LOOKING ON EVERYTHING ?
EXPLORE ON EVERYTHING
นิทรรศการศิลปะที่นำพาผู้ชมเข้าสู่อาณาเขตอันลี้ลับน่าพิศวง
จากวิสัยทัศน์อันลึกล้ำของ Pierre Huyghe

ในช่วงเวลาที่เราเดินทางไปดูงานมหกรรมศิลปะนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ 2024 ที่เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี เรายังมีโอกาสได้ชมอีกนิทรรศการที่มีความโดดเด่นเป็นสง่าไม่แพ้งานที่จัดในพื้นที่แสดงงานหลักของเวนิส เบียนนาเล่ เลยแม้แต่น้อย
นิทรรศการที่ว่านี้มีชื่อว่า Liminal โดย ปิแยร์ ฮวีก (Pierre Huyghe) ศิลปินชาวฝรั่งเศสผู้ทำงานศิลปะที่ท้าทายขนบทางศิลปะเดิมๆ และกระตุ้นความคิดของผู้ชมผ่านสื่อต่างๆ หลากหลาย ผลงานของเขามีความโดดเด่นในการลบเลือนเส้นแบ่งระหว่างเรื่องจริงและเรื่องแต่งในจินตนาการ และมักสำรวจประเด็นเกี่ยวกับความทรงจำ อัตลักษณ์ และความเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ เขาจึงมักสร้างผลงานศิลปะที่มีชีวิต ด้วยการประกอบกันของสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรังผึ้ง, สัตว์ทะเล, สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ฯลฯ เพื่อขับเน้นความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตกับสิ่งแวดล้อม
ผลงานของ ปิแยร์ ฮวีก มักถูกนำเสนอในรูปแบบของระบบอันซับซ้อนของสิ่งมีชีวิต, อินทรีย์วัตถุ หรืออนินทรีย์วัตถุที่ไม่มีชีวิต และเทคโนโลยีต่างๆ ที่ต่างก็มีปฏิสัมพันธ์พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันในสภาพแวดล้อมอันละเอียดอ่อน เปี่ยมความรู้สึก ที่ใช้ทั้งพื้นที่และเวลาเป็นส่วนประกอบอันสำคัญอย่างยิ่งในการนำเสนอผลงาน


Liminal เป็นนิทรรศการแสดงเดี่ยวโดย ปิแยร์ ฮวีก ร่วมกับภัณฑารักษ์ อานน์ สเตนน์ (Anne Stenne) ที่นำเสนอผลงานสร้างสรรค์ชุดใหม่ เคียงคู่ไปกับผลงานตลอดช่วงเวลาสิบปีที่ผ่านมาของเขา ภายในพิพิธภัณฑ์ Punta della Dogana โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลงานที่สะสมโดย Pinault Collection ของนักสะสมชาวฝรั่งเศส ฟรองซัว ปิโนลต์ (François Pinaul) ที่น่าสนใจก็คือ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นอาคารศุลกากรเก่าแก่ ที่มีการตกแต่งปรับปรุงตัวอาคารใหม่ให้ทันสมัยขึ้นโดยสถาปนิกชาวญี่ปุ่นอย่าง ทาดาโอะ อันโด (Tadao Ando) ภายใต้การสนับสนุนของปิโนลต์นั่นเอง
ในนิทรรศการ Liminal ปิแยร์ ฮวีก เปลี่ยนพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์ Punta della Dogana ให้กลายเป็นสภาพแวดล้อมอันน่าพิศวง จากการหลอมรวมของมนุษย์ สิ่งมีชีวิตแปลกๆ หลากสายพันธุ์ และเทคโนโลยีอันล้ำสมัย ที่มีการวิวัฒนาการ, ผสมข้ามสายพันธุ์ และสร้างตัวตนขึ้นใหม่ตลอดเวลา และแสดงตัวตนเพื่อท้าทายประสาทสัมผัสทั้งห้า รวมถึงสติปัญญาและสัญชาตญาณของผู้ชม ภายใต้บรรยากาศอันมืดมัวสลัวราง คล้ายกับดินแดนสนธยา

สำหรับปิแยร์ ฮวีก นิทรรศการนี้เป็นเหมือนพิธีกรรมอันคาดเดาไม่ได้ ที่ซึ่งความเป็นไปได้ใหม่ๆ ถือกำเนิด และอาศัยอยู่ร่วมกันโดยไม่มีลำดับชั้นหรือแบบแผนที่ตายตัว ด้วยนิทรรศการนี้ เขาเปลี่ยนการรับรู้ในโลกแห่งความเป็นจริงของเราให้กลายเป็นปริศนา สร้างความรู้สึกเคว้งคว้างวังเวงจนน่าขนลุก แต่ในขณะเดียวกันก็เปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ดึงดูดใจอย่างน่าประหลาด
เมื่อเราเดินเข้าไปภายในประตูของพิพิธภัณฑ์ Punta della Dogan เราพบกับผลงานในห้องแรกของนิทรรศการอย่าง Liminal (2024) ท่ามกลางความมืดมิดของพื้นที่แสดงงานรอบข้าง มีจอภาพยนตร์ขนาดมหึมาจัดวางอยู่ บนจอฉายภาพมนุษย์เพศหญิงร่างกายเปลือยเปล่า ที่น่าประหลาดคือบนใบหน้าของเธอมีรูดำมืดลึกลงไปข้างในศีรษะกลวงเปล่า ไร้ใบหน้า ไร้กระโหลกศีรษะ หรือแม้แต่ไร้สมองอยู่ภายใน มนุษย์ไร้ใบหน้าผู้นี้ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวร่างกาย และเดินท่องไปรอบๆ พื้นที่ราบอันว่างเปล่ากว้างไกลไม่มีที่สิ้นสุด ราวกับเป็นพื้นผิวของดาวเคราะห์รกร้างในจักรวาลอันไกลโพ้น
ผลงานภาพยนตร์จัดวางชิ้นนี้ ใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์อันล้ำยุค สร้างภาพเคลื่อนไหวอันเหนือจริงอย่างน่าพิศวงออกมาได้อย่างสมจริง คล้ายกับความรู้สึกเวลาที่เราได้ดูภาพยนตร์ไซไฟ แต่เพิ่มความแปลกประหลาดพิสดารไร้ตรรกะเกินคาดเดาเข้าไปอีกหลายร้อยเท่า ที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็คือภาพยนตร์ทดลองเรื่องนี้บันทึกภาพและดำเนินเรื่องตามเวลาจริง โดยพฤติกรรมของตัวละครในจอจะตอบสนองและมีปฏิสัมพันธ์กับพฤติกรรมของผู้ชมที่อยู่ภายในสภาพแวดล้อมของห้องแสดงงาน หรือแม้แต่สิ่งเร้าจากภายนอก ผ่านการตรวจจับของเซ็นเซอร์ภายในพิพิธภัณฑ์ และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปเรื่อยๆ อย่างไม่รู้จบ (ล้ำโคตรๆ)


ท่ามกลางความมืดมิดในห้องเดียวกัน เมื่อเราปรับสายตาให้ชินกับสภาพแวดล้อมภายในห้องแล้ว เราก็พบกับผลงานอีกชิ้นอย่าง Estelarium (2024) ประติมากรรมหน้าตาประหลาดที่ได้แรงบันดาลใจจากรูปทรงของท้องมนุษย์ตั้งครรภ์ที่ขยายเบ่งพองก่อนที่จะคลอดลูก ประติมากรรมหล่อจากหินบะซอลต์ ที่เกิดจากลาวาร้อนหลอมเหลวผุดทะลักขึ้นมาบนเปลือกโลก ราวกับจะล้อการถือกำเนิดของมนุษย์

หลังจอขนาดมหึมาเราเจอกับผลงาน Portal (2024) ประติมากรรมหน้าตาประหลาดที่ดูคล้ายเสาส่งสัญญาณ ราวกับจะสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลกับมนุษย์ไร้ใบหน้าในจอภาพยนตร์เบื้องหลัง


บนพื้นของห้องแสดงงาน ยังมีผลงาน Idiom (2024) ประติมากรรมหน้ากากแอลอีดีเรืองแสงสีทองอร่าม ที่สร้างเสียงแบบเรียลไทม์จากการสังเคราะห์ของ AI ออกมาเป็นภาษาแปลกประหลาดอันไม่อาจระบุที่มา โดยมีเซ็นเซอร์ตรวจจับที่จะส่งเสียงออกมาเมื่อสัมผัสการเคลื่อนไหวของผู้ชมรอบข้าง นอกจากหน้ากากที่ว่านี้จะถูกจัดแสดงบนพื้นห้องแสดงงานแรกแล้ว ยังถูกสวมใส่โดยเหล่าบรรดานักแสดงผู้แทรกตัวปะปนกลมกลืนไปกับผลงานศิลปะและพื้นที่แสดงงานอย่างแนบเนียนนิ่งงัน จนทำให้เราอดคิดไม่ได้ว่าพวกเขาเป็นประติมากรรมรูปคนที่จัดแสดงอยู่ กระทั่งพวกเขาขยับเขยื้อนร่างกายและเดินไปเดินมาสู่แทบทุกห้องของนิทรรศการนั่นแหละ ที่ทำให้เรารับรู้อย่างประหลาดใจ ว่านี่มันคนจริงๆ นี่หว่า! แถมท่าทางการเคลื่อนไหวอันเชื่องช้า และเสียงประหลาดของ AI ที่ส่งออกมาจากหน้ากากบนใบหน้าของนักแสดงเหล่านี้ ก็ทำให้เราอดนึกไม่ได้ว่า หรือพวกเขาจะเป็นหุ่นยนต์หรือสิ่งมีชีวิตปัญญาประดิษฐ์จากโลกอนาคตกันแน่?

ต่อด้วยผลงานในห้องแสดงงานที่สองอย่าง Untitled (Human Mask) (2014) ภาพยนตร์สั้นเชิงทดลอง ที่นำเสนอเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่รกร้างของเมืองฟูกูชิมะในญี่ปุ่น อันเป็นผลกระทบจากเหตุการณ์ภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟูกูชิมะแห่งที่หนึ่ง ท่ามกลางบรรยากาศอันเงียบเหงาวังเวง สิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่ดูคล้ายเด็กเล็กๆ สวมหน้ากากมนุษย์ที่ดูคล้ายหน้ากากละครโน (Nō) บนศีรษะสวมวิกผมยาวคล้ายหญิงสาว และสวมเสื้อผ้าของมนุษย์บนร่างกาย
เมื่อสังเกตดูดีๆ สิ่งมีชีวิตที่ว่านี้ก็คือลิงนั่นเอง แต่ลิงที่ว่านี้ไม่ใช่ลิงธรรมดา เพราะมันแสดงบทบาทได้แนบเนียนคล่องแคล่ว ราวกับเป็นนักแสดงจริงๆ เลยก็ว่าได้ อันที่จริงลิงที่ว่านี้ก็คือลิงที่ถูกฝึกฝนให้คอยรับใช้เสิร์ฟอาหารให้แก่มนุษย์ในภัตตาคารญี่่ปุ่นที่เรียกว่า “ลิงรับใช้” (Monkey servant) นั่นเอง (ถ้าจินตนาการไม่ออก ให้ลองนึกถึงลิงเก็บมะพร้าวในจังหวัดแถวภาคใต้ หรือ ประกิต ลิงนักแสดงแสนรู้ที่เคยโด่งดังในบ้านเราเมื่อหลายปีที่ผ่านมาเอาก็ได้)
ลิงที่สวมหน้ากาก วิกผม และเสื้อผ้ามนุษย์ตัวนี้กำลังทำกิจกรรมซ้ำๆ ซากๆ ในการรับใช้ลูกค้าที่ไร้ตัวตนในร้านอาหารร้างในเมือง มันสวมเสื้อผ้าของมนุษย์ ดุจเป็นผู้รอดชีวิตเพียงหนึ่งเดียว ผู้ทำกิจวัตรที่ว่านี้ราวกับเป็นหุ่นยนต์ที่ถูกโปรแกรมมาให้ทำหน้าที่นี้ไปตลอดกาล หรือไม่ก็อาจจะทำไปตามสัญชาตญาณของสัตว์ที่ถูกทอดทิ้ง จนต้องติดกับอยู่ในวังวนของอดีตอย่างไม่อาจถอนตัว
ห้วงเวลาอันน่าพิศวงในภาพยนตร์ทดลองเรื่องนี้อาจเป็นการนำเสนอยุคสมัยของ แอนโทรโพซีน (Anthropocene) หรือช่วงเวลาที่มนุษย์สร้างผลกระทบให้กับโลกอย่างไม่มีวันหวนคืน ทั้งการเผชิญหน้ากับภัยพิบัตินิวเคลียร์ ความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม ตัวละครลิงสวมหน้ากากที่ดูเหมือนเป็นสิ่งมีชีวิตตัวสุดท้ายที่หลงเหลืออยู่บนโลก ที่ทำกิจกรรมเลียนแบบมนุษย์ซ้ำๆ ซากๆ อาจจะเป็นการบอกใบ้ถึงชะตากรรมของมนุษยชาติ ไม่ต่างอะไรกับสถานการณ์ที่เราเคยดูในภาพยนตร์ Planet of the Apes ก็เป็นได้
อนึ่ง ผลงานชิ้นนี้ถูกนำมาจัดแสดงในมหกรรมศิลปะไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย 2023 ในบ้านเราด้วย
ตามด้วยผลงานในห้องแสดงงานสามและสี่ ที่ทำให้เรารู้สึกเหมือนหลุดเข้าไปในอควาเรียมต่างดาวอันน่าพิศวง ด้วยตู้กระจกอควาเรียมจัดแสดงสภาพแวดล้อมใต้มหาสมุทร ที่เต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลลึกหน้าตาแปลกประหลาด ทั้งผลงาน Zoodram 6 (2013) กับสภาพแวดล้อมโขดหินใต้ทะเล ซึ่งเป็นที่อยู่ของปูเสฉวนยักษ์ ผู้อาศัยอยู่ในเปลือกหอยที่สร้างจากประติมากรรมหน้ากากมนุษย์ Sleeping Muse (1910) ของ คอนสแตนติน บรังคูซี (Constantin Brâncuși) ราวกับเป็นการสร้างบทสนทนาระหว่างสิ่งมีชีวิตต่างสายพันธุ์

หรือผลงาน Abyssal Plane (2015) อันมีที่มาจากโครงการ Abyssal Plane, Geometry of the Immortals (2015) ศิลปะจัดวางที่จำลองสภาพแวดล้อมใต้ทะเลลึก และสิ่งมีชีวิตจากก้นทะเลมาร์มะรา ใกล้กับตุรกี ด้วยประติมากรรมคอนกรีตรูปร่างกายมนุษย์ขาดครึ่งตัวจมอยู่ใต้ก้นทะเล และกลายเป็นที่อาศัยของ ดาวทะเล สิ่งมีชีวิตที่สามารถงอกองคาพยพของร่างกายที่เสียหายขึ้นมาใหม่ ราวกับจะเป็นการล้อความไม่สมประกอบของร่างกายมนุษย์ในประติมากรรมชิ้นนี้ยังไงยังงั้น

และผลงาน Circadian Dilemma (El Día del Ojo) (2017) ที่จำลองถ้ำใต้ทะเลลึกในเม็กซิโก ที่อยู่ของปลา Mexican tetra ที่อาศัยอยู่ในถ้ำใต้ทะเลอันมืดมิดมาหลายล้านปี จนค่อยๆ กลายพันธุ์และสูญเสียการมองเห็นในที่สุด เป็นเหตุให้มันถูกเรียกว่า “ปลาตาบอด” ชื่อของผลงานชุดนี้อ้างอิงถึง นาฬิกาชีวภาพ (circadian rhythm) หมายถึง ลักษณะทางชีววิทยาในช่วงเวลาตลอด 24 ชั่วโมงของสิ่งมีชีวิตที่เกิดการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเพื่อควบคุมการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ที่พบในสัตว์ เห็ด รา และแบคทีเรีย ในตู้อวาเรียมนี้ยังมีทั้งปลา Mexican tetra ที่ทั้งตาบอดและตาไม่บอดอาศัยอยู่ร่วมกัน รวมถึงดอกไม้ทะเล ภายในตู้ยังมีการปรับสภาพแวดล้อมให้มีความมืดและสว่างตามจังหวะของอัลกอริทึมจากข้อมูลของสภาวะภายในตู้ เพื่อเล่นกับวิวัฒนาการในการมองไม่เห็นหรือมองเห็นของปลาทั้งสองชนิดที่อยู่ร่วมกัน


หรือผลงาน Cambrian Explosion 19 (2013) กับตู้อวาเรียมที่บรรจุแท่งหินรูปทรงภูเขากลับหัว วางต้านแรงโน้มถ่วงภายในตู้ ทำหน้าที่เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ใต้ทะเลสองสายพันธุ์ที่มีชีวิตอยู่ในยุคดึกดำบรรพ์ในช่วงเวลาระหว่างการระเบิดทางชีวภาพยุคแคมเบรียน (Cambrian explosion) เมื่อ 540 ล้านปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สิ่งมีชีวิตที่มีความหลากหลายเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน สิ่งมีชีวิตโบราณที่ว่านี้ยังอยู่ในสภาพดั้งเดิมและมีพฤติกรรมตามสัญชาตญาณดั้งเดิมในยุคดึกดำบรรพ์ ไม่ต่างอะไรกับฟอสซิลมีชีวิตอันเป็นหลักฐานของการวิวัฒนาการของธรรมชาติผ่านกาลเวลาอันยาวนาน
***อ้อ ถ้าใครกังวลใจเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยของเหล่าบรรดาสัตว์น้ำที่อยู่ในผลงานศิลปะชุดนี้ ก็วางใจได้ว่าทางศิลปินและพิพิธภัณฑ์นั้นให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพและความปลอดภัยของสัตว์เหล่านี้อย่างมาก โดยสัตว์น้ำเหล่านี้จะได้รับการดูแลให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมตามธรรมชาติ ผ่านการดูแลตรวจสอบโดยละเอียดจากบุคลากรของพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำอย่างต่อเนื่อง หลังจากจบนิทรรศการ สัตว์น้ำเหล่านี้จะถูกนำไปไว้ในแหล่งที่อยู่อาศัยตามความเหมาะสมในการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำแต่ละชนิดในที่สุด


ต่อด้วยผลงานในห้องที่ห้าอย่าง Camata (2024) ภาพยนตร์ทดลองที่ตัดต่อโดยระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ตามเวลาจริงที่ดำเนินเรื่องไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีจุดจบ โดยนำเสนอภาพเคลื่อนไหวของเครื่องจักรกลอัตโนมัติ ที่ประกอบกิจกรรมบางอย่างบนโครงกระดูกของเด็กวัยรุ่น ท่ามกลางทะเลทรายอาตากามา ทะเลทรายที่เก่าแก่และแห้งแล้งที่สุดในโลกในประเทศเปรูและชิลี
ข้ามไปห้องที่เจ็ด กับผลงานที่เราคิดว่าโดดเด่นน่าตื่นตาตื่นใจที่สุดในนิทรรศการนี้อย่าง Offspring (2018) ศิลปะจัดวางเครื่องกลไกอัตโนมัติที่สร้างแสง สี เสียง และหมอกควัน ที่ควบคุมและสร้างบรรยากาศภายในสภาพแวดล้อมของห้องผ่านระบบเซ็นเซอร์ของ AI ที่ทำงานด้วยตัวเองอย่างอัตโนมัติ เมื่อผนวกกับนักแสดงผู้สวมประติมากรรมหน้ากากแอลอีดีเรืองแสง Idiom ที่เข้ามานั่งและขยับเขยื้อนร่างกายอย่างเชื่องช้านิ่งงัน ภายในบรรยากาศอันน่าพิศวงในห้อง ทำให้ผู้ชมอย่างเรารู้สึกราวกับหลุดเข้าไปอยู่ในภาพยนตร์ไซไฟอันพิลึกพิลั่นก็ไม่ปาน

และผลงานในห้องที่แปดอย่าง De-extinction (2024) ภาพยนตร์สั้นที่สำรวจวัสดุธรรมชาติอย่าง อำพัน ซากดึกดำบรรพ์ของยางไม้ที่อัดแน่นจนกลายเป็นก้อนอัญมณี กับภาพของแมลงที่กำลังผสมพันธุ์กันที่ถูกแช่แข็งผ่านกาลเวลานับล้านปีภายในก้อนอำพัน ที่ถ่ายทำด้วยกล้องระบบมาโครและกล้องจุลทรรศน์ จนทำให้ก้อนอำพันธรรมดาดูอลังการตระการตาอย่างน่าประหลาด
ปิดท้ายด้วยห้องที่เก้าที่โดดเด่่นน่าตื่นใจไม่แพ้กัน ด้วยการถมพื้นห้องโถงอันกว้างใหญ่ด้วยมวลดินอัดแน่น ราวกับเรากำลังเหยียบย่ำเข้าไปในถ้ำโบราณกลางป่าลึก ภายในห้องมีจอขนาดใหญ่ ฉายผลงาน UUmwelt - Anniee (2018-2024) วิดีโอจัดวางที่นำเสนอภาพเคลื่อนไหวที่เป็นตัวแทนของภาพในจิตมนุษย์ที่สร้างขึ้นจากระบบประมวลผลของสมองกล โดยได้ข้อมูลจากเซ็นเซอร์ตรวจจับและจดจำใบหน้าของผู้มาเยี่ยมชมนิทรรศการ และปัจจัยภายนอก เช่น สภาวะอากาศ หรือพฤติกรรมทางชีวภาพของผึ้ง, มด, สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และแบคทีเรีย ประกอบสร้างเป็นภาพเคลื่อนไหวที่หลอมรวมข้อมูลต่างๆ นำเสนอออกมาในเวลาจริงและแปรเปลี่ยนไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
นี่ยังไม่นับรวมผลงานอีกหลายชิ้นในนิทรรศการ ที่แปลกประหลาดและก้าวล้ำไปไกล จนเราไม่รู้จะบรรยายออกมาเป็นคำพูดได้อย่างไรดีอีกด้วย
เมื่อเราได้ชมผลงานทั้งหลายทั้งปวงในนิทรรศการครั้งนี้แล้ว ทำให้อดรู้สึกไม่ได้ว่า ถึงแม้นิทรรศการนี้จะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของมหกรรมศิลปะ เวนิส เบียนนาเล่ 2024 ในคราวนี้ ไม่แม้แต่จะเป็นส่วนหนึ่งของ Collateral Events (นิทรรศการนอกพื้นที่แสดงงานหลัก) หากแต่ Liminal ก็เป็นหนึ่งในนิทรรศการที่ยอดเยี่ยมที่สุดที่จัดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน และเป็นนิทรรศการที่โดดเด่นโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งบารมีของเวนิส เบียนนาเล่ เลยแม้แต่น้อย เพราะนี่เป็นนิทรรศการเดียวที่นำพาเราไปสู่อาณาเขตอันลี้ลับน่าพิศวง ราวกับหลุดเข้าไปสู่โลกต่างมิติ และถึงแม้เราจะไม่เข้าใจความหมายของผลงานเหล่านี้ทั้งหมด แต่เราก็สัมผัสถึงวิสัยทัศน์และความคิดอันก้าวล้ำนำหน้าของศิลปินอย่าง ปิแยร์ ฮวีก และภัณฑารักษ์ อานน์ สเตนน์ ได้อย่างชัดเจนและทรงพลังอย่างยิ่ง.
ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน - 24 พฤศจิกายน 2024 นิทรรศการได้รับความร่วมมือจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะ Leeum ในกรุงโซล ซึ่งจะจัดแสดงนิทรรศการนี้ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2025
ข้อมูล
นิทรรศการ Liminal พิพิธภัณฑ์ Punta della Dogana
https://www.pinaultcollection.com/palazzograssi/en/pierre-huyghe-liminal
Liminal นิทรรศการศิลปะที่นำพาผู้ชมเข้าสู่อาณาเขตอันลี้ลับน่าพิศวง จากวิสัยทัศน์อันลึกล้ำของ Pierre Huyghe
/
ในอดีตที่ผ่านมา ในแวดวงศิลปะ(กระแสหลัก)ในบ้านเรา มักมีคํากล่าวว่า ศิลปะไม่ควรข้องแวะกับ การเมือง หากแต่ควรเป็นเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึก ความงาม สุนทรียะ และจิตวิญญาณภายในอัน ลึกซึ้งมากกว่า แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าจะในยุคสมัยไหน ศิลปะไม่เคยแยกขาดออกจาก การเมืองได้เลย ไม่ว่าจะในยุคโบราณ ที่ศิลปะถูกใช้เป็นเครื่องมือรับใช้ชนชั้นสูงและผู้มีอํานาจ หรือใน ยุคสมัยใหม่ที่ศิลปะถูกใช้เป็นเครื่องมือแสดงออกถึงอุดมการณ์ทางสังคมการเมือง หันมามองในบ้าน เราเอง ก็มีศิลปินไทยหลายคนก็ทํางานศิลปะทางการเมืองอย่างต่อเนื่องยาวนาน ในการสะท้อนและ บันทึกประวัติศาสตร์การเมืองไทยได้อย่างเข้มข้น จริงจัง
/
เหตุการณ์นี้เป็นอุทาหรณ์ให้เรารู้ว่า การก๊อปปี้ก็ไม่ได้เลวร้ายเสมอไป เพราะอย่างน้อยที่สุด ก็ทําให้ เราได้รู้ว่าผลงานต้นฉบับของจริงในช่วงเวลาที่เสร็จสมบูรณ์นั้นมีความดีงามขนาดไหน ไม่ต่างอะไรกับศิลปินร่วมสมัยสัญชาติไทยอย่าง วิชิต นงนวล ที่หลงใหลศรัทธาในผลงานของศิลปิน ระดับปรมาจารย์ในยุคสมัยใหม่ของไทยอย่าง จ่าง แซ่ตั้ง ตั้งแต่ครั้งยังเยาว์ ในวัยของนักเรียน นักศึกษา เรื่อยมาจนเติบโตเป็นศิลปินอาชีพ ความหลงใหลศรัทธาที่ว่าก็ยังไม่จางหาย หากแต่เพิ่มพูน ขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดก็สุกงอมออกดอกผลเป็นผลงานศิลปะในนิทรรศการ The Grandmaster : After Tang Chang ที่เป็นเสมือนหนึ่งการสร้างบทสนทนากับศิลปินระดับปรมาจารย์ผู้นี้
/
“ยูบาซาโตะ เดินผ่านตามแนวต้นสนขึ้นไปบนภูเขาศักดิ์สิทธิ์ เพื่อไปก่อสร้างสถูปดิน และมักจะโดน ทีมงานช่างบ่นทุกวันเกี่ยวกับการก่อสร้าง ที่มีเวลาอยู่อย่างจํากัด เขาเพียงได้แต่ตอบไปว่า .. บุญกุศล นําพาและเวลามีเท่านี้ ขอให้ทําสิ่งดีๆ ให้เต็มที่ ต่อสถานที่บนภูเขานี้เถอะ อย่าบ่นไปเลย เราอาจจะ พบกันแค่ประเดี๋ยวเดียว แต่สิ่งเหล่านี้จะอยู่ต่อไปอีกหลายร้อยปี ... ทีมงานทุกคนเพียงส่งรอยยิ้มที่ เหนื่อยล้ากลับมา ก็เพราะต้องทนร้อนทนแดด และเปียกฝนสลับกันไป จากสภาวะโลกเดือด ที่ทุกคน ต่างพูดถึง แต่ก็จะมาจากใคร ก็จากเราเองกันทั้งนั้น ... แม้จะมาทํางานบนภูเขาก็จริง แต่เขาก็ยังคง คิดถึงเหตุการณ์ภัยน้ําท่วมดินโคลนถล่มที่ผ่านมา อีกทั้งความเสียหายต่อข้าวของที่ต้องย้ายออกจาก บ้านเช่าและค่าใช้จ่ายหลังน้ําท่วมที่ค่อนข้างเยอะพอควร และยิ่งในสภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจแบบนี้...
/
หากเราเปรียบสงคราม และอาชญากรรมที่กระทำต่อมนุษย์ อย่างการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การสังหารหมู่ และการล่าอาณานิคม เป็นเหมือนการสร้างบาดแผลและความแตกร้าวต่อมวลมนุษยชาติ ศิลปะก็เป็นหนทางหนึ่งในการเยียวยาซ่อมแซมบาดแผลและความแตกร้าวเหล่านั้น แต่การเยียวยาซ่อมแซมก็ไม่จำเป็นต้องลบเลือนบาดแผลและความแตกร้าวให้สูญหายไปเหมือนไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น หากแต่การเหลือร่องรอยแผลเป็นและรอยแตกร้าวที่ถูกประสาน ก็เป็นเสมือนเครื่องรำลึกย้ำเตือนว่า สิ่งเหล่านี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว และไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้นอีกซ้ำเป็นครั้งที่สอง เช่นเดียวกับสิ่งที่ปรากฏในนิทรรศการ “Urgency of Existence” นิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งแรกในเอเชียของ คาแดร์ อัทเทีย (Kader Attia) ศิลปินชาวฝรั่งเศส - แอลจีเรีย ผู้มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ เขาเป็นหัวหอกในการทำงานศิลปะผ่านสื่ออันแตกต่างหลากหลาย ที่นำเสนอแนวคิดหลังอาณานิคม และการปลดแอกอาณานิคม จากมุมมองของตัวเขาเอง ที่มีประสบการณ์ทางตรงและทางอ้อมของผู้ที่เคยถูกกดขี่และถูกกระทำจากลัทธิล่าอาณานิคมในศตวรรษที่ผ่านมา
/
ในช่วงปลายปี 2024 นี้ มีข่าวดีสำหรับแฟนๆ ศิลปะชาวไทย ที่จะได้มีโอกาสชมผลงานศิลปะร่วมสมัยของเหล่าบรรดาศิลปินทั้งในประเทศและระดับสากล ยกขบวนมาจัดแสดงผลงานกันในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 แล้ว โดยในเทศกาลศิลปะครั้งนี้นำเสนอผลงานศิลปะจาก 76 ศิลปิน 39 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ภายใต้ธีมหลัก “รักษา กายา (Nurture Gaia)” ที่ได้แรงบันดาลใจจากเทพี ไกอา (Gaia) ในตำนานเทพปรณัมกรีก หรือพระแม่ธรณีผู้ให้กำเนิดและหล่อเลี้ยงสรรพชีวิต เพื่อแสดงถึงความสัมพันธ์อันสอดประสานกลมกลืนกันระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ
/
เมื่อพูดถึงชื่อ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล หรือ เจ้ย มิตรรักแฟนหนังหลายคนน่าจะรู้จักเขาในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยผู้เปี่ยมไปด้วยความเป็นศิลปะที่สุด ไม่เพียงแค่ในประเทศไทย แต่หมายรวมถึงในสากลโลก ยืนยันด้วยรางวัลสำคัญจากเทศกาลภาพยนตร์ระดับโลกหลายต่อหลายรางวัล ไม่ว่าจะเป็นรางวัลยอดเยี่ยมในการฉายสายรอง (Un Certain Regard) จากภาพยนตร์เรื่อง สุดเสน่หา (Blissfully Yours) (2002) และรางวัลขวัญใจคณะกรรมการ (Jury Prize) จากภาพยนตร์เรื่อง สัตว์ประหลาด! (Tropical Malady) (2004) จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ในปี 2002 และ 2004, หรือภาพยนตร์เรื่อง แสงศตวรรษ (Syndromes and a Century) (2006) ของเขาก็ได้รับเลือกให้เข้าชิงรางวัลสิงโตทองคำในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิส ในปี 2006 และคว้ารางวัลกรังปรีซ์จากเทศกาลภาพยนตร์ Deauville Asian Film Festival ในปี 2007, และภาพยนตร์เรื่อง รักที่ขอนแก่น (Cemetery of Splendor) (2015) ของเขาก็คว้ารางวัลยอดเยี่ยมจากเวที Asia Pacific Screen Awards ในปี 2015, ที่สำคัญที่สุด อภิชาติพงศ์ยังเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้รับรางวัล ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมปาล์มทองคำ (Palm d’or) จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ครั้งที่ 63 ในปี 2010 จากภาพยนตร์เรื่อง ลุงบุญมีระลึกชาติ (Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives) (2010), และล่าสุด ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องล่าสุดของเขาอย่าง Memoria (2021) ยังคว้ารางวัล Jury Prize ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ครั้งที่ 74 ในปี 2021 มาครองได้อีกครั้ง อีกทั้งยังได้รับเสียงวิจารณ์เชิงบวกอย่างท่วมท้นจากสื่อมวลชนนานาชาติ
We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )