
กับการเชื่อมปฏิสัมพันธ์ใหม่ในย่านประดิพัทธ์
เหมือนเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่น่ารัก อบอุ่น และหนุนนำให้เกิดปฏิสัมพันธ์สร้างสรรค์ขึ้นระหว่างพื้นที่ ที่ประกอบด้วย 3 เพื่อนบ้านคือคาเฟ่ (F.I.X.) ร้านไก่คาราเกะ (8 sqm) และออฟฟิศบริษัทสถาปนิก (Junnarchitect) ภายใต้โครงการ “Somewhere” ที่เชื่อมโยงการใช้ชีวิต ผู้คน และธรรมชาติเข้าด้วยกัน ผ่านเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมที่แตกต่าง แต่สามารถอยู่อย่างเป็นมิตรกับเสน่ห์ย่านประดิพัทธ์ได้อย่างดี และแม้ที่ตั้งจะเหมือนซ่อนตัวอยู่หลังแนวอาคารพาณิชย์สิบกว่าคูหาริมถนนด้านหน้า แต่ทั้งบริบทและบรรยากาศที่เตะตาของที่นี่ ก็ดึงดูดผู้คนให้เข้ามาค้นพบได้ไม่ยากในซอยประดิพัทธ์ 17



“Sense of place” เป็นแนวคิดหลักที่ทางผศ. นันทพล จั่นเงิน อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และ Design Director แห่ง JUNNARCHITECT ผู้ออกแบบและพัฒนาโครงการ Somewhere นี้คำนึงถึง เพื่อออกแบบโครงการที่สะท้อนตัวตน “ความเป็นประดิพัทธ์” พร้อมตอบรับกับชุมชนได้อย่างส่งเสริมกัน “เริ่มต้นจากเราอยากจะสร้างสำนักงานของบริษัท Junnarchitect แต่ด้วยเล็งเห็นศักยภาพของพื้นที่ในการพัฒนาต่อ เราจึงลองคิดกันหลายรูปแบบมาก ตั้งแต่การสร้างเป็นอาคารพาณิชย์ซ้อนกัน 3-4 ชั้น จนถึงเป็นอาคารเดี่ยวขนาดใหญ่ แต่สุดท้ายเราก็ตั้งคำถามว่าเราอยากให้สถานที่นี้แสดงตัวตนความเป็นประดิพัทธ์ออกมาอย่างไรบ้าง อาจจะเป็นพื้นที่ที่สามารถตอบรับคนในชุมชนได้” คุณนันทพล บอกเล่าที่มาของไอเดียที่นำมาสู่การออกแบบโครงการให้เหมือนเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่ประกอบไปด้วยเพื่อนบ้านไม่เยอะมาก อยู่ในสัดส่วนที่กำลังดี มีพื้นที่ว่างที่เป็นหัวใจสำคัญในการออกแบบสถาปัตยกรรมบนที่ดินขนาดประมาณ 90 ตารางวา พร้อมเปลี่ยนความทรุดโทรมของที่ดินที่เคยถูกมองข้ามให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง


ร้านกาแฟ F.I.X.



ร้าน 8 sqm.



ที่ดินรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าหน้ากว้างประมาณ 10 เมตร ยาว 40 เมตร ถูกออกแบบพื้นที่ให้น่าเชื้อเชิญ และเชื่อมการเข้าถึงให้ต่อเนื่องจากหน้าสุดถึงในสุด ผ่านสถาปัตยกรรมทรงกล่องสี่เหลี่ยมสีขาว 3 ยูนิตต่างขนาดที่ถูกจัดเรียงเยื้องกัน เริ่มต้นด้วยยูนิตแรกด้านหน้าสุดเป็น ร้านกาแฟ “F.I.X.” สาขาที่ 2 ที่สถาปนิกอยากให้ส่วนนี้ทำหน้าที่เหมือนล็อบบี้ต้อนรับ ที่เจาะช่องเปิดตรงผนังเหมือนเป็นเฟรมที่ดึงบริบทภายนอกเข้ามาสร้างบรรยากาศภายใน เปิดมุมมองให้เราได้เห็นต้นไม้ ตึกสูงของเมือง จนถึงพื้นผิวดิบเก่าของผนังตึกแถวข้าง ที่คอนทราสกับผนังสีขาวสะอาดตาภายในร้านอยู่ในช่องเปิดสี่เหลี่ยมแต่ละมุม เยื้องถัดไปเป็นยูนิตเล็กๆ น่ารักขนาด 8 ตารางเมตร ที่เปิดเป็นร้านขายไก่คาราเกะสูตรอร่อยที่ตั้งชื่อตามขนาดพื้นที่ว่า “8 sqm.” จากนั้นยูนิตในสุดคือพื้นที่สำนักงานของบริษัทสถาปนิก JUNNARCHITECT ที่ในอนาคตพื้นที่ชั้น 1 ของออฟฟิศจะเปิดเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ ที่สามารถเป็นได้ทั้งสเปซแกลเลอรี่ ห้องประชุม หรือพื้นที่ให้คนมาพบปะพูดคุยกัน

บริษัทสถาปนิก
JUNNARCHITECT


จริงอยู่ว่า Somewhere ดูโดดเด่นจากบริบทโดยรอบด้วยรูปทรงอาคาร และภาพลักษณ์โทนสีขาวเรียบสะอาดตาที่คอนทราสกับอาคารบ้านเรือนเคียง แต่ในทางกลับกัน สถาปนิกมองว่าความเดิมแท้ ความเก่า คือเสน่ห์ความงามที่ดึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในโครงการนี้ได้ เป็นที่มาของการเก็บผนังเก่าของเพื่อนบ้านไว้ “เราเห็นว่าผนังปูนดิบๆ ผนังเก่าๆ ของเพื่อนบ้านยิ่งช่วยทำให้มันมีเรื่องราวเกิดขึ้น เราจะเห็นแต่ละบ้านเลือกใช้วัสดุแตกต่าง มาต่อเติมเป็นห้องที่ชนกับแนวเขตที่ดินเรา บ้างก็ใช้อิฐมอญ บ้างก็ใช้อิฐบล็อก บ้างก็ปูนที่ก่อปลิ้นออกมา เราเลยมองว่าอันนี้คือความหลากหลายของระบบวัสดุที่เรียบง่ายแบบบ้านๆ แต่ส่งผลต่อความรู้สึกเราในฐานะผู้ออกแบบ เราจึงเลือกที่จะเก็บมันไว้ แม้แต่ในส่วนของวัสดุพื้นผิวของโครงการ Somewhere เองแม้จะเน้นโทนสีขาวเรียบเป็นหลัก แต่จริงๆ มันมีเท็กซ์เจอร์ ที่เกิดจากเทคนิคการฉาบไม่เรียบ การตั้งใจปล่อยพื้นผิวเดิม เพื่อให้วัสดุแสดงตัวตนของมัน”



หัวใจสำคัญของโครงการนี้ คือพื้นที่ส่วนกลางที่ยึดโยง 3 ยูนิตเข้าด้วยกัน ทำให้เกิดการแชร์พื้นที่ร่วมกัน ทั้งยังเชื่อมโยงไปสู่บริบทและชุมชนโดยรอบด้วย “เราอยากให้คนออกมามีปฏิสัมพันธ์กัน พูดคุยกัน ซึ่งจะเกิดเป็นสังคมหรือระบบนิเวศที่ดี ดังนั้นนอกจากเราจะต้องการสร้างหมู่บ้านที่น่าอยู่แล้ว เรายังอยากให้พื้นที่แห่งนี้มันมีประโยชน์ดีต่อเพื่อนบ้าน ซึ่งก็คือชุมชนโดยรอบด้วย ดังนั้นเราจะได้เห็นบางวันคุณลุงที่หน้าตึกแถวก็มาซื้อกาแฟ บางวันคุณลุงอีกคูหาหนึ่งก็พาหลานมาเดินเล่น บางวันน้องๆ ที่ทำงานอยู่ตรง 33 Space ในละแวกใกล้ ก็จูงหมามาเดินเล่น มันก็เลยเกิดเป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างมีชีวิตชีวาเกิดขึ้น” คุณนันทพล บอกเล่าถึงการตอบรับที่ดีเกินคาดหลังจากโครงการเปิดตัวขึ้น โดยในตอนนี้พื้นที่คอร์ทยาร์ดนี้ยังมีจัดแสดงนิทรรศการ “Someone built SOMEWHERE” บอกเล่าถึงเหล่าช่างที่มีส่วนร่วมก่อร่างสร้างโครงการนี้มาด้วย
“คำว่า Somewhere มันคือพื้นที่บางพื้นที่ ที่สร้างแรงบันดาลใจ สร้างความสุข สร้างบรรยากาศที่ดี แต่ในขณะเดียวกัน พื้นที่เหล่านั้นมันจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยถ้าเกิดว่ามันไม่มี Someone หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งนี่ช่วยกันสร้างขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นช่างก่ออิฐ ช่างฉาบปูน ช่างไม้ ช่างแอร์ ช่างไฟฟ้า ฯลฯ ที่เป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญในการสร้างสถาปัตยกรรม และพื้นที่ดีๆ ของ Somewhere นี้ขึ้น” ซึ่งในอนาคตนิทรรศการจะหมุนเวียนเปลี่ยนเรื่องราวที่นำมาจัดแสดงไปเรื่อยๆ หรือพื้นที่อาจถูกจัดเป็นเวิร์คช็อปต่างๆ

“สถาปัตยกรรมมันอยู่แบบโดดเดี่ยวไม่ได้ ต้องมีองค์ประกอบอื่น นั่นคือ ธรรมชาติ และคน อีกทั้งสถาปัตยกรรมต้องอยู่ร่วมกับบริบทชุมชนโดยรอบด้วย ดังนั้น Somewhere อาจเป็นหนึ่งตัวอย่างการพัฒนาโครงการเล็กๆ ที่ทำให้เกิดพื้นที่ดีๆ สังคมดีๆ หรือพื้นที่พักผ่อนดีๆ ให้กับคนในท้องที่ได้มากขึ้น” สถาปนิกทิ้งท้ายถึงอีกหนึ่งความสำเร็จในการสร้างความหมายใหม่ให้กับพื้นที่ที่ถูกมองข้าม ให้มีความหมายต่อการใช้ชีวิตท่ามกลางบรรยากาศที่สร้างสรรค์ในย่านประดิพัทธ์