Naked interview with Oat Montien คุยแบบถอดหมดกับ โอ๊ต มณเฑียร | IAMEVERYTHING.CO

LOOKING ON EVERYTHING ?

EXPLORE ON EVERYTHING

ไม่โอ้เอ้ อ้อมค้อม IAMEVERYTHING นัด โอ๊ต มณเฑียร นักเขียน ศิลปิน และอิลลัสเตรเตอร์ ชื่อดังของเมืองไทยนั่งคุยกันแบบเปลือยหมดเปลือกถึงตัวตน การงานและความคิดของชายหนุ่มวัยสามสิบผู้ประกาศตัวว่าเป็นเกย์ ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แล้วในวันนี้ แต่จนแล้วจนรอด ก็ยังไม่ใช่เรื่องธรรมดาสามัญในสังคมไทยจริงๆ เสียที

โอ๊ต มณเฑียร จึงถือโอกาส โชว์งานใหม่สุด exclusive พร้อมพูดถึงแรงบันดาลใจจาก “กรอบ” ที่เคยกดทับอยู่จนทำให้ชีวิตยากเกินเรื่อง แน่นอนว่า การจะคุยกันเรื่องแบบนี้เราจำเป็นต้องถอดทุกอย่างให้หมดเสียก่อน เมื่อถอดจนหมด ทั้งคติ ทั้งสิ่งที่เราเชื่อ สิ่งที่เราเป็น เปลื้องให้เห็นแค่หัวใจกับหัวใจ มนุษย์กับมนุษย์ ความงดงามจริงๆ ของชีวิตจะเผยโฉมให้เราเห็น และนั่นคือความโยงใยระหว่างมนุษย์และสิ่งที่เรียกว่า “ศิลปะ”

ปัจจุบันนิยามตัวเองว่าเป็นศิลปินหรืออะไรอีก
จริงๆ เราทำงานหลายอย่างมากครับ เราอยู่ในแวดวงสร้างสรรค์มาเกือบ 15 ปีแล้ว
คนก็จะเห็นเราเป็นทั้ง กราฟิกดีไซน์ เขียนหนังสือ วาดภาพประกอบ ทำนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ แล้วก็มีงานสอนหนังสือที่จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย ภาควิชา Communication Design แถมมีงานวาดรูปนู้ดที่บ้านด้วย พอมันหลายอย่าง บางครั้งก็เรียกรวมๆ ว่าเป็นนักเล่าเรื่องครับ

วาดรูปนู้ดเป็นงานที่ได้เงินหรือเป็นงานอดิเรก
ทั้งสองอย่างเลย ขายชิ้นงานก็ได้ แล้วเราเปิดคลาสสอนวาดรูปนู้ดด้วย เป็นไพรเวทคลาส เปิดสตูดิโอสอนที่บ้านนี่แหละครับ ก็จะมีนายแบบคนหนึ่ง นักเรียนมีประมาณสิบคน ก็พอได้อยู่นะครับ แต่บางครั้งจะขาดทุนเพราะเปิดไวน์ให้นักเรียนกินด้วย (หัวเราะ)

สอนวาดรูปนู้ดต่างจากสอนวาดรูปทั่วไปยังไง
คนทั่วไปจะสอนว่าการวาดรูปเป็นคือการใช้แรเงาที่ถูกต้อง แสงเงาถูกต้องที่สุดตามความเป็นจริงใช่ไหมครับ แต่สำหรับเรา การวาดรูปเป็น คือการทำให้รูปมันไม่ตาย มันต้องมีชีวิตอยู่ในรูป

รูปไม่ตาย หมายความว่าอะไร
ต้องทำความเข้าใจอย่างนี้ก่อนว่ามันไม่ใช่แค่วาดเหมือน แต่มันต้องวาดออกมาแล้วรู้สึกว่ามีชีวิตอยู่ในรูปนั้น มันคือการเก็บพลังงานบางอย่างระหว่างเรากับแบบ เหมือนเรานั่งคุยกันอย่างนี้ ต่างคนต่างรับรู้พลังงานของกันได้ นึกออกไหมครับ อย่างเราเข้าไปในออฟฟิศ ถ้ามีบรรยากาศมาคุอยู่เราจะรู้สึกได้ทันที (หัวเราะ) พลังงานมันถูกรับส่งแลกเปลี่ยนกันตลอดเวลา ดังนั้นการทำงานศิลปะก็เหมือนกัน การที่เราจะเก็บรูปที่อยู่ข้างหน้าเราให้มันชีวิต มันไม่ใช่แค่วาดสิ่งที่เราเห็น แต่มันต้องเก็บพลังงานในขณะนั้นไว้ได้ด้วย ปกติแล้วการวาดรูปของโอ๊ตจะมีการทำงานพร้อมกันสี่อย่าง หนึ่งก็คือตาหรือผัสสะอื่นๆที่รับข้อมูลเข้ามา สองคือสมองที่ประมวลผลสิ่งที่เรานำเข้าไป เรารู้สึกกับมันยังไง เข้าใจมันอย่างไร สามก็คือมือที่หลังจากรับข้อมูลเข้าไปแล้วเปลี่ยนออกมาเป็นการวาดบนกระดาษ และสี่คือจิตที่เราต้องตระหนักรู้ว่าทั้งหมดนี้กำลังทำงานร่วมกัน สิ่งพวกนี้เราจะสามารถเก็บมันลงไปในเส้นได้ยังไง นี่แหละคือสิ่งที่เราสอน

เพราะฉะนั้นมันเลยตอบคำถามว่าทำไมต้องเป็นนู้ด เพราะเราว่าการวาดนู้ดมีหลักใหญ่อยู่สองประเด็น คือหนึ่งเพราะร่างกายมันคือกลไกของเรา มันคือสิ่งที่เราใช้เพื่อทำความเข้าใจโลก ทำความเข้าใจการมีอยู่ของเราบนโลกใบนี้ ดังนั้นร่างกายจึงเป็นสิ่งที่มนุษย์สนใจอยู่ตลอดเวลาและมักถ่ายทอดอยู่ในศิลปะอยู่เสมอ โอ๊ต เขียนบทความเกี่ยวกับเรือนร่างในงานศิลปะเยอะมาก ทำให้รู้ว่าการวาดร่างกายมนุษย์มันไม่เคยหายไปจากโลกนี้ นับตั้งแต่ตั้งแต่ยุคคลาสสิค ยุคกลาง ยุคมืดจนถึงยุคเรเนซองค์ที่พัฒนาจากกรีกมาสู่เรือนร่างอุดมคติ จวบจนมาปัจจุบัน

ในการทำงานนู้ด โอ๊ตว่าเป็นกระบวนการที่ซื่อสัตย์ที่สุดเพราะต่างคนต่างลดทุกอย่าง...วางทิ้ง เสื้อผ้าที่ปกป้อง สร้างอิมเมจของเรา เอาทิ้งหมด เหลือแค่ร่างกาย

ส่วนข้อที่สองเพราะว่าการวาดนู้ดมันมีพลังงานที่หนักหน่วงกว่าสิ่งอื่น มันคือการเปลือย และสำหรับเรา สิ่งที่สำคัญของศิลปินคือต้องซื่อสัตย์ ถ้าคุณดัดจริตเมื่อไหร่คนดูจะรู้ทันที แต่ถ้าคนดูบางคนอาจจะชอบดัดจริตอันนี้อีกเรื่องหนึ่ง ในการทำงานนู้ด โอ๊ตว่าเป็นกระบวนการที่ซื่อสัตย์ที่สุดเพราะต่างคนต่างลดทุกอย่าง...วางทิ้ง เสื้อผ้าที่ปกป้อง สร้างอิมเมจของเรา เอาทิ้งหมด เหลือแค่ร่างกายที่เป็นการขับเคลื่อน เป็นกลไกของมนุษย์ ดังนั้นนู้ดก็เลยเป็นสิ่งที่เราเลือกที่จะใช้ในการสอนเรื่องพลังงาน ในการสอนเรื่องการวาดรูปที่ต้องมองจริงๆ ซึ่งปกติเวลาวาดรูปนู้ดเนี่ย คนก็จะเริ่มกลัว เฮ้ย ไม่กล้ามองอะไรแบบนี้

คนเรามันก็มีเกราะหลายอย่าง
มาก (ลากเสียงยาว) ซ้อนทับๆ กันอยู่ ทั้งเกราะทางสังคม ทั้งเรื่องส่วนตัว ทั้งเรื่องเพศ ทั้งเรื่องขั้วอำนาจต่างๆ แต่ถ้าคุณจะสลายมันให้ได้ คุณต้องมองมันให้ได้ คุณต้องมองให้เห็น

มองให้เห็นเป็นยังไง
เวลาวาดรูปมันมีการมองกับการเห็น นึกออกไหมครับ? ลองมองสิครับมันก็คือการมองทั่วไป แต่การเห็นคือการรู้ว่าทั้งหมดที่มองนั้นมันสัมพันธ์กันยังไง? แสงมันตกกระทบบนพื้นผิวนั้นๆ ยังไง? เขากำลังส่งพลังอะไรออกมา? ความรู้สึกของเขาในท่วงท่านี้มันคืออะไร? ทำไมเรามองเขาแบบนั้น? ฯลฯ เราจึงต้องวางความกลัว ความอาย ความลังเลต่างๆ ของเราออกไปก่อน แล้วลองตั้งใจโฟกัสอยู่กับแบบข้างหน้า...ให้ตระหนักรู้ว่ากำลังพยายามจะสื่อสารอะไร ไม่ว่าจะเป็น พลังงาน ท่วงท่า อารมณ์ ข้อมูลเหล่านี้มันจะมาอยู่เส้นของเราหมด โอ๊ตจะให้ทำแบบฝึกหัดอันหนึ่งก่อนวาด คือให้วาดลมหายใจของตัวเอง หายใจเข้าเอามือจรดหัวกระดาษ หายใจออกดึงลงมา แล้วก็เอามือขึ้นถ้าลมหมด แล้วพอทำไปเรื่อยๆ จะเห็นว่าลมหายใจของเรามีลักษณะเป็นยังไง เหมือนกรรมฐาน โยงกับส่วนที่ว่าทำไมโอ๊ตถึงใช้แท่งถ่านไม้ในการวาด เพราะโอ๊ตว่ามันใกล้เคียงกับลมหายใจเรามากที่สุด มีหนักมีเบากำหนดด้วยมือเราเอง แต่ถ่านเนี่ยกดให้บางให้เข้มได้รวดเร็ว แท่งถ่านหลายอันเราเผาเอง เราชอบลองเอาไม้ต่างๆ มาลองเผาดู อย่างที่ใช้บ่อยที่สุดคือยางพารา เพราะมีเนื้อไม้ที่ไม่ได้แห้งมากจนเกินไป มันจะวาดได้ค่อนข้างดี

ย้อนไปที่บอกว่ากระบวนการวาดภาพมีอยู่สี่ระดับ ซึ่งคิดว่าสามระดับแรกก็สมเหตุสมผล แต่ระดับที่สี่ ที่เป็นเรื่องของจิต มันดูเหมือนขั้นตอนของคนที่ถูกฝึกมาแล้วพอสมควร
คือการตระหนักรู้นั่นแหละ ซึ่งจริงๆ แล้วทุกคนทำได้ครับ

ช่วยขยายความคำว่าตระหนักรู้หน่อย
เวลาที่เราสอนวาดรูป จะถามตลอดว่า รู้ไหม? ร่างกายของเรากำลังเป็นยังไง? เวลานั่งเนี่ย น้ำหนักคุณอยู่ตรงก้น อยู่ตรงสันหลัง อยู่ตรงเท้าใช่ไหม? จากนั้นคือ คุณรู้สึกยังไง? รู้สึกอะไรบ้างระหว่างคุณกับแบบ? ความเงี่ยนก็ดี ความกลัว ความอาย ความแปลก ความตื่นเต้นอะไรอย่างนี้ คุณต้องตระหนักถึงตรงนี้ก่อน แล้วคุณค่อยจะจรดมันลงบนกระดาษได้

ดูไม่ต่างอะไรกับการฝึกจิตผ่านงานศิลปะ
เหมือนกรรมฐานใช่ไหม (หัวเราะ) ประมาณนั้นครับ คนที่มาเขาบกว่ามันเป็นกระบวนการที่มีพลังมาก มันก็เวิร์คนะเราว่า เหมือนเป็นลัทธิกลายๆ

แล้วมันเปลี่ยนแปลงโอ๊ตไหม
จะบอกให้ว่าสิ่งที่ทำให้เริ่มการสอนแบบนี้ เพราะว่าเราเคยอยากฆ่าตัวตายตอนที่กลับมาจากอังกฤษ แล้วก็หดหู่มาก เรากลับมาจากอังกฤษเพราะเลิกกับแฟนคนที่รักมาก เป็นทุกอย่างสำหรับเราเลย พอเลิกกันแล้วกลับมา เราก็รู้สึกว่าไม่รู้จะอยู่ไปทำไม เพราะว่าคงไม่ได้สร้างงานอะไรอีกแล้ว แล้วตอนอยู่ที่อังกฤษเราก็เป็นคนประหลาดกว่าคนอื่น ในการทำงานเราเป็นคนที่เอาหัวใจเป็นที่ตั้ง ตกหลุมรักแล้วรักสุดขีดอะไรอย่างนี้ พอเราใจสลายเราก็รู้สึกอยากตายอยู่ตลอดเวลา

มันคือสิ่งที่เรียกกันว่า หมดกำลังใจที่จะอยู่ ใช่ไหม
อาจจะใช่นะ แล้วตอนนั้นมันเกิดเปลี่ยนหลายอย่างด้วยครับ เรากลับมาเมืองไทยหลังจากอยู่เมืองนอกมาเกือบสิบปี มาดูว่าแล้วชีวิตเรามันมีความหมายอะไร ทำเพื่ออะไร จนเริ่มมาสอน พอสอนปุ๊บก็รู้สึกว่าเราสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชีวิตคนอื่น พอสอนแล้วแบบมันถ่ายทอดพลังงาน เรามองเห็นงาน ลายเส้นของเรา ความคิดของเรา ส่งต่อไปในนักเรียนอย่างนี้น่ะครับ ก็รู้สึกว่าทำให้ชีวิตมีความหมายมากขึ้น บวกกับเราก็เริ่มมองเห็นกระบวนการของตัวเราเองชัดขึ้นไปด้วย

แล้วความรักเป็นอย่างไรต่อไป
ก็มีแฟนใหม่ (หัวเราะ) แต่อีกประเด็นที่มองเห็นหลังจากนั้นคือ แฟนเรา ทำไมไม่มีคนไทยเลย เริ่มสงสัยว่า ที่ผ่านมาทำไมเราจะไม่วาดผู้ชายไทยเลย?...นายแบบที่เราเสน่หาและอยากวาดก็จะเป็นฝรั่งตลอด

คือเราเป็นคนชอบชาวต่างชาติเหรอ
ต้องบอกว่า ไปอยู่เมืองนอกตั้งแต่อายุ 15-16 ปี เลยแฟนเป็นฝรั่งมาตลอด ไม่เคยคบกับคนไทยเลย ตอนกลับไทยมาใหม่ๆเราถึงกับมาค้นคว้าในทวิตเตอร์ อยากรู้ว่าเวลาเขาเอากัน เขาส่งเสียงยังไง อะไรมันคือสิ่งที่น่าดึงดูดใจสำหรับคนไทย ซึ่งปรากฏว่าไม่เก็ทเลย

ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว เกย์ไทยกับเกย์ต่างประเทศมันต่างกันไหม
ต่างมาก (ลากเสียงยาว) นึกหนังโป๊ญี่ปุ่นออกไหม ไม่ต้องหนังโป๊เกย์ก็ได้ หนังโป๊ญี่ปุ่นกับหนังโป๊ฝรั่งก็ไม่เหมือนกันเลยนะ ซึ่งคนไทยก็คล้ายกัน กล่าวคือ เรามักสังเกตเห็นเซ็กส์ทุกแบบจะอยู่ในบริบทของการเป็นเรื่องผิดบาป ต้องถูกกดขี่ การต้องโดนทำร้ายแต่ชอบ ซึ่งฝรั่งมันก็มีบ้าง แต่มันเป็น Fetish ไปเลย ซึ่งมันต่างมาก ไปจนถึงหน้าตา ผิวพรรณที่ถูกนิยามว่าเซ็กซี่ เป็นต้น ช่วงหนึ่งตั้งคำถามเรื่องนี้จริงจังมาก ในเมื่อเราเป็นคนไทย เราควรจะชอบคนแบบไหน? แล้วตัวเราเองเป็นคนแบบนั้นไหน? คิดไปคิดมา พบว่าตอนเด็กๆ มีเหตุการณ์หนึ่งที่เปลี่ยนแปลงชีวิตเราไปเลย


ก็ไปบอกชอบ เขาบอกว่า “ฉันชอบเธอไม่ได้หรอก เธอเป็นตุ๊ด”

เหตุการณ์นั้นมันเป็นยังไง
ก็คือตอน ป.4 เราเคยแอบชอบเพื่อนผู้หญิง จำได้เลยอยู่ห้องคิง เราชอบเด็กผู้หญิงคนนี้เพราะเขาสอบได้ที่หนึ่งตลอด ก็ไปบอกชอบ เขาบอกว่า “ฉันชอบเธอไม่ได้หรอก เธอเป็นตุ๊ด” พอเรากลับมาคิดตอนนี้ก็ยังรู้สึกว่าเขารู้จักตัวกูดีกว่าตัวกูเองอีก (หัวเราะ) แต่ตอน ป.4 มันไม่รู้ไง นึกออกไหม แต่พอเพื่อนบอกแบบนี้ เราก็เริ่มเอะใจ “เออว่ะ หรือเราเป็นตุ๊ดวะ?”

แต่เขาก็ไม่ได้โตไปกว่าเรา แล้วทำไมถึงรู้ว่าเราเป็นล่ะ
เราอาจจะไม่ได้คิดว่าเราเป็นอะไร แต่คนอื่นอาจจะมองเห็น ตอนนั้นมันทำให้เราเริ่มคิดว่า “แล้วเป็นตุ๊ดเราต้องชอบใครยังไงวะ?” เลยกลายมาเป็นกรอบในหัวตลอดว่าเราเป็นคนแบบนี้ แสดงกิริยาแบบนี้ เราจะถูกสังคมตีกรอบให้เป็นแบบนี้ แล้วเราจะสามารถรักคน หรือมีความสัมพันธ์กับคนได้แค่แบบนี้ แบบนั้น
พอเราโตขึ้นมาก็เห็นกรอบมากขึ้นอีก เริ่มจากข้อจำกัดที่ถูกสร้างโดยรัฐ “คุณเป็นเพศที่สามไม่สามารถแต่งงานได้” ซึ่งกูก็ไม่รู้ว่าใครมาให้นับว่ามึงเป็นเพศที่หนึ่ง แล้วเพศกูต้องที่สามด้วย แถมยังริดรอนสิทธิ์ ไม่สามารถโอนทรัพย์สินหรือตัดสินใจทางการแพทย์ให้กันได้ ต่อมาก็มาเจอการใส่กรอบจากคนรอบข้าง “อุ๊ย! เธอก็ต้องแต่งหญิงแบบพี่คนนี้ไง” อะไรอย่างนี้ นึกออกไหม นอกจากนี้ที่ชาว LGBTQ+ เองก็ใส่กรอบให้กันและกันตลอดเวลา
คือกรอบเนี่ย มันไม่ได้มีอะไรผิดกับการสร้างกรอบเพราะมนุษย์ทำความเข้าใจโดยเอาสิ่งต่างๆ มาจัดหมวดหมู่อยู่แล้ว แต่ความคิดนี้มันคือมันเป็นการลดทอนความเป็นคนของคนต่างๆ อันนี้มันจะลำบาก คุณเป็นตุ๊ดออกสาว คุณก็ต้องไปอยู่กรอบนี้ หรือพอรู้ว่าเป็นเกย์ คำถามที่ตามมาเป็นอัตโนมัติ คือ “เป็นรุกหรือรับ?”

การรุกหรือรับมันคือการกำหนดบทบาท กำหนดอำนาจใช่ไหม
แล้วมันเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับบางคน แต่คือมันไม่ต้องเป็นเรื่องใหญ่ขนาดนั้นก็ได้ สำหรับเรา เราไม่เคยบอกเลยว่าฉันเป็นรุกนะ ฉันเป็นรับนะ แต่พอในสังคมนี้ มันเหมือนว่าคุณต้องติ๊กว่าคุณเป็นอะไรคุณถึงจะมีที่ยืน แทนที่มันจะทำให้เรารวมกันเป็นกลุ่มก้อนแล้วต่อสู้เพื่ออะไรที่เราควรจะได้ มันกลับทำให้เราแตกแยกกันมากกว่าเดิมหรือเปล่า อันนี้ในแง่ของสังคม แง่ของการรักก็เหมือนกัน พอคุณมีกรอบอย่างนี้ กลายเป็นคุณบอกลักษณะว่าคุณต้องรักคนแบบนี้ คุณมีโอกาสจะรักแค่คนอย่างนี้ อย่างนี้ อย่างนี้

พอสังคมบอกให้เราไปอยู่กล่องนี้ กล่องนี้ต้องรักแบบนี้ เซ็กซ์ต้องแบบนี้ เราสามารถไปรักแบบอื่น หรือมีเซ็กซ์แบบอื่นได้ไหม
นั่นน่ะสิ เนี่ยเป็นคำถาม สมมติเราเป็นตุ๊ดออกสาว เราก็จะแบบคบกับตุ๊ดออกสาวไม่ได้เหรอวะ

หรือการกลับไปรักผู้หญิงอีกรอบหนึ่ง
เออ มันทำไมล่ะ กลับไปรักไม่ได้เหรอ พูดไปก็ “โอ๊ย ไม่ได้ ผิดผี” ก็อาจจะใช่สำหรับเธอ แต่ไม่ใช่สำหรับฉันก็ได้นะ ก็เลยเป็นที่มาของการทำซีรีส์ใหม่นี้ที่เราเชิญคนไทยที่เขาอาจจะถูกมองว่าเป็นเกย์เป็นตุ๊ดมาเป็นแบบวาด แล้วเรามานั่งคุยกันก่อน จุดประสงค์ของการทำซีรี่ส์นี้ อันดับแรกสุดเลยคืออยากกลับไปรักตัวเอง อยากกลับไปรักรูปลักษณ์ของตัวเอง พอใจกับสีผิว ลักษณะท่าทางของตัวเอง เพราะรู้สึกว่าเรามีอคติกับเรื่องนี้ เอาความเป็นตุ๊ด ความออกสาวทุกอย่างออกมา เราเลยวาดคนที่คล้ายกับเรา

อย่างที่โอ๊ตบอกว่าถ้าเราวาดรูป กระบวนการวาดรูปสามารถทำให้คนตกหลุมรักได้ ซึ่งนี่เป็นเรื่องปกติมาก คือคุณมองอะไรบางอย่างในเวลานาน แล้วให้เวลากับมัน หาสิ่งที่คุณเสน่หาในฟอร์มนั้น เลยอยากจะเอาตัวเองเข้าสู่กระบวนการนี้ด้วยนะครับ แล้วระหว่างนั้นก็ได้พูดคุยกับคนที่มาเป็นแบบด้วย ก็เลยกลายเป็นซีรีส์นี้ขึ้นมา ซีรีส์นี้วาดมาประมาณเกือบสามสิบคนได้แล้วมั้งครับ เราก็เจอความแตกต่างหลากหลายมาก ตัวอย่างเช่น มีดาราหนังโป๊ชื่อดังมากในทวิตเตอร์ มาเป็นแบบให้เรา เขาบอกว่า “เออ เดี๋ยวนี้เบื่อจะเอากับเกย์ อยากจะเอากับผู้หญิง” เพราะว่าเขาอาจจะเอาจนถึงจุดแล้วแบบรู้สึกว่าอะไรก็ได้แล้ว หรือมีบางคนก็แบบว่าเป็นเกย์แต่ไม่ชอบเซ็กซ์แบบ anal sex แค่อยากอยู่กับแฟนเฉยๆ บางคนคบมาสิบกว่าปีแล้วอะไรอย่างนี้ คือแต่ละคนก็มีนิยามความเป็นตัวตนแตกต่างกัน บางเรื่องทำให้เราหันมาตั้งคำถามกับตัวเองเลยว่า อ้าว เราตกใจกับมันเพราะเราเองก็มีกรอบของความเป็น “เกย์” ตั้งไว้ในใจนี่น่า

จริงๆ แล้วเพศสภาพหรือเพศสภาวะในใจ รวมถึงเพศวิถี ควรจะเคลื่อนไหวไปตามความรู้สึกแบบนั้นใช่ไหม
หวังว่าอย่างนั้นนะ สมัยนี้...เด็กเราแม่ง queer กันเยอะขึ้น queer คือไม่นิยามว่าเป็นเพศอะไร LGBT แล้วตอนนี้ เป็น queer เป็น non-binary ไปเลย กูไม่ใช่ผู้หญิง ไม่ใช่ผู้ชาย โอเคกูมีเพศกำเนิดเป็นเพศหนึ่ง แต่กูก็เป็นอะไรก็ได้ รักคนนั้นก็ได้คนนี้ก็ได้ ก็อะเมซิ่งดีนะ

คุณน่าจะผ่านการต่อสู้หลายอย่างในการทำให้ทุกคนเข้าใจว่าเราเป็นแบบนี้ ไม่ว่าจะตีกรอบมันว่าอะไรก็แล้วแต่ อะไรคือสิ่งที่ยากที่สุดที่ผ่านเข้ามา
สิ่งยากสุดในสังคมไทยคือครอบครัว ข้างนอกคุณเป็นอะไรก็ได้ แต่กลับมาในบ้าน เจออาม่า ปะป๊า หม่าม๊า คุณก็ต้องตอบโจทย์บางอย่างของครอบครัว หลายคนเลยเลือกที่จะไม่แสดงออกหรือบอกพ่อแม่เรื่องเพศสภาพ ซึ่งเมื่อก่อนเราก็เคยอยู่กลุ่มนี้ พี่สาวก็จะบอกว่า “จะบอกทำไม เรื่องบนเตียงเธอก็เก็บไว้บนเตียงเธอ แต่ไม่เห็นต้องมาพูดเลย” แต่สุดท้ายเวลางานเลี้ยงตรุษจีน ก็จะเลี่ยงไม่ได้กับคำถามประเภท “เมื่อไหร่จะแต่งงาน?” พี่นึกออกไหม? “อย่าถามดิ เสือก” อยากตอบแบบนี้แต่มันตอบไม่ได้

เราไม่เคยถูกสอนว่าเราจะคุยเรื่องเพศสภาพยังไงกับพ่อแม่ จุดที่คิดว่าต้องพูดเรื่องนี้ก็คือ เราตั้งคำถามกับตัวเองว่า ในเฟซบุ๊คเพื่อนเรามีอยู่สามพันคนในเฟซบุ๊ครู้หมดว่าเราเป็นยังไง เดทกับใคร แต่กับคนที่เรารักที่สุด ใกล้ชิดที่สุด อย่างพ่อแม่ ทำไมเราคุยเรื่องคนรักของเรากับเขาไม่ได้ เราว่ามันแปลก เราเลยตัดสินใจว่าจะบอก ด้วยนิยามความรักของเราคือความซื่อสัตย์ เราก็จะไม่ปิดบังอะไรจากพ่อแม่ เขาจะรับได้หรือไม่ได้ก็แล้วแต่ โอ๊ตคิดอย่างนี้ เรื่องของเรื่องคือไปรับปริญญาแล้วคุณแม่จะบินไปด้วย โอ๊ตบอกไม่ต้องบินไป เขาก็ถาม “ทำไมล่ะ?” เราเลยบอกว่า “มีแฟนอยู่แล้วที่โน่น แฟนเป็นผู้ชาย โอ๊ตรักเขามาก แล้วโอ๊ตก็จะไปพักบ้านเขา ป๊าม้าไม่ต้องไปหรอก” แล้วแม่ก็ถามคำแรก “แล้วเขารักหนูเท่ากับที่หนูรักเขาไหมลูก?”

ต่อมาก็บอกคุณพ่อ เขาก็ยิ้มๆ ไม่ได้ว่าอะไร โอ๊ตว่าพ่อแม่ทุกคนรู้หมดแหละ แต่ว่าเขาจะยอมรับไหม เขาอาจจะรอให้เราบอก พอเราบอกเสร็จปุ๊บก็มีขั้นต่อไป คือเวลาพ่อแม่เขาอยู่กับเพื่อน จะพูดถึงเรายังไง เวลาเพื่อนถาม “อ้าว แล้วลูกชายเมื่อไหร่จะแต่งงาน?” เราได้ยินแล้วยั่งดูอยู่ว่าแม่จะตอบยังไง ปรากฎว่าแม่บอก “โอ๊ย นี่เขาไม่ได้อะไรหรอก เขาก็อยู่กับแม่” สักพักหนึ่ง เราก็ค่อยคุยกับเขาว่า “ก็บอกไปได้เลยนะ อีฝรั่งที่นั่งข้างๆ เนี่ยคือแฟนเขา” “ได้เหรอลูก?” “ก็ได้สิแม่” (หัวเราะ)

โอ๊ตคิดว่าวัยรุ่นอาจจะไม่เข้าใจว่าพ่อแม่เราก็ไม่เคยเรียนมาว่าต้องรับมือกับเรื่องพวกนี้ยังไง พูดยังไงให้มันถนอมน้ำใจลูก จนหลายครั้งพูดออกไปด้วยความหวังดีแต่กลายเป็นทำร้ายลูก ทั้งๆ ที่เขาหวังดีกลายเป็นทำร้าย แต่เราก็ต้องเข้าใจว่าเขาก็ไม่เคยเรียนรู้มาว่าจะต้องตอบรับกับอัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลายยังไง หนำซ้ำในประเทศไทย คำว่าเกย์มันเริ่มในข่าวอาชญากรรม

จริงเหรอ อันนี้ไม่รู้เลย
ต้นเดือนตุลาคม ปีพ.ศ. 2508 มีกรณีฆาตกรรม อดีตเจ้าหน้าที่ CIA ผู้เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ บางกอก เวิล์ด ซึ่งว่ากันว่าถูกฆ่าโดยโสเภณีชาย ทำให้หลังจากนั้นหนังสือพิมพ์ไทยรัฐติดตามทำข่าวเกี่ยวชายรักชายที่ขายบริการให้กับฝรั่ง โดยใช้คำว่า “เกย์” เป็นคำเรียกคนกลุ่มนี้ มันก็เลยเหมือนมีเซนส์ของความรุนแรงปนอยู่ด้วย นอกจากนี้ยังมีข่าวซ่องเด็กชายของนาย “ถั่วดำ”, เรื่อง “ผู้กองตุ๋ย”, ยาวมาถึงวิกฤตโรคเอดส์ ทำให้การรับรู้ของชายรักชายจะอยู่ในทางลบมานาน อันนี้เราอ้างอิงจาก นิทรรศการ “ชาย หญิง สิ่ง สมมุติ” ของมิวเซียมสยาม คนที่เป็นเกย์เลยเหมือนจะต้อง “พิสูจน์ตัวเอง” ไปในที

เกย์บางคนที่อาจจะมีปัญหาเรื่องการทำให้ที่บ้านหรือคนรอบตัวยอมรับ เขาก็จะไปทำให้คนยอมรับอีกทางหนึ่งนั่นคือฝึกฝนทำตัวเองให้เก่ง มีอะไรโดดเด่นสักอย่างไป คำถามคือว่าก็แค่กูเป็นเกย์ ทำไมต้องเก่ง ก็เป็นเกย์เฉยๆ แค่นี้ไม่ได้เหรอ
ใช่ เกย์ต้องเป็นคนดีอะไรอย่างนี้ เกย์ต้องนู่นนี่นั่น...เยอะ ใช้ชีวิตรอดไปวันๆ ภายใต้รัฐบาลนี้ ก็เหนื่อยมากแล้ว (หัวเราะ) ยังต้องเก่งอีก จริงๆ เรื่องการเป็นเกย์แล้วจะต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้เหมือนจะเป็นเรื่องมโนคติของชนชั้นกลางนะ เราเคยเจอเกย์ที่ขายก๋วยเตี๋ยว ที่เป็นคนสวน หรือเกย์ที่เป็นคุณลุงกรรมกรอะไรอย่างนี้ พวกเขาก็มีอยู่ และหลายคนมีจุดยืนเรื่องความเป็นเกย์ต่างจากเราอย่างสิ้นเชิง ถ้าเกิดว่าคุณไปซาวน่า คุณจะเข้าใจว่าทำไมเขาต้องปิดไฟมืดหมด เพราะเขาตัดกรอบส่วนนี้ออกไปไง นึกออกไหม กรอบที่เป็นอัตลักษณ์ กับที่ทางของคุณในสังคม คุณเป็นอะไร ต้องเป็นอะไร พออยู่ในซาวน่าไม่มีหรอก ในความเงี่ยน ทุกคนเท่ากัน

ในความเป็นคน มันก็มีความเงี่ยนอยู่

หมายความว่าจริงๆ สังคมเรามีพื้นที่ให้กับเกย์ทุกชนชั้นหรือเปล่า แบบว่ามันมีที่มาให้เจอกันใช่ไหม
มีไม่มี ก็ต้องหากันเองจนเจอ เพราะอย่างที่บอกว่าในความเป็นคน มันก็มีความเงี่ยนอยู่ เอาจริงๆผมว่าพื้นที่พวกเซาว์น่า เกย์บาร์ หรือแหล่งนับพบอย่างสวนสาธารณะบางแห่ง มันมีน้อยมากเมื่อเทียบกับพื้นที่พบปะของคู่ ชาย/หญิง ซึ่งเราสนใจพื้นที่เหล่านี้มากๆนะ แต่เราคงไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญหรอก อย่าง พัฒน์พงศ์นี่เรารักมาก คนจะถามว่าถ้ามองเทียบตัวเองเป็นใครในประวัติศาสตร์ศิลปะ เราตอบทันทีว่า ตูลูซ-โลแทร็ก (อองรี เดอ ตูลูซ-โลแทร็ก Henri de Toulouse-Lautrec เป็นจิตรกร ช่างพิมพ์ ช่างเขียนแบบ อิมเพรสชันนิสม์คนสำคัญของประเทศฝรั่งเศสในคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีความเชี่ยวชาญทางการเขียนโปสเตอร์ของชีวิตผู้คนในบริเวณมงมาตร์ ของปารีส ผู้ชอบใช้ชีวิตในความอื้อฉาวของโรงละครและหอนางโลม)

แปลว่าพัฒน์พงศ์คือมูแลงรูจเลย (Moulin Rouge) สำหรับคุณ
ใช่ คือมูแลงรูจเลย เป็นที่ที่ทำให้เห็นความเป็นมนุษย์อย่างดิบๆเลย อาทิ เรื่องความรักและเซ็กซ์ที่คนทั่วไปเทิดทูน บูชา ต้องแต่งงานแล้วก็เป็นแรงขับเคลื่อนชีวิต ตรงนั้นคือสองพันนะ หรือพันห้าด้วยซ้ำ แล้วแต่ว่าจะเอาท่าไหน นานเท่าไร นึกออกไหม ซื้อได้เลย แล้วเราไปนั่งคุยนั่งวาดรูปเด็กในนั้น เขาก็มีข้างนอกโลกหนึ่ง ข้างในก็อีกโลกหนึ่ง แล้วมันจะมีเด็กที่ไม่ใช่เกย์มาขายบริการให้ผู้ชาย เยอะมาก “อ้าว ก็มีแฟนเป็นผู้หญิงนี่นา ทำไมมาทำ?” ก็ไม่เห็นเป็นอะไร ดังนั้นกรอบคำว่าเกย์ก็ถูกทุบไปโดยบริบทนั้น ในขณะที่มีธงสีรุ้งอยู่หน้าร้านเพื่อนการตลาด มันทำให้เห็นว่าเรื่องเพศสภาพและความเป็นคนแม่งซับซ้อนกว่าที่เราเห็นกันมากๆ

มันซับซ้อนและเจ็บปวดเหมือนกันนะที่เป็นแบบนี้
ในฐานะเราเป็นศิลปิน เรากลับสนใจเรื่องพวกนี้นะ เราว่าศิลปินควรจะตั้งคำถามกับสังคม กับความเป็นคน กับสิ่งที่มันสะท้อนว่า มนุษย์คืออะไร ร่างกายของเราคืออะไร แรงขับของเราคืออะไร

ปัจจุบันพอใจในชีวิตหรืองานของตัวเองแค่ไหน
แฮปปี้มากครับ แต่ก็มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่า คนที่เป็นศิลปินมันจะไม่มีความสุขแบบบริบูรณ์ได้หรอก ไม่รู้จริงไหม (หัวเราะ)

กำลังจะถามว่าถ้าแฮปปี้ แล้วความทะเยอทะยานของคุณในฐานะศิลปินจะหยุดหรือเปล่า
ไม่หยุดนะ

ศิลปินไม่ได้ทำงานจากความเจ็บปวดเหรอ
เมื่อก่อนคิดอย่างนั้น แต่มาพบที่หลังว่า ความเจ็บปวดเป็นหนึ่งในอารมณ์ที่ขับเคลื่อนงาน แปลว่ามันยังมีอีกมากมายหลายความรู้สึกที่เราถ่ายทอดได้ด้วย

คำถามสุดท้าย คิดว่าในอนาคต เมื่อเราแก่ตัวไป งานเรามันจะพัฒนาไปในแบบไหน โอ๊ตในวัย 60 มันจะเหลืออะไรให้ซาบซึ้งอยู่ไหม
ถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะเป็นกระบอกเสียงให้กับคนชายขอบ คนที่ไม่เท่าเทียม ไม่ใช่เฉพาะเรื่องเพศนะ เกือบทุกเรื่องแหละ แต่เราว่ามันต้องเลือกว่าจะสู้อะไร เพราะมันสู้ทุกเรื่องไม่ได้ จะเหนื่อยเกินไป เรื่อง LGBTQ+ เหมือนจะใกล้ตัวที่สุดก็เอาประเด็นนี้ก่อน คือเมื่อเรามองเห็นความไม่เท่าเทียมในวงการศิลปะ ในพื้นที่สื่อ ในพื้นที่ภายนอก เราก็เริ่มจากในพื้นที่ของเรา บนกระดาษ บนผ้าใบของเราก่อน

ขยับจากศิลปินไปเป็นนักรณรงค์
จริงๆ มันคือทั้งสองอย่าง เป็นไปด้วยกันตลอดเวลาอยู่แล้ว สำหรับเราศิลปินมันต้องมีจุดยืนนะ (การเลือกที่จะไม่มีจุดยืนก็คือจุดยืนอย่างหนึ่ง) ถ้าถามว่าในอนาคตเราอายุสี่สิบห้าสิบปี หากเป็นไปได้อยากสนับสนุน young queer artist ศิลปินใหม่ๆ โอ๊ตว่าเขามีสิ่งที่จะพูดที่น่าสนใจ

ประเด็นเรื่องเพศสภาพมันควรจะถูกพูดถึง ต่อยอด ไม่ใช่ปัดซุกไว้ใต้พรม มาคุยกันว่าความเป็นมนุษย์มันซับซ้อนนะ บริบทเพศสภาพมันทับซ้อนกับ ประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ ศาสนา ฯลฯ ซึ่งมันทำให้คนบางคนใช้ชีวิตจะแฮปปี้สุดๆ ก็ได้ หรือตกนรกทั้งเป็นก็ได้ ดังนั้นอยากให้ส่งต่อแรงบันดาลใจ ถ้าคุณเป็นศิลปินที่เป็นเกย์ คุณควรสื่อสารเรื่องนี้ในงาน ถ้ามันมีอิทธิพลสำหรับคุณ ถ้ามันสำคัญสำหรับคุณ ไม่ต้องกลัวถ้าสังคมจะมองคุณอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าคุณมีเรื่องจะพูดก็พูดออกไปเลย

ศิลปะควรสร้างการตระหนักรู้ใหม่ๆ ตั้งคำถามกับความเชื่อเดิม อย่างที่เราเคยไม่ชอบตัวเอง แต่พอผ่านกระบวนการศิลปะ มันทำให้เริ่มตั้งคำถามว่าทำไมละ? จนสุดท้ายเริ่มเห็นความสวยงามในตัวเอง กลับมารู้สึกดี แล้วเราก็หวังว่ามันจะทำให้คนอื่น คนที่มาดู เขาอาจจะหน้าตาแบบนี้ ผิวแบบนี้ จะอวบจะผอมก็แล้วแต่ มาดูแล้วเขาเห็นความสวยงามในรูปเรา เราก็หวังว่าเขาจะกลับไปแล้วรู้สึกว่า “จริงๆ ฉันก็มีความสวยงามในแบบของฉันเนอะ”

    TAG
  • โอ๊ต มณเฑียร
  • Oat Montien
  • illustrator
  • people
  • interview

Naked interview with Oat Montien คุยแบบถอดหมดกับ โอ๊ต มณเฑียร

PEOPLE/INTERVIEW
4 years ago
CONTRIBUTORS
EVERYTHING TEAM
RECOMMEND
  • PEOPLE/INTERVIEW

    ทำความรู้จักกับ DJ. IYY กับแนวทางเฉพาะตัวในสาย Tech House

    เพียงแค่ผลักประตูเข้าไปในคลับดีเจแห่งหนึ่ง แสง Laser จาก Beam light ก็พุ่งเข้าใส่พร้อมกับเสียงเบสของบีต Tech House เข้ามาเร้าอารมณ์ความรู้สึกจนอยากจะขยับไปตามเสียงที่ได้ยิน ซึ่งท่ามกลางการเกิดขึ้นของดีเจหน้าใหม่ที่ไม่ซ้ำกันในช่วงนี้ เราก็พบว่าเสียงดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ในแนว House และ Techno ของดีเจคนหนึ่งสามารถปลดปล่อยผู้คนให้เข้าสู่จังหวะการเคลื่อนไหวที่สนุกสนานและมีพลังงานได้อย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เขาคือ “DJ IYY” ไอคอนแห่งวงการดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ “Tech House” ในปัจจุบัน

    EVERYTHING TEAMMarch 2024
  • PEOPLE/INTERVIEW

     “Dramatic Tempo” ศิลปะจังหวะละครชีวิตของ YoSecrete ฐิติภัทร งามสงวน

    ในช่วงเวลาบ่ายที่สายลมอ่อน ๆ แดดบาง ๆ ผสานกับเสียงการกระทบกันของคลื่นน้ำแถวริมทะเลบางแสน รถ Honda Ct125 คันหนึ่งได้เข้ามาจอดเทียบ เราได้เห็นชายใส่แว่นสีชาก้าวลงจากรถและถอดหมวกกันน็อคออก พร้อมกับส่งเสียงทักทายว่า “สวัสดีครับ ผม YoSecrete”

    EVERYTHING TEAMFebruary 2024
  • DESIGN/INTERVIEW

    A Primer for Forgetting นิทรรศการที่สำรวจด้านตรงข้ามระหว่างความทรงจำและการหลงลืม

    ในโลกที่ให้คุณค่ากับความทรงจำ และด้อยค่าความหลงลืม แต่คุณค่าของทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีสองด้านเสมอ บางครั้งความทรงจำอาจเป็นการแบกรับประสบการณ์อันทุกข์ยากเลวร้ายเอาไว้ ในขณะที่ความหลงลืมกลับทำหน้าที่ปลดเปลื้องความทุกข์ยากนั้น มีนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยนิทรรศการหนึ่งที่พูดถึงมุมกลับของความทรงจำและความหลงลืมนี้ได้อย่างน่าสนใจ นิทรรศการนั้นมีชื่อว่า A Primer for Forgetting ซึ่งเป็นนิทรรศการคู่ของสองศิลปินต่างแนวทางอย่าง นิพันธ์ โอฬารนิเวศน์ และ ลัทธพล ก่อเกียรติตระกูล ที่เป็นเหมือนสองด้านของเหรียญที่อยู่ตรงข้าม แต่ก็มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน

    Panu Boonpipattanapong5 months ago
  • PEOPLE/INTERVIEW

    ศิลปะแห่งความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งมีชีวิตต่างสายพันธุ์ ของ วันทนีย์ ศิริพัฒนานันทกูร ศิลปินผู้ถูกคัดเลือกให้แสดงผลงานในงาน แสดงศิลปะร่วมสมัยระดับโลก Frieze London

    Frieze London เป็นหนึ่งในงานแสดงศิลปะร่วมสมัยที่สําคัญที่สุดในโลก ที่จัดขึ้นในกรุง ลอนดอน ซึ่งในปี 2023 ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 20 ปีของ Frieze London ได้มีการจัดโครงการ พิเศษอย่าง Artist-to-Artist ที่ให้ศิลปินชื่อดังระดับโลกอย่างเช่น โอลาฟัวร์ เอลีย์เออซัน (Olafur Eliasson), เทรซี เอมิน (Tracey Emin), วูล์ฟแกง ทิลมันส์ (Wolfgang Tillmans) หรือแม้แต่ศิลปินไทยชื่อก้องโลกอย่าง ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช (Rirkrit Tiravanija) ให้มานําเสนอ ศิลปินรุ่นใหม่ที่น่าจับตาจากทั่วโลกมาจัดแสดงผลงานนิทรรศการแสดงเดี่ยวในงานนี้เป็น ครั้งแรก และหนึ่งในศิลปินรุ่นใหม่ที่ฤกษ์ฤทธิ์เสนอชื่อให้จัดแสดงนิทรรศการเดี่ยวในงาน แสดงศิลปะร่วมสมัย Frieze London ในปีนี้ ก็คือศิลปินร่วมสมัยชาวไทยผู้มีชื่อว่า วันทนีย์ ศิริพัฒนานันทกูร (Wantanee Siripattananuntakul) นั่นเอง

    Panu Boonpipattanapong6 months ago
  • PEOPLE/INTERVIEW

    “RedLife ทำให้เราใจเต้นแรงจริงๆ” คุยกับ เป๋ง-ชานนท์ ยอดหงษ์ อาร์ตไดเรกเตอร์สไตล์จัด แห่ง DogKillMen ผู้อัดฉีดความเดือดพล่านให้กับ RedLife

    "เป๋ง-ชานนท์ ยอดหงษ์" คืออาร์ตไดเรกเตอร์สไตล์จัดแห่ง DogKillMen ผู้อยู่เบื้องหลังปกอัลบั้มของวงดนตรีระดับประเทศ ไม่ว่าจะเป็น Big Ass, Bodyslam และ Bomb at Track และล่าสุด เป๋งยังได้กระโดดเข้ามาเป็นอาร์ตไดเรกเตอร์แห่ง ‘RedLife’ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในชีวิตที่เขาได้ก้าวเข้ามาสู่วงการภาพยนตร์ โดยเป๋งรับผิดชอบในการออกแบบโลโก้ โปสเตอร์ ไปจนถึงเป็นมันสมองสำคัญในการอัดฉีดสไตล์มันๆ ให้กับหนังเรื่องนี้

    BrandThink Cinema6 months ago
  • PEOPLE/INTERVIEW

    The Emerging Star – “TAMP” ศิลปินหนุ่มหน้าใหม่แห่งค่าย NEW WAV. Entertainment

    ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา กระแสความเฟื่องฟูของวงการดนตรีไทยนั้นกำลังกลับได้ความนิยมอีกครั้ง จนเรียกได้ว่าหันไปทางไหนก็มีวงดนตรี ศิลปินกลุ่ม หรือศิลปินเดี่ยวหน้าใหม่เกิดขึ้นมากมาย สร้างความเนื้อเต้นปะปนไปกับความดีใจให้กับคนฟังไทยที่ได้เห็นอุตสาหกรรมนี้ได้เติบโตขึ้นอีกครั้ง และท่ามกลางบรรยากาศความคึกคักเหล่านั้น “TAMP” ศิลปินหนุ่มจากค่าย NEW WAV. Entertainment ที่เพิ่งเดบิวต์เปิดตัวไปเมื่อกลางปี 2023 ที่ผ่านมา ก็เป็นดาวรุ่งอีกดวงหนึ่งที่กำลังจะฉายแสงออกมาให้เราได้เห็น

    EVERYTHING TEAM6 months ago
SIGN UP TO OUR NEWSLETTER
A Monthly update of the new issue from us
THANK YOU FOR YOUR SUBSCRIPTION

We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )