LOOKING ON EVERYTHING ?
EXPLORE ON EVERYTHING


นี่ไม่ใช่บ้านที่ออกแบบตามค่านิยมทั่วไป เพราะจะมีบ้านหลังไหนที่ต้องเดินลัดเลาะผ่านเส้นทางคดเคี้ยวและบันไดสูงเหมือนเดินขึ้นภูเขาก่อนเข้าถึงตัวบ้าน อีกทั้งในเวลาฝนตกอาจต้องยอมเดินเปียกปอน ผ่านแลนด์สเคปซับซ้อน ที่ทำให้เรามีเวลามากขึ้นกับการซึมซับบรรยากาศรอบตัวผ่านทุกประสาทสัมผัส บ้านในเมืองหลังไหนที่จะรองรับการขยายพื้นที่สีเขียวได้มากเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ที่สำคัญไม่ได้มุ่งเน้นแค่การสร้าง สุนทรียภาพเฉพาะสำหรับผู้อยู่อาศัย แต่ยังคำนึงถึงผู้คนบ้านใกล้เรือนเคียงด้วย เรากำลังพูดถึงบ้าน Mirin House ออกแบบโดย AAd - Ayutt and Associates Design ที่ให้ความเป็นส่วนตัว กับการสอดแทรกธรรมชาติสู่การอยู่อาศัยได้โดยไม่ต้องยึดติดรูปแบบบ้านล้อมคอร์ต และกล้าออกนอกกรอบแนวคิดการออกแบบบ้านทั่วไป ซึ่งนี่อาจเป็นตัวอย่างที่จะทำให้เจ้าของบ้านหรือสถาปนิกในวงการได้เปิดมุมมองการออกแบบใหม่ ๆ ต่อขยายเรื่องของประสบการณ์ ประสาทสัมผัส ธรรมชาติ และความงามของการอยู่อาศัยที่หลับตาแล้วยังสัมผัสได้ถึงมันอยู่
Mirin House ตั้งชื่อตามชื่อลูกสาวของเจ้าของบ้าน ที่มีอาชีพเป็นหมอทำให้ไม่ค่อยมีเวลาว่างพาลูกสาวไปเที่ยว จึงตัดสินใจซื้อที่ดินแปลงข้าง ๆ บ้านเดิมที่อาศัยอยู่ เพื่อสร้างบ้านที่มีสระว่ายน้ำให้ครอบครัวพักผ่อนได้ทุกวัน โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไกลไปต่างจังหวัด จากโจทย์พื้นฐานนี้ทาง AAd ได้นำมาตีความเพิ่มให้ Mirin House ไม่ใช่แค่บ้าน แต่ยกระดับให้เสมือนรีสอร์ตตากอากาศแบบ Pool Villa และมีเรื่องของสุนทรียศาสตร์ ธรรมชาติ และการพักผ่อนเข้ามาร้อยเรียงด้วย
จากด้านหน้าถนนเมื่อมองเข้าไปที่บ้านหลังนี้จะมองเห็น ก้อนสี่เหลี่ยมที่เป็นพื้นที่โรงจอดรถด้านหน้า ก่อนจะมองเห็นอาคารตัวบ้านที่เป็นฟาซาดอะลูมิเนียมสีเงินแวววาวสะท้อนแสง พร้อมมีต้นไม้สอดแทรกขึ้นมา การออกแบบอาคารให้ร่นระยะอยู่ด้านหลังและเลือกใช้สีอ่อน เป็นความตั้งใจเพื่อให้สายตาของคนที่ผ่านมาสะดุดตากับพื้นที่สีเขียว
ความท้าทายของการออกแบบบ้านหลังนี้ คือ เรื่องของขนาดที่ดิน 100 ตารางวา และตั้งอยู่ในโครงการบ้านจัดสรรทั่วไป ที่ไม่ได้มีวิวธรรมชาติสวยงามให้ดื่มด่ำ ดังนั้นการทำบ้านแบบรีสอร์ตสำหรับบ้านหลังนี้ จึงต้องเน้นที่การสร้างประสบการณ์ ทำอย่างไรที่จะสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติได้มากที่สุด และเปิดประสาทสัมผัสของคนได้มากที่สุด “บ้านไม่ใช่แค่มองเห็นแล้วสวย แต่สามารถรับรู้ด้วยประสาทสัมผัสต่าง ๆ ได้ เช่น คุณนั่งอยู่ใต้สระว่ายน้ำ หลับตาและฟังเสียงน้ำ ให้ลมผ่านตัว ได้กลิ่นของดิน เหล่านี้ก็คือให้เราได้พบความผ่อนคลาย และความสงบ ดังนั้นแม้เราปิดตาทั้ง 2 ข้าง ความงามก็ยังอยู่” คุณอาร์ต - อยุทธ์ มหาโสม ผู้ก่อตั้งและสถาปนิกแห่ง AAd กล่าว
การเล่นกับประสบการณ์ด้านปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ
คีย์สำคัญในการออกแบบบ้านหลังนี้ คือ การเล่นกับประสบการณ์ด้านปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ “เราสร้างองค์ประกอบที่เล่นกับประสาทการรับรู้ของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น รูป (การมองเห็น) รส (พืชผักสวนครัวที่ปลูก) กลิ่น (ดิน ใบไม้ น้ำ) เสียง (น้ำจากสระว่ายน้ำ ลม ใบไม้ และธรรมชาติรอบตัว) และสัมผัส (พื้นผิว ดิน ใบไม้)” อย่างผนังทางเดินสองข้างเจาะช่องลมขนาดเล็ก-ใหญ่ที่ไม่เท่ากันในแต่ช่วง เพื่อควบคุมปริมาณลมให้ลอดผ่านเข้ามาได้มาก-น้อยต่างกัน เป็นการออกแบบที่เล่นกับประสาทสัมผัสของเรา โดยเมื่อเดินไปช่วงหนึ่ง เราอาจรู้สึกถึงแรงลมปะทะตัวที่เต็มที่ แต่เมื่อเดินไปอีกไม่กี่ก้าว จะสัมผัสเพียงลมอ่อน ๆ พัดเข้ามา
จากที่ดินแปลงที่สร้าง Mirin House หากตัดเป็นเส้นตรงจากบ้านหลังเก่านั้นระยะห่างกันเพียงประมาณ 2-3 เมตร แต่เมื่อออกแบบสเปซให้มีการยกระดับและการซ้อนกันของแลนด์สเคป ที่ซับซ้อนขึ้น รวมทั้งออกแบบเส้นทางให้เป็นเส้นโค้งเพื่อเพิ่มระยะก้าวเดิน ให้ผู้อยู่อาศัยได้ใช้เวลาดื่มด่ำกับแลนด์สเคปและธรรมชาติรอบตัวที่เป็น Introduction ก่อนเข้าสู่ตัวอาคาร อีกทั้งยังให้ความรู้สึกเหมือนพื้นที่กว้างขึ้นด้วย ดังนั้นอีกหนึ่งจุดเด่นของบ้านหลังนี้คือการเข้าถึงตัวบ้านที่แตกต่างจากบ้านทั่วไป
“ถามว่าทำไมเดินไกลจังกว่าจะถึงตัวบ้าน ก็เพราะเราอยากให้เดินไกล ให้ความรู้สึกว่าพื้นที่ใหญ่ขึ้น ถามว่าถ้าฝนตกแบบนี้ก็ต้องเปียกฝนนะสิ ใช่เพราะเราตั้งใจให้สุนทรียภาพระหว่างบ้านหลังนี้ที่มีความเป็นรีสอร์ต และให้ความสำคัญกับธรรมชาติ ต่างจากบ้านอยู่อาศัยทั่วไป”
แม้ว่าเราจะเดินเข้ามายังพื้นที่ในรั้วบ้านแล้วก็ตาม แต่การออกแบบแลนด์สเคป และสะพานเชื่อมให้บังตัวอาคารของบ้านไว้ ทำให้กระตุ้นความอยากรู้ของคนให้เดินลึกเข้ามาเรื่อย ๆ “เราออกแบบบ้านหลังนี้เหมือนซีนหนัง ที่จะค่อย ๆ เผย Climax และให้คนที่เข้ามาสู่สถาปัตยกรรมได้มีส่วนร่วมในการสร้างสตอรี่ โดยทุกองค์ประกอบในบ้านนี้ทุกอย่างคือพระเอก ขึ้นอยู่กับว่าตาเราโฟกัสกับส่วนไหน”

สุนทรียศาสตร์รอบตัวบ้าน ที่เปลี่ยนไปตามฤดูกาล
“สำหรับเรา ธรรมชาติไม่ได้หมายถึงแค่ต้นไม้อย่างเดียว เพราะท้องฟ้า แสง ลม และฝน ก็คือธรรมชาติ ดังนั้นบ้านที่อยู่กับ ธรรมชาติจริง ๆ จึงมากกว่าแค่มีต้นไม้หรือพื้นที่สีเขียว” ที่น่าสนใจคือสุนทรียศาสตร์ของบ้านหลังนี้จะมีเสน่ห์ต่างกันตามฤดูกาล เช่น ฤดูร้อน บ้านจะสดชื่นด้วยแสงแดดสดใส กับเสน่ห์ของมิติแสงเงา จนมาถึงฤดูฝน ส่วนของหลังคา บันได และร่องน้ำตามทางเดิน จะแปรเปลี่ยนเสมือนธารน้ำตกที่กระแสน้ำไหลลดลั่นเป็นสเต็ปลงมาเวลาฝนตก และไหลรวมกันตรงร่องหินกรวดตรงพื้นคล้ายเป็นแอ่งลำธารคดเคี้ยว ซึ่งดีไซน์เป็นร่องระบายน้ำไว้อย่างแนบเนียน ส่วนในฤดูหนาว ภาพของฟาซาด ที่มีพื้นหลังเป็นท้องฟ้าจะยิ่งสวยขึ้น พร้อมลมหนาวที่จะลอดพัดผ่านตามช่องผนังบริเวณทางเดิน ในขณะที่การออกแบบบ้านแบบ Pool Villa ใช้วิธีการยกตัวบ้านและสระว่ายน้ำให้อยู่บนชั้น 2 ส่วนแลนด์สเคปออกแบบให้เชื่อมตั้งแต่บริเวณทางเข้า ลอดผ่านใต้สระว่ายน้ำ และไหลต่อเนื่องชั้นล่างจนขึ้นไปยังชั้นบน ซึ่งแลนด์สเคปส่วนที่อยู่ใต้สระว่ายน้ำนี้ยังเกิดฟังก์ชั่นเป็นมุมนั่งเล่นคล้ายกับใต้ถุนบ้านเรือนไทย ทำให้มุมมองในการเข้าถึงบ้านครบทั้ง Normal Eye View, Bird’s Eye View และ Worm’s Eye View การออกแบบให้บ้านตั้งอยู่ชั้นสอง ที่ผู้อยู่อาศัยต้องเดินขึ้นบันไดสู่ตัวบ้านเหมือนเดินขึ้นภูเขาที่มีต้นไม้มาแซมระหว่างทาง พร้อมให้มุมการมองเห็นสถาปัตยกรรมแบบ Worm’s Eye View ทำให้รู้สึกว่าบ้านใหญ่ขึ้น แม้ความเป็นจริงแล้ว Mirin House มีพื้นที่ใช้สอยเพียง 1 ห้องนอน 1 ห้องน้ำ และ 1 ห้องนั่งเล่นเท่านั้นเอง
สระว่ายน้ำถูกยกขึ้นมาไว้บนชั้น 2 อยู่เหนือ Landscape ที่ออกแบบเป็นเส้นทางเดินเชื่อมระหว่างบ้านหลังเก่าและบ้านหลังใหม่
การออกแบบที่เล่นกับธรรมชาติการมองเห็นของมนุษย์
ม่านตาของเราจะขยายโตขึ้นเมื่ออยู่ในที่มืด และจะหดเล็กลงเมื่อเจอแสง ซึ่งการออกแบบแลนด์สเคปและสถาปัตยกรรมภายในของที่นี้ ใช้ปฏิกิริยาตามธรรมชาติของดวงตามนุษย์นี้เพื่อเล่นกับจุดโฟกัสในการมองของเรา โดยการควบคุมแสงน้อย - แสงมากให้ต่างกันในแต่ละจังหวะเส้นทางการเดิน ตั้งแต่เข้าสู่โรงรถ ผ่านแลนด์สเคป มาจนถึงในตัวบ้านเพื่อสร้างประสบการณ์การเข้าถึงงานสถาปัตยกรรมที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาพถ่ายไม่สามารถถ่ายทอดได้เท่าตาเห็น
การที่ออกแบบให้เกิดมิติแสงเงา หรือส่วนมืด-ส่วนสว่างที่ต่างกัน จึงทำให้บ้านคล้ายกับละครเวทีที่มีแสงสปอตไลท์ส่องลงมายังตัวละครที่จะกลายเป็นตัวเด่นทันที “ความสว่างและความมืดสามารถก่อให้เกิดพระเอกของพื้นที่ได้ ดังนั้นทุกองค์ประกอบในบ้านนี้ทุกอย่างคือพระเอก ขึ้นอยู่กับว่าตาเราโฟกัสกับส่วนไหน การแบ่งสเปซในเชิงสถาปัตยกรรม ไม่ใช่แค่การใช้อาคารหรือใช้ผนังอย่างเดียว แต่จริง ๆ แล้วเราสามารถใช้แสงและเงาควบคุมสเปซได้”
สถาปัตยกรรมภายใน
จากแลนด์สเคปภายนอกที่กระตุ้นเร้าประสาทสัมผัสต่าง ๆ ของเราให้ตื่นตัว แต่เมื่อเปิดประตูบ้านก้าวเข้าสู่พื้นที่ภายใน ทุกอย่างกลับสงบเหมือนอีกโลกที่พร้อมโอบกอดร่างกายและจิตใจของเราให้เบาหวิวผ่อนคลาย โดยทุกอย่างเหมือนถูกปรับลดระดับลง ทั้งแสง เสียง และความร้อน สู่ภาวะความสบายกับสุนทรียภาพของบรรยากาศที่นิ่งสุขุมขึ้นด้วยโทนสีดำ ซึ่งเป็นสีที่ดูดซับแสงทำให้แสงภายในไม่จ้าเกินไป จนในเวลากลางวันไม่จำเป็นต้องปิดผ้าม่าน พร้อมสร้างภาพมิติทับซ้อนกันระหว่างภายนอกและภายใน ด้วยกระจกใสที่เปิดสู่วิวด้านนอกให้เห็นทิวยอดไม้ ท้องฟ้า รวมทั้งเปิดช่องแสงผ่านฝ้าที่ส่องลงมาจนเกิดเอฟเฟกต์ที่แสงกระทบกับพื้นผิวสีดำมันเงาของพื้น เคาน์เตอร์ จนถึงเฟอร์นิเจอร์ ทำให้ภาพสะท้อนทิวทัศน์จากภายนอกได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของความงามภายใน สำหรับงาน Lighting ส่วนใหญ่ใช้เป็นรูปแบบของ Indirect Lighting และ Mood Lighting “เจ้าของบ้านทำงานเป็นแพทย์เฉพาะทางตา ซึ่งเป็นงานค่อนข้างละเอียด และเป็นคน Perfectionist ที่เชื่อว่าไม่ต้องประนีประนอม ถ้าจะดำก็ดำ ขาวคือขาว ไปให้สุด ดังนั้นด้วยการใช้งานของเจ้าของบ้านที่จะอยู่อาศัยในห้องนอนเฉพาะตอนกลางคืน จึงให้ออกแบบห้องนอนโทนสีขาวสว่างแม้ในเวลากลางวันจะอยู่ไม่สบายเพราะแสงจ้าก็ตาม เพราะในเวลากลางคืนสีขาวจะกระจายความนุ่มของแสงจันทร์ได้ดีกว่า”
ทางสถาปนิกทิ้งท้ายเกี่ยวกับการออกแบบบ้านหลังนี้ว่า “บ้านไม่ใช่แค่สถาปัตยกรรม บ้านคือชุมชน คือชีวิต และคือความผูกพัน ดังนั้นเวลาที่ลูกค้ามาหาเราเพื่อสร้างบ้าน เราก็ต้องสร้างปฏิสัมพันธ์ให้เกิดขึ้น ไม่ใช่เพียงสถาปัตยกรรมอย่างเดียว แต่รวมถึงการสร้างคุณภาพชีวิตของสังคมด้วย ดังนั้นงานออกแบบของ AAd คือทำบ้านหลังหนึ่งที่ดี ที่ทำให้ชุมชนดีขึ้นด้วย อย่างบ้านหลังนี้ที่เพื่อนบ้านได้เห็นต้นไม้จาก Mirin House ได้ ในขณะที่เจ้าของบ้านยังสามารถใช้ชีวิตในบ้านและเปิดม่านได้ หรือการออกแบบหลังคาปาดเอียงเป็นยอดจั่วสามเหลี่ยม ก็เพื่อให้เพื่อนบ้านยังสามารถมองเห็นท้องฟ้าได้อยู่ ดังนั้นในขณะที่เจ้าของบ้านแฮปปี้ เพื่อนบ้านก็แฮปปี้ ชุมชนก็จะน่าอยู่ขึ้น อนาคตถ้าสถาปนิกคนอื่นนำหลักเกณฑ์เดียวกันไปต่อยอดในการออกแบบงานของเขา พื้นที่สีเขียวก็จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นในระดับมหภาค ที่เราจะไม่ได้เห็นแค่อาคารคอนกรีต”

ผนังสองข้างเจาะช่องลมขนาดเล็ก-ใหญ่ที่ไม่เท่ากันในแต่ช่วงทางเดิน เพื่อควบคุมปริมาณลมให้ลอดผ่านเข้ามาได้มาก-น้อยต่างกัน เป็นการออกแบบที่เล่นกับประสาทสัมผัส โดยเมื่อเดินไปช่วงหนึ่ง จะรู้สึกถึงแรงลมปะทะตัวเต็มที่ แต่เมื่อเดินไปอีกไม่กี่ก้าว จะสัมผัสเพียงลมอ่อน ๆ พัดเข้ามา

ผนังทางเดินทำจากดินอัดให้ความรู้สึกเหมือนคุ้งน้ำแกรนด์แคนยอน ผสานกับเส้นนอนของผนังก่ออิฐปูนฉาบสีดำที่ร่วมกันสร้างมุมมองให้พื้นที่ดูลึกขึ้น เส้นสายมีความไหลต่อเนื่อง และเกิดเส้นพุ่งนำสายตาไปสู่บันไดทางขึ้นที่เปิดโล่งให้ช่องแสงส่องเข้ามา

พื้นที่ใต้โครงสร้างสระว่ายน้ำให้ความรู้สึกคล้ายเป็นใต้ถุนบ้านสำหรับนั่งชิล และด้วยความสูงของฝ้าที่มีเพียงประมาณ 2 เมตร การเลือกใช้วัสดุอะลูมิเนียมเงาด้านบน จะช่วยสะท้อนภาพแลนด์สเคปให้เกิดมิติกลับหัว ที่ทำให้คนที่เดินผ่านแทบจะไม่ทันสังเกตถึงความเตี้ยของฝ้า
ประติมากรรมสีเงินที่ตั้งภายในบ้าน เป็นผลงานสร้างสรรค์โดย โด่ง - พงษธัช อ่วยกลาง
สะพานทำจากเหล็กพ่นสีเหล็กสนิมที่ดีไซน์ให้พื้นโปร่ง เพื่อให้แสงลอดผ่านได้ และสามารถมองเห็นเส้นแลนด์สเคปแบบ Bird’s Eye View โดยสะพานสามารถเดินเชื่อมไปยังบ้านหลังเก่าได้
การแชร์พื้นที่สีเขียวระหว่างกัน
ในขณะที่บ้านพักรีสอร์ตทั่วไปมีจุดขายที่วิวธรรมชาติโดยรอบ แต่สำหรับที่ดินแปลงเล็กที่ตั้งอยู่ท่ามกลางบริบทโดยรอบที่เป็นโครงการบ้านจัดสรรนั้น ทางสถาปนิกจึงต้องจัดการสร้างวิวขึ้นมาในที่ดินแห่งนี้ ทั้งการแทรกพื้นที่สีเขียวกับสถาปัตยกรรม จนถึงการหยิบยืมดึงพื้นที่สีเขียวของเพื่อนบ้านที่อยู่นอกรั้ว ซึ่งโดดเด่นด้วยจามจุรีต้นใหญ่ยืนต้นแผ่กิ่งก้านสาขา ให้มาเป็นส่วนหนึ่งของวิวทิวทัศน์ที่มองเห็นได้จากบ้าน Mirin House ในขณะเดียวกันบ้านหลังนี้ก็แชร์พื้นที่สีเขียวให้กับเพื่อนบ้านได้มองเห็นด้วย “ลองนึกภาพเราเข้าไปในชุมชนที่บ้านทุกหลังทำบ้านล้อมคอร์ตทั้งหมด สิ่งที่เกิดขึ้นถ้าบ้านทุกหลังทำคอร์ตด้านในสวยหมดเลย แต่เมื่อเปิดประตูออกมาที่ถนนส่วนกลาง เราจะไม่เห็นสีเขียวเลย และจะเห็นแค่สถาปัตยกรรมแห้ง ๆ” ดังนั้นบ้านหลังนี้จึงออกแบบให้สวนกระจายออกไป และให้เจ้าของบ้านเติมพื้นที่สีเขียวได้เต็มที่ถึง 100% ไม่ว่าจะเป็นบนหลังคา หรืออัฒจันทร์ชั้นสองที่เล่นระดับให้ปลูกต้นไม้หรือพืชผักสวนครัวได้ “ผมอยากเป็นนักออกแบบจุดหนึ่งเล็ก ๆ ที่สร้างความแปลี่ยนแปลงของวงการออกแบบคือ ผมอยากคืนพื้นที่สีเขียวให้กับชุมชน โดยที่เจ้าของบ้านก็ไม่เสียประโยชน์ คือได้ทั้งพื้นที่สีเขียว และได้ Privacy”
MIRIN HOUSE by AAd - Ayutt and Associates design
/
บ้านหลังแรกที่สร้างขึ้นเองของคุณออมมี่ และคุณแบงค์ -ปรีดากร เมรเกรียงชัย Co-Founder แห่งแบรนด์ Gentle RAM บ้าน ที่ตอบโจทย์รสนิยมของทั้งสองที่หลงใหลในความ Timeless และการอยู่อาศัยที่อยู่สบาย เรียบง่าย พร้อมจัดระเบียบชีวิตในบ้านได้อย่างลงตัว บ้านที่ทุกพื้นที่ และทุกฟังก์ชั่นที่ทาง THE OTHERS ผู้ออกแบบได้ขบคิดมาอย่างพิถีพิถันไม่ต่างกับเสื้อผ้าที่เทรลเลอร์เมดให้พอดีกับเจ้าของบ้าน
/
หนึ่งในกิจกรรมจากเวที TOSTEM Asia Design Award (TADA) ซึ่งจัดขึ้นโดย TOSTEM เพื่อเฟ้นหาผลงานสถาปัตยกรรมในเอเชีย ที่มุ่งให้ความสำคัญกับเรื่องของธรรมชาติ ผสานเข้ากับนวัตกรรมการอยู่อาศัยสมัยใหม่ ตอบโจทย์ทั้งผู้ใช้งาน และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อมยั่งยืน ซึ่งนอกจากผู้ชนะรางวัลจะได้ร่วมเดินทางไปรับรางวัลที่ประเทศญี่ปุ่นแล้ว ยังได้พบปะกับ Akihisa Hirata สถาปนิกชาวญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงระดับโลก ที่มาแชร์มุมมองแนวคิดการออกแบบโปรเจกต์ต่าง ๆ ตั้งแต่งาน Installation Art บ้านพักอาศัย จนถึงอาคารสาธารณะ ซึ่งความน่าสนใจนอกเหนือจากเอกลักษณ์ภาษาทางสถาปัตยกรรมที่ถ่ายทอดผ่านฟอร์ม และสเปซที่โดดเด่น และเป็นที่จดจำแล้วนั้น สำคัญคือปรัชญาหลักที่เป็นรากฐานความคิดของ Hirata สู่การพัฒนาเป็นสถาปัตยกรรมน่าทึ่งเหล่านั้น ซึ่งเราจะมาเจาะลึกแนวคิดที่ว่านั้นกัน
By TOSTEM/
ผสานบริบทธรรมชาติ สอดรับกับวัฒนธรรมท้องถิ่นได้อย่างลึกซึ้ง พร้อมถ่ายทอดสู่เอกลักษณ์ภาษาทางสถาปัตยกรรม ที่เติมเต็มทั้งสุนทรียศาสตร์ และตอบโจทย์การใช้ชีวิตผู้อยู่อาศัยได้ทุกมิติ คือจุดร่วมหลักของสองผลงานออกแบบบ้านที่ตั้งอยู่ใน 2 จังหวัดทางภาคเหนือ ที่คว้ารางวัล TOSTEM ASIA DESIGN AWARD 2024 (TADA 2024) ในกลุ่มประเภท “Special Mention for Sustainable Living” มาครอง
By TOSTEM/
ขึ้นชื่อว่าเป็นโปรเจกต์ออกแบบโดย HAS design and research ของสองสถาปนิกฝีมือแถวหน้าอย่าง คุณเจอร์รี่ หง (Jenchieh Hung) และคุณป้อ-กุลธิดา ทรงกิตติภักดี (Kulthida Songkittipakdee) แล้วนั้นรับรองว่ามิติที่ลึกซึ้งกว่าเรื่องของฟอร์มอย่างแน่นอน เช่นเดียวกับก่อนหน้านี้ทุกคนต่างทึ่งไปกับงาน“Aluminum Grotto and Public Ground” งานอินสตอลเลชันสุดอลังการที่จัดแสดงในงานสถาปนิก’67 ก็เป็นตัวอย่างของการผสานองค์ประกอบเรื่องของพื้นผิว-พื้นที่-โครงสร้าง-ฟังก์ชั่นให้เป็นหนึ่งเดียว ภายใต้ภาษาทางสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์ และเชื่อมระหว่างภูมิทัศน์ธรรมชาติ ศิลปะเชิงช่าง และวัสดุอุตสาหกรรมได้อย่างน่าตื่นตา มาถึงโปรเจกต์ใหม่ที่เป็นงานออกแบบรีเทลนี้ ทาง HAS ได้พยายามข้ามขนบบางอย่างของการออกแบบพื้นที่เชิงพาณิชย์ทั่วไป เพื่อสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ให้กับผู้ที่ได้ไปเยือน
/
กลายเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ในซอยจ่าโสด เมื่อเราได้พบกับอาคารสถาปัตยกรรมโมเดิร์นเรียบเท่ที่เต็มไปด้วยไดนามิคของเส้นสาย ส่วนคว้านโค้งซึ่งออกแบบมาเพื่อฟังก์ชั่น และเพื่อแสงธรรมชาติ เป็นอาคารโทนสีขาวสะอาดตาแต่ทำให้เราไม่อาจละสายตา กับเอกลักษณ์ดีไซน์ของอาคารที่ทอดตัวยาวพร้อมมีประภาคารเล็ก ๆ นี่คือ SANS STUDIO BANGKOK สตูดิโอแห่งใหม่ที่ก่อตั้งขึ้นโดยเจ้าของผู้สนใจในงานสถาปัตยกรรมและศิลปะการถ่ายภาพ หลังจากเรียนจบมาจากฝรั่งเศส โดยให้เป็นสตูดิโอที่รองรับงานถ่ายภาพ โปรดัคชั่น จนถึงอีเวนต์ ที่ได้ทาง PHTAA LIVING DESIGN มาเป็นบริษัทสถาปนิกออกแบบให้
/
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นคณะสถาปัตยกรรมแห่งแรกของประเทศไทย ที่มีการเปิดให้เรียนในหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรมศาสตร์ ก่อตั้งโดย อาจารย์นารถ โพธิประสาท ในปี พ.ศ. 2476 และมีการเปิดใช้ตึกคณะสถาปัตยกรรมครั้งแรกในปี พ.ศ. 2484 จนต่อมาในปี พ.ศ. 2485 ภายใต้รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มี “ประกาศปรับปรุงอักสรไทย” ขึ้นเพื่อให้การสะกดคำในภาษาไทยกะทัดรัดและลดความซ้ำซ้อนของตัวอักษรลง ชื่อคณะสถาปัตยกรรม จึงถูกเปลี่ยนแปลงและใช้ชื่อว่า คณะสถาปัตยกัม อยู่นานถึงสองปี ก่อนจะมีการกลับมาใช้ชื่อเดิมอีกครั้ง (หลังจบสงคราม) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2487 เป็นต้นไป
We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )