LOOKING ON EVERYTHING ?
EXPLORE ON EVERYTHING

PHTAA LIVING DESIGN คือสำนักงานออกแบบรุ่นใหม่ที่เกิดจากการรวมตัวของ ดีไซเนอร์สามคน P วิทย์ - พลวิทย์ รัตนธเนศวิไล H พลอย - หฤษฎี ลีละยุวพันธ์ T โต๋ - ธนวรรธน์ ปัจฉิมะศิริ และ AA – and association คือสมาชิกที่มีจริตเข้ากันได้มาอยู่ในบริษัท โดยมีที่มาจากการรับงานเล็กๆ กันสองคนระหว่างวิทย์และพลอย ก่อนชวนโต๋ที่เป็นเพื่อนร่วมงานกับพลอยมาตั้งบริษัทเต็มรูปแบบ และสร้างสรรค์ผลงานที่มีการผสมระหว่างดีเอ็นเอของออฟฟิศ และเจ้าของโจทย์ ผ่านเครื่องมือของอินทีเรียและสถาปนิก ออกมาเป็นจุดเชื่อมโยงกันเล็กๆ ระหว่างโครงการ งานที่สร้างชื่อเสียงให้ PHTAA อย่างต่อเนื่องได้แก่ Keaton Tailor, พาวิเลียนในงาน Chiang Mai Design Week, เก้าอี้ Anonymous Chair ในงาน Chiang Mai Design Week, Camp Silom Complex, โชว์รูม Jim Thompson, Rattan Pavilion ในงาน ASA 2019, Blend / Specialty Coffee Bar และ Wondering by Let’s Bake กล่าวได้ว่ามีผลงานการออกแบบหลากหลายขนาด และประเภทซึ่งในโครงการ AUBE จะเป็นผลงานชิ้นแรกที่พวกเขาได้ทำตั้งแต่งานสถาปัตยกรรมจนถึงงานอินทีเรีย อีกทั้งล่าสุดพวกเขายังได้รับรางวัล Finalist Emerging Designer Award 2019 สาขา Interior Design จากเวที Designer of The Year มหาวิทยาลัยศิลปากรอีกด้วย

Photographer:
Tanit Phramthed
Writer:
Nattanart Suprapatanant
Facebook:
PHTAAlivingdesign
Instagram:
phtaalivingdesign


PHTAA สำนักออกแบบรุ่นใหม่กับงานดีไซน์
ที่ไม่จำเป็นต้องตะโกน
บริษัทออกแบบสถาปัตยกรรม และอินทีเรียดีไซน์ย่านอารีย์ที่กำลังมีผลงานน่าจับตาในขณะนี้ PHTAA ซึ่งย่อมาจากชื่อของสามดีไซเนอร์รุ่นใหม่ผู้ก่อตั้ง P พลวิทย์ รัตนธเนศวิไล H หฤษฎี ลีละยุวพันธ์ T ธนวรรธน์ ปัจฉิมะศิริ และ AA จาก And Association โดยชื่อดังกล่าวมาจาก การที่ทั้งสามอยากให้งานที่ออกมาถูกสะท้อนความเป็นตัวตนของพวกเขาในทางใดทางหนึ่ง ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่ทศวรรษ เราจึงได้ถือโอกาสพูดคุยกับทั้งสามถึงทิศทางงานออกแบบที่ พวกเขาอยากให้เป็น ความใส่ใจในการเลือกเพื่อนร่วมงาน รวมทั้งการทำงานกับเหล่านัก ออกแบบยุคมิลเลนเนียล
Aube
ดีเอ็นเอที่สร้างมาจากความใหม่และความเข้ากัน
“ต้องบอกว่าการเลือกคนที่มีความเข้ากันได้เป็นสิ่งที่ทำให้เกิด PHTAA เพราะจุดเริ่มต้นของเราก่อนจะเลือกน้องๆ เราก็เลือกเพื่อนร่วมงานคือพวกเราสามคนก่อน จริงๆ มันก็เหมือนปกติเวลาดีไซเนอร์รับงานที่ใหญ่มากๆแล้วทำคนเดียวไม่ไหวก็เลยมาทำด้วยกันแล้วทำไปเรื่อยๆมันเวิร์กก็เกิดเป็นบริษัทขึ้นมา ซึ่งพวกเรามีความสนใจที่คล้ายกัน มีบรรยากาศที่ทับซ้อนกันแล้วเกิดเป็นพลังงานดีๆ แล้วไม่ว่าทำอะไรมันก็จะไปด้วยกันได้ ซึ่งเรื่องนี้ไปถึงการที่มีลูกค้าที่ชื่นชอบบรรยากาศของตัวพวกเราด้วย ดีเอ็นเอของเราคือความเด็ก คือเราเลือกน้องทุกคนที่ทำงานที่นี่ด้วยความตั้งใจมาก เรามั่นใจในตัวน้องๆ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการทำงาน รสนิยม การพูดคุย ทุกคนที่เรารับมาคือมีความตั้งใจ และซื่อสัตย์ในงานดีไซน์ของตัวเองพอสมควร คือสู้เพื่อความคิดของตัวเองได้ ถึงเราจะแยก โปรเจกท์แต่เวลาเราคุยเสนอไอเดียกันค่อนข้างจะจริงจังมาก เราจะไม่ค่อยปัดตกความคิดคน เช่นว่าเขาเสนอความคิดมาเราจะสนับสนุนความคิดเขาให้ไปต่อแล้วไปได้แค่ไหนก็โอเคเอาเท่าที่ทำได้ ไอเดียหลังระดมความคิดมันก็จะกลมกล่อม ทีนี้มันก็จะมีเรื่องการทำโปรดักชั่นเช่นบางไอเดียอยู่ในภาพสองมิติสามมิติอาจจะไม่สวย แต่พอสร้างจริงแล้วมันสวยมาก เราเลยกลับมาคิดว่าบางทีน้องเขาอาจจะคิดมาดีแล้วแต่ว่าเขาอาจจะหาวิธีการสื่อสารกับเราได้ไม่ดี เราก็จะบอกน้องเสมอว่าเวลาพูดกับเราพูดให้รู้เรื่อง แล้วถ้าเขาสามารถปรับได้ คนเหล่านี้แหละที่จะเป็นดีเอ็นเอของเราในอนาคต”

Aube
แรงบันดาลใจใกล้ตัว งานที่ภูมิใจและสไตล์ที่ถูกต่อยอด
“แรงบันดาลใจของเราในส่วนที่มาจากที่ต่างๆ มันหลากหลายมาก เพราะเราเป็นออฟฟิศที่หลากหลาย แล้วความสนใจทางภาพยนตร์ หรือดนตรี ศิลปะของเรามันก็หลอมรวมมาเป็นตัวเราแต่ละคนอยู่แล้ว ดังนั้นแรงบันดาลใจของเราก็จะมาจากคนรอบๆ ตัวที่สำคัญในชีวิตของเรามากกว่า เพราะถึงจุดนึงแล้วการออกแบบสถาปัตยกรรมนั้นก็คือการออกแบบสถาปัตยกรรม ความชอบส่วนตัวของเราควรจะถูกย่อย และดีไซน์ให้ออกมาตามสเปซอย่างแยบยลมากกว่าจะใส่มาตรงๆ อยู่แล้ว”

“งานที่เราชอบมากๆ ชิ้นหนึ่งในตอนนี้มีชื่อว่า Aubeเป็นสถานจัดงานแต่งงานซึ่งเราคิดว่ามันมีสเปซที่น่าสนใจมากๆ ซึ่งเราคลี่คลายออกมาจากวัฒนธรรมประเพณีการแต่งงานของไทย เช่น การมีงานเช้า งานเย็น การมีแห่ขันหมากซึ่งเราสามารถสร้างซีนที่คนเดินแห่ขันหมากอย่างที่ปรับมาเป็นในยุคสมัยปัจจุบันได้ คือเราสามารถสร้าง Sense of Place ของการแต่งงาน และรักษาความเป็นไทยได้โดยไม่จำเป็นต้องเอาอัตลักษณ์ทุกอย่างมาใช้ ที่สำคัญคือเป็นงานที่เรารู้สึกว่าขลังเพราะมีการปรับแบบน้อยมากจากไอเดียแรกเริ่ม ด้วยความเป็นดีไซเนอร์ที่บางครั้งเราเห็นงานใหม่ๆ ตามหน้าเว็บแล้วเราอยากเอามาใช้ในงานเรา งานนี้ไม่เป็นอย่างนั้นเลย ซึ่งความซื่อสัตย์ต่อแก่นงานสถาปัตยกรรมรวมกับเราอยู่กับโปรเจกท์นี้มานานมันทำให้เราชอบ และภูมิใจในงานชิ้นนี้มากๆ”
“อีกสไตล์ที่เราแอบเห็นในงานเราเองคือบางครั้งเราจะมีภาคต่อเล็กๆ ของเราเอง เช่น ร้านสูทที่ Concept ของเรามาจากการทอผ้าที่ด้านนอกกับด้านในเป็นคนละลายกัน เราก็เอามาประยุกต์กับแมททีเรียลที่แสดงความต่างของด้านนอกด้านใน ซึ่งเราเอาเทคนิคนี้มาใช้กับอีกงานด้วย ซึ่งถ้าสังเกตก็จะเห็นความเกี่ยวเนื่องกันหรืออาจจะไม่เห็นก็ได้”

Blend /
Specialty
Coffee Bar
Wondering
by Let’s Bake
การใช้วัสดุที่แตกต่างกับการสร้างพื้นที่เพื่อตอบโจทย์ลูกค้า
“ถ้าเราเป็นนักวาดภาพประกอบเครื่องมือในการสร้างงานของเราอาจจะเป็นสีชนิดต่างๆ แต่ว่าเราเป็นอินทีเรีย ดีไซเนอร์หรือเป็นสถาปนิกเนี่ยเครื่องมือของเราก็คือการนำวัสดุก่อสร้างมาใช้ยังไงให้งานแต่ละงานเกิดคาแรคเตอร์ในแต่ละงานนั้นนั้น ถ้าสังเกตดีๆ ก็จะเห็นชัดเจนว่าออฟฟิศเรามีการทดลองใช้วัสดุใหม่ๆ อยู่แล้ว แค่เราไม่ได้พูดออกไปเท่านั้นเองเราจะทำในสิ่งที่เราเห็นว่าดีไปเรื่อยๆ โดยไม่บอกจำกัดตัวเองเด็ดขาดว่าทำกับเราจะได้วัสดุใหม่ตลอดเวลา”
“เราพยายามตอบโจทย์ที่ลูกค้าให้มาให้ได้มากที่สุด เป็นเรื่องปกติในสายงานออกแบบซึ่งเกี่ยวกับธุรกิจและแบรนด์ต่างๆ คือมันไม่ควรจะเป็นคาแรคเตอร์ที่เราชอบอย่างเดียว ควรจะมีดีเอ็นเอของเรากับเจ้าของผสมกันเพราะสถานที่ต่างๆ ที่เราสร้างขึ้นมาที่บอกว่าเป็นงานของเรา สุดท้ายมันก็เป็นของเจ้าของอยู่ดี อันนี้สำคัญมากเพราะเราเป็นนักออกแบบเราไม่ใช่ศิลปิน มันมีอยู่เหมือนกันช่วงที่เรายังวัยรุ่นในความอยากสร้างงานที่มันเป็นที่จดจำ พอเราโตขึ้นเราก็เริ่มเข้าใจโลกมากขึ้น เราก็ปรับวิธีคิดให้ตรงกับโจทย์ที่เราได้ให้ออกมาดีที่สุดดีกว่า หลังๆ เวลาที่เราเริ่มคุยกับเจ้าของงานเวลาที่เราดีไซน์เราก็จะไม่ได้พูดถึงในส่วนของดีไซน์ที่เป็นสไตล์หรือหน้าตาของบ้านเป็นอันดับแรกแล้ว แต่เป็นจุดประสงค์การใช้งานหรือข้อจำกัดที่จะเกิดขึ้นในงานมากกว่า ซึ่งสิ่งนี้ก็จะได้ยินสิ่งที่ลูกค้าต้องการด้วย แล้วเราก็จะผลักดันไอเดียของเรา ซึ่งผสมกับการใช้งานของลูกค้าจริงๆ และการใช้งานของมนุษย์จริงๆ แล้วค่อยๆ คลี่คลายดีไซน์ออกมาเอง”



What’s Next ของการรักษาคุณภาพงาน และหาบาลานซ์ของชีวิต
“Next ของ PHTAA คือการรักษาคุณภาพงานดีไซน์ที่เข้มข้นไว้ และทำยังไงให้เราทำงานได้สบายขึ้น เพราะเราก็ต้องอายุมากขึ้นเหมือนกัน อีกอย่างคือการรับคนที่มีดีเอ็นเอแบบเดียวกับเราเข้ามาเพิ่ม เพื่อที่จะขยายขนาดของออฟฟิศเราให้เป็นออฟฟิศขนาดกลางที่ใหญ่กว่านี้หน่อย เพราะมันมีอะไรอีกมากมายที่เราอยากทำแต่ด้วยจำนวนคนในทีมที่เรามีในตอนนี้มันยังไม่พอ ในขณะเดียวกันเราก็อยากรักษาวัฒนธรรมองค์กรของเราให้ได้โดยไม่เสียความเป็นตัวตนของเราไป อีกอย่างที่จะเกิดขึ้นคือ การที่ตอนนี้เราพยายามจะหาวัสดุที่เรามีมาออกแบบให้มันสามารถนำมาใช้จริงได้มากที่สุด”
“ส่วนสิ่งต่อไปที่เรามองในภาพรวมคือการหาสมดุลให้กับการทำงานและชีวิตของทุกๆ คนอันนี้เป็นสิ่งที่เรายังทำในออฟฟิศเราไม่สำเร็จเหมือนกัน อย่างที่เห็นในหน้าข่าวหนังสือพิมพ์ว่าสมัยนี้วัยรุ่นหรือคนรุ่นใหม่อาจจะเกิดภาวะเครียดหรือมีแนวโน้มเป็นโรคซึมเศร้าจำนวนมาก โดยอาจเกิดจากความคาดหวังความกดดันตัวเอง การมีภาระต่างๆ ด้วยออฟฟิศเราที่มีคนรุ่นใหม่จำนวนมาก เราก็พยายามช่วยดูแลตรงนี้ คือถ้าทำงานแล้วจะเครียดก็เครียดได้ เศร้าได้ แต่ต้องอยู่ในสังคมให้ได้ และพยายามหาบาลานซ์ในการทำงานกับใช้ชีวิตในสังคมให้มีความสุข”
PHTAA บริษัทออกแบบรุ่นใหม่กับงานดีไซน์ ที่ไม่จำเป็นต้องตะโกน
/
บ้านหลังแรกที่สร้างขึ้นเองของคุณออมมี่ และคุณแบงค์ -ปรีดากร เมรเกรียงชัย Co-Founder แห่งแบรนด์ Gentle RAM บ้าน ที่ตอบโจทย์รสนิยมของทั้งสองที่หลงใหลในความ Timeless และการอยู่อาศัยที่อยู่สบาย เรียบง่าย พร้อมจัดระเบียบชีวิตในบ้านได้อย่างลงตัว บ้านที่ทุกพื้นที่ และทุกฟังก์ชั่นที่ทาง THE OTHERS ผู้ออกแบบได้ขบคิดมาอย่างพิถีพิถันไม่ต่างกับเสื้อผ้าที่เทรลเลอร์เมดให้พอดีกับเจ้าของบ้าน
/
หนึ่งในกิจกรรมจากเวที TOSTEM Asia Design Award (TADA) ซึ่งจัดขึ้นโดย TOSTEM เพื่อเฟ้นหาผลงานสถาปัตยกรรมในเอเชีย ที่มุ่งให้ความสำคัญกับเรื่องของธรรมชาติ ผสานเข้ากับนวัตกรรมการอยู่อาศัยสมัยใหม่ ตอบโจทย์ทั้งผู้ใช้งาน และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อมยั่งยืน ซึ่งนอกจากผู้ชนะรางวัลจะได้ร่วมเดินทางไปรับรางวัลที่ประเทศญี่ปุ่นแล้ว ยังได้พบปะกับ Akihisa Hirata สถาปนิกชาวญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงระดับโลก ที่มาแชร์มุมมองแนวคิดการออกแบบโปรเจกต์ต่าง ๆ ตั้งแต่งาน Installation Art บ้านพักอาศัย จนถึงอาคารสาธารณะ ซึ่งความน่าสนใจนอกเหนือจากเอกลักษณ์ภาษาทางสถาปัตยกรรมที่ถ่ายทอดผ่านฟอร์ม และสเปซที่โดดเด่น และเป็นที่จดจำแล้วนั้น สำคัญคือปรัชญาหลักที่เป็นรากฐานความคิดของ Hirata สู่การพัฒนาเป็นสถาปัตยกรรมน่าทึ่งเหล่านั้น ซึ่งเราจะมาเจาะลึกแนวคิดที่ว่านั้นกัน
By TOSTEM/
ผสานบริบทธรรมชาติ สอดรับกับวัฒนธรรมท้องถิ่นได้อย่างลึกซึ้ง พร้อมถ่ายทอดสู่เอกลักษณ์ภาษาทางสถาปัตยกรรม ที่เติมเต็มทั้งสุนทรียศาสตร์ และตอบโจทย์การใช้ชีวิตผู้อยู่อาศัยได้ทุกมิติ คือจุดร่วมหลักของสองผลงานออกแบบบ้านที่ตั้งอยู่ใน 2 จังหวัดทางภาคเหนือ ที่คว้ารางวัล TOSTEM ASIA DESIGN AWARD 2024 (TADA 2024) ในกลุ่มประเภท “Special Mention for Sustainable Living” มาครอง
By TOSTEM/
ขึ้นชื่อว่าเป็นโปรเจกต์ออกแบบโดย HAS design and research ของสองสถาปนิกฝีมือแถวหน้าอย่าง คุณเจอร์รี่ หง (Jenchieh Hung) และคุณป้อ-กุลธิดา ทรงกิตติภักดี (Kulthida Songkittipakdee) แล้วนั้นรับรองว่ามิติที่ลึกซึ้งกว่าเรื่องของฟอร์มอย่างแน่นอน เช่นเดียวกับก่อนหน้านี้ทุกคนต่างทึ่งไปกับงาน“Aluminum Grotto and Public Ground” งานอินสตอลเลชันสุดอลังการที่จัดแสดงในงานสถาปนิก’67 ก็เป็นตัวอย่างของการผสานองค์ประกอบเรื่องของพื้นผิว-พื้นที่-โครงสร้าง-ฟังก์ชั่นให้เป็นหนึ่งเดียว ภายใต้ภาษาทางสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์ และเชื่อมระหว่างภูมิทัศน์ธรรมชาติ ศิลปะเชิงช่าง และวัสดุอุตสาหกรรมได้อย่างน่าตื่นตา มาถึงโปรเจกต์ใหม่ที่เป็นงานออกแบบรีเทลนี้ ทาง HAS ได้พยายามข้ามขนบบางอย่างของการออกแบบพื้นที่เชิงพาณิชย์ทั่วไป เพื่อสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ให้กับผู้ที่ได้ไปเยือน
/
กลายเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ในซอยจ่าโสด เมื่อเราได้พบกับอาคารสถาปัตยกรรมโมเดิร์นเรียบเท่ที่เต็มไปด้วยไดนามิคของเส้นสาย ส่วนคว้านโค้งซึ่งออกแบบมาเพื่อฟังก์ชั่น และเพื่อแสงธรรมชาติ เป็นอาคารโทนสีขาวสะอาดตาแต่ทำให้เราไม่อาจละสายตา กับเอกลักษณ์ดีไซน์ของอาคารที่ทอดตัวยาวพร้อมมีประภาคารเล็ก ๆ นี่คือ SANS STUDIO BANGKOK สตูดิโอแห่งใหม่ที่ก่อตั้งขึ้นโดยเจ้าของผู้สนใจในงานสถาปัตยกรรมและศิลปะการถ่ายภาพ หลังจากเรียนจบมาจากฝรั่งเศส โดยให้เป็นสตูดิโอที่รองรับงานถ่ายภาพ โปรดัคชั่น จนถึงอีเวนต์ ที่ได้ทาง PHTAA LIVING DESIGN มาเป็นบริษัทสถาปนิกออกแบบให้
/
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นคณะสถาปัตยกรรมแห่งแรกของประเทศไทย ที่มีการเปิดให้เรียนในหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรมศาสตร์ ก่อตั้งโดย อาจารย์นารถ โพธิประสาท ในปี พ.ศ. 2476 และมีการเปิดใช้ตึกคณะสถาปัตยกรรมครั้งแรกในปี พ.ศ. 2484 จนต่อมาในปี พ.ศ. 2485 ภายใต้รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มี “ประกาศปรับปรุงอักสรไทย” ขึ้นเพื่อให้การสะกดคำในภาษาไทยกะทัดรัดและลดความซ้ำซ้อนของตัวอักษรลง ชื่อคณะสถาปัตยกรรม จึงถูกเปลี่ยนแปลงและใช้ชื่อว่า คณะสถาปัตยกัม อยู่นานถึงสองปี ก่อนจะมีการกลับมาใช้ชื่อเดิมอีกครั้ง (หลังจบสงคราม) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2487 เป็นต้นไป
We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )