Public Space of SOS Pavilion at Chiang Mai | IAMEVERYTHING.CO

LOOKING ON EVERYTHING ?

EXPLORE ON EVERYTHING

Public Space of SOS Pavilion at Chiang Mai

SOS Pavilion ความหมายใหม่ของ “พื้นที่สาธารณะ” บนลานท่าแพที่สะท้อนให้คิดถึงความหลากหลาย ความมีชีวิตชีวาของผู้คนในเมือง
Writer : Sant Suwatcharapinun
Photographer: ธเนศร์ แก้วดวงดี
   เมื่อเราพูดถึง “พื้นที่สาธารณะ” (Public Space) ในเมือง ส่วนใหญ่แล้วมักจะนึกถึง “สวนสาธารณะ” (Public Park) หรือไม่ก็มักจะนึกถึงลาน (Plaza) ที่ออกแบบอย่างสวยงามตามหน้าห้างสรรพสินค้า ซึ่งถ้าคบคิดกันดีๆ แล้วไม่ว่า “ลาน” ซึ่งเป็นพื้นที่ของห้างแต่แสดงตัวเสมือนเป็นของ “สาธารณะ” หรือ “สวน” ที่มักจะมีรั้วรอบขอบชิด มีการกำหนดเวลา และที่สำคัญจุดประสงค์ของทั้งการออกแบบและการใช้พื้นที่ก็แตกต่างไปจาก “พื้นที่สาธารณะ” อย่างมากทีเดียว ดังนั้นแล้วจึงไม่น่าแปลกใจที่จะได้ยินคำถามที่ว่า “เรามีพื้นที่สาธารณะที่ดีๆ ของเมืองหรือไม่ ถ้ามีแล้วมันอยู่ตรงไหนกันแน่”
SOS Pavilion พื้นที่สาธารณะหน้าลานประตูท่าแพ
ในวงวิชาการแล้วมีการให้คำอธิบายถึงความแตกต่างระหว่าง “พื้นที่สาธารณะ” (Public Space) ต่างไปจาก พื้นที่ว่างสาธารณะ (Public Open Space) เพราะในขณะที่พื้นที่แบบหลังเน้นไปที่ลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ “พื้นที่สาธารณะ” มักจะมีนัยยะถึงลักษณะทางนามธรรมของพื้นที่ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถจับต้องได้แต่เข้าใจการมีอยู่ของมัน เป็นพื้นที่ที่สะท้อนให้คิดถึงชีวิตของผู้คน ความหลากหลาย ความมีชีวิตชีวาของผู้คนในเมือง โดยที่ไม่ได้ยึดติดกับพื้นที่ห้างสรรพสินค้าหรือตลาดนัดทั้งหลายที่นำมาใช้ดึงดูดผู้คนให้เข้ามาใช้พื้นที่
SOS Pavilion กับ Chiang Mai Design Week 2018

  ที่เชียงใหม่ในช่วงวันที่ 8-16 ธันวาคม ที่ผ่านมา ความหมายของ “พื้นที่สาธารณะ” ของเมืองเชียงใหม่ได้ถูกท้าทายให้คิดอีกครั้งหนึ่งผ่านงานศิลปะจัดวาง (Art Installation) ที่ชื่อว่า SOS Pavilion เป็นส่วนหนึ่งของงานเทศกาลออกแบบเชียงใหม่ 2561 (Chiang Mai Design Week 2018) ที่ตั้งอยู่บนลานท่าแพ พื้นที่ของลานท่าแพนี่แหละ ที่ถือว่าเป็นพื้นที่สาธารณะที่สำคัญของเมืองเชียงใหม่ ที่ไม่ใช่สวนสาธารณะ และไม่ใช่ลานที่เกิดขึ้นจากการลงทุนของเอกชนหรือเป็นส่วนหนึ่งของลานหน้าห้างสรรพสินค้า เป็นพื้นที่สาธารณะของเมืองที่เกิดขึ้นจากประวัติศาสตร์อันยาวนานของการแลกเปลี่ยนสินค้าบริเวณประตูท่าแพ และสืบเนื่องมายังความเจริญของย่านการค้าบนถนนท่าแพ ถนนที่เชื่อมโยงระหว่างเมืองชั้นในของเชียงใหม่กับแม่น้ำปิง แม่น้ำสายหลักของเมือง
บรรยากาศกิจกรรมที่เกิดขึ้นระหว่างงาน Chiang Mai Design Week 2018
   ก่อนที่ SOS Pavilion จะเข้ามาจัดวางในพื้นที่สาธารณะแห่งนี้ พื้นที่แห่งนี้ถือได้ว่าเป็นพื้นที่หลักของการจัดกิจกรรมระดับจังหวัดที่ไม่เคยว่างเว้น โดยเฉพาะในช่วงวันสำคัญๆ ทางจังหวัดก็จะต้องเลือกใช้พื้นที่นี้ในการจัดงาน และทุกวันอาทิตย์ที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของถนนคนเดิน รวมถึงพ่อค้าขายอาหารนกพิราบที่ค่อยๆ แทรกซึมเข้ามาจับจองพื้นที่นี้ และในช่วงที่ SOS Pavilion เข้าไปเริ่มประกอบร่าง เราได้เห็นถึงการใช้พื้นที่สาธารณะเพื่อสาธารณะอย่างน่าสนใจ เด็กๆ ที่มาขี่จักรยานเล่น ผู้คนมาให้อาหารนกอย่างเพลิดเพลินใจ คนนั่งเล่นบริเวณกระถางรอบๆ ต้นไม้ ศิลปินนิรนามเอาเครื่องดนตรีมาเล่นเปิดหมวก ทุกอย่างดำเนินไปอย่างมีจังหวะเนิบช้าๆ ในพื้นที่แห่งนี้ แต่ทว่ากิจกรรมต่างๆ เกิดขึ้นตามยถากรรม พื้นที่ไม่ได้ถูกออกแบบให้กระตุ้นหรือเพิ่มศักยภาพของความมีชีวิตชีวาที่ดีของผู้คน หรือเป็นเพราะว่าพื้นที่สาธารณะของลานท่าแพนี้ ไม่ได้ถูกออกแบบให้กับผู้คน แต่ให้กับกิจกรรมของจังหวัดมากกว่า
   SOS Pavilion เกิดจากความร่วมมือระหว่างนักออกแบบและศิลปินอิสระ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ เชียงใหม่ และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ จีซี ทำหน้าที่ในเชิงสัญลักษณ์ที่ต้องการแสดงให้เห็นถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นแนวคิดที่พยายามส่งสัญญาณขอความร่วมมือจากทุกฝ่ายเพื่อช่วยกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยอาศัยวัตถุเพื่อความยั่งยืนสำหรับอนาคต ไม่ว่าจะเป็นวัสดุจากธรรมชาติและวัสดุที่เกิดขึ้นจากงานอุตสาหกรรม เช่น ไม้ไผ่และพลาสติกรีไซเคิล ส่วนการจัดวางนั้นมีแนวคิดหลักในการจำลองความเป็นเมืองเชียงใหม่ลงมายังพื้นที่สาธารณะแห่งนี้ มีสามองค์ประกอบหลัก (1) ฉากลวดลายฉลุที่ผลิตจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิลที่เปรียบเสมือนกำแพงเมืองเชียงใหม่ (2) หลังคาไม้ไผ่เกิดขึ้นจากแรงบันดาลใจมาจากเส้นขอบฟ้าและดอยสุเทพ และ (3) สวนไม้ดอกไม้ประทับและที่นั่งที่กระจายอยู่ตามจุดต่างๆ เสมือนเป็นเกาะแก่งในแม่น้ำปิงที่ไหลคดเคี้ยวยามเมื่อไหลผ่านเมืองเชียงใหม่
แนวคิดหลักเป็นการจำลองความเป็นเมืองเชียงใหม่ออกมาผ่านสามองค์ประกอบหลัก (1) ฉากลวดลายฉลุที่ผลิตจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิลที่เปรียบเสมือนกำแพงเมืองเชียงใหม่ (2) หลังคาไม้ไผ่เกิดขึ้นจากแรงบันดาลใจมาจากเส้นขอบฟ้าและดอยสุเทพ และ (3) สวนไม้ดอกไม้ประทับและที่นั่งที่กระจายอยู่ตามจุดต่างๆ เสมือนเป็นเกาะแก่งในแม่น้ำปิง
SOS Pavilion กับความหมายใหม่ของลานท่าแพ

   แม้ว่าจุดประสงค์หลักของ SOS Pavilion นี้ตอบสนองโดยตรงต่อจุดยืนของผู้ให้การสนับสนุนหลัก (PTT GC) แต่ทว่ามันกำลังทำหน้าที่ในการสร้างและผสานความมีชีวิตชีวาของผู้คนให้ค่อยๆ ขยับเข้าหากันอย่างมีชั้นเชิง ผู้คนได้เข้าไปนั่งเล่นใต้หลังคาไม้ไผ่ได้พบกับพื้นที่สาธารณะที่สงบ ตัดเสียงอึกทึกครึกโครมและเสียงรถที่วิ่งไปมาด้านนอก ได้ความร่มเย็นและลมพัดเอื้อยๆ แม้ในยามกลางวันอันร้อนระอุ ได้ขยับเข้ามาในระยะห่างของผู้คนที่เป็นมิตรและเชื้อเชิญ โดยเฉพาะเมื่อยามค่ำคืนที่มีการออกแบบแสงไฟ และออกแบบพื้นที่สำหรับการเล่นดนตรี ผู้คนนั่งล้อมวงฟังดนตรี บ้างอมยิ้ม บ้างลุกขึ้นมาเต้นตามจังหวะดนตรี SOS Pavilion ค่อยๆ เปิดเผยตัวมันออกให้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่สาธารณะที่ถูกออกแบบมาให้กระตุ้นการเข้ามาใช้พื้นที่ ให้เกิดความมีชีวิตชีวาในเมือง
   SOS Pavilion อำนวยการโดย สำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) และ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ เชียงใหม่ SOS Pavilion นี้ได้รับการสนับสนุนหลักจาก บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ในส่วนทีมออกแบบประกอบด้วย กานต์ คำแก้ว, ธนพัฒน์ บุญสนาน (บริษัท ธ.ไก่ชน), หม่อมหลวง ปรเมศ วรวรรณ (บริษัท คิดดี จำกัด), นนท์นภัส นนทมาลย์, ปิยกานต์ กัณธิยะ (หจก.2929ดีไซน์แล็บ), ศุภโชค ศรีสง่า (บริษัท Lexscape จำกัด), โดยมี สันต์ สุวัจฉราภินันท์ เป็น ผู้ประสานงานโครงการ
ยามค่ำคืน ณ เวลาจัดกิจกรรม SOS Pavilion จะค่อยๆ เผยตัวว่าเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่สาธารณะที่ถูกออกแบบมาให้กระตุ้นการเข้ามาใช้พื้นที่ ให้เกิดความมีชีวิตชีวาในเมือง
Project : SOS Pavilion
Owner : สำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) และ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ เชียงใหม่
Sponsor: บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)
Architect: กานต์ คำแก้ว, ธนพัฒน์ บุญสนาน (บริษัท ธ.ไก่ชน), หม่อมหลวง ปรเมศ วรวรรณ (บริษัท คิดดี จำกัด), นนท์นภัส นนทมาลย์, ปิยกานต์ กัณธิยะ (หจก.2929ดีไซน์แล็บ), ศุภโชค ศรีสง่า (บริษัท Lexscape จำกัด)
Project Coordinator : สันต์ สุวัจฉราภินันท์
Area: 255.68 ตารางเมตร
Project Location: Thapae, Chiang Mai
Photographer: ธเนศร์ แก้วดวงดี
    TAG
  • Pavilion
  • design
  • architecture
  • chiang mai

Public Space of SOS Pavilion at Chiang Mai

ARCHITECTURE/Pavillion
February 2019
CONTRIBUTORS
Sant Suwatcharapinun
RECOMMEND
  • DESIGN/Pavillion

    คน-ช้าง เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร? Biennale Architettura 2021/ Venice Biennale “บ้านคน บ้านช้าง” Boonserm Premthada

    รูปธรรมของผลงานวิจัยซึ่งประยุกต์ลักษณะของโครงสร้างตามความเป็นจริง เทคนิคและวิธีการสร้างที่ถอดแบบมาจากบ้านของคนและบ้านของช้างตามสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในชุมชนชาวกูย เพื่อตอบประเด็นคำถาม “How will we live together?” เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร? เกิดเป็นบทสนทนาผ่านภาษาทางสถาปัตยกรรม “บ้านคนบ้านช้าง” ใน Thai Pavilion ของงานนิทรรศการสถาปัตยกรรมนานาชาติครั้งที่ 17 หรือ Biennale Architettura 2021 ที่เมืองเวนิส

    EVERYTHING TEAM3 years ago
  • DESIGN/Pavillion

    THE MINI LIVING URBAN CABIN TOUR 2017-2018

    จากโลกยานยนต์สู่แวดวงการออกแบบที่อยู่อาศัย MINI รถยนต์สัญชาติอังกฤษ ซึ่งเติบโตมากับแนวคิด Creative Use of Space ได้พกพาแนวคิดเรื่องการใช้พื้นที่ เล็กๆ ให้เกิดประโยชน์

    Dorsakun Srichoo5 years ago
  • DESIGN/Pavillion

    SALA STEEL by Volume Matrix Studio

    สถาปัตยกรรมที่รับรู้ได้ด้วยประสบการณ์ของผู้ใช้งานในนิยามของคำว่า “Surreal Experience” ให้คนสนุกไปกับการตีความและคิดต่อ

    EVERYTHING TEAM6 years ago
  • DESIGN/GARAGE

    “PG” by AAd - Ayutt and Associates design Project Garage อาคารการาจและแกลเลอรี่ ที่เหมือนประติมากรรมชิ้นเอกท่ามกลางขุนเขา

    ในหมู่บ้านจัดสรรแห่งหนึ่งในจังหวัดนครราชสีมา ติดกับพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีสถาปัตยกรรมหลังหนึ่งที่ดูคล้ายงานประติมากรรมตั้งเคียงข้างขุนเขา นี่คือ PG หรือย่อมาจาก Project Garage ออกแบบโดย AAd - Ayutt and Associates design นี่ไม่ใช่บ้านพักอาศัย แต่คืออาคารที่ฟอร์มขึ้นจากแพสชั่นของเจ้าของบ้านผู้เป็นนักสะสมทั้งรถยนต์และงานศิลปะ

    EVERYTHING TEAMFebruary 2024
  • DESIGN/RESORT

    “Riva Vista Riverfront Resort” By IDIN Architects รีสอร์ทริมน้ำกก ที่กกกอดธรรมชาติและความเป็นพื้นถิ่น ภายใต้สถาปัตยกรรมร่วมสมัยมุมมองใหม่

    ให้ลองนึกถึงอาหารหนึ่งจานที่มีหลากวัตถุดิบพื้นถิ่นที่เรารู้จักดี แต่เมื่อผ่านการปรุงด้วยเทคนิคที่แตกต่าง ก็เกิดการรังสรรค์อาหารจานใหม่ให้เราพอได้สัมผัสถึงกลิ่นอายบางอย่างที่คุ้นเคย แต่ในขณะเดียวกันก็เผยรูปลักณ์ใหม่ที่ไม่เคยผ่านประสบการณ์รับรู้มาก่อน นี่คือคำเปรียบเผยสำหรับการอธิบายผลงานออกแบบโปรเจกท์ใหม่นี้ของ IDIN Architects ที่เกิดจากแนวคิด Deconstruct ในการนำความร่วมสมัยให้มาอยู่ร่วมกับเอกลักษณ์พื้นถิ่นภาคเหนือของไทย เกิดเป็นงานสถาปัตยกรรมที่สร้างความน่าสนใจใหม่

    EVERYTHING TEAM6 months ago
  • DESIGN/EXHIBITION

    Infinity Ground Thailand and Taiwan Contemporary Architecture Exhibition

    ใครที่กำลังมองหาไอเดียใหม่ ๆ ในการออกแบบสถาปัตยกรรม หรือกำลังมองหานิทรรศการที่จะไปเดินชมในช่วงวันหยุด เราก็ขอแนะนำนิทรรศการสถาปัตยกรรม “Infinity Ground – Thailand and Taiwan Contemporary Architecture Exhibition” ที่จัดโดยสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย ผ่านการสนับสนุนของกระทรวงวัฒนธรรม สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ร่วมกับ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่เปิดให้เข้าชมแล้วที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)

    EVERYTHING TEAM10 months ago
SIGN UP TO OUR NEWSLETTER
A Monthly update of the new issue from us
THANK YOU FOR YOUR SUBSCRIPTION

We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )