LOOKING ON EVERYTHING ?
EXPLORE ON EVERYTHING
ความรักอาจจะออกแบบไม่ได้ แต่สถาปัตยกรรมที่โน้มนำและทำให้
เกิดความรัก...สร้างสรรค์ได้

ดูเผินๆ แผงเหล็กที่ประกอบขึ้นเป็นผนังรอบอาคารอาจจะอธิบายชื่อ “Naked Steel” ได้อย่างชัดเจนเพียงพอแล้ว แต่ในความเป็นจริง แนวคิดที่อยู่เบื้องหลังการออกแบบอาคารแห่งนี้มีความหมายอื่นที่ลึกซึ้งซ่อนเร้นอยู่ เมื่อค่อยๆ ปลดเปลื้ององค์ประกอบภายนอกออกทีละชั้น...ก็จะพบว่าหัวใจอันเปลือยเปล่าของสำนักงานแห่งนี้คือ “ความรัก” ที่ฝากไว้ให้กับทุกคนที่เข้ามาทำงานร่วมกัน
เมื่อทายาทรุ่นที่สองของ Steel City บริษัทผลิตและจำหน่ายท่อร้อยสายไฟเหล็กหล่อและงานหล่อหลอมเหล็กทุกชนิด ต้องการขยายกิจการและย้ายจากตึกแถวไปสู่อาคารหลังใหม่ที่สามารถรองรับการขยายตัวในอนาคตได้ พวกเขาจึงขอความช่วยเหลือจาก Volume Matrix Studio ให้เข้ามาช่วยออกแบบสำนักงานแห่งใหม่ “เดิมพวกเขาอยู่ตึกแถว พื้นที่มันแทบจะไม่มี ที่ Stock ของก็ไม่พอ แล้วก็นั่งเบียดกันมาก เขาต้องการขยายกิจการก็เลยคิดว่าอยากจะทำออฟฟิศใหม่ที่มีโกดังเก็บของ” กศินร์ ศรศรี ผู้ก่อตั้ง Volume Matrix Studio กล่าวถึงจุดเริ่มต้นในการออกแบบอาคาร Naked Steel “เขาเป็นออฟฟิศสไตล์คนจีนทั่วไป ทำกันแบบพี่ๆ น้องๆ บางคนก็ทำมา 30-40 ปีแล้ว อยู่กันมานานจนเป็นเหมือนครอบครัว เราก็เลยทำให้มันเหมือนเป็นบ้านหลังใหญ่ๆ หลังหนึ่งที่คนมีความสุขที่ตื่นเช้ามาเจอกัน ได้มาในที่ที่เราชอบ ได้มาเจอญาติพี่น้อง อยากมาเจอเพื่อน เจอคนรู้จัก แล้วก็มาช่วยกันทำสิ่งต่างๆ ให้มันดี”

จากสำนักงานเก่าในตึกแถวและการนั่งทำงานในห้องสี่เหลี่ยมที่ปิดทึบ กศินร์นำทีมสถาปนิก Volume Matrix Studio ออกแบบอาคาร Naked Steel โดยสร้างบรรยากาศในการทำงานที่เป็นมิตร ผ่อนคลาย อยู่แล้วรู้สึกสบายอกสบายใจ...จนกลายเป็นความรักในสิ่งที่ทำ “เราตีความความหมายของออฟฟิศว่าไม่ใช่ที่ไว้นั่งทำงาน ออฟฟิศคือที่ซึ่งคนกลุ่มนึงมาอยู่ร่วมกัน เพื่อมาเจอกัน มาแลกเปลี่ยนความคิด มาร่วมทำอะไรบางอย่าง ถ้าเรารู้สึกอยากทำงาน เรารักมัน เราจะอยากทำให้มันดี เราอยากจะเจอคนที่เรารักทุกวัน แล้วก็มาช่วยกันทำอะไรดีๆ มาช่วยกันสร้างสรรค์อะไรบางอย่าง” กศินร์กล่าว “รูปแบบของฟังก์ชันในเชิงโปรแกรมมันก็เลยเปลี่ยนจากออฟฟิศทั่วไป”
Common Area หรือพื้นที่ส่วนกลางกลายเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างความสุขให้กับคนทำงาน โดยมีสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของพื้นที่อาคารทั้งหมด ฟังก์ชันการใช้งานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำงานโดยตรงแทรกตัวอยู่ในทุกส่วนของอาคารอย่างน่าสนใจ “เรารู้สึกว่าพื้นที่ Common Area เป็นพื้นที่ซึ่งสามารถทำอะไรก็ได้และมีประโยชน์มาก ในมุมมองผม พื้นที่ทำงานมันก็แค่หน้าจอคอม แต่พื้นที่ซึ่งจะทำให้เกิด Product ที่ดี คนเราต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการที่เราจะได้คิด” กศินร์กล่าว “ถ้าเราทำงานอย่างอารมณ์ดี มีพื้นที่ซึ่งเอื้อต่อความคิดสร้างสรรค์ ประโยชน์ที่เราจะได้รับจากพื้นที่ซึ่งไม่ได้เป็นพื้นที่ทำงานนี่มันมีประโยชน์มากกว่า”

ทุกๆ ห้องใน Naked Steel ได้รับการออกแบบให้มีความรู้สึกผ่อนคลายและเป็นกันเอง แม้แต่ห้องที่คนทั่วไปมองว่าเคร่งเครียดก็ได้รับการตีความและนำเสนอในรูปแบบใหม่ “ตามที่ผมสังเกตจากวัฒนธรรมจีน เวลาคุย...เขาคุยกันบนโต๊ะกินข้าว เราเลยทำห้องประชุมให้คล้ายๆ กับห้องกินข้าวที่คุยกันได้ ประชุมกันได้ มันจะกึ่งๆ ไม่ได้ Formal นัก” กศินร์กล่าว “ห้องบอร์ดบริหารก็ทำให้เป็นเหมือนห้องนั่งเล่น เวลาเรียกใครมาคุยก็เหมือนนั่งคุยในห้องนั่งเล่น ไม่ใช่โดนเรียกเข้าไปแล้วเจ้านายก็นั่งทะมึนอยู่บนโต๊ะ แบบนั้นมันดูกดดัน”


นอกจากพื้นที่เพื่อการทำงานอย่างมีความสุขแล้ว ผลิตภัณฑ์ของบริษัทก็คืออีกหนึ่งหัวใจของ Naked Steel ท่อเหล็กและบล๊อกสายไฟต่างๆ จึงกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของอาคาร “แต่ก่อนคนไม่ค่อยรู้จักโรงงานที่ผลิตท่อหรือบล๊อกสายไฟต่างๆ เพราะมันเป็นงานที่ถูกซ่อน แต่อาคารนี้ ผมใช้คำว่า Naked Steel มันคือการเปลือยเปล่าเหมือนเราโชว์สิ่งที่มันเคยอยู่ข้างในออกมาอยู่ข้างนอก” กศินร์กล่าว “ทุกส่วนของอาคารคือ Showroom ของบริษัทนี้ สิ่งที่เขาขายมันก็เกี่ยวกับการก่อสร้าง มันคือการเดินท่อและท่อเหล็กต่างๆ เราก็เลยเอาท่อของเขามาใช้ทำเป็น Facade อาคารด้วย ทำเป็น Space ข้างในด้วย เมื่อคนมาที่นี่ นอกจากจะมาประชุม ก็จะได้เห็นศักยภาพของผลิตภัณฑ์ด้วย”
จากภายในสู่ภายนอก แนวคิดซึ่งเป็นนามธรรมในการออกแบบพื้นที่เพื่อการทำงานอย่างมีความสุขได้รับการถ่ายทอดออกมาสู่รูปทรงอาคารที่เป็นเอกลักษณ์ของ Naked Steel “ผมไม่ได้เป็นสายฟอร์ม ไม่ได้เอากล่องมาเรียง วางแมสฟอร์มสวยๆ ผมคิดจากข้างในให้ตัวนามธรรมมันชัดจนข้างนอกมันสะท้อนออกมา” กศินร์กล่าว “เราสามารถจัดการสร้างสรรค์พื้นที่บางอย่างที่มันซับซ้อนทางนามธรรมได้ แล้วเราสามารถแสดงออกมา คนอาจจะ Get ช้าหรือเร็วไม่เหมือนกัน แต่ว่ามันสัมผัสได้ มันเหมือนว่าสิ่งนั้นมันมีอยู่แต่ไม่ได้เห็นชัดเจน มันมีความเบลอๆ ของมันอยู่ ผมชอบพื้นตรงนั้น ตรงที่มันเบลอๆ แล้วแต่คนตีความ”
เมื่อได้ทำงานที่รัก...จะรู้สึกเหมือนไม่ต้องทำงานอีกต่อไป ที่ Naked Steel พื้นที่ทุกตารางนิ้วได้รับการออกแบบมาเพื่อมอบความสุขให้กับทุกคนที่มาร่วมกันทำงานด้วยใจรัก “ผมเชื่อว่าถ้าบรรยากาศการทำงานมันดี คนก็จะอยากมาทำงาน แล้วก็อยากมาทำงานดีๆ ร่วมกัน แล้วก็มาช่วยกันปกป้องบริษัทดีๆ แบบนี้ให้อยู่กันไปนานๆ” กศินร์ทิ้งท้าย
เพราะทุกที่คือโชว์รูม การนำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของบริษัททั้งท่อเหล็กและกล่องร้อยสายไฟโลหะออกมาใช้เป็นองค์ประกอบของอาคารไม่เพียงสื่อถึงภาพลักษณ์ของบริษัทเท่านั้น หากยังแสดงให้ผู้มาเยือนได้เห็นถึงแนวทางและศักยภาพในการนำผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไปใช้อีกด้วย


พื้นที่ส่วนกลาง (Common Area) คือองค์ประกอบที่เป็นหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งของอาคารสำนักงานแห่งนี้ เป็นพื้นที่ซึ่งเอื้อต่อความคิดสร้างสรรค์ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้กับพนักงานทุกคน
ระเบียงและสวนลอยฟ้าคือส่วนประกอบที่กระจายอยู่ในทุกชั้นของอาคารหลังนี้ คอยเติมบรรยากาศผ่อนคลายให้กับพนักงาน
Naked Steel
Architect: Volume Matrix Studio Co, Ltd.
Location: Srinakarin , Bangkok, Thailand
Client: Steel City Co, Ltd.
Area: 5,000 Sq.m
Year: 2019
Photography: Spaceshift Studio

Naked Steel ความรักอาจจะออกแบบไม่ได้ แต่สถาปัตยกรรมที่โน้มนำและทำให้เกิดความรักสร้างสรรค์ได้
/
บ้านหลังแรกที่สร้างขึ้นเองของคุณออมมี่ และคุณแบงค์ -ปรีดากร เมรเกรียงชัย Co-Founder แห่งแบรนด์ Gentle RAM บ้าน ที่ตอบโจทย์รสนิยมของทั้งสองที่หลงใหลในความ Timeless และการอยู่อาศัยที่อยู่สบาย เรียบง่าย พร้อมจัดระเบียบชีวิตในบ้านได้อย่างลงตัว บ้านที่ทุกพื้นที่ และทุกฟังก์ชั่นที่ทาง THE OTHERS ผู้ออกแบบได้ขบคิดมาอย่างพิถีพิถันไม่ต่างกับเสื้อผ้าที่เทรลเลอร์เมดให้พอดีกับเจ้าของบ้าน
/
หนึ่งในกิจกรรมจากเวที TOSTEM Asia Design Award (TADA) ซึ่งจัดขึ้นโดย TOSTEM เพื่อเฟ้นหาผลงานสถาปัตยกรรมในเอเชีย ที่มุ่งให้ความสำคัญกับเรื่องของธรรมชาติ ผสานเข้ากับนวัตกรรมการอยู่อาศัยสมัยใหม่ ตอบโจทย์ทั้งผู้ใช้งาน และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อมยั่งยืน ซึ่งนอกจากผู้ชนะรางวัลจะได้ร่วมเดินทางไปรับรางวัลที่ประเทศญี่ปุ่นแล้ว ยังได้พบปะกับ Akihisa Hirata สถาปนิกชาวญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงระดับโลก ที่มาแชร์มุมมองแนวคิดการออกแบบโปรเจกต์ต่าง ๆ ตั้งแต่งาน Installation Art บ้านพักอาศัย จนถึงอาคารสาธารณะ ซึ่งความน่าสนใจนอกเหนือจากเอกลักษณ์ภาษาทางสถาปัตยกรรมที่ถ่ายทอดผ่านฟอร์ม และสเปซที่โดดเด่น และเป็นที่จดจำแล้วนั้น สำคัญคือปรัชญาหลักที่เป็นรากฐานความคิดของ Hirata สู่การพัฒนาเป็นสถาปัตยกรรมน่าทึ่งเหล่านั้น ซึ่งเราจะมาเจาะลึกแนวคิดที่ว่านั้นกัน
By TOSTEM/
ผสานบริบทธรรมชาติ สอดรับกับวัฒนธรรมท้องถิ่นได้อย่างลึกซึ้ง พร้อมถ่ายทอดสู่เอกลักษณ์ภาษาทางสถาปัตยกรรม ที่เติมเต็มทั้งสุนทรียศาสตร์ และตอบโจทย์การใช้ชีวิตผู้อยู่อาศัยได้ทุกมิติ คือจุดร่วมหลักของสองผลงานออกแบบบ้านที่ตั้งอยู่ใน 2 จังหวัดทางภาคเหนือ ที่คว้ารางวัล TOSTEM ASIA DESIGN AWARD 2024 (TADA 2024) ในกลุ่มประเภท “Special Mention for Sustainable Living” มาครอง
By TOSTEM/
ขึ้นชื่อว่าเป็นโปรเจกต์ออกแบบโดย HAS design and research ของสองสถาปนิกฝีมือแถวหน้าอย่าง คุณเจอร์รี่ หง (Jenchieh Hung) และคุณป้อ-กุลธิดา ทรงกิตติภักดี (Kulthida Songkittipakdee) แล้วนั้นรับรองว่ามิติที่ลึกซึ้งกว่าเรื่องของฟอร์มอย่างแน่นอน เช่นเดียวกับก่อนหน้านี้ทุกคนต่างทึ่งไปกับงาน“Aluminum Grotto and Public Ground” งานอินสตอลเลชันสุดอลังการที่จัดแสดงในงานสถาปนิก’67 ก็เป็นตัวอย่างของการผสานองค์ประกอบเรื่องของพื้นผิว-พื้นที่-โครงสร้าง-ฟังก์ชั่นให้เป็นหนึ่งเดียว ภายใต้ภาษาทางสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์ และเชื่อมระหว่างภูมิทัศน์ธรรมชาติ ศิลปะเชิงช่าง และวัสดุอุตสาหกรรมได้อย่างน่าตื่นตา มาถึงโปรเจกต์ใหม่ที่เป็นงานออกแบบรีเทลนี้ ทาง HAS ได้พยายามข้ามขนบบางอย่างของการออกแบบพื้นที่เชิงพาณิชย์ทั่วไป เพื่อสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ให้กับผู้ที่ได้ไปเยือน
/
กลายเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ในซอยจ่าโสด เมื่อเราได้พบกับอาคารสถาปัตยกรรมโมเดิร์นเรียบเท่ที่เต็มไปด้วยไดนามิคของเส้นสาย ส่วนคว้านโค้งซึ่งออกแบบมาเพื่อฟังก์ชั่น และเพื่อแสงธรรมชาติ เป็นอาคารโทนสีขาวสะอาดตาแต่ทำให้เราไม่อาจละสายตา กับเอกลักษณ์ดีไซน์ของอาคารที่ทอดตัวยาวพร้อมมีประภาคารเล็ก ๆ นี่คือ SANS STUDIO BANGKOK สตูดิโอแห่งใหม่ที่ก่อตั้งขึ้นโดยเจ้าของผู้สนใจในงานสถาปัตยกรรมและศิลปะการถ่ายภาพ หลังจากเรียนจบมาจากฝรั่งเศส โดยให้เป็นสตูดิโอที่รองรับงานถ่ายภาพ โปรดัคชั่น จนถึงอีเวนต์ ที่ได้ทาง PHTAA LIVING DESIGN มาเป็นบริษัทสถาปนิกออกแบบให้
/
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นคณะสถาปัตยกรรมแห่งแรกของประเทศไทย ที่มีการเปิดให้เรียนในหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรมศาสตร์ ก่อตั้งโดย อาจารย์นารถ โพธิประสาท ในปี พ.ศ. 2476 และมีการเปิดใช้ตึกคณะสถาปัตยกรรมครั้งแรกในปี พ.ศ. 2484 จนต่อมาในปี พ.ศ. 2485 ภายใต้รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มี “ประกาศปรับปรุงอักสรไทย” ขึ้นเพื่อให้การสะกดคำในภาษาไทยกะทัดรัดและลดความซ้ำซ้อนของตัวอักษรลง ชื่อคณะสถาปัตยกรรม จึงถูกเปลี่ยนแปลงและใช้ชื่อว่า คณะสถาปัตยกัม อยู่นานถึงสองปี ก่อนจะมีการกลับมาใช้ชื่อเดิมอีกครั้ง (หลังจบสงคราม) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2487 เป็นต้นไป
We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )