LOOKING ON EVERYTHING ?
EXPLORE ON EVERYTHING
ART: --- INTERVIEW
Writer: Kraiwitch Tungsomboon
Photographer: Mc Suppha-riksh Phattrasitthichoke

THE JOURNEY OF WATER HYACINTH
TO THAILAND STREET ART
เรื่องราวชีวิตที่ถูกจักสานผ่าน ‘ผักตบชวา’ สู่เส้นทางสตรีทอาร์ตติสของ เก่ง - นพพร พลวิฑูรย์
“ความขบถ ตัวตน และจินตนาการเหนือคำบรรยาย” คำกล่าวข้างต้นคงเป็นสิ่งที่ตอกย้ำความเป็น ‘สตรีทอาร์ต’ ได้อย่างดี และประเทศไทยนั้นเรียกได้ว่าเป็นแหล่งบ่มเพาะเหล่าสตรีทอาร์ตติสฝีมือดีเอาไว้เป็นจำนวนมาก ปัจจุบันไม่ได้มีเพียงการพ่นสีสเปรย์รูปแบบเดิมอีกต่อไป เหล่าศิลปินยังแสวงหาความแปลกใหม่ด้วยเทคนิคต่าง ๆ ผสานเข้ากับแนวคิดของศิลปินแต่ละคน สร้างเป็นคาแรคเตอร์ตามแบบฉบับของตนเอง ส่งผลงานเหล่านั้นโลดแล่นไปไกลกันในระดับโลกเลยทีเดียว

ซึ่ง EVERYTHING ชวนหนึ่งในสตรีทอาร์ตติสมือฉมังอย่าง เก่ง - นพพร พลวิฑูรย์ หรือชื่อในวงการที่ว่า Sensei KA. ศิลปินผู้ออกเดินทางสร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมกับพื้นที่สาธารณะ รวมไปถึงการนำ ‘ผักตบชวา’ มาเป็นอาวุธในการฟาดฟันความคิด เสียดสีประเด็นต่าง ๆ ในสังคมได้อย่างแสบสัน มาร่วมพูดคุยเปิดเผยชีวิตความเป็นมาแบบหมดเปลือก หากพร้อมแล้ว ไปทำความรู้จักกับเขาคนนี้ให้มากยิ่งขึ้นผ่านบทสัมภาษณ์ในครั้งนี้กันได้เลย!

เปิดประตูทำความรู้จักกับนักปั้นพืชผู้ผนวกสตรีทอาร์ตเข้ากับพื้นที่สาธารณะ
ใครหลายคนอาจจะเคยได้ยินชื่อของ ‘นักปั้นพืช’ ผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะจากผักตบชวา หรือที่รู้จักกันในวงการสตรีทอาร์ตอย่าง Sensei KA. อีกหนึ่งบทบาทของ เก่ง - นพพร พลวิฑูรย์ สตรีทอาร์ตติสสาย Installation เสริมด้วยลูกเล่นของ Performance Art และ Happening Art สื่อสารผ่านผลงานสตรีทอาร์ตของตนเองร่วมกับพื้นที่สาธารณะ และเข้าถึงผู้คนได้มากที่สุด ไม่ขึ้นตรงกับบุคคลใด นำผลงานศิลปะออกไปพูดคุย สร้าง Interactive เชื่อมความสัมพันธ์กับผู้คนในชุมชนตลอดระยะเวลา 5-6 ปีที่ผ่านมา

เรื่องราวชีวิตที่ถูกโอบอุ้มด้วยผักตบชวา
ก่อนที่จะมาเป็นศิลปินนักปั้นพืชในทุกวันนี้ สำหรับเก่งแล้วเส้นทางของเขาอาจจะไม่ได้สวยหรูอย่างใจคิด เขาได้เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นการผันเปลี่ยนของช่วงชีวิต จากบทบาทของนักธุรกิจค้าขายเฟอร์นิเจอร์ที่เผชิญเข้ากับวิกฤตเศรษฐกิจ พ่วงด้วยทางปัญหาทางการเมือง เสมือนเป็นคลื่นลูกใหญ่ที่ซัดสาดเข้ามา ทำให้ครั้งหนึ่งเขาเลือกที่จะจบชีวิตลงกลางแม่น้ำเจ้าพระยา แต่พบกับกองผักตบชวาที่ลอยมาเป็นจำนวนมาก จึงทำให้เขากระเสือกกระสนเวียนว่ายเอาชีวิตรอดท่ามกลางกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวกราก ประคองตัวเองจนถึงฝั่งและรอดชีวิตมาได้ พอได้สติกลับมาเขาจึงสงสัยว่ากองพืชที่ช่วยชีวิตเขาคือพืชชนิดไหน จึงได้เริ่มศึกษาว่าพืชชนิดนี้ทำอะไรได้บ้าง และค้นพบว่าชาวบ้านมักนำมาทำงานจักสาน ทำเป็นของใช้ในครัวเรือนเกิดเป็นความสนใจอยากจะเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งนี้ให้มากยิ่งขึ้น แต่เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัดเรียนไปได้ไม่นานก็ถูกยกเลิกกลางคันและถูกเชิญออก เนื่องจากถูกกดดันจากผู้ใหญ่เพียงเพราะอยากให้คนมาเรียนรู้เรื่องจักสานจริง ๆ ไม่ใช่การเรียนรู้เพื่อนำไปทำอย่างอื่น รูปแบบผลงานที่เก่งทำขึ้นแตกต่างจากงานจักสานทั่วไป เขาจึงผันตัวมาทำงานจักสานข้างถนน ขึ้นรูปเป็นหุ่นฟิกเกอร์ทรงต่าง ๆ ฝีมือในการสร้างสรรค์ผลงานจากผักตบชวาและการทุ่มเทศึกษาศิลปะรวมถึง ประวัติศาตร์ศิลป์ด้วยตนเอง ต่อยอดสร้างเป็นผลงานขึ้นมาจวบจนปัจจุบัน
ศิลปะเป็นเรื่องของสังคม
ในการทำงานแต่ละชิ้นของเก่งเริ่มต้นจากการออกไปสำรวจหาแรงบันดาลใจ มองว่าตอนนี้สังคมพูดถึงอะไรอยู่ พวกเขากำลังพบกับปัญหาอะไรกัน ยกตัวอย่าง ปัญหายาเสพติด เขาลงพื้นที่ไปศึกษาทำการบ้านมาก่อน อย่างเช่น ซอยนี้มีการค้าขายยาเสพติดให้กับเด็ก ๆ ก็เอากล้องวงจรปิดไปติดไว้ให้รู้สึกเหมือนกับว่ากำลังมีอะไรจับตามองอยู่ ให้เขารู้สึกตระหนักถึงการทำผิดกฏหมาย เป้าหมายหลักคือการสร้างผลงานศิลปะให้เป็นส่วนหนึ่งกับสังคม รวมถึงพื้นที่สาธารณะ ไม่ใช่งานศิลปะที่จัดวางอยู่ทั่วไป แต่ไหนแต่ไรศิลปะเป็นเรื่องของสังคม เป็นเรื่องของผู้คน การใช้ชีวิต มีคนเคยบอกว่าอย่าเอาศิลปะมายุ่งกับเรื่องของการเมือง แต่ความจริงศิลปะอยู่กับการเมืองมาโดยตลอด บางครั้งข้อความที่ถูกพูดโดยประชาชนไม่สามารถพูดออกมาได้ ศิลปะจึงเป็นอีกหนึ่งวิธีการที่พวกเขาสามารถเอ่ยในสิ่งที่ต้องการเรียกร้องได้เช่นกัน

ต่อยอดจากภูมิปัญญาดัดแปลงมาสู่ผลงานศิลปะ
ก่อนจะมาเป็นผลงานสักชิ้นหนึ่ง เก่งอธิบายถึงขั้นตอนในการทำงานให้ทางเราฟัง หลังจากได้ไอเดียในการทำงานแล้ว เขาก็เสาะหาผักตบชวาขนาดพอเหมาะ นำมาตากแดดสัก 2-3 แดด สมัยก่อนต้องนำไปผ่านการอบกำมะถันเพื่อไม่ให้เกิดเชื้อรา ซึ่งเป็นวิธีที่ถูกคิดค้นมาจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ให้ผลลัพธ์ที่ดี แต่ค่อนข้างอันตรายสำหรับคนที่แพ้ จึงมีวิธีการใหม่ที่ใช้โซเดียมเบนโซเอตในการยับยั้งการเกิดเชื้อรา แต่ราคาที่ค่อนข้างแพงชาวบ้านจึงไม่ค่อยที่นิยมใช้วิธีนี้กัน พอได้ผักตบชวาแห้งแล้วก็จะนำไปตัดประกอบ บิดงอ เชื่อมกาวให้เกิดเป็นรูปร่าง และในปัจจุบันนี้ผักตบชวาที่เก่งนำมาใช้นั้น เก็บโดยชาวบ้านคอยนำมาส่งให้อยู่เนือง ๆ นับว่าเป็นการทำงานร่วมกับชุมชนต่อยอดสร้างอาชีพได้อีกด้วย


งาน Installation แบบศิลปะกองโจร
“สตรีทอาร์ตมันเป็นศิลปะสายขบถ ไม่ทำตามกฏเกณฑ์ของศิลปะกระแสหลัก มันเป็นศิลปะกระแสรอง เพราะฉะนั้นอะไรที่กระแสหลักทำอยู่ กระแสรองอย่าง สตรีทอาร์ตก็ไม่ค่อยอยากจะร่วมแจมเท่าไหร่ เพราะเหมือนว่ามีข้อบังคับอยู่ แต่สำหรับสตรีทอาร์ตมันอิสระ อยากติดที่ไหนก็ติดได้เลย โลกใบนี้มันเป็นแกลเลอรี่อาร์ตของเรา ใครก็ห้ามฉันไม่อยู่ อยากจะพูดอยากจะบอกสังคมว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง มุมมืดที่สังคมปิดบัง ฉันอยากจะตะโกนบอกสิ่งเหล่านั้นด้วยผลงานของฉันเนี่ยแหละ”
กระแสตอบรับจากชุมชน
“พูดตรง ๆ คนสมัยใหม่เขาชอบกันมาก ทุกคนล้วนมีมือถือมีเปิดอินเทอร์เน็ต ดูว่าสตรีทอาร์ตคืออะไร เด็กน้อยยังรู้เลย เดี๋ยวนี้พอเห็นผมเริ่มติดงานก็เดินเข้ามาขอจับมือ ขอถ่ายรูปด้วย บางคนก็ไม่รู้จักกันซื้อน้ำซื้อกาแฟมาให้ เป็นกำลังใจให้กัน เพราะเขารู้ว่าสิ่งที่ศิลปินกำลังทำ มันต้องใช้ความพยายามและความอดทนค่อนข้างสูง”

สตรีทอาร์ตกระตุ้นให้คนเห็นถึงปัญหาที่ถูกกดทับ สร้างเป็นแรงกระเพื่อมให้คนรับรู้มากกว่าเดิม
“ผมว่ามันสร้างการรับรู้ได้มากกว่าเดิมนะ จากคนที่ไม่เคยสนใจในศิลปะหรือคนที่ไม่สนใจในการเมือง พอเขาได้เห็นผลงานเรา เออ อันนี้มันแปลก เราก็อธิบายให้เขาฟังทำให้คนรับรู้ได้มากยิ่งขึ้น ผมนิยามสิ่งเหล่านี้ว่า ผมสร้างผู้ที่เสพงานศิลปะหน้าใหม่ ๆ เข้าไปในระบบของศิลปะ ไม่ว่าจะเป็น สามล้อเครื่อง แม่ค้าในตลาด เด็กน้อยที่ไม่มีสิทธิแม้เข้าไปในแกลเลอรี่ เราจึงออกไปหาเขา ออกไปพูดคุยกับเขาแทน วันใดวันหนึ่งคนที่เขาเข้าใจก็จะบอกกันแบบปากต่อปากว่าศิลปะเป็นแบบนี้นะ ศิลปะมีผลกับการใช้ชีวิต มีผลต่อสติปัญญาของคนทุกสมัย ศิลปะมันคือการให้สติปัญญา ให้แนวคิด ให้ความงามบางด้านที่ไม่สามารถหาได้ในห้องเรียน ผมคิดแบบนั้นนะ”

เจ้า (หน้า) ที่ตรวจการศิลปะ
“เวลาติดตั้งผลงานผมมักจะเจอเจ้าหน้าที่ 2 รูปแบบ แบบแรกคือไม่ชอบพวกเราเลย เพราะเราแอบไปติดตั้งผลงาน กับอีกแบบนึงเขาอยากจะรู้ว่ามันคืออะไร พอเราอธิบายให้เขาฟัง เขากลับชอบและตั้งคำถามว่าทำไมไม่มีอะไรแบบนี้เยอะ ๆ ผมว่าในทุกวงการมันจะมีทั้งคนเลวและคนดีปะปนกันไป เรามีหน้าที่อธิบายผลงานของเราให้พวกเขาเหล่านั้นเข้าใจ”
จากบทบาทของ ‘ศิลปินฮิปฮอป’ สู่ ‘สตรีทอาร์ตติส’
“สมัยก่อนผมมีวงชื่อ Attitude Crew เป็นวง Underground ก็ดังอยู่ช่วงนึงในภาคอีสาน เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ตอนนี้ผมกลับมาทำเพลงฮิปฮอปอยู่ 2 เพลง ซึ่งพูดถึงเนื้อหาเกี่ยวกับสตรีทอาร์ตในบ้านเรา แล้วก็พูดถึงการใช้ชีวิต การสร้างผลงานของตนเอง เป็น 2 เพลงส่งท้ายอำลาวงการฮิปฮอป ผมจะเต็มที่กับการสร้างผลงานศิลปะ ผมออกจากวงการฮิปฮอปมาเป็นสตรีทอาร์ตติสเต็มตัวอย่างที่เห็นกัน”
“จุดเชื่อมกันของฮิปฮอปและศิลปะ ผมว่ามันเป็นเรื่องเดียวกันนะ ฮิปฮอปมักจะพูดในสิ่งที่ตัวเองต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการกดทับจากรัฐบาลหรือประเด็นต่าง ๆ ในสังคม เสมือนกับศิลปะ ข้อความเหล่านั้นมักถูกส่งออกมาผ่านผลงานที่ไม่จำกัดรูปแบบในการนำเสนอ ผมจึงมองว่ามันเป็นเรื่องเดียวกัน สมัยก่อนเราทำเพลงอะไรที่มันเกิดจากความกดดันในชีวิต เรามักจะพูดไปในเพลง พอมาทำงานสตรีทอาร์ตก็เปลี่ยนแปลงไป เราไม่ได้ใช้ปากพูดแล้ว แต่เปลี่ยนมาใช้ศิลปะในการสื่อสารแทน ใช้ความรู้สึกสร้างเป็นแรงบันดาลใจให้คนได้คิดตามอะไรทำนองนี้”

มุมมองการเติบโตในอนาคตของนักปั้นพืช
“ตอนนี้ผมยังอยากทำในสิ่งที่ทำอยู่ ยังอยากส่งต่อให้ใครหลายคนได้เข้าใจถึงสิ่งที่กำลังทำอยู่ตอนนี้เสียมากกว่า ไม่แน่ว่าในอนาคตผมอาจจะมีวิธีการใหม่ ๆ สอดแทรกกลไก ลูกเล่นใหม่ ๆ อย่างเช่นงาน ตู้โทรศัพท์โบราณที่สามารถขออะไรก็ได้ มันมีรหัสนำไปสู่กุญแจ ให้ผู้ชมสามารถเปิดไปสู่ผลงานชิ้นต่อไปได้ อนาคตก็จะมีรหัสลับซ่อนตามผลงานชิ้นต่าง ๆ รอคอยให้ผู้คนมาค้นคว้าเพื่อนำไปสู่ผลงานที่ชิ้นใหญ่กว่าเดิม”
ส่งต่อความตั้งใจถึงเหล่าผักตบชวาหน่ออ่อน
“สำหรับยุคพวกผมตอนนี้ ผมมองว่าทำได้เต็มที่แล้ว สามารถช่วยได้ในบางเรื่อง หลังจากนี้มันคืออนาคตของพวกคุณแล้ว คุณเต็มที่กับมันเลย ไม่ว่าคุณจะใช้ Soft Power ในรูปแบบไหน ศิลปะ ดนตรีหรืออะไรก็ตาม ถ้าคุณชอบและเต็มที่กับมัน คุณบอกเขาไปเลยว่านี่คือชีวิตของเรา และเราจะสร้างอนาคตของเราเอง ตอนนี้ผมทำได้เท่านี้ที่จะใช้ศิลปะเพื่อช่วยส่งต่อบางสิ่งบางอย่างให้พวกคุณ นี่คือหัวใจหลักในการทำงานของผม”
ร่วมติดตามการเดินทางของ เก่ง - นพพร พลวิฑูรย์ ว่าเขาจะสร้างสรรค์ผลงานมัน ๆ อะไรมาให้พวกเราได้ชมกันต่อ สามารถติดตามได้ที่ Instagram: @Ka.ecoactionart และ Facebook: Streetartist Senseika ได้เลย!
เรื่องราวชีวิตที่ถูกจักสานผ่าน ‘ผักตบชวา’ สู่เส้นทางสตรีทอาร์ตติสของ เก่ง - นพพร พลวิฑูรย์
/
ทันทีที่ Key Visual สถาปนิก’ 68 เผยแพร่ออกมา บทสนทนาปลุกสัญชาตญาณนักสืบในตัวทุกคนพร้อมใจกันทำงานแบบ Autopilot และระหว่างที่ตามหาเฉลยกันจริงจัง ทุกคนเริ่มหันมาตั้งคำถามต่อว่า Art Toys เกี่ยวข้องกับธีมงานอย่างไร รู้ตัวอีกทีวงสนทนาก็กระเพื่อมขยายกว้างขึ้น ส่งสัญญาณชัดว่า Key Visual ปีนี้เปิดฉากมาแบบสนุกเอาเรื่อง โดนเส้นกันสุดๆ
/
วัลลภ รุ่งกำจัด หรือ อุ้ม นักแสดงที่เชื่อมโยงความเป็นมนุษย์กับโลกของภาพยนตร์ ผ่านการสร้างชีวิตให้ตัวละครต่าง ๆ ได้ออกมาโลดแล่นแสดงความรู้สึกทางอารมณ์ให้กับผู้ชม แม้เขาจะไม่ได้เป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียงในวงกว้างเทียบเท่ากับนักแสดงกระแสหลัก แต่ในเวทีระดับโลก “อุ้ม” ได้พิสูจน์ตัวเองกับการเป็นนักแสดงที่มีความสามารถที่ยอมทุ่มเทหลาย ๆ สิ่ง ให้กับงานศิลปะด้านการแสดงในภาพยนตร์เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้อย่างสุดตัว
/
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าก่อนหน้านี้เราได้รู้จักกับเธอคนนี้ในชื่อของ พัด หรือที่ชอบเรียกติดปากกันว่า พัด ZWEED N’ ROLL เจ้าของเสียงทุ้มมีเสน่ห์ นักร้องและนักแต่งเพลงที่ฝากผลงานเพลงเศร้าเอาไว้ในวงการมากมาย อาทิ ช่วงเวลา, Diary, อาจเป็นฉัน และอีกมากมาย ไม่มีอะไรแน่นอนแม้กระทั่งตัวเราเอง ช่วงเวลาจึงได้พัดพาให้เรามาทำความรู้จักกับ “MAMIO” ในฐานะศิลปินใหม่จากค่าย Warner Music Thailand ซึ่งเป็นอีกตัวตนหนึ่งของคุณพัดที่ไม่เคยถูกปลดปล่อยออกมาเลยตลอดชีวิตการทำงานในวงการสิบกว่าปีที่ผ่านมา หรือถ้าจะให้ซื่อสัตย์กับตัวเองจริง ๆ ก็อาจจะเป็นทั้งชีวิตที่เกิดมาเลยเสียด้วยซ้ำ
/
Whispers เป็นหนึ่งในวงดนตรีที่สะท้อนการเติบโตของวงการ Hardcore ในประเทศไทยอย่างแท้จริง ตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่เป็นเพียงกลุ่มเพื่อนที่หลงใหลในดนตรี เพราะนอกจากจะเป็นผู้เล่น พวกเขายังเป็นกำลังสำคัญที่คอยผลักดันซีนฮาร์ดคอร์ในบ้านเรามาโดยตลอด ประสบการณ์ที่สั่งสมทำให้เกิดเป็นสไตล์เฉพาะของ Whispers สร้างความแตกต่างและเป็นเอกลักษณ์ จนทำให้พวกเขาก้าวไปสู่เวทีระดับสากล ถึงแม้พวกเขาจะอยู่ใต้ดินของไทย แต่เสียงคำรามของพวกเขาก็ดังไปไกลถึงทวีปยุโรป มาพบกับเส้นทางดนตรีที่เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจและการเปลี่ยนแปลง กับวงฮาร์ดคอร์ระดับบท็อปของ Southeast Asia
/
ด้วยลายเส้นที่เป็นเอกลักษณ์และรูปแบบงานสักของเขา ที่เรารู้สึกแปลกประหลาดกว่างานสักอื่น ๆ (แปลกประหลาดในที่นี้คือความหมายในแง่ดีนะ) ก็เลยตัดสินใจส่งข้อความทักไปหา “พี่นัทครับ ผมขอสัมภาษณ์พี่ได้ไหม” “ได้ครับ” สั้น ๆ แต่จบ เรื่องราวทั้งหมดก็เลยเริ่มต้นขึ้นที่ร้าน CAVETOWN.TATTOO แถว ๆ ปิ่นเกล้า ซึ่งพี่นัทเป็นเจ้าของร้านแห่งนี้ บทสนทนาของเราเริ่มกันในช่วงเวลาบ่าย ๆ ของวันพฤหัส พอไปถึงร้านพี่นัทกำลังติดงานสักให้กับลูกค้าอยู่หนึ่งคน พอได้เห็นลายที่เขาสักต้องบอกว่าเท่มาก ๆ มันมีความเป็น Psychedelic บวกกับ Ornamental ผสมผสานกับเทคนิค Dotwork จนกลายเป็นงานศิลปะบนผิวหนังหลังฝ่ามือ เราถึงกับต้องถามคำถามโง่ ๆ กับลูกค้าที่ถูกสักว่า “เจ็บไหม” แน่นอนคำตอบที่ได้คือ “โคตรเจ็บ” เพราะจุดที่สักคือหลังฝ่ามือ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งจุดที่หลายคนร่ำลือกันว่าโคตรเจ็บ ระหว่างที่รอพี่นัทไปพลาง ๆ น้องแมคช่างภาพที่มีรอยสัก Full Sleeve เต็มแขนขวา ก็เริ่มกดชัตเตอร์กล้องถ่ายรูปเก็บภาพระหว่างที่เขาสักไปด้วย พอสักเสร็จเรียบร้อยก็ปล่อยให้พี่เขาพักผ่อนกินน้ำ ปัสสาวะ (อ่านแยกคำนะอย่าอ่านติดกัน) ก่อนจะพูดคุย แต่เดี๋ยว ! ก่อนจะเริ่มบทสนทนา เราขอเกริ่นให้ฟังซักนิดนึงเกี่ยวกับชายคนนี้ก่อน
/
ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ปีวงดนตรีสัญชาติไทยที่ชื่อ KIKI ได้ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในวงที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากทั้งในประเทศไทย ญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ ฮ่องกง ก็เพราะด้วยเสียงเพลงที่มีความเป็นเอกลักษณ์ และการนำเสนอแนวคิดที่ไม่เหมือนใคร รวมถึงความตั้งใจในการสร้างสรรค์ผลงานที่สะท้อนถึงตัวตนของพวกเขาได้อย่างชัดเจน
We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )