Sit Back, Relax, and Enjoy Your Work I อาคารที่ออกแบบให้ทุกคนเลือกมุมโปรดในการทำงานได้ตามสบาย | IAMEVERYTHING.CO

LOOKING ON EVERYTHING ?

EXPLORE ON EVERYTHING

Sit Back, Relax,
and Enjoy Your Work

ประสิทธิภาพของงานไม่ได้จำกัดอยู่แค่บนโต๊ะ หรือในห้องสี่เหลี่ยม Stu/D/O Architects ออกแบบออฟฟิศที่ทุกคนสามารถยกคอมพิวเตอร์ หยิบแฟ้มเอกสาร แล้วลุกออกไปนั่งทำงานในสวนได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ชั้นใดในอาคาร

ในยุคที่เทคโนโลยีเปิดโอกาสให้คนสามารถทำงานได้จากทุกที่ทุกเวลา มุมมองเกี่ยวกับสถานที่ทำงานก็เปลี่ยนแปลงไป บางคนชอบอิสรภาพของการทำงานที่บ้าน บ้างก็หลงใหลกลิ่นอายหอมกรุ่นของการทำงานในร้านกาแฟ ในขณะที่บางคนก็นิยมบรรยากาศที่เปี่ยมไปด้วยพลังความคิดสร้างสรรค์ใน
Co-Working Space เมื่อต้องออกแบบสำนักงานภายใต้โจทย์ที่ต้องการให้ทุกคนทำงานร่วมกันอย่างมีความสุขและมีประสิทธิภาพ Stu/D/O Architects จึงออกแบบอาคารที่เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเลือกทำงานในสภาพแวดล้อมที่ตนเองชอบได้ ไม่ว่าจะนั่งทำงานที่โต๊ะ ในร้านกาแฟ หรือแม้แต่ในสวนลอยฟ้ากลางแจ้ง

อาคารแห่งนี้คือสำนักงานของ Macro Care บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้าน Pro AV (Professional Audio/Visual) และ Data Communication ด้วยความต้องการด้านการใช้งานที่หลากหลาย ประกอบกับข้อจำกัดเรื่องขนาดของที่ดินและตำแหน่งของที่ตั้งซึ่งถูกบังคับให้ต้องเว้นระยะอาคารจากถนน ทำให้พื้นที่ส่วนต่างๆ ถูกนำมาวางซ้อนกันเป็นอาคารสูง 5 ชั้น โดยชั้นล่างซึ่งมีความสูงของฝ้าเพดานมากกว่าชั้นอื่นๆ เป็น Showroom และมีโกดังเก็บของอยู่ด้านหลังเพื่อความสะดวกในการเติมสินค้า ห้องรับรองลูกค้าตั้งอยู่ที่ชั้นสอง สำนักงานและพื้นที่ใช้สอยอื่นๆ กระจายตัวอยู่ในส่วนต่างๆ ของอาคาร แต่ไม่ว่าอยู่ที่ชั้นใด พนักงานและผู้ที่เข้ามาใช้งานอาคารก็สามารถออกไปสัมผัสความอบอุ่นของแสงธรรมชาติท่ามกลางพื้นที่สวนได้โดยไม่ต้องลงบันไดแม้แต่ขั้นเดียว "ไอเดียของเราก็คืออยากจะสร้างพื้นที่สีเขียวให้คนที่ทำงานสามารถออกมาใช้ได้จากทุกชั้น เราเอาธรรมชาติเข้ามาเพื่อให้ใกล้กับคนที่ทำงาน พนักงานไม่ต้องลงลิฟต์ไปที่ชั้นหนึ่งเพื่อที่จะเดินออกมาที่สวน คือเขาสามารถเดินออกไปนั่งทำงานในสวนได้ในทุกๆ ชั้นที่เขาทำงาน" ชนาสิต ชลศึกษ์ สถาปนิกผู้ร่วมก่อตั้ง Stu/D/O Architects กล่าว "เราอยากสร้างพื้นที่ซึ่งเขาสามารถออกไปผ่อนคลาย ออกไปเปลี่ยนสถานที่ทำงานโดยที่ก็ยังอยู่ในพื้นที่ออฟฟิศนี่แหละ ให้เขารู้สึกเหมือนกับว่าเขามีอิสระที่จะเปลี่ยนบรรยากาศด้วยการ ออกไปนั่งทำงานในสวน”

พื้นที่สวนกลางอาคารได้รับการออกแบบให้มีลักษณะเป็นคอร์ทที่ลดหลั่นไล่กันไปหลายระดับ ทุกชั้นจึงมีพื้นที่สีเขียวเป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะอยู่ที่ห้องรับรองแขก ห้องทำงาน หรือแม้แต่ห้องประชุม ก็สามารถออกมาใช้พื้นที่สวนได้อย่างสะดวกสบาย ในขณะที่สวนในแต่ละชั้นมีความสงบและเป็นส่วนตัวมากพอสำหรับการออกมาทำงานภายนอก การจัดเรียงระเบียงสวนในแต่ละชั้นก็มีความเป็นเอกภาพและมีความต่อเนื่อง ทำให้พื้นที่โถงกลางอาคารแห่งนี้มีความลักษณะคล้ายสวนในแนวตั้งขนาดใหญ่ที่ไต่ระดับขึ้นไปตามความสูงของตึก

เพราะเชื่อว่าการทำงานอย่างมีความสุขสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของผลงานได้ ทีมสถาปนิกศึกษาความต้องการของผู้ใช้งานอาคารเพื่อที่จะออกแบบพื้นที่ซึ่งเป็นมากกว่าสถานที่ทำงานหรือโชว์รูมสินค้า "เจ้าของโครงการเขามี Attitude ที่ดี เขาอยากทำออฟฟิศให้พนักงานทำงานแล้วแฮ้ปปี้ เราก็ไปศึกษาว่าพนักงานเขาต้องการอะไรบ้าง เพื่อ Integrate ฟังก์ชันพวกนั้นเข้าไปในดีไซน์ของเรา" ชนาสิตกล่าว "นอกจากโปรแกรมที่เป็นฟังก์ชันหลักในการทำงาน เราก็พยายามเสนอฟังก์ชันอื่นๆ เข้าไปด้วย เราเสนอให้มี Customer Lounge ซึ่งนอกจากรับแขกแล้วก็ยังเป็นที่ซึ่งคนออกไปนั่งกินกาแฟ ไปนั่งคุยกัน แล้วก็เอา Laptop ไปนั่งทำงานได้ มีพื้นที่สำหรับออกกำลังกาย มีพื้นที่ชั้นบนเป็นพื้นที่ทานอาหาร มี Pantry ให้เขาอุ่นข้าวกลางวัน เพราะตรงแถวนั้นมันไม่ได้มีร้านอะไรใกล้ๆ ให้เดินไปได้ มี Library ที่กินข้าวเสร็จก็ออกมานั่ง Relax แม้จะไม่ได้ใหญ่มาก แต่ก็ตอบสนองความต้องการของพนักงานได้ครบ”

นอกจากการศึกษาความต้องการของผู้ใช้งานอาคารแล้ว ทีมสถาปนิกยังได้ศึกษาปัญหาที่มักเกิดขึ้นในที่ทำงานเพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งของโจทย์ในการออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแสงธรรมชาติ หรือการถ่ายเทของอากาศภายในห้องซึ่งเปิดแอร์ตลอดเวลา "จุดเริ่มต้นเลยก็คืออยากแก้ปัญหาเรื่อง Office Syndrome ด้วยการออกแบบ Space ที่เหมาะสมกับการทำงาน" ชนาสิตกล่าว

การออกแบบรูปทรงและองค์ประกอบต่างๆ ภายในอาคารมีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับที่ตั้ง โดยเฉพาะในเรื่องทิศทางลมและแสงแดด "ถ้าดูด้านหน้าของอาคาร มันจะเหมือนเป็นตึกที่เป็นรูปตัว C ที่ Lock กันอยู่ คือ Mass อันนี้มันเกิดมาจากการที่ด้านหน้าตึกหันเข้าหาทิศตะวันตก” ชนาสิตกล่าว "เป็นดีไซน์ที่แก้ปัญหาจาก Condition ของไซต์ ตั้งแต่เรื่อง Set Back (ระยะร่นของอาคาร) ทำให้ Mass อาคารต้องเป็นแบบนี้ และเพื่อที่จะกันความร้อนจากทิศตะวันตก ก็เลยต้องทำด้านหน้าทึบ มีการเอียงผนังเข้ามาแล้วเปิดเป็นกระจกใสเพื่อช่วยให้มี Shading ในตัวเอง แล้วเราอยากให้ Mass มันดูเท่ๆ คมๆ ให้มันเหมาะกับอาคารของบริษัทเกี่ยวกับเรื่องของเทคโนโลยี"

ผนังด้านหน้าของอาคารซึ่งหันไปทางทิศตะวันตกได้รับการออกแบบให้เป็นผนังทึบและใช้ Perforated Sheet ซึ่งมีลักษณะเป็นแผงโลหะเจาะรูติดตั้งในบางตำแหน่งเพื่อกันความร้อนจากแสงแดด และในขณะเดียวกันก็ยังเปิดรับแสงธรรมชาติและสามารถมองเห็นภายนอกได้ “เราทำให้ด้านหน้ามี Perforated Sheet ที่เจาะรูไว้ระบายอากาศได้ ข้างหลังมีกระจก คือเขาสามารถเปิดปิดหน้าต่างบานเลื่อนแล้วระบายอากาศผ่าน Perforated Sheet ได้” ชนาสิตกล่าว “แล้ว Perforated Sheet ตัวนี้ก็เปิดขึ้นมาได้เป็นบานกระทุ้ง บางทีที่เราไม่ได้อยากมองผ่านรูพวกนี้ ถ้าเราอยากมองออกไปข้างหน้าแบบโล่งๆ ก็สามารถเปิดขึ้นมา กันแดดแล้วก็มองทะลุออกมาได้”

ในขณะที่ความร้อนจากแสงแดดยามบ่ายได้รับการปกป้องจากผนังด้านหน้า การออกแบบสวนไว้กลางอาคารทำให้พื้นที่ภายในของอาคารไม่ทึบตัน ทุกส่วนของอาคารสามารถรับแสงธรรมชาติได้อย่างทั่วถึง “เราใช้วิธีคว้าน Space ออกมาเพื่อทำให้แสงธรรมชาติเข้าถึง คือจริงๆ แล้ว Passive Zone การถ่ายเทของอากาศจะดีหรือแสงธรรมชาติจะดีอยู่ที่ Depth ประมาณ 6 เมตร” ชนาสิตอธิบาย “เพราะงั้นพอคว้านไปปุ๊บ จากที่เป็น Mass ลึกๆ มันกลายเป็นรูปทรงที่ทำให้ได้แสงธรรมชาติจากทิศเหนือ และทิศใต้”

จากตึกสู่สวน องค์ประกอบตกแต่งในอาคารได้รับการถ่ายทอดออกมาสู่การออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมด้านหน้า ลวดลายของพื้นผิวบนผนังอาคารซึ่งมีการเว้นจังหวะของส่วนที่ทึบตันกับช่องเปิดได้รับการส่งต่อมายังรูปทรงของหลังคาทางเข้าหลักและลวดลายของผิวน้ำในสวน “จะเห็นว่า Pattern ของตึกซึ่งมีบางส่วนที่เรียบๆ แล้วก็มีบางส่วนที่เป็น Perforated Sheetจะพับลงมาเป็น Pattern ของ Canopy ด้วย ซึ่งก็จะใช้ Perforated Sheet ที่ทึบไม่ทึบ แล้วมันก็จะต่อมาที่ Pattern ของ Landscape ที่อยู่ตรงทางเข้า” ชนาสิตกล่าว "ไอเดียของเราคืิอเราอยากได้ Effect ของน้ำสองแบบอยู่ด้วยกัน คือเป็นน้ำตกกับน้ำเรียบๆ ที่เป็นฟิล์มอยู่ด้วยกัน แล้วมันก็เกิด Pattern ที่ล้อไปกับตัวตึก"

เพราะความสุขคือปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อประสิทธิภาพในการทำงาน ที่สำนักงานแห่งนี้ Stu/D/O Architects ออกแบบอาคารที่มีรูปทรงภายนอกโฉบเฉี่ยวสะท้อนถึงความทันสมัยของธุรกิจด้านเทคโนโลยีของบริษัท Macro Care แล้วจัดวางพื้นที่ของอาคารให้โอบล้อมสวนแนวตั้งอันร่มรื่นไว้ภายใน แจกจ่ายแสงธรรมชาติและบรรยากาศผ่อนคลายให้กับทุกส่วนของอาคาร เพื่อให้ทุกคนสามารถสนุกและมีความสุขกับทุกช่วงเวลาในการทำงานที่อาคารแห่งนี้

    TAG
  • Stu/D/O
  • architecture
  • Co-Working Space
  • office
  • Macro Care

Sit Back, Relax, and Enjoy Your Work I อาคารที่ออกแบบให้ทุกคนเลือกมุมโปรดในการทำงานได้ตามสบาย

ARCHITECTURE/OFFICE
March 2020
CONTRIBUTORS
EVERYTHING TEAM
RECOMMEND
  • DESIGN/OFFICE

    SevenLakes Office Thermoforming BY ASWA

    Sevenlakes - ออฟฟิสบรรจุภัณฑ์ห่ออลูมิเนียมเมททัลลิคขึ้นรูปจากการใช้งาน

    Nada Inthaphunt2 years ago
  • DESIGN/OFFICE

    LORPHOONPHOL RICE MILL by PHTAA โรงสีข้าวล้อพูนผล – สถาปัตยกรรมเปลี่ยนผ่านสู่ยุคร่วมสมัยของนวัตกรรมและวัสดุพื้นถิ่น

    “ล้อพูนผล” โรงสีข้าวของข้าวยี่ห้อบัวชมพูและอีกหลายยี่ห้อมีชื่อ โดยรับข้าวเปลือกจากเกษตกรในจังหวัดนครสวรรค์เป็นหลัก กิจการซึ่งกำลังเติบโตและเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านสู่เจเนอเรชั่นที่ 2 การควบรวมวิสัยทัศน์เพื่อต่อยอดทางธุรกิจจึงต้องอาศัยพื้นที่รองรับเพื่อขยายผลมากขึ้น ให้โรงสีข้าวมีความเป็นไปได้มากกว่าการเป็นโรงสีข้าวอย่างเดียว เมื่อโจทย์ที่มาพร้อมกับกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ จึงได้นำพาภูมิปัญญาพื้นถิ่น และนวัตกรรมมาเจอกัน

    Nada Inthaphunt3 years ago
  • DESIGN/OFFICE

    CHOKCHAIRUAMMIT OFFICE ภาระงานที่ถูกจัดเก็บในพื้นที่อย่างตรงไปตรงมา โดย ARCHIMONTAGE DESIGN FIELDS SOPHISTICATED

    Accsure คือสำนักงานตรวจสอบบัญชีรุ่นใหม่ในย่านโชคชัยร่วมมิตร ที่ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 4 คน มีภาระงานเกี่ยวกับตัวเลข งบประมาณ กำไร ขาดทุน ข้อผิดพลาด การหลบเลี่ยง เช่นบริษัทตรวจสอบบัญชีทั่วไป ซึ่งต้องอาศัยแนวการทำงานที่มีความชัดเจน ตรงไปตรงมา เป็นพื้นฐาน

    Nada Inthaphunt4 years ago
  • DESIGN/OFFICE

    Office in Sanno Ability of curve with tension

    เมื่อโลกเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ โลกของวงการก่อสร้างได้เกิดวัสดุอันเหลือเชื่อมากมาย มันช่วยให้ความสะดวกสบายแก่มวลมนุษย์อย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งราคาถูก แข็งแรง ใช้เวลาก่อสร้างน้อยกว่าแบบดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นคอนกรีต เหล็ก กระจก ในขณะที่วัสดุแบบดั้งเดิมที่ไม่ได้ทำการพัฒนาปรับปรุง ล้วนถูกกวาดหายไปตามระลอกคลื่นแห่งกาลเวลา ในขณะที่ไม้ถูกลดทอนเป็นวัสดุตกแต่ง กรุปิดผิว ไม่สามารถนำมาเป็นโครงสร้างได้อย่างแพร่หลายเท่ากับวัสดุสมัยใหม่อื่น ๆ แม้ว่ะมีคุณสมบัติที่ยั่งยืน สามารถปลูกทดแทนได้ ไม่ได้ใช้แล้วหมดไปดั่งเช่นคอนกรีต หรือใช้พลังงานในการผลิตมากเช่นคอนกรีต

    Xaroj Phrawong5 years ago
  • DESIGN/OFFICE

    HD-1 Building I โครงสร้าง Space Truss กับการเปลี่ยนโฉมหน้าตึกเก่าให้กลายเป็นอาคารใหม่

    ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน ภาพในวันแรกก็ยังคงชัดเจนอยู่ในความทรงจำ เมื่อ Tri-En Solution บริษัทด้านวิศวกรรมงานระบบ ต้องการจะปรับปรุงทาวเฮ้าส์ซึ่งเป็นที่ทำงานของพวกเขามาตั้งแต่วันแรก ทีมสถาปนิกจาก So (Situation based Operation) จึงเข้ามารับหน้าที่ออกแบบสำนักงานที่ไม่ได้เป็นแค่อาคารแต่มีคุณค่าและสำคัญต่อจิตใจ โดยเก็บโครงสร้างอาคารเดิมเอาไว้ แล้วใส่บรรยากาศดีๆ เข้าไปเพื่อทำให้ทุกๆ วันเป็นวันแรกที่สดใสสำหรับทุกๆ คน

    March 2020
  • DESIGN/OFFICE

    PAKNAM OFFICE

    การ ‘กลายสภาพ’ สู่รูปโฉมและฟังก์ชันใหม่ทางสถาปัตยกรรมของสำนักงานปากน้ำ

    EVERYTHING TEAM6 years ago
SIGN UP TO OUR NEWSLETTER
A Monthly update of the new issue from us
THANK YOU FOR YOUR SUBSCRIPTION

We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )