MELAYU LIVING กลุ่มคนที่เปลี่ยนพลังลบให้เป็นพลังบวกในชายแดนใต้ด้วยความคิดสร้างสรรค์ | IAMEVERYTHING.CO

LOOKING ON EVERYTHING ?

EXPLORE ON EVERYTHING

กลุ่ม MELAYU LIVING ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2558 โดยเริ่มจากการรวมกลุ่มสถาปนิกในพื้นที่เพื่อจะขยายการทำงานในภูมิภาคมากขึ้น ก่อนจะเริ่มมีคนจากหลากหลายอาชีพเข้ามาทำงานอาสา สมาชิกส่วนใหญ่ประกอบด้วยสถาปนิกจากปัตตานี ยะลา นราธิวาส ช่างภาพ กราฟิกดีไซเนอร์ คอลัมนิสต์ ซึ่งเป็นคนที่เติบโตมาในพื้นที่ หรือเรียนจบจากกรุงเทพฯ และต่างประเทศ โดยปัจจุบัน ราชิต ระเด่นอะหมัด ดำรงตำแหน่งประธานกลุ่ม และมีสมาชิกจำนวน 18 คน จัดกิจกรรมเพื่อสร้างสรรค์ความเข้าใจเรื่องงานออกแบบที่เป็นพื้นฐานในชีวิตปัจจุบันของทุกคน จนสามารถนำไปต่อยอดให้เกิดการพัฒนาตามความถนัดของแต่ละคนได้ นอกจากนี้พวกเขายังให้ความสำคัญทั้งความคิดสร้างสรรค์ และเรื่องของสันติภาพการอยู่ร่วมกันซึ่งเป็นตัวเชื่อมโยงทั้งคนจีน คนไทย คนมุสลิมโดยไม่แบ่งแยกเเละทำให้เกิดบรรยากาศที่ดีในพื้นที่ชายเเดนใต้

Photographer:
Melayu Living

Writer:
Nada Inthaphunt

Website:
MelayuLiving

Facebook Event:
Pattani Decoded

Sense of UNITY, SENSE OF Humanity
MELAYU LIVING กลุ่มคนผู้ใช้กิจกรรมความคิดสร้างสรรค์ ในการ
เชื่อมต่อเครือข่ายเข้ามาเปลี่ยนพลังลบให้เป็นพลังบวกในแดนใต้

“มลายู ของเราคือคำว่าพื้นที่ พื้นที่ที่นี่มันก็คือพื้นที่ของทุกคน ความหมายนี้มันไม่ได้เกี่ยวในเรื่องของศาสนา คำนี้มันไม่ได้พูดถึงอิสลามอย่างเดียว มันพูดถึงภาพรวม เพราะที่นี่ก็มีคนจีน คนไทยพุทธ คนไทยมุสลิมอยู่” คุณราชิต ระเด่นอะหมัด ประธานกลุ่มได้ขยายความหมายที่มาของชื่อ

เพื่อให้เข้าใจการรวมกลุ่มสมาชิกมากขึ้น คุณจ้ำ บุษกร ยูนา ผู้เป็นสมาชิกได้อธิบายเสริม “Melayu Living เหมือนเป็นกลุ่มรุ่นพี่รุ่นน้องที่รู้จักกัน มีเป้าหมายเดียวกันที่อยากจะทำกิจกรรมให้เมืองของตนเอง ถ้าทำคนเดียวอาจไม่เกิดกิจกรรมขึ้นแบบนี้ พอเรามีกลุ่มคนที่ต่างรู้จักกัน ต่างมีวิชาชีพที่แตกต่างหรือใกล้เคียงกัน ก็สามารถทำกิจกรรมร่วมกันในรูปแบบต่างๆ”
  แม้การรวมกลุ่มผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญแต่ละด้านในพื้นที่ได้เกิดขึ้นมาก่อนบ้างอยู่แล้ว โดยทุกกลุ่มมีเป้าหมายแรกเริ่มที่ไม่ต่างกันมากนัก แต่จุดเริ่มต้นของ Melayu Living เกิดจากการรวมกลุ่มสถาปนิกในพื้นที่ เพื่อจะขยายการทำงานในภูมิภาคมากขึ้น ก่อนจะเริ่มมีคนจากหลากหลายอาชีพเข้ามาเป็นสมาชิก ทิศทางการทำงานของพวกเขาจึงไม่ได้จำกัดอีกต่อไป

  ตั้งแต่เริ่มการจัดตั้งกลุ่ม Melayu Living มาจนถึงปัจจุบันที่ใกล้ครบ 4 ปีนี้แล้ว สถานที่ตั้ง และบริเวณการทำกิจกรรมหลักตั้งอยู่ในอาคารย่านเมืองเก่าติดร้านคาเฟ่ In_t_af ซึ่งเจ้าของอาคารที่มีพื้นเพเป็นคนปัตตานีเดิมเองก็มีความเต็มใจที่จะให้กลุ่มใช้พื้นที่แห่งนี้ให้เกิดประโยชน์ตามเป้าหมาย
  “เป้าหมายของกลุ่มที่มีตอนแรกคือการเผยแพร่วิชาชีพสถาปัตยกรรม แล้วเพิ่มเรื่องของการเชิดชู ยกย่องคนที่ทำงานในพื้นที่ ทำงานศิลปะ ทำงานสร้างสรรค์ บุคคลที่มีคุณค่า” คุณราชิตบอกถึงเป้าหมายที่วางเอาไว้ “เราพยายามที่จะพูดถึงเรื่องพวกนี้ โดยมีเป้าหมายสุดท้ายคือ เราต้องการให้พื้นที่มีจุด หรือสถานที่ที่พูดเรื่องงานสร้างสรรค์ เพราะว่าในขณะที่คนนอกมองพื้นที่ของเราว่ามีแต่ข่าวความรุนแรง เราอยากจะเป็นเสียงหนึ่งที่จะพูดอีกด้านให้คนภายนอกรับรู้”

กระแสตอบรับกับพื้นที่
  กิจกรรมแรกๆ ของกลุ่มจะเน้นเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนความรู้กับซัพพลายเออร์ และการทำเวิร์กช็อป จนเริ่มขยายพื้นฐานไปตามความหลากหลายของสมาชิกในกลุ่ม โดยเน้นความคิดสร้างสรรค์ ความสนุกแต่ยังคงอ้างอิงฐานข้อมูลตามประวัติศาสตร์ตามแต่ละพื้นที่ในปัตตานี ภาพที่เผยแพร่ลงในเพจเฟซบุ๊กทำให้คนสนใจความแปลกใหม่ สอบถามเข้ามาและร่วมกิจกรรมกันมากขึ้น บางครั้งก็ได้สมาชิกเพิ่มขึ้นจากคนที่มีความถนัดแตกต่างแต่มีทัศนคติแบบเดียวกัน
  “ผมว่าลึกๆ แล้วสิ่งเหล่านี้มันอยู่ในตัวของทุกคนในพื้นที่ อย่างปัตตานีในยุคก่อนอิงตามประวัติศาสตร์ มันคือเมืองท่าที่รับเอาวัฒนธรรมหรือศิลปะจากต่างประเทศเข้ามา แล้วผมเชื่อว่ามันได้ถูกซึมเข้าไปในยีนของพวกเรา” คำตอบของคุณราชิตเมื่อเราถามถึงความเข้าใจของคนในพื้นที่ สิ่งที่ขับเคลื่อนให้ทุกคนมารวมกัน
  “พวกเราเริ่มต้นจากความสนุกก่อนเป็นสิ่งแรก ถ้ามันไม่สนุกก็จะไม่ทำ แล้วทุกคนก็มองภาพเดียวกันแล้ว คำว่า ‘สนุก’ เนี่ยมันไม่ใช่การสนุกเพื่อตนเอง มันสนุกเพื่อที่จะได้ให้คนอื่นรับรู้ความสนุกนั้นไปด้วย กิจกรรมต่างๆ จึงเหมือนถูกคิด มันดูเหมือนกับไม่ได้ซับซ้อน แต่เราก็ได้ประชุมกัน และคิดกันเยอะ ว่าควรจะทำกิจกรรมอะไรบ้าง”

  แรงกระตุ้นของเกือบทุกคนเกิดขึ้นจากภาพความรุนแรงซึ่งเป็นพลังด้านลบ เกิดเป็นกลุ่มคนที่อยากทำอะไรให้พื้นที่แล้วใช้แนวความคิดพลังบวกสู้กับมัน เพราะยิ่งมีด้านลบเยอะด้านบวกก็จะยิ่งเด่นมากขึ้น เป็นความท้าทาย ความน่าสนใจและสีสันที่พิเศษเกิดขึ้นบนพื้นที่เดียวกัน “มันไม่ได้หมายความว่าพวกเราจะทำให้เมืองมันสงบสุขขึ้น แต่มันอาจจะเป็นจุดเล็กๆ ที่ทำให้คนรู้สึกว่ามันก็มีที่ที่มันสุนทรีย์ได้”

  ในขณะที่คนต่างถิ่นหรือกลุ่มวิทยากรที่มาบรรยายในกิจกรรมได้เดินทางมาร่วมงานแล้วนั้น เปลี่ยนมุมมองกับพื้นที่ต่างออกไปจากเดิม ทั้งกล้าบอกต่อให้คนที่ยังไม่เคยมามีความมั่นใจ “ผมเชื่อว่าคนที่ลงมาก็ได้แรงบันดาลใจอะไรบางอย่างกลับไปด้วย ด้วยสภาพพื้นที่แบบนี้ พอเราอยู่ในพื้นที่ เราก็ได้อะไรกลับมาเยอะเหมือนกัน เราไปเห็นเหตุการณ์ที่มันไม่ดี เราก็พูดด้วยอีกภาษาหนึ่งให้คนรับรู้อีกด้านหนึ่งดีกว่า แรงบันดาลใจมีเยอะมาก”

  เป้าหมายของกลุ่ม Melayu Living นั้นไม่ได้มองความยั่งยืนที่จะต้องคงอยู่ตลอดไป ไม่ได้มองว่าจะต้องเติบโตเป็นองค์กรใหญ่ ไม่ได้ต้องการให้เป็นทางการ แต่ต้องการผลิตงานที่ทำอยู่ในสเกลนี้ ให้เก็บรายละเอียดได้มากขึ้น ซึ่งจะพูดเกี่ยวกับเรื่องเมือง เรื่องความคิดสร้างสรรค์ เรื่องสันติภาพ เป็นการเติบโตโดยธรรมชาติ เพื่อให้คนเข้าใจว่าการออกแบบไม่ใช่สิ่งฟุ่มเฟือย แต่เป็นสิ่งสามัญที่อยู่ในชีวิตประจำวัน

  “ผมอยากให้กลุ่ม Melayu Living เป็นตัวอย่างที่จะทำให้คนในพื้นที่เกิดกลุ่มต่อๆ ไป เพื่อที่เราจะได้มาเชื่อมต่อหรือมาทำงานด้วยกันในอนาคต” คุณฟานดี้หนึ่งในสมาชิกกล่าวเสริมถึงการรวมกลุ่มกันของหลากหลายอาชีพ ที่ไม่ได้จำกัดอยู่ในรูปแบบของงานออกแบบ อาคาร หัตถกรรม งานฝีมือพื้นถิ่นต่างๆ เช่น เรื่องอาหารที่เขาถนัด สิ่งเหล่านี้ยังไม่เคยพูดถึง “ยังมีเรื่องราวต่างๆ อีกมากมาย ในอนาคตนี้อาจจะแตกไปยังสิ่งอื่นได้อีก เราจะใช้เรื่องเหล่านี้ไปต่อสู้กับเรื่องไม่ดี ทำให้มันเล็กลง ถ้าเรื่องที่ไม่ดีดังขึ้นเท่าไร เสียงความคิดสร้างสรรค์ของเราต้องยิ่งดังขึ้นไปอีก”
  พวกเขามีเป้าหมายสำหรับพันธกิจนี้ว่า “จะทำจนกว่าจะหมดแรง”

งาน PATTANI DECODED
  กลุ่ม Melayu Living ได้จัดกิจกรรมขึ้นระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม ถึง 1 กันยายน พศ.2562
  งาน PATTANI DECODED เป็นเสมือนการถอดรหัสต่างๆ ของปัตตานี ที่ยังมีของดีอีกเยอะในหลายรูปแบบ ทั้งอาหาร ศิลปะ ดนตรี ภาพยนตร์ มีอีกหลายอย่าง ซึ่งทางทีมเลือกเปลี่ยนชื่อจากงาน Design Week เพื่อให้คนในพื้นที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น โดยมีเป้าหมายในการกระตุ้น และรวบรวมคนปัตตานีหรือคนสามจังหวัดที่สนใจเห็นของดีในพื้นที่
  “ในช่วงระหว่างที่เราติดต่อศิลปินที่มีความสามารถในด้านต่างๆ มาร่วมงาน มันทำให้เรารู้สึกเพิ่งค้นพบคนแต่ละคนที่มีฝีมือระดับนี้อยู่ที่นี่ด้วย จึงรู้สึกได้ว่าคนอื่นน่าจะรู้สึกประหลาดใจได้เหมือนที่เรารู้สึกค่ะ” คุณจ้ำกล่าวถึงประเด็นสำคัญที่ทางกลุ่มต้องการถ่ายทอดออกมาจากกิจกรรมครั้งนี้

  โดยกิจกรรมที่เกิดขึ้นมีศิลปินทั้งในและนอกพื้นที่ รวมถึงผู้บรรยายจากภายนอก ให้เข้าถึงผู้คนได้ง่ายผ่านกิจกรรมต่างๆ ใน 12 อุตสาหกรรมหลัก โดยเน้นใน 4 กลุ่มสาขาที่เชื่อมโยงกับพื้นที่ได้อย่างชัดเจน โดยนำเสนอผ่านกิจกรรมตั้งแต่ Exhibition, Public Installation, Showcase, Workshop และ Talk บนถนน 3 เส้นสาย อา-รมย์-ดี (อาเนาะรู ปัตตานีภิรมย์ ฤาดี) เติมเต็มบรรยากาศด้วยกิจกรรมอีก 2 สาขา ทั้ง Music & Film และ Creative Market

  กิจกรรมเวิร์กช็อปที่น่าสนใจมีตั้งแต่ อบรม “มัดย้อม” กับศิลปินหญิง นูรียา วาจิ อบรมเทคนิคการทำและการใช้ “ผ้าเลอปัส” ในรูปแบบต่างๆ กับศิลปินวลี “มาจากดินกลับสู่ดิน” เอ็มโซเฟียน เบญจเมธา อบรมการเขียน “Calligraphy” จากวัสดุที่มีอยู่ในพื้นที่แทนปากกากับนักออกแบบหนุ่ม ซึ่งเป็นคนพื้นที่ออกแบบลวดลายมลายู อับดุลกะริม ปัตนกุล สาธิตการทำ “รองเท้าทะเลจร” กับแบรนด์รองเท้าทะเลจร ดร.อาร์ม หรือ คุณณัฐพงศ์ นิธิอุทัย อบรม “Chef’s Table” จากเชฟสองท่าน คุณรอวียะ หะยียามา จากร้านเดอนารา และอีกท่านคือคุณเอกรัตน์ สุวรรณรัตน์จากร้าน Living Room อบรม “พิมพ์ผ้าลายบาราโหมโดย Barahom Bazaar” เรียนรู้การพิมพ์ผ้าด้วยบล็อกไม้ และย้อมสีผ้า กับคุณฟารีดา กล้าณรงค์ และอบรม “ประมาณเวิร์กช็อปกับวีรพร” นักเขียนเจ้าของรางวัลดับเบิ้ลซีไรต์ร่วมจัดเวิร์กช็อปการเขียนครั้งแรกในปัตตานี

  ส่วน Highlight ศิลปินหรือผู้บรรยายจากภายนอก คือ รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และหัวหน้าคณะที่ปรึกษา ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน มาพูดในหัวข้อ “Upcycling Design Journey: Creative Exploration with Scraps” และ ผศ.บุญเสริม เปรมธาดา อาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและบริษัทออกแบบ Bangkok Project Studio ได้มาพูดเรื่องรางวัล Royal Academy of Dorfman Award ในหัวข้อ “Spiritual of Boonserm จิตวิญญาณของบุญเสริม”
  นอกจากนี้ยังมี คุณพิชิต วีรังคบุตร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ได้มาพูดในหัวข้อ “Creating Creative District สรรสร้างย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์” คุณศรัณย์ เย็นปัญญา นักออกแบบเจ้าของสตูดิโอ 56th Studio มาชวนคุยในหัวข้อ “Hacking Heritage” DJ Fee นักแสดงกระเบนราหู ที่ทำการบ้านจากการ Decode เพลงพื้นบ้านได้มาเปิดแผ่นในงาน และมีการเเสดงจากศิลปินนักดนตรีอีกหลายท่าน

  ท่ามกลางข้อสงสัยจากคนภายนอกถึงสิ่งที่พวกเขาได้รับจากการทำกิจกรรมทั้งหมดนี้ คำตอบของสิ่งที่พวกเขาได้มันเริ่มจากการ “ให้ใจ” “ใจ” จึงเป็นสิ่งที่พวกเขามักได้รับตอบแทน ไม่ว่าจะเป็นทั้งคนในและคนนอกพื้นที่ กลายเป็นมูลค่าที่หาได้ยากกว่าเงินทองในสมัยนี้
“ผมอยากให้เมืองที่เราอยู่เป็นเมืองที่มีคุณภาพ ไม่ได้หมายว่าทุกคนจะต้องมีฐานะ แต่ทุกคนสามารถเข้าใจในบทบาทตัวเองได้” คุณราชิตกล่าวถึงสิ่งคาดหวัง โดยกลุ่ม Melayu Living ได้สื่อสารกับเมือง ให้สามารถมองเห็นแล้วนำไปเพิ่มมูลค่าได้ โดยการแสดงตัวอย่างของ “การทำ” และเพื่อจุดประกายความคิดของคนหลายรุ่นในสังคม หรือมีความคิดอยากตั้งกลุ่มของตนเอง จะได้เข้ามามีส่วนร่วมช่วยพัฒนาเมืองให้โตไปด้วยกันได้

    TAG

MELAYU LIVING กลุ่มคนที่เปลี่ยนพลังลบให้เป็นพลังบวกในชายแดนใต้ด้วยความคิดสร้างสรรค์

CULTURE&LIFESTYLE/COMMUNITY
5 years ago
CONTRIBUTORS
EVERYTHING TEAM
RECOMMEND
  • DESIGN/COMMUNITY

    KLONG TOEY LOW-COST MICRO HOUSES สถาปัตย์ที่แบ่งปันคืนสู่สังคม โดย VVA (VIN VARAVARN ARCHITECTS)

    การแก้สมการเพื่อชุมชนผ่านสถาปัตยกรรมร่วมสมัย

    Nada InthaphuntApril 2021
  • CULTURE&LIFESTYLE/COMMUNITY

    KIDative พื้นที่ให้คิดส์ ได้คิด อย่างสร้างสรรค์

    ศูนย์การเรียนรู้สร้างสรรค์สำหรับเด็ก หรือ KIDative กำเนิดขึ้นโดยสองผู้ก่อตั้ง คือ ตอง-นพปฏล เทือกสุบรรณ ที่มีอาชีพเป็นสถาปนิก มัณฑนากร อาจารย์พิเศษคณะศิลปกรรมศาสตร์ และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านการกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และค้นหาตัวตน และ กอล์ฟ-วรุตม์ เหลืองวัฒนากิจ ผู้ทำงานวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาด และที่ปรึกษาการตลาดดิจิตัลในแวดวงโฆษณา โดยริเริ่มโครงการเล็กๆ นี้ในงานสถาปนิกหรือ ASA เมื่อปี 2558 เพื่อพัฒนาระบบการศึกษาผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย และมุ่งมั่นดึงศักยภาพของเด็กแต่ละคนผ่านทักษะ และแนวคิดจากประสบการณ์จริงมาตลอดระยะเวลา 5 ปี อีกทั้งยังมีหลายโปรเจกท์สร้างสรรค์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

    EVERYTHING TEAM5 years ago
  • CULTURE&LIFESTYLE/COMMUNITY

    E8TY lov.an.a.log Powered by Marshall รวมพลคนรัก Analog ที่ Digital ให้ไม่ได้

    สำหรับคนรักมอเตอร์ไซค์คงได้ยินชื่อของ 8080 Cafe กันอยู่บ้างแล้ว ซึ่งนับเป็นอีก Community ที่รวมเอาคนที่มี Passion คล้ายๆ กันมาอยู่รวมกัน และเมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา ทางร้านได้จัดงาน 8080 ANALOG DAY โดยคุณเจี๊ยบ ชัยวัฒน์ สิงหะและคุณหนาน ชเนศร์ ธนพัชรศิริ ผู้ร่วมก่อตั้งเล่าว่า

    EVERYTHING TEAM6 years ago
  • CULTURE&LIFESTYLE/COMMUNITY

    Rides in Thailand "The Distinguished Gentleman's Ride 2018

    อีกครั้งกับการที่เหล่าไบเกอร์ร่วมใส่สูท ผูกไทด์ ขี่มอเตอร์ไซค์รอบเมือง เพื่อระดุมทุนช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมาก ในงาน The Distinguished Gentleman's Ride 2018

    EVERYTHING TEAM7 years ago
  • CULTURE&LIFESTYLE/COMMUNITY

    NIGHT RIDE IN THE CITY WITH MOTO GUZZI

    "Moto Guzzi Night Clan : Ride in the City" งานที่รวมแฟมิลี่และคนรัก Moto Guzzi มาทำกิจกรรมร่วมกัน

    EVERYTHING TEAM7 years ago
  • CULTURE&LIFESTYLE/MOVIE

    งานศิลปะที่หลอมรวมอยู่ในเนื้อกายภาพยนตร์ The Room Next Door ของ Pedro Almodóvar

    ถ้าเอ่ยชื่อของ เปโดร อัลโมโดวาร์ (Pedro Almodóvar) หลายคนอาจรู้จักเขาในฐานะผู้กํากับเจ้าของ ฉายา “เจ้าป้าแห่งวงการหนังสเปน” ที่นอกจากหนังของเขาจะเต็มไปด้วยลีลาอันจัดจ้าน เปี่ยมสีสัน เต็มไปด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวอันแปลกประหลาดพิลึกพิลั่นพิสดารเหนือความคาดหมาย และถึง พร้อมไปด้วยศิลปะภาพยนตร์อย่างเต็มเปี่ยมแล้ว ด้วยความที่อัลโมโดวาร์หลงใหลในศิลปะอย่างลึก ซึ้ง ทําให้มักจะมีงานศิลปะปรากฏให้เห็นในหนังของเขาอยู่บ่อยครั้ง และนอกจากเขาจะหยิบงาน ศิลปะเหล่านั้นมาใช้ในหนังเพราะความหลงใหลและรสนิยมส่วนตัวอันวิไลของตัวเองแล้ว ในหลายๆ ครั้ง ผลงานศิลปะเหล่านั้นยังทําหน้าที่ในการช่วยขับเคลื่อนเรื่องราว ขับเน้นบุคลิกภาพของตัวละคร และเป็นสัญลักษณ์ที่สัมพันธ์กับเนื้อหาในหนังอย่างแนบเนียน

    Panu BoonpipattanapongJanuary 2025
SIGN UP TO OUR NEWSLETTER
A Monthly update of the new issue from us
THANK YOU FOR YOUR SUBSCRIPTION

We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )