Lost in Space ที่ว่างระหว่างทางกับรีสอร์ตริมแม่น้ำ ซึ่งอัดแน่นไปด้วยสุนทรียภาพสำหรับทุกประสาทสัมผัส | IAMEVERYTHING.CO

LOOKING ON EVERYTHING ?

EXPLORE ON EVERYTHING

ที่ว่าง...ระหว่างทาง...กับอาคารซึ่งไม่มีมุมขายสำหรับถ่ายรูปมีเพียงพื้นที่ซึ่งอัดแน่นไปด้วยสุนทรียภาพสำหรับทุกประสาทสัมผัส

จากปรัชญาเต๋าที่ว่า ‘ภายนอกเราปั้นดินให้เป็นไห...แต่ที่ว่างข้างในต่างหากที่ใช้ใส่ของที่ต้องการ’ (我们将陶土捏成罐子,但是罐子中间的空间,让它成为有用的器皿。) สู่แนวคิดของสถาปนิกชั้นครู Frank Lloyd Wright ที่อธิบายมุมมองของเขาซึ่งมีต่อสถาปัตยกรรมว่า ‘สาระสำคัญของอาคารเกิดจากที่ว่างซึ่งอยู่ภายใน’ (The Space within become the reality of the building.) กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ ‘สถาปนิกไอดิน’ ออกแบบรีสอร์ตแห่งหนึ่งโดยคำนึงถึงการสร้างสรรค์ที่ว่าง/ระหว่างทาง/และสุนทรียภาพที่ผู้มาเยือนจะได้สัมผัส ก่อนที่จะถ่ายทอดสิ่งเหล่านั้นออกมาเป็นรูปทรงของอาคารริมแม่น้ำแคว

จากภายนอก Tara Villa รีสอร์ตริมแม่น้ำแควในจังหวัดกาญจนบุรีแห่งนี้อาจจะดูคล้ายอาคารสมัยใหม่ที่ได้รับการออกแบบรูปทรงสวยงามน่าสนใจ แต่เมื่อได้เข้าไปสัมผัสสิ่งที่อยู่ข้างในก็จะพบว่าภายใต้องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่จับต้องได้ยังบรรจุไว้ซึ่งประสบการณ์และความรู้สึกต่างๆ อีกมากมายที่ไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า “เรามักจะพูดถึงฟอร์ม จริงๆ มันเป็นพื้นที่ต่างหากที่ทำให้เกิดฟอร์ม สาระของโครงการนี้อยู่ที่พื้นที่ภายใน อันนั้นคือสาระทั้งหมดของอาคาร ไม่ใช่ตัวเปลือกของมัน” จีรเวช หงสกุล ผู้ก่อตั้งสถาปนิกไอดินกล่าวถึงแนวคิดในการออกแบบ “เราก็เลยคิดว่าแทนที่จะทำกล่องสี่เหลี่ยม งานนี้เราพยายามคิดว่าเราอยากได้พื้นที่ปริมาตรลูกบาตรเราเลยต้องสร้างทรงสี่เลี่ยมขึ้นมาเพื่อที่จะใส่พื้นที่ลูกบาตรภายใน เราพยายามคิดจากข้างในออกมา เริ่มจากพื้นที่แล้วพื้นที่มันทำให้เกิดฟอร์มยังไงก็เกิดเป็นรูปทรงอย่างนั้น”

เพื่อขยับให้อาคารเข้าไปใกล้แม่น้ำแควมากที่สุด ที่ดินได้รับการปรับระดับเสียใหม่แล้วแทรกใส่ตัวอาคารเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของตลิ่งริมน้ำ ซึ่งลักษณะที่ลาดชันของพื้นที่ทำให้มิติในการเข้าถึงอาคารมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ล้อบบี้ซึ่งสามารถเข้าถึงได้จากระดับชั้นหนึ่ง เมื่อเดินมาถึงด้านหลังที่เปิดรับวิวแม่น้ำ กลับกลายเป็นพื้นที่ชั้นบนที่ลอยอยู่เหนือระเบียงและสระว่ายน้ำซึ่งอยู่ด้านล่าง

เพื่อให้อาคารขยับเข้าไปใกล้กับแม่น้ำมากที่สุด จึงมีการปรับระดับพื้นด้วยการขุดดินลดความสูงของตลิ่งแล้ววางตำแหน่งของอาคารต่างๆ ทั้งล้อบบี้ ห้องจัดเลี้ยง ร้านกาแฟ และห้องพัก ให้ไล่เรียงลดหลั่นเปิดรับบรรยากาศผ่อนคลายใกล้ชิดกับสายน้ำ จากการปรับระดับพื้นนี่เองที่ทำให้ทีมสถาปนิกเกิดความคิดที่จะนำดินที่ขุดขึ้นจากตลิ่งมาเปลี่ยนแปลงเป็นผนังในส่วนต่างๆ ของรีสอร์ต "พอขุดแล้วดินมันจะเหลือเยอะมาก เราเลยคิดว่าจะเอาดินที่ต้องขุดออกอยู่แล้วกลับทำเป็นผนังของโครงการ ซึ่งก็คือ Ram Earth"
จีรเวชกล่าว "โดยปกติ Ram Earth จะทำจากดินเหนียวทำให้มีสีแดงๆ แต่ที่นี่ พอขุดขึ้นมาเราก็เห็นว่าดินมันเหลือง พอเราอยากจะเอาดินที่เรามีมาใช้เพื่อสื่อถึงที่ตั้งของที่นี่ ก็เลยได้เป็น Ram Earth สีเหลืองๆ"

ดินที่ขุดขึ้นมาจากตลิ่งถูกนำมาใช้เป็นองค์ประกอบสำคัญของ Tara Villa ผนังดิน Ram Earth ซึ่งตั้งอยู่บริเวณทางเดินในส่วนต่างๆ ของรีสอร์ตช่วยสร้างบรรยากาศที่ทำให้ช่วงเวลาระหว่างทางมีความหมายและน่าสนใจไม่น้อยไปกว่าจุดหมายปลายทาง

การใช้ Ram Earth ทำเป็นแนวผนังดินระหว่างทางเดินเชื่อมอาคารส่วนต่างๆ ใน Tara Villa เกิดจากแนวความคิดที่จะสร้างประสบการณ์ให้กับการเดินทางจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง ให้คนสามารถใช้เวลาอย่างแช่มช้าและเพลิดเพลินกับการใช้ประสาทรับรู้ต่างๆ ในการมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งรอบๆ ตัว ทั้งรูป ผิวสัมผัส หรือแม้แต่กลิ่น “จุดหมายปลายทางไม่สำคัญเท่าการเดินทาง เราคิดว่าทำไมคนไปเที่ยวต้องรีบเข้าโรงแรม รีบออกไปเที่ยว เราอยากยืดเวลาทางเดินต่างๆ ให้มีระยะทาง ให้คนได้เสพย์กับสิ่งต่างๆ ให้เวลาระหว่างเดินอยู่ในโรงแรมมันน่าสนใจ” จีรเวชอธิบายถึงที่มาของผนังดินซึ่งเชื่อมอาคารต่างๆ ในรีสอร์ต “เราคิดว่าผนังของ Ram Earth มันให้ Sense ของ Texture และกลิ่น เดินแล้วสามารถเห็นแสงเงา ยิ่งเวลาโดนน้ำ มันจะมีกลิ่นของไอดินออกมาคล้ายหลังฝนตก เราสร้างเรื่องราวระหว่างทางเดินให้คนรู้สึกว่าอยากจะเสพย์กับสภาพแวดล้อมต่างๆ ให้เกิดสุนทรียภาพก่อนที่จะเข้าไปในห้อง”

เพื่อเพิ่มสีสันให้กับพื้นที่ระหว่างทางเดิน ผนังดินแต่ละผืนยังได้รับการจัดวางให้มีการทำมุมกว้างแคบแตกต่างกันไป เกิดเป็นพื้นที่ซึ่งน่าสนใจและเชื้อเชิญให้คนรู้สึกมีปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่นั้น “เราพยายามจะเล่นเรื่อง ‘พื้นที่ระหว่าง’ อันนี้ก็เป็น ‘พื้นที่ระหว่างผนัง’ เราออกแบบตั้งแต่ทางเข้า จัดวางผนังให้มีความกว้างไปแคบ แล้วก็รู้ว่ามีจุดหมายปลายทางแต่ไม่รู้ว่าไปอย่างไง” จีรเวชกล่าว “เราทำเป็นทางเข้าให้เขาเห็น แล้วคนจะเข้าใจว่ามันเข้าทางไหนทำให้รู้สึกว่าคนเขามีทางเลือกที่จะเดินได้”

การจัดวางอาคารที่ไล่ระดับตามความสูงของตลิ่งริมแม่น้ำทำให้เกิดลำดับการเข้าถึงภายในอาคารที่น่าสนใจ โดยเฉพาะที่บริเวณเชื่อมต่อระหว่างล้อบบี้กับพื้นที่ใช้สอยอื่นๆ ด้านหลัง “เราใช้พื้นที่ซึ่งใกล้น้ำทำให้คนรู้สึกว่าเข้ามาปุ๊บ...เขากำลังเดินอยู่ชั้นหนึ่ง แต่พอเดินไป จู่ๆ ก็กลายเป็นว่าเขาอยู่ชั้นบนแล้ว”
จีรเวชกล่าวถึงพื้นที่ด้านหลังของล้อบบี้ซึ่งลดระดับลงไปใกล้แม่น้ำมากยิ่งขึ้น “กลายเป็นว่ามีชั้นล่างอีกชั้นหนึ่งซึ่งเป็นสระว่ายน้ำและห้องฟิตเนส เป็นการเล่นระดับที่น่าสนใจดี ส่วนร้านอาหารก็เลยจะดูสูงหน่อย แต่ในเวลาที่จัดงานกิจกรรมต่างๆ ก็จะไปอยู่ใกล้น้ำมากขึ้น”

การเข้าถึงพื้นที่ห้องพักแต่ละห้องจะต้องผ่าน Transitional Space เพื่อค่อยๆ เปลี่ยนบรรยากาศจากภายนอกเข้าสู่ภายใน จากประตูสู่ระเบียงที่เปิดโล่งก่อนที่จะเข้าถึงบริเวณห้องนอนที่มีระเบียงรอบตัวสามารถเปิดกระจกรับลมเย็นๆ และสัมผัสบรรยากาศธรรมชาติภายนอกได้อย่างเต็มที่

แนวคิดเรื่องการสร้าง ‘พื้นที่ระหว่าง’ ได้รับการถ่ายทอดมายังการออกแบบห้องพักที่เป็น Pool Villa ทั้งหมดด้วย ระหว่างทางเดินเข้าไปถึงห้องพักซึ่งเรียงตัวเป็นแถวตามแนวริมน้ำ แขกจะต้องเดินผ่านผนังซึ่งจะค่อยๆ เลือนหายไปและเผยให้เห็นวิวมากขึ้น แล้วจึงเข้าไปถึงบริเวณห้องพัก “เราวางแพลนให้ห้องดูโล่ง แทนที่เข้าไปปุ๊บจะเป็นห้องพักก็จะเป็นระเบียงก่อน เป็นโซนที่ค่อยๆ ถ่าย Space จากภายนอกเข้ามาก็เป็นกึ่งภายนอก ให้เดินเสพย์รูปรสกลิ่นเสียงก่อน” จีรเวชอธิบาย “ห้องก็เลยเป็นเหมือนห้องกระจกที่เปิดมุมได้ แล้วมีระเบียงรอบตัว มี Courtyard ด้านหลัง เวลาอากาศดีๆ ก็สามารถเปิดกระจกแล้วนอนดูแม่น้ำได้ วันไหนร้อนก็ปิดกระจกเปิดแอร์”

ด้วยล้อบบี้ซึ่งมีทั้งภายในและภายนอก ห้องจัดเลี้ยง สระว่ายน้ำ สนามหญ้า และห้องพักที่หันหน้ารับมุมมองของสายน้ำ ทีมสถาปนิกไอดินได้ออกแบบ Tara Villa ภายใต้โจทย์ที่ต้องการให้ที่นี่เป็นรีสอร์ตเล็กๆ ในบรรยากาศหรูหราซึ่งสามารถรองรับการเหมาพื้นที่เพื่อจัดงานต่างๆ ได้ แต่แม้ว่าจะมีอาคารที่สวยงามตั้งอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ ในมุมมองของสถาปนิก จีรเวชกลับคิดว่าจุดเด่นของที่นี่คือการไม่มีจุดขายในเรื่องมุมสำหรับถ่ายภาพ “จุดที่รู้สึกสนุกและชอบงานนี้คือ มันไม่รู้จะถ่ายรูปตรงไหน งานอื่นจะรู้ว่าตรงนี้มี Hero Shot นะ ยืนถ่ายตรงนี้จะเห็นอะไร แต่งานนี้ไม่มีเรื่องนั้น” จีรเวชกล่าว “เป็นงานที่เราพูดเรื่อง Space พูดเรื่องพื้นที่ เรื่องผ่าน เรื่องการเดิน เรื่องบรรยากาศ เป็นเรื่องของอารมณ์เสียเยอะ เราสนใจที่มาไม่ได้สนใจ Final Product ว่ามันจะเป็นอะไร ก็เป็นอีก Approach หนึ่งที่สนุกดี”

ที่ Tara Villa รีสอร์ตเล็กๆ ริมแม่น้ำแคว สถาปนิกไอดินได้ละทิ้งรูปทรงของอาคาร เพื่อการออกแบบจุดเริ่มต้น...จุดหมาย...และอีกหลายๆ สิ่งระหว่างทาง เพื่อให้ผู้มาเยือนได้สัมผัสกับสุนทรียภาพซึ่งบรรจุอยู่ในที่ว่างอันเป็นสาระสำคัญของสถาปัตยกรรมอย่างเต็มที่

    TAG
  • TARA VILLA
  • IDIN
  • architecture
  • design
  • RESORT

Lost in Space ที่ว่างระหว่างทางกับรีสอร์ตริมแม่น้ำ ซึ่งอัดแน่นไปด้วยสุนทรียภาพสำหรับทุกประสาทสัมผัส

ARCHITECTURE/HOTEL
March 2020
CONTRIBUTORS
EVERYTHING TEAM
RECOMMEND
  • DESIGN/HOTEL

    NA TANAO BY POAR ก้อนหมู่เรือนไทยที่ลอยตัวอยู่ระหว่างพื้นที่ไร้ค่าและมูลค่ามหาศาล

    “ณ ตะนาว” ด้วยชื่อแล้ว สามารถบอกถึงตำแหน่งของโครงการซึ่งอยู่ริมถนนตะนาว ซึ่งตั้งทำมุมตรงกับซุ้มประตูแพร่งสรรพศาสตร์พอดิบพอดี ย่านการค้าที่เคยเฟื่องฟูแห่งหนึ่งของรัตนโกสินทร์ชั้นในได้เปลี่ยนไปตามการพัฒนาผังเมือง ทำให้การลงทุนและประกอบธุรกิจบริเวณนี้อาจมีนัยยะที่ลึกซึ้งมากกว่าการสร้างอาคารบนข้อจำกัดเพื่อพิสูจน์ความสำเร็จเชิงรูปธรรมอย่างแน่นอน

    Nada Inthaphunt3 years ago
  • DESIGN/HOTEL

    Uthai Heritage จากโรงเรียนเก่าสู่บูติกโฮเทล แลนด์มาร์กแห่งประวัติศาสตร์ของอุทัยธานี

    Uthai Heritage บูติกโฮเทลที่เกิดขึ้นมาจากการรีโนเวทอาคารเก่าของโรงเรียนอุทัยธานี สู่แลนด์มาร์กใหม่ที่เต็มไปด้วยเรื่องเล่าและประวัติศาสตร์สำคัญของจังหวัดอุทัยธานี

    EVERYTHING TEAM3 years ago
  • DESIGN/HOTEL

    Hotel SALA SAMUI Chaweng Beach Resort ตีโจทย์การท่องเที่ยวยุคโซเชี่ยลครองเมือง ด้วยงานดีไซน์ที่ถ่ายรูปแล้วปัง

    กูรูในวงการท่องเที่ยวเคยคาดการณ์ไว้ว่า สมุยจะเป็นที่สุดท้ายในเมืองไทยที่สามารถฟื้นตัวจากพิษโควิด สาเหตุหลักๆ เพราะสมุยนั้นเปรียบไปก็เหมือนของเล่นของฝรั่ง ค่าครองชีพโดยรวมจัดว่าสูงไม่แพ้ภูเก็ต แถมยังมี supply เหลือเฟือ ห้องเช่าโรงแรมเล็กโรงแรมน้อยไปจนถึงห้าดาวมีให้เห็นกันแทบจะทุกตารางนิ้ว ที่สำคัญ คนไทยไม่เที่ยวหรอกเพราะค่าตั๋วเครื่องบินที่ผูกขาดไว้โดยสายการบินเดียวนั้นแพงระยับ แต่ในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา โลกโซเชี่ยลกลับพบว่าเหล่า instagramer มากมายไปปรากฏกายอยู่ที่สมุย จนเกิดคำพูดที่น่าหมั่นไส้เบาๆ ว่า “ใครๆ ก็อยู่สมุย”

    THT4 years ago
  • DESIGN/HOTEL

    BLU395 I อาคารที่คืนพื้นที่สีเขียวและเพิ่มพลังงานให้กับย่านสะพานควาย โดยทีมสถาปนิก PHTAA

    จากย่านการค้าที่เคยคึกคักในอดีต เมื่อเวลาผ่านไป สะพานควายกลายเป็นเพียงทางผ่านซึ่งเป็นที่รู้จักในเรื่องสภาพการจราจรที่หนาแน่น เมื่อได้รับโจทย์ให้ออกแบบอาคารใหม่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนนี้ ทีมสถาปนิก PHTAA Living Design ตั้งใจที่จะใช้งานออกแบบเป็นพลังผลักดันในการเปลี่ยนภาพจำของสะพานควายให้กลับมามีความน่าสนใจอีกครั้ง "สะพานควายกลายเป็นย่านการค้าขนาดรอง จะเห็นว่าที่นี่มีแต่ร้านซ่อมรองเท้า ซ่อมนาฬิกา และร้านขายของเบ็ดเตล็ด เป็นที่ซึ่งคนไม่ได้ตั้งใจมาเหมือนแต่ก่อน เป็นแค่ย่านทางผ่าน" พลวิทย์ รัตนธเนศวิไล สถาปนิกผู้ร่วมก่อตั้ง PHTAA กล่าว "เราเลยอยากทำให้แถวนี้เป็นย่านทางผ่านที่มีประสิทธิภาพ แค่เราสร้างความน่าสนใจให้กับทางผ่านได้มากขึ้น มันก็ถือว่าเปลี่ยนแล้ว"

    EVERYTHING TEAM5 years ago
  • DESIGN/HOTEL

    97 Yaowarat โรงแรมคลาสสิกสุดไพรเวทแห่งย่านเมืองเก่าของภูเก็ต

    ซึมซับเสน่ห์เมืองเก่าผ่านสถาปัตยกรรมสไตล์ชิโน-โปรตุกีส ที่กระจายตัวอยู่ในเมืองภูเก็ตโดยรอบ จรดล้มหัวลงนอนบนเตียงในห้องพักดีไซน์คลาสสิกสุดไพรเวทของ 97 Yaowarat โรงแรมแห่งใหม่ ที่ความ “เก่า” กับความ “ใหม่” อยู่ร่วมกันอย่างลงตัว

    EVERYTHING TEAM5 years ago
  • DESIGN/HOTEL

    Varivana Resort I เชื่อมผืนป่า ผิวน้ำ และสายลม ผสมกันเป็นประสบการณ์ใหม่อย่างลงตัวโดย พอ สถาปัตย์

    เสียงยอดมะพร้าวเสียดสีกันตามแรงลมผสมกับเสียงคลื่นดังแว่วมา กลายเป็นท่วงทำนองที่ลงตัวใน "วารีวาน่า รีสอร์ต" (Varivana Resort) โรงแรมที่ซ่อนตัวอยู่บนเนินเขาท่ามกลางสวนมะพร้าวในเกาะพะงัน ที่นี่ อาคารคอนกรีตเปลือยสามชั้นหันหน้าเปิดรับมุมมองเส้นขอบท้องฟ้าอันไกลโพ้น โรงแรมแห่งนี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อเชื่อมต่อธรรมชาติของแมกไม้ในภูเขาเข้ากับผืนน้ำในท้องทะเลกว้างใหญ่ให้เกิดเป็นประสบการณ์แปลกใหม่สำหรับผู้มาเยือนโดยเฉพาะ

    EVERYTHING TEAM5 years ago
SIGN UP TO OUR NEWSLETTER
A Monthly update of the new issue from us
THANK YOU FOR YOUR SUBSCRIPTION

We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )