พระสมุห์พิชิต ฐิตชโย สถาปนิกในสถานะสงฆ์ | IAMEVERYTHING.CO

LOOKING ON EVERYTHING ?

EXPLORE ON EVERYTHING

อาคารรัตนวิหาร พระมงคลเทพมุนีฯ วัดพระธรรมกายนิวคาสเซิล

สถาปนิกสงฆ์ผู้อยู่เบื้องหลังแนวคิดอาคารรัตนวิหารแห่งนิวคาสเซิล และสถาปัตยกรรมร่วมสมัยของวัดพระธรรมกาย

ศาสนาและวัฒนธรรม ในหลากพื้นถิ่นมักถูกรวมเป็นหนึ่งเดียว ทว่าก่อนการหลอมรวมสู่แต่ละวัฒนธรรม แท้จริงแล้วแก่นของศาสนาคือความเป็นกลางที่สามารถอยู่ได้ในทุกที่เเละยุคสมัย

ในช่วงเดือนที่ผ่านมาเกิดแรงกระเพื่อมทางความคิดทั้งในวงการสถาปัตยกรรมและพระพุทธศาสนา เนื่องจากภาพจำลองอาคารร่วมสมัยตั้งอยู่กลางบริบทโบสถ์หินแบบอังกฤษสร้างความรู้สึกแตกต่าง โดดเด่น ในขณะเดียวกันกลับดูกลมกลืน เมื่อชื่อของ “อาคารรัตนวิหาร พระมงคลเทพมุนีฯ” หรือ “วิหารหลวงปู่ วัดปากน้ำ” วัดพระธรรมกายนิวคาสเซิล บ่งบอกถึงลักษณะโปรแกรมได้เผยถึงที่มาของสถานที่ยิ่งดึงดูดความสนใจพื้นที่ในโซเชียลทั้ง 2 วงการ ได้ระยะเวลาหนึ่ง
ทางทีมงานได้ติดต่อสัมภาษณ์ พระสมุห์พิชิต ฐิตชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายนิวคาสเซิล และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังแนวคิดของการสร้างศาสนสถาน เราพบว่า “วิหารหลวงปู่ นิวคาสเซิล” กลับเป็นเพียงหนึ่งในจำนวนหลายงานของท่านที่สะท้อนความคิดเบื้องหลังการตีความธรรมะเชื่อมแก่นของ “ศาสนา” และ “สถาปัตยกรรม” อย่างไม่เจือปนที่สุดงานหนึ่งตั้งแต่แรกเริ่มมาจนถึงปัจจุบัน

พระสมุห์พิชิต ฐิตชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายนิวคาสเซิลในปัจจุบัน สถาปนิกสงฆ์ผู้อยู่เบื้องหลังการตีความสถาปัตยกรรมร่วมสมัยในวัดพระธรรมกาย

พระสมุห์พิชิต ฐิตชโย เข้าสู่เพศบรรพชิตที่วัดพระธรรมกายตั้งแต่จบการศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ท่านเป็นภิกษุรูปหนึ่งที่เอาความรู้ศักยภาพทางโลกมาใช้
ต่อยอดในงานพุทธศาสนา
แนวคิดของพระสมุห์พิชิตมีส่วนผลักดันให้โครงการ และศาสนสถานของวัดพระธรรมกายหลายๆ แห่ง มีรูปลักษณ์แปลกตา แตกต่างจากวัดพุทธในจารีตประเพณีไทย ซึ่งมีองค์ประกอบของพุทธศิลป์ลายไทยแสดงรากทางวัฒนธรรมเช่นวัดพุทธไทยทั่วไป สร้างการเปลี่ยนแปลงสถาปัตยกรรมภายในวัดมาจนถึงปัจจุบัน

จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงสถาปัตยกรรมร่วมสมัยภายในวัด
การเดินระหว่างสองบทบาทของสถาปนิกและพระสงฆ์ของพระสมุห์พิชิตเริ่มมาตั้งแต่ช่วงจำพรรษาที่ 2 ด้วยการสนับสนุนจาก พระไชยบูลย์ ธมฺมชโย เจ้าอาวาสของวัด ณ ขณะนั้น เมื่อท่านดำรงตำแหน่งเลขานุการของ พระทตฺตชีโว อดีตรองเจ้าอาวาสของวัด และทำหน้าที่สถาปนิกออกแบบควบคุมการก่อสร้างโครงการต่างๆ โดยมีผลงานพิสูจน์ความสามารถชิ้นแรกของพระสมุห์พิชิตคือกุฏิของท่านรองเจ้าอาวาส ซึ่งมีความเรียบง่าย สมดุล สมมาตร ลดทอนการต่อเติม เป็นกุฏิพระแบบมินิมอล แตกต่างจากรูปแบบกุฏิพระแบบเดิม
สิ่งที่เป็นจุดสำคัญที่ทำให้ศาสนสถานในวัดพระธรรมกายเข้าสู่ยุคปฏิวัติสถาปัตยกรรมในมุมมองของพระสมุห์พิชิตคือวิสัยทัศน์ที่เปิดกว้างของเจ้าอาวาสวัดธรรมกายในอดีต ซึ่งไม่ยึดติดกับจารีตประเพณีด้วยปัจจัยของ “สังคม เศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง” ที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ “ศาสนา” จึงควรปรับตัวไปตามวิวัฒนาการของโลก

“พระพุทธศาสนาเป็นของกลาง ขึ้นอยู่กับการตีความ ไม่เกี่ยวกับการยึดติดอยู่ในวัฒนธรรมใด”
- พระสมุห์พิชิต-
ผลงานออกแบบก่อสร้างกุฏิร่วมสมัยชิ้นแรกอายุกว่า 20 ปี ของพระสมุห์พิชิต “กุฏิของพระทตฺตชีโว”

โครงการในยุคแรกที่พระสมุห์พิชิตได้เข้ามามีส่วนร่วมล้วนมีขนาดเมกะโปรเจกท์ เน้นการออกแบบสถาปัตยกรรมที่เรียบง่ายเพื่อเน้นตอบโจทย์การใช้งาน และมีระบบสิ่งอำนวยความสะดวกที่รองรับ การใช้งานปริมาณมหาศาล โดยลดองค์ประกอบการแสดงออกทางรากวัฒนธรรมให้ดูร่วมสมัยขึ้น ถือเป็นบทบาทสำคัญของท่านจากสถานะบัณฑิตสำเร็จการศึกษาใหม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการเมกะสเกลที่มีพื้นที่ใช้สอยเกิน 1,000,000 ตร.ม. รวมทั้งเป็นก้าวกระโดดของความรับผิดชอบในการกำหนดผังรวมวัดพระธรรมกายบนพื้นที่ 2,000 ไร่ โดยขณะนั้นวัดกำลังมีโครงการอยู่ในระหว่างก่อสร้าง “มหาธรรมกายเจดีย์” และการออกแบบ “ลานธรรม” พร้อมกัน โดยมีอาคาร “มหารัตนวิหารคต” ตั้งล้อมรอบแกนหลักของโครงการ เพื่อรองรับการใช้งานของสาธุชนจำนวนหลักแสนถึงล้านได้ตั้งแต่การเดินทางเข้ามา ตักบาตร นั่งสมาธิ รับประทานอาหาร เข้าห้องน้ำ ให้เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน อันเป็นการใช้งานแตกต่างสุดขั้วกับสัดส่วนปกติ

“มหารัตนวิหารคด” อาคารรองรับพื้นที่การใช้งานกว่าล้านตารางเมตรซึ่งยังคงความเรียบง่าย สมมาตร สมดุล ล้อมรอบ “มหาธรรมกายเจดีย์” และ “ลานธรรม”

“หอฉันคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง” หอฉันที่สามารถรองรับการใช้งานของสงฆ์ และสาธุชนได้มากกว่าหกพันคน มีความแข็งด้วยวิธีการปูพรมกดเข็มกว่าพันต้นเพื่อให้ได้โครงสร้างที่แข็งแรงและเสร็จสมบูรณ์ทันตอบกรอบเวลาและการใช้งาน

โครงการที่ท้าทายการทำงานอีกชิ้นของพระสมุห์พิชิตมากที่สุดคืออาคาร “หอฉันคุณยาย” ที่พระสมุห์พิชิตต้องทำหน้าที่เป็นทั้งผู้จัดการโครงการที่ออกแบบงาน ควบคุมการก่อสร้าง ควบคุมงบประมาณ จัดซื้อจัดจ้าง และเป็น Consultant ควบหลายตำแหน่ง ในขณะที่ต้องเผชิญข้อจำกัดเรื่องกรอบของเวลา ความซ้อนทับของ Concept และพื้นที่การใช้งานประมาณ 10,000 ตร.ม. ระหว่างวิหารน้อยที่ใช้สลายร่างคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ที่ยกขึ้นสูงและมีน้ำตกไหลลงมา โจทย์จึงตกมาที่การเลือกใช้วัสดุ การจัดการเพื่อให้ทุกอย่างเสร็จสิ้นตามกำหนดภายในหนึ่งปี การออกแบบและการก่อสร้างจึงดำเนินไปพร้อมกันด้วยการปูพรมกดเข็มกว่า 1,000 ต้นให้มีความแข็งแรงพร้อมรับโครงสร้างในขณะที่แบบยังไม่สมบรูณ์ ตามคำแนะนำของพระร่วมทีมที่มีประสบการณ์การก่อสร้างสายอาชีพมาหลากหลายโครงการ

อีกหนึ่งโครงการเมกะโปรเจกท์ที่อยู่ในการออกแบบของ พระสมุห์พิชิต “ศูนย์ปฏิบัติธรรม World Peace Valley เขาใหญ่”

บทบาทของพระสมุห์พิชิตถูกเปลี่ยนสถานะออกไปหลากหลายเมื่อได้เข้ามาเป็นสถาปนิกในโครงการต่างๆ ของวัด จากผู้ออกแบบเป็นหัวหน้าทีมผู้ควบคุมการออกแบบ หรือ Design Director ซึ่งเป็นทั้งเจ้าของงานและผู้ใช้งาน โดยท่านทำหน้าที่รับโจทย์จากหลวงพ่อในวัดมาตีโจทย์ กำหนดกรอบทิศทางก่อนสื่อสารต่อกับบริษัทออกแบบให้เข้าใจการใช้งานที่แตกต่างจากฆราวาส และเพื่อให้โครงการเป็นไปตามวิสัยทัศน์ของวัด จนเมื่อโครงการในไทยถึงจุดอิ่มตัว ท่านจึงได้รับความไว้วางใจให้ไปดำเนินการช่วยสร้างวัดพระธรรมกายในต่างประเทศต่อ

สถาปนิกสงฆ์ในต่างแดน
ก่อนถูกแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส พระสมุห์พิชิตเดินทางไปดำเนินการช่วยสร้างวัดพระธรรมกายศูนย์สาขาในประเทศต่างๆ ทั้งอังกฤษ สวิสเซอร์แลนด์ เยอรมัน เดนมาร์ก นอร์เวย์ ฝรั่งเศส อเมริกา ญี่ปุ่น เพื่อปรับปรุงทั้งสถาปัตยกรรม และสถาปัตยกรรมภายในของวัดร่วม 30 กว่าแห่ง สิ่งที่ท่านได้เรียนรู้จากการทำงานหลากประเทศโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วต่างมีหลักกระบวนการการดำเนินงานที่ไม่ต่างกัน โดยต้องเริ่มจากกฎหมายของแต่ละท้องถิ่น ดำเนินการตามกระบวนการที่ระบุเอาไว้ในเอกสาร จึงสามารถทำเรื่องขอแบบอนุญาต แล้วสามารถมาลงรายละเอียดของการออกแบบ และระบบก่อนการเริ่มประเมิณมูลค่าการก่อสร้างให้เสร็จในภายหลัง

โจทย์การสร้างวัดพระธรรมกายในต่างประเทศนั้นต้องสร้างไปและเผยแพร่ศาสนาได้เลย เมื่อการก่อสร้างอาคารตั้งแต่ลงฐานรากในต่างประเทศใช้เวลาดำเนินการขอแบบอนุญาตนานนับ 5 ปีขึ้นไปและใช้งบประมาณสูง อาคารที่มีโครงสร้างจากการใช้งานของโปรแกรมเดิมมาเช่น โบสถ์ บ้าน หรือร้านอาหาร จึงถูกซื้อนำมาปรับปรุงเพื่อดำเนินการทางภารกิจที่ตอบโจทย์มากกว่า การต่อเติมอาคารอนุรักษ์เก่าในต่างประเทศจากคำปรึกษาของเจ้าหน้าที่กรมศิลป์ (Conservation Officer) มีอยู่ 2 วิธี คือ
  1. Copy หรือการเลียนแบบทั้งวิธีการออกแบบ วิธีการก่อสร้างและเลือกใช้วัสดุแบบเดียวกับอาคารเดิมซึ่งใช้งบประมาณจำนวนมากรวมทั้งอาศัยเวลานาน
  2. Contrast หรือการสร้างให้แตกต่างแต่กลมกลืน (Compromise and Unity) โดยสร้างให้ต่อเนื่องไปกับอาคารเดิม

ธรรมะร่วมสมัยของสถาปัตยกรรมวิหารหลวงปู่ วัดพระธรรมกายนิวคาสเซิล
อาคารรัตนวิหาร พระมงคลเทพมุนีฯ วัดพระธรรมกายนิวคาสเซิล

พระสมุห์พิชิตถูกแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสครั้งแรกที่วัดพระธรรมกายนิวคาสเซิล นับตั้งแต่วัดเป็นอาคารอนุรักษ์ “โบสถ์เซนต์แอนดรูว์” (St. Andrew Church) ที่ตั้งของวัดในปัจจุบันซึ่งไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใด จนดำเนินการบูรณะเสร็จ และรับผิดชอบดูแลมาจนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลาเกือบ 8 ปี เป้าหมายของวัดพระธรรมกายนิวคาสเซิลที่พระทตฺตชีโวได้ฝากฝังไว้กับพระสมุห์พิชิตนั้น เพื่อพัฒนาวัดให้เป็นต้นแบบของสถาปัตยกรรมของศูนย์สาขาวัดพระธรรมกายทั่วโลก

การใช้งานของอาคารวิหารหลวงปู่มีทั้งหมด 2 ชั้น ด้านล่างของอาคารเป็นพื้นที่ใช้สอยอเนกประสงค์ และด้านบนเป็นพื้นที่สักการะ การอธิบายของวิธีชีวิตแบบสงฆ์ให้นักออกแบบในพื้นที่เข้าใจเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก การทำงานกับสถาปนิกของโครงการนี้จึงแบ่งให้ผู้ออกแบบที่เคยทำงานร่วมกันมาอย่างบริษัท Plan Architect แล้วมอบให้สถาปนิกท้องถิ่นช่วยประสานงานยื่นขออนุญาตก่อสร้าง
เนื่องจากวัดพระธรรมกายนิวคาสเซิลมีตัวโบสถ์เก่าที่บูรณะใช้เป็นวัดแล้วเป็นอาคารหลัก และอยู่อาศัยเป็นเจ้าของมาระยะเวลาหนึ่ง ประกอบกับอาคารวิหารหลวงปู่ นิวคาสเซิล เป็นอาคารขออนุญาตต่อเติมเพิ่มจากอาคารอเนกประสงค์ในบริเวณอาณาเขตพื้นที่ของวัด ดังนั้นระยะการดำเนินขอแบบอนุญาตจึงไม่นานเท่าระหว่างสถานะการเป็นเจ้าของในช่วงแรก

หากมองเรื่องทิศทางงานสถาปัตยกรรมเพื่อพุทธศาสนาของพระสมุห์พิชิต ตั้งแต่โครงการแรกจนถึงปัจจุบันเกิดจากการตีความธรรมะจากต้นแบบของหลวงพ่อวัดปากน้ำออกมา 3 สิ่ง ความบริสุทธิ์ (Pure) สว่าง (Bright) และใส (Transparency) จึงเป็นที่มาของรูปทรงที่เรียบง่าย ใส มองทะลุ เข้าถึงง่าย แนวคิดของ Concept ที่มาของอาคารวิหารหลวงปู่ที่นิวคาสเซิลไม่แตกต่างจากวัดพระธรรมกายในไทยซึ่งมีความร่วมสมัยมากนัก การสร้างสถาปัตยกรรมต่อเติมจากโบสถ์เก่าให้ออกมาแตกต่างแต่สามารถกลมกลืนกับพื้นที่ได้ดีด้วยการใช้กระจก ประกอบกับสภาพภูมิอากาศที่ต้องการแสงและแดดจากดวงอาทิตย์ วัสดุ ความโปร่งใส และการใช้งานได้ตอบโจทย์การต่อเติมโครงการในครั้งนี้

Plan ชั้น 1 และ 2 ของอาคาร “รัตนวิหารหลวงปู่ วัดพระธรรมกายนิวคาสเซิล” ด้านล่างของอาคารเป็นพื้นที่ใช้สอยอเนกประสงค์ และด้านบนเป็นพื้นที่สักการะ ออกแบบโดยบริษัท Plan Architect

Section อาคารรัตนวิหารหลวงปู่ วัดพระธรรมกายนิวคาสเซิล ออกแบบโดยบริษัท Plan Architect

สถาปัตยกรรมของวัดพระธรรมกายในอนาคตจะถูกปรับเปลี่ยนไปตามปัจจัยเพื่อปรับให้เข้ากับทุกยุคสมัย แม้เข้าถึงปัจจัยของโลกหากขาดวิสัยทัศน์ มุมมองการตีความเข้าใจร่วมกับทางปฏิบัติซึ่งมีความกระจ่างในทางธรรม เจนจัดด้านสถาปัตยกรรม และการตีความสื่อสารพระพุทธศาสนาออกมาเป็นรูปธรรมแล้ว สถาปัตยกรรมของวัดพระธรรมกายอาจดำเนินมาไม่ถึงจุดนี้ ในโลกพระภิกษุสงฆ์ใช้ธรรมะเผยแพร่หลักคำสอน แต่สถาปนิกสงฆ์อย่างพระสมุห์พิชิตได้ใช้สถาปัตยกรรมและธรรมะในการเผยแพร่พุทธศาสนาด้านที่บริสุทธิ์ เรียบง่าย เข้าถึงง่าย และร่วมสมัย อยู่ร่วมได้ในทุกที่แม้แปลกแยกแต่กลมกลืนได้ในทุกบริบท

    TAG
  • design
  • architecture
  • พระสมุห์พิชิต
  • Religious Place

พระสมุห์พิชิต ฐิตชโย สถาปนิกในสถานะสงฆ์

ARCHITECTURE/Religious Place
4 years ago
CONTRIBUTORS
Nada Inthaphunt, Dhammakaya.net
RECOMMEND
  • DESIGN/Architecture

    OB House by THE OTHERS บ้านที่ตอบโจทย์รสนิยมและตัวตนของผู้อาศัย ภายใต้สถาปัตยกรรมมินิมอลที่มีเอกลักษณ์

    บ้านหลังแรกที่สร้างขึ้นเองของคุณออมมี่ และคุณแบงค์ -ปรีดากร เมรเกรียงชัย Co-Founder แห่งแบรนด์ Gentle RAM บ้าน ที่ตอบโจทย์รสนิยมของทั้งสองที่หลงใหลในความ Timeless และการอยู่อาศัยที่อยู่สบาย เรียบง่าย พร้อมจัดระเบียบชีวิตในบ้านได้อย่างลงตัว บ้านที่ทุกพื้นที่ และทุกฟังก์ชั่นที่ทาง THE OTHERS ผู้ออกแบบได้ขบคิดมาอย่างพิถีพิถันไม่ต่างกับเสื้อผ้าที่เทรลเลอร์เมดให้พอดีกับเจ้าของบ้าน

    EVERYTHING TEAM4 months ago
  • DESIGN/Architecture

    เรียนรู้แนวคิด “Karamarishiro” ปรัชญาทางสถาปัตยกรรมของ Akihisa Hirata สถาปนิกชาวญี่ปุ่นที่ทรงอิทธิพลระดับโลก

    หนึ่งในกิจกรรมจากเวที TOSTEM Asia Design Award (TADA) ซึ่งจัดขึ้นโดย TOSTEM เพื่อเฟ้นหาผลงานสถาปัตยกรรมในเอเชีย ที่มุ่งให้ความสำคัญกับเรื่องของธรรมชาติ ผสานเข้ากับนวัตกรรมการอยู่อาศัยสมัยใหม่ ตอบโจทย์ทั้งผู้ใช้งาน และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อมยั่งยืน ซึ่งนอกจากผู้ชนะรางวัลจะได้ร่วมเดินทางไปรับรางวัลที่ประเทศญี่ปุ่นแล้ว ยังได้พบปะกับ Akihisa Hirata สถาปนิกชาวญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงระดับโลก ที่มาแชร์มุมมองแนวคิดการออกแบบโปรเจกต์ต่าง ๆ ตั้งแต่งาน Installation Art บ้านพักอาศัย จนถึงอาคารสาธารณะ ซึ่งความน่าสนใจนอกเหนือจากเอกลักษณ์ภาษาทางสถาปัตยกรรมที่ถ่ายทอดผ่านฟอร์ม และสเปซที่โดดเด่น และเป็นที่จดจำแล้วนั้น สำคัญคือปรัชญาหลักที่เป็นรากฐานความคิดของ Hirata สู่การพัฒนาเป็นสถาปัตยกรรมน่าทึ่งเหล่านั้น ซึ่งเราจะมาเจาะลึกแนวคิดที่ว่านั้นกัน

    By TOSTEM
    EVERYTHING TEAM5 months ago
  • DESIGN/Architecture

    เจาะลึกแนวคิด 2 ผลงานออกแบบจากภาคเหนือ ที่ชนะรางวัล TOSTEM ASIA DESIGN AWARD 2024

    ผสานบริบทธรรมชาติ สอดรับกับวัฒนธรรมท้องถิ่นได้อย่างลึกซึ้ง พร้อมถ่ายทอดสู่เอกลักษณ์ภาษาทางสถาปัตยกรรม ที่เติมเต็มทั้งสุนทรียศาสตร์ และตอบโจทย์การใช้ชีวิตผู้อยู่อาศัยได้ทุกมิติ คือจุดร่วมหลักของสองผลงานออกแบบบ้านที่ตั้งอยู่ใน 2 จังหวัดทางภาคเหนือ ที่คว้ารางวัล TOSTEM ASIA DESIGN AWARD 2024 (TADA 2024) ในกลุ่มประเภท “Special Mention for Sustainable Living” มาครอง

    By TOSTEM
    EVERYTHING TEAM5 months ago
  • DESIGN/Architecture

    เชื่อมบริบทธรรมชาติของเมือง Hefei สู่จิตวิญญาณของ 3 โชว์รูมเฟอร์นิเจอร์ชั้นนำในจีน ที่ออกแบบโดย HAS design and research

    ขึ้นชื่อว่าเป็นโปรเจกต์ออกแบบโดย HAS design and research ของสองสถาปนิกฝีมือแถวหน้าอย่าง คุณเจอร์รี่ หง (Jenchieh Hung) และคุณป้อ-กุลธิดา ทรงกิตติภักดี (Kulthida Songkittipakdee) แล้วนั้นรับรองว่ามิติที่ลึกซึ้งกว่าเรื่องของฟอร์มอย่างแน่นอน เช่นเดียวกับก่อนหน้านี้ทุกคนต่างทึ่งไปกับงาน“Aluminum Grotto and Public Ground” งานอินสตอลเลชันสุดอลังการที่จัดแสดงในงานสถาปนิก’67 ก็เป็นตัวอย่างของการผสานองค์ประกอบเรื่องของพื้นผิว-พื้นที่-โครงสร้าง-ฟังก์ชั่นให้เป็นหนึ่งเดียว ภายใต้ภาษาทางสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์ และเชื่อมระหว่างภูมิทัศน์ธรรมชาติ ศิลปะเชิงช่าง และวัสดุอุตสาหกรรมได้อย่างน่าตื่นตา มาถึงโปรเจกต์ใหม่ที่เป็นงานออกแบบรีเทลนี้ ทาง HAS ได้พยายามข้ามขนบบางอย่างของการออกแบบพื้นที่เชิงพาณิชย์ทั่วไป เพื่อสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ให้กับผู้ที่ได้ไปเยือน

    EVERYTHING TEAM6 months ago
  • DESIGN/GARAGE

    “PG” by AAd - Ayutt and Associates design Project Garage อาคารการาจและแกลเลอรี่ ที่เหมือนประติมากรรมชิ้นเอกท่ามกลางขุนเขา

    ในหมู่บ้านจัดสรรแห่งหนึ่งในจังหวัดนครราชสีมา ติดกับพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีสถาปัตยกรรมหลังหนึ่งที่ดูคล้ายงานประติมากรรมตั้งเคียงข้างขุนเขา นี่คือ PG หรือย่อมาจาก Project Garage ออกแบบโดย AAd - Ayutt and Associates design นี่ไม่ใช่บ้านพักอาศัย แต่คืออาคารที่ฟอร์มขึ้นจากแพสชั่นของเจ้าของบ้านผู้เป็นนักสะสมทั้งรถยนต์และงานศิลปะ

    EVERYTHING TEAMFebruary 2024
  • DESIGN/RESORT

    “Riva Vista Riverfront Resort” By IDIN Architects รีสอร์ทริมน้ำกก ที่กกกอดธรรมชาติและความเป็นพื้นถิ่น ภายใต้สถาปัตยกรรมร่วมสมัยมุมมองใหม่

    ให้ลองนึกถึงอาหารหนึ่งจานที่มีหลากวัตถุดิบพื้นถิ่นที่เรารู้จักดี แต่เมื่อผ่านการปรุงด้วยเทคนิคที่แตกต่าง ก็เกิดการรังสรรค์อาหารจานใหม่ให้เราพอได้สัมผัสถึงกลิ่นอายบางอย่างที่คุ้นเคย แต่ในขณะเดียวกันก็เผยรูปลักณ์ใหม่ที่ไม่เคยผ่านประสบการณ์รับรู้มาก่อน นี่คือคำเปรียบเผยสำหรับการอธิบายผลงานออกแบบโปรเจกท์ใหม่นี้ของ IDIN Architects ที่เกิดจากแนวคิด Deconstruct ในการนำความร่วมสมัยให้มาอยู่ร่วมกับเอกลักษณ์พื้นถิ่นภาคเหนือของไทย เกิดเป็นงานสถาปัตยกรรมที่สร้างความน่าสนใจใหม่

    EVERYTHING TEAM2 years ago
SIGN UP TO OUR NEWSLETTER
A Monthly update of the new issue from us
THANK YOU FOR YOUR SUBSCRIPTION

We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )