นิทรรศการศิลปะคู่ขนานระหว่างโลกมายากับโลกแห่งความเป็นจริงในหนัง Solids by the Seashore | IAMEVERYTHING.CO

LOOKING ON EVERYTHING ?

EXPLORE ON EVERYTHING

นิทรรศการศิลปะคู่ขนานระหว่างโลกมายากับโลกแห่งความเป็นจริง
ในหนัง Solids by the Seashore

  โดยปกติ ตัวละครเอกในหนังหลายเรื่อง นอกจากจะมีหน้าที่ทำให้ผู้ชมบันเทิงใจด้วยการต่อสู้กันในหนังแอ็คชั่น หรือตกหลุมรัก ตามจีบ และพลอดรักกันในหนังโรแมนติก (หรืออีโรติก) หรือทำตลกโปกฮากันในหนังคอเมด้ี หน้าที่ความรับผิดชอบอีกอย่างของตัวละครที่ทำให้หนังมีความหนักแน่น สมจริง และเป็นที่น่าเชื่อถือสำหรับผู้ชมก็คือ อาชีพการงานของเขาและเธอนั่นเอง นอกจากอาชีพทั่วๆ ไป อย่างนักธุรกิจ ตำรวจ ทหาร หรือคนทำอาหารอย่างเชฟแล้ว อาชีพของตัวละครในหนังที่เราสนใจเป็นพิเศษก็คืออาชีพศิลปิน นั่นเอง

  ในปัจจุบัน หนังหลายเรื่องให้ความสำคัญกับความสมจริงของตัวละครที่มีอาชีพศิลปิน และยังให้ความสำคัญผลงานศิลปะที่ปรากฏในหนังอยู่ไม่น้อย แถมหนังหลายเรื่องยังให้ศิลปินตัวจริงเสียงจริงมาสร้างสรรค์ผลงานสำหรับถ่ายทำในหนังอีกด้วย (แต่โดยส่วนใหญ่จะเป็นหนังต่างประเทศน่ะนะ)
  ล่าสุด มีหนังไทยเรื่องหนึ่งที่ไปไกลกว่านั้น ด้วยความที่นอกจากทีมงานของหนังจะให้ศิลปินตัวจริงมาสร้างสรรค์ผลงานให้นิทรรศการศิลปะของตัวละครเอกผู้เป็นศิลปินในเรื่องแล้ว นิทรรศการที่ว่า ยังไม่ได้เป็นแค่เพียงนิทรรศการสมมติที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นมาในหนังเท่านั้น หากแต่เป็นนิทรรศการศิลปะที่จัดแสดงขึ้นจริง ในพื้นที่จริง และเปิดให้ผู้ชมในโลกแห่งความเป็นจริงเข้ามาชมงานกันได้จริงๆ อีกด้วย

  หนังเรื่องนี้มีชื่อว่า ‘Solids by the Seashore ทะเลของฉัน มีคลื่นเล็กน้อย ถึงปานกลาง’ โดย ปฏิภาณ บุณฑริก ผู้กำกับหนังสารคดีผู้ผันตัวมาทำหนังยาวเรื่องแรก ที่ว่าด้วยเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่าง ‘ชาตี’ หญิงสาวชาวมุสลิมผู้ทำงานในแกลเลอรีในจังหวัดสงขลา ที่เผชิญกับการต่อสู้ภายในจิตใจ ระหว่างการใช้ชีวิตไปตามครรลองของหลักศาสนาและวัฒนธรรมการใช้ชีวิตของชาวมุสลิมกับเสรีภาพทางความคิดที่ได้รับอิทธิพลจากงานศิลปะร่วมสมัยที่เธอคลุกคลีอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน จนเธอได้มาพบกับ ‘ฝน’ ศิลปินสาวจากกรุงเทพฯ ผู้เดินทางลงมาเป็นศิลปินพำนักเพื่อสร้างผลงานจัดแสดงในนิทรรศการศิลปะ ณ แกลเลอรีที่ชาตีทำงานอยู่ ทำให้ทั้งคู่ได้ใช้เวลาใกล้ชิดสนิทสนมกันจนเกิดเป็นความผูกพันอันลึกซึ้งในที่สุด

  Solids by the Seashore คว้ารางวัล LG OLED New Currents Award และ NETPAC Award จากเทศกาลหนังนานาชาติปูซาน เกาหลีใต้ รวมถึงรางวัล Prix du Jury Award และ Coup de Coeur INALCO Award จากเทศกาลหนัง Vesoul International Film Festival of Asian Cinema ฝรั่งเศส และล่าสุด แพร รวิภา ศรีสงวน ผู้รับบทฝน ก็คว้ารางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม จากเทศกาลหนัง Ho Chi Minh City International Film Festival 2024 มาด้วย ปัจจุบันหนังเรื่องนี้กำลังเดินสายฉายในอีกหลากหลายเทศกาลหนังในสากลโลก

   สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ผลงานในนิทรรศการศิลปะในหนังมีเรื่องราวเกี่ยวกับ กำแพงกันคลื่น ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อการป้องกันการกัดเซาะของคลื่นชายหาด แต่ในความเป็นจริงอาจทำให้การกัดเซาะเพิ่มความรุนแรงขึ้นกว่าเดิม เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ของตัวละครหญิงทั้งสองที่ขัดต่อขนบทางศาสนา แต่ขนบที่ว่าอาจกลายเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้ความปรารถนาที่จะออกนอกกรอบรุนแรงยิ่งขึ้นก็เป็นได้
   โดยปฏิภาณกล่าวถึงที่มาที่ไปและแรงบันดาลใจเบื้องหลังหนังยาวเรื่องแรกของเขาว่า
   “โครงการของหนังเรื่องนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2011- 2012 ในช่วงที่ผมลงไปถ่ายทำหนังสารคดีที่สงขลาเกี่ยวกับเรื่องกำแพงกันคลื่น ว่ามีผลกระทบอย่างไรต่อสภาพแวดล้อมชายหาด โดยผมทำการสัมภาษณ์ผู้คนที่เกี่ยวข้องกับกำแพงกันคลื่น ทั้งคนที่สร้าง คนออกแบบ ไปจนถึง ผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในชายหาด ทั้งแม่ค้า พ่อค้า หรือนักวิชาการ รวมถึงนายกเทศมนตรีของสงขลาในช่วงเวลานั้น เกี่ยวกับปัญหาของกำแพงกันคลื่นที่ส่งผลเสียต่อธรรมชาติอย่างมาก ซึ่งต่อมานายกเทศมนตรีคนที่ว่านี้ถูกยิงเสียชีวิตจากการขัดผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจในท้องถิ่น ทำให้ผมนึกขึ้นมาว่า โครงสร้างของกำแพงกันคลื่นก็ไม่ต่างอะไรกับชีวิตมนุษย์ ที่เราพยายามสร้างโครงสร้างบางอย่าง แต่โครงสร้างนี้ก็กลับกัดเซาะตัวเราเอง ผมก็เลยอยากทำเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นหนังยาว โดยให้ประเด็นนี้เป็นฉากหลังของเรื่องราวในหนัง ประจวบกับความที่ผมมีเพื่อนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อนที่เป็นมุสลิมในจังหวัดภาคใต้ และด้วยความที่สงขลาเป็นจังหวัดที่เป็นเหมือนรอยต่อเชื่อมกับสามจังหวัดภาคใต้ ผมก็เลยสนใจที่จะทำหนังเกี่ยวกับพื้นที่นี้ อีกอย่าง ผมสนใจประเด็นของฉลากที่ระบุคนแต่ละคน ว่าเป็นเพศไหน หรือศาสนาอะไร ซึ่งมาพร้อมกับการถูกด่วนตัดสิน ผมเองก็รู้สึกว่าตัวเองมีความรู้สึกโน้มเอียงไปทางความเป็นผู้หญิงมากกว่า ผมก็เลยอยากทำหนังเกี่ยวกับตัวละครผู้หญิงที่อยู่ในกรอบหรือกฏเกณฑ์บางอย่างที่กดทับโดยผู้ชาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเป็นหญิงรักหญิงในชุมชนมุสลิม ที่มีสถานภาพที่แปลกแยกและเป็นอื่นอย่างมาก”

  “ในแง่ของงานศิลปะในหนัง ตัวผมเป็นคนที่สนใจงานศิลปะอยู่แล้ว ทั้งชอบดูงานศิลปะ หรือแม้แต่การทำหนัง ผมก็จะไม่ค่อยอ้างอิงหรือหยิบเอาแรงบันดาลใจจากหนังเรื่องอื่น แต่อ้างอิงจากงานศิลปะเสียมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นภาพวาดหรืออะไรก็ตาม อีกอย่าง ตัวละครหลักในหนังอย่าง ชาตี ซึ่งเป็นคนที่อยู่ในกรอบในขนบอย่างเหนียวแน่น คนที่จะทำให้เธอมองเห็นหรือคิดถึงสิ่งที่อยู่นอกกรอบ ก็ควรจะเป็นคนที่แตกต่างกันแบบสุดทาง มีอิสระเสรีสุดขั้ว ซึ่งโดยอาชีพหรือวิถีของคนที่จะเป็นแบบนั้นได้ ก็น่าจะเป็นศิลปิน ที่สามารถกระตุ้นให้คนที่อยู่ในกรอบมองเห็นชีวิตอีกด้านหนึ่งได้อย่างเต็มที่ และเห็นว่าชีวิตที่มีอิสระเสรีนั้นเป็นอย่างไร”

  นิทรรศการศิลปะที่ปรากฎในหนังนั้นมีชื่อว่า end effect ซึ่งเริ่มต้นจากการที่ปฏิภาณและทีมงานเชื้อเชิญศิลปินกลุ่มหนึ่งให้สร้างผลงานศิลปะเบื้องหลังตัวละคร น้ำฝน ศิลปินสาวชาวกรุงเทพฯ ที่กำลังสร้างผลงานเพื่อจัดนิทรรศการศิลปะของเธอในช่วงเวลาการเป็นศิลปินในพำนักในจังหวัดสงขลา ทั้งศิลปินอย่าง อธิษว์ ศรสงคราม, แพร พู่พิทยาสถาพร, ปฐมพล เทศประทีป, สถิตย์ ศัสตรศาสตร์, ธณัฐชัย บรรดาศักดิ์, ปรัชญา พิณทอง และภัณฑารักษ์ แมรี่ ปานสง่า

  สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ กระบวนการสร้างผลงานแต่ละชิ้นของศิลปินกลุ่มนี้กับเนื้อหาเรื่องราวในหนังนั้นต่างพัฒนาขึ้นไปพร้อมๆ กัน และสะท้อนซึ่งกันและกัน ทั้งแนวคิดของนิทรรศการ กระบวนการการสร้างผลงาน และการเขียนบทหนัง ที่เกิดจากการค้นคว้าวิจัย และทำความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างกำเเพงกันคลื่น เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งในจังหวัดสงขลา และผลกระทบของมัน แถมนักแสดงผู้รับบทบาทเป็นศิลปินในเรื่อง ก็เข้าไปร่วมอยู่ในกระบวนการสร้างงานศิลปะตั้งแต่กระบวนการคิด ไปจนถึงการสร้างผลงานเป็นชิ้นงาน จนทำให้เธอเข้าใจผลงานเหล่านี้อย่างลงลึกจริงๆ (ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ถูกถ่ายทอดให้เราเห็นในหนังด้วย)
  สิ่งละอันพันละน้อยเหล่านี้ถูกนำเสนอผ่านผลงาน จิตรกรรม ประติมากรรม ศิลปะจัดวาง วิดีโอจัดวาง และวัตถุสำเร็จรูป ที่เปิดพื้นที่ให้กับบทสนทนาระหว่างผลงาน นิทรรศการ และเรื่องราวในหนังเรื่องนี้อย่างแนบเนียนกลมกลืน

  ที่สำคัญ อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า แทนที่นิทรรศการที่ว่านี้จะถูกทำขึ้นมาเป็นนิทรรศการสมมติเพื่อการถ่ายทำในหนังแต่เพียงเท่านั้น นิทรรศการนี้กลับถูกทำขึ้นมาจริงๆ ให้ผู้ชมเข้ามาชมได้จริง ในพื้นที่ทางศิลปะอย่าง a.e.y. space ในย่านเมืองเก่าของสงขลานั่นเอง เรียกว่าสมจริงว่านี้คงไม่มีอีกแล้ว

   โดย ปกรณ์ รุจิระวิไล ผู้ก่อตั้งและเจ้าของ a.e.y. space เล่าถึงความเป็นมาของนิทรรศการศิลปะคู่ขนานระหว่างโลกมายากับโลกแห่งความเป็นจริงที่ว่านี้ให้เราฟังว่า
   “เมื่อประมาณปี 2020 ผมกำลังทำนิทรรศการชื่อ Portrait of Songkhla ในระหว่างพาคนชมงานปฏิภาณ กับ ชาติชาย ไชยยนต์ โปรดิวเซอร์ของเขาเข้ามาแนะนำตัวและบอกว่าสนใจอยากถ่ายทำหนังในพื้นที่ a.e.y. space หลังจากนั้นเราก็ได้คุยกันเรื่องแนวทางของหนังที่เกี่ยวกับกำแพงกันคลื่น ผมก็รู้สึกว่าน่าสนใจดี เพราะเขาเคยทำสารคดีและศึกษาเกี่ยวกับประเด็นนี้มาโดยตลอด หลังจากนั้นเขาก็เดินทางลงมาสงขลาพร้อมกับทีมศิลปินและภัณฑารักษ์ เพื่อลงพื้นที่และค้นคว้าเกี่ยวกับงานศิลปะที่จะทำเพื่อนำเสนอตัวตนของตัวละครศิลปินในหนัง นอกจากนี้ยังมีคนที่เป็นแกนหลักสำคัญเกี่ยวกับโครงการนี้อย่าง น้ำนิ่ง (อภิศักดิ์ ทัศนี) ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Beach for Life นักเคลื่อนไหวและนักอนุรักษ์ชายหาดในจังหวัดสงขลา ที่เป็นจุดตั้งต้นหลักของนิทรรศการครั้งนี้ โดยทางทีมศิลปินและภัณฑารักษ์ได้มาใช้เวลาสัมผัสคลุกคลีและนำแนวคิดของน้ำนิ่งมาสร้างเป็นศิลปะ โดยทาง a.e.y. space ก็เป็นผู้สนับสนุนการสร้างงานศิลปะทั้งหมดของนิทรรศการครั้งนี้ พอทำเสร็จออกมาแล้ว ทางภัณฑารักษ์ก็คุยกับเราว่า รู้สึกเสียดายที่นิทรรศการนี้จะเป็นแค่ฉากในหนัง จะดีไหม ถ้าเราเปลี่ยนให้เป็นนิทรรศการจริงๆ ให้คนเข้ามาชมเลย ผมก็เห็นด้วย เพราะเรารู้สึกว่าศิลปินทุกคนมารวมตัวกันขนาดนี้ และงานแต่ละชิ้นก็มีความน่าสนใจมาก ถึงแม้ผู้ชมจะไม่รู้ว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของหนังเรื่องนี้ก็ตาม” (นิทรรศการถูกจัดขึ้นในช่วงเวลาที่หนังยังอยู่ในกระบวนการหลังการถ่ายทำ)

  ในนิทรรศการประกอบด้วยผลงาน Genar (2022) ของ แพร พู่พิทยาสถาพร และ อธิษว์ ศรสงคราม จิตรกรรมที่ถ่ายทอดประวัติศาสตร์เมืองสงขลา ที่เคยมีเรือสินค้าขนาดใหญ่มาเกยตื้นอยู่เป็นระยะเวลาหลายปี จนก่อให้เกิดการกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่ง แต่เมื่อเวลาผ่านไปหาดทรายก็ฟื้นคืนสภาพด้วยตัวเอง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงกระบวนการเปลี่ยนแปลงพื้นที่บริเวณชายฝั่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ

   และผลงาน arrested and released (2022) ของ สถิตย์ ศัสตรศาสตร์ กับประติมากรรมที่่ก่อตัวขึ้นจากทรายและมุ้งลวด เพื่อเปรียบเปรยถึงการทำงานภายใต้ปัญหาอันซับซ้อนในการต่อสู้กับภาครัฐที่มองข้ามประชาชนและสิ่งแวดล้อม

  หรือผลงาน At the end of the other side (2022) ศิลปะจากสิ่งมีชีวิตบนชายหาด ของ ธณัฐชัย บรรดาศักดิ์ ที่เก็บชิ้นส่วนลำต้นของผักบุ้งทะเลนำมาขยายพันธ์โดยใช้น้ำและแช่ในขวดแก้วเก็บตกจากชายหาด เพื่อให้ร่องรอยของสิ่งมีชิวิตในท้องทะเลปรากฏบนพื้นผิว เพื่อแสดงถึงหลักฐานของสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติที่ฟื้นตัวเองหลังจากการแทรกแซงและทำลายของมนุษย์

  และผลงาน A statuette, by the seashore (2022) ของ ปฐมพล เทศประทีป วิดีโอจัดวางที่บันทึกการเคลื่อนไหวร่างกายผ่านการฝึกเล่นสกิมบอร์ดกับคลื่นทะเลริมชายหาดของ แพร รวิภา ศรีสงวน ผู้รับบท ฝน ตัวละครศิลปินในหนัง ที่เลือกใช้ร่างกายตนเองเพื่อฝึกการทรงตัวในช่วงเวลาเพียงไม่กี่วินาทีบนแผ่นกระดานที่เคลื่อนไหวเหนือผิวน้ำและหาดทราย และพยายามลอกเลียนแบบประสบการณ์ของ ‘น้ำนิ่ง’ อภิศักดิ์ ทัศนี ในชั่วขณะที่เขาทรงตัวอยู่บนแผ่นกระดานสกิมบอร์ดอีกด้วย

  แต่ที่จับใจเราที่สุดคือผลงาน Shape of the re-echo (2022) ของ ปรัชญา พิณทอง ศิลปะสำเร็จรูปที่เกิดจาการพ่นทรายใส่กระจกเงา เพื่อหยุดคุณสมบัติในการสะท้อนภาพของมัน (เช่นเดียวกับชื่อนิทรรศการว่า end effect นั่นเอง) ด้วยความที่ตัวกระจกเงานั้นถูกหลอมขึ้นจากทราย การใช้ตัวมันเองพ่นใส่ตัวเองเพื่อทำลายตัวเอง นั้นเป็นอุปมาถึงการปฏิเสธตัวตนของตัวเองของสองตัวละครเอกในหนัง ในอีกแง่หนึ่ง การไม่สะท้อนที่ว่านี้ก็สะท้อนถึงภาพสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน ในการไม่ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย และใช้การสะท้อนภาพเพียงด้านเดียวเพื่อเป็นเครื่องมือกดขี่สิ่งอื่นหรือความเชื่ออื่นๆ เช่นเดียวกับการใช้ถุงทรายเป็นกำเเพงกันคลื่นโดยไม่สนใจถึงมุมมองในทางตรงกันข้ามเกี่ยวกับผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมของมันนั่นเอง
  “จริงๆ กระจกเงานี้เป็นกระจกเงาเก่าที่โรงน้ำแข็งในละแวกเดียวกับแกลเลอรีมอบให้เป็นของสะสมที่ผมใช้แขวนประดับพื้นที่ แต่พอปรัชญามาขอเอากระจกเงานี้ไปทำงาน และคุยถึงแนวคิดเบื้องหลังว่า”กระจกนั้นเกิดจากทราย ถ้าวันหนึ่งมันจะต้องหยุดยั้งตัวเอง ก็ต้องเอาตัวเองนี่แหละ ทำลายตัวมันเอง เพื่อให้คุณสมบัติในการสะท้อนหมดไป” ผมฟังแล้วรู้สึกว่า โอ้โห ทำไมลึกล้ำจัง เป็นปรัชญาเหมือนชื่อของเขาเลย เขาเล่าด้วยคำพูดเรียบง่ายไม่กี่ประโยค ไม่จำเป็นต้องไปโน้มน้าวใดๆ เลย ผมบอกเขาว่า เอาไปเลย อยากจะเอาไปทำอะไรก็ได้ ผลงานชิ้นนี้ของปรัชญาทำให้ผมรู้สึกว่า สิ่งของธรรมดาที่เราไม่ได้คาดคิดว่าวันหนึ่งจะกลายเป็นงานศิลปะไปได้ แต่ก็เป็นไปแล้วจริงๆ” ปกรณ์กล่าวทิ้งท้าย

  เล่าให้ฟังถึงขนาดนี้แล้ว ต้องบอกเลยว่า คอหนังผู้รักศิลปะไม่ควรพลาดที่จะชมหนังเรื่องนี้ด้วยประการทั้งปวง

นิทรรศการ end effect จัดแสดงไปเมื่อวันที่ 8 เมษายน - 8 พฤษภาคม 2022 ที่ a.e.y. space ถนนนางงาม ย่านเมืองเก่าสงขลา

ในเดือนพฤษภาคมนี้ ปฏิภาณ ผู้กำกับ Solids by the Seashore ทะเลของฉันมีคลื่นเล็กน้อยถึงปานกลาง จะพาหนังเรื่องนี้คืนถิ่นกำเนิดที่สงขลา ด้วยการจัดฉายรอบพิเศษใน a.e.y. space ดูรายละเอียดวันและเวลาฉายได้ที่เพจ facebook a.e.y.space https://www.facebook.com/Aeyspace

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก a.e.y. space และ ปฏิภาณ บุณฑริก ภาพถ่ายนิทรรศการศิลปะโดย Atilier247
    TAG
  • art
  • exhibition
  • movie
  • Solids by the Seashore

นิทรรศการศิลปะคู่ขนานระหว่างโลกมายากับโลกแห่งความเป็นจริงในหนัง Solids by the Seashore

ART AND EXHIBITION/EXHIBITION
April 2024
CONTRIBUTORS
Panu Boonpipattanapong
RECOMMEND
  • DESIGN/EXHIBITION

    Re/Place การปิดทับอดีตเพื่อเปิดเผยความจริงทางการเมือง ของ วิทวัส ทองเขียว

    ในอดีตที่ผ่านมา ในแวดวงศิลปะ(กระแสหลัก)ในบ้านเรา มักมีคํากล่าวว่า ศิลปะไม่ควรข้องแวะกับ การเมือง หากแต่ควรเป็นเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึก ความงาม สุนทรียะ และจิตวิญญาณภายในอัน ลึกซึ้งมากกว่า แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าจะในยุคสมัยไหน ศิลปะไม่เคยแยกขาดออกจาก การเมืองได้เลย ไม่ว่าจะในยุคโบราณ ที่ศิลปะถูกใช้เป็นเครื่องมือรับใช้ชนชั้นสูงและผู้มีอํานาจ หรือใน ยุคสมัยใหม่ที่ศิลปะถูกใช้เป็นเครื่องมือแสดงออกถึงอุดมการณ์ทางสังคมการเมือง หันมามองในบ้าน เราเอง ก็มีศิลปินไทยหลายคนก็ทํางานศิลปะทางการเมืองอย่างต่อเนื่องยาวนาน ในการสะท้อนและ บันทึกประวัติศาสตร์การเมืองไทยได้อย่างเข้มข้น จริงจัง

    Panu BoonpipattanapongFebruary 2025
  • DESIGN/EXHIBITION

    The Grandmaster : After Tang Chang บทสนทนากับ จ่าง แซ่ตั้ง ศิลปินระดับปรมาจารย์แห่งศิลปะสมัยใหม่ไทย โดย วิชิต นงนวล

    เหตุการณ์นี้เป็นอุทาหรณ์ให้เรารู้ว่า การก๊อปปี้ก็ไม่ได้เลวร้ายเสมอไป เพราะอย่างน้อยที่สุด ก็ทําให้ เราได้รู้ว่าผลงานต้นฉบับของจริงในช่วงเวลาที่เสร็จสมบูรณ์นั้นมีความดีงามขนาดไหน ไม่ต่างอะไรกับศิลปินร่วมสมัยสัญชาติไทยอย่าง วิชิต นงนวล ที่หลงใหลศรัทธาในผลงานของศิลปิน ระดับปรมาจารย์ในยุคสมัยใหม่ของไทยอย่าง จ่าง แซ่ตั้ง ตั้งแต่ครั้งยังเยาว์ ในวัยของนักเรียน นักศึกษา เรื่อยมาจนเติบโตเป็นศิลปินอาชีพ ความหลงใหลศรัทธาที่ว่าก็ยังไม่จางหาย หากแต่เพิ่มพูน ขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดก็สุกงอมออกดอกผลเป็นผลงานศิลปะในนิทรรศการ The Grandmaster : After Tang Chang ที่เป็นเสมือนหนึ่งการสร้างบทสนทนากับศิลปินระดับปรมาจารย์ผู้นี้

    Panu BoonpipattanapongJanuary 2025
  • DESIGN/EXHIBITION

    Monte Cy-Press ศิลปะจากกองดินที่สะท้อนน้ําหนักของภัยพิบัติ โดย อุบัติสัตย์

    “ยูบาซาโตะ เดินผ่านตามแนวต้นสนขึ้นไปบนภูเขาศักดิ์สิทธิ์ เพื่อไปก่อสร้างสถูปดิน และมักจะโดน ทีมงานช่างบ่นทุกวันเกี่ยวกับการก่อสร้าง ที่มีเวลาอยู่อย่างจํากัด เขาเพียงได้แต่ตอบไปว่า .. บุญกุศล นําพาและเวลามีเท่านี้ ขอให้ทําสิ่งดีๆ ให้เต็มที่ ต่อสถานที่บนภูเขานี้เถอะ อย่าบ่นไปเลย เราอาจจะ พบกันแค่ประเดี๋ยวเดียว แต่สิ่งเหล่านี้จะอยู่ต่อไปอีกหลายร้อยปี ... ทีมงานทุกคนเพียงส่งรอยยิ้มที่ เหนื่อยล้ากลับมา ก็เพราะต้องทนร้อนทนแดด และเปียกฝนสลับกันไป จากสภาวะโลกเดือด ที่ทุกคน ต่างพูดถึง แต่ก็จะมาจากใคร ก็จากเราเองกันทั้งนั้น ... แม้จะมาทํางานบนภูเขาก็จริง แต่เขาก็ยังคง คิดถึงเหตุการณ์ภัยน้ําท่วมดินโคลนถล่มที่ผ่านมา อีกทั้งความเสียหายต่อข้าวของที่ต้องย้ายออกจาก บ้านเช่าและค่าใช้จ่ายหลังน้ําท่วมที่ค่อนข้างเยอะพอควร และยิ่งในสภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจแบบนี้...

    Panu Boonpipattanapong7 months ago
  • DESIGN/EXHIBITION

    Kader Attia กับศิลปะแห่งการเยียวยาซ่อมแซมที่ทิ้งร่องรอยบาดแผลแห่งการมีชีวิต ในนิทรรศการ Urgency of Existence

    หากเราเปรียบสงคราม และอาชญากรรมที่กระทำต่อมนุษย์ อย่างการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การสังหารหมู่ และการล่าอาณานิคม เป็นเหมือนการสร้างบาดแผลและความแตกร้าวต่อมวลมนุษยชาติ ศิลปะก็เป็นหนทางหนึ่งในการเยียวยาซ่อมแซมบาดแผลและความแตกร้าวเหล่านั้น แต่การเยียวยาซ่อมแซมก็ไม่จำเป็นต้องลบเลือนบาดแผลและความแตกร้าวให้สูญหายไปเหมือนไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น หากแต่การเหลือร่องรอยแผลเป็นและรอยแตกร้าวที่ถูกประสาน ก็เป็นเสมือนเครื่องรำลึกย้ำเตือนว่า สิ่งเหล่านี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว และไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้นอีกซ้ำเป็นครั้งที่สอง เช่นเดียวกับสิ่งที่ปรากฏในนิทรรศการ “Urgency of Existence” นิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งแรกในเอเชียของ คาแดร์ อัทเทีย (Kader Attia) ศิลปินชาวฝรั่งเศส - แอลจีเรีย ผู้มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ เขาเป็นหัวหอกในการทำงานศิลปะผ่านสื่ออันแตกต่างหลากหลาย ที่นำเสนอแนวคิดหลังอาณานิคม และการปลดแอกอาณานิคม จากมุมมองของตัวเขาเอง ที่มีประสบการณ์ทางตรงและทางอ้อมของผู้ที่เคยถูกกดขี่และถูกกระทำจากลัทธิล่าอาณานิคมในศตวรรษที่ผ่านมา

    Panu Boonpipattanapong7 months ago
  • DESIGN/EXHIBITION

    Roma Talismano ชำแหละมายาคติแห่งชาติมหาอำนาจด้วยผลงานศิลปะสุดแซบตลาดแตก ของ Guerreiro do Divino Amor

    ในช่วงปลายปี 2024 นี้ มีข่าวดีสำหรับแฟนๆ ศิลปะชาวไทย ที่จะได้มีโอกาสชมผลงานศิลปะร่วมสมัยของเหล่าบรรดาศิลปินทั้งในประเทศและระดับสากล ยกขบวนมาจัดแสดงผลงานกันในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 แล้ว โดยในเทศกาลศิลปะครั้งนี้นำเสนอผลงานศิลปะจาก 76 ศิลปิน 39 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ภายใต้ธีมหลัก “รักษา กายา (Nurture Gaia)” ที่ได้แรงบันดาลใจจากเทพี ไกอา (Gaia) ในตำนานเทพปรณัมกรีก หรือพระแม่ธรณีผู้ให้กำเนิดและหล่อเลี้ยงสรรพชีวิต เพื่อแสดงถึงความสัมพันธ์อันสอดประสานกลมกลืนกันระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ

    EVERYTHING TEAM8 months ago
  • DESIGN/EXHIBITION

    Apichatpong Weerasethakul : Lights and Shadows นิทรรศการครั้งยิ่งใหญ่ใน Centre Pompidou ของศิลปินผู้สร้างแสงสว่างในความมืด อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

    เมื่อพูดถึงชื่อ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล หรือ เจ้ย มิตรรักแฟนหนังหลายคนน่าจะรู้จักเขาในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยผู้เปี่ยมไปด้วยความเป็นศิลปะที่สุด ไม่เพียงแค่ในประเทศไทย แต่หมายรวมถึงในสากลโลก ยืนยันด้วยรางวัลสำคัญจากเทศกาลภาพยนตร์ระดับโลกหลายต่อหลายรางวัล ไม่ว่าจะเป็นรางวัลยอดเยี่ยมในการฉายสายรอง (Un Certain Regard) จากภาพยนตร์เรื่อง สุดเสน่หา (Blissfully Yours) (2002) และรางวัลขวัญใจคณะกรรมการ (Jury Prize) จากภาพยนตร์เรื่อง สัตว์ประหลาด! (Tropical Malady) (2004) จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ในปี 2002 และ 2004, หรือภาพยนตร์เรื่อง แสงศตวรรษ (Syndromes and a Century) (2006) ของเขาก็ได้รับเลือกให้เข้าชิงรางวัลสิงโตทองคำในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิส ในปี 2006 และคว้ารางวัลกรังปรีซ์จากเทศกาลภาพยนตร์ Deauville Asian Film Festival ในปี 2007, และภาพยนตร์เรื่อง รักที่ขอนแก่น (Cemetery of Splendor) (2015) ของเขาก็คว้ารางวัลยอดเยี่ยมจากเวที Asia Pacific Screen Awards ในปี 2015, ที่สำคัญที่สุด อภิชาติพงศ์ยังเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้รับรางวัล ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมปาล์มทองคำ (Palm d’or) จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ครั้งที่ 63 ในปี 2010 จากภาพยนตร์เรื่อง ลุงบุญมีระลึกชาติ (Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives) (2010), และล่าสุด ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องล่าสุดของเขาอย่าง Memoria (2021) ยังคว้ารางวัล Jury Prize ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ครั้งที่ 74 ในปี 2021 มาครองได้อีกครั้ง อีกทั้งยังได้รับเสียงวิจารณ์เชิงบวกอย่างท่วมท้นจากสื่อมวลชนนานาชาติ

    Panu Boonpipattanapong9 months ago
SIGN UP TO OUR NEWSLETTER
A Monthly update of the new issue from us
THANK YOU FOR YOUR SUBSCRIPTION

We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )