หลังจากที่ฉายรอบปฐมทัศน์ในสายประกวด Asian Future ของเทศการ Tokyo International Film Festival 2017 เมื่อปลายปีที่ผ่านมา กับผลตอบรับจากคนดูและสื่อมวลชนที่ให้ความสนใจ Someone From Nowhere - มา ณ ที่นี้ ภาพยนต์ลำดับที่ 2 ในบทบาทผู้กำกับของปราบดา หยุ่น ที่มองว่าภาพยนตร์คือศิลปะแยกส่วน ที่ถูกหลอมรวมเข้าด้วยกันภายใต้การดูแลของผู้กำกับ
จากสิ่งที่ไม่เคยคิดริเริ่มจะเลือกทำ สู่การค้นพบความสนุกรูปแบบใหม่ที่ได้ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านศาสตร์การเล่าเรื่องในภาษาภาพยนตร์ ที่เปรียบเสมือนสนามทดลองที่เต็มไปด้วยประสบการณ์ที่คาดเดาไม่ได้ เมื่อปราบดาบอกกับเราว่าความไม่รู้จักโตและความไม่รู้จักพอ คือส่วนสำคัญที่พาตัวตนของเขา “มา ณ ที่นี้” ได้
ภาพยนต์ลำดับที่ 2 Someone From Nowhere - มา ณ ที่นี้
- เป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิงคนนึงที่ตื่นขึ้นมาตอนเช้าและใช้ชีวิตปกติของเธอก่อนจะไปทำงาน แต่ก่อนที่จะไป พอเปิดประตูออกมาก็พบชายคนนึงนอนหมดสติอยู่หน้าห้องและบาดเจ็บเล็กน้อย ในขณะที่เธอไปโทรหารปภ.ให้มาช่วย พอกลับมาก็พบว่าผู้ชายคนนี้หายไปและกำลังนั่งอยู่บนโซฟาในห้องนั่งเล่นของเธอแล้ว หลังจากนั้นเรื่องจะดำเนินไปด้วยการที่สองคนนี้พยายามที่จะเคลมว่าใครเป็นเจ้าของห้องนี้กันแน่
เรื่องนี้มีความเป็นหนังเล็ก เล็กกว่าเรื่องที่แล้วอีก ค่อนข้างจะเรียบง่ายไม่ซับซ้อนเท่าเรื่อง Motel Mist (โรงแรมต่างดาว) แต่ว่ามันก็เป็นหนังที่ต้องตีความหมาย คือเป็นหนังที่มีความเป็นนามธรรม และอาจจะไม่ใช่ plot ที่เราคุ้นชินกันมากนัก ในส่วนของการทำงานก็มีข้อจำกัดหลายๆ อย่างอยู่ในตัวของมันเอง ทั้งก่อนที่จะทำ ระหว่างที่ทำ และหลังทำงานด้วย เพราะฉะนั้นหลายๆ อย่างมันคือการเผชิญหน้ากับปัญหาและค่อยๆ แก้ไปทีละเปราะ
หนังสะท้อนสังคมและการเมือง
- คือเราเป็นคนทำงานโดยอ้างอิงกับสถานการณ์รอบตัว แล้วก็ได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องรอบๆ ตัว เพราะฉะนั้นการมีเรื่องของการเมืองหรือสังคมเกี่ยวข้องมันเป็นธรรมชาติของเรา เพราะเรารู้สึกว่าเวลาเราจะพูดหรือแสดงความเห็นอะไรบางอย่าง มันมักจะเป็นเสียงสะท้อนที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์รอบตัวเรา ฉะนั้นถ้าสังคมมีเรื่องอะไรหรือหน้าหนังสือพิมพ์มีเรื่องอะไร เราก็มักจะหยิบยกอะไรเล็กน้อยเพื่อมาใช้ในงานเราด้วย เพียงแต่ว่ามันไม่ใช่ประเด็นหลักของตัวเรื่อง แต่...อย่างสมมติว่าพูดถึงเรื่องพื้นที่ ถ้าเราตีความคำว่าพื้นที่มันก็เป็นได้หลายอย่าง ตั้งแต่พื้นที่บ้านของเราไปจนถึงประเทศที่เราใช้ร่วมกัน มันเกี่ยวข้องกันทางใดทางหนึ่ง
- คุณแพท ชญานิษฐ์ และ คุณอะปอม พีรพล ทั้งสองคนนี้เราไม่เคยรู้จักมาก่อน แพทเนี่ยโดยภาพลักษณ์แล้วเข้ากับคาแรคเตอร์ในเรื่องที่เราจินตนาการถึง ส่วนคุณอะปอมเค้าเป็นนักแสดงละครเวที Performance Art การตัดสินใจจริงๆ มันเกิดขึ้นตอนที่เขามาเวิร์คช็อปและออดิชั่น เพราะว่าเราต้องดูเคมีของสองคนนี้ว่า เวลาเขาแสดงด้วยกันเราเชื่อว่าเขาเป็นคาแรคเตอร์ในเรื่องของเราจริงๆ ก็ถือว่าเป็นโชคดีของเราในการคัดเลือกนักแสดง ทั้งสองคนทุ่มเทมาก มันทำให้เรารู้สึกโล่งใจแล้วก็รู้สึกว่าเป็นการทำงานที่ราบรื่น เพราะว่าสำหรับเราน่ะความยากที่สุดเลยคือการทำให้นักแสดงปรากฏบนจอแล้วน่าเชื่อว่าเป็นตัวละครตัวนั้นไม่ใช่ว่ากำลังแสดงอยู่ ซึ่งทั้งแพทและอะปอมทำได้
นอกจากภาพจะโดดเด่นแล้ว sound design ก็น่าสนใจ
- เราร่วมงานกับคุณไผ่จากวง Plot คนเดิม (จากเรื่อง Motel Mist) ไผ่กับเราจะคุยกัน ผมมีส่ง reference ไปให้บ้างว่าเราอยากเห็นแบบนี้ อยากได้ยินแบบนี้ แต่ก็จะเหมือนกับเรื่องแรกคือ ไผ่ก็จะเอา ref. กับการคุยกันประกอบการดูหนังไปคิดของเขาเอง เราชอบทำงานกับคนแบบนี้ด้วยมั้ง เราไม่ได้ชอบคนที่จะทำงานตามแบบที่เราต้องการทุกอย่างหรือว่าพยายามที่จะเลียนแบบ ref. ให้เหมือนให้ได้ เราชอบคนที่ตีความหนังด้วยตัวเองแล้วก็มีแรงบันดาลใจที่จะสร้างอะไรใหม่ๆ ซึ่งไผ่เขามีตรงนี้และผมก็ชอบงานของเขาอยู่แล้ว เราอยากทำงานแบบที่เห็นงานของคนที่เราชอบ อยากฟังดนตรีของนักดนตรีที่เราชอบ อยากเห็นการแสดงของนักแสดงที่เราชื่นชอบ อยากทำงานกับคนที่เราชอบในความสามารถของเขา
ไม่ได้เป็นผู้กำกับที่เบ็ดเสร็จเองทุกอย่าง แต่เป็นการรวบรวมประกอบแต่ละส่วนเข้าด้วยกัน
- ใช่ คือไม่ได้ต้องการให้ทุกอย่างเป็นไปตามที่เราคิดเลย เพราะว่าเราชอบเผชิญกับประสบการณ์ที่เราคาดไม่ถึงด้วย เราเลยชอบออกกอง ทุกคนก็จะงงว่าทำไมชอบออกกองวะ ไม่เข้าใจ (หัวเราะ) เรารู้สึกว่ามันคือช่วงเวลาที่เราเผชิญกับความคาดไม่ถึงเสมอ ทั้งดีและไม่ดี บางวันก็มีปัญหา แต่วันที่ดี เราก็จะรู้สึกดีมากเหมือนกัน หรืออาจจะติดมาจากสมัยเรียนแน่ๆ เลย เราเรียนโรงเรียนศิลปะ เราชอบเวลาที่อยู่ในสตูดิโอ และเราก็จะอยู่ข้างเพื่อนๆ ทุกคนก็จะทำงานของตัวเองไปแต่ว่าเราก็จะคุยกัน ทุกงานมันจะมีความเห็นของเพื่อนอยู่ในนั้นหมด เรารู้สึกว่างานศิลปะแบบนั้นน่ะมันน่าตื่นเต้นดี
ส่วนที่ชอบคือการออกกอง แล้วส่วนที่ไม่ชอบที่สุดในการทำหนังหนึ่งเรื่อง
- มันแปลกมากเลยเพราะมันขัดแย้งกับสิ่งที่เราเป็น เราไม่ชอบตอนเขียนบท ขั้นตอนนี้เป็นสิ่งที่เราเบื่อมากๆ เพราะเราต้องถ่ายทอดสิ่งที่เรารู้อยู่แล้วออกมาอีก คือเราเขียนอยู่ในหัวของเรา แต่การต้องมานั่งพิมพ์สิ่งที่มันอยู่ในหัวของเราอยู่แล้วมันซ้ำซากและมันน่าเบื่อสำหรับตัวเราเองแต่มันเป็นที่จำเป็นสำหรับทุกคนไง คนอื่นต้องมีสิ่งนี้ก่อนถึงจะเริ่มงานได้ มันก็เป็นความจำเป็นแต่ถามว่าสนุกไหมมันก็ไม่สนุกสำหรับเรา อาจจะเป็นเพราะว่าความชอบในหนังของเรามันเริ่มจากการชอบทัศนศิลป์ เราตื่นเต้นที่จะได้เห็นภาพในจอ ที่จะได้ตัดต่อ แต่ตอนที่เราจะต้องเริ่มไอเดียก่อนเพื่อให้คนอื่นไปทำงานต่อเนี่ยมันยากมากสำหรับเรา อาจเพราะมันโดดเดี่ยวด้วยมั้ง ต้องทำอยู่คนเดียว
- คืออาจจะเป็นเพราะโดยส่วนตัวเป็นคนมีความสนใจหลายอย่าง โดยรวมก็สนใจในศิลปะ การออกแบบ เพราะฉะนั้นเวลาอยากให้คนดูอะไรเนี่ยเราก็แยกอีกเหมือนกัน เราอยากให้คนมาดูการแสดงของนักแสดง เพราะว่ามันมีหลายๆ จุดที่เราทึ่งในความสามารถของเขา และระหว่างที่เรากำกับเขาหรือว่าดูเขาในจอหรือในช่วงตัดต่อเนี่ย เรารู้สึกทึ่งกับมันและเราอยากจะให้คนเห็นสิ่งที่เราได้เห็นครับ อยากให้มาฟังดนตรีประกอบเพราะว่าเราชอบงานของคนที่มาทำด้วย แล้วเราก็รู้สึกว่ามันเป็นการนำเสนอวิธีการใช้ดนตรีแบบใหม่ๆ ที่ไม่ค่อยมีใครทำเท่าไหร่โดยเฉพาะในบ้านเรา อยากให้คนมาดูภาพอะไรแบบนี้.... คือมันมีหลายๆ อย่างในนั้นที่เราอยากให้คนมาดูเพราะเราเชื่อว่าฝีมือของคนที่ทำเนี่ยเขามีลูกเล่นมีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจ
ตัวเรามองภาพยนต์แบบนั้นด้วย อาจจะผิดกับตลาดหนังก็ได้เพราะคนดูส่วนใหญ่อยากมาดูเพื่อความบันเทิง เขาอาจจะไม่ได้มองเป็นจุดๆ แบบที่เรามอง แต่เราเป็นคนที่ชอบมองแบบนั้น เวลาเราไปดูหนังที่ภาพสวยๆ จริงๆ เราก็เรียกร้องแค่นั้นพอก็ได้ หมายถึงหนังมันอาจจะไม่ได้ดีมากแต่เราออกมาแล้วรู้สึกคุ้มจังเลย เราเสียเวลาไป 2 ชั่วโมงเพื่อได้ดูอะไรที่สวยงามคุ้มค่า สำหรับเราแบบนั้นมันพอแล้ว หรือว่าการแสดงอาจจะไม่ดีมาก แต่ว่าเรื่องโอเคมีมิติที่เรามาคิดต่อได้ เราก็จะประทับใจกับมันในแบบนั้นเหมือนกัน
- เหมือนสนามทดลองที่มันเต็มไปด้วยประสบการณ์ใหม่ที่คาดเดาไม่ได้ และเป็นสิ่งที่เราไม่เคยคิดจะเลือกที่จะทำด้วยตัวเอง คือเราเป็นคนที่ไม่ค่อยชอบทำงานร่วมกับคนเยอะๆ งานหนังมันบังคับให้เราไปอยู่ตรงนั้น แล้วก็ค้นพบว่า เออเราก็ชอบนี่หว่า (หัวเราะ) แต่ให้ไปเริ่มทำเองคงไม่ไป แต่ที่ถูกลากไปมันสนุก ตอนนี้เรามองตัวเองในฐานะผู้กำกับหน้าใหม่ และถือว่าเป็นการเรียนรู้ที่ดีอีกหน้าหนึ่ง เราโชคดีที่ได้เรียนรู้ผ่านการทำจริง หมายถึงว่าเรียนรู้ผ่านหนังที่ได้ฉายในโรงจริงๆ แล้วก็มีดาราจริงๆ มาเล่น ซึ่งมันก็มีทั้งข้อดีข้อเสีย ข้อเสียก็คือบางอย่างที่เราควรจะรู้ให้ดีก่อนมาทำมันก็ไม่มีเวลามากพอที่จะทำแบบนั้น สำหรับเรามันก็เป็นหนังที่เราเก่งขึ้นในบางเรื่องจากที่เราเคยทำมาแล้ว แต่เชื่อว่าถ้าได้ทำเรื่องที่ห้า ที่หก มันก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ คือขอโอกาสแก้ตัวไปเรื่อยๆ (หัวเราะ)
ข้อจำกัดระหว่างกระบวนการสร้าง
- ที่จริงมันก็เป็นสิ่งที่คนทำหนังทุกคนต้องเจอโดยเฉพาะคนทำหนังอิสระ คือข้อจำกัดด้านเวลา เรื่องเงิน เรื่องประสบการณ์ของคนที่เราทำงานด้วย ส่วนใหญ่คนที่ทำงานหนังอิสระเป็นคนที่มีความทุ่มเทที่จะทำ แต่อาจขาดประสบการณ์ ขาดความเข้าใจอะไรบางอย่างที่เป็นระบบ เราก็ต้องชั่งน้ำหนักและเลือกสิ่งที่มันโอเคที่สุด ณ ตอนนั้นที่ต้องตัดสินใจ ซึ่งบางทีมันไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการ 100% มันไม่ใช่โปรดักชั่นที่เพียบพร้อม เตรียมงานหกเดือน ประชุมกันทุกวัน มันไม่ใช่ เลยต้องทำให้มันอยู่ในกรอบที่ควรจะเป็น
คำว่า เราต้องช่วยกัน educate คนดู
- เราเองก็ไม่ค่อยพูดแบบนั้นว่าต้อง educate คนดู เพื่อให้ภาพยนตร์อิสระมันไปถึงคนดูมากขึ้น เราว่าส่วนหนึ่งคนทำงานศิลปะไม่ว่าอะไรก็ตามก็มีส่วนที่ต้องสื่อสาร ต้องพยายามดึงให้ผู้ชมเข้ามาดูเองด้วยเหมือนกัน เราถึงไม่มีปัญหากับการต้องโปรโมทหรือต้องใช้นักแสดงที่มีชื่อเสียง เราเข้าใจว่ามันต้องมีสิ่งดึงดูด แต่ว่าในอีกมุมนึง การที่อยู่ดีๆ คนจะมาสนใจหนังที่ต่างไปจากความเคยชินของเขามันก็ยาก มันต้องมีวิธีหรือพื้นที่บางอย่างที่ง่ายต่อคนที่จะลอง คือคำว่าลองเนี่ยเราว่ามันคือ key word ของศิลปะ มันต้องมีโอกาสให้คนได้ลองซักครั้งนึงเพื่อให้เขาตัดสินใจได้ว่าชอบหรือสนใจมันมากน้อยแค่ไหน สำหรับเราเนี่ยเริ่มรู้จักก็เพราะแม่เช่าวิดีโอเยอะตอนเด็กๆ หรือไปเรียนในเมืองที่มีโรงหนังศิลปะดีๆ
ซึ่งเพื่อนไปดูก็ตามไปดูกับเพื่อน มันต้องเป็นกระแสประมาณนึง ไม่อย่างนั้นแม้แต่เราเองที่มีความเคยชินกับการดูหนังแบบนี้หรือดูหนังทุกแบบเนี่ย เราก็ไม่ได้คิดว่าอยู่ดีๆ เราจะไปนั่งดูหนังที่ไม่มีคนพูดอะไรกันเลยสองชั่วโมง อย่างนั้นเราก็อยากไปดู Mission Impossible มากกว่า เพราะฉะนั้นเราเข้าใจมากๆ ว่าคนดูรู้สึกยังไงกับการดูหนังอาร์ตหรืองานศิลปะที่ดูยาก แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องยอมรับว่าในสังคมมันมีคนที่ทำงานแบบนี้อยู่ แล้วมันก็ควรจะมีพื้นที่ให้เขาและควรจะมีพื้นที่ให้คนเปิดใจรับสิ่งเหล่านี้ได้บ้าง
- อย่างที่บอก มันควรจะมีพื้นที่ มันควรจะมีคนที่มีอำนาจพอและใจกว้างพอที่จะเปิดโอกาสให้กับคนเหล่านี้ อย่างเช่น สตูดิโอทำหนังที่ทำหนังเชิงพาณิชย์มากๆ ถ้าเขาประสบความสำเร็จในการทำหนังเชิงพาณิชย์แล้ว มันคงจะดีถ้าเขาเปิดโอกาสให้ในเครือของเขามีหนังอาร์ต มีหนังอิสระบ้าง มีหนังที่เนื้อหามันต่างออกไปจากที่เขาคิดว่ามันจะขายได้บ้าง ก็คือกล้าที่จะเสี่ยงบ้างนั่นเอง ซึ่งถ้าพูดเฉพาะในเมืองไทยนะ เราว่ามันมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับวงการศิลปะ มันไม่ใช่แค่เรื่องว่าคนไม่สนใจหรอก มันเป็นทั้งสเกลของสังคมของประเทศ สเกลของจำนวนประชากรที่รู้และเข้าใจเรื่องนี้ ทั้งพื้นที่ในเมืองที่จะมีพื้นที่เผยแพร่สิ่งเหล่านี้ มันมีปัจจัยมากมาย ในขณะเดียวกันโดยเฉพาะในสังคมประเทศไทยเนี่ย การที่ผู้ใหญ่ให้โอกาสยังเป็นเรื่องสำคัญอยู่ เพราะฉะนั้นเราว่ามันเหมือนจะเป็นความรับผิดชอบอย่างหนึ่งในพื้นที่ที่เขาประสบความสำเร็จเชิงพาณิชย์แล้วจะต้องให้พื้นที่กับสิ่งที่ไม่ใช่พาณิชย์ด้วย
การเล่าเรื่องผ่าน ภาพยนตร์/งานออกแบบ/หนังสือ
- สนุกที่สุด ถนัดที่สุด สบายใจที่สุด สนุกที่สุดนี่คือทำหนังบอกได้เลย รู้สึกสนุกมากทุกวันแล้วก็รู้สึกว่ามีใจที่จะเข็นมันออกมาให้มันสำเร็จลุล่วง อาจจะเป็นเพราะว่ามันเกี่ยวข้องกับคนหลายคนด้วย เราเลยรู้สึกว่ามันต้องมีความรับผิดชอบ แต่งานที่ถนัดเนี่ยคืองานออกแบบ ถนัดในความหมายที่ว่าทำตอนนี้เดี๋ยวก็เสร็จได้ และงานออกแบบทำไปฟังเพลงไปได้ สบายใจไม่เครียด งานที่เป็นตัวเราที่สุดคืองานเขียน แต่ว่ายากที่สุดเพราะเราพอใจกับมันยาก ไม่เคยพอ เวลาบางทีก็ไม่พอ คือในแง่ความเป็นอาชีพเราทำได้ เราสามารถเขียนหนังสือให้เสร็จภายในคืนนึงได้เพื่อส่งงานพรุ่งนี้ แต่เราจะไม่มีความพอใจกับมันเต็มที่ เรามักจะคิดว่าถ้าเรามีซักเดือนนึงเราจะพอใจมากขึ้น ถ้ามีอีกซักปีนึงก็จะพอใจมากขึ้นเสมอ
- โห ความสนใจจริงๆ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับงานพวกนี้เลย (หัวเราะ) อยากเรียนประติมากรรม อยากเรียนปั้นหิน สลักหิน ซึ่งตอนเรียนศิลปะเรารู้สึกว่ามือเรามันไม่เข้ากับงานปั้นน่ะ รู้สึกว่าไม่ถนัด แต่พอโตมาจนถึงตอนนี้เราพบว่ามันน่าทึ่งมาก เราชอบสัมผัสพื้นผิว เวลาเห็นรูปปั้น หินอ่อนหรือหินทราย เราจะรู้สึกว่า อื้ม.. มันน่าสัมผัส (หัวเราะ) คุณสมบัติอีกอย่างนึงที่เราชอบงานศิลปะคือมันทำให้เราอยู่ในภวังค์ อยู่ในสมาธิ แล้วเรารู้สึกว่าการปั้นมันน่าจะเป็น ultimate ของการมีสมาธิอยู่กับอะไรสักอย่าง ถึงแม้จะไม่ใช่คนวอกแวกแต่ก็ตามหาความสงบตลอดครับ
สุดท้าย คิดว่าอะไรที่พาตัวเรา “มา ณ ที่นี้” ได้
- เราว่ามันคงเป็นส่วนผสมของสองอย่างคือ “ความไม่รู้จักพอ” ในแง่ที่ว่าเราไม่เคยพอใจในคำตอบไหนเลย อย่างตอนนี้เราอาจจะตอบแบบนี้ เดี๋ยวปีหน้าเรากลับมาดูเราก็จะไม่พอใจกับคำตอบนี้แล้ว เราต้องได้คำตอบใหม่ เราเปิดบานประตูนี้ได้แล้ว เราคิดว่ามันไม่ใช่อ่ะ ต้องมีประตูอีกบานนึงแน่เลย มองข้างหลังของประตูไปเรื่อยๆ ส่วนอีกอันนึงคือ “ความไม่รู้จักโต” เรารู้สึกว่าข้างในเรายังเป็นคนเดิม ยังมีความสงสัยใคร่รู้ในเรื่องต่างๆ ที่อยากรู้มาตั้งแต่เด็ก แล้วพอมันไม่เจอหรือเจอแต่ก็ไม่ใช่ จากแต่ก่อนที่สิ่งนี้เคยเป็นความเครียด มันก็กลายเป็นความสนุกที่จะเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ เมื่อก่อนเหมือนเดินทางแล้วเหนื่อย ตอนนี้คือเดินทางแล้วชอบที่จะเหนื่อยและก็อยากจะเหนื่อยต่อไป มองมุมนึงมันก็เป็นทุกข์เหมือนกันนะ แต่เราคงเจอความรู้สึกที่มันโอเคแล้วกับตัวเองและการใช้ชีวิตแบบนี้
Special Thank : Summer heath bar
TAG
lifestyle film interview vdo INTERVIEW PRABDA YOON : Someone From Nowhere - มา ณ ที่นี้
CONTRIBUTORS
Sirima Chaipreechawit
CULTURE&LIFESTYLE / FILM
แรงบันดาลใจจากภาพวาด สู่ภาพยนตร์ Barbie & Hockney
เมื่อแรกเห็นฉากอันเปี่ยมสีสันฉูดฉาดจัดจ้านในหนัง Barbie (2023) ของผู้กํากับ เกรตา เกอร์วิก (Greta Gerwig) สิ่งแรกที่เราอดนึกถึงไม่ได้เลยคือผลงานของ เดวิด ฮอกนีย์ (David Hockney) หนึ่งในศิลปินคนสําคัญในกระแสศิลปะป๊อปอาร์ตในยุค 60s และเป็นหนึ่งในศิลปินอังกฤษที่ทรง อิทธิพลที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20 จากผลงานภาพวาดสีสันสดใสฉูดฉาด จัดจ้าน เต็มไปด้วยความเก๋ ไก๋ เปี่ยมสไตล์ และความฉลาดหลักแหลม จนเป็นที่จดจําของคนรักศิลปะทั่วโลกอย่างยากจะลืมเลือน
Panu Boonpipattanapong 2 years ago
CULTURE&LIFESTYLE / FILM
Art inside BEEF งานศิลปะที่แฝงกายในซีรีส์สุดร้อนแรงแห่งปี “คนหัวร้อน”
ณ นาทีนี้คงไม่มีซีรีส์เรื่องไหนร้อนแรงไปกว่า “BEEF” ออริจินัลซีรีส์ของ Netflix ที่ผลิตโดยค่าย A24 จากฝีมือการสร้างสรรค์ของ อี ซองจิน (Lee Sung Jin) ผู้กำกับและเขียนบทซีรีส์ชาวเกาหลี ที่เล่าเรื่องราวของสอง “คนหัวร้อน” อย่าง แดนนี่ (สตีเว่น ยอน) ชายหนุ่มผู้รับเหมาชาวเกาหลี-อเมริกันอับโชค ผู้กำลังมีปัญหาทางการเงิน กับ เอมี่ (อาลี หว่อง) สาวนักธุรกิจชาวจีน-อเมริกัน เจ้าของกิจการร้านขายต้นไม้สุดหรู ผู้กำลังไต่เต้าจากการเป็นชนชั้นกลางระดับสูงไปเป็นเศรษฐีเงินล้าน โดยเริ่มต้นจากการสาดอารมณ์ใส่กันในเหตุการณ์กระทบกระทั่งกันบนท้องถนน (Road rage) ลุกลามจนกลายเป็นเรื่องราวบานปลายฉิบหายวายป่วงกันถ้วนหน้าอย่างคาดไม่ถึง
Panu Boonpipattanapong April 2023
CULTURE&LIFESTYLE / FILM
แรงบันดาลใจจากศิลปะแห่งความสยดสยองในซีรีส์เขย่าขวัญยอดฮิต Cabinet of Curiosities: Pickman's Model
ในซีรีส์สุดสยองยอดฮิตของ Netflix อย่าง Guillermo del Toro's Cabinet of Curiosities (2022) ผลงานปลุกปั้นของ กิเยร์โม เดล โตโร (Guillermo del Toro) ผู้กำกับชาวเม็กซิกันเจ้าของรางวัลออสการ์จาก The Shape of Water (2017) กับซีรีส์กระตุกขวัญสั่นประสาท จบในตอน จำนวน 8 ตอน จากฝีมือการกำกับของผู้กำกับ 8 คน ที่เดล โตโรเป็นผู้คัดสรรทั้งผู้กำกับ, นักเขียนบท และเรื่องราว (บ้างก็เป็นเรื่องราวที่เขียนขึ้นมาใหม่ บ้างก็ได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องสั้นสยองขวัญสุดคลาสสิค) ด้วยตัวเอง ราวกับเป็นภัณฑารักษ์ที่เฟ้นหาผลงานศิลปะสุดสยองมาประดับในตู้แห่งความพิศวงของเขา
Panu Boonpipattanapong March 2023
CULTURE&LIFESTYLE / FILM
ผู้แพ้ เงามืด ด้านสว่าง และเวลาที่เหลือ : คุยกับ ปุ่น - ธัญสก พันสิทธิวรกุล
อาจไม่อยู่ในความสนใจของคุณ แต่ถ้าคุณเป็นคนที่สนใจเรื่องภาพยนตร์ คุณควรรู้ไว้สักหน่อยว่า
เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีนักทำหนังชาวไทยคนหนึ่งนำหนังไทยไปคว้ารางวัลใหญ่
“หนังยอดเยี่ยม” จากเทศกาลภาพยนตร์ “Doclisboa 2019” ที่เมืองลิสบอน ประเทศโปรตุเกส
นักทำหนังคนนั้นชื่อ ปุ่น - ธัญสก พันสิทธิวรกุล และหนังเรื่องนั้นชื่อ “Santikhiri Sonata”
เป็นหนังสารคดีผสมฟิกชันที่เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ชื่อ “สันติคีรี”
EVERYTHING TEAM January 2020
CULTURE&LIFESTYLE / MOVIE
แรงบันดาลใจแห่งศิลปะเบื้องหลังหนัง “Resemblance ปรากฏการณ์” ของนักธุรกิจผู้หลงใหลภาพยนตร์ ต้น จุมภฏ รวยเจริญทรัพย์
นักธุรกิจชั้นนำหลายคนใช้เวลาว่างจากการทำงานไปกับความหลงใหลที่แตกต่างกัน บางคนใช้เวลาไปกับความหลงใหลในการท่องเที่ยวทั่วโลก บางคนใช้เวลาไปกับความหลงใหลในการล่องเรือตกปลา ขับรถซูเปอร์คาร์ หรือปาร์ตี้สุดเหวี่ยง แต่มีนักธุรกิจผู้หนึ่งที่มีความลุ่มหลงที่แปลกแตกต่างออกไป เขาผู้นี้คือนักธุรกิจหนุ่มไฟแรง ผู้บริหารรุ่นที่สองของ โก๋แก่ แบรนด์ถั่วอบกรอบระดับแนวหน้าของเมืองไทยอย่าง ต้น จุมภฏ รวยเจริญทรัพย์ ผู้หลงใหลในการทำหนังอย่างเข้าเส้น ลงลึกถึงกระดูกดำจนลุกขึ้นมาตั้งค่ายหนังอิสระของตัวเองในนาม โก๋ฟิล์ม ฝากผลงานหนังมันส์ๆ ดิบๆ ห่ามๆ ไม่แคร์ตลาด ไม่แยแสรางวัล ประดับวงการมาแล้วหลากหลายเรื่อง
Panu Boonpipattanapong February 2023
CULTURE&LIFESTYLE / MOVIE
Collective ภาพสะท้อนหน้าที่ของสื่อในภาวะที่รัฐล้มเหลว
มีไม่บ่อยครั้งนักที่ภาพยนตร์สารคดีจากยุโรปจะข้ามฟากมาเข้าชิงรางวัลออสการ์ ข้ามทั้งทวีป ข้ามทั้ง genre ของภาพยนตร์ แต่ “Collective” ภาพยนตร์สารคดีจากโรมาเนียของผู้กำกับ อเล็กซานเดอร์ นาเนา ก็ทำสิ่งนั้นได้ กล่าวคือมันคือเข้าชิงรางวัลออสการ์ทั้งในสาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยมพร้อมกับเข้าชิงในสาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมไปพร้อมกัน ปรากฏการณ์นี้คงอธิบายความยอดเยี่ยมของตัวหนังเองได้โดยไม่จำเป็นต้องขยายความอะไรอีก
EVERYTHING TEAM April 2021
SIGN UP TO OUR NEWSLETTER
A Monthly update of the new issue from us
SUBMIT
THANK YOU FOR YOUR SUBSCRIPTION