์จากหลอดไฟที่ว่านี้ในการเปลี่ยนความมืดให้กลายเป็นความสว่างไสวเพื่อใช้ชีวิตในยามกลางคืนแล้ว แสงประดิษฐ์ที่ว่านี้ยังส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์เช่นเดียวกัน ดังเช่นแสงที่ปรากฏในนิทรรศการที่มีชื่อว่า Good Old Neon ที่ใช้แสงเรืองรองของหลอดไฟประดิษฐ์สาดส่องให้แก่ผลงานจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพถ่าย ที่นำเสนอสื่อทางประสาทสัมผัสจากมุมมองของวัตถุที่กระตุ้นประสาทสัมผัสเพื่อระลึกถึงประสบการณ์ทางอารมณ์ความรู้สึกและความทรงจำอันหลายหลาก

    Panu BoonpipattanapongApril 2024
  • DESIGN/EXHIBITION

    Conversations with Strangers นิทรรศการที่ถ่ายทอดภาพชีวิตของผู้คนรอบตัว ด้วยลีลาอันเปี่ยมสีสัน ปวเรศวร์ โชคแสน

    ในประวัติศาสตร์ศิลปะที่ผ่านมา มีศิลปินจำนวนไม่น้อยที่เริ่มต้นทำงานศิลปะเมื่ออายุล่วงเข้าวัยกลางคนแล้ว หากแต่ศิลปินเหล่านั้นก็พิสูจน์ให้โลกได้เห็นว่า ไม่มีคำว่าสายในการเริ่มต้นทำงานศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นศิลปินเอกของโลกอย่าง วินเซนต์ แวน โก๊ะห์ หรือ โคล้ด โมเน่ต์ ที่เริ่มต้นเป็นศิลปินอาชีพตอนอายุเกือบ 30 ปี หรือ ศิลปินชาวฝรั่งเศสอย่าง อ็องรี รูสโซ ที่กว่าจะหันเหมาเป็นศิลปินอาชีพเต็มตัวก็ตอนที่อายุย่างเข้า 49 ปี เข้าไปแล้ว หรือแม้แต่ศิลปินเอกชาวไทยอย่าง ประเทือง เอมเจริญ เองก็เริ่มต้นทำงานศิลปะอย่างจริงจังก็เมื่ออายุเกือบ 30 ปี เช่นกัน

    Panu BoonpipattanapongMarch 2024
  • DESIGN/EXHIBITION

    ศิลปินผู้สำรวจตัวตนของตนเองผ่านตัวตนเสมือน Rook Floro

    “ศิลปะ” นอกจากจะใช้เป็นเครื่องผ่อนคลายและชุบชูจิตใจผู้คนด้วยสุนทรียะและความงามแล้ว ในหลายครั้ง ศิลปะยังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสะท้อนอารมณ์ความรู้สึก ระบายสิ่งที่คั่งค้างอยู่ภายใน และสำรวจจิตใจและตัวตนของผู้สร้างสรรค์ผลงานได้อีกด้วย เช่นเดียวกับผลงานศิลปะของ รุกข์ โฟล์โร (Rook Floro) ศิลปินผู้เชี่ยวชาญงานศิลปะหลากสื่อ โดยใช้เทคนิคปืนกาว และสื่อหลากแขนงสร้างสรรค์ผลงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานจิตรกรรม ประติมากรรม งานศิลปะจัดวาง งานวิดีโอ และศิลปะแสดงสด ที่สำรวจตัวตนในแง่มุมต่างๆ ของเขาในฐานะมนุษย์ สิ่งมีชีวิตอันซับซ้อน ที่ในบางครั้ง ในตัวตนของมนุษย์คนหนึ่ง ก็เต็มไปด้วยความหลากหลายทางอารมณ์ ความรู้สึก บุคลิกภาพ และอัตลักษณ์ ที่กำหนดตัวตนของบุคคลผู้นั้นในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน รุกข์ใช้ผลงานของเขาสำรวจความหลากหลายของอัตลักษณ์เหล่านั้นผ่าน Alter ego หรือ ตัวตนเสมือน ที่เขาสร้างขึ้นเป็นตัวละครขึ้นมา 4 ตัว

    EVERYTHING TEAMMarch 2024
SIGN UP TO OUR NEWSLETTER
A Monthly update of the new issue from us
THANK YOU FOR YOUR SUBSCRIPTION

We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )