UOB Art Soirée : The Power of Expression นิทรรศการศิลปะที่ ถ่ายทอดพลังแห่งความรู้สึกและแรงบันดาลใจสองศิลปิน | IAMEVERYTHING.CO

LOOKING ON EVERYTHING ?

EXPLORE ON EVERYTHING

Writer: Panu Boonpipattanapong

  โดยทั่วไป คนมักจะคิดว่าศิลปะเป็นอะไรที่อยู่ขั้วตรงกันข้ามกับธุรกิจการค้าพาณิชย์ แต่ใน ความเป็นจริง ศิลปะนั้นย่อมเกี่ยวข้องกับสิ่งนี้อย่างแยกไม่ออก เพราะอย่างน้อยที่สุด ศิลปินเองก็ต้องขายผลงานเพื่อหาเลี้ยงชีพ ไม่งั้นจะเอาเงินที่ไหนมาซื้ออุปกรณ์สร้างสรรค์ผลงาน หรือแม้แต่ ซื้อปัจจัยสี่มาดํารงชีพ แถมนักธุรกิจหลายคน หรือองค์กรพาณิชย์หลายแห่งก็สนับสนุนอุ้มชูศิลปิน ตั้งแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว ในบ้านเราเองก็เช่นกัน งานประกวดศิลปะสําคัญๆ ต่างๆ ก็ล้วนแล้วแต่จัด ขึ้นโดยองค์กรเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารต่างๆ หนึ่งในจํานวนนั้นคือธนาคารยูโอบี จํากัด (มหาชน) ที่จัดงานประกวดศิลปะในบ้านเรามาอย่างยาวนานกว่าสิบปี และยังสนับสนุนวงการ ศิลปะมาอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

  ดังที่ปรากฏในนิทรรศการล่าสุดที่ธนาคารยูโอบี ร่วมมือกับนิตยสารไลฟ์สไตล์ชั้นนํา PRESTIGE จัดขึ้น อย่าง UOB Art Soirée : The Power of Expression ที่นําผลงานศิลปะอัน เปี่ยมเอกลักษณ์ของสองศิลปินร่วมสมัยชาวไทยผู้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในระดับสากล ปัณพัท เตช เมธากุล และ ปานพรรณ ยอดมณี มาจัดแสดงให้มิตรรักแฟนศิลปะชาวไทยได้ชมกัน

พั้นช์ พิมพ์ปวีณ สุนทรธรรมรัต และอุ้ม ปานพรรณ ยอดมณี

  โดย พั้นช์ พิมพ์ปวีณ สุนทรธรรมรัต ภัณฑารักษ์ผู้คัดสรรผลงานของศิลปินทั้งสอง กล่าว ถึงที่มาที่ไปของนิทรรศการครั้งนี้ว่า
  “นิทรรศการครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ ธนาคารยูโอบี กับ นิตยสาร PRESTIGE ร่วมมือกันจัดขึ้นมา ด้วยความที่ทางธนาคารยูโอบี มีนโยบายในการสนับสนุนงานศิลปะอย่างจริงจังมากขึ้น ประจวบกับทางธนาคารมีการสะสมงานของหนึ่งในสองศิลปินอย่าง คุณปานพรรณ ยอดมณี อยู่แล้ว และทางธนาคารก็ไม่ได้มีการจัดนิทรรศการมานานแล้ว ก็เลยเชิญทางคุณปานพรรณ และคุณปัณพัท เตชเมธากุล มาร่วมแสดงงานคู่กัน ด้วยความที่งานของทั้งสองมีจุดเชื่อมโยงกันตรงที่การพูดถึงตํานานเทพปกรณัมต่างๆ เหมือนกัน แต่นําเสนอในแบบฉบับของตัวเอง ก็เลยคิดว่าอยากจะนําเสนอมุมมองของความเหมือนในความแตกต่างที่ดูน่าสนใจ อีกอย่าง ทั้งสองก็ยังไม่เคยแสดงงานร่วมกันมาก่อนด้วย”

  ในนิทรรศการครั้งนี้ ยูน ปัณพัท เตชเมธากุล นําเสนอผลงานศิลปะที่บอกเล่าเรื่องราวการเดินทางจากอดีตจนถึงปัจจุบัน รวมถึงสะท้อนแรงบันดาลใจจากเรื่องราวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารด้วยระบบสัญลักษณ์ การค้นหาตัวตนหรือความเป็นปัจเจก โดยได้แรงบันดาลใจมาจากตํานานเทพปกรฌัมและศาสนตํานานหลากเชื้อชาติ หลายความเชื่อทางศาสนา รวมถึงผลงานต้นฉบับที่เธอสร้างสรรค์ให้กับแบรนด์ชั้นนําของโลกอย่าง Gucci ที่มิตรรักแฟนศิลปะชาวไทยยังไม่เคยได้มีโอกาสได้เห็นผลงานจริงมาก่อนอีกด้วย

ยูน ปัณพัท เตชเมธากุล

  “ปกติงานของยูนจะเป็นการเดินทาง เหมือนบันทึกเรื่องราวของตัวเราทั้งสําคัญหรือไม่สําคัญ มีความหมายหรือไม่มีความหมายในขณะนั้น แต่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความรู้สึกเป็นส่วนใหญ่ ผลงานที่เอามาแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ ชิ้นแรกจะเป็นผลงานต้นฉบับที่ทําให้กับแบรนด์ Gucci ซึ่งก็ใช้เรื่องราวของความเป็นส่วนตัวเหมือนกัน คือด้วยความที่ยูนเป็นลูกคนเดียว เวลาทําอะไรก็มักจะคิดว่าเราสามารถทําทุกอย่างได้สําเร็จด้วยตัวคนเดียว โดยไม่ขอความช่วยเหลือจากใคร แต่ในขณะที่เราทํางานให้ Gucci ทางแบรนด์ก็บอกว่า เราไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวนะ แต่เราเป็นพี่น้องเป็นครอบครัวกัน มีอะไรเราก็สามารถแบ่งปันกันได้ ซึ่งพอเราเปิดใจยอมรับคนอื่นแล้ว ก็นําพามาซึ่งความรู้สึกใหม่ๆ ให้เราได้จริงๆ เราก็เลยเอาเรื่องราวนี้ใส่ลงในงานของ Gucci เป็นรองเท้ารุ่น Gucci DIY เรายังเล่าเรื่องต่อไปว่า เราอยากจะใส่รองเท้าคู่นี้เพื่อเดินทางไปหาเพื่อนเรา ที่อยู่ในอีกที่หนึ่งที่แสนไกล เพราะเรามีคนที่เราคิดถึงอยู่
  ยูนอยากให้คนมาดูงานแล้วร้อยเรียงเชื่อมโยงได้ว่า ทุกงานที่ยูนทํา แม้จะเป็นงานที่ทํากับแบรนด์ หรือทําในนิทรรศการของตัวเอง ก็จะมีความเป็นตัวเองและเรื่องราวความรู้สึกในห้วงขณะนั้นซ่อนอยู่

  ส่วนงานชิ้นถัดมาจะเป็นเรื่องราวของตัวเองเหมือนกัน เป็นเรื่องที่มาจากนิทรรศการที่เป็นการพูดถึงตัวเองในเชิงที่เราอยากทําความรู้จักตัวเองมากขึ้น แน่นอนว่าพอโตขึ้น ทุกคนจะ ต้องผ่านการตัดสินใจอะไรบางอย่าง แล้วเราก็มักจะคิดถึงการตัดสินใจที่มีเพียงแค่ขาวกับดําเป็นขั้วตรงข้ามกัน จนมีตัวเลือกเพียงแค่สองอย่าง แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราจะทําอย่างไรให้เราจินตนาการถึงทางเลือกอื่นที่นอกเหนือจากขั้วตรงข้ามทั้งสองนี้ได้บ้าง ยูนเลยรู้สึกถึงการเรียนรู้และ รู้จักตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่สําคัญ โดยยูนอ้างอิงจากเรื่องราวของตํานานเทพปกรณัมและศาสนตํานาน ต่างๆ เพราะว่าสิ่งเหล่านี้ในสมัยก่อนนั้นส่งอิทธิพลต่อชีวิตผู้คนอย่างมาก

  แล้วยูนก็ได้ไปอ่านงานของ คาร์ล ยุง (Carl Jung) และ โจเซฟ แคมพ์เบล (Joseph Campbell) ที่พูดถึง Hero’s journey ที่มองว่าในความเป็นจริงที่มนุษย์เราใช้ชีวิตอยู่นั้นเป็นเหมือนการเดินวนเป็นวงกลมโดยที่ไม่ได้มีทางเลือกแค่สองทาง และเราก็เดินไปไม่ถึงจุดสิ้นสุดสักที เพราะฉะนั้นการที่เราเรียนรู้และรู้จักตัวเอง ก็เพื่อหาทางเลือกอื่นๆ และหาจุดสิ้นสุดของการเดินทางให้ได้ นี่เลยเป็นสิ่งสําคัญสําหรับยูน ณ ขณะนี้ เพราะฉะนั้น ภาพวาดที่แสดงในนิทรรศการทั้ง 11 ชิ้น ก็เหมือนเป็นการบอกเล่าเรื่องราวที่ว่านี้อยู่ ยูนไม่ได้บอกว่ายูนค้นพบคําตอบแล้ว แต่ยูนกํา ลังหาคําตอบให้ตัวเอง โดยค่อยๆ ถอดรหัสของทุกอย่างออกมาผ่านเรื่องราว และสัญลักษณ์ต่างๆ ผ่านตํานานเทพปกรณัม และตีความเป็นสัญลักษณ์ของตัวเอง

  อีกอย่างที่ยูนอยากสื่อผ่านผลงานชุดนี้ก็คือ ยูนรู้สึกว่าการที่สังคมริดรอนสิ่งที่ใกล้ตัวเรามากที่สุด อย่างเรื่องเพศ ทําให้เราไม่กล้าแสดงออก หรือไม่กล้าตัดสินใจที่จะแสดงความชอบและความรู้สึกทางเพศของเรา นั้นเป็นการริดรอนสิ่งที่ใกล้ตัวเรามากที่สุด จนทําให้เราจินตนาการถึงสิ่งที่ไกลกว่านั้นไม่ออก ยูนรู้สึกว่าเราควรเห็นเรื่องเพศเป็นเรื่องธรรมดา แน่นอนว่านิทรรศการนี้จัดในช่วง Pride Month ที่ทุกคนพูดถึงความหลากหลายทางเพศ ความชอบอันหลากหลาย รสนิยมอันหลากหลาย แต่เราจะทําความเข้าใจสิ่งเหล่านั้นไม่ได้เลย ถ้าเราไม่เคยได้สัมผัส หรือเรามองเห็นภาพของมัน หลายคนในสังคมกลัวว่าลูกจะเป็น LGBTQ เพราะเขาไม่มีประสบการณ์เกี่ยวกับสิ่งนี้ เขาไม่รู้ว่าจะรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างไร แต่ถ้าเราทําให้ทุกคนเห็นว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องปกติธรรมดา ด้วยการบอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้ผ่านงานศิลปะ ก็อาจจะช่วยสร้างความเข้าใจที่ดีขึ้นได้ในอนาคต”

อุ้ม ปานพรรณ ยอดมณี

  ส่วน อุ้ม ปานพรรณ ยอดมณี นําเสนอผลงานจิตรกรรมชุดล่าสุด “Ever After” ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากตํานานเทพปกรณัมของเทพีผู้มีสรีระอันงดงาม, สัญลักษณ์, พลังของผู้หญิงในบริบทของความเชื่อ, พิธีกรรม, การสร้างจุดกําเนิดและจักรวาลวิทยา ที่หลอมรวมตํานานแห่งเทพตะวันตกและตะวันออกเข้าด้วยกัน อีกทั้งยังตั้งคําถามถึงความเท่าเทียม, บทบาท, ความสําคัญของผู้หญิงในปัจจุบัน นําเสนอผ่านรูปแบบจิตรกรรมฝาผนังไว้อย่างน่าสนใจ
  “ผลงานของอุ้มพูดถึงการเดินทางของตัวเอง และด้วยความที่อุ้มสนใจในความเป็นเพศสภาพของผู้หญิง และความเป็นสตรีตั้งแต่ต้น และมาสนใจมากขึ้นในครั้งที่เดินทางไปเป็นศิลปินพํานักที่เมืองลียง ประเทศฝรั่งเศส แล้วได้ไปค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องของพระแม่มารีย์และพระบุตรที่นั่น ก็เลยกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่อุ้มทํางานเกี่ยวกับผู้หญิงอย่างจริงจัง และด้วยความที่อุ้มใช้สื่อจิตรกรรมฝาผนัง ก็เลยเอาความเป็นจิตรกรรมฝาผนังของตะวันตกกับตะวันออกมาผสมผสานกัน เพื่อสร้างความขัดแย้งระหว่างสองวัฒนธรรม และพูดถึงการเดินทางของจิตรกรรมที่ทับซ้อนกันอยู่ รวมถึงพูดถึงพื้นผิว และชั้นที่ทับซ้อนกันในงานจิตรกรรมด้วย

  งานชุดนี้ที่อุ้มทําก็เป็นการระบายอารมณ์ความรู้สึก ทั้งความเจ็บปวดบางอย่างที่ผู้หญิงคนหนึ่งได้ผ่านมา โดยเราทําการค้นคว้าเกี่ยวกับเทวตํานานและศาสนตํานาน ทั้งพุทธศาสนา ทั้งเรื่องพระแม่ธรณี และพบว่า บทบาทของผู้หญิงในยุคก่อนที่จะมีศาสนา อย่างการนับถือผี นับถือธรรมชาติในอดีต ต่างก็ใช้ผู้หญิงเป็นผู้นําทางจิตวิญญาน หรือผู้นําทางศาสนา อุ้มก็เลยสนใจที่จะทำงานชุดนี้ขึ้นมา

  เวลาทํางาน เราแทนตัวเองเป็นเหมือนเจ้าแม่ การทํางานศิลปะก็เป็นเหมือนเป็นการร่ายเวทมนตร์ของเรา สนุกดี ทําให้การทํางานชุดนี้เป็นการระบายอารมณ์ไปในตัว ส่วนเทคนิคการทํางานเราก็หันมาทําแบบสองมิติมากขึ้น ต่างกับก่อนหน้านี้ที่ทํางานสามมิติหรือศิลปะจัดวาง งานชุดนี้ก็จะเป็นงานจิตรกรรมบนผ้าใบ

  ก่อนหน้านี้ ตัวอุ้มเองก็ส่งประกวดงานศิลปะกับทางธนาคารยูโอบี และเคยร่วมงานกันมานานพอสมควร ทั้งงานอาร์ตแฟร์ที่ทางยูโอบีจัดขึ้น เพราะธนาคารยูโอบีเขามีนโยบายสนับสนุนศิลปินให้ได้แสดงผลงาน ไม่ใช่แค่ให้รางวัลแล้วก็จบไป แต่มีการต่อยอด ด้วยการส่งให้ศิลปินไปแสดงงาน หรือไปดูงานที่ต่างประเทศด้วย ซึ่งถือว่าเป็นภาคเอกชนที่คอยสนับสนุนศิลปินอย่างสม่ําเสมอ”

นิทรรศการ UOB Art Soirée : The Power of Expression
จัดแสดง ณ UOB Wealth Center ในวันที่ 15 มิถุนายน 2023 ที่ผ่านมา
    TAG
  • design
  • art
  • exhibition
  • UOB
  • UOB Art Soirée
  • The Power of Expression

UOB Art Soirée : The Power of Expression นิทรรศการศิลปะที่ ถ่ายทอดพลังแห่งความรู้สึกและแรงบันดาลใจสองศิลปิน

ART AND EXHIBITION/EXHIBITION
2 years ago
CONTRIBUTORS
Panu Boonpipattanapong
RECOMMEND
  • DESIGN/EXHIBITION

    Re/Place การปิดทับอดีตเพื่อเปิดเผยความจริงทางการเมือง ของ วิทวัส ทองเขียว

    ในอดีตที่ผ่านมา ในแวดวงศิลปะ(กระแสหลัก)ในบ้านเรา มักมีคํากล่าวว่า ศิลปะไม่ควรข้องแวะกับ การเมือง หากแต่ควรเป็นเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึก ความงาม สุนทรียะ และจิตวิญญาณภายในอัน ลึกซึ้งมากกว่า แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าจะในยุคสมัยไหน ศิลปะไม่เคยแยกขาดออกจาก การเมืองได้เลย ไม่ว่าจะในยุคโบราณ ที่ศิลปะถูกใช้เป็นเครื่องมือรับใช้ชนชั้นสูงและผู้มีอํานาจ หรือใน ยุคสมัยใหม่ที่ศิลปะถูกใช้เป็นเครื่องมือแสดงออกถึงอุดมการณ์ทางสังคมการเมือง หันมามองในบ้าน เราเอง ก็มีศิลปินไทยหลายคนก็ทํางานศิลปะทางการเมืองอย่างต่อเนื่องยาวนาน ในการสะท้อนและ บันทึกประวัติศาสตร์การเมืองไทยได้อย่างเข้มข้น จริงจัง

    Panu BoonpipattanapongFebruary 2025
  • DESIGN/EXHIBITION

    The Grandmaster : After Tang Chang บทสนทนากับ จ่าง แซ่ตั้ง ศิลปินระดับปรมาจารย์แห่งศิลปะสมัยใหม่ไทย โดย วิชิต นงนวล

    เหตุการณ์นี้เป็นอุทาหรณ์ให้เรารู้ว่า การก๊อปปี้ก็ไม่ได้เลวร้ายเสมอไป เพราะอย่างน้อยที่สุด ก็ทําให้ เราได้รู้ว่าผลงานต้นฉบับของจริงในช่วงเวลาที่เสร็จสมบูรณ์นั้นมีความดีงามขนาดไหน ไม่ต่างอะไรกับศิลปินร่วมสมัยสัญชาติไทยอย่าง วิชิต นงนวล ที่หลงใหลศรัทธาในผลงานของศิลปิน ระดับปรมาจารย์ในยุคสมัยใหม่ของไทยอย่าง จ่าง แซ่ตั้ง ตั้งแต่ครั้งยังเยาว์ ในวัยของนักเรียน นักศึกษา เรื่อยมาจนเติบโตเป็นศิลปินอาชีพ ความหลงใหลศรัทธาที่ว่าก็ยังไม่จางหาย หากแต่เพิ่มพูน ขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดก็สุกงอมออกดอกผลเป็นผลงานศิลปะในนิทรรศการ The Grandmaster : After Tang Chang ที่เป็นเสมือนหนึ่งการสร้างบทสนทนากับศิลปินระดับปรมาจารย์ผู้นี้

    Panu BoonpipattanapongJanuary 2025
  • DESIGN/EXHIBITION

    Monte Cy-Press ศิลปะจากกองดินที่สะท้อนน้ําหนักของภัยพิบัติ โดย อุบัติสัตย์

    “ยูบาซาโตะ เดินผ่านตามแนวต้นสนขึ้นไปบนภูเขาศักดิ์สิทธิ์ เพื่อไปก่อสร้างสถูปดิน และมักจะโดน ทีมงานช่างบ่นทุกวันเกี่ยวกับการก่อสร้าง ที่มีเวลาอยู่อย่างจํากัด เขาเพียงได้แต่ตอบไปว่า .. บุญกุศล นําพาและเวลามีเท่านี้ ขอให้ทําสิ่งดีๆ ให้เต็มที่ ต่อสถานที่บนภูเขานี้เถอะ อย่าบ่นไปเลย เราอาจจะ พบกันแค่ประเดี๋ยวเดียว แต่สิ่งเหล่านี้จะอยู่ต่อไปอีกหลายร้อยปี ... ทีมงานทุกคนเพียงส่งรอยยิ้มที่ เหนื่อยล้ากลับมา ก็เพราะต้องทนร้อนทนแดด และเปียกฝนสลับกันไป จากสภาวะโลกเดือด ที่ทุกคน ต่างพูดถึง แต่ก็จะมาจากใคร ก็จากเราเองกันทั้งนั้น ... แม้จะมาทํางานบนภูเขาก็จริง แต่เขาก็ยังคง คิดถึงเหตุการณ์ภัยน้ําท่วมดินโคลนถล่มที่ผ่านมา อีกทั้งความเสียหายต่อข้าวของที่ต้องย้ายออกจาก บ้านเช่าและค่าใช้จ่ายหลังน้ําท่วมที่ค่อนข้างเยอะพอควร และยิ่งในสภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจแบบนี้...

    Panu Boonpipattanapong6 months ago
  • DESIGN/EXHIBITION

    Kader Attia กับศิลปะแห่งการเยียวยาซ่อมแซมที่ทิ้งร่องรอยบาดแผลแห่งการมีชีวิต ในนิทรรศการ Urgency of Existence

    หากเราเปรียบสงคราม และอาชญากรรมที่กระทำต่อมนุษย์ อย่างการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การสังหารหมู่ และการล่าอาณานิคม เป็นเหมือนการสร้างบาดแผลและความแตกร้าวต่อมวลมนุษยชาติ ศิลปะก็เป็นหนทางหนึ่งในการเยียวยาซ่อมแซมบาดแผลและความแตกร้าวเหล่านั้น แต่การเยียวยาซ่อมแซมก็ไม่จำเป็นต้องลบเลือนบาดแผลและความแตกร้าวให้สูญหายไปเหมือนไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น หากแต่การเหลือร่องรอยแผลเป็นและรอยแตกร้าวที่ถูกประสาน ก็เป็นเสมือนเครื่องรำลึกย้ำเตือนว่า สิ่งเหล่านี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว และไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้นอีกซ้ำเป็นครั้งที่สอง เช่นเดียวกับสิ่งที่ปรากฏในนิทรรศการ “Urgency of Existence” นิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งแรกในเอเชียของ คาแดร์ อัทเทีย (Kader Attia) ศิลปินชาวฝรั่งเศส - แอลจีเรีย ผู้มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ เขาเป็นหัวหอกในการทำงานศิลปะผ่านสื่ออันแตกต่างหลากหลาย ที่นำเสนอแนวคิดหลังอาณานิคม และการปลดแอกอาณานิคม จากมุมมองของตัวเขาเอง ที่มีประสบการณ์ทางตรงและทางอ้อมของผู้ที่เคยถูกกดขี่และถูกกระทำจากลัทธิล่าอาณานิคมในศตวรรษที่ผ่านมา

    Panu Boonpipattanapong7 months ago
  • DESIGN/EXHIBITION

    Roma Talismano ชำแหละมายาคติแห่งชาติมหาอำนาจด้วยผลงานศิลปะสุดแซบตลาดแตก ของ Guerreiro do Divino Amor

    ในช่วงปลายปี 2024 นี้ มีข่าวดีสำหรับแฟนๆ ศิลปะชาวไทย ที่จะได้มีโอกาสชมผลงานศิลปะร่วมสมัยของเหล่าบรรดาศิลปินทั้งในประเทศและระดับสากล ยกขบวนมาจัดแสดงผลงานกันในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 แล้ว โดยในเทศกาลศิลปะครั้งนี้นำเสนอผลงานศิลปะจาก 76 ศิลปิน 39 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ภายใต้ธีมหลัก “รักษา กายา (Nurture Gaia)” ที่ได้แรงบันดาลใจจากเทพี ไกอา (Gaia) ในตำนานเทพปรณัมกรีก หรือพระแม่ธรณีผู้ให้กำเนิดและหล่อเลี้ยงสรรพชีวิต เพื่อแสดงถึงความสัมพันธ์อันสอดประสานกลมกลืนกันระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ

    EVERYTHING TEAM8 months ago
  • DESIGN/EXHIBITION

    Apichatpong Weerasethakul : Lights and Shadows นิทรรศการครั้งยิ่งใหญ่ใน Centre Pompidou ของศิลปินผู้สร้างแสงสว่างในความมืด อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

    เมื่อพูดถึงชื่อ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล หรือ เจ้ย มิตรรักแฟนหนังหลายคนน่าจะรู้จักเขาในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยผู้เปี่ยมไปด้วยความเป็นศิลปะที่สุด ไม่เพียงแค่ในประเทศไทย แต่หมายรวมถึงในสากลโลก ยืนยันด้วยรางวัลสำคัญจากเทศกาลภาพยนตร์ระดับโลกหลายต่อหลายรางวัล ไม่ว่าจะเป็นรางวัลยอดเยี่ยมในการฉายสายรอง (Un Certain Regard) จากภาพยนตร์เรื่อง สุดเสน่หา (Blissfully Yours) (2002) และรางวัลขวัญใจคณะกรรมการ (Jury Prize) จากภาพยนตร์เรื่อง สัตว์ประหลาด! (Tropical Malady) (2004) จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ในปี 2002 และ 2004, หรือภาพยนตร์เรื่อง แสงศตวรรษ (Syndromes and a Century) (2006) ของเขาก็ได้รับเลือกให้เข้าชิงรางวัลสิงโตทองคำในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิส ในปี 2006 และคว้ารางวัลกรังปรีซ์จากเทศกาลภาพยนตร์ Deauville Asian Film Festival ในปี 2007, และภาพยนตร์เรื่อง รักที่ขอนแก่น (Cemetery of Splendor) (2015) ของเขาก็คว้ารางวัลยอดเยี่ยมจากเวที Asia Pacific Screen Awards ในปี 2015, ที่สำคัญที่สุด อภิชาติพงศ์ยังเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้รับรางวัล ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมปาล์มทองคำ (Palm d’or) จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ครั้งที่ 63 ในปี 2010 จากภาพยนตร์เรื่อง ลุงบุญมีระลึกชาติ (Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives) (2010), และล่าสุด ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องล่าสุดของเขาอย่าง Memoria (2021) ยังคว้ารางวัล Jury Prize ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ครั้งที่ 74 ในปี 2021 มาครองได้อีกครั้ง อีกทั้งยังได้รับเสียงวิจารณ์เชิงบวกอย่างท่วมท้นจากสื่อมวลชนนานาชาติ

    Panu Boonpipattanapong8 months ago
SIGN UP TO OUR NEWSLETTER
A Monthly update of the new issue from us
THANK YOU FOR YOUR SUBSCRIPTION

We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )